"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
20 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
บันทึกพระประวัติพระจริยวัตรส่วนพระองค์ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ฯ




บันทึกพระประวัติพระจริยวัตรส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
และเหตุการณ์ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475*


ผู้บันทึก

นายสิงโต วัฒนสมบัติ เป็นมหาดเล็กอยู่ในวังบางขุนพรหมมาตั้งแต่อายุได้ 9 ปี จนถึง 26 ปี นับว่าเป็นข้าในกรมที่ใกล้ชิดเป็นการส่วนพระองค์ทางหนึ่ง ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยพันพุฒอนุราช เลขานุการส่วนพระองค์ สังกัดกรมวิเศษ กระทรวงมหาดไทย

ซึ่งมีหน้าที่จะต้องนำข้อราชการที่ค้างการ พิจารณาจากเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย อันเป็นตำแหน่งของทูลกระหม่อมขณะนั้น กลับมาทรงงานต่อ ที่วังบางขุนพรหม

ผู้บันทึกซึ่งมีอายุ 23 ปี ขณะนั้นจึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดและทราบงานต่าง ๆ ที่ทูลกระหม่อมทรงปฏิบัติในฐานะที่ทรงเป็นทั้งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยประธานองค์อภิรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและอื่น ๆ อีกด้วย

ผู้บันทึกนอกจากจะเป็นมหาดเล็กในวังบางขุนพรหมแล้ว ได้เข้ารับการการในโรงเรียนทหารช่าง กรมจเรทหารช่าง กระทรวงกลาโหม โดยมีพล.ต.ม.จ.ฉัตรมงคล โสณกุล ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่าง ขณะนั้นเมื่ออายุ ได้ 18 ปี

เมื่ออายุได้ 20 ปีเศษได้ย้ายไปทำงานในกระทรวงมหาดไทยในกองเอกสาร หนังสือพิมพ์ กรมตำรวจภูบาล มีหน้าที่ตัดข่าวและความเห็นบทความทางการเมืองจากหนังสือพิมพ์ ทุกฉบับเสนอทูลกระหม่อมบริพัตร เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง โดยปฏิบัติงานหน้าที่นี้อยู่ 3 ปีเศษ จึงมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น

นับว่าผู้บันทึกเป็นผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ ได้รู้ทั้งพระจริยวัตรของทูลกระหม่อมบริพัตรและทั้งอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะผู้ก่อการอัญเชิญทูลกระหม่อมบริพัตรจากวังบางขุนพรหมไป


วังบางขุนพรหม

ที่ดินวังบางขุนพรหมนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 5 ได้พระราชทานแก่พระมเหสีของพระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี (พระเจ้าน้องนางเธอ) และสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับพระโอรส พระราชธิดาของพระองค์ด้วย

บริเวณพื้นที่วังบางขุนพรหมมีเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ด้านตะวันออกติดกับถนนจักรพงษ์ มีประตูใหญ่เป็นทางเข้าวังด้านนี้ ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีตำหนักน้ำเป็นที่ประทับและที่บรรทมของทูลกระหม่อม

ด้านทิศใต้ติดกับถนนท่าเกษม ด้านทิศเหนือติดกับวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ (สกุลเทวกุล)

ด้านทิศใต้นับจากประตูวังบ้านหลังแรกเป็นบ้าน ร.ท.หม่อมเจ้ารัตน์โนภาส และเป็นที่พักของกรมวัง (ข้าราชการสำนักพระราชวัง) พักอาศัย ต่อไปก็เป็นบ้านของ พ.ท.หม่อมเจ้าสมบูรณ์ฯ (สกุลเกษมสันต์) ต่อไปเป็นบ้านพักของนายนราภิบาล เลขานุการส่วนพระองค์

ถัดไปเป็นเรือนแถวเป็นที่พักของพระพี่เลี้ยงนางนม และข้าราชบริพารฝ่ายใน ส่วนทางทิศเหนือจากด้านติดกับแม่น้ำเจ้าพระยามีบ้านหม่อมเจ้าธาดาฯ (สกุลกมลาส) ต่อไปเป็นเรือนผักของข้าราชบริพารฝ่ายในทั้งหมดรวมถึงเรือนไม้ใหญ่ เป็นที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของในวัง

ต่อไปเป็นห้องเครื่องคาวหวาน ห้องกุ๊ก (ทำอาหารฝรั่ง) จากนั้นเป็นโรงครัวใหญ่ประกอบอาหารรสำหรับเจ้านายในวังทั้งหมดพร้อมกับข้าราชบริพารอีกประมาณ 300 คน ทรงเลี้ยงดูทั้งหมด หุงข้าวกะทะคนด้วยพาย

ถัดไปด้านติดกำแพงวังเป็นบ้านพักของพันพุฒอนุราช (ยิม โกมารกุล ณ นคร) เลขานุการส่วนพระองค์ด้านกรมเวรวิเศษ กระทรวงมหาดไทย ตลอดแนวเป็นเรือนแถวพักของ ข้าราชบริพารฝ่ายหน้า (ผู้ชาย) ไปจนติดกำแพงด้านถนนจักรพงษ์

