What so ever will do...
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
14 เมษายน 2554

ศาสนาอวกาศ (Cosmic Religion)







จากหนังสือ “Einstein on Cosmic Religion and Other Opinions & Aphorisms” Dover Publications, inc. Mineola, Newyork ISBN-13:978-0-486-47010-8





นับเป็นสิ่งพิเศษที่เกิดขึ้นได้ในวันธรรมดาวันหนึ่งที่ผมไปหาซื้อตำรามาทดแทนกองหนังสือตกยุคที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเรียน แล้วก็เผอิญเหลือบไปเห็นหนังสือเล่มเล็กที่วางอยู่ในชั้นร่วมกับหนังสือยอดนิยมของสตีเฟน ฮอว์กกิ้น เป็นหนังสือของไอน์สไตน์ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ศาสนาอวกาศ หรือ Cosmic Religion ซึ่งผมได้ยินอ้างมานานมาก โดยเฉพาะ ในประเด็นที่ว่า “ศาสนาอวกาศ” ที่ไอน์สไตน์กล่าวถึงคือศาสนาพุทธ





ศาสนาในทรรศนะของไอน์สไตน์





ศาสนาแห่งความกลัว (Religion of Fear)





ในรูปแบบที่ดึกดำบรรพ์ที่สุด มนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีความกลัวเป็นที่ตั้ง กลัวหิว กลัวสัตว์ร้าย โรคร้าย และความตาย แต่มนุษย์ในยุคเริ่มแรกมีโลกทรรศน์ที่จำกัด มนุษย์ได้สร้างรูปลักษณ์ของสิ่งที่คล้ายตัวเขาเองมาควบคุมให้เป็นเหตุผลของความกลัวเหล่านี้ ซึ่งมนุษย์หวังว่า การทำให้สิ่งนี้ พึงพอใจจะทำให้รอดปลอดภัยจากสิ่งที่พวกเรากลัว สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ศาสนาแห่งความกลัว


เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีผู้เข้ามาทำตัวเป็นตัวกลางที่สามารถติดต่อกับตัวตนเหล่านั้น คนเหล่านี้ได้กลายเป็นชนชั้นพิเศษ ที่สร้างกฏเกณฑ์ ระเบียบขึ้นมาควบคุม และสร้างหลักประกันความสุขสบายของพวกตน ศาสนาก็กลายเป็นอุปกรณ์ในการปกครอง


แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความรู้สึกที่มีรากฐานจากความเห็นอกเห็นใจในหมู่ชนในสังคมก็สร้างศาสนาขึ้นมา





ศาสนาแห่งศีลธรรม (Moral Religion)





พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองใดๆมิใช่อมตะชนและย่อมตายจาก ความต้องการที่จะมีผู้แนะนำ คุ้มครอง ให้ความรัก ได้นำมาสู่นิยามของพระเจ้าผู้ทรงเมตตาเพื่อมวลชน พระเจ้าเป็นผู้ดลบันดาล ดูแล ปกป้อง เป็นผู้ให้ และผู้ลงโทษ ซึ่งตรงนี้เป็นพระเจ้าในรูปแบบที่ปรารถนา เราเรียกว่าศาสนาแห่งศีลธรรม ซึ่งมีความเป็นอารยะ


ทั้งนี้ศาสนาใดๆ ก็จะมีลักษณะที่ผสมผสานระหว่างการเป็นศาสนาแห่งความกลัวและศาสนาแห่งศีลธรรม มันไม่ใช่ว่าศาสนาจากหมู่คนเถื่อนจะไร้แง่มุมแห่งศีลธรรม หรือศาสนาที่เจริญแล้วจะไม่มีแง่มุมการใช้ความกลัว มุมมองคุณธรรมจะมีสูงกว่าในสังคมที่เจริญ และมันก็จะมีอัตลักษณ์ของมนุษย์เจืออยู่ในความเป็นพระเจ้านั้น





ศาสนาอวกาศ (Cosmic Religion) 





และในระดับที่สูงกว่านั้นก็ได้เกิดมีศาสนาในรูปแบบบริสุทธิ์ที่ไม่ต้องประกอบด้วยความกลัว หรือการสร้างพระเจ้าขึ้นมาตามอัตลักษณ์ของมนุษย์ มันเป็นรูปแบบของสำนึกถึงตัวตนของตัวเรา เขาจะรู้สึกถึงความไร้สาระของเป้าหมายและความปรารถนาส่วนตน เขาจะรู้สึกว่าความคิดคำนึงแบบปัจจเจกบุคคลเป็นการถูกกักขังไว้ และต้องการค้นหาสัมผัสถึงการมีอยู่ของทุกสิ่งทั้งหมดที่แท้จริง และ ณ จุดนี้เอง ที่ไอนสไตน์ได้พยายามเปรียบเทียบให้เห็นถึงการมีอยู่ของ องค์ประกอบ Cosmic Religion



Indications of this cosmic religious sense can be found even on earlier levels of development-for example, in the Psalms of David and in the Prophets. The cosmic element is much stronger in Buddhism, as, in particular, Schopenhauer’s magnificent essays have shown us. (p. 48)



