Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
14 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
RTAF F-16MLU ตอนที่ 5: กระเปาะชี้เป้า ปัจจัยหลักสู่ความแม่นยำในการโจมตีของ MLU (ภาค 2)

ใน F-16MLU จะมีการติดตั้งระบบเชื่อมต่อเพื่อรองรับการติดตั้งกระเปาะชี้เป้ารุ่นใหม่ล่าสุด เช่น กระเปาะ AAQ-33 Sniper XR หรือกระเปาะ AAQ-28 Litening AT รวมทั้งกระเปาะ AAQ-14 LANTIRN รุ่นปรับปรุงใหม่ ซึ่งใช้ชิ้นส่วนบางชิ้นจากกระเปาะ Sniper XR และมีใช้งานอยู่ใน F-16AM/BM (F-16A/B MLU) ของ ทอ.เดนมาร์คและเนเธอแลนด์ แต่ถ้าเทียบกันแล้วตัวเลือกที่น่าจะแข่งขันกันสูงคงจะเป็น 2 ตัวแรกมากกว่า ดังนั้นข้อมูลต่อไปนี้จะเน้นไปที่การเปรียบเทียบระหว่างกระเปาะ Sniper XR และ Litening AT เป็นหลัก


กระเปาะ Sniper XR (Sniper Extended Range)




กระเปาะ Sniper XR
(Copyright : Lockheed Martin Co.)


ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin และเป็นผู้ชนะในโครงการจัดหากระเปาะชี้เป้าขั้นก้าวหน้าหรือ Advanced Targeting Pod (ATP) ของ ทอ.สหรัฐฯ เพื่อใช้งานทดแทนกระเปาะ LANTIRN บน F-16C/D และ F-15E สำหรับรุ่นส่งออกจะเรียกว่า กระเปาะ PANTERA (Precision Attack Navigation and Targeting with Extended Range Acquisition) ซึ่ง ทอ.นอรเวย์และเบลเยี่ยม ได้จัดหาไปใช้งานกับ F-16AM/BM เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งเป็นข้อเสนอในการปรับปรุง MLU ของ ทอ.ปากีสถานด้วย




กระเปาะ Sniper XR บน F-16AM (F-16A MLU) ของ ทอ.นอรเวย์
(Copyright : Andreas Grindvoll)


อนาคตของกระเปาะ Sniper XR ในตลาดนอก ทอ.สหรัฐฯ คาดว่าน่าจะไปได้ดี เนื่องจากจุดเด่น คือ เป็นระบบมาตรฐานของ ทอ.สหรัฐฯ เอง และน่าจะรวมอยู่ในการจัดหา F-16C/D ที่ผ่านโครงการ FMS ด้วยเสมอๆ อีกทั้งยังใช้ชิ้นส่วนภายในเหมือนกับระบบ EOTS (ElectroOptical Targeting System) บน F-35A/B/C ซึ่งน่าจะมียอดขายสูงและใช้งานไปอีกนาน ตัวกระเปาะ Sniper XR เองยังได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างส่วนหัวเป็นแบบรูปลิ่ม (wedge-shaped) ซึ่งช่วยให้ตรวจจับด้วยเรดาร์ได้ยากขึ้นและมีคุณสมบัติด้านอากาศพลศาสตร์ในย่านความเร็วเหนือเสียงที่ดีกว่าเมื่อติดตั้งใกล้กับช่องรับอากาศเข้า ย. และใช้ช่องมองผ่านที่สร้างจาก sapphire สังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อการขีดข่วนและแรงกระแทก และมีอัตราการส่องผ่านของคลื่นแสงทั้งในช่วงการมองเห็นปกติ (visible) และอินฟราเรดที่ดีเยี่ยม นอกจากนั้นยังมีขนาดและน้ำหนักเบากว่ากระเปาะ Litening AT ด้วย






กระเปาะ Sniper XR ในโรงซ่อมบำรุง (บน)
และเมื่อติดตั้งกับไพลอนใต้ช่องรับอากาศเข้า ย. ด้านขวาของ F-16 (ล่าง)
(Copyright : //www.f-16.net)


แต่ข้อเสียของกระเปาะ Sniper XR คือ มีราคาแพง โดยแพงกว่ากระเปาะ Litening AT อยู่ประมาณ 1.5 ถึง 2 เท่า (ราคาต่อกระเปาะประมาณ 1.5 ถึง 2 ล้านยูเอสดอลลาร์ ในปี 2003) และใช้งานได้กับอากาศยานน้อยแบบกว่า (เฉพาะ บ. ที่ผลิตในสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด)


กระเปาะ Litening AT (Litening Advanced Targeting)




กระเปาะ Litening AT
(Copyright : Northrop Grumman Co.)


