บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 

การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์

การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์

พฤติกรรมของมนุษย์มีขอบเขตกว้างขวางและซับซ้อน เพื่อทำความเข้าใจ จึงควรทำความเข้าใจ ความหมายของพฤติกรรม ให้ตรงกันเสียก่อน



ความหมายของพฤติกรรม

มีผู้ให้ความหมายคำว่า " พฤติกรรม" (Behavior) ไว้มาก ที่น่าสนใจเช่น เวดและทาฟรีส (Wade and Tavris 1999 : 245 ) อธิบายว่า พฤติกรรมคือการกระทำของคนเราที่สังเกตได้ ซืมบาร์ โดและเกอร์ริก (Zimbardo and Gerrig 1999 : 3) อธิบายว่า พฤติกรรมเป็นการกระทำของบุคคลเพื่อปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้ และลาเฮย์ (Lahey 2001 : 5) กล่าวว่า พฤติกรรมเป็นการประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่สามารถสังเกตได้

จากความหมายและคำอธิบายที่อ้างถึงไว้ อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมคือการกระทำ ของบุคคลในทุกลักษณะ ทั้งที่เป็นโดยธรรมชาติทางสรีระและที่จงใจกระทำ ซึ่งอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และ เป็นการกระทำที่สังเกตได้โดยอาจใช้ประสาทสัมผัสธรรมดาหรือใช้เครื่องมือช่วยการสังเกต


ประเภทของพฤติกรรม

การศึกษาพฤติกรรมยุคปัจจุบันไม่เน้นการแบ่งประเภทของพฤติกรรม แต่ในที่นี้ได้พิจารณาเห็นว่าการแบ่งประเภทของพฤติกรรมจะช่วยให้เข้าใจแนวทางการพัฒนาพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น ซึ่งนักจิตวิทยานิยมแบ่งพฤติกรรมได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1 พฤติกรรมภายนอก (Overt Behavior)
เป็นพฤติกรรมที่สังเกตได้โดยชัดเจนแยกได้อีกเป็น 2 ชนิดคือ

1.1 พฤติกรรมที่สังเกตได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น การพูด การหัวเราะ การร้องไห้ การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือแม้แต่การเต้นของหัวใจ ซึ่งผู้อื่นสังเกตได้โดยอาศัยประสาทสัมผัส

1.2 พฤติกรรมที่ต้องใช้เครื่องมือหรือการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหรือปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด การทำงานของกระเพาะอาหารและ ลำไส้ ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือประสาทสัมผัสเปล่า

2. พฤติกรรมภายในหรือ "ความในใจ" (Covert behavior)
เป็นพฤติกรรมที่เจ้าตัวเท่า นั้นจึงจะรู้ดี ถ้าไม่บอกใคร ไม่แสดงออกก็ไม่มีใครรู้ได้ดี เช่น การจำ การรับรู้ การ เข้าใจ การได้กลิ่น การได้ยิน การฝัน การหิว การโกรธ ความคิด การตัดสินใจ เจตคติ จินตนาการ พฤติกรรมเหล่านี้ อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกาย เช่น ขณะใช้ความคิดคลื่นสมองทำงานมาก หรือขณะโกรธปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดมีมาก ซึ่งวัดได้โดยเครื่องมือ แต่ก็ไม่มีใครรู้ละเอียดลงไปได้ว่าเขาคิดอะไร หรือ เขารู้สึกอย่างไร คนรู้ละเอียดคือเจ้าของพฤติกรรมนั้น

พฤติกรรมภายนอกและพฤติกรรมภายในมีความสัมพันธ์กัน โดยพฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมภายนอก เช่น คนเราย่อมพูดหรือย่อมแสดงกิริยาโดยสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดภายใน ถ้าต้องการศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับ "จิตใจ" หรือพฤติกรรมภายในของคน ก็ต้องศึกษาจากส่วนที่สัมผัสได้ชัดแจ้งคือพฤติกรรมภายนอก ซึ่งเป็นแนวทางสู่ความเข้าใจพฤติกรรมที่เป็นความในใจและการจะเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์แสดงออกอันเป็นพฤติกรรมภายนอกเราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมชาติของการคิด การตัดสินใจ การรับรู้ การรู้สึก ฯลฯ ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายใน

การศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ซึ่งจะมีทั้งพฤติกรรมภายนอก พฤติกรรมภายใน พฤติกรรมที่เป็นเรื่องของธรรมชาติสรีระ ซึ่งมักเรียกกันว่า " พฤติกรรมแบบเครื่องจักร" และพฤติกรรมที่เป็นเรื่องของประสบการณ์ ซึ่งมักเรียกกันว่า "พฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมาย" แต่โดยทั่วไปแล้วมักเน้นการศึกษาเฉพาะพฤติกรรมที่เกิดเนื่องจากประสบการณ์เท่านั้น ซึ่งพฤติกรรมนั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามระยะเวลาที่ผ่านไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล และสำหรับการศึกษาพฤติกรรมเพื่อการพัฒนาตนนั้น มุ่งเน้นการพัฒนาจิต ความคิด หรือพฤติกรรมภายในเป็นลำดับแรก เนื่องจากพฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมภายนอก หากคิดดีการปฏิบัติก็มักดีด้วย


พฤติกรรมที่ศึกษาเพื่อการพัฒนาตน

คำว่า " การพัฒนาตน" (Self development) ในความหมายเชิงจิตวิทยามักจะหมายถึงการกระทำเพื่อการเจริญส่วนตน (Personal Growth) ซึ่งเกอดและอาร์คอฟฟ์ (Goud & Arkoff 1998 : 121) ได้กล่าวถึงการเจริญส่วนตนไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ด้านความมุ่งมั่นปรารถนา และค่านิยมอันเป็นพฤติกรรมภายใน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมภายนอกด้านการกระทำที่ดีเพื่อนำพาชีวิต (Self Mastery) สู่ความเจริญก้าวหน้า

ถ้าจะพิจารณาที่คำว่า "พัฒนาการ" (Development) โดยเฉพาะ คำนี้มีผู้ให้ความหมายไว้มาก เช่น วอร์ทแมนและลอฟทัส (Wortman and Loftus 1992 : 253) กล่าวว่า พัฒนาการเป็นแบบแผนการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทุกด้านของบุคคล นับตั้งแต่กำเนิดชีวิตจนถึงวัยชรา ส่วนเฮทเธอร์ริงตันและพาร์ค (Hetherington and Parke 1993 : 2 ) อธิบายว่าพัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านระบบชีววิทยาทางกาย สังคม สติปัญญา และอารมณ์ตามระยะเวลาที่ผ่านไปตลอดช่วงวัย และวูลฟอล์ค (Woolfolk 1998 : 24 ) กล่าวถึงพัฒนาการของบุคคลว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านที่ค่อนข้างคงที่แน่นอนนับแต่เกิดจนตลอดชีวิต

จากที่กล่าวมาทั้งคำว่าพัฒนาการและการเจริญส่วนตน จะเห็นได้ว่าการศึกษาพฤติกรรมเพื่อการพัฒนาตนนั้น ควรมีขอบข่ายการศึกษาพฤติกรรมทุกด้าน เพราะการเปลี่ยนแปลงทุกด้านรวมแล้ว คือพัฒนาการของบุคคล ส่วนในการพัฒนาเพื่อความเจริญส่วนตนนั้นก็เน้นที่พฤติกรรมภายในเป็นลำดับแรกก่อนพฤติกรรมภายนอก เพราะพฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนดหรือควบคุมการกระทำ


เป้าหมายและความสำคัญของการศึกษาพฤติกรรม

ลาเฮย์ (Lahey 2001 : 5 ) ได้กล่าวถึงเป้าหมายของศาสตร์ทางจิตวิทยาอันเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมว่า มีเป้าหมายเป็น 4 ประการ คือ เพื่อการอธิบายพฤติกรรม เพื่อการเข้าใจพฤติกรรม เพื่อการพยากรณ์พฤติกรรม และเพื่อการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งจากคำกล่าวของลาเฮย์นี้จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งแก่ตนเองและสังคม เพราะช่วยให้รู้และบอกได้ถึงสาเหตุที่มาของพฤติกรรม แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาวิเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ช่วยทำนายแนวโน้มพฤติกรรม และได้แนวทางเสริมสร้างพัฒนาพฤติกรรมเพื่อดำรงชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่าวิกฤติชีวิตได้ และอยู่รวมกับผู้อื่นโดยสันติสุข ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตนและแนวคิดของแอตคินสันและคนอื่น ๆ (Atkinson, et. Al. 1993 : 3 ) ที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้วว่า การศึกษาเรื่องราวทางจิตวิทยาซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรม เป็นการศึกษาเพื่อทำให้เชีวิตเป็นสุข หากบุคคลปราศจากความรู้ความเข้าใจในจิตวิทยาหรือพฤติกรรมแล้วก็อาจดำรงตนอย่างไม่สู้ราบรื่นนักในสังคมยุคนี้ นับได้ว่าการศึกษาพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนนี้ช่วยสนองเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่มุ่งให้ผู้ศึกษาเก่ง ดี มีความสุข ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนา
ตน และสนองเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542


