ดอกไม้ในความคิด
Group Blog
 
 
กันยายน 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
21 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

อย่าดัดจริตในงานเขียนและอย่าดูถูกคนอ่าน : บทสัมภาษณ์ในประพันธ์สาส์ น





“อย่าดัดจริตในงานเขียน และอย่าดูถูกคนอ่าน”


เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้


จากคอลัมน์ "คุยนอกรอบ" จากเวบวรรณกรรมประพันธ์สาส์น


//www.praphansarn.com/new/c_talk/detail.asp?ID=232







วันนี้เราจะมารู้จักกับนักเขียนคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตคร่ำหวอดมากับวงการ

วรรณกรรมอยู่พอสมควร แม้จะไม่ได้มีผลงานออกมาให้เห็นกันมากนัก แต่

ประสบการณ์เกี่ยวกับงานเขียนและการทำงานหนังสือก็เรียกว่าไม่น้อยเลยที

เดียว



แนะนำตัวสักนิด


"เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด คุณพ่อเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ ส่วนคุณ

แม่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ จำได้ว่า ที่บ้าน

มีแต่หนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มองไปทางไหนก็มีแต่ชั้น

หนังสือ ทุกคนในบ้านชอบอ่านหนังสือ คงเป็นเพราะจุดนี้ที่ทำให้รักการ

อ่านมาตั้งแต่เด็ก แค่อ่านหนังสือที่พ่อมีก็แทบไม่หวาดไหวแล้ว อย่างเรื่อง

สั้นและนิยายของคุณสุวรรณี สุคนธา เรื่องสั้นของต๊ะ ท่าอิฐ เรื่องสั้นของคุณ

รงค์ วงษ์สวรรค์ และรวมเรื่องสั้นยุคฟ้าเมืองไทย ฟ้าเมืองทอง ซึ่งพ่อเป็น

สมาชิก ก็เลยพลอยได้อ่านมาแต่เด็ก"



"พ่อชอบสะสมวรรณกรรมทั้งไทยทั้งอังกฤษ ถ้าเป็นภาษา

อังกฤษ ส่วนมากจะเป็นของแม่ เติบโตมากับหนังสือพวกนี้แหละค่ะ อ่าน

หมด อ่านดะ อ่านทุกประเภท กำลังภายในของพ่อยังอ่านเลย ฤทธิ์มีดสั้น

หงส์ผงาดฟ้า มังกรหยก สมัยนั้น แปลโดย ว.ณ เมืองลุง และน. นพรัตน์

อ่านแล้วติดหนึบหนับ ข้าวปลาไม่กิน"




"แต่ที่อ่านน้อยมากคือ นิยายแบบพาฝัน ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่ชอบ

อ่าน ชอบอ่านสารคดีและเรื่องสั้นมากกว่า อาจจะเป็นเพราะที่บ้านไม่มีนิยาย

อย่างผู้หญิงๆ เลย แม่ดิฉันก็ไม่ชอบอ่าน เลยไม่ได้โตมากับนิตยสารอย่าง

ขวัญเรือนหรือสกุลไทย เลยกลายเป็นคนไม่ค่อยอ่านนิยายรักเท่าที่ควร"


เริ่มจับปากกาได้อย่างไร



ตอนเด็กๆ เข้าเรียนอนุบาลที่ โรงเรียนสวนเด็ก แล้วมาเข้าสาธิตปทุมวัน ที่นี่

แหละค่ะ ที่มีส่วนทำให้หันเหชีวิตมาเป็นคนเขียนหนังสือ เป็นนักเขียนเพราะ

เพื่อนแท้ๆ ตอนนั้นมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง ชื่อ พันธุมดี เกตะวันดี เป็นลูก

สาวนักเขียนดังคือ คุณทวี เกตะวันดี หรือคุณรมย์ รติวัน เพื่อนคนนี้เขามี

จุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ป.5 แล้วว่าจะเป็นนักเขียน ตอนนั้นเราเองก็ยังไม่รู้

หรอกค่ะว่าอยากทำอะไร หนักไปทางหาเรื่องเล่นสนุกไปวันๆ ตอนนั้น ครู

ให้ออกไปพูดหน้าห้อง เรื่องอาชีพในฝัน เลยลอกคำตอบเพื่อน

เพื่อนอยากเป็นนักเขียน ก็คิดว่ามันคงเท่ดี แต่ขอเป็นบรรณาธิการดีกว่า คง

จะดีกว่า หากได้อ่านงานชาวบ้าน จากนั้นก็เหมือนผีบ้าเข้าสิงเลย ออก

หนังสือพิมพ์เอง เอากระดาษสมุดนั่นแหละ ฉีก ทำรูปแบบเหมือนหนังสือ

พิมพ์เป๊ะๆ ซึ่งชื่อหนังสือพิมพ์เขามีไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ทำมือของดิฉัน

ชื่อ "ไทยมุง" สนุกกันมาก นั่งเขียนเองทำเองทั้งเล่ม วาดการ์ตูนด้วย

เพื่อนๆ ชอบกันใหญ่ หนักไปทางเรื่องไร้สาระและซุบซิบเพื่อนในห้อง แม้จะ

ออกมาได้ไม่กี่เล่ม (เพราะคนเขียนเริ่มขี้เกียจ) แต่ก็ได้ใจค่ะ ผีน้ำหมึกเข้า

สิงเลยทันที เริ่มเคลิ้มๆ อยากเป็นนักเขียนแล้ว ตั้งแต่ ป.5 แต่แรกเริ่มนี่ มา

จากลูกสาวนักเขียนจริงๆ ที่ทำให้เราอยากเป็น เพราะเพื่อนคนนี้พูดจาฉะฉาน

และดูเท่ห์มาก ในสายตาเรา



เรียนที่สาธิต มศว. ปทุมวันจนถึงมัธยมศึกษาปีที่สาม ก็ออกมาสอบ

เข้า รร เตรียมอุดมศึกษา พญาไท ช่วงนี้แหละค่ะ ที่เริ่มขบถต่อสังคมอย่าง

แท้จริง เพราะเริ่มอ่านงานหนักๆ ของคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ อย่างเรื่องปีศาจ

ข้างหลังภาพของศรีบูรพา คุณอาจินต์ คุณชาติ กอบจิตติ คุณนิคม ราย

ยวา อย่างตลิ่งสูง ซุงหนัก งานโทนเพื่อชีวิตหนักๆ


บังเอิญพอมีโชค ไปสอบติดคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตอนปีหนึ่ง มี

ประกวดบทกวี โดยคณะวารสารศาสตร์ ดิฉันก็ลองส่งไป ได้ที่สอง ตอนนั้น

เขียนเรื่องชาวนา ความทุกข์ยากของชาวนาไทย อะไรประมาณนี้ ใบ

ประกาศที่ชนะการประกวดก็ยังเก็บไว้เลย นานๆ หยิบออกมาดู ก็ขำๆ เพราะ

ตอนนั้นเขียนตามขนบแท้ๆ ไม่เคยเรียนรู้ชีวิตชาวนาจริงๆ เลย




พอปีสอง ย้ายมาเรียนท่าพระจันทร์ เป็นช่วงที่ไปนั่งฟังปาฐกกถา

หรือเสวนาทุกวัน ซึ่งคนที่ชอบไปฟังเสวนาคงจะทราบว่า มหาวิทยาลัยธรรม

ศาสตร์ ถือเป็นแหล่งแห่งการเสวนา เพราะมีทุกวัน คณะนั้นคณะนี้ ไม่เคย

ขาด ถือเป็นแหล่งความรู้ที่มีค่ามาก ถือเป็นการเรียนรู้นอกตำราและทุกสาขา

วิชาการ การเมือง เศรษฐศาสตร์ สังคม ดิฉันโดดเรียนไปฟังหมดแหละค่ะ

ต้องขอโทษอาจารย์ไว้ตรงนี้ด้วย หากมีอาจารย์ได้มาอ่านเจอ ศิษย์ผิดไป

แล้ว สมควรตาย (หัวเราะ)