ผลิตโดยบริษัท Northrop Grumman โดยมีต้นแบบมาจากกระเปาะ Litening ของอิสราเอลที่ผลิตโดยบริษัท Rafael สำหรับรุ่นที่ผลิตโดย Rafael ที่เทียบเท่ากับ Litening AT เรียกว่า กระเปาะ Litening 3 ซึ่งกระเปาะรุ่น AT นี้เป็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากกระเปาะ Litening, Litening 2 และ Litening ER ที่มีใช้งานมานานมากกว่า 10 ปี

จุดเด่นของกระเปาะ Litening AT แน่นอนว่าเช่นเดียวกับยุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่มีต้นกำเนิดจากอิสราเอล คือ สามารถใช้งานได้กับอากาศยานแบบต่างๆ อย่างหลากหลายไม่ว่าจะผลิตในสหรัฐฯ เช่น F-16C/D, F-15E, A-10C, F/A-18A/B/C/D, AV-8B ในยุโรป เช่น Tornado, Jaguar, EF-2000, Mirage2000, JAS-39 Gripen, AMX หรือในประเทศอื่นๆ เช่น Mig-21, Mig27 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะกระเปาะ Sniper XR






กระเปาะ Litening AT บน F-16
(Copyright : US Air Force; //www.f-16.net)



กระเปาะ Litening AT เมื่อติดตั้งกับไพลอนใต้ช่องรับอากาศเข้า ย. ด้านขวาของ F-16
(Copyright : US Air Force)



อุปกรณ์ต่างๆ ภายในกระเปาะ Litening (ในภาพเป็นกระเปาะ Litening III)
(Copyright : Rafael Co.)


ทั้งนี้ถ้าหากว่าในอนาคต ทอ.ไทย จะใช้ Gripen เป็น บ.รบหลัก ควบคู่ไปกับ F-16 แล้ว การเลือกใช้กระเปาะ Litening AT ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของ Gripen อยู่แล้ว กับ F-16MLU จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทั้งในแง่การซ่อมบำรุง การส่งกำลังบำรุง และการฝึกศึกษา รวมทั้งตัวกระเปาะ Litening เอง ยังมีรุ่นที่ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นกระเปาะลาดตระเวนทางอากาศยุทธวิธี (กระเปาะ RecceLite) และกระเปาะชี้เป้าด้วยเรดาร์ SAR/GMTI (กระเปาะ RTP) ให้เลือกใช้งานเพิ่มเติมอีกด้วย โดยเปลี่ยนแปลงเฉพาะส่วนของระบบตรวจจับและชี้เป้าเท่านั้น



ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ข้อแตกต่างที่สำคัญๆ ในกระเปาะชี้เป้า AAQ-33 Sniper XR และ AAQ-28 Litening AT แต่ถ้าหากพิจารณาอุปกรณ์ต่างๆ ภายในกระเปาะทั้ง 2 แบบแล้ว จะพบว่ามีคุณลักษณะและขีดความสามารถไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่ก็เหนือกว่ากระเปาะ ATLIS II ที่ ทอ. มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันมากมาย โดยเฉพาะระยะตรวจจับและชี้เป้าที่สามารถใช้งานได้จากระดับเพดานบินปานกลางขึ้นไปจนถึงเพดานบินสูงที่ระดับ 40,000 หรือ 50,000 ฟุต ซึ่งเป็นไปตามหลักนิยมสำหรับภารกิจอากาศ-สู่-พื้น ในปัจจุบันที่เน้นการโจมตีจากเพดานบินสูง และระยะไกลกว่าระบบป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายตรงข้าม (stand-off range) มากกว่าการโจมตีจากเพดานบินต่ำอันเป็นหลักนิยมช่วงสงครามเย็น ที่พิสูจน์ให้เห็นจากสนามรบจริงในสงคราวอ่าวฯ แล้วว่า มีอัตราการสูญเสียจากอาวุธป้องกันภัยทางอากาศระดับต่ำ เช่น อาวุธนำวิถีพื้น-สู่-อากาศนำวิถีด้วยอินฟราเรด และปืนต่อสู้อากาศยาน สูงมากกว่าที่คาดคิดเอาไว้