ทางประตูใหญ่เข้าด้านถนนจักรพงษ์ ถนนเป็นวงโค้งจดกับวงเวียนใหญ่ซึ่งเป็นวงเวียนกลมใหญ่ถึงท้องพระโรงของตัวตำหนักใหญ่ รอบวงเวียนด้านขวามือจะมีทหารมหาดเล็กตั้งกองรักษาการ มีทหารมหาดเล็กประจำนายร้อย นายสิบ พลทหาร ประมาณ 30 คน มีหน้าที่อยู่ยามประตูใหญ่ทางเข้า 1 คน หน้าที่อยู่ยามกองรักษาการ 1 คน

ข้างกองรักษาการมีสระน้ำใหญ่ 2 ข้าง โดยมีสะพานข้ามก่อนที่จะถึงวงเวียน

ตัวตำหนักใหญ่อยู่ระหว่างที่ดินของในวังบางขุนพรหม ต่อจากตำหนักใหญ่มีอีกตำหนักหนึ่งเรียกว่า ตำหนักเล็ก คือตึกเล็กกว่าตำหนักใหญ่สักเล็กน้อย ตำหนักเล็กเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี และกรมหลวงทิพย์รัตน์ฯ (น้า) และพระราชธิดาของทูลกระหม่อม เรียกว่า ฝ่ายใน

ตำหนัก 2 ตำหนักนี้มีสะพานเชื่อมถึงกันตลอด ด้านหน้าของตำหนักเล็ก เรียกว่า ฝ่ายใน หันหน้าตำหนักไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่ทำการธนาคารชาติเดี๋ยวนี้)


ทูลกระหม่อมบริพัตร

พระนามทรงกรมเต็มว่า "สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระสวรรค์วรพินิต" (เป็นพระพี่ยาเธอของในหลวงรัชกาลที่ 7) ทรงเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาดปราดเปรื่องพระองค์หนึ่ง ทั้งเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงขยันขันแข็ง มีพระอุสาหะวิริยะและทรงหวังดีในการทำราชการให้แก่แผ่นดิน และประเทศชาติดีเด่นเป็นอันมาก โดยมิได้ทรงคิดถึงความเหน็ดเหนื่อยพระองค์แต่ประการใด

และพระองค์เป็นเจ้านายที่ มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาแก่ประชาชนโดยทั่วๆไป ควรจะถือได้ว่าทูลกระหม่อมเป็นผู้ที่มีความสามารถพระองค์หนึ่งในยุคระบบราชาธิปไตยที่ผ่านมาแล้ว

ทรงเป็นราชาแห่งสังคีตดนตรีทุกชนิด ทรงสีซอสามสายได้ไพเราะ โดยเฉพาะทรงตีระนาดได้ยอดเยี่ยม และยังเป็นนักกล้วยไม้บรรลือพระนามแห่งประเทศไทยสมันนั้น ทรงมีความรู้ในการผสมกล้วยไม้ด้วยพระองค์เอง

ก่อนประเทศไทยจะเปลี่ยนการปกครอง พ.ศ. 2475 ขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ พระองค์นี้ทรงกำอำนาจสูงสุดในประเทศไทยรองจากในหลวงรัชกาลที่ 7 ในฐานะพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เป็นประธานองค์อภิรัฐมนตรีอันประกอบด้วย อภิรัฐมนตรีอีก 5 พระองค์

คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร

ประกอบทั้ง 5 พระองค์ เป็นองค์คณะอภิรัฐมนตรีรับเป็นผู้รักษาราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7

พระจริยวัตร

ทูลกระหม่อมบริพัตรพระองค์นี้ ทรงวิริยะขยันทำงานให้แก่ประเทศเป็นอันมากมิได้ทรงเห็นแก่ความ เหน็ดเหนื่อยแต่ประการใด ทรงตื่นบรรทมก็ประมาณตี 5 ครึ่งแล้วก็ทรงระนาดหรือสีซอสามสายที่พระองค์ ทรงโปรดปรานประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วก็เสวยพระกระยาหารเช้าก่อนเสด็จไปกระทรวงมหาดไทยเช่นนี้ เป็นประจำ

เมื่อเวลา 08.30 น. ก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงตำหนักใหญ่ ถึงท้องพระโรงซึ่งห่างกันกับ ตำหนักน้ำประมาณ 150 เมตร เมื่อเสด็จถึงท้องพระโรงแล้ว บางวันมีประชาชนมาคอยเฝ้าโดยกิจการ ต่างๆ กันก่อนจะขึ้นรถพระที่นั่งเฟียตเปิดประทุน ได้หน้าหม้อกลมๆ เก่าแล้วด้วย ถ้าเป็นสมัยนี้เขาทิ้งกันแล้ว

ทูลกระหม่อมบริพัตรท่านก็ทรงใช้ของท่าน ไปทำงานกระทรวงและไปงานอื่นๆ อยู่เสมอทุกวันก่อน เสด็จไปทรงงานและไปถึงกระทรวงจะต้องมีผู้มารอขอเข้าเฝ้าวันละประมาณ 4-5ราย เป็นประจำด้วยธุรกิจ ต่างๆกัน