ความสำคัญของการศึกษาพฤติกรรม

จากเป้าหมายของการศึกษาพฤติกรรมอันประกอบด้วยเป้าหมายเพื่อการอธิบายพฤติกรรม เป้าหมายเพื่อการพยากรณ์พฤติกรรม เป้าหมายเพื่อการเข้าใจ พฤติกรรม และเป้าหมายเพื่อการควบคุมพฤติกรรมนั้น หากการศึกษาพฤติกรรมบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็จะส่งผลดีต่อผู้ศึกษา และมีความสำคัญต่อบุคคล และสังคม ซึ่งอาจกล่าวเป็นข้อ ๆ ถึงความสำคัญของความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมได้ดังนี้

1. ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง คือ จากการศึกษาธรรมชาติพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ จะ ช่วยให้ผู้ศึกษา เกิดความเข้าใจตนเองไปด้วย จากความเข้าใจตนเองก็นำไปสู่การยอมรับตนเอง และได้แนวทางปรับตน พัฒนาตน เลือกเส้นทางชีวิตที่เหมาะสมแก่ตน

2. ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจผู้อื่น คือ ความรู้ด้านพฤติกรรมอันเป็นข้อสรุปจากคนส่วนใหญ่ ช่วยเป็นแนวทางเข้าใจบุคคลใกล้ตัวและผู้แวดล้อม ช่วยให้ยอมรับข้อดีข้อจำกัดของกันและกัน ช่วยให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับ มีสัมพันธภาพที่ดี และช่วยการจัดวางตัวบุคคลได้เหมาะสมขึ้น

3. ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมช่วยบรรเทาปัญหาสังคม คือเรื่องปัญหาสังคมอันมีปัจจัยหลายประการนั้น ปัจจัยของปัญหาสังคมที่สำคัญมาก ส่วนหนึ่งมาจาก ปัญหาพฤติกรรมของบุคคลในสังคม อาจจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาเบี่ยงเบนทางเทศ ปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ลักขโมยความเชื่อที่ผิด การลอกเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม ความรุนแรงของพฤติกรรมเชิงลบ ฯลฯ ซึ่งความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมจะช่วยให้ได้แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดสภาพแวดล้อมที่ ส่งเสริมการปรับตัวของบุคคล เป็นต้น

4. ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมช่วยเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิต คือ จากความเข้าใจในอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่อพฤติกรรม ช่วยให้ผู้ศึกษารู้จักเลือกรับปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาตนทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติภายในตน เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นแนวทางสู่การเสริมสร้างพัฒนาตนและบุคคลอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสมเฉพาะรายต่อไป


ที่มาของความรู้ด้านพฤติกรรม

คำอธิบายเรื่องราวของพฤติกรรมมีที่มาจาก 2 ศาสตร์ด้วยกัน ได้แก่ ศาสตร์ทางปรัชญาและศาสตร์ทางจิตวิทยา ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วศาสตร์ทางจิตวิทยาก็แตกตัวมาจากปรัชญาเก่าแก่โบราณที่ว่าด้วย จิตและวิญญาณ ศาสตร์ทางปรัชญานั้นที่มาของความรู้ได้มาโดยนักปราชญ์หรือผู้รู้ซึ่งทรงภูมิปัญญาและประสบการณ์ จะนั่งเรียบเรียงแนวคิดเชิงพฤษฎีให้ผู้อื่นศึกษา แม้ความรู้ส่วนใหญ่จะน่าเชื่อถือแต่ก็ขาดหลักฐานมาสนับสนุนยืนยันความคิด จึงมีปัญหาในการนำไปอ้างอิง วิธีการของปรัชญาได้ชื่อว่า นั่งคิดนั่งเขียนอยู่กับที่ (Armchair Method) สำหรับจิตวิทยาซึ่งแตกตัวมาจากปรัชญา ต่อมาภายหลังได้มีการใช้วิธีวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) สำหรับจิตวิทยาซึ่งแตกตัวมาจากปรัชญา ต่อมาภายหลังได้มีการใช้วิธี วิทยาศาสตร์ (Scientitic Method) ในการศึกษาค้นคว้าจึงส่งผลให้ความรู้ด้านพฤติกรรมมีความน่าเชื่อถือ และมีการศึกษาพฤติกรรมกันอย่างกว้างขวางหลายแง่หลายมุมในเวลาต่อมา

