Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
องค์ที่ ๑๐(๓) : สวนโมกข์

รุ่งเช้าของวันที่ 8 นับจากคณะของอาจารย์สัญชัยและคุณหมอพิเภกเดินทางมาฝึกสมาธิกับหลวงพ่อรุ่งที่สวนโมกข์ วันนี้ถือเป็นการปัจฉิมนิเทศครั้งสุดท้ายก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง หลวงพ่อรุ่งนัดกับทุกคนที่ลานหินโค้งเวลา 8.00 น. เหล่าลูกศิษย์ของหลวงพ่อรุ่งทั้งชายและหญิงนัดเจอกันที่หน้าศาลาประเทืองธรรมเพราะพักกันอยู่คนละเรือนแยกชายหญิงเมื่อพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้วจึงเดินไปหาหลวงพ่อรุ่งที่ลานหินโค้งด้วยกัน
ในความรู้สึกของจอร์จสวนโมกข์จัดเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยมากที่สุดในชีวิตของเขา ความสุขสงบจากการได้ฝึกสมาธิที่นี่คงหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในโลกนี้ เขาพบว่าตนเองมีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับเพราะได้ฟังธรรมที่หลวงพ่อรุ่งเทศนาทุกวันจนทำให้เขาเกิดวิธีคิดและมุมมองต่อสิ่งต่างๆรอบตัวที่แตกต่างไปจากเดิม จอร์จมองเห็นภาพลานหินโค้งที่กำลังปรากฏขึ้นในคลองจักษุรู้สึกชื่นชมมันทุกครั้งที่ได้มาเยือน มันถูกปูพื้นและตกแต่งด้วยก้อนหินน้อยใหญ่ที่กันเป็นขอบโค้งพระจันทร์ครึ่งซีกไล่ระดับเหมือนขั้นบันไดอยู่ภายใต้เงาไม้ที่ร่มรื่นและเข้ากันได้ดีกับธรรมชาติรอบบริเวณ ทัศนียภาพโดยรวมแผ่ความรู้สึกสงบร่มเย็นทางใจให้กับผู้ฝึกปฏิบัตินั่งสมาธิได้เป็นอย่างดี มีพระประธานประดิษฐานอยู่กลางลานดินที่สะอาดสะอ้านบนอาณาเขตที่ติดกับผนังหินด้านบน ในร่มไม้แห่งหนึ่งหลวงพ่อรุ่งผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมนั่งรออยู่บนม้านั่งทำจากรากไม้อันใหญ่อยู่ก่อนแล้ว ชายหนุ่มเดินตามอาจารย์สัญชัยกับคุณหมอพิเภกเข้าไปหาหลวงพ่อรุ่งด้วยอารมณ์ที่แจ่มใส ทุกคนกราบเบญจางค์ประดิษฐ์ 3 ครั้งอย่างพร้อมเพรียงและนั่งล้อมวงลงบนพื้นดิน หลวงพ่อรุ่งเอ่ยทักทายทุกคนขึ้นก่อนว่า
“ทุกคนเป็นอย่างไรกันบ้างจบหลักสูตรกันครบหมดแล้วนี่ โยมจอร์จนอนหลับสนิทดีไหม”
“ผมนอนหลับสนิทไม่ฝันแปลกๆอีกเลยครับ จิตใจมันสงบจนไม่อยากจะจากที่นี่ไปเสียด้วยซ้ำ ขอบพระคุณหลวงพ่อมากครับ”
“สีกาหม่อมนั่นล่ะได้อะไรกลับไปบ้างไหม”
“หนูคิดเหมือนพี่จอร์จเลยค่ะหลวงพ่อ รู้สึกอิ่มใจและมีความสุขมากถ้ารู้ว่าการฝึกสมาธิดีอย่างนี้หนูคงแสวงหาเวลามาฝึกตั้งนานแล้ว ขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ”
“อืม…ดี อย่าหยุดแสวงหาความรู้ใส่ตัวเสียล่ะประเทศชาติจะได้มีปราชญ์ทางวรรณคดีไทยเพิ่มขึ้นอีกซักคน และคุณหมอกับอาจารย์สัญชัยละเป็นอย่างไรกันบ้าง”
อาจารย์สัญชัยมองหน้าคุณหมอพิเภกอยู่อึดใจหนึ่งก่อนจะชิงตอบคำ
“ผมเสียดายเวลาที่ผ่านมาแล้วครับหลวงพ่อ ถ้าได้ฝึกสมาธิจนมีสติเข้มแข็งเหมือนเช่นตอนนี้ เรื่องราวในชีวิตที่เคยทำกรรมต่างๆไว้ตั้งมากมายคงมีปัญญาเลือกทำในสิ่งที่ดีและไม่ต้องมานึกเสียใจภายหลังต่อบางสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้”
“คุณหมอล่ะเป็นอย่างไรบ้าง พุทธศาสนาตอบคำถามให้คุณหมอได้หรือยัง”
“ตัวผมเองเล่าเรียนมาทางสาขาวิชาที่ต้องยึดหลักการของเหตุและผลที่สามารถพิสูจน์ได้ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนปิดกันความจริงบางประการที่วิทยาศาสตร์ปฏิเสธการมีอยู่จริงของมัน วันนี้ผมรู้แล้วว่าพุทธศาสนาลุ่มลึกและอธิบายสิ่งที่เรียกกันว่าชีวิตได้ชัดเจนกว่าศาสตร์แขนงไหนในปัจจุบันนี้ครับ”
“อืม…ต้องถือว่ามาถูกทางแล้วใช้ได้ทีนี้เข้าใจในสิ่งที่คุณพ่อของคุณหมอเขียนไว้ในสมุดบันทึกเล่มนั้นหรือยังล่ะ”
“เข้าใจมากกว่าครึ่งแล้วครับแต่ยังติดขัดอะไรบางอย่างเหมือนว่ามันเป็นทฤษฎีที่เป็นแค่สมมติฐาน อยากจะให้หลวงพ่อช่วยอธิบายให้ฟังอีกซักครั้งหนึ่งครับ ถือเสียว่าเป็นวิทยาทานให้พวกผมเถอะนะครับ”
