ใครฆ่านายพล อองซาน

ในหนังสือ Who killed Aung San โดย Kin Oung บรรยายว่า ......
เช้าวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 1947 เป็นช่วงฤดูเข้าพรรษา เช้าวันนั้นท้องฟ้าฉ่ำด้วยเมฆ ที่หน้าบ้านของ อู ซอ นักการเมืองอาวุโสของพม่า มีชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งกำลังรวมตัวกันตั้งใจฟังคำชี้แจงเป็นครั้งสุดท้ายจาก อู ซอ คนกลุ่มนี้กำลังจะปฏิบัติภารกิจที่จะเปลี่ยนอนาคตของประเทศพม่าตลอดไป ชั่วครู่หนึ่งชายกลุ่มนั้นแยกย้ายขึ้นไปนั่งบนรถบรรทุกทหารยี่ห้อ Fordson
ไม่มีใครสนใจรถบรรทุกคันนี้เพราะสงครามเพิ่งจะเลิกไม่นาน รถบรรทุกทหารวิ่งกันไปมาในย่างกุ้งเป็นเรื่องปรกติ ครึ่งชั่วโมงต่อมารถคันนี้ไปจอดหน้าตึก 2 ชั้นสไตล์วิคตอเรียนก่อด้วยอิฐสีแดง
ชายฉกรรจ์ 3 คน โดดลงมาจากรถแล้วเดินสำรวจรอบ ๆ ตึกเพื่อให้แน่ใจว่า “เป้าหมาย” กำลังอยู่ในห้องประชุม หนึ่งในสามคนนั้นนามว่า คิน หม่อง ยิน โทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านาย โดยใช้รหัสว่า “ได้รับแหวนลูกสูบแล้ว”
ทันทีที่ปลายทางได้รับแจ้ง รถจี๊บอีกคันหนึ่งพุ่งออกจากบ้าน อู ซอ ไป ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 โมงเช้า ด้านหลังรถจี๊บมีผ้าใบคลุมหลังคามิดชิดซ่อน 6 เพชฌฆาตพร้อมด้วยปืนกลทอมมี่และปืนสเตนครบมือทั้งหมดแต่งกายชุดฝึกเขียวหมวกปีก
ในเวลาอันใกล้เคียงกัน ออง ซาน วัย 22 ปีกำลังนั่งรถออกจากบ้านมีคนขับมุ่งหน้าไปที่ประชุม แต่งกายด้วยชุดประจำชาติ(นุ่งโสร่ง) ถึงแม้ว่าจะเป็นวันเสาร์คณะทำงานก็มาประชุมเพื่อเตรียมการเป็นเอกราชในอีก 6 เดือนข้างหน้า
บา ยุนท์ ไม่ได้พกอาวุธเดินเข้าไปสำรวจในอาคารเพื่อดูว่าใครบ้างจะชะตาขาด มองหา ตะขิ่น นุ(อู นุ) ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งน่าจะอยู่ในห้องแต่ไม่พบ หากแต่ “เป้าหมาย” อื่น ๆ อยู่ครบ จึงเดินกลับเข้าไปที่รถบรรทุก แจ้งว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน รถจี๊บเคลื่อนเข้ามาจอดหน้าตึก ถนนโล่งสะดวกไม่มีอะไรกีดขวาง
10.30 น. องค์ประชุมมาครบนั่งตามที่จัดเป็นรูปตัว U ออง ซาน นั่งหัวโต๊ะ การประชุมที่กำลังจะเริ่มขึ้น แต่ก็ถูกขัดขวางโดย อู ออน หม่อง รัฐมนตรีช่วยคมนาคมซึ่งเพิ่งเดินเข้ามาในห้องประชุมและรีบชี้แจงต่อที่ประชุมว่ารัฐมนตรีว่าการคมนาคมไปตรวจงานต่างจังหวัด จึงมาขอชี้แจงเรื่องด่วนก่อนและจะรีบเดินทางไปราชการ
4 เพชฌฆาตพร้อมอาวุธครบมือรีบวิ่งขึ้นบันไดตรงสู่ห้องประชุม หม่องโซกระชากประตูให้เปิด ลุกสมุนอีก 3 คนกรูเข้าไปในห้องประชุม หม่องโซตะโกน “หยุดอย่าขยับ”
ออง ซาน เป็นคนเดียวที่ลุกขึ้นยืน หม่องโซสั่งยิงทันที ออง ซาน ล้มคว่ำลงไปจมกองเลือดด้วยกระสุน 13 นัดเจาะร่าง
สมุนที่เหลือสาดกระสุนจากปืนกลทอมมี่ ยานยี คุกเข่าลงสาดกระสุนใส่บรรดาผู้เข้าประชุมที่หมอบลงใต้โต๊ะ เสียงปืนกลคำรามลั่นประมาณ 30 วินาที 4 เพชฌฆาตจึงถอนตัว