ศาสตร์ที่เป็นการอธิบายพฤติกรรมเชิงจิตวิทยาจะมีเนื้อหาครอบคลุมบางส่วนของชีววิทยา (Biology) สังคมศาสตร์ (Social Science) มนุษย์วิทยา (Anthropology) และสังคมวิทยา (Sociology) นอกจากนั้นบางส่วนยังต้องครอบคลุมพฤติกรรมของสัตว์บางประเภทเพื่อเป็นลู่ทางไปสู่การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ กับต้องศึกษาถึงประสบการณ์ทั้งในส่วนที่เป็นจิตสำนึก (Conscious Mind) ซี่งเป็นสภาพที่บุคคลรู้ตัว และการกระทำในสภาพจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind ) ซึ่งเป็นการกระทำส่วนที่เป็นไปโดยบุคคลมิได้คิดหรือจงใจทำ บางส่วนของพฤติกรรมต้องศึกษามนุษย์และสัตว์ในสภาพที่อยู่ตามลำพัง บางส่วนว่าด้วยการกระทำในกลุ่มสังคม จึงกล่าวได้ว่า ขอบข่ายของความรู้ด้านพฤติกรรมเชิงวิตวิทยานั้นครอบคุลมพื้นฐานความรู้จากหลายสาขา (Gleitman 1981 : 1-9 ; Wood & wood 2000 : 1-22 ) เช่น การศึกษเชิงชีววิทยาและการแพทย์ช่วยให้ผู้ศึกษาเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลไกทางชีววิทยากับปรากฎการณ์ทางจิต ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิตได้มากขึ้น การศึกษาเรื่องอิทธิพลของประสบการณ์เดิมต่อการรับรู้ช่วยให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล การศึกษาเรื่องสังคมครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในอดีตนับแต่เด็กช่วยให้เข้าใจเรื่องการแสดงบทบาททางเพศ อาการลักเพศบางส่วน การศึกษษพื้นฐานสังคมครอบครัวช่วยให้เข้าใจเรื่องบุคลิกภาพของบุคคลทั้งในด้านการแสดงตน ความเชื่อมัน ฯลฯ รวมถึงการศึกษาอิทธิพลของกลุ่มช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ ฯลฯ เป็นต้น


ประเภทของการศึกษาพฤติกรรม

การศึกษาพฤติกรรมดั้งเดิมมักเป็นวิธีปรัชญา ต่อมาใช้วิทยาศาสตร์ จึงแบ่งการศึกษาพฤติกรรมได้ 2 ประเภท คือ

1. วิธีปรัชญา
การศึกษาโดยวิธีปรัชญานั้น ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมได้มาโดยผู้รู้นั่งคิด นั่งเขียนอยู่กับที่ตามความเข้าใจของตน แม้การอธิบายบางเรื่องจะน่าเชื่อถือ น่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเพราะไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนความคิด การอธิบายมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย 

2. วิธีวิทยาศาสตร์
การศึกษาโดยวิธีวิทยาศาสตร์นั้น ผู้ศึกษาใช้วิธีการและขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ในการอธิบายพฤติกรรม หลายเรื่องมีการทดลอง มีการนำสถิติเข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและแปลความหมายข้อมูล ทำให้คำอธิบายพฤติกรรมมีความถูกต้องมากขึ้น และน่าเชื่อถือมากขึ้น

การใช้วิธีวิทยาศาสตร์ในการศึกษาพฤติกรรม

วิธีวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ศึกษาพฤติกรรม มีขั้นตอนตามลำดับดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดปัญหา เป็นการให้ชื่อหรือหัวข้อที่จะทำการศึกษา โดยต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ว่าจะศึกษาพฤติกรรมด้านใด ของคนกลุ่มใด เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร หรือ ต้องการคำตอบในเรื่องใดบ้าง ซึ่งมักได้มาจากการสังเกตพิจารณาสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ศึกษา ผู้ศึกษาเกิดข้อสงสัย และเห็นว่าเป็นปัญหาที่ควรศึกษา จึงตั้งเป็นหัวข้อหรือชื่อเรื่องเพื่อการศึกษา

