+++++ น้ำทุกหยาดมีประโยชน์ หากทุกคนใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัด +++++
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
การชลประทาน โดยการจัดรูปที่ดิน

รอยยิ้มเกษตรกรไทย โครงการ จัดรูปที่ดินเมืองกาญจน์

โดย ศิวพร อ่องศรี


เพราะ "น้ำ" มีความสำคัญในการเกษตรกรรมและการเพาะปลูก ขณะที่ประเทศไทยเองอาชีพหลักของพลเมืองถึง 80% เป็นเกษตรกร

ดังนั้น น้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

รัฐบาลเองได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนาการเกษตรในระดับไร่นาให้ได้รับความสะดวกเกี่ยวกับเรื่องน้ำ และการลำเลียงขนส่ง รวมทั้งบริการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำเกษตรแผนใหม่ เป็นการเร่งรัดการเพิ่มผลผลิต และเพื่อให้การเกษตรกรรมของไทยได้ผลอย่างสมบูรณ์

โดยเฉพาะในเขตโครงการชลประทานที่ได้ลงทุนก่อสร้างระบบชลประทานสายใหญ่ไปแล้ว

ก่อนหน้าที่จะเกิดโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รัฐบาลไทยให้ กรมชลประทาน ติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษา สำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ "การจัดรูปที่ดินในประเทศไทย" ตั้งแต่ปี 2509 กระทั่งปี 2512 จึงเกิดงานจัดรูปที่ดินเป็นครั้งแรกของเมืองไทย โดยก่อสร้างแปลงตัวอย่างที่ ตำบลพักทัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี อยู่ในเขตโครงการชลประทานชันสูตร เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ต่อมาได้ขยายออกไปอีกเป็น 11,600 ไร่ ต่อเนื่องจากพื้นที่แปลงตัวอย่าง

จากการติดตามผลของโครงการตัวอย่างดังกล่าว พบว่าได้ผลดีมีความเหมาะสมที่จะขยายงานจัดรูปที่ดินให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้น ในปี 2517 จึงเริ่มการจัดรูปที่ดินเป็นโครงการใหญ่ในเขต โครงการเจ้าพระยาตอนบน ท้องที่ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี และ อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นโครงการแรกรวมเนื้อที่ 100,000 ไร่ ขณะเดียวกัน ได้ขยายไปภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เมื่องานด้านนี้กว้างขวางขึ้นรัฐบาลจึงประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2517

ปัจจุบัน โครงการจัดรูปที่ดินได้ดำเนินการไปแล้วในท้องที่ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 27 จังหวัด เป็นพื้นที่จัดรูปที่ดินทั้งหมด 1.8 ล้านไร่

"โครงการจัดรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี" เป็นอีกโครงการหนึ่งในโครงการจัดรูปที่ดินแม่กลอง เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกในระดับไร่นาควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบชลประทานสายใหญ่ ฝั่งซ้ายและขวา โครงการแม่กลองใหญ่ระยะที่ 2 ที่ครอบคลุมพื้นที่ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี

โดยที่กาญจนบุรี เริ่มงานจัดรูปที่ดินตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันรวมพื้นที่ที่จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 111,955 ไร่ ใช้งบประมาณดำเนินการราว 355 ล้านบาท

จรัญ ภูขาว ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน บรรยายให้ฟังระหว่างการเดินทางลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อไปดูงานการจัดรูปที่ดินที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ว่าเหตุที่ต้องจัดรูปที่ดิน เพราะ "น้ำต้นทุน" ในปัจจุบันมีน้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งระยะเวลาในการรับน้ำ ไม่สัมพันธ์และทันต่อความต้องการของพืชที่ปลูก จึงทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ชาวบ้านเองมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น จำเป็นต้องมีถนนเข้าสู่แปลงที่ดินและปรับรูปแปลงที่ดินให้เหมาะสม มีคูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ถนน หรือทางลำเลียงเป็นแนวทางตรงผ่านทุกแปลง รวมถึงอาจมีการปรับระดับดินให้เกษตรกรใหม่ตามที่จำเป็น

"สิ่งที่ชาวบ้านต้องทำ คือการเสียสละที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างถนน คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ไม่เกิน 7% ของที่ดินเดิมก่อนจัดรูปที่ดิน ต้องช่วยออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนน คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ ไม่เกิน 20% ของราคาค่าก่อสร้าง และร่วมเป็นภาระในการซ่อมแซม บำรุงรักษาคูส่งน้ำ ถนน ที่สร้างขึ้น ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์ในการใช้ที่ดินมากขึ้น สามารถปลูกพืชในฤดูแล้ง และยังทำให้ดินมีคุณค่าและประโยชน์มากขึ้นเพราะมีระบบชลประทานที่สมบูรณ์ การคมนาคมในไร่นาที่สะดวกขึ้นกว่าเดิม"

