สัมภาษณ์เรื่องการแปล

สัมภาษณ์เรื่องการแปล

เมื่อวานน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพระดับปริญญาตรี ขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับการแปลเพื่อทำรายงานส่งอาจารย์วิชาการแปลก็ให้สัมภาษณ์ทาง skype สัญญาณดับๆ ติดๆ แต่ก็ให้ข้อมูลจนจบ

หลายๆ หัวข้อที่สัมภาษณ์ เราเคยเล่าไปในบล็อกเก่าๆ แล้วที่จะเล่าต่อไปนี้คือหัวข้อที่คิดว่าเรายังไม่เคยพูดถึง

หัวข้อที่เราตอบแล้วก็ขำตัวเองคือ “นักเขียนหรือหนังสือเล่มใดที่คุณชอบ”คำตอบคือ “ไม่มี”

พอได้ทำงานแปลแล้ว เพิ่งรู้ตัวว่าไม่ชอบอ่านหนังสือ ที่ผ่านมานี่หลอกตัวเองมาตลอดว่าชอบอ่านหนังสือเหมือนคนอื่น เปล่าเลย นิยาย บทความ เรื่องสั้น วรรณกรรม กี่เล่มที่สะสมมา กี่ปีไม่เคยแตะ กองไว้ในตู้หนังสือจนฝุ่นจับ เรียกวัดสวนแก้วมารับไปก็หลายรอบแล้ว แม้กระทั่งวารสารการแปลของหน่วยงานรับรองคุณวุฒิก็ยังไม่อ่านต่อให้มีเวลา ก็ไม่หยิบมาอ่าน ยกเว้นว่ามีเหตุให้ต้องอ่าน เช่น ต้องการข้อมูล (บ่งบอกนิสัยว่าถ้าจะให้ทำอะไรต้องใช้เหตุผลล่อ)

ทว่ามันก็หักกลบกันไปเพราะระหว่างทำงานแปลมันต้องอ่านเอกสารอื่นจากอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ในการแปล สรุปว่าก็อ่านเยอะด้วยความจำเป็นไม่ใช่ด้วยนิสัย

หัวข้อที่น้องๆ ถามแล้วเราอยากพูดถึงคือ วิธีการทำงานของนักแปลเราว่ามี 5 ขั้นตอน

1.ประเมินความสามารถตัวเองเทียบกับเนื้องานที่จะรับ (JobAssessment)

ลูกค้ามีงานลักษณะนี้มาให้ทำ นักแปล “มือถึง” มั้ย หรือถ้ามีความสามารถ ก็ต้องดูอีกว่ามีเวลาทำทันกำหนดส่งงานหรือเปล่า ขอบเขตของงานมีอะไรบ้าง เช่น แปลแล้วหา บ.ก. ตรวจให้ด้วย หรือส่งเซ็นรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญศาลหรือทำนิติกรณ์ หรือโนตารีให้ด้วย

2.วางแผนการแปล (Translation Planning)

สมัยเรียนแปลที่จุฬาฯ อาจารย์ก็พูดเรื่องนี้ ฟังไปก็งงว่า มันต้องวางแผนอะไรเนี่ยไม่ใช่งานก่อสร้างซะหน่อย แต่พอมาทำงานแปลเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ก็เข้าใจว่ามันก็เหมือนงานโครงการอื่นๆ ที่ต้องมีการบริหารทุกอย่างตามขั้นตอน เช่น

- งบประมาณ เช่น ลูกค้าจ่ายเท่านี้ แต่จะให้พรินท์สีหมดทุกหน้า เป็นร้อยๆหน้าเงี้ย พร้อมส่งด่วนไปต่างประเทศ เราทำได้ในงบประมาณนี้มั้ย