“อาตมาตั้งใจไว้แล้ว ถ้างั้นเริ่มตอบคำถามของแต่ละคนกันก่อนเลย เริ่มจาก…”
หลวงพ่อรุ่งยังไม่ทันจะเอ่ยคำจบเจ้าทโมนแกละก็ถามพรวดขึ้นมาด้วยน้ำเสียงงอน ๆ ว่า
“อ้าวหลวงลุงไม่เห็นถามแกละเลยว่าเป็นอย่างไรบ้างลืมศิษย์เอกเสียแล้วกระมัง”
หลวงพ่อรุ่งสันไปสบตากับศิษย์ก้นกุฏิของท่านส่ายหน้าอย่างเอือมระอาก่อนจะพูดว่า“อย่างเอ็งข้าจัดว่าสอบตก นั่งก็ไม่นิ่งหลุกหลิกยังกับเอาลิงแถวนี้มาฝึก เดินก็เป๋ไปเป๋มาและเร็วยังกับจรวดมันจะไปได้ผลดีอะไรกับเขากันล่ะเจ้าแกละ เอ็งต้องกลับไปโดนข้าเขี้ยวด้วยก้านมะขามที่วัดก่อนข้าถึงจะว่าดี”
เจ้าทโมนน้อยได้ยินคำว่าก้านมะขามถึงกับสะดุ้งโหยงไหล่ห่อทำปากจู๋หลับตาปี๋ทันที สงบปากและไม่กล้าพูดอะไรอีกเลย หลวงพ่อรุ่งจึงหันหน้ากลับมาหาทุกคนและไปหยุดอยู่ที่หมอพิเภก
“เอาคำถามของใครก่อนดีนะ เอาอย่างนี้อาตมาว่าให้คุณหมอพิเภกเล่าถึงเนื้อหาในสมุดบันทึกนั้นก่อนละกัน ทุกคนจะได้รู้ว่าคุณพ่อของคุณหมอเขียนถึงอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง และสาเหตุเป็นอย่างไรถึงเกิดทฤษฏีที่ตกลงไหม”
ทุกคนพยักหน้าพร้อมกันราวกับนัดไว้และหันไปทางหมอพิเภก เขาชำเรืองมองสมุดบันทึกของตนบนตักและเริ่มเล่าว่า
“ตกลงครับหลวงพ่อในสมุดบันทึกที่ผมเจอมานี้เป็นบันทึกประจำวันของคุณพ่อของผมซึ่งท่านเขียนเอาไว้ตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ท่านเป็นคนที่ชอบจดบันทึกประจำวันมากเพราะต้องนำมันกลับมาอ่านทบทวนเพื่อใช้วิเคราะห์หาสาเหตุอาการป่วยและวางแผนการรักษาให้คนไข้ ท่านยังใช้มันเป็นตัวอย่างในการพัฒนาวิชาความรู้ทางจิตวิทยาให้ต่อยอดขึ้นไปอีกด้วย ในบันทึกเล่มนี้จะมีเรื่องราวและประสบการณ์การรักษาคนไข้ที่ท่านเคยทำการรักษามาแล้วทุกคน ท่านบันทึกเอาไว้ว่ามีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาปรึกษาเรื่องอาการป่วยทางจิตของลูกชายที่อายุยังไม่เต็ม 7 ขวบโดยพาเด็กคนนั้นมาด้วย เด็กคนนั้นมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดไม่เหมือนกับเด็กทั่วไปคือเขาไม่เคยสุงสิงกับเด็กในวัยเดียวกันค่อนข้างเก็บตัวและมักจะบอกกับทุกคนรวมทั้งคุณพ่อของผมว่าเขาเป็นคนที่ตายไปแล้วกลับชาติมาเกิด สามารถจดจำเหตุการณ์ในชาติที่แล้วหรือที่เรียกกันว่าการระลึกชาติของตนได้โดยเขาเล่าให้พ่อของผมฟังว่าเคยเกิดเป็นลูกของใครมีพี่น้องกี่คนและมีบ้านอยู่ที่ไหน เขาบอกรายละเอียดได้หมดเลยครับบอกได้แม้แต่กระทั้งว่าเขาตายยังไง ที่ไหน และเวลาอะไร พ่อกับแม่ของเด็กคิดว่าเขามีอาการป่วยทางจิตจึงพาเขามาปรึกษากับคุณพ่อของผม คุณพ่อเริ่มทำการรักษาเขาแต่ทำอย่างไรก็รักษาไม่หาย อาการไม่ทุเลาลงเลยไม่ว่าจะใช้ยาหรือใช้วิธีการอะไรและที่สำคัญที่สุดคือเด็กคนนั้นพูดจารู้เรื่องราวกับคุณพ่อกำลังคุยอยู่กับผู้ใหญ่คนหนึ่งแถมยังท้าให้คุณพ่อของผมพาเขาไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านหลังหนึ่งด้วย
คุณพ่อของผมคิดใคร่ครวญอยู่นานหลายอาทิตย์จนตัดสินใจทำการทดลองโดยแอบพาเขาไปพิสูจน์ความจริงโดยที่ไม่บอกให้พ่อกับแม่คนปัจจุบันของเด็กทราบแต่แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็ได้ปรากฏขึ้นกับตาของท่าน สิ่งที่เด็กคนนั้นพูดออกมาล้วนแต่เป็นความจริงทั้งหมด บ้านหลังนั้นมีอยู่จริง พ่อแม่คนก่อนของเด็กก็มีอยู่จริง ข้อมูลเรื่องวันเวลาและสถานที่ตายที่เขาเคยบอกก็ตรงกับความเป็นจริง คุณพ่อเลยทดลองให้พ่อแม่ในอดีตชาติของเขาช่วยกันถามในสิ่งที่ลูกคนที่ตายจากไปแล้วเท่านั้นที่รู้ เชื่อไหมครับเด็กคนนั้นสามารถตอบได้หมดทุกข้อสงสัยจนทุกคนต้องยอมรับกันว่า แกคือลูกบ้านนั้นที่ตายไปแล้วกลับชาติมาเกิด