พระองค์ท่านก็ไม่เคยถือพระองค์หลีกเลี่ยงไม่ยอมเข้าเฝ้า หรือและการใดไม่ ทรงต้อนรับทุกคนเป็นอันดียิ่ง ไม่ว่าผู้ที่มาเข้าเฝ้าจะมั่งมีดีจนอย่างไร ทรงทักทายปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ไพเราะเพราะพริ้ง ตามพระราชอัธยาศัยน่าฟังที่สุด เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เมื่อทรงรับสั่งกับแขกผู้ไปเฝ้านั้นไม่เคยทรงถือ พระองค์เลยแม้แต่น้อย

ผู้ไปเข้าเฝ้าบางรายก็ขอพระราชทานเงินบ้าง ขอพระราชทานแหนบ เหรียญส่วน พระองค์บ้าง ถวายของบ้าง ร้องทุกข์ต่างๆ บ้าง คือมีหลายประการเหลือที่จะจดจำไว้ได้ ความวุ่นวายต่างๆ ที่มีประชาชนไปเฝ้านั้นบางครั้งก็น่าเห็นพระทัยเป็นอันมาก

และเสด็จไปทรงงานที่กระทรวงมหาดไทย 09.00 น. ตรงเวลากลางวันเสด็จกลับวังเสวยพระกระยาหาร บ่ายโมงก็เสด็จทรงงานอีกครั้งหนึ่งจนถึง เวลา 16.30 น. เป็นประจำ เว้นแต่จะมีงานพิธีหลวง หรืองานพระราชทานเพลิงศพ พระองค์ก็เสด็จกลับ ก่อนเวลาบ้างเป็นบางครั้งบางคราว

เวลาเสด็จกลับเสวยกลางวันที่วังบางขุนพรหม ก็ยังมีคนที่มีธุระปะปัง ต่างๆ ขอเข้าเฝ้าอีก เวลาบ่ายโมงบางวันขณะจะเสด็จกลับไปทรงงานอีกครั้งหนึ่ง ก็ยังมีผู้ไปรอเฝ้าพระองค์อีก ผู้เขียนเห็นว่าทรงเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก ไม่ค่อยมีเวลาที่จะเป็นตัวของพระองค์เองเลย ไม่มีเวลาที่ จะเสด็จไปทรงกีฬา หรือไปตากอากาศ บางแสน พัทยา หัวหินเหมือนคนอื่นๆ เลย ทรงรักงานหมกมุ่นการ ทำงานของชาติเป็นที่สุดอย่างเดียว

ในเวลาเย็นถ้ามีเวลาทรงว่างงานสักเล็กน้อย โดยเฉพาะเวลาเสวยมากด้วยแล้วก็มีพระทัยดีเป็น พิเศษ มหาดเล็กรู้พระทัยตอนนี้โดยทั่วกัน เพราะเป็นโอกาสขอพระราชทานเงินกันได้สะดวก หรือ มหาดเล็กหลายคนรู้จังหวะ ก่อนเสด็จสรงน้ำหรือเวลาเสวยพระสุธารสตอนเย็นๆ ทรงโปรดเสวย ชาจีน โดยใช้กาเล็กๆ ใส่ในถ้วยเล็กๆ ถวาย

ทุกวันจะต้องมีมหาดเล็กไปขอพระราชทานเงินกัน ถ้าหาก มีงานออกร้านเช่น งานวังสราญรมย์ งานวัดเบญจฯ ก็ทรงแจกเงินผู้ที่ได้ใกล้ชิดไปเที่ยวงานอยู่เสมอ นี่แหละคือน้ำพระทัยของเจ้าฟ้า ที่ไม่ถือพระองค์

การขอพระราชทานเงินเปลี่ยนหนักกันแก่ก็ไม่ซ้ำหน้าบ่อยนัก ทูลกระหม่อมท่านก็ประทานทุกคน ถ้าทรงโปรดมากหน่อยก็ประทานมากหน่อยเป็นธรรมดา ทูลกระหม่อมทรงโปรดให้มหาดเล็กถวายอยู่งานนวดและถวายอยู่งานเหยียบ สุดแต่จะโปรดเห็นว่าผู้ใดถนัดในทางใด การที่ทรงให้มหาดเล็กนวดเหยียบพระองค์ท่าน ก็แสดงว่าทูลกระหม่อมบริพัตรพระองค์นี้มิได้ถือพระองค์เลย

ภายหลังเสวยพระกระยาหารสองทุ่มแล้ว บนตำหนักใหญ่จะประทับชั่วขณะหนึ่ง ทูลกระหม่อมบริพัตรจะต้องทรงงานที่พันพุฒอนุราช (ยิมโกมารกุล ณ นคร) เลขานุการส่วนพระองค์ หอบข้าราชการงานของประเทศชาติทั่วพระราชอาณาจักร โดยเฉพาะงานของกระทรวงมหาดไทย และงานในตำแหน่งอภิรัฐมนตรีมาที่วังเป็นจำนวนมาก

ทรงเซ็นหนังสือราชการ ทรงรับสั่งให้บันทึกกิจการต่างๆ แทบจะไม่มีเวลาทรงได้พักผ่อนก็ว่าได้ พันพุฒอนุราชเป็นผู้จดจากทูลกระหม่อม ซึ่งทรงบอกจากพระโอษฐ์ ในข้อราชการให้จดหรือหนังสือราชการโต้ตอบต่างๆ โดยพระองค์เองทั้งสิ้น

