กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
18 กรกฏาคม 2551
 

'ขบวนการเสรีไทย' บันทึกบทแรกของสำนึกเยาวชนในสงคราม

เยาวชน' เป็นช่วงวัยเปี่ยมด้วย 'พลัง' ในอันที่จะก่อร่างสร้างชีวิตสู่อนาคต เยาวชนจึงเป็น พลังและความหวังของชาติ เยาวชนวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า… ขณะที่... ผู้ใหญ่ในวันนี้ คือ เยาวชนเมื่อวันวาน

เมื่อคนวัยเดียวกัน แต่ต่างตรงกาลเวลากว่ากึ่งศตวรรษ ท่ามกลางกระแสการแย่งชิง ดินแดน และทรัพยากรระหว่างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเรียกขานกันว่า 'สงคราม' เสรีไทยท่านหนึ่ง เล่าถึงบทบาท เยาวชนรุ่นพ่อ ซึ่งเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยเพื่อ 'กู้ความเป็นไท' จากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ.2484 ว่า

"เวลานั้นไทยเรามี 'ยุวชนทหาร' อายุไม่เกิน 18 ปี เป็นนักเรียนชั้นมัธยม มาถึงบัดนี้อายุ 80 กว่าปีกันแล้ว... เรารู้ว่าทหารญี่ปุ่นมีคนมากกว่า เขาเข้ามาในประเทศไทยนับแสน มีกองทหารในภูมิภาคอินโดจีนนับล้าน เราก็ยังสู้เพราะมีความรักชาติ"

ยุวชนฯ ไทยในสงครามโลก
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเช้าตรู่ของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปากน้ำ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี นับเป็นการละเมิดเอกราช อธิปไตยและความเป็นกลาง รัฐบาลในสมัยนั้นเซ็นสัญญา ยอมให้ญี่ปุ่น ซึ่งมีทหารนับแสนพร้อมอาวุธทันสมัย ยาตราทัพผ่านดินแดน ขณะที่เรามี กำลังทหารไม่มากนัก ทำให้คนไทยผู้รักชาติรักสันติทั้งในและต่างประเทศ รวมตัวกันเป็น 'ขบวนการเสรีไทย' ปฏิบัติภารกิจ 2 ด้าน คือ

ต่อสู้กับญี่ปุ่นผู้รุกราน
ปฏิบัติการร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อกอบกู้โลกให้กลับคืนสู่ภาวะสันติภาพ และเพื่อให้สัมพันธมิตรรับรองว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นฝ่ายแพ้หลังสงคราม
พอวันที่ 16 ธันวาคม 2484 ทางญี่ปุ่นขอร้องให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ปลดท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นแกนนำของขบวนการเสรีไทยในประเทศ ออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีคลัง แล้วตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อลดอำนาจของท่าน แต่กลับทำให้ ประสานงานหน่วยต่างๆ ได้มากขึ้น

ท่านปรีดีไปชวนหลวงสังวรณ์ฯ มารับตำแหน่ง 'สารวัตรใหญ่ทหาร' จัดตั้งกองกำลัง ประสานงานกับนอกประเทศ โดยคัดเลือกนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็น 'ยุวชนทหาร' เรียกว่า 'นฬสว.2488' เพราะต้องการคนมีการศึกษารู้ภาษาอังกฤษ พอจะสื่อสารกับทหารพลร่มอเมริกันและอังกฤษ ที่มาฝึกการรบให้ตั้งแต่ 'ยุวชนนายสิบ' คือ พวกนักเรียนอาชีวะฯ ไปจนถึง 'ยุวชนนายทหาร' เป็นพวกนิสิตจุฬาฯ สำหรับนักศึกษา ธรรมศาสตร์ไม่ได้ร่วมด้วย เพราะตอนนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเปิด

ขบวนการเสรีไทยในประเทศมีท่านปรีดีเป็นหัวหน้าขบวนการ ใช้ทำเนียบท่าช้างเป็น กองบัญชาการ มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมประสานงานภาคต่างๆ และต่างประเทศ หลวงสังวรณ์เคยกล่าวว่า

"เราสู้เขา ทั้งที่คนน้อยกว่าเขา เราไปฝึกอาวุธแบบทันสมัยกับสัมพันธมิตร พวกญี่ปุ่นมี 4-5 แสนคน ยุวชนทหารรวมกันแล้วประมาณกว่า 600 คน เราต้องการคนที่มีความรู้ไปฝึกอย่างรวดเร็ว ให้สำเร็จแล้วไปสอนพวกพลพรรค ทางอีสานอีกที"