10.40 น. เลขาธิการและนายทหารคนสนิทของ ออง ซาน วิ่งมาถึงพื้นที่สังหาร สมาชิกสภาที่ประชุมที่อยู่ในห้องอื่นแตกตื่นวิ่งมาที่เกิดเหตุ กลิ่นดินปืนคลุ้งตลบอบอวนผสมกับกลิ่นคาวเลือด โต๊ะเก้าอี้ล้มคว่ำระเกะระกะ
นายพลออง ซาน วัย 32 ปีวีรบุรุษของชาตินอนจมกองเลือดตายคาที่บนพื้นห้อง สมาชิกและคนอื่น ๆ อีก 6 คนโดนปลิดชีพบนโต๊ะ บนเก้าอี้และใต้โต๊ะ
แท้ที่จริงแล้ว นายพลออง ซาน คือ “เป้าหมาย” แต่เพียงผู้เดียว ในจำนวนนี้มีผู้รอดตายราวปาฎิหารย์ 2 คน ที่นั่งริมประตูแล้วโดดออกไปได้
ระหว่างที่ 4 เพชฌฆาตถอนตัวออกจากอาคารยังสังหารยามประจำตึกอีก 1 คนพร้อมทั้งตะโกน “เราชนะแล้ว- เราชนะแล้ว” รีบขึ้นรถจี๊บหนีออกจากที่เกิดเหตุ นักข่าวประจำสภาคนหนึ่งวิ่งตามออกมาเห็นแผ่นป้ายทะเบียนรถ
รถจี๊บวิ่งมุ่งหน้ากลับไปที่บ้าน อู ซอ ด้วยความเร็ว เกือบจะชนร้อยเอกข่าน เพื่อนบ้านของอู ซอ ร้อยเอกข่าน เห็นรถจี๊บคันนี้มีพิรุธผิดสังเกต รถเลี้ยวเข้าไปในบ้านของอู ซอ กลุ่มคนบนรถจี๊บโดดลงมาคุยกับ อู ซอ ที่ยืนรออยู่
อู ซอ สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินกระโดดเข้ากอดเพชฌฆาตทุกคนอย่างมีความสุขพร้อมทั้งตะโกน “เราชนะแล้ว- เราชนะแล้ว” อาหารและเครื่องดื่มที่เตรียมไว้เพื่อฉลองความสำเร็จถูกยกมาบริการเต็มคราบกลั้วด้วยเสียงหัวเราะอย่างเมามัน
อู ซอ ถามลูกน้องว่า “อู นุ ตายมั้ย?” บายุ้นท์ชี้แจงว่า อูนุ ไม่ได้มาร่วมประชุมและเล่ารายละเอียดเรื่องอื่น ๆ ให้อู ซอเห็นภาพ อู ซอ พอใจมากเพราะว่าอูนุ ไม่ใช่ “เป้าหมายหลัก” ในการสังหารครั้งนี้
ทุกลมหายใจ อู ซอ กระวนกระวายรอฟังเสียงโทรศัพท์จาก เซอร์ฮิวเบอร์ต แรนต์ ข้าหลวงอังกฤษผู้ปกครองพม่าโทรศัพท์มาตามเพื่อให้ อู ซอ ไปเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลแทนออง ซาน เพราะเมื่อสิ้น ออง ซาน แล้วไม่มีใครโดดเด่นเท่า อู ซอ ผู้มากด้วยประสบการณ์ทางการเมืองอายุเพียง 47 ปี กว้างขวางในหมู่นักการเมือง สนิทสนมกับกองทัพ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ The sun เป็นหัวหน้าพรรคเมียวซิต (แปลว่ารักชาติ) แถมยังเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าเมื่อในห้วงปี 1940-1942 ก่อนญี่ปุ่นบุกพม่า
เหมือนสายฟ้าฟาดกลางวันแสก ๆ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษกลับเชิญ อู นุ มาพบแล้วขอให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีแล้วรีบจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศ
ในตอนนั้นออง ซานมีลูก 3 คนคือ ด.ช.ออง ซานอู ด.ช.ออง ซานลิน และ ด.ญ.ออง ซานซูจี
อู ซอ พร้อมด้วยลูกสมุนมือปืนยังคงคอยโทรศัพท์ด้วยความร้อนรุ่มเคล้าด้วยความปลาบปลื้มที่ขจัดคู่แข่งทางการเมืองได้สำเร็จ