ข้าพเจ้ากับพันพุฒอนุราชได้ช่วยกันเสมอ และทั้งสองคนก็ยังอดชมพระสติปัญญาของพระองค์ไม่ได้ว่า ทรงมีพระปฏิภาณสูงยิ่ง คือ การงานต่างๆ ทรงสั่งให้จดโดยไม่ต้องร่างเสียก่อน ทูลกระหม่อมทรงรับสั่งเป็นคำบอก ให้พันพุฒอนุราชจดจากพระกระแสรับสั่งจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง

เมื่อจดแล้วก็อ่านถวายให้พระองค์ฟัง ขณะอ่านก็มิได้ทรงทักท้วงแก้ไขไปในตัวขณะนั้น ทำความประหลาดใจมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง แก่ผู้รับใช้ใกล้ชิดโดยทั่วกันไปว่าทรงมีพระปฏิภาณดียิ่ง


การทรงงาน

ทรงเรื่อยไปอย่างไม่มีเวลาหยุดของพระองค์ท่าน ตลอดไปจนถึงเวลา 5 ทุมครึ่งถึง 6 ทุ่ม (เที่ยงคืน) มหาดเล็กคอยรับใช้บางคนทนไม่ไหวหลับไปก็มี แล้วจึงได้เสด็จลงไปบรรทมที่ตำหนักน้ำเป็นประจำทุกวัน พระองค์มิได้บรรทมที่ตำหนักใหญ่

แม้แต่วันหยุดพระองค์ท่านก็หาได้หยุดไม่ เพราะมีงานมากเหลือเกิน ทั้งนี้ผู้เขียนก็ยังต้องตามเสด็จ ไปพร้อมด้วยมหาดเล็กคนอื่นๆ อีก 2 หรือ 3 คนเสมอเป็นประจำ เวลาเสด็จไปตรวจราชการต่างจังหวัดโดยทางเรือ ก็ทรงปฏิบัติพระองค์ง่ายๆ เช่นประทับนั่งที่โป๊ะ สรงน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้โดยการตักใส่ถังถวาย ไม่ใช่ทรงลงไปอาบในแม่น้ำ

กิจวัตรสำคัญที่สุดที่โปรดกระทำมากที่สุดก็คือ ทรงทำบุญเลี้ยงพระ ผู้เขียนกล้ารับรองว่า ไม่มีผู้ใดและเจ้านายพระองค์อื่นๆ ในสมัยนั้นทำบุญทำการกุศลมากกว่าวังบางขุนพรหม

นอกจากนั้นทูลกระหม่อมบริพัตรพระองค์นี้ทรงมีความรู้ทางด้านโหราศาสตร์ด้วย ทรงเคยตั้งชื่อคน ทรงพระราชทานฤกษ์การแต่งงานให้แก่ข้าราชการเป็นจำนวนมาก (อย่างเช่น พ.อ.พระประศาสนพิทยายุทธ) เป็นต้น และท่านก็ทรงแต่งงานให้ในวังบางขุนพรหมด้วย และอีกหลายคนที่ได้เคยทรงแต่งงานให้ในวังฯ ทั้งสิ้น

ยิ่งกว่านั้นยังทรงพระกรุณาแก่บุคคลทั่วไป ที่มีการจัดงานใหญ่ๆ ตามวังต่างๆ และงานศพเจ้านายต่างๆ และงานศพเจ้านายต่างๆ ก็มีผู้มาขอให้พระองค์ทรงช่วย โดยทรงจัดให้มหาดเล็กของพระองค์ไปเลี้ยงน้ำร้อน น้ำชาตามที่นั้นๆ อยู่เสมอ ถ้าจะกล่าวถึงน้ำพระทัยแล้วจะหาใครอื่นเปรียบเทียบได้ยาก

เหตุการณ์ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475

พิธีมหกรรมสมโภชน์พระนครประกอบกับงานฉลองสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2475 ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งมีข่าวลือกันหนาหูว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นนั้น เช่นนี้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีอะไรล้มเหลวไป

เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปโดยสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นหลังจากนั้นความเชื่อมั่นในเรื่องของรัฐบาลราชาธิปไตย นับว่าหมดความเชื่อถือในเหตุการณ์ลงไปอย่างมาก จนเกือบไม่เชื่อเสียว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ก่อนเกิดเหตุต้นเดือนมิถุนายน 2475 และก่อนนั้นหลายครั้ง ทูลกระหม่อมพระองค์ท่านก็ทราบจาก พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ พ.ต.อ.พระพิจารณ์พลกิจ พล.ต.หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล เจ้ากรมตำรวจภูบาล พ.ต.หลวงเสนีย์รณยุทธ ร.อ.หม่อมเจ้าสุธวุฒิประวัติ เทวกุลและข้าพเจ้า พร้อมด้วยพันพุฒอนุราช (ยิม โกมารกุล ณ นคร) เลขานุการในพระองค์ฝ่ายมหาดไทย