นอกจากฟังเสวนาแล้ว ไปดูงานแสดงศิลปะทุกแห่ง (ไม่ค่อยเข้าห้อง

เรียนเท่าไหร่) ไม่อยู่ตึกกิจกรรมก็ห้องสมุดหรือไม่ก็ไปดูงานศิลปะ ไม่ไกล

หรอกค่ะ แถวหอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า หรือไม่ก็ในศิลปากรนี่ก็เยอะ คะแนนเข้า

ห้องเป็นศูนย์มาตลอดสี่ปี จนบางวิชา อาจารย์ต้องส่งม้าเร็วมาตามที่ตึก

กิจกรรม คิดดูแล้วกันว่าดิฉันขี้เกียจมากขนาดไหน (ฮา)



ช่วงที่อยู่ตึกกิจกรรมนี่แหละค่ะ ที่บ่มเพาะให้ชีวิตหักเหอีกครั้ง ที่

ชุมนุมวรรณศิลป์ มีพี่ๆ หลายคนที่ปัจจุบันเป็นนักเขียน เท่าที่จำได้หลักๆ

นะคะ มีพี่เฉินซัน พี่โกศล อนุสิม พี่เดี่ยว สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ พี่ช้าง ซึ่ง

ปัจจุบันทำงานที่สารคดี พี่แป๊ด บรรณาธิการระหว่างบรรทัด พี่ตี๋ จิตติ หนู

สุข อดีตบรรณาธิการดอกหญ้าและดับเบิ้ลนายย์ พี่ไก่ พี่ฟ้า (ปัจจุบันทำงาน

ให้สมาคมเกี่ยวกับภาษาและหนังสือ) พี่เอียด นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ส่วนเรา

เป็นเด็กกว่าใครเพื่อน นั่งรวมกลุ่มกันก็ปากอ้า ตาค้างตลอด เวลาเค้าคุย

กัน เขาคุยกันเรื่องนักเขียนต่างชาติและวรรณกรรมโลก ตอนนั้นก็เป็นเด็ก

ปีสอง นั่งฟังตาปริบๆ ไม่รู้เรื่องเลย ใครเหรอ เฮอร์มาน เฮสเส ใครน่ะ ตอ

ลสตอย ใครหว่า ชื่อ มิลาน กุนเดอรา สรุปคือ อายค่ะ เค้าพูดจากันน้ำไหล

ไฟดับ เรานั่งโง่งมอยู่คนเดียว เลยไปขวนขวายหาหนังสือยากๆ อ่านเข้าใจ

ยากพวกนั้นมาอ่านบ้าง แล้วเก็บสะสมทุกเล่ม จนทุกวันนี้ก็ยังอ่านอยู่ ขนเอา

บางเล่มมาอเมริกาด้วย



พอสะสมความรู้จากการอ่านแล้วคิดว่า ตัวเองเจ๋งพอแล้ว ก็เริ่มเข้า

ร่วมวงสนทนาทางวรรณกรรมกับรุ่นพี่ด้วยอย่างเขินๆ จริงๆ แล้ว มีแรง

บันดาลใจมาจากความกลัวเชย กลัวเข้ากับพี่ๆ ไม่ได้ ปีนั้น มีเด็กปีสองหลง

เข้าชุมนุมวรรณศิลป์คนเดียวเอง ถ้าเข้ากับพี่ๆ ไม่ได้ หัวเน่าแน่นอน



ตอนนั้น ที่ชุมนุมมีสมุดเล่มใหญ่ๆ อยู่เล่มหนึ่ง ใครจะเขียนอะไรก็ได้

ดิฉันก็เพ้อเจ้อไปตามประสาเด็กปีสอง เขียนกลอนรักหวานแหวว แบบวัย

หวาน เธอกับฉันนี่แหละค่ะ โดนเลยค่ะ โดนสับ โดนด่าไม่มีชิ้นดี ก็พี่ๆ นั่น

แหละ มาอ่านแล้ว วิจารณ์อย่างไม่ปราณี บอกตรงๆ ว่า แรงมาก แรงจน

น้ำตาตก แอบไปนั่งทำหน้าหมาเหงาอยู่หลังตึกกิจกรรมคนเดียว(หัวเราะ)

จากนั้นก็ฮึดเขียน เขียนๆๆๆๆ แบบไม่ยอมเว้ย มาด่าได้ไง โดนด่าหนักๆ เข้า

เลยปรับแนวไปเรื่อยๆ พอดีตอนนั้น อ่านงานแนวเพื่อชีวิตหนักๆ ด้วย เลย

ค่อยๆ ปรับๆ แก้ๆ เขียนไปเรื่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ หาแนวทางของตัวเองไป



หลังจากนั้นก็เริ่มไปรับจ๊อบนอกมหาวิทยาลัย เป็นกองบก. นิตยสาร

สำหรับนักศึกษา ด้านเรื่องสั้นและบทกวี ชื่อ U-Magazine ถ้าจำไม่ผิด จาก

นั้น เริ่มส่งงานไปลงตามที่ต่างๆ ส่วนมากเป็นสนามสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

และลลนา ได้เงินมาบ้าง พอชื่นใจ ตอนนั้น ใช้นามปากกาหวานแหววแต๋วจ๋า

มาก คือ "พิมพ์ทราย" และ "พิมพ์ทราย สิมิลัน" หลังๆ ก็มาใช้ชื่อจริงดีกว่า

พ่อแม่อุตส่าห์ตั้งมาให้



ช่วงปีสามถึงช่วงเรียนจบใหม่ๆ จะเขียนบทกวีเป็นหลัก ตอนนั้น ส่งไป

ลงสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เพราะถือว่า เป็นสนามที่คัดงานคุณภาพ โดย คุณ

ไพลิน รุ้งรัตน์ ถ้างานออกแนวหวานๆ หน่อย ก็จะส่งไปลง "ลลนา" และก็

ได้ลงตีพิมพ์เรื่อยๆ ทั้งสองสนาม จากนั้นก็ส่งไปจุดประกายวรรณกรรม

กรุงเทพธุรกิจ และนิตยสาร Writer


พอเรียนปีสี่ ก็เริ่มเขียนสารคดีชิ้นแรก โดยส่งไปให้บรรณาธิการ

นิตยสาร "นะคะ" พี่บรรณาธิการก็กรุณารับงานเขียนไว้สองสามชิ้น จำได้ว่า

เป็นงานเขียนสารคดีชิ้นแรกในชีวิต เรื่อง หุ่นกระบอกไทย ลมหายใจยังไม่

สิ้น ซึ่งก็ได้ลงตีพิมพ์ที่นิตยสาร”นะคะ” ได้เงินมากินขนม แล้วเลยเขียน

สารคดีอีกสองสามเรื่องให้ "นะคะ" ต้องขอบคุณความเมตตาของพี่

บรรณาธิการในครั้งนั้นด้วย ที่เมตตาให้ เด็กปีสี่ที่ไร้ประสบการณ์อย่างดิฉัน

ได้มี "ที่อยู่ที่ยืน" บนถนนวรรณกรรม


ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา


จากนั้นมาก็เขียนสารคดีบ้าง บทกวีบ้าง แต่ไม่ได้จริงจังอะไรนัก ตามประสา

คนเรื่อยเปื่อยล่องลอย พอดีช่วงนั้นเรียนจบแล้ว ทำงานประจำกอง

บรรณาธิการที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช เป็นลูกน้องคุณอนุช อาภา