สำหรับการจัดรูปที่ดิน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2522 ณภัทร นิยมธรรม หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดิน จ.กาญจนบุรี อธิบายว่าในพื้นที่กาญจนบุรี เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าว อ้อย พืชสวน ข้าวโพดฝักอ่อน เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการจัดรูปที่ดิน พบว่าแต่ก่อนเกษตรกรทำนาปีได้ประมาณ 40-50 กิโลกรัมต่อไร่ และไม่สามารถทำนาปรังได้ แต่พอจัดรูปที่ดินแล้ว เกษตรกรสามารถทำนาปีได้ผลผลิตถึง 80-90 กิโลกรัมต่อไร่ และยังสามารถทำนาปรังได้ 80-100 กิโลกรัมต่อไร่ด้วย

"จะเห็นว่าเมื่อมีการจัดรูปที่ดินแล้วแปลงนาจะได้รับน้ำโดยตรง สามารถระบายน้ำได้ตามความต้องการ โดยไม่ต้องผ่านแปลงนาของผู้อื่น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและยังลดต้นทุนการขนส่ง เพราะพ่อค้าสามารถเข้ามารับซื้อผลผลิตได้โดยตรง"

จากนั้นเพื่อให้เห็นถึงสภาพที่เป็นจริง ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้นำชมพื้นที่ต้นแบบของการจัดรูปที่ดิน ที่ "วัดถ้ำเสือ" ต.ม่วงชุมชน อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ที่ในอดีตขาดแคลนน้ำ และทำนาได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวนาสามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

ช่อ ชวลิตบำรุง ผู้ใหญ่บ้านดอนเขว้า หมู่ 6 ต.แสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี บอกเล่าว่าเมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้อาศัยน้ำฝนทำนาทั้งปี แต่พอจัดรูปที่ดินแล้วทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ ผลผลิตต่อไร่ก็เพิ่มขึ้นมาก ถ้าไม่มีโครงการจัดรูปที่ดินชาวบ้านคงแย่ เพราะต้องคอยน้ำฝนและธรรมชาติ แต่ตอนนี้ผลผลิตดี ทำให้ชาวบ้านเรารายได้ดีตามไปด้วย ทำให้มีเงินเหลือเก็บ

"การจัดรูปที่ดินเป็นเรื่องดี เพราะสามารถทำให้ส่งน้ำเข้านาในทุกแปลง" เสียงของ สำเนา ยังสุข ลูกบ้านกล่าวเสริม

จากบ้านดอนเขว้า เดินทางต่อไปยัง บ้านหนองพลับ ซึ่งมีการจัดรูปที่ดินมานานแล้วเช่นกัน "ปรีชา สมรูป" หนึ่งในชาวนาที่ได้รับการจัดรูปที่ดิน บอกเล่าอย่างอารมณ์ดี ว่าแต่ก่อนทำนาได้ปีละครั้งเพราะน้ำไม่พอ ทำให้ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงตัดสินใจเข้าไปทำงานในเมืองหลายปี จนปี 2546 ตัดสินใจกลับมาทำนาเหมือนเดิม

"เมื่อมีการจัดรูปที่ดินทำให้ทุกวันนี้ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ตลอดทั้งปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ หักค่าเช่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วยังมีเงินเหลือเก็บไว้อีก ทำให้ทุกวันนี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการจัดรูปที่ดินในพื้นที่นา ที่กันดาร แห้งแล้งซึ่งยังมีอีกในหลายพื้นที่ ชีวิตชาวนาจะได้ดีขึ้นกว่าเดิม" ปรีชากล่าวพร้อมส่งยิ้มสดใสให้คณะที่ไปเยี่ยมชม

ที่มา วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11559 มติชนรายวัน

ต้องขออนุญาต copy 100% จากต้นฉบับครับ
เพราะตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลไว้ไปแก้ไขปัญหาในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ประมาณ 200-300 ไร่ (ติดค้างเกษตรกรไว้เนื่องจากกฏระเบียบมากเหลือเกิน)



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2552 13:22:09 น. 0 comments
Counter : 633 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kuk-42
Location :
พิจิตร Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add kuk-42's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.