จรรยาบรรณนักแปล

จรรยาบรรณนักแปล

สืบเนื่องจากการต่อใบรับรองคุณวุฒิ NAATI ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขอเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

ข้อกำหนดในการต่ออายุมี 2 ส่วน

ส่วนแรกคือ ประสบการณ์ทำงาน คือ ต้องแปลเอกสารมาแล้วไม่น้อยกว่า30,000 คำภายใน 3ปี (ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี)

ส่วนที่สอง คือการพัฒนาที่เกี่ยวกับวิชาชีพประกอบไปด้วย (ก) ต้องผ่านการอบรมจรรยาบรรณนักแปล โดยต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 30 คะแนน (ข)ต้องมีการฝึกใช้ภาษาอยู่เสมอ โดยต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 30 คะแนน(ค) ต้องมีการพัฒนาทักษะการแปล โดยต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 30 คะแนน

ทั้งสองส่วนต้องจัดทำเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานในการขอตรวจ ปัญหาคือเราหาคอร์สอบรมเรื่องจรรยาบรรณนักแปลที่เปิดสอนในประเทศไทยไม่ได้เลย เข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่มีหน่วยงานควบคุมอาชีพนักแปลและการแปลไม่ใช่วิชาชีพเหมือนวิชาชีพบัญชีวิชาชีพแพทย์ ฯ ผิดกับประเทศออสเตรเลียที่ควบคุมวิชาชีพแปลไว้เข้มงวดไม่แพ้วิชาขีพอื่น

สุดท้าย ต้องลงเรียนวิชา“การประพฤติตนอย่างมีจรรยาบรรณ” ของ NAATI โดยเรียนออนไลน์ เพราะห่างหายจากการเรียนมานานทำให้ตัวเองไม่สบายใจ (กลัวสอบตก ว่างั้น) ตั้งเป้าว่าต้องเรียนให้ผ่าน (เพราะถ้าไม่ผ่าน หมดทางทำมาหากินแน่ๆ)

หัวข้อที่เรียนมี 2 หัวข้อใหญ่ คือศีลธรรมและจรรยาบรรณ (moral and ethics) จรรยาบรรณในวิชาชีพ (industryethics) และการนำจรรยาบรรณไปปฏิบัติ (application of ethics)

ศีลธรรมและจรรยาบรรณ

อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง 2 คำนี้ โดยยกตัวอย่างกรณีทนายความแก้ต่างให้อาชญากรที่กำลังถูกไต่สวนในชั้นศาล แม้ทนายจะเชื่อว่าอาชญากรผู้นั้น (ลูกความ)ทำผิดจริง ทนายความก็ยังต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดคือแก้ต่างให้ลูกความของตน ประเด็นส่วนนี้คือความเชื่อทางด้านศีลธรรมที่เรารู้กันดีคือ อาชญากรรมต้องได้รับโทษ การที่ทนายความแก้ต่างให้อาชญการรายนี้ถือเป็นการทำผิดศีลธรรม แต่…ไม่ผิดจรรยาบรรณทั้งนี้เพราะหน้าที่ของทนายความคือแก้ต่างให้ลูกความ ที่เป็นอย่างนี้เนื่องจากจรรยาบรรณทางกฎหมายต้องอยู่เหนือศีลธรรมของบุคคลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมตามระบบยุติธรรมของศาล

ตัวอย่างที่สองเป็นกรณีของเพื่อนชายเตือนเพื่อนหญิงว่าคนที่เธอจะไปออกเดทด้วยนั้นเคยทำร้ายร่างกายผู้หญิงคนเก่ามาแล้วและบังเอิญว่าเพื่อนชายรายนี้เป็นอัยการฟ้องคดีคนที่เพื่อนหญิงจะไปออกเดทด้วย(ในคดีอื่น) โดยเพื่อนชายรายนี้เลือกที่จะไม่บอกให้ลูกขุนรู้ว่าผู้ต้องหารายนี้เคยทำกระทำความผิดมาก่อน ข้อสรุปกรณีนี้คืออัยการมีศีลธรรมเพราะบอกเพื่อนหญิงเกี่ยวกับคนที่เธอจะไปเดทและอัยการก็รักษาจรรยาบรรณด้วยโดยไม่บอกลูกขุนถึงความผิดที่ผู้ต้องหาเคยกระทำก่อนหน้านี้ เหตุผลก็เพราะหากลูกขุนรู้ถึงพฤติกรรมในอดีตของผู้ต้องหาลูกขุนอาจลำเอียงและส่งผลให้การตัดสินโทษไม่เป็นธรรม และถ้าผู้ตัองหาไม่ได้ทำผิดแต่ถูกตัดสินโทษเพียงเพราะเคยทำผิดมาก่อนผู้ต้องหาตัวจริงก็จะลอยนวล

(เรียนไป 2 กรณี ก็รู้แล้วว่าปริญญาโทการแปลที่เราเรียนมาจากจุฬาลงกรณ์ ไม่ได้สอนเรื่องจรรยาบรรณลึกถึงขนาดนี้ ไม่เคยมีการสอนวิเคราะห์กรณีศึกษาอย่างนี้ คุ้มแล้วที่ลงทะเบียนเรียน)

จรรยาบรรณในวิชาชีพ

จรรยาบรรณในวิชาชีพเป็นสิ่งที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพในอุตสาหกรรมเดียวกันและระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพกับสังคม โดยในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและสังคมนั้นจะมีพื้นฐานมาจากบริการที่ควรจะได้รับจากผู้ประกอบวิชาชีพรายนั้นเช่น แพทย์มีหน้าที่รักษาผู้ป่วย (ไม่ว่าผู้ป่วยจะใส่ “เสื้อแดง” หรือ“เสื้อเหลือง”)

สำหรับนักแปลและล่าม หน้าที่คือนำส่งข้อมูลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้นักแปลและล่ามทำหน้าที่ของตนได้สมบูรณ์ TheAustralian Institute of Interpreters and Translators Inc (AUSIT) (www.ausit.org) จึงกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพไว้ซึ่ง NAATI ก็นำมาใช้ด้วย

หลักจรรยาบรรณ (Code of Ethics) ของ AUSITมีดังต่อไปนี้

1. การประพฤติตนอย่างผู้มีวิชาชีพ (Professional Conduct)

2. การรักษาความลับของลูกค้า (Confidentiality)

3. การรู้ถึงขอบเขตความสามารถของตน (Competence)

4. การวางตนเป็นกลาง (Impartiality)

5. ความถูกต้อง (Accuracy)

6. ข้อกำหนดเรื่องการจ้างงาน (Employment)

7. การพัฒนาวิชาชีพ (Professional Development)

8. ความสมานสามัคคีในวิชาชีพ (Professional Solidarity)

คำที่เกี่ยวข้องอีกคำหนึ่งคือ Code of Practice หรือหลักปฏิบัติ คำนี้แตกต่างตรงที่กำหนดแนวทางไว้แน่ชัดและเฉพาะเจาะจงมีหลายหัวข้อและมีแนวปฏิบัติ (ต้องทำ) กำกับไว้ เช่น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (conflictof interest) การรับและให้ของขวัญ (gifts) เป็นต้นในขณะที่ Code of Ethics ให้แนวทางไว้โดยย่อว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

การนำจรรยาบรรณไปปฏิบัติ

การนำจรรยาบรรณไปปฏิบัตินั้นเริ่มที่กระบวนการตัดสินใจซี่งต้องอาศัย(ก) ความเข้าใจและการตระหนักถึงความสำคัญของหลักจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติ (ข)ความสามารถในการระบุปัญหาด้านจรรยาบรรณในสถานการณ์ต่างๆ (ค)ความยึดมั่นในการนำหลักปฏิบัติไปใช้ และ (ง) ความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะตามมาเมื่อเลือกที่จะปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ

วิธีตรวจสอบตนเองว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรทำได้ง่าย เพียงตอบคำถามเหล่านี้