คุณพ่อเก็บหลักฐานเกี่ยวกับการรักษาเด็กคนนั้นไว้เป็นอย่างดีและเขียนไว้เป็นข้อมูลอย่างละเอียดในสมุดบันทึกเล่มนี้ นับตั้งแต่นั้นมาท่านจึงสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับโลกหลังความตายโดยทำการค้นหาข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษากรณีระลึกชาติอย่างละเอียดจนท่านพบว่ามีนักวิทยาศาสตร์มากมายจากหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และทางตะวันออกกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน ท่านได้เดินทางไปพบปะพุดคุยและได้เรียนรู้วิธีการรักษาคนไข้ด้วยวิธีการสะกดจิตระลึกชาติกลับมาด้วย ท่านได้ทดลองทำการรักษาคนไข้ด้วยวิธีที่ว่านั้นตามคำแนะนำของดร.ชาวอเมริกันท่านหนึ่งและได้ผลออกมาเหมือนกันคือท่านสามารถทำให้คนบางคนระลึกชาติได้จริงครับ
ตั้งแต่นั้นมาท่านเลยเปลี่ยนทัศนคติต่อพุทธศาสนาหันมาศึกษาธรรมมะอย่างจริงจัง ฝึกนั่งสมาธิและพัฒนาวิธีการรักษาคนไข้โดยอิงกับหลักธรรมของพุทธศาสนาควบคู่กันไป ในบันทึกของท่านการรักษาคนไข้หลังจากนั้นการรักษาคนไข้ของท่านได้ผลที่ดียิ่งกว่าเดิมโดยที่บางครั้งท่านไม่จำเป็นต้องใช้ยาระงับประสาทหรือเทคนิคการรักษาแบบเดิมเลยด้วยซ้ำ เหมือนว่าท่านได้พัฒนาฝีมือขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งและกำลังพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อยๆ จนมีอยู่วันหนึ่งท่านได้ชวนคุณแม่ของผมมาดูการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ในช่วงวันหยุดประจำปีที่กรุงเทพฯ โขนคณะนั้นแสดงตอนกล่องดวงใจเหมือนกับที่อาจารย์สัญชัยนำมาแสดง...”
อาจารย์สัญชัยที่นั่งฟังมาตั้งแต่ต้นเมื่อเล่ามาถึงตรงที่มีการแสดงโขนตอนเดียวกับที่ตนไปแสดงมาสัมพันธ์อยู่ด้วยจึงเพิ่มความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก คนอื่นๆก็เช่นเดียวกัน หมอพิเภกพักหายใจชั่วอึดใจก่อนจะเล่าต่อไปว่า
“...คุณพ่อเกิดความคิดอย่างหนึ่งขึ้นมาในขณะที่กำลังชมโขนแสดงตอนทศกัณฑ์ถูกพระรามยิงศรมาปักอกและหนุมานขยี้กล่องดวงใจของพญายักษ์จนสิ้นใจ คุณพ่อผมถามตัวเองว่าทำไมแนวความคิดเรื่องหัวใจซึ่งถ้าจะเรียกกันตามหลักคือการให้ความสำคัญกับฐานจิตที่หัวใจถึงไปปรากฏอยู่ในวรรณกรรมของศาสนาอื่น ท่านจึงกลับมาศึกษาประวัติศาสตร์การแผ่อิทธิพลของหลักธรรมในพุทธศาสนาตั้งแต่พุทธศักราชที่ 1 เป็นต้นมาจนท่านพบว่าวรรณกรรมเรื่องนี้มีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรหลังยุคพุทธกาลล่วงมาแล้ว 200-300 ปีซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนาเริ่มตั้งหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง มีสมณะชีพราหมณ์และนักบวชนอกศาสนานับไม่ถ้วนรับเอาอิทธิพลแนวคิดไปจากพุทธศาสนานำไปศึกษาและปรับปรุงหลักการเดิมของลัทธิตนอย่างแพร่หลาย(+) คุณพ่อตั้งข้อสังเกตไว้ว่าผู้รจนาเรื่องรามายณะคงได้รับอิทธิพลเรื่องฐานจิตที่หัวใจไปไม่มากก็น้อยจึงสะท้อนออกมาในผลงานชิ้นนี้ซึ่งกลายเป็นว่าเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับแนวความเชื่อดั่งเดิมเรื่องฐานจิตอื่นๆซึ่งมีปรากฏในวรรณกรรมโดยทั่วไปมาเป็นฐานจิตที่หัวใจ(หทัยวัตถุ)แทน”
“ท่านอธิบายไว้ในสมุดบันทึกเล่มนี้ว่า ชีวิตเกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ 1.กายกับ2.จิตทั้งสองส่วนนี้เรียกร่วมกันว่าขันธ์ 5 ตามที่ทุกคนได้เรียนรู้มาแล้วจากการฝึกสติปฏิฐาน4 คุณพ่อของผมเปรียบรูปกายภายนอกนั้นเป็นดั่งลำเรือสำเภาและจิตหรือที่คนในยุคปัจจุบันเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นดวงวิญญาณนั้นเป็นดั่งต้นหนผู้บังคับทิศทางเรือ คุณพ่อตั้งสมมุติฐานไว้ว่าตัวตนของจิตนั้นคือกลุ่มก้อนของพลังงานที่มีมวลและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งยึดโยงกันอยู่ด้วยเจตจำนงเฉพาะตน และเจตจำนงเฉพาะตนที่ว่านั้นก็เป็นผลมาจากการรวมตัวกันของ 1.เวทนา(ความรู้สึกสุข ทุกข์และเฉยๆ) 2.สัญญา(ความทรงจำ) 3.สังขาร(ความคิด) รวมกันกับ 4.