เคยได้พร้อมกันขึ้นกราบทูลพระองค์ท่าน เพื่อทรงทราบว่าจะมีเหตุปฏิวัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เหตุการณ์อันส่อแสดงผลหลายประการ อาทิเช่น บทความต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งข้าพเจ้าได้ตัดไปถวายและบันทึกเสนอเป็นประจำนั้น ก็แสดงว่ามีบทความยุยงส่งเสริมเกลี้ยกล่อมประชาชนอยู่เสมอ

แต่อย่างไรก็ดีทูลกระหม่อมท่านไม่ทรงเชื่ออยู่นั้นเอง โดยข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์ท่านมีพระเคราะห์มาถึง หรือกระทำให้ทรงสำคัญพระองค์ผิดไปว่า พระองค์มีผู้จงรักภักดีต่อพระองค์ท่านก็เป็นได้ จึงเป็นเหตุให้พระองค์ไม่ทรงเชื่อถืออะไรทั้งสิ้น

ในการกราบทูลของข้าพเจ้าก็เคยได้บ่งชัดให้พระองค์ทรงทราบว่า "จะมีเหตุ" เพราะข้าพเจ้าได้ทราบความจริงว่า ได้มีการประชุมใหญ่ของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ได้มีการประชุมวางแผนอยู่ชั้นบนของภัตตาคารแห่งหนึ่ง คือ ภัตตาคาร "ฮุ้นจุ้น" สี่กั๊กเสาชิงช้า ด้านหลังของกระทรวงกลาโหมนั่นเอง

การเปิดประชุมคราวนั้นมี พ.อ.พระยาฤทธิ์อาคเนย์ พ.ท.พระประสาสนพิทยายุทธ และ พ.ต.หลวงพิบูลย์สงคราม ร่วมอยู่ด้วย และเคยมีการประชุมที่บ้าน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช หลายครั้งที่ตำบลบางซื่อ ทั้งนี้อยู่ในการสะกดรอยของตำรวจภูบาลทุกระยะ

ซึ่งพล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศอธิบดีกรมตำรวจ ก็ได้เคยกราบทูลรายงานทุกระยะ พร้อมทั้งบัญชีรายชื่อของคณะนายทหารกองทัพบก พระองค์ก็ได้เคยมีโอกาสที่จะตรวจดูรายชื่อคณะปฏิวัติแล้ว ว่ามีใครบ้างแต่พระองค์ก็ยังไม่เชื่อสนิทนัก ว่าจะมีการจับกุมเจ้านายหลายพระองค์ตามทางสืบสวนของตำรวจสมัยนั้น

การไม่ทรงเชื่ออีกประการหนึ่งก็คือ นายทหารเหล่านั้นพระองค์ทรงชุบเลี้ยงมาดีอยู่ดี และบางคนพระองค์ทรงแต่งงานให้ในวังบางขุนพรหมเสียด้วย อาจจะเป็นคราวเคราะห์ร้ายอย่างมากของพระองค์ก็เป็นได้ จึงทำให้ไม่เชื่ออะไรทั้งสิ้นในการกราบทูลของผู้หวังดีของพระองค์

แต่กระนั้นเมื่อรายงานกราบทูลถึงเหตุอย่างแน่ชัดว่า จะมีการจับกุมเจ้านายกันจริงๆ ในเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์ก็ทราบก่อนที่อธิบดีกรมตำรวจเข้ารายงานว่า ได้สั่งกำลังตำรวจเต็มอัตราออกปฏิบัติการทั่วพระนครแล้ว

แต่ตำรวจเหล่านั้นบางคนก็หารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงผู้โดยสารรถลาก (รถเจ๊ก) นั้นส่วนใหญ่เป็นนายทหารหนุ่มๆ มาจากกองทัพบกที่นั่งรถลาก ซึ่งบางคนเป็นผู้กิจการที่เป็นทหาร ที่เป็นพลเรือน นั่งรวมกัน

สมัยนั้นมีคนจีนเป็นคนลากรถ ลากปุเลงปุเลง ไปสู่จดหมายปลายทางในที่ต่างๆ กันในความเป็นจริงเมื่อพ้นเวลาราชการไปแล้วนายทหารเหล่านั้นก็ชุมนุมกันเล่นโปกเกอร์บ้าง ทำให้บรรยากาศโดยทั่วไปสงบและแน่นิ่งเลยทีเดียว แต่ใครจะรู้ว่าวาตภัยใหญ่มักจะเกิดขึ้นภายหลังคลื่นสงบ

มีสัญญาณบอกเหตุลางร้ายของทูลกระหม่อมชายอีกอย่าง กล่าวคือ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประมาณ 6 เดือน ได้มีผึ้งหลวงรังใหญ่มาก มาเกาะที่หน้าเพดานกันสาดของตำหนักเล็กอีกหลังหนึ่ง ซึ่ง ตรงกับทางเสด็จพระราชดำเนินลงไปตำหนักท่าน้ำ ชั้นล่างสุดเป็นห้องทรงพระอักษรของพระราชธิดา ของพระองค์