สำหรับอุปกรณ์และฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ภายในกระเปาะชี้เป้าทั้ง 2 แบบ ประกอบด้วย

1. ระบบตรวจจับแบบอินฟราเรด FLIR (Forward-Looking Infrared)

เป็นระบบในยุคที่ 3 ที่มี staring focal plane array ขนาดใหญ่ ทำให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงถึง 640 x 512 pixels มีมุมจำกัดการมองเห็น 2 ระดับ คือ แบบกว้าง ขนาด 4x4 องศา (Sniper XR) หรือ 3x3 องศา (Litening AT) และแบบแคบ ขนาด 1x1 องศา (แบบกว้างจะเห็นครอบคลุมพื้นที่มากกว่า แต่แบบแคบจะเห็นรายละเอียดมากกว่า เหมือนกับเลนส์ซูมของกล้องถ่ายรูป) โดยการซูมภาพเป็นแบบต่อเนื่องระหว่างมุมจำกัดการมองเห็นแต่ละระดับ (continuous zoom) สำหรับกระเปาะ Sniper XR จะมีมุมแบบแคบพิเศษ ขนาด 0.5x0.5 องศา โดยใช้เทคนิคการขยายภาพแบบดิจิตอล ทำให้เห็นภาพใกล้ขึ้นแต่ความละเอียดจะลดลง (ในกล้องถ่ายรูปดิจิตอลบางรุ่นจะมีฟังก์ชั่นแบบนี้เหมือนกัน) ส่วนกระเปาะ Litening AT จะมีมุมกว้างพิเศษ ขนาด 18x24 องศา สำหรับใช้ช่วยในการบินระดับต่ำโดยแสดงภาพบนจอ HUD

ระบบ FLIR นี้ทำงานในช่วงความถี่ mid-wave IR หรือมีความยาวคลื่น 3-5 um ซึ่งเป็นช่วงคลื่นอินฟราเรดที่ทะลุทะลวงผ่านควัน ฝุ่น หรือหมอกควันได้ดีกว่าช่วงความถี่ long-wave IR (อย่างเช่นในกระเปาะ Rubis) ภาพที่แสดงบนจอภาพต่างๆ นักบินสามารถมองดูได้ตามปกติแม้จะมองผ่านแว่นมองกลางคืน (NVG) ก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตรวจจับและติดตามเป้าอากาศยานได้อีกด้วย (ทำงานในลักษณะเดียวกับระบบ IRST หรือ Infrared Search and Track)




ภาพหลุมจอดอากาศยานจากระบบ FLIR ของกระเปาะ Sniper XR ที่ติดตั้งกับ F-16
ซึ่งบินอยู่ที่ความสูง 29,000 ฟุต ระยะห่าง 6 nm
(Copyright : Aviation Week and Space Technology Magazine)







ขีดความสามารถของระบบ FLIR ในปัจจุบันนี้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก
อีกทั้งในกระเปาะชี้เป้ายุคใหม่จะมีระบบ point-tracker ซึ่งสามารถติดตามเป้าหมายได้
แม้กระทั่งอากาศยานต่างๆ กระเปาะชี้เป้าจึงทำงานได้ในลักษณะเดียวกับระบบ IRST
เช่น ภาพ Boeing-737 จากกระเปาะ Sniper XR (บนและกลาง) หรือ
ภาพ F/A-18 จากกระเปาะ ATFLIR ที่มีระบบ FLIR ใน generation เดียวกัน (ล่าง)
(Copyright : https://www.youtube.com; Raytheon Co.)


2. กล้องทีวีแบบ CCD-TV (Charged-Couple Device TV)

ใช้สำหรับตรวจจับในเวลากลางวัน ในสภาพที่มีแสงน้อย หรือในสภาพที่ไม่เหมาะต่อการใช้ระบบ FLIR เป็นอุปกรณ์ที่มีความละเอียดสูงในระดับ 659x494 pixels (Sniper XR) หรือ 1000x1000 pixels (Litening AT) สำหรับกระเปาะ Sniper XR ระบบมีมุมจำกัดการมองเห็น 2 ระดับเหมือนในระบบ FLIR โดยการซูมภาพเป็นแบบต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนกระเปาะ Litening AT จะมีกล้อง CCD-TV 2 ชุด ชุดแรกมีมุมจำกัดการมองเห็นกว้าง ขนาด 3.5x3.5 องศา ส่วนอีกชุดหนึ่งมีมุมแคบ 2 ระดับ คือ 1x1 และ 0.25x0.25 องศา




ภาพจากกล้อง CCD-TV ของกระเปาะ Litening III
(Copyright : QinetiQ Co.)