- ทรัพยากร เช่น มีพจนานุกรมซอฟท์แวร์ที่ลูกค้ากำหนด มีนักแปลในสังกัดพอหรือเปล่า และอุปกรณ์อื่นๆที่ต้องใช้พอมั้ย พริ้นท์เตอร์มีหมึกพอหรือเปล่า ไม่ใช่พริ้นท์ๆ ไปหมึกหมดตอนเที่ยงคืน แล้วต้องส่งงานเช้า วิ่งไปซื้อที่ห้าง รุ่นนี้ดันหมดอีก จ่ายค่าอินเตอร์เน็ตหรือยัง ไม่ใช่ใช้ๆไปโดนตัดเน็ต (ซวยซ้ำซวยซ้อน)

- เวลา เช่น งาน 100 หน้า วันนึงต้องแปลได้กี่หน้าหารออกมาแล้วชั่วโมงนึงต้องได้กี่หน้า ระหว่างทำงาน จะมีหยุดงานไปเชงเม้งไหว้เจ้าหรือเปล่า ต้องเผื่อไฟดับเวลาฝนตก (สมมติบ้านใครระบบไฟฟ้าไม่ดี แค่เมฆดำลอยมาฟ้ามืด ไฟก็ดับแล้ว) เผื่อขนของหนีน้ำท่วมมั้ย (จริงๆ มันเป็นเหตุสุดวิสัยสามารถขอยืดเวลาทำงานได้ ถ้าลูกค้ายังมีเวลาเหลือ แต่ส่วนใหญ่ถ้าเจออย่างนี้ ผจก.โครงการจะส่งงานให้นักแปลคนอื่นรับช่วงทำไปทำรต่อ) ต้องร่นเวลาเสร็จงานมาสัก 3-4 วันไว้รับสถานการณ์ฉุกเฉิน)

3.ลงมือแปล (Translation)

ขั้นตอนนี้คือการลงมือแปลโดยทำตามกระบวนวาทกรรมวิเคราะห์ (discourse analysis)เพี่อวางแนวทางแปลก่อนจะเริ่มแปล จะเป็นการตอบคำถามหลายๆ ด้าน เช่น ใครเป็นคนเขียน เขียนให้ใครอ่านเขียนเมื่อไหร่ แนวการเขียนเป็นยังไง เขียนไปเพื่ออะไร (ถ้าอยากรู้กระบวนการโดยละเอียดต้องไปเรียนการแปล)

4.ตรวจสอบงานก่อนส่ง (Quality Assessment)

นักแปลควรตรวจงานตัวเองก่อนส่ง ยิ่งคนที่ใช้ CAT tool ทำงานแปลด้วยแล้ว ขอร้องเลย เห็นใจ บ.ก. มั่ง เคยจับผิดนักแปลได้ว่าใช้โปรแกรมช่วยแปล (ทั้งที่ลูกค้าห้าม)เพราะงานแปลมีอะไรแบบนี้โผล่มา “ค่าเช่าที่ได้ตกลงที่จะต้องสามารถชำระเงินได้โดยผู้อ้างสิทธิ” (แปลยังไงวะเนี่ย) ฉะนั้นโปรดตรวจแก้งานแปลก่อนส่ง

5.แก้ไขงาน (After-sale Service)

งานแปลที่ทำได้ดีจะไม่ค่อยโดนตีกลับ แต่ก็ไม่เสมอไป งานแปลบางอย่างแปลถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ เช่น fitness ทับศัพท์ไปว่า ฟิตเนส ลูกค้าบอกว่า ควรจะแปลว่าสถานออกกำลังกาย (คิดไม่ถึงเลยนะเนี่ย) หรืองานแปลบางอย่างถูกต้องแต่ลีลาการเขียนโน้มน้าวใจไม่พอโดนตีกลับมาแก้ให้ถูกใจลูกค้ามากกว่านี้ อันนี้ไม่รวมพวกงานเอกสารกฎหมายที่แปลเสร็จแล้วต้นฉบับดันโดนคู่ความขอแก้ แล้วจะส่งส่วนที่แก้มาให้นักแปลแปลเพิ่ม ซึ่งส่วนนี้ต้องคิดค่าแรงเพิ่มนะไม่ได้อยู่ในส่วนของการรับประกันผลงาน