ผึ้งรังนี้เกาะอยู่จนมีเหตุการณ์ใหญ่โตขึ้นแก่วังบางขุนพรหมและบ้านเมืองเกิดขึ้นดังกล่าว (เช่นเดียวกับลางร้ายบอกเหตุที่วังสวนผักกาด เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิจ พระราชโอรสของทูลกระหม่อมสิ้นพระชนม์ ก็ได้มีผึ้งหลวงรังใหญ่ไปเกาะอยู่ที่ข้างบันไดทางตำหนักของ พระองค์เช่นกัน ผึ้งหลวงรายนี้เกาะประมาณ 4 เดือนเท่านั้น) สันนิษฐานว่าเป็นลางร้ายประการหนึ่ง ไม่ช้าไม่นานนักเจ้าของวังก็สิ้นพระชนม์

ข้าพเจ้าจะต้องกล่าวถึงแผนการเริ่มต้นของคณะก่อการปฏิวัติ ก่อนการเปลี่ยนแปลงอีกสักเล็กน้อย ในขณะที่ยังหาหัวหน้ากลุ่มคณะทหารยังไม่ได้นั้น เพราะย่อมหาตัวคนยาก อนึ่งเป็นการเสี่ยงอันตราย อย่างยิ่งก็ย่อมเป็นธรรมดา ที่จะหาใครเป็นหัวหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นยากมาก

ขณะที่ยังหาตัวไม่ได้นั้นนายทหารผู้ใหญ่ได้กำหนดเอาไว้ คือ พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงคราม (เจริญ จันฉาย) เป็นหัวหน้า ก่อนที่จะแจ้งให้เจ้าตัวได้ทราบ ขณะนั้น พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามก็เป็นนายทหารประจำพระองค์ของทูลกระหม่อมอยู่ด้วย เข้าใจว่าจะเป็นการง่ายต่อการวางแผนการณ์ได้ดีและย่อมเข้าใจว่าอย่างไรเสียก็ ต้องทราบการเคลื่อนไหวต่างๆของทูลกระหม่อมได้ดีกว่าคนอื่น

พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามนายทหารช่างผู้นี้ สำเร็จวิชาทหารช่างและทหารสื่อสารมาจากประเทศ เยอรมันในสมัยเดียวกับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาทรงสุรเดชเป็นนายทหารรุ่น เดียวกันสำเร็จมาพร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีความรู้พิเศษสามารถนำฟางข้าวมากลั่นเป็นแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย

ตามวิธีการปกครองราชาธิปไตย สมเด็จเจ้าฟ้าทุกพระองค์ที่ทรงกรมจะต้องมีนายทหาร ประจำพระองค์เพื่อติดต่อราชการกับชาวต่างประเทศ เช่น พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายทหาร ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ส่วน พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามเป็นนายทหาร ประจำพระองค์ของทูลกระหม่อมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจอยู่

สมัยนั้นเป็นนายทหาร ที่มีความจงรักภักดีต่อเจ้านายเป็นอันมาก จึงเป็นที่โปรดปรานเป็นที่ได้ไว้วางพระราชหฤทัยของทูลกระหม่อมเป็นอย่างยิ่ง เป็นนายทหารที่มีหน้าที่ต้อนรับชาวต่างชาติแทนพระองค์อยู่เสมอ หากมีการต้อนรับแขกผู้ใหญ่มาต่างประเทศ ก็เป็นหน้าที่ของนายทหารประจำพระองค์เป็นผู้ออกบัตรเชิญทูตานุฑูต ประเทศต่างๆ พร้อมทั้งจัดการเลี้ยวต้อนรับชาวต่างประเทศในวังบางขุนพรหมเป็นการส่วนพระองค์เสมอ

ทั้งนี้พระองค์มิได้เบิกเงินของราชการแผ่นดินแต่อย่างใดเลย นายทหารผู้นี้จะต้องตรวจการโต๊ะ จัดที่นั่ง อันดับของแขก และความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามต่างๆโดยข้าพเจ้าเป็นผู้ช่วย พ.อ.พระยาศรีพิชัย สงคราม หากมีธุระอะไรเกี่ยวกับในวังท่านจะต้องติดต่อกับข้าพเจ้าก่อนเป็นคนแรก เพราะเหตุว่า ข้าพเจ้า อยู่ในวังบางขุนพรหมประการหนึ่ง และข้าพเจ้าเคยทำงานมากับ พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามอีกประการหนึ่ง

พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามเคยบอกข้าพเจ้าว่า "มีพวกพลเรือน" พวกหนึ่งหลายคนมาขอร้องให้ท่าน เป็นหัวหน้าปฏิวัติ ในฐานะที่ข้าพเจ้าใกล้ชิดบอกข้าพเจ้าถึงสองครั้งว่า "มีอ้ายพวกบ้าๆอะไรไม่รู้มันมา ติดต่ออั้วเป็นหัวหน้าเปลี่ยนการปกครองจับทูลกระหม่อม" โดยมันกล่าวว่า "อั้วใกล้ชิดช่วยวางแผนการ จับทูลกระหม่อม" "อ้ายพวกนี้มันหาเรื่องคิดขบถ จะเอาอั้วไปเป็นหัวหน้า อั้วไม่เล่นด้วย มันจะทำกันได้ อย่างไร อั้วรักเจ้านายท่าน จะทำได้ลงหรือ"

