+++++ น้ำทุกหยาดมีประโยชน์ หากทุกคนใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัด +++++
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
21 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
๓๓๓ บทความเกี่ยวกับข้าว ๓๓๓

พยายามรวบรวมหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับข้าวไว้ศึกษา

๕. ชี้อาฟตาไม่น่ากระทบข้าวไทย รัฐเข้าแทรกแซงยังน่าห่วงกว่า
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 ธันวาคม 2552 07:39 น.

นักวิชาการชี้การค้าเสรีสินค้าเกษตรในอาเซียนไม่น่าวิตก เชื่อไทยได้มากกว่าเสีย กระตุ้นการนำเข้า-ส่งออกข้าวไทยได้มากขึ้น ชาวนาไทยอาจได้รับผลกระทบ เพราะข้าวราคาตกบ้าง แต่ไม่น่ามีปัญหามากเพราะรัฐมีโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร พร้อมเสนอแนะรัฐบาลตั้งกองทุนวิจัยข้าวไทยให้เป็นหนึ่ง ชี้พม่าคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าเวียดนาม

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่าในรอบ 100 ปี เกิดวิกฤตข้าวราคาแพงจำนวน 4 ครั้ง โดย 2 ครั้งหลังสุด คือปี 2516 และ 2551 น่าวิตกมากกว่าทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม การที่ราคาข้าวแพงขึ้นในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลดีมากว่าผลเสีย เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศยากจนที่ต้องนำเข้าข้าวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเกิดจลาจลขึ้นในหลายประเทศ

"แต่หากราคาข้าวแพงขึ้นเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทำให้ผลผลิตข้าวของไทยลดลง 20-30% จะเป็นปัญหาต่อประเทศไทยอย่างมาก เช่นเดียวกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวนาไทย เกิดปัญหาความยากจน และส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างรุนแรง" ดร.นิพนธ์ กล่าวในระหว่างการประชุมเวทีข้าวไทย 2552 เรื่อง "วิกฤตข้าวไทย : ใครจะแก้" เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 52 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์ ชี้ว่าการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วางแนวทางแก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากราคาข้าวตกต่ำด้วยนโยบายการประกันรายได้แก่เกษตรกร เป็นการประกันความเสี่ยงให้เกษตรกรหากราคาข้าวตกต่ำลง แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวหรือยกระดับราคาข้าวได้

ดร.นิพนธ์ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มว่าวิกฤตข้าวที่จะเกิดขึ้น จะมาจากการแทรกแซงของรัฐ เหมือนกับวิกฤตข้าวเมื่อปี 2516 และ 2551 ที่เกิดจากรัฐบาลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (ASEAN Free Trade Area : AFTA) จึงไม่ใช่เรื่องน่าวิตกเท่าการแทรกแซงจากรัฐบาล และน่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทยมากกว่าด้วยซ้ำ โดยเขาได้ยกตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากการแทรกแซงโดยรัฐที่ผ่านมาคือ โครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงกว่าราคาข้าวในตลาดมาก และโชคไม่ดีที่เกิดวิกฤตราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นในปี 2551 พอดี

โครงการรับจำนำข้าวส่งผลกระทบต่อตลาดข้าว เพราะทำให้รัฐเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุด ข้าวมีราคาสูง แต่คุณภาพลดต่ำลง ส่งผลต่อการส่งออกข้าวต้นปี 2552 เพราะข้าวไทยราคาแพงที่สุดในโลก การส่งออกลดลงจาก 27% เหลือ 22% เพราะรัฐซื้อข้าวมาเก็บไว้ในสต็อก ทำให้การส่งออกลดลง ทางที่ดีรัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะเกษตรกรไม่ได้ผลิตข้าวเพื่อค้าขายกับรัฐ

"ตลาดข้าวเสรี ดีอย่างไร?" ดร.นิพนธ์ ตั้งถำถามก่อนจะวิเคราะห์ต่อไปว่า จากหลักฐานในอดีตที่พบว่าตลาดเสรีมีผลดีต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งการส่งออกเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนการค้าข้าวไทย หากย้อนกลับไปในปี 2398 ที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างไทยกับอังกฤษ พบว่าไทยผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากราว 1 แสนตัน เป็น 1 ล้านตัน ภายในเวลา 50 ปี ซึ่งเห็นชัดเจนว่าผลประโยชน์เพิ่มขึ้น

"ไทยส่งข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งมาตลอดตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา มีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 30% ปริมาณข้าวส่งออกจาก 1.4 ล้านตัน ผลผลิตข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดข้าวไทยมีทั่วทุกทวีป มีการกระจายข้าวไทยไปทั่วโลก และหลากหลายชนิด แม้แต่ปลายข้าวหอมมะลิ ข้าวไทยคุณภาพสูงขึ้นตามลำดับ ทำให้ขายในราคาสูงกว่าข้าวจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ" ดร.นิพนธ์ กล่าว ซึ่งเขามีความเห็นว่าการเปิดเสรีการค้าตลาดสินค้าเกษตรที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 1 ม.ค. 2553 เป็นต้นไป ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก และไม่น่าส่งผลเสียต่อข้าวไทย