- ทางเลือกนี้ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติหรือเปล่า

- ทำอย่างนี้แล้ว เราจะภูมิใจในตัวเองอยู่หรือไม่พ่อแม่พี่น้อง คนรอบข้างจะมองเรายังไง

- แล้วถ้าเกิดคนอื่นทำอย่างที่เรากำลังจะทำเราจะรู้สึกยังไง

แต่การตัดสินใจนั้น มีปัจจัยอื่นเป็นตัวแปรด้วยอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจัยด้านวัฒนธรรม คอร์สนี้ยกตัวอย่างสมมติว่าเราเป็นล่ามให้คนไทยเหมือนกัน แล้วคนนั้นเริ่มก้าวร้าวกับเจ้าหน้าที่(ตำรวจ) ขณะสอบปากคำ เรารู้แล้วว่าถ้าคนนี้ยังก้าวร้าวอย่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจลงโทษคนนี้ได้ คำถามคือ เราจะทำอย่างไร

สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนเรื่องจรรยาบรรณนักแปลมาร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่า “จะเตือนคนที่ถูกสอบปากคำเพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน” อะไรทำนองนี้ เราก็คิดว่าเราคงบอก แต่ตามหลักจรรยาบรรณแล้วกรณีมีปัญหาเรื่องการวางตนเป็นกลาง นักแปลและล่ามมีหน้าที่นำส่งสารให้ครบถ้วนและถูกต้องเท่านั้นไม่มีสิทธิออกความคิดเห็นหรือพูดคุยโดยตรงกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

อีกกรณีหนึ่ง แม่ของผู้ป่วยจ่ายตลาดบังเอิญมาเจอเราที่ทำหน้าที่ล่ามที่โรงพยาบาลให้ลูกชายของแม่รายนั้น แม่ถามว่าลูกชายพูดกับหมอว่าอะไรมีอาการยังไง ในฐานะแม่ของผู้ป่วย(ซึ่งเป็นลูกค้าของเรา) เขาน่าจะมีสิทธิที่จะรู้ แต่เปล่าเลย ข้อนี้เป็นประเด็นเรื่อง Confidentiality เราทำงานให้ลูกชาย (ลูกชายเป็นผู้จ้าง)อะไรก็ตามที่ลูกชายพูด เราไม่สามารถบอกใครได้เลยแม้แต่ผู้เป็นแม่ กรณีนี้ทำให้นึกถึงสมัยเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า พ่อของนักศึกษารายหนึ่งมาสอบถามเกรดวิชาการเงินกับอาจารย์อาจารย์อยากจะบอกมากแต่ก็ทำไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งที่พ่อก็เป็นคนจ่ายเงินค่าเทอมให้แท้ๆ (ถ้าเป็นบ้านเรา ประเทศไทยครูส่วนใหญ่บอกทั้งนั้นน่ะ วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมของการผ่อนปรน ประนีประนอมเลี่ยงการผิดใจกัน)

เรียนจบ 3 หัวข้อนี้แล้ว ก็ทำข้อสอบ ชุดแรกข้อที่ถูกตีกลับมาทำ 3 รอบคือคำถามว่า นักแปลและล่ามควรจะถอนตัวจากงานที่ได้รับมอบหมายเมื่อไหร่ คำตอบนี้ง่ายมาก คือเมื่อเรารู้ว่าการที่เรารับงานนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนหลักจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติให้เราถอนตัวออกจากงานที่ได้รับมอบหมายทันที (โห อุตส่าห์ตอบอย่างละเอียด สุดท้ายคำตอบนั้นกว้างๆ แต่ครอบคลุมทุกประเด็นจรรยาบรรณอย่างนี้เอง)