น้องถามว่า “การแปลเอกสารต่างๆกับการแปลหนังสือมีความแตกต่างกันอย่างไร”เรามีความเห็นว่า

- การแปลเอกสาร เน้นความถูกต้อง ส่วนการแปลหนังสือจะเน้นอารมณ์ (ครูหนอน แห่งสมาคมนักแปลและล่ามใช้คำว่า “สวยแต่ไม่ซื่อ”)

- การแปลเอกสารได้เงินเร็ว เดือนต่อเดือน การแปลหนังสือ กว่าจะได้เงินค่าแปลก็ 3 เดือนขึ้นไป หรือบางสำนักพิมพ์จะไม่จ่ายค่าแปลจนกว่าจะมีการตีพิมพ์หนังสือ(ก็ไม่รู้ว่า บ.ก. จะตรวจเสร็จเมื่อไหร่ ทำรูปเล่มอีกกี่เดือน กว่าจะได้วางขายปาเข้าไปเป็นปีแล้วหรือเปล่า)

- การแปลเอกสารส่วนใหญ่จะได้เงินมากกว่าเนื่องจากมีปริมาณการสั่งจ้างมากก่วา (ธุรกิจจำเป็นมากกว่าวรรณกรรม การเงิน การธนาคาร กฎหมาย การตลาด การขายทุกอย่างสำคัญต่อความเป็นอยู่ ถ้าขาดไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่วนวรรณกรรมสำคัญในการหล่อเลี้ยงความคิด ซึ่งถ้าขาดไป ก็ยังอยู่ได้ อาจจะเหี่ยวเฉาเล็กน้อย –อันนี้ความเห็นส่วนตัวของเราล้วนๆ)

- การแปลเอกสารมีความเสี่ยงมากกว่าการแปลหนังสือ สมมติว่าแปลหนังสือผิดอย่างมากก็โดนผู้อ่านต่อว่า โดนสำนักพิมพ์หักเงิน แต่ถ้าแปลเอกสารผิด เช่นแปลคู่มือการใช้งานเครื่องจักร แล้วแปลผิด พนักงานใช้เครื่องจักรตามคำแปลคู่มือแล้วเกิดอุบัติเหตุ นักแปลมีสิทธิโดนฟ้องขึ้นศาล อาจต้องจ่ายค่าเสียหายให้ผู้เสียหายรายต่างๆ ด้วย เรื่องนี้เป็นประเด็นหารือในการประชุมผู้เชี่ยวชาญศาลเมื่อวันที่30 สิงหาคม ที่ผ่านมาด้วย ที่ประชุมพูดเรื่องานแปลที่แปลโดยนักแปลท่านอื่นแต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญศาลรับรองคำแปล ถ้าเซ็นไปก็เรียกว่า หาเหาใส่หัว อยู่ดีๆไปรับความเสี่ยงที่ตัวเองไม่ได้ก่อ (นี่เรายังหาซื้อประกันความรับผิดทางวิชาชีพนักแปลอยู่นะหามาเป็นปีแล้ว เพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอีกคนก็หาซื้ออยู่ แต่ในประเทศไทย บริษัทประกันขายให้เฉพาะกิจการในรูปบริษัทไม่ขายให้บุคคล ตลาดประกันในส่วนของงานแปลในประเทศไทยเรียกว่า ไม่มีอุปสงค์ก็เลยไม่มีอุปทาน)

สำหรับ คำแนะนำหรือนำเสนอให้กับคนที่สนใจในอาชีพนี้

- แนะให้ไปเรียนหลักสูตรการแปลเพื่อให้รู้ทฤษฎีพื้นฐาน อย่าคิดว่าหลักสูตรนี้ไม่สำคัญ ถ้าไม่สำคัญ จุฬาฯธรรมศาสตร์ มหิดล หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ คงไม่จัดให้เป็นหลักสูตรเฉพาะที่มีการให้ปริญญา เหมือนสร้างบ้าน แต่รากฐานไม่ดีพอทำหลังคา บ้านถล่ม ที่ลงทุนมา หมดกัน