ตัวอย่างเช่น นาย ก. อ่านพบในบทความวิชาการว่า การออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอนช่วยให้ผู้มีอาการซึมเศร้าเกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้นได้ จึงทำการศึกษาในเรื่องนี้ และกำหนดหัวข้อเรื่องที่ศึกษาว่า "การศึกษาผลของการวิ่งมาราธอนต่อการลดอาการซึมเศร้าในคนไข้ไรคจิตประสาท"

ขั้นตอนที่ 2 ตั้งสมมติฐาน เป็นการพยากรณ์หรือคาดคะเนคำตอบในสิ่งที่ศึกษาล่วงหน้า อาจพยากรณ์ตามความเชื่อของตน โดยมีเหตุผลมาสนับสนุนสมมุติฐานของตนตามสมควร ไม่ใช่เดาสุ่มโดยไม่มีเหตุผล

ตัวอย่าง นาย ข. จะทำการศึกษาทดลองว่าการรับประทานมะเชือเทศที่สุกแก่จำนวนหนึ่งเป็นประจำ จะช่วยให้คลายเครียดได้จริงตามที่ตนเองเชื่อหรือไม่ ในที่นี้อาจตั้งสมมุติฐานว่า "ผู้วิจัยเชื่อว่าการรับประทานมะเขือเทศที่สุกแก่จำนวนหนึ่งเป็นประจำ ช่วยให้ผู้รับประทานมีสภาพจิตใจและอารมณ์ดีขึ้น"

ขั้นตอนที่ 3 รวบรวมข้อมูล เป็นการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมในเรื่องที่ศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำ ลักษณะนิสัย ความคิด เจตคติ ความเห็น ความเชื่อ เชาวน์ปัญญา ลักษณะพัฒนาการ ฯลฯ วิธีการรวบรวมข้อมูลอาจใช้วิธีสังเกต สัมภาษณ์ ทดลอง สืบประวัติ ให้ตอบแบบทดสอบ แบบสอบถาม การที่จะใช้วิธีใด ขึ้นกับเรื่องที่ศึกษา

ตัวอย่างจากการศึกษาเรื่องผลของการวิ่งมาราธอน และการศึกษาเรื่องผลของการรับประทานมะเขือเทศสุกแก่ ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวต้องศึกษาโดยวิธีทดลอง แต่ถ้าเป็นการศึกษาประเภทอื่น เช่น การศึกษาความคิดเห็น เจตคติ อาจใช้วิธีสัมภาษณ์หรือแจกแบบสอบถาม และถ้าเป็นการศึกษาเพื่อทราบเชาวน์ปัญญาของผู้ถูกศึกษา ก็อาจต้องใช้วิธีให้ทำแบบทดสอบเชาวน์ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูล เป็นการนำข้อมูลพฤติกรรมที่ได้มาจากขั้นรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงสถิติ เช่น หาความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย หรือค่าต่าง ๆ ทางสถิติที่ใช้ในการศึกษาเรื่องนั้น จากนั้นนำค่าที่ได้มาเปรียบหรือทดสอบกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ว่าเป็นไปตามสมมุติฐานหรือไม่ แล้วตีความหมายว่าการได้ผลตามสมมุติฐานหรือไม่ได้ผลตามสมมุติฐานหมายความว่าอย่างไร

ตัวอย่างจากการศึกษาผลของการวิ่งมาราธอนและออกกำลังกายที่พบจริงว่าเป็นตามสมมติฐษน ก็ตีความว่าการวิ่งมาราธอนและออกกำลังกายช่วยคลายเครียด ลดอาการซึมเศร้า หรือตัวอย่างจากการศึกษาผลของการรับประทานมะเขือเทศสุกแก่ที่พบจริงว่าเป็นตามสมมติฐานก็ตีความว่าการรับประทานมะเขือเทศสุกแก่ช่วยเสริมสุขภาพจิต

ขั้นตอนที่ 5 การสรุป รายงานผลที่ได้ ประเมินผลงานและให้ข้อเสนอแนะ เป็นการสรุปและรายงานผลทั้งหมดที่ทำตั้งแต่ต้น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้หรือนำผลไปสู่การวิจัยศึกษาในขั้นต่อๆ ไปที่เกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษานั้น