ทว่ามาตรการรับมือต่อเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลไทยยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการบริหารการนำเข้าข้าว โดยกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เป็นผู้อนุมัติ จะต้องมีการกำหนดด่านการนำเข้า ประเภทของข้าวที่จะนำเข้า และการติดตามตรวจสอบการนำเข้าจากภาครัฐอย่างเข้มงวด

สำหรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากเปิดตลาดเสรีแล้วคือ จะมีการนำเข้าข้าวเข้าประเทศไทยมากขึ้น จากกัมพูชา ลาว พม่า ซึ่งปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเหล่านี้ตามตะเข็บชายแดนอยู่แล้ว และคาดว่าก่อนหน้านี้น่าจะมีการลักลอบนำเข้าข้าวจำนวนหลายหมื่นตัน เพื่อมาสวมสิทธิ์ในการรับจำนำข้าวด้วย ฉะนั้นการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว จึงลดปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวได้จำนวนมาก ซึ่งหากเรายังใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเหมือนเดิม ก็จะมีการลักลอบนำเข้าข้าวตามปกติเหมือนเดิมตามตะเข็บชายแดน แต่ถ้าปล่อยให้มีการนำเข้าข้าวเสรี โรงสี ผู้ส่งออก และโรงงานแปรรูปจะได้ประโยชน์ ขึ้นอยู่กับว่านำเข้าข้าวประเภทไหน

นอกจากนั้น การส่งออกข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะข้าวบางส่วนที่นำเข้ามาในประเทศไทยก็จะถูกส่งออกด้วย เนื่องจากข้าวที่นำเข้าเหล่านั้นคนไทยไม่นิยมบริโภคกัน จึงต้องส่งออกต่อไป และเชื่อว่าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจะไม่ทะลักเข้าประเทศไทยอย่างมากแน่ เพราะถึงอย่างไรประชากรในประเทศเหล่านั้นก็ยังต้องบริโภคข้าวอยู่ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยอยู่บ้าง เพราะจะทำให้ราคาข้าวไทยต่ำลง เกษตรกรบางรายอาจเลิกทำนาหรือเปลี่ยนไปผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบในส่วนนี้ต่อชาวนาไทยได้

"หากเปิดการค้าเสรี อาจมีการนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนต่างของราคาข้าว แต่เชื่อว่าไม่มีการนำเข้าข้าวมากจนถึงขนาดทำให้ชาวนาไทยเลิกปลูกข้าวได้แน่นอน แต่ระยะยาวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพม่าถือเป็นคู่แข่งไทยที่น่ากลัวมาก ไม่ใช่เพราะข้าวพม่าจะหลั่งไหลเข้ามาสู่ไทยมากขึ้น แต่จะเป็นคู่แข่งในตลาดโลก ขณะที่เวียดนามยังไม่น่ากลัวเท่า เพราะว่าเวียดนามมาถึงขีดจำกัดของที่ดินและน้ำแล้ว" ดร.นิพนธ์ วิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตของข้าวและชาวนาไทย โดยสรุปว่าผลด้านบวกคือ จะมีการนำเข้าและส่งออกข้าวมากขึ้น ส่วนผลด้านลบ ราคาข้าวในประเทศจะลดลง ชาวนาจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ แต่นโยบายประกันรายได้เกษตรกรจะเข้ามาชดเชยในส่วนนี้ได้ เพราะฉะนั้นไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีสินค้าการเกษตรครั้งนี้มากกว่าผลเสีย

ทั้งนี้นี้ ดร.นิพนธ์ เสนอแนะว่ารัฐบาลควรเตรียมรับมือกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร ด้วยการลงทุนด้านงานวิจัยและการตั้งสถาบันรองรับการเปิดตลาดเสรี ซึ่งการเปิดการค้าเสรีทำให้การค้าข้าวขยายตัว ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่หนึ่งได้ และการเปิดเสรีการค้าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันที่มีหน้าที่ดูแลกลไกตลาดเสรีโดยเฉพาะ ส่วนการแทรกแซงของรัฐในตลาดข้าวเป็นอันตรายต่ออนาคตข้าวไทย ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำโดยการประกันรายได้เกษตรกรแทนการแทรกแซงตลาดข้าวในปัจจุบันนี้นั้นถูกต้องแล้ว และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการรับประกันรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม งบวิจัยและงบส่งเสริมการเกษตรของไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากที่เวลานี้เราใช้งบไปในด้านนี้น้อย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องคิดใหม่ โดยเสนอให้รัฐใช้งบในโครงการประกันรายได้ประมาณ 6 หมื่นล้าน จากงบไทยเข้มแข็ง ซึ่งคิดว่าใช้ไม่หมดแน่นอน ให้รัฐเอาเงินที่ประหยัดจากส่วนนั้นมาตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกับการดำเนินงานกองทุนมันสำปะหลังที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
-----------------------------------