วิญญาณ(ความรับรู้สัมผัสจากประสาทสัมผัสทั่วตัว) การที่ต้นหนเรือ(จิต)สามารถครอบครองเรือสำเภา(ร่างกายของตน)และบังคับให้ทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้นั้นเพราะคลื่นความถี่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าของกายกับจิตอยู่มีลักษณะเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของใครของมัน แต่เราก็สามารถเพิ่มหรือลดระดับความถี่ของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเฉพาะของตนได้โดยอาศัยการฝึกสมาธิตามวิธีที่ถูกต้อง เมื่อฝึกอย่างสม่ำเสมอจนระดับความถี่นั้นพัฒนาได้ความละเอียดในระดับหนึ่ง เราก็จะสามารถแยกจิตออกจากร่างกายได้และทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น มีทิพพโสตหรือทิพพจักษุ(หูทิพย์ตาทิพย์)ใช้ความสามารถในการมองเห็นหรือได้ยินเกินกว่าธรรมดา รับรู้ความคิดของคน(อ่านใจคน) แทรกแซงความคิดของคนอื่นหรือบังคับให้คนอื่นทำตามที่เราคิด(สะกดจิต) ระลึกชาติของตนเองได้หรือแม้แต่การย้ายจิตตัวเองไปสิงร่างอื่นเหมือนอย่างต้นหนเรือเก่งๆที่สามารถเปลี่ยนไปบังคับเรืออื่นๆที่ไม่ใช่เรือของตนก็ได้ เป็นต้น”
หมอพิเภกเมื่อเล่ามาจนถึงจุดนี้ก็หยุดพักหายใจอีกครั้ง นักศึกษาสาวที่นั่งฟังอย่างตั้งใจมาตั้งแต่ต้นตระหนักรู้ทันทีว่าทำไมหลวงพ่อรุ่งจึงพูดว่าคำถามของตนเป็นเรื่องเดียวกับคำถามของคุณหมอพิเภก เธอหันไปมองทางหลวงพ่อรุ่งเหมือนต้องการจะพูดอะไรซักอย่างด้วย เมื่อหลวงพ่อสังเกตเห็น ท่านจึงถามนักศึกษาสาวด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลเปี่ยมด้วยกระแสเมตตาว่า
“โยมหม่อมได้คำตอบในสิ่งที่ถามอาตมาแล้วใช่ไหม”
“ได้แล้วค่ะหลวงพ่อ”
หลวงพ่อรุ่งพยักหน้าเป็นเชิงรับรู้และพูดต่อไปว่า
“เรื่องนี้อาตมามีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวมนต์“อาทิตยหฤทัย”ที่เป็นต้นเค้าของเรื่องกล่องดวงใจเพิ่มเติมให้ด้วย ความจริงมนต์บทนี้ของเดิมเขาก็มีอยู่จริงแต่เป็นมนต์ที่ใช้สรรเสริญคุณของพระอาทิตย์ผู้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งไม่ได้มีการกล่าวพาดพิงถึงเรื่องจิตหรือหัวใจอยู่ในเนื้อความเลยแม้แต่น้อย แต่ทางพุทธศาสนามีพระสูตรอยู่บทหนึ่งที่ชื่อว่า “อาทิตยปริยายสูตร”ซึ่งแปรเนื้อความเป็นภาษาไทยได้ว่า...
...สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นของร้อน...รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายและอารมณ์ทางใจเป็นของร้อน...ร้อนเพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย...ร้อนเพราะความโศกเศร้า รำพัน คับแค้น ทุกข์กายและทุกข์ใจ...ความร้อนเหล่านี้ล้วนเกิดจากเชื้อไฟแห่งความโลภ(ราคะ)ความโกรธ(โทสะ) และความหลง(โมหะ)ที่แผดเผาอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา...เมื่อภิกษุทั้งหลายรู้อย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่ทำให้เกิดการเสวยอารมณ์ที่มีนโนสัมผัสเป็นปัจจัย...เมื่อเบื่อหน่าย... จึงคลายความกำหนัด...เมื่อสิ้นกำหนัด...จิตจึงพ้น สรุปความก็คือ การที่คนเราจะพ้นทุกข์ได้นั้นต้องดับไฟในฐานจิตที่หัวใจของตนก่อนจึงจะสำเร็จและปฐมเหตุที่ทำให้เกิดพระสูตรบทนี้อาตมาว่าน่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการส่งอิทธิพลถึงผู้รจนาวรรณกรรมเรื่องรามายณะ สีกาอยากรู้ไหมว่าปฐมเหตุที่ทำให้กำเนิดพระสูตรบทนี้เป็นอย่างไร”
“อยากรู้มากเลยค่ะนิมนต์หลวงพ่อเล่าให้หนูฟังด้วยนะคะ”