ขบวนการเสรีไทยบรรลุภารกิจเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ภายใต้การนำของท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ท่านได้ประกาศสันติภาพ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของคนไทย ทั่วประเทศว่า การประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ (ฝ่ายสัมพันธมิตร) ที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้ กับทางญี่ปุ่น (ฝ่ายอักษะ) เป็น 'โมฆะ'

บทบันทึกวีรชน...จากพ่อสู่ลูก
ศ.นพ.เสม พริ้มพวงแก้ว ประธานคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 171/2545 ซึ่งจะจัดให้มีพิธีขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2546 พร้อมกิจกรรมอีกมากมาย เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเหล่าวีรชนในขบวนการ เสรีไทย ท่านกล่าวว่า

"พ่อได้มีชีวิตอยู่ในสงครามโลก 2 ครั้งมาแล้ว สงครามโลกครั้งแรก พ.ศ.2457-61 และครั้งที่ 2 คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2484-2488 พ่ออยากให้เด็กรุ่นใหม่ มีสำนึก ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เหมือนที่คนรุ่นเก่าได้สู้มาแล้ว ทั้งที่ตอนนั้นมี ประชากรเพียง 13-14 ล้านคนเท่านั้น ขณะนี้เรามีประชากร 62 ล้านคน พ่อเสียใจมากทีเดียว ที่เยาวชนของเราขณะนี้ 'หลงระเริง' ไปในสิ่งที่ฟุ่มเฟือย คนรุ่นพ่ออยู่ได้ด้วยเงินเดือนละ 15 บาท ขณะที่เดี๋ยวนี้หลอดไฟฟ้าหลอดเดียว ราคา 20 บาท

อยากให้ลูกหลานทั้งหลายสำนึกว่าเป็น 'หน้าที่' ที่เราต้องสู้เพื่อชาติบ้านเมือง 'ความเป็นไทย' มีความสำคัญมาก เราไม่ต้องไปตามใคร เราเป็นคนไทยต้องทำ อย่างคนไทย เพราะฉะนั้น การที่คนรุ่นก่อนได้เสียสละชีวิตอย่างน่าสรรเสริญ ไม่รู้จะตอบแทนอย่างไร คนแก่อายุมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปข้างหน้าแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์สงครามอีกครั้ง ก็อยากบอกลูกหลาน ว่า 'เราต้องสู้ทุกวิถีทางนะ' เพื่อให้ประเทศของเราอยู่รอดได้"

แม้ว่าขบวนการเสรีไทยจะปิดฉากลงพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ทว่าได้ทิ้งบทเรียน ล้ำค่าไว้ให้อนุชนเดินตามรอย คุณหมอเสมกล่าวเสริมว่า

"เนื่องจาก 'เสรีไทย' ไม่ได้ติดใจว่าเราเป็น 'ผู้กู้ชาติ' พอเสร็จภารกิจแล้ว ก็มอบอาวุธคืนรัฐบาล ไม่รับอะไรเลย แม้แต่ 'เหรียญสันติมาลา' ก็ไม่รับ เพราะถือว่า 'เราเป็นคนไทย' รักชาติ...ทำเพื่อชาติ การกู้ชาติมีสันติภาพได้ ไม่ใช่แค่ตั้งขบวนการเสรีไทยเท่านั้น ต้องมีกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่น จะถือว่ามีรัฐบาลอยู่ข้างนอกแล้ว...ก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่ได้ ต้องมีกองบัญชาการข้างใน ต้องเสียสละ ต้องทำงานลับ

ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งกำลังจัดทำกันนี้ จะแสดงรายละเอียดว่า พวกเราร่วมสามัคคี ร่วมรัก ร่วมใจ ร่วมเป็น ร่วมตาย กันมาอย่างไร ความลับจึงไม่ไปถึงญี่ปุ่น แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่ให้รู้ เมื่อทุกคน ที่เข้าร่วมเป็นร้อยๆ ในประเทศไทยทั้งหมด เราก็ถือว่าเป็นเสรีไทย เพราะทุกคน... ก็รักชาติ... ก็ช่วยกัน เราเสียสละกันอย่างไร เพื่อสอนลูกหลานว่า ถ้าหากเรามีเหตุจำเป็น ขึ้นมาต่อประเทศชาติ เราทำอะไรกันมาแล้ว ในเหตุการณ์ ที่ผ่านมานั้น เราสู้กับเขาตั้งแสน ตั้งหมื่นนะ เราต้องตายนะ…'ตายก็ตาย'…ก็เท่านั้น..."