๔. 'ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน' อาหารชุมชน
วันพุธ ที่ 23 ธันวาคม 2552 เวลา 0:00 น
ที่มา เดลินิวส์
'มูลมังอีสาน' พึ่งตนแบบพอเพียง

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร ดำเนินงาน “โครงการข้าวปลาอาหารอีสานมั่นยืน” เพื่อสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิดการพึ่งพาตนเอง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่ง “การส่งเสริมเครือข่ายอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี” เป็น อีกกิจกรรมหนึ่งของโครงการที่ได้ดำเนินงาน มาอย่างต่อเนื่อง

นางสาวชลิตา ศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของโครง การฯ เปิดเผยว่า พันธุ์ข้าวพื้นบ้านเป็น “มูลมัง” หรือมรดกของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมา ซึ่งในปัจจุบันเริ่มสูญหายไป ชาวนาไม่สามารถที่จะสืบต่อวิธีการรักษาเมล็ดพันธุ์ของชุมชนดั้งเดิมที่มีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการใช้เครื่องนวดข้าวก็ทำให้คุณภาพของข้าวที่ จะเป็นต้นพันธุ์ลดลง ผลผลิตก็ลดลงตามไปด้วย

“ชาวนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการซื้อพันธุ์ข้าว 2-3 ปีต่อหนึ่งครั้ง ทำให้ไม่สามารถ พึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของปัจจัยการผลิต ซึ่งแต่เดิมชาวนาจะมีข้าวกินแต่ละครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยวิถีของการบริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นการปลูกและกินข้าวพันธุ์เดียวต่อเนื่องยาวนานได้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพ มีชาวนาป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งก็มาจากการกินข้าวเพียงพันธุ์เดียว ประกอบกับพืชอาหารท้องถิ่นเริ่มลดจำนวนลง การซื้อหาจากข้างนอกก็ไม่ปลอดภัยเพราะเต็มไปด้วยสารเคมี และยังเป็นการเพิ่มค่าครองชีพ แต่ถ้าชาวนา สามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์เอง คัดเลือกเอง ปลูกและกินข้าวของตัวเอง ก็จะทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ในวิถีการผลิต ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้”นางสาวชลิตาระบุ

นายไพบูลย์ ภาระวงศ์ หรือ “พ่อบูลย์” อายุ 54 ปี เกษตรกรจากบ้านหนองพรานคาน ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ ที่ปรับ เปลี่ยนแนวคิดการทำนาไปเป็นแบบพึ่งพาธรรมชาติด้วยการทำเกษตรอินทรีย์เล่าว่าปัจจุบันปลูกข้าวพื้นบ้านของจังหวัดอุบล ราชธานีและที่อื่น ๆ รวม 10 สายพันธุ์ ได้แก่ มะลิแดง, มะลิดำ, หอมเสงี่ยม, สันป่าตอง, หอมพม่า, ข้าวเหนียวแดง, แสนสบาย, ยืนกาฬสินธุ์, ข้าวเหนียวอุบล และนาง นวล ซึ่งข้าวพื้นบ้านจะให้ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์ กข. ไม่ต้องใช้ปุ๋ยและยา เพราะทนทาน ต่อโรค และขยายพันธุ์ข้าวไว้ปลูกเองโดยไม่ต้องซื้อ โดยมีค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไร่เพียง 200 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าวัตถุดิบต่าง ๆ ในการทำปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ

นายสี ทอนไสระ หรือ “พ่อสี” อายุ 58 ปี แกนนำเกษตรกรจากบ้านหนอง พรานคาน กล่าวว่า ทุกวันนี้หันกลับมาทำการเกษตรย้อนยุคเหมือนอย่างที่ปู่ย่าตายายได้ทำมาในอดีต ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลง ผลผลิตก็มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในที่นา 6 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านถึง 20 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่าข้าวพันธุ์พื้นบ้านหลาย ๆ สายพันธุ์มีเมล็ดข้าวขนาดใหญ่กว่า น้ำหนัก ก็มากกว่าเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งจะปลูกข้าวไว้เพื่อกินเอง และที่เหลือจะใช้เพื่อคัดเลือก และขยายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน

“ข้าวนาปีก็จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ต่าง ๆ เก็บเอาไว้กินเอง ส่วนนาปรังก็จะปลูกข้าวพันธุ์อายุสั้นเพื่อขาย ซึ่งข้าวที่ได้จะนำมารวมกันก่อนนำไปสีหรือเพื่อให้เกิดการคละสายพันธุ์ข้าวและคงคุณค่าทางอาหารของข้าวไว้ให้ได้มากสุด ทำให้สุขภาพ ของเราเองก็ดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง ทุกวันนี้เรากินข้าวที่มีแต่แป้ง แต่ไม่ได้กินวิตามินหรือสารอาหารอื่น ที่มีประโยชน์ของข้าวพันธุ์พื้นบ้านอย่างหอม มะลิแดง ข้าวหอมสามกอ ข้าวมันเป็ด หรือข้าวเหนียวอุบล มีน้ำตาลต่ำวิตามินสูงช่วยป้องกันโรคเบาหวานและรักษาโรคความดันได้” พ่อสีเล่าถึงข้อดีของข้าวพันธุ์ พื้นบ้านที่ปลูก

“จากการทดลองพบว่า ข้าวหอมเสงี่ยม และข้าวอีดำด่าง เป็นข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนี้มากที่สุด สามารถปลูกแบบธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย ได้ข้าวมากและมีน้ำหนักดี ที่สำคัญยังทนต่อโรคและภัยธรรมชาติ ทุกวันนี้ข้าวพื้นบ้านที่ปลูกมีคนมาสั่งซื้อชนิดที่เรียกว่ามีเท่าไหร่เอาหมด” พ่อสีกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ.
-----------------------------------


๓.ญวนสอนเชิงขยี้ตลาดข้าวไทย
ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 21 ธันวาคม 2552 เวลา 0:00 น
ประเทศไทยในฐานะที่ครองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวสูงสุดมาโดยตลอด กลับกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การประมูลให้กับ “เวียดนาม” อย่างราบคาบ โดยมีปากีสถานเป็นตัวสอดแทรกเพียงประปราย ทำให้ หลายฝ่ายตั้งคำถาม? ว่า เกิดอะไรขึ้นกับข้าวของไทย และอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคตข้าวไทย จะยืนหยัดบนแท่นอันดับหนึ่งได้ต่อไปอีกนานแค่ไหน

“รัฐบาลฟิลิปปินส์” ได้ประกาศเปิดประมูลซื้อข้าวครั้งใหญ่ เพื่อต้องการนำเข้าไปใช้บริโภคภายในประเทศและกันไว้เป็นสต๊อกสำรองกรณีฉุกเฉิน โดยเปิดประมูลทั้งสิ้น 4 รอบ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ที่ประเดิมให้ประมูลก่อน 2.5 แสนตัน ตามมาด้วยในวันที่ 1 ธ.ค. อีก 4.5 แสนตัน และอีก 2 ครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. และ 15 ธ.ค. ครั้งละ 6 แสนตัน รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ความต้องการนำเข้าข้าวมีมากเกือบ 2 ล้านตัน

ปรากฏว่าผลการประมูลเบื้องต้น รอบแรก ในเดือน พ.ย. ประเทศเวียดนามกวาดชัยชนะทั้งหมดไปได้ถึง 2.5 แสนตัน ส่วนรอบสองที่ประกาศอย่างเป็นทางการ เวียดนามก็กวาดชัยชนะไปอีกโดยได้ออร์ เดอร์ข้าวมากถึง 3 แสนตัน ปล่อยให้ไทยได้ไปเพียง 1 แสนตัน ปากีสถาน 50,000 ตัน และที่เหลือเป็นโบรกเกอร์ข้าวรายอื่น

ขณะนั้นผู้ส่งออกข้าวได้ประเมินว่า ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะฟิลิปปินส์ยังเปิดนำเข้าข้าวอีกเยอะ อีกทั้งประเมินว่าเวียดนามน่าจะเหลือข้าวส่งออกน้อยแล้ว แต่คล้อยหลังจากนั้น ในการประมูล 2 ครั้งล่าสุดกลับปรากฏว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยกลับเลวร้ายลงไปอีก เพราะแพ้ประมูลเวียดนามแบบหลุดลุ่ยกว่า 2 ครั้งแรก เบื้องต้นผลประมูลอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าข้าวจำนวน 1.2 ล้านตัน ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการ “เวียดนาม” จะกวาดไปได้อีก 9 แสนตัน ปล่อยให้ไทยได้ข้าวเพียง 1 แสนกว่าตัน และที่น่าตกใจที่สุด คือในรอบสุดท้ายเวียดนามก็เป็นผู้ชนะทั้ง 6 แสนตันโดยไม่แบ่งให้ชาติใดเลย

ขณะที่บรรดาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่าการประมูลข้าวครั้งนี้ไทยได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับเวียดนามโดยได้เพียง 2 แสนกว่าตัน โดยเชื่อว่าเวียดนามจะได้มากกว่าล้านตันแน่นอน แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีว่า เมื่อตัวเลขยังไม่เป็นทางการก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาส่งมอบข้าวจริงในปีหน้า ไทยน่าจะส่งออกข้าวเพิ่มได้อีก เพราะโบรกเกอร์ข้าวที่ชนะการประมูลน่าจะสั่งซื้อข้าวไทยเข้ามาเพิ่มอีก