- ค่อยๆสร้างฐานลูกค้าของตัวเอง อย่าออกจากงานประจำมาทำงานแปลเด็ดขาดยกเว้นฐานลูกค้าแน่นแล้ว

- ถ้าฝีมือดี มีคุณวุฒิ อย่าลดราคาให้ลูกค้าพร่ำเพื่อเพียงเพื่อให้ตัวเองได้งาน ในระยะยาว ตัดราคากันเรื่อยๆ อย่างนี้ลูกค้าได้ประโยชน์ แต่นักแปลเก่งๆจะหายไปจากตลาดเพราะเลิกรับงานแปลเนื่องจากลูกค้ากดราคา(โดยการเอาราคานักแปลรายอื่นมาเป็นตัวเทียบ)

- สร้างความแตกต่างให้ตัวเองเช่น หาตลาดที่ยังไม่มีคนทำ สมมติตลาดขาดนักแปลด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเหมืองแร่ นักแปลที่มีพื้นฐานด้านนี้อยู่แล้ว(อาจจะเคยทำงานบริษัทสำรวจธรณีวิทยามาก่อน)ก็ควรจะโปรโมทตัวเองโดยใช้ยกความรู้ด้านเหมืองแร่เป็นจุดขาย หรือหาคุณวุฒิหรือใบรับรองเพิ่มเติมโดยเฉพาะคุณวุฒิที่ยังไม่มีในประเทศไทย (เช่น ATAหรือ IOL)

น้องๆ ถามว่า “พี่สร้างความแตกต่างด้วยการเขียนบล็อกใช่มั้ยคะ”คำตอบคือ เปล่า ไม่ได้เขียนบล็อกเพื่อโปรโมทตัวเอง เขียนเพราะเกิดจากความเบื่อ โดยเขียนเป็นจริงเป็นจังเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เองเนื่องจากนั่งอยู่บ้านที่เมลเบิร์นออกไปไหนก็ลำบาก ไม่มีแมวให้เล่นด้วย ทำงานแปลเครียดแต่ไม่รู้จะแก้เครียดยังไง เขียนบล็อกซะเลย เล่าเรื่อง ระบายความรู้สึก จิตแพทย์บอกว่าวิธีนี้เป็นวิธีบำบัดที่ดีอย่างหนึ่ง อีกอย่างคือ อึดอัด หาข้อมูลเกี่ยวกับการแปลของไทยนี่ไม่ค่อยมีใครเขียนอะไรไว้ งั้นเราเขียนบอกเพื่อนดีกว่า อะไรที่เรารู้เราจะไม่เก็บไว้คนเดียว อยากแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักแปล ก็มีอีเมลเข้ามาเยอะ ส่วนใหญ่จะไม่ได้แบ่ง แต่มาขอ เช่น ขอให้ช่วยหาแฟนขอให้ช่วยหาลูกค้า ขอให้ช่วยตรวจงานแปล ขอให้ช่วยตัดสินใจ

น้องๆ ขอ “ข้อคิด คำคม” เราตอบไปว่า “ได้ดีแล้วอย่าลืมเพื่อน”ในที่นี้เราหมายถึง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน วงการเดียวกัน ทุกวันนี้เรามีเพื่อนนักแปลช่วยเราทำงานเพราะเราก็ช่วยเขามาก่อนด้วยให้คำแนะนำต่างๆ

-------------------------------------------------------

สนใจพูดคุยเรื่องการแปล อีเมลมาที่ natchaon@yahoo.com

ณัชชาอร ชูเชิดศักดิ์ NAATI No. 67061 ออสเตรเลีย




Create Date : 26 กันยายน 2556
Last Update : 26 กันยายน 2556 7:41:24 น.
Counter : 4127 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
กันยายน 2556

1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
12
13
14
16
17
18
19
21
22
23
24
25
27
28
29
30
 
 
All Blog