จากที่เขียนมาในช่วงก่อน ผมคิดว่าเราน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า สิ่งที่ไอน์สไตน์พูดถึงศาสนาอวกาศของเขา นั่นคือการให้ปรัชญาที่ขบคิดมาอย่างดีของแต่ละบุคคลที่พยายามเอื้อมไปให้ถึงองค์รวมของมวลมนุษย์ หรือเหล่าชาวโลกที่ไม่จำกัดแค่คำว่ามนุษย์ เป็นตัวนำในการขับเคลื่อนทดแทนระบบศีลธรรม


แน่นอนระบบศาสนาอย่างปัจจุบันหรือแม้แต่ในอดีตก็คงไม่อาจยอมรับความคิดแบบนี้ ไอน์สไตน์เชื่อว่าในเหล่าผู้ที่ถูกเรียกว่าเดียร์ถีย์ (Heretics) ในยุคโบราณก็คงมีผู้ที่สัมผัสถึงศาสนาอวกาศนี้ บางที คนเหล่านี้ก็ถูกไล่รวมไปว่าเป็นพวก Atheists แต่ในขณะเดียวกันถ้าสถานการณ์อำนวนคนเหล่านี้ก็อาจได้รับการยอมรับเป็นนักบุญ สิ่งที่เรียกว่าศาสนาอวกาศจะไม่มีแนวคิดของพระเจ้าหรือเทววิทยา ในมุมมองทั่วไป ศาสนาและวิทยาศาสตร์จะเป็นปฏิปักษ์ปรองดองกันมิได้ โดยคนที่ยอมรับความสัมพันธ์ของเหตุและผล และ ลำดับการณ์ของทุกสรรพสิ่ง จะไม่มีที่ว่างให้กับ อะไรสักอย่าง ที่เข้ามาควบคุมทุกสิ่งในโลกได้ ซึ่งศาสนาแห่งความกลัวและศาสนาแห่งศีลธรรมจะไม่สามารถครอบคนเหล่านี้ได้  คำวิจารณ์ของไอน์สไตน์ที่ฝังตัวเขาลงไปในฝั่งของ Atheist มีในประโยคข้างล่าง



Science, in consequence, has been accused of undermining morals-but wrongly. The ethical behaviour of man is better based on sympathy, education, and social relationships, and requires no support from religion. Man’s plight would, indeed, be sad if he had to be kept in order through fear of punishment and hope of rewards after death. (p. 51-52)



โดยคำแปล: ในอีกด้าน วิทยาศาสตร์ มักถูกกล่าวหาเป็นสิ่งที่บั่นทอนศีลธรรม แต่ นั่นเป็นข้อกล่าวหาที่ผิด “การดำรงอยู่อย่างมีคุณธรรมโดยอิงกับสำนึกเห็นใจ การศึกษา ความสัมพันธ์ในสังคม โดยไม่มีศาสนาเข้ามาเกี่ยว เป็นสิ่งที่ดีกว่า” มนุษยสภาพคงเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้ามันจะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระเบียบด้วยความกลัวการลงโทษและหวังถึงรางวัลเมื่อได้ตายลงไปแล้ว





ในความหมายตรงนี้ สิ่งที่ไอน์สไตน์ต้าน คือการห้ามคิดห้ามค้นหา ดำรงตนอยู่แค่ในระเบียบแบบแผนตามข้ออ้างความพึงพอใจของพระเจ้า (หรืออาจเป็นแค่นักบวชที่เขียนเติมลงมาเฉยๆเพื่อรักษาฐานอำนาจของตน) ไอน์สไตน์เห็นว่าความดีงาม สามารถนำงานวิจัยผ่านออกมาได้ก็ย่อมจะต้องได้รับสัมผัสถึงความเป็นศาสนาอวกาศนี้ และไอน์สไตน์เชื่อว่า ศาสนาอวกาศจะเป็นศาสนาที่อยู่ร่วมกับวิทยาศาสตร์ได้ แม้แต่การแก้ปัญหาสงครามที่ยังยืน ก็ยังมาได้จากการให้การศึกษา ให้ความสนใจในวิทยาศาสตร์ โดยเมื่อมนุษย์มีความเข้าใจถึงองค์รวมของมวลมนุษย์ มันก็ไม่มีใครที่จะเสียเวลาทำสงครามอีกต่อไป ไอน์สไตน์เคยให้ความเห็นที่แหวกแนวเป็นปฏิปักษ์กับสงครามไว้ว่า ขอเพียงมีคนแค่ 2% ในโลกที่จะออกมาประกาศว่าจะไม่เข้าไปเป็นทหารในช่วงเวลาปรกติ เท่านี้ก็จะไม่มีสงครามใดๆในโลกเพราะไม่มีคุกใดใหญ่พอจะรับคนจำนวนขนาดนี้ ท้ายสุดเราจะสามารถปลดอาวุธออกจากโลกได้ แน่ละว่าความคิดนี้คงไม่เป็นที่ถูกใจกับเพนทากอนแน่ๆ และ สหรัฐฯก็ส่ง FBI นับขโยงตามประกบไอน์สไตน์ไปชั่วชีวิต