ภิรมย์ แล้วต่อมาก็ทำงานอีกหลายอย่างมาก เหมือนกรรมกรทาง

วรรณกรรม ไปทำงานเป็นรองบรรณาธิการอยู่สำนักพิมพ์สายน้ำ ตอนนั้นเลย

มีโอกาสได้แปลวรรณกรรมเยาวชน แปลออกมาสองเล่ม คือ

อาถรรพ์รัสปูติน กับตะลุยแดนมังกร ทั้งสองเรื่องอ่านแบบสบายๆ ผจญภัย

แบบเด็กๆ


หลังจากทำสำนักพิมพ์แล้ว เพื่อนก็ชวนไปทำงานนิตยสาร Decade ช่วงนั้น

ปลื้มมาก เพราะมีโอกาสได้ทำงานกับนักเขียนคนหนึ่งในดวงใจคือ

พี่ไพวรินทร์ ขาวงาม ปลื้มงานพี่เค้ามานานแล้ว ได้แต่อ่านงานมานาน พอได้

เจอตัวจริง ทำงานร่วมกัน ยิ่งนับถือพี่ไพวรินทร์เป็นทวีคูณ แต่งานไม่ค่อย

เดินหรอกค่ะ หนักไปทางสังสรรค์และเฮฮาทุกเย็น Decade ยุคดิฉันเป็นหลัง

ยุคคุณเนตรดาว แพทยกุล มาแล้วนะคะ เป็นยุคสนุกสุดใจ เย็นๆ มีทั้งนัก

เขียนนักแปล คนนั้นคนนี้มาร่วมวงถองสุรากันประจำ เมาจัดๆ ก็นอนกันที่

ออฟฟิศ ทำจนนิตยสารเจ๊งแหละค่ะ ถึงได้กระจัดกระจายกันไป เลย

ย้ายมาทำงานเอ็นจีโอ เป็นประชาสัมพันธ์ให้มูลนิธิเด็ก ก็สนุกไปอีกแบบได้

ทำงานกับลุงเทพสิริ สุขโสภา นักเขียนและนักวาด แต่ดิฉันเป็นคนขี้เบื่อ เบื่อ

ก็เปลี่ยนงาน อาจจะโชคดีตรงที่เพื่อนเยอะ เลยมีเพื่อนชวนไปทำงานโน่นนี่

ตลอด ไม่ต้องสมัครงานเองเท่าไหร่



ออกจากมูลนิธิเด็กก็เพื่อนรุ่นพี่อีกนั่นแหละ ชวนไปทำนิตยสารใหม่

ชื่อ THE EARTH 2000เป็นนิตยสารแนวเดียวกับสารคดี ตอนนี้ ได้เขียน

สกู๊ปยาวๆ แบบยี่สิบหน้าเอสี่เลย เกือบทุกเล่มนี่ได้ปั่นแต่งานสารคดีปก

ขนาดยาว ตอนนั้นงานหลักคือสารคดี แต่ก็ยังเขียนบทกวีและบทความลง

ทางนิตยสารเล่มอื่นบ้างนิดหน่อย ช่วงนั้นก็เลย ทำงานควบกันสองแห่ง

ประจำกองบก. THE EARTH 2000 และเป็นคอลัมน์นิสให้ Bangkok Today

(ยุคนั้น)



เริ่มเปิดคอลัมน์ของตัวเองแล้ว เป็นงานเขียนเชิงปรัชญา ชื่อ ดอกไม้

ในความคิด ซึ่งเป็นแนวปรัชญาการใช้ชีวิต บวกมุมมองทั่วไปในเรื่องทั่วไป

เรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวที่เรามองข้ามอาจจะแปรเป็นพลังใจให้เราสู้ชีวิตได้อย่าง

คาดไม่ถึง เหมือนดอกไม้ริมทาง ที่งดงามอย่างง่ายๆ แต่คนไม่ยอมเสีย

เวลาชื่นชม มักมองข้ามไป เพราะเจนตา จึงพลาดความงามนี้ไปอย่างน่า

เสียดาย



ดิฉันเชื่อว่าทุกคนมีดอกไม้ในความคิดของตัวเอง แต่จะรดน้ำให้เบ่งบานหรือ

ปล่อยให้เหี่ยวเฉานี่ แล้วแต่ทัศนคติในการมองโลกของแต่ละคน




ประมาณปี 2538 เห็นจะได้ ผันตัวเองมาเป็นคนข่าวและคอลัมนิสต์

ให้กับหนังสือพิมพ์วัฎจักรรายวัน ก็โยกคอลัมน์นี้มาเขียนใน วัฏจักรวัน

อาทิตย์ เซกชั่น "กระแสชีวิต" ตอนทำงานข่าวก็เป็นงานเชิงสกู๊ป เขียนลง

เต็มหน้า หน้าสี ถ่ายภาพเอง ส่วนมากเป็นสกู๊ป บทความ สารคดี สารคดีเชิง

ท่องเที่ยว และบทกวี บทกวีนี่ ต้องเขียนประกอบภาพทุกอาทิตย์เลย แบบ

PHOTO ESSAY เขียนสดๆ บ้าพลังมาก ช่วงนั้น เขียนได้ เขียนดี เพราะต้อง

เขียนทุกวัน เสียดายที่ไม่ได้เก็บต้นฉบับพวกนั้นไว้เลย ตอนนั้น คอลัมน์

ดอกไม้ในความคิด ซึ่งเขียนประจำทุกวันอาทิตย์ ได้รับความนิยม จนสำนัก

พิมพ์ดอกหญ้า (เวลานั้น) ติดต่อขอตีพิมพ์เป็นเล่ม




หลังจากอิ่มตัวจากงานข่าว ดิฉันลาออกมาเรียนต่อปริญญาโทที่มหิดล

สาขาสิ่งแวดล้อม ความสนใจดิฉันหลากหลายมาก ตอนนั้น รู้สึกว่า เราพอ

แล้ว อิ่มแล้วกับอาชีพเขียนหนังสือ อยากลองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดู

บ้าง แต่เรียนจบมาแล้ว ไม่ได้เป็นค่ะ (หัวเราะ) บุคลิกบู๊เกินไป เค้าไม่รับ




หลังจบปริญญาโทออกมาแล้วก็ยังเขียนบทกวีบ้าง แต่น้อยมาก อาจจะ

เพราะอิ่มตัว สมัยที่ทำข่าว ก็ทำข่าวแวดวงวรรณกรรมด้วยค่ะ เห็นอะไรต่อ

อะไรมากเข้า เลยอยากใช้ชีวิตเรียบง่ายมากกว่าจะเข้าไปคลุกคลีกับคนใน

แวดวง เหมือนสมัยก่อน มีความรู้สึกว่า ความเป็นนักเขียนไม่ใช่แค่เสนอ

หน้าไปตามแวดวงวรรณกรรมหรือจับกลุ่มดื่มกินร่วมกับนักเขียนแค่นั้น หาก

แต่การลงมือทำงานหนักต่างหากที่คือเครื่องพิสูจน์ความเป็นนักเขียน แต่

สมัยก่อน ดิฉันทำข่าวสายวรรณกรรมด้วย จึงเป็นภาวะที่เลี่ยงไม่ได้กับการ

ต้องพบปะกับนักเขียนในแวดวง พออิ่มตัวแล้ว อยากนั่งทำงานเงียบๆ นอก

แวดวงมากกว่า




จากนั้น จบออกมาก็ทำงานให้นิตยสารแฟชั่นพักหนึ่งแล้วไปก็ทำงานอยู่

บริษัทในเครือแปลน รับจ๊อบงานเขียนคอลัมน์ในนิตยสารเล่มอื่นไปด้วย ทำ

งานหลักไปด้วย





ผลงานเขียนรวมเล่ม



ถ้าจะนับงานเขียนแบบเป็นตีพิมพ์เป็นเล่มก็ห้าเล่ม แบบเนื้อๆ ไม่นับเล่มที่มี

งานตัวเองแทรกปนอยู่พอเป็นกระสาย ก็มีงานแปลวรรณกรรมเยาวชนสอง

เล่มคือ อาถรรพ์รัสปูติน และ ตะลุยแดนมังกร พิมพ์โดนสำนักพิมพ์สายน้ำ

(2533) อีกเล่มคือ ตำนานนักเดินทาง เล่มนี้ เป็นรวมบทสัมภาษณ์ โดย

เขียนร่วมกับคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เป็นการรวมเล่มจากคอลัมน์ใน