ข้อสอบชุดที่สอง คำถามที่น่าสนใจคือ สมมติว่าเราเคยแปลประวัติสุขภาพให้ลูกค้ารายหนึ่ง(นานมาแล้ว) วันดีคืนดีลูกค้ารายนั้นดันมาสมัครงานกับบริษัทที่สามีเราเป็นเจ้าของอยู่ เรารู้เลยว่าลูกค้ารายนั้นสุขภาพแย่มากๆ ถึงขั้นอาจส่งผลต่อการทำงานในบริษัทของสามีคำถามคือ เราจะบอกหรือไม่บอกสามีดีกว่าลูกค้า (ผู้สมัครงาน)รายนี้มีความเจ็บป่วยที่ร้ายแรง

กว่าจะทำข้อนี้ได้ ต้องเก็บไปนอนคิดทั้งคืน ถ้าไม่บอกสามีแล้วเกิดลูกค้ารายนี้ทำบริษัทเจ๊ง (เช่น เป็นโรคเลือด แล้วสามีทำบริษัทผลิตอาหารอาหารปนเปื้อน โรงงานโดนสั่งปิด) สามีต้องหาเรื่องฟ้องหย่าข้าพเจ้าแน่ๆ เลย ถ้าบอกสามี ก็ทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ(เรื่องการรักษาความลับ) อีก อาจโดนยึดใบรับรอง NAATI ได้ จะตอบยังไงให้ได้คะแนนสอบผ่านน๊อ

ก่อนจะเจอข้อสอบชุดที่สองนี้ลองย้อนไปอ่านตัวอย่างข้อสอบเก่า มีกรณีหนึ่งน่าสนใจ สมมติว่าลูกค้าส่งงานมาให้แปลปรากฏว่างานนั้นเป็นวัสดุลามกอนาจาร (จะในรูปของหนังสือหรือดีวีดีก็แล้วแต่) เราควรจะทำอย่างไร

เราตอบเลยว่า แจ้งตำรวจ -à เป็นคำตอบที่ผิด งงเลย เฉลยคือวัสดุลามกอนาจารไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในทุกรัฐหรือในทุกประเทศ(ตอนตอบนึกถึงแต่กฎหมายไทย) แจ้งตำรวจไป ตำรวจอาจจะไม่รับแจ้ง (เช่นครอบครองเพื่อใช้ส่วนตัวอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำขาย จะมีความผิด) แล้วถ้าแจ้งตำรวจจริงก็ถือว่าทำผิดจรรยาบรรณเรื่องการรักษาความลับของลูกค้าอีก (เขาจะมีรสนิยมยังไงเราไม่มีสิทธิไปป่าวประกาศ) ทางเลือกที่ทำได้คือให้ถอนตัวจากงานนั้น แต่…หลักจรรยาบรรณก็มีข้อยกเว้นด้วย ในกรณีที่งานนั้นเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมหรือรู้แน่ชัดว่าผิดกฎหมายนักแปลและล่ามมีหน้าที่ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ฉะนั้นกลับมาที่แบบทดสอบชุดที่สอง คำตอบคือ แจ้งลูกค้าว่าบริษัทที่ลูกค้าไปสมัครนั้นเป็นบริษัทของสามีเราเอง(เข้าข้อ conflictof interest) และถ้าลูกค้า(ซึ่งสมมติว่าป่วยด้วยโรคเลือด) ยืนยันว่าจะสมัครงานที่บริษัทของสามีเรา เรามีหน้าที่ตามกฎหมายในการแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขให้รับทราบว่ามีผู้ป่วยโรคเลือดสมัครงานที่บริษัทของสามีเรา

(จำได้เลยว่า ระหว่างเรียนคอร์สนี้เรากินยาแก้ปวดไมเกรนไปหลายเม็ด ใช้สมองเยอะจัด วัสดุการเรียนที่ต้องอ่านก็เยอะ เจ็บตาเลย สุดท้ายสอบผ่านรอผลการต่อใบรับรองอย่างเดียว)

สนใจพูดคุยเรื่องการแปล อีเมลมาที่ natchaon@yahoo.com

ณัชชาอร ชูเชิดศักดิ์ NAATI No. 67061 ออสเตรเลีย




Create Date : 08 ตุลาคม 2555
Last Update : 29 กรกฎาคม 2556 23:15:44 น.
Counter : 8372 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
ตุลาคม 2555

 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog