บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2558
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
28 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 

กฐิน คืออะไร?

กฐินคืออะไร?
จากหนังสือโบราณ ที่ระลึกในงานกฐินพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๓

หมายเหตุ ใช้ภาษาเดิมจากหนังสือ ไม่ได้มีการปรับแต่งให้ตรงตามปัจจุบัน

พิมพ์ : วิบูลย์ จุง // Wiboon Joong (wbj) // Jung


๑   มีต้นไม้จำพวกหนึ่งเรียกว่า "ต้นกะถิน" แยกออกไปตามลักษณะที่ผิดเพี้ยนกันแล้วให้ชื่อเป็นชะนิดๆไป เช่น กะถิน(บ้าน) กะถินพิมาน กะถินเทศ นี่ว่าถึงคำเรียกต้นไม้ และ ควรสังเกตไว้ว่า "กะถิน" คำนี้เป็น ถ ไม่มีเชิง เมื่อฟังแต่เสียงที่พูดกันในภาษาไทยย่อมไม่ต่างจากคำว่า "กฐิน" ซึ่งเป็น ฐ มีเชิง เพราะภาษาไทยไม่นิยมกระแสเสียงก้องหนัก ถึงดังนั้น ก็พอรู้ความหมายกันได้ในที สำหรับ กฐิน คำหลังนี้ไม่ใช่คำเรียกต้นไม้ แต่เป็นชื่อของสังฆทานพิเศษประเภทหนึ่ง ที่ทายกถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ ในเดือนท้ายฤดูฝน ฯ
๒    คำว่า "กฐิน" เป็นภาษามคธ ในชั้นเดิมสำหรับเรียกไม้ สะดึง ที่เป็นเครื่องอุปกรณ์ในการทอผ้าหรือทาบผ้า ครั้งต่อมาเมื่อมีธรรมเนียมถวายผ้าในเดือนท้ายฤดูฝน จึงเรียกผ้านั้นว่า ผ้ากฐิน เพราะในการกะ ตัด ผ้านั้น ใช้ไม้ สะดึงทาบลงเป็นเครื่่องช่วยให้สะดวก เนื่องจากเหตุนี้เป็นเค้ามูล คำว่า กฐิน จึงเป็นชื่อทั่วไปในสิ่งสำคัญและกิจพิธีอันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น กฐินทาน จองกฐิน องค์กฐิน แห่กฐิน ทอดกฐิน ครองกฐิน กรานกฐิน กฐินหลวง กฐินพระราชทาน กฐินราษฎร เป็นตัวอย่าง ฯ

๓   ที่ว่า "ในเดือนท้ายฤดูฝน" นั้น นับตั้งแต่วันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ จนถึงวันกลางเดือน ๑๒ รวม ๒๙ วันนี้เป็นเดือนที่สุดแห่งฤดูฝน ครั้งพุทธกาล ในเคว้นที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ นิยมนับข้างแรมเป็นต้นเดือน นับข้างขึ้นเป็นปลายเดือน คือ นับมืดไปหาสว่าง เพราะฉะนั้นเดือนท้ายฤดูฝนจึงนับเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวันต้นเดือน ต่อไปจนถึงวันเพ็ญคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ 
เป็นวันปลายเดือน ไม่เหมือนระเบียบการนับในเมืองไทย แต่ก่อนมาเมื่อถึงเดือนเช่นนี้ พระภิกษุทั้งหลายต่างก็ลุผ้าไตรจีวรเก่า แสวงหาผ้าใหม่ครองแทนต่อไป ทายกที่เลื่อมใสศรัทธา ต่างก็หามาถวายตามสมควร ท่านที่ได้ผ้ามาพอต้องการ ก็ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้ต้องตามลักษณะจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ด้วยสมัยนั้นไม่มีตลาดขายจีวรเหมือนตลาดเสาชิงช้าในบัดนี้ พระภิกษุต้อง กะ ตัด เย็บ ย้อม เอง เดือนนี้จึงเรียกว่า จีวรทานสมัย แปลว่าคราวถวายผ้า อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า จีวรกาลสมัย แปลว่าคราวผลัดจีวร เมื่่อใครทอดกฐิน ต้องทอดให้ทันในเดือนนี้ พอแสงเงินแสงทองขึ้นถึงเขตต์อรุณเช้าวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๒ ก็สิ้นกำหนดกฐิน ฯ

๔   มูลเหตุที่จะมีผ้ากฐินเกิดขึ้นนั้น ได้ความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัดถี มีภิกษุชาวเมืองปาไถย ๓๐ รูป เดิรทางจะมาเฝ้าพระองค์ ครั้งถึงเมืองปาวาก็ย่างเข้าเขตต์ฤดูฝน ต้องพักอยู่จำพรรษาในเมืองนั้น พอออกพรรษา ก็รีบด่วนเดิรทางต่อมา เพราะยังเป็นคราวน้ำนอง ต้องเดิรกรำฝนทนแแดดมาในทางบางแห่งเป็นเปือกตม มีไตรจีวรชุ่มไปด้วยน้ำฝน จนลุถึงวัดเชตวัตมหาวิหาร พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนี้เป็นเหตุ จึงมีพระพุทธานุญาตพิเศษให้ภิกษุเหล่านั้นรับผ้ากฐิน ฝ่ายนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ได้ทราบพระพุทธานุญาต จึงนำผ้ากฐินมาถวายแด่ภิกณุ ๓๐ รูปนั้น ภายหลังมีผู้นิยมตามอย่างต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ฯ