นิตยสาร "THE EARTH 2000" (2538) พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ของนิตยสาร

ค่ะ “ดอกไม้ในความคิด" เป็นรวมบทความเชิงปรัชญา (2544) พิมพ์ที่

สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนาย ในปี 2546 ซึ่งได้รับรางวัล เซเว่น Book Awards ที่

จัดขึ้นเป็นปีแรก เป็นรางวัลหนังสือดีด้านปรัชญา เล่มหลังสุด เที่ยวท่อง

ห้องสมุด พิมพ์ที่สำนักพิมพ์เวลาดี สำนักพิมพ์ในเครือแปลนพริ้นติ้ง

(2547) และยังมีงานเขียนด้านบทกวีที่ได้รับการตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร

ทางการเมืองและวรรณกรรมในสมัยนั้น เช่น สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เนชั่น

สุดสัปดาห์ และ Writer กระจัดกระจายอยู่ ยังไม่ได้รวมเล่ม ไม่กล้ารวม

เล่ม กลัวสำนักพิมพ์เจ๊ง (หัวเราะ)



ที่ชอบเขียนจริงๆ คือแนวไหนคะ


หากจะถามว่า ชอบเขียนหนังสือแนวไหน ก็แนวปรัชญานิดๆ นี่แหละค่ะ

ส่วนมาก เอาเรื่องใกล้ตัวมาเขียน อิงหลักปรัชญาง่ายๆ ให้คนอ่านแล้ว รู้สึก

ว่า เออ...มันเป็นอย่างนี้เอง ปรัชญาไม่ได้ยากอย่างที่คิด ไม่อยากให้คนคิด

ว่า ปรัชญาเป็นเรื่องที่ต้องปีนบันไดขึ้นไปอ่าน จริงๆ แล้ว ปรัชญาซุกซ่อนอยู่

ทุกหนแห่ง เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันแท้ๆ




ชีวิตปัจจุบัน


หลังจากแต่งงานกับนักเขียนอเมริกันแล้วย้ายมาอยู่ที่อเมริกาหลายปีแล้ว

ค่ะ มาปีแรกๆ ก็ทำร้านขายงาน handmade สินค้าไทย พวกผ้าไหม ไม้

แกะสลัก เครื่องเงิน ทำร้านด้วยเงินส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับเงินสามี ทำอยู่นาน

พอสมควร พอดี พ่อป่วยเป็นมะเร็ง เลยปิดร้าน บินกลับไปดูแลพ่อจนสิ้น

ตอนนี้ กำลังมองหาลู่ทางใหม่ๆ ในชีวิตให้ตัวเองอยู่



ทำงานมาหลายอย่าง

ชอบงานแบบไหนมากที่สุด เพราะอะไร




อยากจะบอกว่า ชอบทุกงานค่ะ ทุกงานมีคุณค่าในตัวมัน ไม่ว่าจะเป็นงาน

หนังสือหรืองานค้าขาย คนค้าขายก็กลายมาเป็นคนเขียนหนังสือได้ คน

เขียนหนังสือก็กลายมาค้าขายได้ อย่ายึดติดว่า ถ้าเราทำอาชีพใดอาชีพ

หนึ่งแล้ว จะต้องตายตัวเสมอไป ไม่งั้นโลกนี้จะมีกวีหมี่เป็ดหรือคะ ขอ

อนุญาตแซวเพื่อนหน่อย (หัวเราะ) ชีวิตมีความหลากหลายนะคะ การมีชีวิต

อยู่คือการได้ใช้ชีวิตที่หลากหลาย ได้ดูโลกที่มีความแตกต่าง ได้พบปะผู้คน

ที่ไม่เหมือนเรา เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น การได้เรียนรู้โลกที่แตกต่าง

ออกไปจากโลกวรรณกรรมทำให้ตระหนักว่า โลกเรานี้ช่างกว้างใหญ่ไพศาล

เหลือเกิน แม้โลกวรรณกรรมนั้นงดงาม แต่โลกใบอื่นก็น่าสนใจเช่นกัน



เทคนิคและวิธีการทำงานเขียน


งานยุคแรกที่เป็นบทกวี ส่วนมากผุดพุ่งออกมาตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระ

ทบในเวลานั้น ผิดหวัง โกรธ กลัว เสียใจ สมหวัง เป็นเรื่องของการนำอารมณ์

ที่เริงโรจน์ในเวลานั้น มาถักร้อยเข้าด้วยกันในรูปแบบของถ้อยคำ ดิฉัน

เขียนรวดเดียวจบ ปล่อยอารมณ์ให้พุพลั่งหลั่งไหลออกมาเหมือนตาน้ำ พอ

อารมณ์นิ่งกว่าเดิมแล้ว ถึงค่อยมาเกลารอบสอง งานระยะหลังเป็นงาน

สารคดี จะเก็บข้อมูลเบื้องต้นก่อน อ่านละเอียด ออกภาคสนาม แล้วตก

ตะกอนซักพัก รอให้ใจนิ่งๆ แล้วถึงจะเขียน เขียนแล้วก็ขัดเกลาไปเรื่อยๆ

ช่วงขัดเกลานี่ นานกว่าเขียนอีกค่ะ



ระหว่างงานเขียนกับงานแปล คิดว่าอะไรยากกว่ากันคะ




ยากง่ายไปคนละแบบค่ะ งานแปล นอกจากจะมีทักษะภาษาอังกฤษในระดับ

ดีแล้ว ทักษะภาษาไทยต้องดีมากด้วย คนส่วนมากมักคาดไม่ถึง คิดว่า คน

แปลงาน ต้องเก่งภาษาอังกฤษอย่างเดียว สมัยดิฉันทำงานสำนักพิมพ์ เรียก

นักแปลมาชี้จุดบกพร่องหลายคนแล้ว เพราะแปลออกมาแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง




ส่วนงานเขียนนั้น เราสามารถแสดง "ตัวตน" ออกมาได้ชัดเจนมากกว่าการ

แปลงาน เพราะเป็นชิ้นงานของเราเอง และยังคงต้องใช้ความจัดเจนทาง

ภาษาเช่นกัน เพื่อ "สื่อ" สิ่งที่อยู่ในใจและในความคิดเราออกมาให้ผู้อ่านได้

รับรู้ ถามว่า ยากไหม ยากนะ เพราะการ"สื่อสาร" ให้ตรงใจนั้นไม่ง่าย นัก

เขียนบางคนที่ยังหาหนทางของตัวเองไม่เจอ ก็เหมือนการคลำๆ เขียน

ไป "ตามขนบนิยม" มากกว่าจะสื่อสารได้อย่างสง่างามจากถ้อยคำของเรา

เอง นักเขียนทุกคนต้องหา "ทาง" ของตัวเองให้พบค่ะ ถึงจะพ้นไปจากเงา

นักเขียนอื่นได้ ซึ่งเรื่องนี้แหละ ที่ยากที่สุด



ช่วยพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดัน

หนังสือไทยไปต่างประเทศ



นี่แหละค่ะ ที่ดิฉันจับตามองอยู่ ตลาดหนังสือของอเมริกาดูเหมือน

กว้าง แต่ก็แคบ คนอเมริกันไม่สนใจเรื่องราวของคนชาติอื่นมากนัก หากจะมี

อเมริกันที่สนใจวัฒนธรรมของชาติอื่นก็นับเป็นส่วนน้อยมาก เอาง่ายๆ ทุก

วันนี้ เวลาดิฉันบอกว่า มาจากไทยแลนด์ คนยังคิดว่า ดิฉันมาจากไต้หวันอยู่

เลย บางทีต้องเหน็บไปแรงๆ ว่า เออ ไอมาจากไทยแลนด์ ใกล้เวียดนาม

ประเทศที่พวกยูแพ้สงครามมาน่ะ รู้จักรึยัง (หัวเราะ)