สาเหตุการแพ้ประมูลข้าวครั้งนี้ ประเด็นสำคัญมาจากราคาข้าวของเวียดนามที่เสนอขาย มีราคาต่ำกว่าข้าวจากไทยมาก โดยเวียดนามเสนอในราคาต่ำสุดเพียงตันละ 664.90 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ส่งออกจากไทย ปากีสถาน และโบรกเกอร์ข้าวเสนอราคาสูงกว่าตันละ 700 ดอลลาร์สหรัฐทำให้ไทยตกรอบไปโดยปริยาย

แต่เมื่อค้นสาเหตุลึก ๆ แล้วพบว่าเหตุผลที่ข้าวเวียดนามถูกกว่าข้าวไทยมาก เป็นเพราะต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่ถูกกว่า หลังจากรัฐบาลเวียดนามมีการทุ่มงบประมาณปีละหลายพันล้านบาท เพื่อพัฒนาการเพาะปลูกให้ทันสมัยให้ได้ผลผลิตดี ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ของเวียดนามสูงมากกว่าไทยเกือบเท่าตัว

ข้อมูลจากหน่วยงานวิชาการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าผลผลิตข้าวต่อพื้นที่เพาะปลูกของไทย ยังเป็นรองมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย หรือกระทั่งลาวอยู่ และอยู่ระดับใกล้เคียงกับพม่า กัมพูชา ที่ปลูกได้เฉลี่ย 2.6-2.7 ตันต่อเฮคเตอร์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านปลูกได้มากกว่า 3.5-5 ตัน โดยเฉพาะเวียดนามที่ผลผลิตเกือบ 5 ตันต่อเฮคเตอร์

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของการที่ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองอีก 20% เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามถูกลงกว่าเดิมอีก และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามยิ่งทิ้งห่างจากไทยมากขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นฝ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในเวทีประมูลข้าวฟิลิปปินส์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาไทย ไม่ได้เป็นเจ้าตลาดข้าวในฟิลิปปินส์อยู่แล้ว เพราะ ฟิลิปปินส์เน้นนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะข้าว 25% ซึ่งไม่ใช่เป็นข้าวที่ไทยเน้นผลิต เพราะไทยมีการสีแปรข้าวที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก อย่างไรก็ตามมีความเป็นห่วงว่าไทยมีโอกาสสูญเสียการเป็นผู้นำตลาดข้าวในอนาคตอีก 5 ปีได้ โดยขณะนี้ไทยได้เสียแชมป์ในกลุ่มข้าวขาวให้เวียดนามไปแล้ว โดยไทยส่งออกได้ปีละไม่เกิน 2 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ปีละมากกว่า 4.9 ล้านตัน

ขณะที่ประเด็นสำคัญก็คือเวียดนามยังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง และพยายามเริ่มพัฒนาการปลูกข้าวหอมมะลิด้วย อีกหน่อยเกรงว่าหากสามารถเต็มกระบวนผลิต ภาพรวมการส่งออกข้าว ไทยทั้งระบบคงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวอย่างเต็มที่ โดยมีการตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโดยตรงซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีกไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนตัน รวมถึงพัฒนากระบวนสีแปรข้าว และการจัดเก็บข้าวในโกดังให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้เวียดนามมีโอกาสผลิตข้าวคุณภาพสูงแข่งกับไทยได้อีก

ด้าน “ชุติมา บุณยประภัศร” อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะรัฐบาลกำลังสร้างคลังเก็บข้าวตามลุ่มน้ำโขง และมีการพัฒนาตลาดกลางข้าวร่วมกับกัมพูชา ซึ่งจะทำให้ระบบการค้าข้าวจากเวียดนามครบวงจรมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการทำนาแบบยุคเก่าที่มีโกดังเก็บข้าวไม่เพียงพอ และต่อไปเวียดนามน่าจะมีบทบาทต่อการแข่งขันในตลาดข้าวโลกเพิ่มอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ข้อมูลด้านผลผลิตข้าวสาร ณ ปัจจุบัน เวียดนามยังผลิตข้าวขาวได้มากกว่า 700 กก. ต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตของไทยมีเพียง 456 กก.ต่อไร่เท่านั้น นอกจากนี้พื้นที่นาของเวียดนามยังอยู่ในพื้นที่ชลประทานถึง 82% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด ขณะที่ไทยมีเพียง 27% เท่านั้น

เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกข้าวไทย ที่ปีนี้แม้จะเป็นช่วงขาขึ้นแต่ไทยกับส่งออกข้าวได้ 8.5 ล้านตัน ลดลงกว่าปีที่แล้ว 1.5 ล้านตัน สวนทางกับคู่แข่งมียอดส่งออกเติบโตอย่างน่าพอใจ โดยข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 52 ไทยส่งออกข้าวได้ลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ส่งออกอันดับ 2 และ 3 ของโลกอย่างเวียดนามกับปากีสถานกับขยายตัว 27.97% และ 37.29% รุกคืบกินส่วนแบ่งตลาดจากไทยไปมาก

จะเห็นได้ว่าจุดแตกต่างระหว่างข้าวไทย กับเวียดนามที่ชัดเจน อยู่ที่ประเทศไทยเน้นการดูแลชาวนาที่ปลายเหตุ คือการออกมาตรการแทรกแซงราคา รับจำนำ เพื่อใช้เป็นนโยบายหาเสียง หวังผลทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเน้นการดูแลพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมข้าวมีการเติบโตแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโอกาสที่ประเทศจะเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้เวียดนาม ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลเกินจริง

หากวันนี้รัฐบาลยังมัวแต่ทะเลาะ มุ่งรักษาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือพวกพ้องเพียงอย่างเดียว โอกาสที่ข้าวไทยจะเพลี่ยงพล้ำก็มีสูง จึงถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องโชว์กึ๋นแสดงความสามารถ ออกมารักษาตลาดข้าวไว้ ก่อนที่บรรพบุรุษข้าวไทยจะเสียน้ำตา ไม่ใช่มัวแต่เล่นการเมืองเพื่อโชว์ปาหี่ไปวัน ๆ
-----------------------------------


๒."ดร.สุเมธ" วอนอย่าทิ้งนา รัฐบาลมั่นใจแก้วิกฤตข้าวไทยได้แน่
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 ธันวาคม 2552 11:33 น.
"ดร.สุเมธ" ชี้ไทยอยากเป็นเสือ แต่ลืมตัวว่าเป็นควาย วอนคนไทยอย่าทิ้งนา เผยนับวันข้าวจะยิ่งเป็นสิ่งมีค่า ขาดแคลนน้ำมันเราไม่ตาย แต่ถ้าไม่มีอาหาร เราอยู่ไม่ได้แน่ ด้านรองนายกฯ "กอปร์ศักดิ์" มั่นใจนโยบายรับประกันรายได้เกษตรกร แก้ปัญหาวิกฤตข้าวและชาวนาไทยได้แน่

"ประเทศไหนกุมอาหาร ประเทศนั้นกุมอำนาจโลก" คำกล่าวของนักวิชาการต่างชาติที่กล่าวไว้ เมื่อมาเยือนประเทศไทยไม่นานมานี้ ที่เพิ่งค้นพบสัจธรรมข้อสำคัญว่าอาหารคือของจริง หลังเกิดวิฤตอาหารและพลังงานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกมากล่าวอ้างในระหว่างบรรยายพิเศษเรื่อง "ความมั่นคงของอาชีพชาวนาไทย" ในการประชุมวิชาการข้าวไทย 2552 เรื่อง "วิกฤตข้าวไทย : ใครจะแก้" ที่มูลนิธิข้าวไทยฯ และหน่วยงานพันธมิตรร่วมกันจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ดร.สุเมธ กล่าวว่าในอนาคตข้าวจะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เพราะจากปัญหาวิกฤตพลังงาน และพืชอาหารบางส่วนสามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ ทำให้มีการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกอาหารส่วนหนึ่งไปปลูกพืชพลังงาน เมื่อพื้นที่เพาะปลูกอาหารลดน้อยลง พืชอาหารก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น และนับวันพลเมืองโลกจะยิ่งมากขึ้นๆ

ทุกคนต้องกินอาหาร ถ้าไม่มีน้ำมัน เราก็ไม่ตาย แต่หากไม่มีน้ำและอาหาร มนุษย์เราจะต้องตายอย่างแน่นอน ฉะนั้นคนไทยอย่าได้ห่วง และอย่าทิ้งนาเด็ดขาด เพราะแม้แต่เศรษฐีน้ำมันยังต้องมาซื้อข้าวเรากิน

ที่สำคัญข้าวไทยมีคุณภาพดีที่สุดในโลก ต่างชาติจึงพยายามเข้ามาครอบครองพื้นที่ทำการเกษตรในประเทศไทย และหาวิธีแข่งขันโดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีลักษณะใกล้เคียงกับข้าวไทยมากที่สุด เช่น ข้าวแจ๊ซแมน (Jazzman) ของสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ แต่คุณภาพยังสู้ข้าวหอมมะลิของไทยไม่ได้ ยังห่างไกลอยู่มาก

แต่ไทยก็ไม่ควรนิ่งเฉย จะขายข้าวเหมือนอย่างเดิมเพียงอย่างเดียวต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะวิถีชีวิตมนุษย์เปลี่ยนไปจากเดิม ควรพัฒนาข้าวของไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ใช้นวัตกรรมเพิ่มคุณค่าและมูลค่าข้าวไทยให้แข่งขันกับต่างชาติได้