3. ระบบเลเซอร์

สามารถแบ่งการทำงานได้เป็น 4 รูปแบบ คือ

เลเซอร์ชี้เป้า (laser designator) ทำงานได้จนถึงเพดานบินสูงสุดมากกว่า 40,000 ฟุต ใช้โค้ดมาตรฐานนาโต้ในการชี้เป้าให้กับอาวุธนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบต่างๆ และปลอดภัยต่อตามนุษย์ (eye-safe) กรณีใช้ในการฝึกหรือเมื่อมีทหารฝ่ายเดียวกันอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากๆ เช่น การรบในเขตเมือง

เลเซอร์วัดระยะ (laser rangefinder) ทำงานได้จนถึงเพดานบินสูงสุดมากกว่า 40,000 ฟุต และปลอดภัยต่อตามนุษย์ เช่นเดียวกันกับเลเซอร์ชี้เป้า สามารถบอกระยะระหว่าง บ. กับเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และเป็นส่วนสำคัญในการระบุพิกัดตำแหน่งของเป้าหมายสำหรับการใช้อาวุธต่างๆ

เลเซอร์ระบุตำแหน่งเป้าหมาย (laser marker) เป็นแบบที่สามารถมองเห็นได้ผ่านแว่นมองกลางคืน เพื่อใช้ระบุตำแหน่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายหรือไม่ใช่ ให้ทหารภาคพื้นดินทราบ เมื่อใช้งานกระเปาะชี้เป้าในภารกิจ NTISR สนับสนุนการรบภาคพื้นดิน โดยเฉพาะการรบในเขตเมือง และใช้ยืนยันเป้าหมายที่ทหารฝ่ายเดียวกัน เช่น ผู้ควบคุมอากาศยานหน้า (Forward Air Controller; FAC) เป็นผู้ระบุให้ทำลาย เพื่อเพิ่มความถูกต้องในการใช้อาวุธ

ระบบติดตามจุดที่ได้รับการชี้ด้วยเลเซอร์ (laser spot tracker) ใช้ค้นหาและติดตามจุดที่ถูกฉายด้วยแสงเลเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ที่ฉายจากอุปกรณ์ชี้เป้าของทหารภาคพื้นดินหรือจากกระเปาะชี้เป้าของอากาศยานเครื่องอื่น เพื่อให้นักบินทราบว่าเป้าหมายใดที่ต้องการให้ทำลาย

4. ระบบเดินอากาศด้วยแรงเฉื่อย (inertial navigation system; INS)

เป็นอุปกรณ์เดินอากาศที่สามารถระบุตำแหน่งของตัวกระเปาะชี้เป้าเองได้ตลอดเวลา ใช้สำหรับปรับศูนย์เล็ง (boresighting) ของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในกระเปาะทุกชนิดอย่างอัตโนมัติให้อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกับตัว F-16MLU เอง เพื่อให้มีความแม่นยำในการใช้งานตรวจจับและชี้เป้าหมาย และเข้ากันได้อุปกรณ์อื่นๆ ใน F-16MLU เช่น เรดาร์ หรือหมวกนักบินติดศูนย์เล็ง

นอกจากนี้ระบบ INS ยังใช้งานร่วมกับเลเซอร์วัดระยะ (และรวมถึงระบบนำร่อง GPS ของ บ. หรือที่ตัวกระเปาะด้วย) ในการสร้างพิกัด (geo-coordinate generation) ของเป้าหมายที่ระบบ FLIR, กล้อง CCD-TV หรือระบบ laser spot tracker ตรวจพบ เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบนำวิถีด้วย GPS ของอาวุธแบบต่างๆ เพื่อให้พิกัดเป้าหมายมีความถูกต้องมากกว่าแต่เดิมที่พิกัด GPS จะถูกป้อนไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งข้อมูลพิกัดถ้าไม่ถูกต้อง อาจทำให้การทำลายเป้าหมายผิดพลาด เช่น จากการข่าวกรองที่คลาดเคลื่อน เป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีที่พบเป้าหมายใหม่ นักบินสามารถใส่พิกัดเป้าหมายที่กระเปาะชี้เป้าสร้างขึ้นให้ระบบนำวิถีของอาวุธได้เองอีกด้วย