คนอเมริกันไม่ได้เก่ง ไม่ได้เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ไม่ได้รวยล้น ไม่ได้รอบรู้ หรือ

มีชีวิตความเป็นอยู่หรูเริดเหมือนในหนังฮอลลีวู้ดหรอกค่ะ นั่นมันภาพลวง

ตา ดิฉันว่า ประเทศนี้เหมือนหมาพันทาง เคยบอกสามีบ่อยๆ ว่า น่าจะตั้ง

ฉายาให้อเมริกาว่าเป็น Mutt Country (ประเทศหมาพันทาง) เพราะผสม

ปนเปกันไปหมดทุกเชื้อชาติ ไม่มีเอกลักษณ์ เอ...หรือความมั่วและจับฉ่าย

แบบนี้คือเอกลักษณ์ก็ไม่ทราบได้



วกมาเรื่องหนังสือต่อ ประการแรก การแปลภาษาไทยเป็นภาษา

อังกฤษ ไม่ง่ายเลย ต้องหาคนที่เก่งทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขั้นที่

เรียกได้ว่า แตกฉานทั้งสองภาษา และยังต้องมีความชำนาญในการดึง

เอา "กลิ่นอายแบบไทยๆ" จากต้นฉบับให้ไปปรากฏในงานแปลภาษา

อังกฤษให้ได้ด้วย เรียกว่า งานต้นฉบับเขียนบรรยายถึงส้มตำปลาร้า คนแปล

ต้องทำให้ฝรั่งอ่านแล้วได้กลิ่นปลาร้าปลาแดกได้ด้วย นี่ไงคะ ที่ยากทั้งความ

แตกต่างเชิงวัฒนธรรมและกระบวนการคิด



ประการที่สองวรรณกรรมไทยที่ดีมากๆ และได้รับการแปลเป็นภาษา

อังกฤษ จะกลายเป็นกี่เปอร์เซนต์ ในตลาดวรรณกรรมโลก เพราะแม้ใน

ตลาดหนังสือของอเมริกันเอง นักเขียนก็แก่งแย่งกันสุดขีดเพื่อจะให้เอเยนต์

ของตัวเองส่งเรื่องไปเสนอต่อสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ คือนักเขียนคนไหนเริ่มมี

ชื่อเสียง รัศมีจับ เอเยนต์ก็จะมาหาทันที พวกนี้เหมือนเห็บคอยดูดเลือด

หมาอ้วนๆ หล่อเลี้ยงชีวิต นักเขียนส่วนมากที่มีชื่อเสียงมักจะมีเอเยนต์

เพราะตนเองเข้าไม่ถึงสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในอเมริกา ซึ่งส่วนมากกระจุกตัว

กันอยู่ในนิวยอร์ก พวกทำสำนักพิมพ์พวกนี้แหละที่มีคอนเนคชั่นกันเอง ซึ่ง

นักเขียนทั่วไปเข้าไม่ถึง ฟังดูแล้วหลายด่านไหมคะ เอาแค่นักเขียน

อเมริกันจะแจ้งเกิดเอง ยังยากแบบหืดขึ้นคอ แล้ววรรณกรรมต่างชาติคงมี

โอกาสน้อยยิ่งกว่าน้อย นอกจากฮือฮาแบบตบหน้าโลกจริงๆ อย่าง Stanic

Verses ของ Salman Rushdie ที่ถูกประเทศมุสลิมแบนจนเป็นข่าวไปทั่ว

โลก จะมีบางสนพ. เท่านั้นนะคะ ที่เห็นว่า เป็นทางเลือกของนักเขียนจาก

ประเทศอื่น อย่าง สนพ. ของ City Lights Bookstore ที่ก่อตั้งโดยเหล่ากวี

Beat Generation ดิฉันเคยไปที่ร้านหนังสือนั่น เห็นหนังสือวรรณกรรมจาก

นักเขียนชาติอื่นๆ พิมพ์โดยสนพ. City Lights วางขายอยู่เยอะพอสมควร





ปัจจุบันยังเขียนหนังสืออยู่ไหมคะ



ยังเขียนอยู่นะคะ แต่น้อยลง เพราะมีโลกใบอื่นเข้ามาให้เล่นสนุก ส่วนมาก

จะเขียนก็ต่อเมื่อมีงานเข้ามา อย่างมีคนขอให้เขียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ เอาไป

ลงนิตยสาร ก็เขียนให้ คือ ต้องมีใบสั่งน่ะค่ะ หรือไม่ก็ไปเจออะไรแปลกๆ ใน

อเมริกา ก็เอามาเขียนเล่าในบล็อค



เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เขียนบทความร่วมกับสามีเป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับ

โครงการในหลวงค่ะ มีบริษัท IT World ในอเมริกา ซึ่งสามีเขียนคอลัมน์ให้

เป็นประจำติดต่อมาให้เขียน แล้วสามีมาปรึกษาว่า เขียนเกี่ยวกับอะไรดีที่

เป็นด้านเทคโนโลยี เลยนึกถึงโครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของ

ในหลวงขึ้นมาได้ เลยชงเรื่องให้สามี หาข้อมูล นั่งอธิบายประเด็นให้เกิด

ความชัดเจน แล้วติดต่อประสานงานระหว่างประเทศให้ พร้อมทั้งนัด

สัมภาษณ์ คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย จนเรียบร้อย เมื่อเราเดินทางมาไทยเมื่อ

ต้นปี เลยช่วยกันทำบทความชิ้นนี้ให้บริษัท และถวายบทความนี้แด่ในหลวง

เป็นพระราชกุศล พร้อมสมทบเงินค่าเรื่องส่วนหนึ่งเข้าโครงการบางโครงการ

ของพระองค์ท่านด้วย



บทความชิ้นนี้ สามีเขียนเป็นส่วนใหญ่ค่ะ ดิฉันเขียนนิดหน่อยในส่วนข้อมูล

ดิบ เพราะยังไงภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา ความจัดเจนทาง

ภาษาย่อมสู้เจ้าของภาษาไม่ได้แน่นอนแล้วสามีช่วยแก้ไขให้ สนุกค่ะ ที่ได้

ทำงานร่วมกัน ได้ฝึกภาษา และได้โปรโมทเรื่องดีๆ ของในหลวงและเมือง

ไทยไปในตัว



งานอดิเรกยามว่าง



หัดทำกับข้าวแปลกๆ ค่ะ ลองทำดู หาสูตรทางอินเตอร์เน็ต ลอง

ไปเรื่อยๆ เพิ่งลองทำไก่ต้มเป๊ปซี่ไป แปลกแต่อร่อยดี นอกจากทำกับข้าว

แล้วก็อ่านหนังสือ แปลหนังสือ (อย่างน้อยก็พยายามแปล) แล้วก็สะสม

โปสการ์ด เวลาไปเที่ยวหรือเพื่อนไปที่ไหนมานี่ ก็จะส่งโปสการ์ดมาให้ ดิฉัน

ก็ส่งโปสการ์ดจากที่ต่างๆ ส่งไปให้เพื่อน แลกกัน




ในฐานะที่ใช้ชีวิตคู่กับนักเขียนอเมริกัน

ช่วยแสดงความคิดเห็นเรื่องความแตกต่างระหว่าง

นักเขียนไทยและนักเขียนอเมริกัน




สำหรับนักเขียนไทยแล้ว การเขียนหนังสืออย่างเดียวเพื่อเลี้ยงชีพนี่

ยังค่อนข้างลำบากอยู่ ถึงจะมีชื่อเสียงก็เถอะ หนทางนี้ยังแคบอยู่สำหรับนัก

เขียนบ้านเรา นักเขียนไทยส่วนมากจึงต้องมีงานหลักอย่างอื่นด้วย แต่ใน

ส่วนของนักเขียนฝรั่งนั้น การเขียนหนังสืออย่างเดียวสามารถหาเลี้ยงตัวเอง

และครอบครัวได้อย่างสบายๆ สามีดิฉันทำงานที่บ้าน แต่เป็นเวลา คือ ตั้งแต่

เก้าโมงเช้าถึงหกโมงเย็น อาบน้ำแต่งตัวอย่างดีเลย มานั่งเขียนหนังสือที่โต๊ะ

ทำงาน มีวินัยในตัวเองมาก ไม่เหมือนดิฉัน (หัวเราะ)