ภาพจาก bellart.co.th

๕   สังเกตตามเรื่องเดิม ที่นางวิสาขา มหาอุบาสิกาได้เริ่มขึ้นก่อนนั้น จำนวนผ้ากฐินบ่งว่ามี ๓๐ ผืน เท่าจำนวนภิกษุผู้รับ แต่เป็นธรรมดาของวัตถุทาน จะให้คงจำนวนเสมอไปนั้นยาก ย่อมสุดแต่ฐานะกำลังของทายกทายิกาผู้ถวาย น้อยบ้างมากบ้างตามความพอใจของมากของน้อยไม่น่าจะขัดข้องอะไร แต่เมื่อของน้อยพระมากมีปัญหาอยู่ที่ว่า ถวายแด่ท่านรูปไหน จึงจะสมควร? ข้อนี้ทายกไม่ต้องเลือก ไม่ต้องตัดสินชี้ขาด เพราะว่าผ้านั้นได้ถวายแด่สงฆ์ ต้องสุดแต่สงฆ์ท่านจะปรึกษาเห็นชอบพร้อมกันว่า สมควรจะมอบให้แก่ท่านผู้ใด ภิกษุที่ได้รับกฐินกรานแล้วโดยชอบตามพระวินัย 
ภาพจาก pngoen.com
ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ ตามระเบียบมีว่า ภิกษุต้องไม่น้อยกว่า ๕ รูปจึงจะเป็นสงฆ์ครบองค์ประชุมในการรับกฐิน และในจำนวนนี้ เมื่อท่านรูปหนึ่งได้ครองกฐินตามความเห็นชอบของสงฆ์ทำการที่ควรทำคือ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม พินทุ และกราน แล้ว สงฆ์โมทนาด้วย ให้นับว่าเป็นอันได้กรานกฐินทั่วกันเพราะรับครองแต่รูปเดียว ส่วนพระนอกนั้นคอยโมทนา ก็ได้อานิสงส์เท่ากัน และเพราะมีพระบัญญัติกำชับไว้ว่า การกฐินต้องให้เสร็จในวันเดียว จะทำข้ามคืนไม่ได้ รวมเหตุ ๒ ประการนี้ ในที่สุดทายกจึงจัดผ้ากฐินสำหรับรูปเดียวและพอจะตัดเย็บได้ผืนเดียว เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของสงฆ์ ถ้าถวายหลายผืนท่านจะทำไม่ทัน ส่วนของอื่นๆ แม้เป็นสะบง จีวร อย่างใดๆ ที่มุ่งจะถวายด้วย ก็จัดเป็นพวกบริวารกฐิน น้อมถวายแด่สงฆ์หรือเจาะจงถวายแด่พระรูปใดก็ได้ ฯ

๖   ผู้ชายสมัยนี้ ไม่สันทัดในการเย็บผ้า ก็เหมือนกับผู้ชายในครั้งพุทธกาล ซึ่งปรากฎว่า ท่านที่ออกบวชโดยมากเย็บผ้าไม่ชำนาญ อีกประการหนึ่ง ประกอบกับแบบจีวรตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้าแปลกจากลัทธิอื่นๆ ถึงแม้เขาจะนิยม สีเหลือง เหมือนกันก็ตาม แต่เส้นตะเข็บที่เป็นแนวเพลาะผ้าในผืนจีวรตามหลักในพระวินัย เป็นแบบหนึ่งไม่เหมือนของลัทธิใดๆทั้งหมด เพราะความไม่ชำนาญในการเย็บ กับทั้งมีแบบจีวรแปลกออกไป ต้องเข้าใจจึงจะกะ ตัด ถูกต้อง ถึงคราวผลัดจีวรใหม่ ภิกษุทั้งหลายจึงช่วยกัน รวมเป็นหมู่ๆ ดูเป็นการสำคัญอย่างหนึ่ง และถึงเช่นนี้แล้ว พระพุทธเจ้ายังทรงกำชับให้สงฆ์ที่รับผ้ากฐิน ทำสำเร็จจตลอดในวันนั้น จะข้ามคืนไม่ได้เป็นอันขาด การเย็บจีวรก็ยิ่งกวดขันหนักขึ้น บัญหาจึงมีว่า พระองค์ต้องพระะพุทธประสงค์อย่างไร จึงทรงกำชับไว้ดังนั้น ?

๗   เป็นหน้าที่ของภิกษุ ผู้ไม่สันทัดในการกำ ตัด เย็บ จีวร จะต้องอาศัยไต่ถามท่านที่ชำนาญ และเมื่อการเย็บช้าจะไม่เสร็จทันกำหนด ต้องช่วยกันเย็บ เหตุการณ์ทั้งนี้ย้อมชักนำให้เกิดผล ๒ ประการ คือ (๑) เป็นโอกาสให้แสดงไมตรีจิตต์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อุดหนุนให้สามัคคีพร้อมเพรียงกัน เป็นข้อที่ต้องพระพุทธประสงค์อยู่แล้ว (๒) ผู้ที่ไม่เข้าใจในวิธีกะ ตัด เย็บ จีวร จะได้ไต่ถามมีความรู้สำหรับตนต่อไป ผู้ที่ชำนาญแล้วจะได้ชี้แจงเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น การกำ ตัด เย็บได้เองเป็นข้อที่ต้องพระพุทธประสงค์ อย่างยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าโปรดให้ภิกษุเป็นผู้รู้จักอดออม ไม่จำเป็นอย่ารบกวนชาวบ้าน ผ้าขาดหรือทะลุน้อย พอจะเย็บปะชุนได้ ต้องซ่อมไว้ ถ้าเย็บไม่เป็น ถึงคราวเดิรทางไกลไปฉะเพาะตัว หากผ้าขาด จะทำอย่างไร ? เหตุเพียงเท่านี้พอจะแก้ไขได้เอง ดังนั้น ในจำนวนบริกขารจำเป็นของภิกษุ จึงมีระบุถึงกล่องเข็มด้วยอย่างหนึ่ง นั่นก็เป็นพะยานอยู่แล้วว่า พระองค์ต้องพระพุทธประสงค์ให้ภิกษุรู้จักเย็บผ้า อาศัยประโยชน์ทั้งสองประการนี้เป็นข้อมู่ง พระองค์จึงทรงกำชับไว้ดังกล่าวมาในข้อที่ ๖ นั้น ฯ

๘   เนื่องจากความจำเป็นที่ภิกษุต้องประชุมช่วยกัน กะ ตัด เย็บจีวรในเดือนท้ายฤดูฝน อันเป็นคราวผลัดจีวรใหม่ มีความขัดข้องบางอย่างในการอาหาร เพราะธรรมเนียมของภิกษุจะฉันรวมกันไม่ได้ เมื่อมาพักรวมกันมาก อาหารก็อัตคัด อาศัยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงผ่อนผันสิกขาบทบางมาตรา และไว้โอกาสให้มีสิทธิบางอย่าง รวมกันเป็น ๕ ข้อที่เรียกว่า อานิสงส์ ๕ ภิกษุผู้ได้กรานกฐินโดยชอบแล้ว ได้รับอานิสงส์ ๕ ประการคือ  (๑)  ก่อนหรือหลังเวลาฉันอาหารในบ้านที่นิมนตน์ เมื่อจะไปที่อื่นจากบ้านนั้น ไม่ต้องอำลาภิกษุทั้งหลายก่อน  (๒)  ไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับเพราะยังอยู่ในระหว่างที่จะได้ รับผ้าเป็นอติเรกลาภและอาศัยผลัดเปลี่ยนไป  (๓)  ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้ [ฉันล้อมวงหรือฉัน ๒ แห่งขั้นไป ? ]  (๔)  ผ้าที่นอกจากไตรจีวร เก็บไว้ได้ตามปราถนา  (๕)  เมื่อมีใครนำผ้าไปถวายก็รับแบ่งกันฉะเพาะในหมู่ที่อยู่ประจำถิ่นนั้น อานิสงส์เหล่านี้ได้รับตั้งแต่กรานกฐินแล้ว สืบไปจนถึงวันกลางเดือน ๔ คือวันที่สุดแห่งฤดูหนาวจึงหมดเขตต์แห่งอานิสงส์  ถ้าพิจารณาดูข้อความในอานิสงส์ ๕ ให้ตลอด จะเห็นได้ว่า ความจริงเป็นการสนับสนุนให้ภิกษุได้รับความสะดวกขึ้นสมกับคราวเช่นนั้น แต่เมื่อสมัยเปลี่ยนแปลงมา (จงดูในข้อ ๑๑) อานิสงส์บางข้อกลายเป็นเกินจำเป็น และไม่ใช่ข้อที่ช่วยรักษาพระพุทธประสงค์เดิมเสียแล้ว ฯ

๙   ในคัมภีร์บริวารแสดงว่า ภิกษุจะสมควรครองกฐินได้ ต้องรู้และสามารถทำได้ถูกต้องตามหลักทั้ง ๘ เช่น หลักที่ ๑ ว่าด้วยการ ซัก กะ ตัด เนา เย็บ ย้อม ทำจุดเครื่่องหมาย เป็นตัวอย่าง หากในวัดหนึ่งมีภิกษุเช่นนี้หลายรูป พระอาจารย์ท่านแนะนำไว้ในคัมภีร์ อรรถกถามหาวรรคว่า สงฆ์ควรให้ผ้ากฐินแก่ภิกษุมีจีวรเก่า ถ้ามีจีวรเก่าเหมือนกันหลายรูปอีกเล่า ควรให้แก่ผู้ที่มีพรรษาแก่กว่า ถ้าแม้ยังมีพรรษาเท่ากันอีก ก็ควรให้แก่ท่านผู้ทรงคุณสมบัติยิ่ง บัดนี้พระสงฆ์ มอบผ้ากฐินถวายแด่ท่านที่เป็นสมภารเจ้าวัด หรือท่านที่เป็นผู้เฒ่าควรยกย่อง นับว่าทำตามคำแนะนำของพระอรรถกถาจารย์ เพราะเกี่ยวกับธรรมเนียมเป็นดังนี้ หน้าที่ของท่านผู้เป็นเจ้าวัดจึงต้องสนใจให้ช่ำชองในหลักทั้ง ๘ ดังกล่าวไว้ใน คัมภีร์บริวานนั้น ฯ