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยทุ่มเทมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่ทรงครองราชย์ ในการที่ทรงพยายามอนุรักษ์ ดูแลเอาใจใส่ทรัพยากรพื้นฐานให้พร้อมสำหรับการเกษตรในประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำที่เป็นของคู่กันกับข้าว ประเทศไทยมีน้ำมากมาย แต่ยังบริหารจัดการไม่ดีพอ จึงมีปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่เสมอ"

"ส่วนพันธุ์ข้าวของไทยก็มีมากมาย แม้จะพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ได้เยอะแยะ แต่ต้องไม่ลืมพันธุ์เก่าที่มีอยู่แต่เดิม ทั้งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและพันธุ์ข้าวป่า ซึ่งยังไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะเหตุนี้จึงทำให้เราสูญเสียสมบัติของชาติไปแล้วมากมาย เพราะมัวแต่ไปสนใจตลาดพิเศษหรือนิชมาร์เก็ต (Niche Market)" ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.สุเมธ กล่าวต่ออีกว่า คนไทยชอบเอาอย่างคนอื่น ผู้นำประเทศไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม ชอบอยากเป็นเหมือนคนอื่น เห็นเขาเป็นนิช ก็อยากเป็นนิชบ้าง หรือที่เคยบอกว่าอจะเป็นเสือตัวที่ 5 เมื่อ 25 ปีก่อนนั้น

"ถ้าจิตสำนึกอันแท้จริงของเราในวันนั้นยึดถือด้วยสติปัญญาและเหลียวมองดูตัวเอง เราจะพบว่า ธรรมชาติของเราไม่ใช่เสือ แท้ที่จริงเราเป็นควาย ถ้าเราดำรงความเป็นควายตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงตอนนี้เราคงรวยไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เพราะเราหลงลืมตัวเองว่าเป็นควาย เราเลยนอนตายแหงแก๋เมื่อ 12 ปีที่แล้ว" ประธานมูลนิธิข้าวไทยฯ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในระหว่างการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายรัฐในการพัฒนาชาวนาและข้าวไทย" ในงานเดียวกันว่า การกำหนดนโยบายเรื่องที่เกี่ยวกับข้าว ชาวนา และเกษตรกร รัฐบาลได้มองถึงความอยู่รอด เศรษฐกิจ และรายได้ของเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งในปีที่ผ่านมาราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ลูกหลานชาวนาในต่างถิ่นหลายคนรีบกลับบ้านไปทำนา ซึ่งที่จริงแล้วก่อนหน้านั้นเขาไม่ได้อยากทิ้งนาไป แต่เป็นเพราะเขายังมองไม่เห็นอนาคตของชาวนา

"นโยบายของรัฐบาล คือสร้างอนาคตให้ชาวนาไทย โดยการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร" นายกอร์ปศักดิ์ เผยและเชื่อมั่นว่านโยบายนี้จะเป็นหลักประกันอาชีพเกษตรกรไม่ให้ขาดทุนได้ ทั้งยังมั่นใจว่าจะเป็นนโยบายที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารประเทศหลังจากนี้จะต้องดำเนินการสานต่อไป และเมื่อสร้างความมั่นคงให้กับชาวนาได้แล้ว มหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัยต่างๆ ก็จะมีงานหนักมากขึ้นในการให้บริการแก่ประชาชน ชาวนาก็อยากให้ลูกหลานประกอพอาชีพทำนากันมากขึ้น

ในขณะที่โครงการรับจำนำราคาแพงที่มีการดำเนินการกันมาเมื่อ 3-4 ปีก่อน ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ค้าซะเอง เพราะรัฐเป็นผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมาในราคาแพง แต่ไม่ได้รับซื้อจากเกษตรกรทุกราย ทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์แค่เพียงบางกลุ่ม เพราะรัฐจะนำผลผลิตเหล่านั้นออกมาขายในราคาถูกกว่า ทำให้พ่อค้าคนกลางซื้อผลผลิตจากรัฐ แทนที่จะซื้อจากเกษตรกร เมื่อเกษตรกรขายของไม่ได้ ผลผลิตก็ราคาตก

อย่างไรก็ตาม โครงการประกันรายได้นั้นสนับสนุนเฉพาะพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าวเท่านั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวพันธุ์เหล่านั้นซึ่งขายได้ราคาดีกว่า

นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวต่อว่า การจะพัฒนาข้าวไทยให้มีคุณภาพดี ขายได้ราคาแพง ต้องรู้จักการตลาดด้วยว่าตลาดมีความต้องการหรือไม่ ให้การผลิตและการตลาดสอดคล้องกัน ไปด้วยกันได้ โดยศึกษาจากคู่แข่งว่าผลิตอะไร การตลาดเป็นแบบไหน หากเราต้องการส่วนแบ่งทางการตลาด จะต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งก็จะย้อนกลับมาสู่การกำหนดนโยบายของรัฐบาล โดยเสนอแนะให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการข้าว มหาวิทยาลัย กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานต่างๆ เชื่อว่าการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของข้าวไทย จะประสบความสำเร็จได้

-----------------------------------


๑. ไขปริศนาข้าวไทยราคาตก "กอร์ปศักดิ์" เร่งสางขยะใต้พรม
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2552 12:26 น.

รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกสินค้าเกษตร "กอร์ปศักดิ์" ลั่นเกษตรกรต้องขายพืชผลได้ราคาดี ยันชัด รัฐบาลจะไม่ขายสินค้าในสต๊อกตัดราคาเกษตรกรเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ต้นเหตุสำคัญให้พ่อค้าไม่ยอมรับซื้อจากเกษตรกร
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายรัฐในการพัฒนาชาวนาและข้าวไทย” โดยกล่าวถึงการค้าข้าวในตลาดโลกปัจจุบัน พบว่ามียอดรวมประมาณ 30 ล้านตันต่อปี โดยไทยส่งออกข้าวปีละ 8-10 ล้านตัน เท่ากับการบริโภคในประเทศ ไทยจึงครองส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลสร้างความมั่นคงในรายได้ให้กับเกษตรกรในโครงการประกันรายได้แล้ว รัฐบาลมียุทธศาสตร์ต่อเนื่องคือ จะให้เกษตรกรขายผลผลิตทางการเกษตรได้ โดยรัฐบาลจะไม่ขายราคาถูกกว่าเกษตรกรเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา เพราะจะทำให้เอกชนไม่ซื้อจากเกษตรกร
"ล่าสุด รัฐบาลจีนได้เจรจาขอซื้อข้าวโพดจำนวนมากแบบรัฐต่อรัฐในราคาต่ำกว่าเกษตรกร แต่รัฐบาลไม่อนุมัติการขายให้จีน โดยจะขายในราคาที่เกษตรกรขายแบบไม่ต้องประมูล เพราะหากขายต่ำกว่าจะไม่มีการซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร"
นอกจากนี้ การที่รัฐไม่ขายต่ำกว่าเกษตรกร ทำให้มีการแย่งซื้อผลิตผล และเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าของไทยไม่ให้เหมือนกับคู่แข่งในตลาดโลก รัฐบาลจะสนับสนุนให้ปลูกพันธุ์ข้าวเฉพาะที่เห็นว่าเหมาะสมและแข่งขันได้เท่านั้น เห็นได้จากรัฐบาลช่วยเหลือประกันรายได้ข้าวไวแสง ซึ่งจะประกันรายได้เฉพาะปีนี้ แต่จะไม่สนับสนุนให้ปลูกอีกต่อไป เนื่องจากไม่ได้ราคา
ส่วนปัญหาภัยธรรมชาติและศัตรูพืชนั้น รัฐบาลกำลังเดินหน้าผลักดันโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ระหว่างดำเนินการขยายประกันภัยพืชผลทางการเกษตร จากเดิมแค่ประกันภัยธรรมชาติขยายไปสู่ภัยที่เกิดจากศัตรูพืช
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ทำประกันภัยพืชผลที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ในปัจจุบัน 2 ประเภท คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับข้าว โดยข้าวโพดทำมา 2-3 ปีร่วมกับธนาคารโลกและร่วมมือกับองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ทำประกันภัยพืชผลจากภัยธรรมชาติให้กับข้าวที่จังหวัดขอนแก่น

"คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะได้ผลสรุปในเดือนมีนาคม 2553 และขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยธรรมชาติให้กับผลิตผลทางการเกษตร ส่วนการทำประกันภัยภัยพืชผลจากศัตรูพืชนั้น อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากทางบริษัทประกันมองว่าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้"

นายเอ็นนู กล่าวถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวครอบคลุมผลกระทบจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชบางส่วนอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลจะจ่ายเงินตามผลผลิตต่อไร่ที่ได้รับแจ้งมา ส่วนปัญหาการจ่ายเงินโครงการประกันรายได้ล่าช้า เกิดจากเกษตรกรส่วนน้อยในบางพื้นที่ขอเปลี่ยนแปลงปริมาณผลผลิตใหม่ ทำให้เกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าคงไม่เกิน 2 สัปดาห์

-----------------------------------




Create Date : 21 ธันวาคม 2552
Last Update : 24 ธันวาคม 2552 13:13:19 น. 1 comments
Counter : 2203 Pageviews.

 
ขอให้มีโชคหมดทุกข์โศรกโรคภัย
พ้นเคราะห์ที่เลวร้าย พันภัยด้วยเทอญ


โดย: chabori วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:14:26:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kuk-42
Location :
พิจิตร Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add kuk-42's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.