แต่อาชีพนักเขียนที่อเมริกานั้นหมายความว่า คุณต้องมีชื่อเสียงและฝีมือใน

ระดับหนึ่ง หากคุณเป็นนักอยากเขียนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับทางมาตรฐาน

ทางวรรณกรรมของที่นี่ ก็ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้เช่นกันค่ะ ต้องผ่านการ

ทำงานหนัก ผ่านการยอมรับจากแวดวง มีผลงานตีพิมพ์เป็นที่ยอมรับในวง

กว้างมาแล้ว จากนั้น งานก็จะเข้ามาเอง




แต่ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนไทยหรือนักเขียนฝรั่ง อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ คุณ

จะต้องก้าวจากความเป็น "นักอยากเขียน" มาเป็น "นักเขียน" ตัวจริงให้ได้

ด้วยการพิสูจน์ตนเองจากการเคี่ยวกรำตัวตนให้เป็นที่ยอมรับ





ความคิดเห็นเรื่องสื่ออินเตอร์เนต

กับงานเขียนของคนรุ่นใหม่




ตอนนี้ การโพสต์งานทางหน้าอินเตอร์เน็ตเป็นกระแสที่มาแรง เป็นไปตาม

แรงขับเคลื่อนของคนในสังคม ซึ่งสังคมอินเตอร์เน็ตเป็นสังคมของชนชั้น

กลางและคนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับคอมพิวเตอร์ คนรุ่นนี้ต้องการ

จะสื่อออกมาให้โดนใจ จึงใช้ภาษาที่แตกต่างจากงานเขียนแนวขนบ อีกทั้ง

เด็กรุ่นใหม่รู้จักอินเตอร์เน็ตมากกว่าคนรุ่นก่อน การจะสื่องานเขียนออกมา

ด้วยวิธีโพสต์นั้นง่าย และเร็วกว่าการรอบ.ก.พิจารณางาน ข้อดีคือ มีงานออก

มาเสนอคนอ่านได้อย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น ข้อเสียคือ ผลงานแต่ละ

ชิ้นจะไม่มีคนที่รู้มากกว่า หรือจัดเจนทางงานวรรณกรรมคอยแนะนำ และไม่

มีประสบการณ์ในการขัดเกลา เพราะการโพสต์งานในอินเตอร์เน็ตต้องเขียน

ให้สั้น หวือหวา และเรียกร้องความสนใจเพื่อเรียกคนอ่าน จากจุดนี้ ทำให้

ดิฉันมองว่า เด็กปัจจุบันไม่มีความอดทนในการรอคอยเท่าไหร่




การเขียนงานตามบล็อคถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง เป็นทางเลือกหนึ่ง จะเขียน

ดี เขียนเลว นั่นอีกเรื่อง แต่คนที่โพสต์งานทางอินเตอร์เน็ตต้องไม่หลงกับคำ

ชมและจำนวนคอมเมนต์ เพราะนั่นคือ ภาพลวง คือมายาทางอินเตอร์เน็ต

คนเขียนบล็อคที่มีจำนวนคอมเมนต์เยอะๆ หรือคนมาคลิกดูมากๆ ผลงาน

อาจจะไม่ได้ดีเด่นจริงๆ ก็ได้ หากแต่เป็นไปตามระบบ"คอมเมนต์ตอบแทน"

ฉันไปคอมเมนต์บล็อคเธอ เธอมาคอมเมนต์บล็อคฉันนะ แล้วก็ยอกันไปมา

คล้ายๆ กับเป็นมารยาทในสังคมโลกเสมือน




อย่าหลงเสียงชื่นชมจากคอมเมนต์หรือจำนวนผู้ชม ถ้าคุณหลงตรงนั้นแล้วไม่

พัฒนาตัวเอง เท่ากับว่า คุณฆ่าตัวตายทันที เพราะไม่ได้มีอะไรการันตีชัดเจน

เลยว่า งานของคุณดีจนสามารถแจ้งเกิดในวงวรรณกรรมได้ อย่าหลงติดกับ

ดักมายาแห่งโลกเสมือนอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้คุณขาดความ

เจริญเติบโตในจิตวิญญาณภายในและทางงานเขียน เพราะอัตตาจะแผ่ขยาย

อย่างช้าๆ จนเต็มพื้นที่ใจ และจะทำให้คุณไม่เติบโตและตีบตันในการสร้าง

งานวรรณกรรม





คิดว่าการมีบก

สำหรับหนังสือเล่ม สำคัญแค่ไหนคะ



ดิฉันเติบโตมากับระบบสำนักพิมพ์และการบรรณาธิกรณ์ ไม่คุ้นชิน

เท่าไหร่กับระบบหนังสือทำมือ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่เห็นด้วยกับการ

ทำหนังสือทำมือ หนังสือทำมือถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ตลาดหนังสือมี

ความหลากหลาย เป็นสีสัน เป็นความงามอีกแง่ของโลกวรรณกรรม แต่

ดิฉันยังเชื่อมั่นในระบบบรรณาธิการ เพราะระบบนี้ นอกจากจะมีคนมาคอยชี้

แนะและขัดเกลาแล้ว โดยตัวระบบเองสอนให้เรารู้จักความอ่อนน้อมถ่อมตน

ต่อคนเขียนหนังสือรุ่นก่อนหน้าเรา และทำให้เรารู้จักการรอคอย มันเป็น

ความท้าทายที่นักเขียนหรือนักอยากเขียนทั้งหลายต้องพิสูจน์ตัวตน

และ "ผ่าน" ให้ได้




สมัยดิฉันนี่ มีคำว่า "ตะกร้าสร้างนักเขียน" คนที่อยากเป็นนักเขียนต้องมีแรง

อึดและฮึดสูงมากๆ ส่งไปครั้งแรก ไม่ผ่าน กลับมาปรับปรุงและพัฒนาเนื้อ

งาน ส่งไปอีก ส่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแจ้งเกิดอย่างเต็มภาคภูมิในฐานะนัก

เขียน ตรงนี้แหละค่ะ ที่สอนคนรุ่นดิฉันให้เรียนรู้การรอคอยอย่างสงบ เรียนรู้

ที่จะรอคอยทั้งความผิดหวังและสมหวัง รวมทั้งเรียนรู้ที่จะรับฟังคำชี้แนะทั้ง

ด้านบวกและลบเพื่อขัดเกลาผลงาน



ตรงนี้เองที่นักเขียนรุ่นใหม่ขาดไป เพราะพอเขียนงานได้พอ

สมควร ไม่ง้อระบบบรรณาธิการ ไม่ง้อระบบการคัดกรอง รวมเล่ม พิมพ์เอง

ไม่ได้เรียนรู้จากคำชี้แนะและไม่ได้เรียนรู้ที่จะรอคอย และตรงนี้แหละที่ทำ

ให้ขาดจากรากเหง้าการศึกษางานวรรณกรรมเดิมและกลุ่มคนวรรณกรรม

เดิม เพราะในเมื่อนักเขียนใหม่ไม่ง้อบรรณาธิการแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรู้จัก