www.dmc.tv

๑๐   การทอดกฐินในวันใดๆก็ตาม ปีหนึ่งจะทอดได้ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะเหตุดังนี้ เมื่อมีผู้นิยมทอดแพร่หลายมากขึ้น จำนวนวัดไม่เพียงพอ ผู้ใดจะทอด จึงต้องรีบเขียนฉลากไปปิดบอกไว้ที่วัดว่า ตนจะทอดในปีนั้นๆ ธรรมเนียมเช่นนี้ เรียกกันว่า จองกฐิน ยังนิยมอยู่จนบัดนี้ แต่ก็มีในหมู่ วัดราษฎร ส่วนพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยูู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดบ้าง โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือผู้อื่นทอดบ้าง ไม่ต้องมีฉลาก กฐินที่ว่ามานี้เป็นสามัญ ทายกจะกำหนดทอดในวันใด เมื่อยังอยู่ในระหว่างเดือนท้ายฤดูฝน ก็กะได้ตามสะดวก แต่มีอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า จุลกฐิน นานๆจึงจะได้เห็นทอดสักครั้งหนึ่ง ถือกันมาแต่โบราณว่า การทุดจุลกฐินมีอานิสงส์มาก คือ ต้องเก็บฝ้ายมาปั่นเป็นด้าย และทอเป็นผืนผ้าทอดกฐิน ทำให้เสร็จในวันเดียว คำที่เรียกว่า จุลกฐิน เห็นจะได้สมมติเรียกกันขึ้นในภายหลัง แต่คงเป็นลัทธิเก่าแก่มีมานาน สันนิษฐานว่า เดิมน่าจะทอดในวันสิ้นเดือนท้ายฤดูฝน คือ เมื่อทราบว่าวัดใดยังขาดผ้ากฐิน ซึ่งเผอิญได้ทราบในเวลาจวนแจเกือบจะสิ้นเขตต์ มีเวลาเหลืออีกวันเดียวเท่านั้น ประกอบด้วยผ้าก็หายาก จึงพยายามหาฝ้ายมาปั่นและทอโดยเร็ว จนแล้วเสร็จทันทอดกฐินในวันนั้น เป็นการยุ่งยากอยู่บ้าง ที่ว่ามีอานิสงส์มาก ก็เห็นจะน่าฟัง เพราะต้องลำบากให้เสร็จในวันเดียว ความอุตสาหะไม่เพียงพอก็ยอกที่จะสำเร็จ ฯ

๑๑   พระพุทธบัญญัติอันเป็นระเบียบการ ที่พระภิกษุจะต้องปฏิบัติตามในเรื่องกฐิน นำให้เห็นได้ชัดว่าแต่เดิมทอด กฐิน ด้วยผ้าขาวเป็นแน่นอน การที่ต่อมากลายเป็นทอดด้วยผ้าเหลืองซึ่งเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ท่านสัญนิษฐานวา่ คงจะเกิดขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปในถิ่นตา่งๆ มีผู้นิยมทอดกฐินมากขึ้น เห็นว่า การนำเอาผ้าขาวไปทอดกฐิน พระภิกษุสงฆ์ยังต้องกังวลด้วย ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อม เป็นความลำบากอยู่ จึงเปลี่ยนเป็นถวายผ้าเหลืองที่เย็บสำเร็จแล้ว เพื่อเป็นการช่วยให้ พระภิกษุสงฆ์ ได้รับความสะดวกขึ้น อนึ่งมีฎีกาคัมภีร์ หนึ่งเรียกชื่อว่า วชิรพุทธิฎีกา พระอาจารย์ชื่อ วชิรพุทธิ เป็นผู้แต่ง  ได้ลงมติอธิบายให้ข้อนี้ไว้รวมความว่า การทอดกฐินผ้าเหลืองก็สมควร เพราะฉะนั้น ธรรมเนียมทอดกฐินผ้าขาวจึงเสื่อมไป หายกทายิกาพากันทอดกฐินผ้าเหลืองเป็นพื้น ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกผนวช ได้ทรงสอบสวนพระพุทธบัญญัติในเรื่อง กฐิน โดยตลอด ทรงเห็นว่าการกฐินทำผิดเพี้ยนธรรมเนียมเดิม บางข้อก็ห่างเหินจากพระวินัยมากนัก ไม่ต้องด้วยพระพุทธประสงค์ จึงทรงแก้ไขวิธีเพื่อฟื้นเข้าหาหลักในพระวินัยการทอดกฐินผ้าขาวก็กลับมีขึ้นอีก ทุกวันนี้ยังนิยมอยู่ ทั้งผ้าขาวผ้าเหลือง ที่แน่นอนก็แต่วัดในคณะธรรมยุต พยายามให้เป็นผ้าขาวอย่างเดียว ฯ