“ตกลงอาตมาจะเล่าให้ฟัง ปฐมเหตุของพระสูตรบทนี้มาจากเหตุการณ์จริงในสมัยพุทธกาลที่มีการบันทึกไว้ในลักษณะพุทธตำนานที่เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ต้องการประดิษฐานพุทธศาสนาให้มั่นคงในดินแดนชมพูทวีป พระองค์เลือกที่จะเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนของท่านที่แคว้นมคธซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในเวลานั้นเป็นแห่งแรก แต่ชาวเมืองส่วนใหญ่และพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ปกครองกรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธนั้นนับถือลัทธิบูชาไฟที่มีชฎิล(ฤษี)สามพี่น้องชื่อกัสสปะเป็นเจ้าลัทธิอยู่ พระพุทธองค์จึงเสด็จไปที่สำนักของชฎิลสามพี่น้องก่อนเพื่อโปรดบรรดาเจ้าลัทธิให้ละจากความเห็นผิดและเมื่อเจ้าลัทธิทั้งสามได้ฟังพระสูตรชื่อ“อาทิตยปริยายสูตร”จากพระโอษฐ์ของพระพุทธองค์แล้วก็เกิดความศรัทธาขอบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาพร้อมกับบรรดาลูกศิษย์ที่นับจำนวนได้หนึ่งพันคนพอดี ภิกษุสงค์ที่บวชใหม่ทั้งหมดได้เสร็จตามพระพุทธองค์เข้าเมืองไปพร้อมกันเป็นขบวนใหญ่ สร้างความตื่นตาตื่นใจและน้อมนำให้เกิดความศรัทธาแก่พวกชาวเมืองรวมทั้งพระเจ้าพิมพิสารเป็นอย่างมาก ยิ่งทุกคนได้ทราบว่าเจ้าลัทธิที่พวกตนนับถืออยู่ได้กลายเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาไปจนหมดสิ้นแล้ว ชาวเมืองจึงยินยอมเปลี่ยนศาสนาพร้อมๆกันทั้งเมืองนับตั้งแต่นั้น”
ทุกคนที่นั่งฟังอยู่ด้วยกัน ณ เวลานี้ต่างกำลังคิดจินตนาการถึงภาพของขบวนพระภิกษุสงค์ที่เสด็จตามพระพุทธองค์เข้าสู่กรุงราชคฤห์เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจจนขนลุกซู่ราวกับถูกราดด้วยน้ำเย็นตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าและกระจ่างแจ้งต่อพุทธนุภาพที่ไม่มีประมาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้นิ่งงันไปหมดอยู่หลายอึดใจพร้อมกับเกิดเป็นอารมณ์ปิติกลั่นตัวเป็นหยดน้ำปริ่มออกมาหางตา นักศึกษาสาวเอ่ยคำทำลายความเงียบขึ้นมาก่อนว่า
“จริงหรือค่ะหลวงพ่อ ถ้าพุทธศาสนาเรามีพระสูตรบทนี้ย่อมหมายความว่าหนูได้รับคำยืนยันในคำตอบของหนูแล้วค่ะ”
เมื่อพูดถึงจุดนี้อาจารย์สัญชัยเริ่มจับจุดอะไรได้บางประการจึงถามออกไปว่า
“คุณหมอจะบอกว่าพญายักษ์ทศกัณฑ์เป็นผู้มีพลังสมาธิที่เข้มแข็งใช่ไหมครับ”
“ถูกแล้วครับแต่ไม่ใช่ผมพูดเป็นทฤษฎีของคุณพ่อของผมต่างหาก คุณพ่อยังบอกด้วยว่าคนธรรมดาสามัญก็สามารถฝึกฝนจิตของตนให้ทำอย่างทศกัณฑ์ได้เช่นกัน เหมือนพวกฤาษีชีพราหมณ์ที่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศลุยไฟหายตัวได้เหมือนกันครับ เมื่อพญายักษ์ถอดดวงจิตของตนได้เรื่องความตายนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกลัวอีกต่อไปเปรียบได้กับการมีชีวิตที่เป็นอมตะเพราะสามารถย้ายจากเรือสำเภาลำเก่าหรือร่างกายเก่าไปสู่ร่างกายใหม่ได้เรื่อยๆอย่างไรละครับ”
ทุกคนฟังมาจนถึงจุดนี้ต่างตะลึงงันกันไปหมดยกเว้นแต่หลวงพ่อรุ่งองค์เดียวที่ยังคงรักษาท่าทีที่สงบสำรวจเอาไว้ได้กลายเป็นว่าทุกคนนั่งเงียบราวกับกำลังจมอยู่ในความคิดของตน นักศึกษาสาวหม่อนเปรยขึ้นว่า
“คุณลุงหมอถ้าอย่างนี้หัวใจทศกัณฑ์ที่สมุดบันทึกเล่มนี้กล่าวถึงก็หมายถึงดวงจิตของพญายักษ์ใช่ไหมคะ”
“จ๊ะหนูหม่อน ในสมุดบันทึกเล่มนี้เขียนไว้ว่าอย่างนั้น นี่แหล่ะครับที่ผมอยากจะมากราบเรียนถามหลวงพ่อว่า การถอดดวงจิตนั้นทำได้จริงหรือเปล่าครับ” หมอพิเภกพูดพร้อมกับหันไปมองหลวงพ่อรุ่งเป็นเชิงขอคำตอบจนทำให้ให้ทุกคนรวมความสนใจไปที่ท่านทันที
“มหากาพย์เรื่องรามายณะทุกคนต่างก็รู้กันดีอยู่แล้วว่ามันเป็นวรรณกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับเอาอิทธิพลจากแนวความคิดของพุทธศาสนาไปผสมกับความเชื่อความศรัทธาเดิมที่เขามีอยู่แล้ว มันปนเปกันไปหมดจนแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นของใคร เรื่องอภิญญาต่างๆเหล่านี้ถึงอาตมาจะตอบว่ามันมีอยู่จริงและทำได้ โยมคิดว่าโยมจะเชื่อตามอาตมาพูดไหม แน่นอนว่าพวกโยมทุกคนต้องไม่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะมันเป็นเรื่องเหนือวิสัยที่จะให้ใครเชื่อได้จากการรับฟังผู้อื่นบอกเล่าเท่านั้น แต่ถ้าอยากรู้จริงๆว่ามันทำได้หรือไม่ได้พวกโยมทั้งหมดต้องเร่งปฏิบัติและจะรู้ได้ด้วยตนเอง...”