นักเขียนรุ่นเก่าหรือศึกษางานนักเขียนคนอื่นแต่อย่างใด เพราะถือว่า ไม่

สำคัญและไม่มีความจำเป็นต่อการพัฒนางานเขียนของตน




แม้หนังสือทำมือนั้นคือทางเลือกหนึ่งในท่ามกลางความหลาก

หลายของโลกวรรณกรรมและเป็นการฝึกคิด ฝึกทำงาน ได้ลองผิดลองถูก

ด้วยตัวเอง ในแง่ดีนั้นก็มีข้อเสียด้วย นักเขียนใหม่ๆ ที่เติบโตมากับหนังสือ

ทำมือโดยไม่ง้อระบบบรรณาธิการ หรือนักอยากเขียนที่โพสต์ลงอินเตอร์

เน็ตแล้วหลงติดอยู่กับคำชื่นชมหรือจำนวนคอมเมนต์ อาจทำให้เกิดอัตตา

อย่างเงียบๆ และส่งผลให้กร่างเกินชิ้นงาน การมีคนที่มีความจัดเจนใน

วิชาชีพมาคอยชี้แนะข้อดีข้อด้อยของงาน น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าการทำกัน

เอง ยอกันเองแน่นอน ไม่ใช่ว่ารังเกียจระบบหนังสือทำมือหรือวรรณกรรม

ทางอินเตอร์เน็ตหากอยากฝากไว้ว่า อย่าละเลยระบบบรรณาธิการเท่านั้นเอง


การเป็นนักเขียนดูเหมือนจะเป็นความฝัน

ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น มีอะไรอยากจะฝากบอกไปถึง

นักอยากเขียนคนอื่นๆไหมคะ



ทำงานให้มาก พูดให้น้อย ปล่อยให้ผลงานพูดแทนเราดีกว่า ผล

งานและการทำงานหนักจะพิสูจน์คุณค่าของความเป็นนักเขียนที่แท้ หากรัก

จะเขียนหนังสือ ต้องเป็นนักอ่านที่หลากหลาย อ่านให้ได้ทุกแนว ตั้งตั้งแต่

วรรณกรรมโลกไปจนถึงหนูหิ่น จากนั้นก็ต้องฝึกเขียนเพื่อหาแนวทาง

ของตัวเอง ต้องพยายามหา "ลายมือ" ของตัวเองให้ได้ ต้องพูดแบบ

โฆษณาหน่อยคะว่า ทางใคร ทางมัน (หัวเราะ) ที่สำคัญ อย่าดัดจริตในงาน

เขียนและอย่าดูถูกคนอ่าน




//www.praphansarn.com/new/c_talk/detail.asp?ID=232




 

Create Date : 21 กันยายน 2551
38 comments
Last Update : 30 กันยายน 2551 22:23:26 น.
Counter : 1028 Pageviews.

 

แวะมาอ่านตัวตนจ้ะบี
ได้ใจเหมือนกันนะ ไม่ธรรมดามาตั้งแต่เด็กแล้วนี่..จริงมั๊ย

 

โดย: แม่น้องนิก (Mommy and me ) 21 กันยายน 2551 4:29:47 น.  

 

ยาวดี

เจ๋งดี

ใช้ชีวิตคุ้ม

 

โดย: p_tham 21 กันยายน 2551 6:26:07 น.  

 

เก่งมากมาย

ชีวิตคงมีความสุข น่ะ

เสียงเค้าว่ากันพรรณนั้น จ๊ะ

 

โดย: บ้าได้ถ้วย 21 กันยายน 2551 7:17:04 น.  

 

เข้ามาชื่นชมค่ะ

 

โดย: Oops! a daisy 21 กันยายน 2551 7:29:23 น.  

 








เก่งจังเลยค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ

 

โดย: June4 21 กันยายน 2551 7:54:07 น.  

 

โอ...... พี่ จรข. เก่งจังเลย ตื่นเต้นๆๆ


หนูไม่ค่อยได้เข้าที่อีกบ้านเลยอ่ะค่ะ
ที่นั่นโค้ดมันช้าๆ ไงไม่รู้เลยนานน้านนนไปทีนึง (ปลวกกินไปแล้วมั้ง )

 

โดย: แพนด้ามหาภัย 21 กันยายน 2551 11:51:47 น.  

 

มาชื่นชมค่ะ


มาหาด้วยคิดถึง
เธอจะซึ้งคำฉันไหม
ถ้อยฝากจากคนไกล
ส่งมาให้จากใจจริง

 

โดย: teansri 24 กันยายน 2551 0:50:46 น.  

 

เพียงถ้อยคำก็ล้ำค่า
ข อ บ คุ ณ ค่ ะ

 

โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน 26 กันยายน 2551 12:03:22 น.  

 

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
มีความสุขมากๆนะคะ

 

โดย: โสมรัศมี 27 กันยายน 2551 9:43:00 น.  

 

เก่งจังเลย..
รู้สึกชื่นชมด้วยใจจริงค่ะ

 

โดย: Prettymaew 30 กันยายน 2551 20:54:41 น.  

 

เห็นกระทู้แนะนำวันนี้ แถมเห็นชื่อ kala my ..
จึงเข้ามาดู ไม่ผิดหวังค่ะ

 

โดย: tiki_ทิกิ 30 กันยายน 2551 21:04:29 น.  

 

ดิฉันแก้ตัวหนังสือหลายรอบแล้วค่ะ

มันแปลกๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

สงสัยเป็นที่เวบที่ไปปาดมา

ต้องขออภัยนะคะ

 

โดย: Kala_mydog 30 กันยายน 2551 22:14:05 น.  

 

หากตัวหนังสือเล็กไป หรือใหญ่ไป

เรียนเชิญที่ต้นฉบับจริงค่ะ


//www.praphansarn.com/new/c_talk/detail.asp?ID=232

หรืออีกบ้านหนึ่งของดิฉันที่เนชั่น

//www.oknation.net/blog/charoenkwan/2008/09/21/entry-1

ขอบคุณที่กรุณาแวะมาอ่านนะคะ

 

โดย: Kala_mydog 30 กันยายน 2551 22:26:21 น.  

 

Pii Be, thanks for stopping by at my blog. I saw they made a headline with your name at the front page. very glad and excited to see it but I haven't had time to read, unfortunately. I'm in a hurry. Just say hi from Matt's office. Will talk to you on the phone later.

Wee

 

โดย: Tristy 1 ตุลาคม 2551 4:28:39 น.  

 

เพิ่งได้เข้ามาครั้งแรกค่ะ ขอ add นะคะ
อ่านบทสัมภาษณ์แล้วซาบซึ้งจังค่ะ
มึคุณค่าจริงๆ

 

โดย: be-oct4 1 ตุลาคม 2551 7:03:34 น.  

 



ขอชื่นชมจากใจค่ะ
คุณเก่งมาก ๆ เลย



..




 

โดย: ภูเพยีย 2 ตุลาคม 2551 9:03:23 น.  

 

มีความฝันเรื่องการเป็นนักเขียนเหมือนกันค่ะ
เวลาเห็นคนประสบความสำเร็จในงานเขียน
แล้วรู้สึกกระชุ่มกระชวยมาก ๆ ค่ะ

 

โดย: โสดในซอย 2 ตุลาคม 2551 9:37:23 น.  

 

ฝากความรักมาให้จ้า..

 

โดย: Cheria (SwantiJareeCheri ) 3 ตุลาคม 2551 22:00:13 น.  

 

เย้ๆๆ ไขกุญแจบ้านเข้ามาแล้วเห็นเป็นบล็อกแนะนำ

หนูมาเกาะกระแสขอดังด้วยคนได้มั้ย กรั่กๆๆ

กำลังหาลายมืออยู่ เส้นอะไรต่อเส้นอะไรบ้างไม่รู้ยุบยับไปหมด
เอ้อ...เปลี่ยนไปหาเจ้ามือแทนดีไหม
อ้ะ...ไม่ดีอีกแล้ว เจ๊สอนไว้

"ผู้หญิงเราควรยืนอย่างสง่างามด้วยตัวเอง"

เรายืนแบบสง่างามแล้วให้เจ้ามือเค้ายืนข้างหลังเสริมความภูมิฐานให้ชีวิต ท่าจะดี
กรั่กๆๆ

 

โดย: เพลงฝนต้นลมหนาว 4 ตุลาคม 2551 14:49:09 น.  