๑๒   ประโยชน์สำคัญในการทอดกฐิน ซึ่งพระภิกษุสงฆ์จะได้รับก็คือ อานิสงส์ ๕ แต่ต้องได้กรานกฐินโดยชอบ คือ ถูกต้องตามระเบียบในพระวินัยอันเป็นพระพุทธบัญญัติ หากทำผิดเพี้ยนนอกแบบออกไปถึงเสียหลัก ก็ไม่ได้อานิสงส์ อนึ่งถ้าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าต้องพระพุทธประสงค์ จะให้พระภิกษุรู้จักเย็บผ้าได้ ก็ควรทอดกฐินผ้าขาว การที่ทอดกฐินผ้าขาวแล้ว ชาวบ้านยังไปช่วยเย็บผ้าให้อีกเล่า, เมื่อเพ่งเล็งถึงบุญอยา่งอื่นขอยกไว้ แต่ถ้ามุ่งพูดกันถึงประโยชน์ข้อนี้ คือ ข้อที่พระพุทธเจ้าโปรดให้พระรู้จักเย็บผ้า ก็นับว่าประโยชน์จะได้ไม่สมอีกนนั่นแหละ ควรมุ่งให้เป็นไปตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้จริงๆ เห็นจะดีกว่าอย่างอื่น ถึงแม้ในบัดนี้ หาผ้าได้ง่ายดายก็จริง แต่ผ้าจะหายากหรือง่ายก็ตาม ผ้าก็ต้องรู้จักขาดเหมือนกัน พอดีพอร้ายไม่ต้องรบกวนโยมญาติหรือผู้ปราวณา ผ้าขาดไม่ถึงกับต้องทิ้ง พระท่านจะได้ เย็บ ปะ ชุน เอง ซึ่งเป็นการชอบตามหน้าที่ของท่านอยู่แล้ว ฯ



๑๓   ในพิธีการโดยมาก นิยมครั้งที่ ๓ เป็นกำหนด เช่น ตั้งนโม ๓ จบ  ร่ายมนต์เสก ๓ คาบ  โห่ ๓ ลา  จำพรรษา ๓ เดือน  ตักเตือน ๓ ครั้ง  ถึงแม้ในการถวายทานแทบทุกอย่างก็นิยมดงนี้  ถือองค์ ๓ เป็นอัตรา  คือว่า  (๑)  ทายกมีเจตนาตกลงจะบริจจาคทาน  (๒)  เตรียมสิ่งที่จะบริจจาคไว้พร้อม  (๓)  เปล่งคำบริจจาคโดยประสงค์  ตัวอย่างในการทอดกฐิน  ชั้นต้นผู้จะทอดมีใจยินดีจะบริจจาคทรัพย์ จัดซื้อสิ่งของตามที่ปรารถนา ต่อมาก็นำไปยังวัด  แล้วเปล่งคำถวายในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์  อาศัยเหตุเช่นกล่าวมา  ท่าจึงแต่งคำถวายทานต่างๆ วางไว้เป็นแบบ

คำถวายผ้ากฐิน อย่างเก่าว่า
อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (ว่า ๓ หน)
คำแปล - ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์

คำถวายผ้ากฐิน อย่างใหม่ว่า
อิม๋ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ, อิมํ สปริวารํ กฐินทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ, ปฏิคฺคเหตฺวา จ, อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ, อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย (ว่าหนเดียว)
คำแปล - ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ ของพระสงฆ์จงรับ ผ้ากฐินกับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และครั้งรับแล้วโปรดกรานกฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ

ก่อนที่จะเปล่งคำถวาย ต้องว่าคำนมัสการ คือ นโม เป็นเบื้องต้น ๓ จบเสมอไป  ส่วนคำถวายนั้นจะนิยมอย่างเก่า หรือ อยา่งใหม่ท่านไม่ห้าม สุดแต่ความพอใจของผู้บริจาค ฯ

ในที่บางแห่ง ก่อนถวายผ้ากฐิน ทายกทายิกา ว่า นโม ๓ จบ รับศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ตามสมควรแล้ว (บางทีตั้ง นโม ๓ จบ ว่าพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และ คำขอขมาโทษในพระรัตนตรัย ต่อในระยะนี้ด้วย ครั้งแล้ว) จึงเริ่มถวายผ้ากฐินต่อไป ถ้าเปนกฐินเรื่ยไรก็ดี เป็นกฐินของบุคคลหนึ่ง แต่มีผู้อื่นไปช่วยเหลือก็ดี มักวงด้ายสายสิญจน์ล้อมผ้ากฐินกับทั้งบริวารแล้ว ทอดด้ายนั้นให้ถือทั่วกัน เปล่งคำถวายพร้อมกันดังนี้ ก็มีความนิยมข้อนี้เป็นไปตามสมัคร สุดแต่จะชอบเพียงไหน อย่างไรก็ได้ เพราะไม่ใช่ระเบียบยืนที่ ฯ