5. อุปกรณ์บันทึกและเชื่อมโยงข้อมูล (data recorder และ data-link)

การบันทึกข้อมูลภาพเป้าหมายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว (ภาพ VDO) สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การบันทึกด้วยเครื่องบันทึกเทป VDO (VCR recorder) หรือด้วยหน่วยความจำในลักษณะของข้อมูลดิจิตอล (digital data recorder) ที่สามารถ download เข้าสู่คอมพิวเตอร์ได้โดยตรงหลังจบภารกิจ ซึ่งกระเปาะชี้เป้ายุคใหม่มีออปชั่นให้เลือกทั้ง 2 แบบ โดยข้อมูลเหล่านี้จะใช้เพื่อการประเมินความเสียหายของเป้าหมาย หรือเพื่อใช้เป็นข้อมูลข่าวกรองต่อไป

ส่วนการเชื่อมโยงข้อมูลก็ทำได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน (VDO-link/data-link) ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญมากในการปฏิบัติการที่มีเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง หรือ Network-Centric Operation ทหารบนพื้นดิน อากาศยานเครื่องอื่นๆ ในพื้นที่ แม้กระทั่งที่ส่วนควบคุมสั่งการปฏิบัติการ สามารถมองเห็นภาพเดียวกับที่นักบินเห็นจากกระเปาะชี้เป้าได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งข้อมูลเป้าหมายเข้าสู่กระเปาะชี้เป้าได้โดยตรง เช่น ทหารบนพื้นดิน ผู้ควบคุมอากาศยานหน้า เจ้าหน้าที่บนอากาศยานหาข่าวกรอง/เฝ้าตรวจ/ลาดตระเวน (ISR) หรือผู้ควบคุม UAV ซึ่งเป็นผู้ตรวจพบเป้าหมาย สามารถบังคับให้กระเปาะชี้เป้าบน F-16MLU ชี้ไปยังตำแหน่งเป้าหมายนั้นได้ทันที

6. ระบบช่วยในการพิสูจน์และติดตามเป้าหมาย

ในกระเปาะชี้เป้ายุคใหม่มักจะมีฟังก์ชั่นการทำงานเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือนักบินในการพิสูจน์ทราบและติดตามเป้าหมาย เช่น ระบบ point tracker/area tracker สำหรับล็อคตำแหน่งเป้าหมายเป็นจุดหรือเป็นพื้นที่ได้ ระบบ multi-target cueing สำหรับติดตามเป้าหมายมากกว่า 1 เป้าหมายพร้อมกัน ระบบ automatic target recognition สำหรับระบุเป้าหมายโดยอัตโนมัติ เป็นต้น



ระบบ point traker ของกระเปาะ Sniper-XR ในโหมด IR
(Copyright : Aviation Week and Space Technology Magazine)



Create Date : 14 พฤษภาคม 2551
Last Update : 27 มิถุนายน 2551 15:37:18 น. 5 comments
Counter : 4928 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับอาจารณ์ริน สำหรับข้อมูลว่าแต่ของแพงเนียชัดแจ่วเลยนะครับ น่าอิจฉาสิงขโป


โดย: sherlork (prasopchai ) วันที่: 28 มิถุนายน 2551 เวลา:18:56:40 น.  

 


โดย: นางน่อยน้อย วันที่: 29 มิถุนายน 2551 เวลา:7:50:21 น.  

 
อาจารย์ริณ ข้อมูลแน่นทีเดียว ขอเก็บไว้ศึกษานะครับ


โดย: บุปผาชน (นภานุภาพ ) วันที่: 17 กรกฎาคม 2551 เวลา:0:27:01 น.  

 
อันแน่ดองยาวนะครับ 'จารย์


โดย: Skyman (Analayo ) วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:9:19:40 น.  

 
ได้ความรู้อีกแล้ว


โดย: VET53 วันที่: 10 กันยายน 2551 เวลา:0:00:33 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Warfighter
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




พบกันได้ที่ http://www.thaifighterclub.org ครับ และ pantip.com ห้องหว้ากอ (นานๆ โผล่ไปซักทีนะครับ)
Friends' blogs
[Add Warfighter's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.