ข้าพเจ้าเองก็ไม่เชื่อเหมือนกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อย่างไร เพราะคิดว่าทูลกระหม่อมท่านเป็นผู้มีพระคุณแก่คนทั่วไปเป็นอันมาก ทรงรักทหาร ทรงรักงานของแผ่นดิน และก็ทรงเป็นประธานอภิรัฐมนตรีด้วย

เมื่อพ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึง 2 ครั้ง ข้าพเจ้าก็อดทนรนไม่ได้ ขณะนั้นถือว่า เป็นความลับก็ได้ ครั้งที่ข้าพเจ้าได้คิดพิจารณาไตร่ตรองอยู่หลายวันตามความที่ได้ทราบมาจาก พ.อ. พระยาศรีพิชัยสงคราม จึงได้กราบทูลทูลกระหม่อมทรงทราบทุกประการ

ประกอบกับได้สืบสวนมาจากกรมตำรวจภูบาลด้วยโดยละเอียด ขณะนั้นข้าพเจ้ายังหนุ่มมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น จึงรู้สึกเกรงกลัวกันที่เอาเรื่องการบ้านการเมืองไปกราบทูล โดยคิดเกรงว่าเป็นเด็กกราบทูลเรื่องใหญ่แก่เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินเช่นนี้ ท่านรับสั่งแก่ข้าพเจ้า "เด็กบ้าแกรู้เรื่องการบ้านการเมืองมากไปเสียแล้ว" "ไม่เชื่อ" หลังจากที่ข้าพเจ้ากราบทูลแล้ว ต่อมา พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงครามจะได้กราบทูลหรือไม่ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ

ในตอนดึกของวันที่ 23 มิถุนายน 2475 รถเจ๊กบางคันมีผู้โดยสารเป็นพลเรือนล้วนปะปนกันโดยมาก ไม่ได้นอน แสดงกิริยาอาการเมาโอกอากเมาดิบก็มี หรือดื่มสุราแล้วย้อมหัวใจให้เกิดความกล้าเกิดขึ้น ไปตลอดทาง ซึ่งเป็นเวลาที่ฤดูร้อนจัดย่างกรายเข้ามาแทนที่ความอบอุ่นแล้ว

บุคคลสำคัญๆ นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ลงมาตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เสนาบดีหลายกระทรวงจึงตามเสด็จแปรพระราชฐาน ไปหัวหิน สถานที่ตากอากาศ ทางฝ่ายทหารก็ดูเหมือนจะมีแต่ พล.ต.พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์ ณ อยุธยา) ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองพล 1 ซึ่งเป็นผู้ที่มีรูปร่างเล็ก แต่เสียงดัง กล้าหาญ เดินดังอยู่แต่ผู้เดียวที่เฝ้าอยู่ทางกองทัพบกในกระทรวงกลาโหม และดูแลถึงกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่ตั้งอยู่ หน้าวัดโพธิ์

นายพลผู้นี้ภายหลังการจับกุมเจ้านายไปหลายพระองค์แล้ว คณะทหารโดยการนำของ ร.ท.ขุนศรีศรากรได้ไปทำการจับกุม ปรากฏว่าการจับกุมนายพลผู้นี้ได้มีการต่อสู้กันบ้างในชั้นแรก ร.ท.ขุนศรีศรากร ถึงกับยิงเอาจนได้รับบาดเจ็บไม่ถึงแก่ชีวิต

มีข่าวว่าในระหว่างนั้นที่ วังไกลกังวล หัวหิน ก็ได้มีการทดลองใช้ปืนกลหนักใหม่เอี่ยม ซึ่งสั่งมาจากประเทศเชกโกสโลวาเกีย มีการทดลองอยู่ 4 กระบอกที่ริมหาดทราย หน้าพระที่นั้งไกลกังวล ซึ่งในหลวงและเสนาบดีแม่ทัพต่าง ๆ ที่ตามเสด็จออกไปตรวจทดลองการใช้ กระสุนจริงที่ชายหาด

ทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งเฝ้าโยงรับภารกิจทางกรุงเทพฯ อยู่จะต้องทรงรับงานในพระราชภารกิจของในหลวง เป็นงานซึ่งกองพะเนินเทินทึกมากทีเดียว เพราะงานมาจาก ทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่บรรทุก รถมาจากหลายแห่งมายังวังบางขุนพรหม เพื่อรอการทรงพระวินิจฉัยและสั่งการออกไปทั่วพระราชอาณาจักร

แต่แม้จะเป็นงานล้นพระหัตถ์เพียงใด ทูลกระหม่อมก็ต้องทรงรับไว้ปฏิบัติแต่พระองค์เดียว ยิ่งกว่านั้นยังทรงหาเวลาไปยังสิ่งที่ทรงโปรด คือ เล่นกล้วยไม้และวงเครื่องสายของพระองค์ และยัง ทรงหาโอกาสบรรเลงซอสายสายเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ที่ห้องบรรทมของพระองค์ที่ตำหนักน้ำ เป็นสิ่งที่โปรด อยู่จนถึงคืนวันที่ 23 มิถุนายน 2475 อันเป็นราตรีสุดท้ายแห่งราชาธิปไตยในกรุงสยามจะดับสูญ