๑๔   เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลาย การถวายผ้ากฐินก็มีผู้นิยมมากขึ้น เป็นธรรมดาของทายกที่ต้องการบุญ เห็นทางจะส่งเสริมส่วนบุญให้เกิดทวีได้เพียงไร ย่อมเต็มใจบำเพ็ญไม่ท้อถอย ตัวอย่างเช่น การทอดกฐิน มีสิ่งสำคัญอยู่ก็แต่ผ้ากฐินอย่างเดียวเท่านั้น แต่เพราะหวังจะได้อานิสงส์มาก จึงบริจจาควัตถุอื่นรวมกับผ้ากฐินด้วย เป็นต้นว่า ผ้าจีวร สะบง ผืนใดผืนหนึ่งหรือครบไตรจีวร ยาระงับโรคบางขนาน ภาชนะบางอย่าง เครื่องใช้บางสิ่ง โดยที่สุดไม้กราดของเพิ่มเติมทั้งนี้เรียกว่า บริวารกฐิน นอกจากสิ่งของที่เป็นบริวาร บางทีก็จัดเตรียมอาหารไปเลี้ยงพระ บางรายก็มีเทศน์อานิสงส์กฐินเป็นพิเศษ สมัยนี้นิยมการพิมพ์หนังสือแจกเป็นที่ระลึกเพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นการต่อเติมโดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์เป็นที่ตั้ง เมื่อจับเอาประโยชน์เป็นหลักการทุกชะนิด และ เป็นหลักกิจทุกระยะแล้ว ผลอันใดที่พึงหวัง ไม่ต้องเกรงว่าจะพลาดพลั้งถึงเสียผลอันนั้น เพราะข้อที่ทำเช่นนี้เท่ากับมีประกันพร้อมไปในตัวเสร็จ คือเห็นประโยชน์จึงทำ ถ้าจะไร้ประโยชน์ก็เว้นเสีย ความคิดรู้จักประโยชน์แล้วตกลงใจจะบำเพ็ญ จัดเป็นกุศลเจตนา ได้แก่ความคิดอ่านในการอันชอบ ที่จะบริจจาคทานโดยรอบคอบต้องตามวิถึของนักปราชญ์ ได้นั้น ก็เพราะมีกุศลเจตนาเช่นว่านี้ ด้วยประการหนึ่ง รวมกับอย่างอื่นอีกเป็น ๔ สถาน คือ  (๑)  บริบูรณ์ด้วยเจตนาอันเป็นกุศล  (๒)  ได้สิ่งของมาโดยชอบ และ ควรจะเป็นทานวัตถุ  (๓)  ปฏิคาหก คือ ผู้จะรับทาน ทรงคุณสมบัติควรแก่การบูชา  (๔)  บริจจาคทานต้องกับเวลาอันพึงประสงค์

ข้อที่ (๑) บริบูรณ์ด้วยเจตนาอันเป็นกุศลนั้น คือ ผู้บริจจาคต้องการจะละความตระหนี่หวงแหนของตนให้หมดสิ้นไป มุ่งจะบำรุงพระสงฆ์ ให้ได้รับความสุขสบาย สะดวกแก่การประพฤติพรตพรหมจรรย์ สืบอายุพระพุทธศาสนา เป็นส่วนบูชาองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ความเต็มใจดังว่ามานี้ มีขึ้นก่อนการบริจจาค ครั้งถึงขณะบริจจาคก็ชื่อชมไม่่เสียดาย ภายหลังเมื่อบริจจาคแล้วก็ยังปลื้มใจว่า "ได้ทำถูกต้อง เป็นการสมควรทุกประการ" ไม่อาลัยถึงทรัพย์พัสดุที่บริจจาคไป มีเจตนาดี ครับทั้งสามขณะดังนี้ ชื่อว่า บริบูรณ์ด้วยเจตนาอันเป็นกุศล

ข้อที่ (๒) ได้สิ่งของมาโดยชอบ  และควรจะเป็นทานวัตถุนั้น คือ ทรัพย์สมบัติพัสดุที่แสวงหามาได้ ที่ประกอบกระทำขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง หรือได้ โดยมฤดกตกทอดอย่างใดๆทั้งสิ้น ที่ไม่เป็นผิดตามกฎหมาย เป็นการชอบด้วยคลองธรรม ไม่เกี่ยวกับการคดโกงหรือเบียดเบียน แต่ม่ใช่ว่าทุกๆสิ่งที่ได้มานั้น จะเป็นทานวัตถุได้ทั้งหมด บางสิ่งก็ไม่สมควร จึงต้องคัดเลือกบริจจาคให้สมกับเรื่องบุญจริงๆ

ข้อที่ (๓) ปฏิคาหก คือ ผู้จะรับทาน ทรงคุณสมบัติควรแก่การบูชานั้น หมายเอาพระภิกษุที่ประพฤติเรียบร้อย เป็นต้นว่าเอาใจใส่ในการเล่าเรียน ประพฤติพระวินัยเคร่งครัด นำความรู้ออกชี้แจงชาวบ้านให้เกิดความขยันในการทำมาหากิน ให้ปรองดองสนิทสนมกัน ให้ซื่อตรงจงรักภักดีพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่พระภิกษุที่ทนบวชหาของเล่น ที่เกเรไม่เล่าเรียน ที่เหนียวแน่นไม่เจือจานผู้อื่นมิหนำซ้ำยังโลภมากจนผิดเพศ หากไม่ใคร่ครวญดูให้ดี ได้แต่บริจจาคสุ่มๆ มักไม่ค่อยเกิดอานิสงส์เต็มที่  บางทีกลับเป็นเหตุุให้เดือนร้อนเสียดี

ข้อที่ (๔) บริจจาคทานต้องกับเวลาอันพึงประสงค์ นั้น คือเลือกเวลาที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ เช่นทราบแล้วว่าผ้ากฐินที่ทอดถวายพระนั้น พระท่านจะต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย เสร็จทันในวันเดียว หากนำไปถวายในเวลาค่ำคืน ถ้าท่านเย็บย้อมไม่เสร็จก่อนอรุณขึ้นก็เสียการ หรือพยายามจริงๆก็พอทัน ถึงดังนั้น ท่านก็ต้องลำบากไม่น้อย หรือ นำผ้ากฐินไปทอดในเดือนอื่นๆ ไม่ใช่เดือนท้ายฤดูฝนก็ดี วัดที่จะไปทอดนั้นมีผู้อื่นทอดแแล้วก็ดี พระท่านก็รับไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างแสดงว่าทำไม่เหมาะกับเวลา เป็นการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทายกจะต้องระวัง อย่าให้เข้าบทที่ว่า "เรือล่มเมื่อจอด  ตาบอดเมื่อแก่" ไหนๆก็เตรียมพร้อมที่จะบริจจาคแล้ว ควรให้การเป็นไปอย่างราบรื่น สำเร็จประโยชน์จริงๆ