หลวงพ่อรุ่งถอนหายใจก่อนจะพูดต่อด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลแต่ชัดเจนว่า
“...อันที่จริงจะทำได้หรือไม่ได้ มันก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญหรอกโยม เพราะมันยังจัดว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้ใครพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริงและที่สำคัญ “คนอยากไม่ได้ คนได้ไม่อยาก” นะรู้ไหม”
ทุกคนเหมือนเข้าใจในสิ่งที่หลวงพ่อรุ่งอธิบายแต่ยังกังขาต่อคำพูดทิ้งท้ายที่เป็นปริศนาธรรม ต่างคิดตรงกันว่ามันน่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ ต่างคนจึงต่างจมอยู่แต่ในห้วงแห่งความคิดคำนึงของตนเงียบๆและทำหน้าฉงนเหมือนกันหมดเพราะเหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้จริงๆตามที่ท่านบอก อาจารย์สัญชัยอดทนต่อไปไม่ได้เป็นคนแรกจึงจะเอ่ยปากจะขอให้ท่านขยายความอีกครั้งแต่ถูกจอร์จแซงถามคำถามเดียวกันนั้นออกไปก่อนว่า
“คนอยากไม่ได้ คนได้ไม่อยาก นี่เป็นยังไงครับหลวงพ่อ”
“พวกโยมไม่ต้องรีบร้อน เดี๋ยวประสบการณ์ชีวิตและการหมั่นเจริญสมาธิจะสอนโยมเอง อย่าลืมในสิ่งที่หลวงพ่อขอก็แล้วกัน ขอให้โยมยึดมั่นอยู่ในศีล 5 ที่โยมรับจากอาตมาไป”
“ผมสัญญาครับหลวงพ่อ” จอร์จตอบพร้อมกับเสียงของอาจารย์สัญชัยที่ท้วงขึ้นมาว่า
“เดี๋ยวครับหลวงพ่อ ผมยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าสมุดบันทึกคุณพ่อของคุณหมอไปเกี่ยวข้องอะไรกับวิชาจิตวิทยาตรงไหน หรือว่าคุณหมอยังเล่าไม่จบครับ” พูดจบอาจารย์สัญชัยจึงหันไปสบตาเป็นเชิงเร่งให้หมอพิเภกเล่าต่อด้วยความสงสัย
“จริงสิโยมหมอยังเล่าไม่จบมิใช่หรือ”หลวงพ่อรุ่งหันไปเอ่ยคำกับหมอพิเภกว่า “เอ้า เอาให้จบเลยนะคราวนี้”
“ครับหลวงพ่อ จะบอกว่ามันเกี่ยวกับวิชาจิตวิทยาทั้งหมดก็ไม่เชิงครับแต่ถ้าบอกว่ามันเกี่ยวกับสหวิชาการของทางวิทยาศาสตร์น่าจะดีกว่า คุณพ่อบันทึกต่อไปอีกว่าท่านได้นำแนวความคิดนี้มาวิเคราะห์ตั้งสมมติฐานและหาหลักฐานต่างๆมาสนับสนุนว่าจิตนั้นมีอยู่จริง เช่น การรักษาคนไข้ที่สมองตายแต่ยังคงมีชีวิตอยู่ บันทึกการรักษาคนไข้ที่เจ้าตัวอ้างว่ากลับชาติมาเกิดและการรักษาคนไข้จิตประสาทด้วยการสะกดจิตระลึกชาติเป็นต้น ในที่สุดคุณพ่อของผมได้ข้อสรุปที่ลงตัวแล้วจึงเขียนเป็นโครงการทดลองที่เกี่ยวกับการถ่ายโอนดวงจิตจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานของท่านที่บอกว่า จิต(วิญญาณ) นั้นมีอยู่จริง และคนเราสามารถมีชีวิตที่เป็นอมตะอย่างทศกัณฑ์ได้”
เมื่อหมอพิเภกอธิบายจนจบเขาจึงมองกวาดไปสบตากับทุกคนเพื่อสำรวจดูว่าแต่ละคนเข้าใจในสิ่งที่ตนพูดหรือไม่จนพบว่านักศึกษาสาวจ้องตนอยู่ก่อนแล้ว เหมือนอยากจะถามคำถามอะไรบางอย่างเมื่อสบตากัน เธอก็ถามขึ้นมาว่า
“คุณลุงหมอคะ คนไข้ที่สมองตายแต่ยังมีชีวิตอยู่นี่ใช่กรณีเดียวกับดาราชายที่นอนเป็นเจ้าชายนิทราอยู่ใช่ไหมคะ”
“ใช่ครับ”
“มันไปอธิบายถึงเรื่องจิต (วิญญาณ) นี่ได้อย่างไรละคะหนูไม่เข้าใจเลย”
“มันเป็นการหักล้างความคิดของนักวิทยาศาสตร์ยุคก่อนโดยทั่วไปนะครับ ส่วนใหญ่เขาเชื่อกันว่าชีวิตผลผลิตจากกระบรวนการทำงานของสมองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ ความคิดเป็นผลมาจากการทำงานของสมอง คนตายก็คือคนที่สมองหยุดคิดไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งที่เรียกกันว่าวิญญาณ ประมาณว่าพวกนี้เขามองอะไรที่เป็นรูปธรรมหรือชีวิตเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ทำงานตลอดเวลาเท่านั้นครับ”
“คุณลุงหมอครับอย่างนี้พวกเขาคงไม่มีใครเข้าใจทฤษฎีนี้เลยนะสิครับ” เจ้าทโมนแกละถามขึ้นด้วยความไร้เดียงสาตามความคิดของตนเองที่เด็กเกินกว่าจะเข้าใจมันได้เช่นกัน