 

#17

ดิฉันไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเลยค่ะ

ยังต้องฝึกฝนอีกมาก

คงต้องเขียนไปเรื่อยๆ

 

โดย: Kala_mydog 5 ตุลาคม 2551 0:21:23 น.  

 

เพิ่งมีเนตใช้เมื่อวานหลังจากย้ายบ้าน
เข้าบล็อคแก็งค์เห็นชื่อขึ้นข้างบน
เลยแวะมาอ่าน
เขียนได้ตรงดี

 

โดย: รูปสวยนะยะ (ตรีนุช3903 ) 5 ตุลาคม 2551 2:22:25 น.  

 

แวะมาชื่นชม

 

โดย: คนขับช้า 11 ตุลาคม 2551 19:02:31 น.  

 

ขอบคุณ คุณ Kala_mydog ที่เข้าอ่านบล็อกด้วยแหละค่ะ

 

โดย: tiki_ทิกิ 13 ตุลาคม 2551 19:00:56 น.  

 

สวัสดีจ้ะบี วันนี้ไฟไหม้บนเขาไม่ไกลจากที่พี่อยู่ ควันคละคลุ้งมาพร้อมกับสายลม แสบตามากเชียวล่ะ

นึกอยากกินแกงเหลือง แวะหากินทางบล๊อก
เจอบล๊อกบีจั่วหัวไว้หน้าบล๊อก ก็เลยแวะมา
คงสบายดีนะ เจอกันแต่ไม่ได้ทักทาย
พี่ง่วง..เฝ้าทีวีตามข่าวบ้านเมืองน่ะจ้ะ

 

โดย: แม่น้องนิก (Mommy and me ) 14 ตุลาคม 2551 6:33:13 น.  

 

หากแวะไปแสดงความขอบคุณช้า

ไม่ใช่อะไรหรอกนะคะ

คือดิฉันเป็นคนขี้เกียจมากถึงมากที่สุด

นานๆ จะเข้าบล็อคสักที

ขอบคุณมากค่ะที่แวะมา

 

โดย: Kala_mydog 14 ตุลาคม 2551 23:28:56 น.  

 

อ่านพบว่าพี่อยู่ South Bend เหรอคะ ของแทนอยู่ plymouth เคยไปเซาท์เบ็นตอนไปขอ Social Security Number เมืองใหญ่มาก แวะไปทานร้าน Siam น้องพนักงานทำหน้าตกใจมากที่เจอคนไทยด้วยกัน แต่แทนอ่ะดีใจมากที่ได้เจอคนไทยแถวๆ นี้ เมืองที่อยู่ไม่มีคนไทยเลยค่ะ เข้าใจว่าเป็นคนไทยคนเดียว

อ่านเจอว่าไม่ค่อยแวะเข้าบล็อคบ่อยๆ เอาไว้จะหลังไมค์ไปถามเกี่ยวกับร้านเอเชียละกันค่ะ

 

โดย: แทน IP: 205.242.95.140 16 ตุลาคม 2551 10:49:12 น.  

 

หรือพี่จะเขียนเมลมาคุยกันก็ได้นะคะ iloveyoumonkey@gmail.com ค่ะ

สวัสดีค่ะ

 

โดย: แทน IP: 205.242.95.140 16 ตุลาคม 2551 10:51:19 น.  

 

เรียน คุณแทนนะคะ

หากต้องการความช่วยเหลือในทุกเรื่อง

เมล์มาหาได้ค่ะ เมล์อยู่ในบล็อคนี้แหละ

แต่ต้องหานิดนึง แล้วจะได้ให้เบอร์เอาไว้

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

 

โดย: Kala_mydog 17 ตุลาคม 2551 22:53:11 น.  

 

อิอิ....

 

โดย: fontree IP: 203.113.111.213 20 ตุลาคม 2551 13:45:45 น.  

 

แวะมาเยี่ยมเพื่อนเก่า
อลังการงานสร้าง ดีจริงๆ คุณกะลา

 

โดย: สนิทใจ IP: 124.122.137.2 23 ตุลาคม 2551 23:37:49 น.  

 

สวัสดีคะพี่ สุดท้ายก็ได้แวะมาทักทายสักที
หนูก็ชอบเขียนเรื่องสั้น เพราะว่างจัด แต่ก็ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย ตอนหนูไปเที่ยวชิคาโก้ ก็ผ่านเมือง South Bend ที่พี่อยู่ ดูสวยกว่าเมืองที่หนูอยู่อีก อยากรู้ว่าที่อินเดียน่า มีที่ไหนเป้นจุดเด่นหรือน่าเที่ยวบ้างคะ อยากรู้ว่ามีวัดไทยที่นี้หรือป่าว อยากไปทำบุญ เพราะหาที่เมืองนี้ไม่เจอ เลยไปทำบุญที่วัดไทยในชิคาโก้แทน มีอะไรก็แนะนำได้นะคะ

 

โดย: เด็กบางนาคิดถึงบ้าน IP: 69.245.201.5 27 ตุลาคม 2551 6:21:26 น.  

 

แวะมาอ่านผ่านมาทักทาย

 

โดย: ตี๋น้อย (Zantha ) 29 ตุลาคม 2551 19:12:01 น.  

 

สบายดีนะคะ

 

โดย: teansri 31 ตุลาคม 2551 2:33:59 น.  

 

มาชื่นชมคนเก่งทางวรรณกรรมค่ะ

 

โดย: น้านก IP: 66.245.194.69 2 พฤศจิกายน 2551 12:29:36 น.  

 

คิดถึงจึงมาหา
แวะถามว่างานยุ่งไหม
สุขดีหรืออย่างไร
คนอยู่ไกลฝากหวังดี

 

โดย: teansri 4 พฤศจิกายน 2551 19:46:51 น.  

 

เพิ่งเเวะเข้ามาเยี่ยมคะตอนนี้กำลังค้นหาตัวตนที่แท้จริงอยู่คะอีกไม่นานคงค้นเจอบางทีคงเป็นอย่างที่พี่ว่าไว้

 

โดย: ปทิตตา 10 พฤศจิกายน 2551 11:52:22 น.  

 

ได้รับของที่ระลึกแล้วจ้า สมุดรูปน้องเหมียวน่ารักมั่กๆ ชอบจัง

ขอบคุณค่า

 

โดย: Febie 16 พฤศจิกายน 2551 20:29:38 น.  

 

ขอบคุณค่ะสำหรับเรื่องดีๆที่น่าอ่าน
..ชอบประโยคนี้จังเลยค่ะ

" ต้องก้าวจากความเป็น "นักอยากเขียน" มาเป็น "นักเขียน" ตัวจริง

อ่านแล้วรู้สึกมีพลัง และแรงบัลดาลใจขึ้นมาเลยทีเดียวค่ะ

 

โดย: ดอกหญ้าในดงผู้ดี 17 พฤศจิกายน 2551 0:28:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Kala_mydog
Location :
Indiana United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




**งานเขียนทุกชิ้นที่ปรากฏในเวบไซต์นี้
เป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าของบทประพันธ์นั้นๆ แต่เพียงผู้เดียว
ห้ามกระทำการดัดแปลง แก้ไข
หรือแอบอ้างไปเป็นผลงานของตน
โดยไม่มีการอ้างถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
หากผู้ใดมีความประสงค์
จะนำข้อมูลดังกล่าวออกเผยแพร่ ตีพิมพ์
หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใด
โปรดติดต่อเจ้าของบทประพันธ์โดยตรง**



สงวนลิขสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539
ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่และอ้างอิง
ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของข้อความ
ในสื่อคอมพิวเตอร์แห่งนี้เพื่อการค้า
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร
ผู้ละเมิดจะถูกดำเนินคดี
ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด



"เจริญขวัญ" (kala_mydog)

Friends' blogs
[Add Kala_mydog's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.