ศาสนาอวกาศ กับพุทธศาสนา





เมื่อมองย้อนกลับมาถึงข้ออ้างของคนพุทธที่กล่าวว่าไอน์สไตน์นับถือพุทธ มันกลับกลายเป็นว่า พุทธของไอน์สไตน์คือปรัชญา คือการให้เรียนรู้ ศึกษา คิดและเชื่อด้วยตนเอง ไม่ใช่พุทธท่องจำไม่เชื่ออย่าลบหลู่ มีข้อห้ามมากมายที่บีบบังคับออกมาผ่านกระบวนการทางกฏหมายศีลธรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พุทธที่ไอน์สไตน์กล่าวว่ามีมิติของศาสนาอวกาศ มนุษย์ควรเข้าถึงความดีด้วยการศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ด้วยการค้นคว้า ไม่ใช่การท่องจำ ไม่ใช่การเชื่อ และ ไม่ใช่เกรงกลัวการลงโทษในนรก หรือหวังความสุขสบายเบื้องหน้าในสวรรค์ สิ่งที่ศาสนาพุทธมีนั้นมีมากกว่าหิริและโอตัปปะ พุทธมี พรหมวิหารสี่ ซึ่งเหนือกว่าการใช้ความกลัวบาปและละอายต่อความชั่วโดยเรายังไม่ต้องพูดไปถึงระดับของพระนิพพาน แต่ที่น่าสังเวชคือ คนที่นับถือศาสนาพุทธปัจจุบันกลับเลือกที่จะคุมคนอื่นๆในสังคม ไว้ด้วยการบังคับแทนการให้คนได้คิด เลือก ที่จะดีด้วยตนเอง พุทธในไทยปัจจุบันจึงมีลักษณะเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม และมีมิติศาสนาแห่งความกลัวเข้ามาเป็นองค์ประกอบอย่างมาก ซึ่งห่างไกลจากมุมมองของไอน์สไตน์ต่อพุทธที่เขากล่าวถึง ซึ่งถ้ากล่าวแบบไอน์สไตน์ในภาษาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่า คนไทยเราควรอยู่ร่วมกันด้วยความเห็นอกเห็นใจและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน โดยไม่ต้องใช้ระบบการลงโทษ หรือระบบการให้รางวัล ซึ่งเหมือนกับระดับการปฏิบัติต่อสัตว์





ไอน์สไตน์เป็นยิวไปถึงแก่นแท้ของยูดาห์ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ไอน์สไตน์เห็นว่าตัวฮิตเลอร์เป็นแค่ปลายเหตุ สิ่งที่ทำให้ยิวล่มสลายคือการหลีกหนีจากหนทางของศาสนายูดาห์เพราะการบริโภคเกินประมาณ และลุ่มหลงในวัตถุ ความร่ำรวย มันจึงเกิดการแบ่งแยกของชนชั้น ความฝันของไอน์สไตน์ในประเทศอิสราเอลที่เป็นดินแดนของชาวยิว เขาหวังว่าชาวยิวจะมุ่งสู่หนทางของการเป็นผู้ให้ ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสังคม และช่วยเหลือชาวอาหรับในพื้นที่ข้างเคียง อาจเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความฝันกับความจริงนั้นยังห่างกันมาก เราอาจยังต้องทำงานอีกมากเพื่อให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีการเผยแพร่ ทำให้มนุษย์ทั้งหลายรู้สึกอยาก ที่จะรู้ถึงความเป็นจริง ที่ไม่ใช่การยัดเยียดให้เชื่อโดยศาสนาแห่งความกลัว หรือศาสนาแห่งศีลธรรม เมื่อนั้นมนุษยชาติก็อาจเข้าถึงความเป็น Cosmic Religion ที่ไอน์สไตน์ใฝ่ฝัน







Create Date : 14 เมษายน 2554
Last Update : 26 เมษายน 2554 21:43:36 น. 2 comments
Counter : 1457 Pageviews.  

 
ศาสนาพุทธที่แท้ เป็นศาสนาที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ คะ


โดย: อาณาจักรสีเขียว วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:12:51:50 น.  

 
ชอบมากครับ


โดย: Grunge agina IP: 125.24.125.28 วันที่: 14 เมษายน 2554 เวลา:15:36:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darth Prin
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




นี่คือกรุบทความของผม ซึ่งส่วนใหญ่ก็โพสไว้แล้วในหว้ากอ

ผมเชื่อ ในมุมมองที่ไม่เป็นกลาง ใครก็ตามเวลาพูดอะไรมันก็มีเอียงซ้ายเอียงขวากันทั้งนั้น สำคัญที่สุดคือการแสดงจุดยืนที่ไม่เป็นกลางออกมา ด้วยเหตุผลทั้งหมดว่าทำไมมันควรเอียงไปด้านนั้น
[Add Darth Prin's blog to your web]