ขั้นตอนที่ 6 การนำผลที่ได้ไปใช้ เป็นการนำหลักเกณฑ์ ข้อสรุป หรือผลการศึกษาที่ได้นั้นไปอธิบายพฤติกรรมหรือใช้แก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป เช่น ในการศึกษาเรื่องผลของการวิ่งมาราธอน หรือการรับประทานมะเขือเทศสุกแก่ ถ้าพบว่าช่วยลดการซึมเศร้าหรือคลายเครียดได้จริง ก็นำไปเผยแพร่เพื่อให้คนออกกำลังกายและรับประทานมะเขือเทศกันมากขึ้น


การรวบรวมข้อมุลพฤติกรรมเชิงจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์

ขั้นตอนรวบรวมข้อมูลพฤติกรรม ผู้ศึกษาอาจรวบรวมได้ 2 วิธีการด้วยกันดังนี้

1. รวบรวมข้อมูลแบบให้เจ้าตัวสำรวจตนเอง (Introspection)

เป็นการให้เจ้าตัวผู้ถูกศึกษาหรือผู้ที่ต้องการรู้จักตนได้พิจารณาตนเองแล้ว บรรยายตัวเองออกมา วิธีนี้ใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่เป็นพฤติกรรมภายในหรือความในใจ เช่น การรู้สึก การรับรู้ การคิด เจตคติ ความเชื่อ ลักษณะนิสัย ฯลฯ โดยให้ผู้ถูกศึกษาอ่านความรู้สึกของตนเองในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วรายงานความรู้สึกออกมา เพื่อหาเหตุและผลแห่งการกระทำนั้น อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ป้องกันปัญหา และพัฒนาพฤติกรรม แต่อาจมีปัญหาอยู่บ้างในการได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะมนุษย์เรามีการใช้คำพูดต่าง ๆ กัน แล้วแต่วัฒนธรรมและประสบการณ์เดิมขึ้นกับความจำ ความจริงใจ การใช้ภาษา ซึ่งอาจทำให้ผู้ศึกษาตีความผิดพลาดได้ง่าย จึงต้องระวังในการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมโดยวิธีนี้

2. รวบรวมข้อมูลแบบพฤติกรรมนิยม (Behavioristic Method)

เป็นการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมภายนอก แล้วผู้ศึกษาวินิจฉัยหรือลงความเห็นเองว่าพฤติกรรมภายในเป็นอย่างไร เข่น นาย ก. เป็นพนักงานในหน่วยงานแห่งหนึ่ง วันไหนที่รู้ตัวล่วงหน้าว่าที่ทำงานมีงานยุ่งเขามักขาดงาน มักหนีกลับก่อนเวลา โดยเฉพาะเวลาที่มีงานมาก แต่ถ้ามีงานรื่นเริงมักไม่เคยขาด จากข้อมูลนี้ผู้ศึกษาอาจลงความเห็นว่า นาย ก. เกียจคร้าน หรือนาย ก. ชอบสนุก เป็นต้น
วิธีพฤติกรรมนิยมแยกได้ 2 วิธีการ ดังนี้


การศึกษาในสภาพธรรมชาติ (naturalistic method)

วิธีนี้เป็นการศึกษาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นจริงตามธรรมชาติหรือสภาพที่เป็นธรรมดา ไม่มีการควบคุมสถานการณ์หรือสร้างสถานการณ์ใด ๆ วิธีธรรมชาตินี้มีเทคนิคแยกย่อยออกไปได้หลาวิธีการ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละปัญหาหรืออาจใช้หลาย ๆ วิธีแล้วนำข้อมูลที่ได้มารวบสรุปในขั้นสุดท้าย

การศึกษาพฤติกรรมในบางเรื่อง จำนวนประชากร (population) มีมากไม่อาจหาข้อมูลได้ครบ ผู้ศึกษาก็จะใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง (sampling) คือ เก็บข้อมูลจากประชากรนั้นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งจะต้องพยายามสุ่มให้ได้กลุ่มตัวอย่าง (sample) ที่จะเป็นตัวแทนของประชากรได้ดีที่สุด

การรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมในสภาพธรรมชาติ ทำได้หลายวิธี คือ

1. วิธีสังเกต (Observation) 