“ไม่ทุกคนหรอกแกละในบันทึกของคุณพ่อลุง ท่านเอาทฤษฎีและโครงการที่ท่านคิดขึ้นมานี้ออกเผยแพร่ในงานสัมมนาวิชาการครั้งหนึ่ง คุณพ่อเขียนไว้ว่านักวิทยาศาสตร์และนายแพทย์ที่มานั่งฟังไม่มีใครเข้าใจและยอมรับความคิดของท่านเลยมีแต่มหาเศรษฐีคนหนึ่งที่เป็นชาวอเมริกันชื่อมิสเตอร์ เจ เค คิลเลอร์เจ้าของโรงพยาบาลจัสมินฯกับดอกเตอร์ทอมสันเท่านั้นที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิสเตอร์ เจ เขาศรัทธาและเชื่อมั่นมากว่าโครงการทดลองที่คุณพ่อของลุงเขียนขึ้นมานี้สามารถทำได้จริงแต่น่าเสียดายที่ไม่นานหลังจากที่เขาให้การสนับสนุนเงินทุนในการทำงานกับท่านในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ท่านก็ด่วนจากโลกนี้ไปเสียก่อนที่จะได้พิสูจน์ให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรู้ว่ามันทำได้จริงหรือไม่จริง”
เมื่อจอร์จได้ยินชื่อมิสเตอร์ เจ เค คิลเลอร์เจ้าของร.พ.จัสมินฯ กับ ด็อกเตอร์ทอมสันที่ตนรู้จักรู้สึกแปลกใจมากว่าทำไม เหตุการณ์และชื่อบุคคลทั้งสองถึงวนเวียนเกี่ยวพันกับชีวิตของเขาอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ความคิดของชายหนุ่มกระหวัดกลับไปหาหญิงสาวผู้เกี่ยวพันกับด็อกเตอร์ทอมสันที่ชื่อมะลิด้วยทันที มันจึงส่งผลให้ความทรงจำที่แสนสุขสมและความรู้สึกที่ได้รับการเติมเต็มช่องว่างในจิตใจ ณ.เสี้ยววินาทีนั้นฟุ้งขึ้นมาในหัวใจเขาอีกครั้ง ความรู้สึกดังกล่าวก่อตัวรวดเร็วปานวังน้ำวนที่เชี่ยวกรากยากจะระงับมันไว้ได้ มันกำลังผลักดันให้เขาปรารถนาที่จะได้เจอกับเธออีกครั้ง จอร์จรำพึงรำพันกับตัวเองในใจว่า “คงถึงเวลาแล้วสินะที่เราต้องออกเดินทางไปตามหาความจริงเสียที จะได้รู้กันไปเลยว่าเราเป็นใครมาจากไหนแต่เราจะไปกรุงเทพฯได้ยังไงกัน” จอร์จนิ่งจมอยู่ในความคิดของตนเงียบๆ
หลวงพ่อรุ่งเห็นอาจารย์สัญชัยตรึกตรองอะไรอยู่ด้วยสีหน้ายุ่งยากจึงถามออกไปว่า
“โยมหายข้องใจหรือยังละมีอะไรไม่เข้าใจอีกไหม”
“มีครับหลวงพ่อ ผมอยากขอคุณหมอดูสมุดบันทึกโครงการทดลองที่คุณพ่อคุณหมอเขียนขึ้นมาซักหน่อย อยากได้ความกระจ่างมากกว่านี้ว่า เขาใช้วิธีอะไรในการย้ายดวงจิตจากร่างหนึ่งไปอยู่อีกร่างหนึ่งครับ”
อาจารย์สัญชัยพูดกับหลวงพ่อรุ่งและหันไปหาคุณหมอพิเภกพร้อมกับยื่นมือออกไป
“ขอยืมดูสมุดบันทึกหน่อยได้ไหมครับคุณหมอ”
“ได้สิครับ เชิญตามสบาย”
คุณหมอพิเภกยิ้มพร้อมกับยื่นสมุดบันทึกปกดำเล่มนั้นไปให้อาจารย์สัญชัยก่อนจะเปรยขึ้นว่า
“ความจริงสมุดบันทึกเล่มนี้ไม่ได้เขียนรายละเอียดโครงการทดลองนั้นไว้หรอกครับอาจารย์ ผมอ่านทวนดูหลายรอบแล้ว คุณพ่อท่านเขียนไว้แต่เพียงสมมุติฐานเริ่มต้นเท่านั้น ผมว่าท่านคงนำเนื้อหาส่วนนั้นไปบันทึกไว้ในสมุดอีกเล่มหนึ่งมากกว่าเพราะต้องเขียนให้อยู่ในรูปแบบของหนังสือเชิงวิชาการและแผนงานการทดลองอย่างเป็นระเบียบแต่ผมก็หาหนังสือเล่มที่ว่านั่นไม่เจอเหมือนกัน ไม่รู้ว่าท่านแยกมันไปเก็บไว้ที่ไหน”
“แล้วกัน อย่างนี้ก็ค้างคาใจกันแย่เลยสิครับ คุณหมอหาสมุดอีกเล่มไม่เจอจริงหรือ”
“ครับหาจนทั่วบ้านแล้วแต่ก็ไม่เจอ ถามคุณแม่ท่านก็ไม่รู้เหมือนกัน ใจจริงผมอยากจะได้มันมาไว้ศึกษาดูอยู่เหมือนกันจนปัญญาจะหาแล้วจริงๆครับ”
หลวงพ่อรุ่งเห็นคุณหมอพิเภกระบายความในใจออกมาตรงๆคิดอยากจะช่วยให้เขาสมหวังนิ่งตรึกตรองอยู่ครู่หนึ่งและเอ่ยขึ้นว่า
“โยมหมอไม่ลองไปถามผู้อำนวยการใหญ่ของ ร.พ.จัสมินฯที่กรุงเทพฯดูละ อาตมาจำได้นะในสมุดบันทึกท่านบอกว่าได้เข้าไปทำงานอยู่ที่นั่นช่วงเวลาหนึ่งมิใช่หรือ”
“อ๊ะ...จริงด้วยครับหลวงพ่อ ผมลืมไปเสียสนิทเลย สมุดเล่มนั้นต้องอยู่ที่นั่นแน่ๆเห็นทีต้องรีบขับรถกลับกรุงเทพให้เร็วที่สุดแล้วจะได้แวะไปถามท่าน ผอ.จาคอฟสกี้เสียให้รู้เรื่องกันไปเลย”
“คุณหมอได้สมุดบันทึกโครงการทดลองมาเมื่อไหร่ขอผมอ่านดูบ้างนะ”
อาจารย์สัญชัยพูดพร้อมกับยื่นสมุดปกดำคืนให้คุณหมอพิเภกที่กำลังพยักหน้าเป็นเชิงตอบรับ หลวงพ่อรุ่งเห็นว่าทุกคนได้รับคำตอบในสิ่งที่ตนต้องการจะถามครบหมดแล้วจึงเปรยขึ้นว่า
“เอาละถึงเวลาต้องเอ่ยคำลากันแล้ว พวกเราคงต้องแยกย้ายไปตามทางเดินชีวิตของตน คุณหมอต้องกลับกรุงเทพฯ สีกาหม่อนต้องกลับบ้านที่เชียงใหม่ งั้นอาตมาขอฝากสีกาหม่อนติดรถไปลงกรุงเทพฯด้วยซักคนก็แล้วกัน...”