บ่าย 3 โมงวันเดียวกันนั้นรถบรรทุกตำรวจจำนวนหนึ่งได้จู่โจมเข้าล้อมบ้านพักอู ซอ มือปืนทุกคนจับอาวุธเตรียมต่อสู้ แต่อู ซอ กลับใจเย็นหยิบวิสกี้เดินออกไปพบตำรวจด้วยท่าทางสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตำรวจเข้าค้นบ้านพบปืนและกระสุนจำนวนมากแต่มีใบอนุญาตถูกต้องจึงยึดไปเป็นหลักฐาน ตำรวจคุมตัวอู ซอ และลูกสมุนไปคุกอินเส่ง ในบ้านตำรวจยังพบนามบัตร ตรายางที่ทำเตรียมไว้เรียบร้อยพร้อมใช้เขียนคำว่า “ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอู ซอ”
อู ซอมีบุคลิกเป็นคนทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี (1940-1942) ใช้อำนาจเหมือนเผด็จการ เคยสั่งจับนักการเมืองเช่น อู นุ และบรรดากลุ่ม 30 สหายอีกหลาย ๆ คน รวมทั้งสั่งจับผู้ต้องสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ในเวลาเดียวกันทำตัวเป็นลูกสมุนชั้นดีของข้าหลวงอังกฤทุกคน อู ซอ เคยได้รับเชิญไปลอนดอนเพื่อพบกับเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล และบรรดาผู้นำอังกฤษเพื่อแสดงบทบาทเจรจาปลดปล่อยพม่าให้เป็นเครือจักรภพอังกฤษ
มีบันทึกว่าก่อนอู ซอ เดินทางไปเจรจากับอังกฤษนั้น เขาบวชเป็นพระแล้วไปสักการะขอพระจากพระเจดีย์ชเวดากอง แต่ด้วยความระห่ำ อู ซอ ขึ้นเครื่องบินรุ่น Tiger Moth แล้วไปบินวนเหนือเจดีย์ชเวดากองเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ชาวพม่าและพระสงฆ์ทั้งหลายลงความเห็นว่าเขาเป็นโรคจิต หลบลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด
กระบวนการสอบสวนฆาตกรรม ออง ซานดำเนินมาจนถึง 30 ธันวาคม 1947 ศาลอ่านคำพิพากษากว่า 1 ชั่วโมงเป็นภาษาอังกฤษ อู ซอฟังเข้าใจส่วนลูกน้องอีก 8 คนไม่รู้เรื่องศาลตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ อู ซอ และมือปืนอีก 5 คนส่วนที่เหลืออีก 3 คน จำคุกคนละ 20 ปี
ศพของออง ซาน ถูกนำมาวางให้ประชาชนเคารพเป็นเวลาประมาณ 9 เดือนใน Jubilee Hall บนถนนชเวดากองแล้วจึงทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติในสุสานเมื่อ 11 เมษายน 1948 มีชาวพม่าร่วมพิธีศพกว่า 500,000 คน
นับว่าเป็นการปิดฉากชีวิตนิรันดร์กาลของวีรบุรุษผู้ก่อตั้งทัดมาดอ(กองทัพพม่า) และผู้ปลดปล่อยพม่าให้เป็นเอกราช ความสูญเสียครั้งนี้ได้พลิกโฉมหน้าความเป็นไปของประเทศพม่าจนเราเห็นเราเห็นเช่นทุกวันนี้


จากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 1 – 7 กพ. 51





 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551
0 comments
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 11:28:51 น.
Counter : 4651 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


w2w
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2551
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
8 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add w2w's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.