วิธีนี้จะให้ผลถูกต้องแม่นยำขึ้น ถ้าผู้สังเกตไม่ทำให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว และเมื่อบันทึกผลการสังเกตก็ต้องบันทึกอย่างตรงไปตรงมา (anecdotal records) ได้ยินอย่างไร มองเห็นอย่างไรก็เขียนตามนั้น ไม่ใส่ความคิดของผู้สังเกตลงไปในบันทึกนั้น ถ้าจะมีความเห็นต้องแยกออกมาอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพื่อมิให้ความคิดของเราไปครองงำการตีความของผู้อื่น

2. วิธีสำรวจ (Survey Method) 

เป็นการศึกษาพฤติกรรมในระยะเวลาสั้น ๆ ในกรณีที่ผู้ศึกษาไม่มีเวลาสังเกตได้นาน วิธีนี้เป็นวิธีการหาข้อมูลโดยการ "สอบถาม" ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีการย่อยลงไปอีก เช่น อาจใช้วิธีการสัมภาษณ์ (interview ) โดยการพูดคุย ซักถามเป็น รายคน วิธีนี้ถ้าอยากได้ข้อมูลที่เที่ยงตรงขึ้น ผู้ศึกษาจะทำตัวเป็นกันเองกับผู้ถูกศึกษา และอาจมีการใช้แบบสอบถาม (questionnaires) โดยให้ผู้ถูกศึกษาตอบคำถามลงในแบบสอบถามที่เตรียมไว้แล้ว และการสอบถามก็ต้องเป็นการถามข้อมูลที่เป็นรูปธรรม การกระทำ ถ้าเป็นการถามความในในหรือความคิดก็จะเป็นการศึกษาโดยวิธีสำรวจตนเอง ดังได้กล่าวมาแล้ว

3. วิธีทดสอบ (Testing)

วิธีนี้ถือกันว่าสำคัญมากในการศึกษาพฤติกรรม ผู้ศึกษาใช้แบบสอบวัดพฤติกรรมได้หลายอย่างแล้วแต่ชนิดของแบบทดสอบนั้น ๆ เช่น อาจวัดความสนใจ บุคลิกภาพ ความถนัด ความกังวลใจ ระดับสติปัญญา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ฯลฯ เป็นต้น จากแบบทดสอบ ผู้ศึกษาก็จะสามารถลงความเห็นพฤติกรรมภายในของผู้ถูกศึกษาได้ วิธีศึกษาพฤติกรรมโดยการทดสอบนี้จะให้ผลน่าเชื่อถือขึ้น ถ้าแบบทดสอบที่นำมาใช้นั้นมีความแม่นยำและความเชื่อถือได้ คำว่า ความแม่นยำ (validity) นั้น หมายถึงสามารถวัดสิ่งที่เราต้องการวัดได้ เช่น ถ้าศึกษาเจตคติ แบบทดสอบนั้นก็ต้องถามเกี่ยวกับเจตคติจริง ๆ ไม่ใช่ถามความรู้หรือถามเชาวน์ปัญญา ส่วน คำว่า ความเชื่อถือได้ (reliability) นั้น หมายถึง ไม่ว่าจะทดสอบบุคคลคนเดียวกันกี่ครั้ง ผลที่ได้ต้องแน่นอนหรือได้ผลใกล้เคียงกัน

4. การศึกษารายบุคคล (Case study Method)

การศึกษารายบุคคลเป็นการศึกษาโดยละเอียดเฉพาะรายกับผู้ถูกศึกษาที่มีพฤติกรรมบางด้านเบี่ยงเบนจากปกติทั้งทางบวกและลบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา เพื่อป้องกันปัญหา หรือเพื่อพัฒนาสร้างเสริมให้เหมาะสมเฉพาะราย กับเพื่อให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมบางประการ และเพื่อนำไปสู่การสร้างทฤษฎี พฤติกรรมต่าง ๆ การศึกษารายบุคคลมีขั้นตอนตามลำดับคือขั้นตอนศึกษาและรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกศึกษาทั้งอดีตและปัจจุบันซึ่งอาจมีการสืบประวัติ ขั้นตอนวินิจฉัยพฤติกรรม ขั้นตอนเสนอแนะวิธีช่วยเหลือ วิธีป้องกันปัญหา วิธีสร้างเสริมพัฒนา ขั้นตอนดำเนินการช่วยเหลือและขั้นตอน ติดตามผล

จากเมล์ที่ได้รับ...




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2555
0 comments
Last Update : 27 พฤษภาคม 2555 11:21:43 น.
Counter : 12344 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.