หลวงพ่อเห็นคุณหมอพิเภกพยักหน้าเป็นเชิงตอบรับจึงพูดต่อ
“ส่วนอาจารย์สัญชัย อาตมา ประสกจอร์จและเจ้าทโมนตัวนี้คงต้องเดินทางกลับปัตตานีกันเสียที อาตมาเองก็ชักจะเป็นห่วงงานที่วัดขึ้นมาตงิดแล้ว สุดท้ายนี้อาตมามีหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาศมอบให้พวกโยมไว้คนละเล่ม เอาไว้อ่านทบทวนหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่อาตมาเคยพูดมาแล้วตลอด 7 วันที่อยู่ด้วยกันที่นี่ ขอให้ทุกคนอย่าประมาทในชีวิตเจริญสติปัฐาน 4 ให้สม่ำเสมอ ศีล สมาธิ และปัญญา จะได้เต็มบริบูรณ์ตลอดไปนะโยมนะ”
“สาธุ”
ทุกคนพร้อมเพรียงกันเปล่งเสียงออกมาด้วยความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ ต่างซาบซึ้งในความเมตตาปราณีที่หลวงพ่อรุ่งหยิบยื่นให้ จิตใจตื้นตันเหลือที่จะกล่าว ทุกคนยกเว้นเจ้าทโมนแกละพูดกับตัวเองว่ามีเวลาเมื่อไหร่จะต้องกลับไปกราบนมัสการหลวงพ่อรุ่งที่วัดอีกให้ได้ ทุกคนกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งอย่างพร้อมเพรียง เมื่อรับหนังสือจากมือของหลวงพ่อรุ่งจนครบหมดทุกคนแล้วจอร์จจึงเอ่ยกับหลวงพ่อรุ่งว่า
“หลวงพ่อครับ ผมขออนุญาตไม่กลับวัดพร้อมหลวงพ่อนะครับ เออ...ผมขอติดรถของคุณหมอพิเภกไปลงกรุงเทพฯด้วยคนจะได้ไหมครับ” ประโยคแรกพูดกับหลวงพ่อรุ่งแต่ประโยคหลังชายหนุ่มหันหน้าไปขอกับคุณหมอพิเภก เมื่อเห็นคุณหมอพยักหน้าตอบรับและยิ้มให้อย่างมีไมตรีชายหนุ่มจึงหันกลับไปมองหลวงพ่อรุ่ง
“ประสกจอร์จพอจะจำอะไรได้บ้างแล้วละสิถึงเวลาที่ต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากันเสียที... เอาละขอให้โยมโชคดีนะ ตามหาความจริงให้เจอถ้าเหนื่อยหรือไม่มีที่ไปขอให้นึกถึงอาตมากับเจ้าแกละ กลับมาอยู่ด้วยกันที่วัดก็ได้ อาตมายินดีต้อนรับโยมทุกเวลา ให้คิดเสียว่าเป็นบ้านที่โยมจากไปก็แล้วกัน สุดท้ายนี้ขอฝากคำพูดให้โยมติดตัวไว้คิด กาลข้างหน้าไม่ว่าโยมจะรู้ความจริงว่ามันเป็นเช่นไร โยมจงถ่องเอาไว้ในใจเสมอว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”
“ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ”
“ขอให้ทุกคนโชคดีในการเดินทาง เจริญยิ่งๆขึ้นไป”
หลวงพ่อรุ่งให้ศีลให้พรทุกคนเสร็จก็ลุกจากที่นั่งเดินนำทุกคนกลับไปเก็บของยังที่เรือนพัก หลังจากเตรียมตัวกันเรียบร้อยจึงแยกย้ายกันออกเป็นสองสาย หลวงพ่อรุ่ง อาจารย์สัญชัยและเจ้าทโมนแกละเดินทางกลับปัตตานีด้วยรถบัสโดยสาร ส่วนหมอพิเภก จอร์จ และนักศึกษาหม่อน แยกไปขึ้นรถของคุณหมอพิเภกเพื่อไปกรุงเทพฯ เจ้าทโมนน้อยล่ำลากับชายหนุ่มด้วยน้ำตานองหน้า แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่ได้อยู่ด้วยกันแต่จอร์จก็รู้สึกรักและเอ็นดูน้องชายกำมะลอคนนี้ไม่ต่างอะไรจากน้องแท้ๆของเขาคนหนึ่ง เจ้าทโมนแกละสั่งความอย่างมั่นเหมาะให้ชายหนุ่มกลับมาเยี่ยมตนมั่งถ้าทำได้หรือถ้าไม่มีที่ไปก็ให้ย้อนกลับไปอยู่เสียด้วยกันเลย ในใจของชายหนุ่มที่เคยอ้างว้างและเหมือนคนจรไร้ที่พักพิงตอนนี้ซาบซึ้งและเข้าใจดีว่าความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่กำลังเกาะกุมอยู่ข้างในจิตใจนั้นเป็นเช่นไร เขาพูดกับตัวเองลำพังในใจขณะที่นั่งอยู่บนเบาะรถด้านหน้าคู่กับหมอพิเภกว่า “แค่มีคนที่ห่วงใยและรอการกลับมาของเราอยู่ที่นั่น ณ ที่แห่งนั้นคงจะเรียกว่าบ้านของเราได้แล้วกระมัง”

(+) ดวงมน จิตร์จำนง,คุณค่าและลักษณะเด่นของวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น,พิมพ์ครั้งที่2,(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,๒๕๔๔),๑๓๖


Create Date : 07 กรกฎาคม 2554
Last Update : 7 กรกฎาคม 2554 15:56:12 น. 1 comments
Counter : 610 Pageviews.

 


โดย: aestorylove วันที่: 7 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:08:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wayoodeb
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




 
      
Friends' blogs
[Add wayoodeb's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.