หลักทั้ง ๔ ซึ่งกล่าวนั้น เป็นหัวข้อที่ทายกจะต้องพิจารณาและปฏิบัติให้ถูกต้อง ยังมีหลักพิเศษอีกข้อหนึ่ง บางทีก็สำคัญนัก กล่าวคือ การรู้จักสภาพของตนว่า มีกำลังทรัพย์เพียรไร มีกำลังญาติพวกพ้องที่พอจะช่วยเหลือกันได้ เพียงไร ไม่คิดอ่านบริจจาคจนเกินฐานะ เป็นต้นว่า มีเงิน ๑๕ ตำลึง แต่อยากจะบริจจาคสัก ๑ ชั่ง ถึงกับยืมหรือกู้เขามา เช่นนี้เรียกว่าทำเกินตัว ไม่ใช่ทางของบุญโดยตรง มักจะเกิดบาปขึ้น กลายเป็นเหตุให้ทุกข์ร้อนไม่น้อย บางที ยังถูกติว่าทำบุญอวดชาวบ้าน เห็นจะไม่ใช่คำน่าฟังนัก และ พระพุทธเจ้าก็ไม่โปรดให้ทำเกินสมควร พึงถือเกณฑ์พอดีเป็นหลัก คือ เฉลี่ยประโยชน์ให้ผู้อื่นตามที่ตนจะแบ่งปันได้ ไม่ถึงกับต้องวุ่นเดือดร้อนผิดวิสัย

ยังมีธรรมอีกข้อหนึ่งที่ผู้บริจาคควรระลึกถึง เมื่อต้องทำโดยอาศัยผู้อื่นช่วยเหลือในการบางอย่าง ถ้าลืม มักจะเสียการ เพราะเคยปรากฏว่า บางรายที่ลืมธรรมสำคัญซึ่งจะกล่าวถึงนี้เสีย แม้มุ่งทำบุญแต่ก็ได้บาป น่าเสียดายทุนแรงที่ลงไปแล้วไม่เกิดผลดี ธรรมสำคัญนั้นคือ ความอดใจไม่โกรธ ท่านผู้เป็นเจ้าของหรือเป็นหัวหน้าอำนวยการ จะต้องตั้งใจให้เด็ดขาดลงว่า "นับแต่เริ่มการที่จะทอดกฐินคราวนี้ เราจะไม่โกรธใครเลย ถึงมีสาเหตุเจ็บแค้นอย่างใดๆ ก็ขอให้เสร็จการกฐินก่อน" นี่แหละเป็นข้อที่ช่วยให้บุญแรงยิ่งขึ้น ผู้ที่มาช่วยงานหรือผู้ที่ทำการร่วมกัน เมื่อได้เห็นหน้าผู้จัดการแช่มชื่น จะพูดจาสั่งงานก็ละม่อมละไม กิริยาก็เรียบร้อย แม้มีใครทำผืดพลั้งบางอย่าง ก็ไม่ถูกดูถูกด่าให้เจ็บใจดังนี้ ต่างก็จะเต็มใจยินดีทำไม่นึกระอา และพากันนิยมนับถือมากขึ้นอีก



เมื่อท่านผู้ทอดกฐินได้ดำเนิรการถูกต้องตลอดแล้ว อานิสงส์ เป็นหวังได้แน่นอน เพราะว่าการที่ทำนั้น  (๑)  นักปราชญ์สรรเสริญ ด้วยเป็นการเฉลี่ยประโยชน์ให้ผู้อื่น ในฐานเกื้อกูลต้องกับหลักพรหมวิหาร คือ การเจริญเมตตากรุณา หลีกจากทางของโทสะพยาบาท  (๒) ชื่อว่าบำรุงพระพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป เพราะ กฐินทานเป็นกุศลพิเศษเกี่ยวข้องกับวินัยบัญญัติ อุดหนุนให้ พระภิกษุสงฆ์ นิยมการปฏิบัติไม่เสื่อมลง เมื่อท่านยีงเคร่งครัดในข้อวินัยอยู่ พระศาสนาก็ยังรุ่งเรืองต่อไปอีกนาน  (๓)  เป็นการปฏิบัติบูชาพระรัตนะทั้งสามโดยชอบ  สมกับหน้าที่ของผู้นับถือ ด้วยว่ากฐินทานนั้นได้มอบถวายแด่พระสงฆ์, พระสงฆ์เป็นผู้ทรงพระธรรม ศึกษาปฏิบัติสั่งสอนนำสืบต่อๆมา พระธรรมเล่า สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมไว้ ความเกี่ยวพันธุ์มีดังนี้ การทอดกฐินจึงชื่อว่าได้บูชาพระศรีรัตนตรัยโดยสมควรแล้ว  (๔)  การบริจจาคย้อมเป็นเครื่องทำลายความตระหนี่หวงแหน และ บรรเทาความละโมภให้ลดน้อยลง  (๕) เลือกให้โดยเห็นคุณประโยชน์ ชื่อว่าดำเนิรอยู่ในทางกำจัดโมหะ อันเป็นกิเลสที่คอยครอบใจให้หลงในความมืด เมื่อโมหะเสื่อมไป ใจก็สว่างรุ่งเรืองขึ้น  (๖)  ถวาย ณ ท่ามกลางสงฆ์ มิได้เจาะจงเป็นส่วนบุคคล แผ่ประโยชน์ด้วยน้ำใจกว้าง เป็นหนทางชักนำให้บำเพ็ญกุศลส่วนอื่นเพิ่มเติมขึ้นอีก  (๗)  เป็นตัวอย่างของผู้ได้ทราบ จักทำตามในภายหลัง กับทั้งเป็นเหตุชักนำให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมและพลอยโมทนา ส่งเสริมบุญญานิสงส์ให้ทวีส่วนไพศาล  (๘)  ชื่อว่าเก็บทรัพย์ไว้ ในสถานอันปราศจากอันตราย ไม่ต้องหวาดถึงโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย เป็นต้น  (๙)  เป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัสปลาบปลื้มใจ คราวใดเมื่อนึกถึงจะบังเกิดความปีติปราโมทย์ เท่ากับได้รับผลกำไรพิเศษไม่จำกัด ฯ

เพราะฉะนั้น ผู้มีทรัพย์เพียงพอที่จะบริจจาคทานประเภทนี้ได้ สมควรบำเพ็ญให้ประจักษ์แก่ตนเป็นดีที่สุด จะผัดเพี้ยนรอไว้ เมื่อนั้นเมื่อโน่น  หากชีวิตสิ้นลงโดยปัจจุบันทันด่วน ก็จะไม่ได้บำเพ็ญ  ถึงแม้สั่งผู้อื่นให้เสร็จทันตาเห็นแทบทุกอย่างที่ตนสามารถจะทำได้ ไม่ต้องผูกใจหวังว่าผู้อื่นจะทำให้เมื่อตนตายแล้ว ซึ่งเป็นการไม่แน่นอน ฯ

๑๕   เมื่อได้อ่านฟังตั้งแต่ ข้อที่ ๑ จนถึงข้อ ๑๔ แล้ว บัดนี้ลองใคร่ครวญดูชื่อเรื่อง ก็คงจะเข้าใจความหมายได้ตลอดกระมัง ว่า "กฐินคืออะไร ?" นั้น มีความประสงค์เพียงไร ? แต่เพื่อช่วยให้คิดเห็นความประสงค์ได้เด่นชัด ควรจะตอบคำถามต่อไปนี้อีก คือ  (๑) ทำไมจึงเรียกทานประเภทนี้ว่า กฐิน ?  มีจำกัดให้ทอดได้เมื่อไหร่ ? ใครทอดครั้งแรก ?  (๒)  ไฉนจึงถวายผ้ากฐินผืนเดียว ?  ผ้ากฐินเป็นผ้าขาวหรือผ้าเหลือง มีหลักพิศูจน์ได้อย่างไร ?  (๓)  เห็นประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้ทำเสร็จในวันเดียว ?   (๔)  กฐินผ้าขาวมีประโยชน์แก่พระภิกษุเพียงไร ?  (๕)  กฐินสามัญ กับ จุลกฐิน ต่างกันอย่างไร ?  (๖)  แบบคำถวายผ้ากฐินมีอย่างไร ?  (๗)  อานิสงส์กฐิน มีดีอะไรบ้าง ?

คำถามทั้ง ๗ ข้อนี้ ถ้ายังตอบได้ไม่หมด ควรอ่านหรือฟังข้อความที่ชี้แจงมาแล้วนั้นซ้ำอีก จนกว่าจะตอบได้ถูกต้องตลอด จึงจะนับว่าได้รับประโยชน์จากหนังสือนี้จริง ถ้าแม้รับแล้วเก็บไว้ไม่ทราบเรื่อง ผู้รับก็เป็นเหมือนตู้หรือปกเก็บเรื่อง ซึ่งไม่รู้เลยว่าเก็บเรื่องอะไรไว้บ้าง

เรื่องกฐินนี้มีข้อความยืดยาว ได้เลือกตัดตอนกล่าวแต่บางข้อ เท่าที่เห็นว่าพอจะระงับปัญหาซึ่งไต่ถามกันอยู่บ่อยๆ ในหมู่ชาวบ้าน หากจะมีผลเพียงเป็นดังสะพานพาข้ามความสงสัยบางอย่าง หรือเป็นแต่ทางชวนให้คิดค้นหาหักความสมจริงต่อไปเท่านั้น ก็พอแก่ความมุ่งหมายของผู้เรียงแล้ว หวังว่าทา่นผู้รู้ คงเห็นความบกพร่องหรือเคลื่อนคลาด และมีโอกาสชี้แจงด้วยกรุณาแก่ผู้เรียงทุกเมื่อ ฯ

นายเถา ศรีชลาลัย
๑๓/๗/๒๔๗๑
โรงพิมพ์พุทธมามกะ
หลังวัดเทพศิรินทร์




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2558
0 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2558 14:45:28 น.
Counter : 3265 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.