'วัย 18 ฝน 18 หนาว' บนเส้นเวลา
จากความรักความสามัคคีของคนในชาติทุกระดับชั้น ตั้งแต่สามัญชนจนถึงเจ้า... คนเด็กไปถึงคนแก่... คนไทยในประเทศถึงคนไทยสารทิศทั่วโลก ในขบวนการเสรีไทย นั่นเอง ทำให้วันที่ 16 สิงหาคม 2488 เป็นวันที่ประเทศไทยรอดพ้น จากการตกเป็น ฝ่ายแพ้สงคราม ซึ่งต่อมาปี 2538 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปีเป็น 'วันสันติภาพ'

โดยสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร ในสมัยพิจิตร รัตตกุล เป็นผู้ว่าราชการ ได้จัดให้มีกิจกรรมเพื่อเชิดชูขบวนการเสรีไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 เริ่มจากการพัฒนาสวนสาธารณะที่เขตบึงกุ่ม เดิมชื่อ 'สวนน้ำบึงกุ่ม' เปลี่ยนเป็น 'ลานเสรีไทย' แล้วมาเป็น 'สวนเสรีไทย' ในที่สุด และเปลี่ยนชื่อถนน จากเขตบางกะปิ ไปมีนบุรี จากเดิมชื่อ 'ถนนสุขาภิบาล 2' เป็น 'ถนนเสรีไทย'

ในที่สุดก็ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชื่อว่า 'อาคารเสรีไทยอนุสรณ์' ซึ่งจำลองทำเนียบ ท่าช้าง กองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย มาไว้ที่สวนเสรีไทย แบ่งเป็นส่วนพื้นที่จัด แสดงเรื่องราวเหตุกรณ์เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย และห้องสมุดเสรีไทยอนุสรณ์ ไว้บริการให้ประชาชนเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ได้

โดยจะมีพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2546 และจัดกิจกรรม ร่วมสืบเจตนารมณ์ 'สรัางสันติภาพ รักษาความเป็นไท' ให้อยู่ชั่วลูกหลาน ประกอบด้วย โครงการต่างๆ ดังนี้

โครงการวรรณกรรมร่วมสร้างสันติภาพ, ดนตรีในสวน, ภาพยนตร์เพื่อร่วมเปิดอาคาร เสรีไทยอนุสรณ์, ศิลปะกับพื้นที่สันติภาพ, ละครเด็กและเยาวชน เรื่อง 'เสรีไทย เพื่อสันติภาพ', วิดีทัศน์ เรื่อง 'เสรีไทย เสรีเยาวชน', อบรมแกนนำเครือข่ายเยาวชนเสรีภาพ และหนังสือที่ระลึก 3 เล่ม ได้แก่ ตำนานเสรีไทย, เสรีไทย : อุดมการณ์ที่ไม่ตาย และการ์ตูนเสรีไทย

โดยเชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าว จะเป็นสื่อสายใยผูกโยง 'คนวัย 18 ฝน 18 หนาว… เมื่อกว่ากึ่งศตวรรษ มาแล้ว' ร้อยรัดรวมเข้ากับ 'คนวัย 18 ฝน 18 หนาว…ในวันนี้' และสืบต่อลงสู่ทุกชั่วคน ตราบนานเท่านาน อ.ดุษฎี พนมยงค์ กล่าวถึงสาระทิ้งท้ายไว้ว่า

"ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมไหน ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเสริมสร้างให้คนรุ่นใหม่มี 'สันติ' อยู่ในจิตใจ วันสันติภาพไทยไม่ได้มีเพียงแค่ วันที่ 16 สิงหาคม 2546 แต่วันสันติภาพไทยควรจะมีอยู่ตลอดไป และ 'สันติ' ควรจะมีอยู่ในใจ ของคนทุกคน โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่"


วิมล อังสุนันทวิวัฒน์, เรียบเรียง


Create Date : 18 กรกฎาคม 2551
Last Update : 18 กรกฎาคม 2551 0:42:42 น. 1 comments
Counter : 1100 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณมากครับพี่

ผมไม่แน่ใจว่า สงครามเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น การสร้างความเป็นทาส จากสินค้าและกิเลสนิยมต่างๆ ... จะทำให้เราเหลือความเป็นชาติแต่ในบัตรประชาชนหรือไม่

แต่ผมเชื่อว่า มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ที่ไม่ไช่การไปปลูกกระต๊อบอยู่ริมทุ่ง) ... ต่อสู้กับการรุกไล่ของชาติอื่นด้วยกำลังเงิน

คนไทยนี่เป็นคนฉลาดนะครับ เพียงแต่เราไม่มีนิสัยไปไล่ล่าอาณานิคมเท่านั้นเอง


 
 

โดย: KENG76 วันที่: 23 ธันวาคม 2551 เวลา:12:45:36 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

๛จูล่ง๛
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยคราว

คราวใดแพ้ ถือว่า ซ้อมรบ ^_^
[Add ๛จูล่ง๛'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com