ในคืนวันที่ 23 หลังจากได้เสวยพระกระยาหารค่ำบนตำหนักใหญ่แล้ว โดยปกติก็ประทับชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ทรงรับสั่งให้พันพุฒอนุราช เลขานุการ กรมเวรวิเศษ เอาหนังสือราชการต่าง ๆ เข้าไปถวายแล้ว ก็เริ่มทรงงานอันพิลึกพิเรอเกวียนตลอดจนกระทั่ง 6 ทุ่มเศษ (สองยาม) จึงจะได้เสด็จลงไปเพื่อบรรทม ที่ตำหนักน้ำ

งานนั้นเป็นงานด่วนทั้งสิ้น ที่เจ้าหน้าที่จะต้องมารับพระวินิจฉัยสั่งการแจกจ่ายไปยังกระทรวงต่าง ๆ และผ่านไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อพระองค์เสด็จลงมาจากที่ประทับทรงพระอักษรแล้ว เหมือนจะเป็นลางสังหรณ์ ได้ทรงพระดำเนินผ่านห้องต่าง ๆ ยังมีแสงไฟสว่างอยู่ เพราะบางคนยังไม่เข้าหลับนอน

ตามปกติจนกว่าทูลกระหม่อมจะเสด็จลงไปตำหนักน้ำเรียบร้อยเสียก่อน และในราตรีนี้ก็เป็นอีกราตรี หนึ่งที่อากาศช่างร้อนอบอ้าวเสียนี่กระไร ทูลกระหม่อมเสด็จไปบรรทมที่ตำหนักน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่มีอากาศปลอดโปร่งและลมพัดเฉี่อยฉิว

เมื่อเสด็จลงจากตำหนักใหญ่ ยังรับสั่งกับมหาดเล็กผู้เสด็จตามลงร่วมกับข้าพเจ้าด้วยว่า "ได้ยินว่า เขาจะมาจับเจ้า เรื่องบัญน้ำบัญชีหรือโกงอะไรหรือ" มหาดเล็กที่ตามเสด็จลงมาจากตำหนักใหญ่ 4 คน ในคืนวันนั้นมองดูที่พระพักตร์ของพระองค์ด้วยความงงงัน ดดยทูลตอบจากมหาดเล็กอวุโสคนหนึ่งว่า "ใครจะมาจับเจ้านายได้ในสมัยราชาธิปไตย" เช่นนี้

ส่วนข้าพเจ้าได้ทราบข่าวมาก็ได้เคยกราบทูลไว้หลายครั้ง อย่างเช่นที่พระองค์รับสั่งแต่ก็มิได้กราบทูลประการใดในขณะนั้น ข้าพเจ้าและมหาดเล็กอีก 3 คน คิดพยายามที่จะฟังกระแสรับสั่งอธิบายต่อไปจากพระองค์ท่าน แต่พระองค์ท่านก็มิได้รับสั่งอะไรออกมาอีก นอกจากจะทรงพระดำเนินเรื่อย ๆ ไปจนถึงตำหนักน้ำที่ประทับบรรทมของพระองค์

สายลมเย็นจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝ่ายวังบางขุนพรหมซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตำบลบ้านปูน (โรงงานสุราบางยี่ขันเดี๋ยวนี้) ลมพัดอยู่ระรื่น และลมเย็นในตอนดึกสงัดและจะพัดกระโชกเป็นครั้งคราว

แสงไฟจากตำหนักใหญ่ที่ประทับของพระชายาและของพระโอรส ธิดา ก็เริ่มดับลงเป็นหย่อม ๆ เมื่อทูลกระหม่อมเสด็จถึง ขึ้นห้องบรรทมของตำหนักน้ำแล้ว บรรดามหาดเล็ก ก็จะต้องนอนหลับข้างล่างเช่นเคย ไม่นานนักบนตำหนักน้ำไฟฟ้าก็ดับลง แสดงว่าได้บรรทมแล้ว

สมัยนั้นเรือรบหลวงบางลำก็ทอดสมออยู่ทีกลางแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ห่างจากตำหนักน้ำเท่าใดนัก ประมาณ 50 เมตรเท่านั้น และมีเรือกลไฟเล็กๆ อยู่ข้างๆ เรือลำใหญ่เพื่อช้ำลำเลียงนายทหารเรือข้ามฟากมาที่ท่าน้ำเกษมข้างบ้าน พล.อ.เจ้าพระยารามราฆพ

ดาวคืนสุดท้ายทีวังบางขุนพรหม

กล่าวว่าเบื้องหลังของเหตุการณ์ปฏิวัติซึ่งเริ่มแต่รุ่งอรุณของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาประมาณ 05.00 น. ข้าพเจ้านอนที่ตำหนักน้ำที่บรรทมของทูลกระหม่อมและมีมหาดเล็กคนอื่นอีก 3 คน

รุ่งเช้า วันนั้นมีนายตำรวจหลายคน อาทิ พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ พ.ต.อ.พระพิจารณ์พลกิจ พล.ต.หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล เจ้ากรมตำรวจภูบาล และ น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์ นายทหารเรือเคยเป็นนายธงของทูลกระหม่อม ได้ปลุกข้าพเจ้าให้ปลุกบรรทมของทูลกระหม่อม ซึ่งประทับอยู่ชั้นบนของตำหนักน้ำ

สักครู่ก็ปลุกบรรทมตื่นก็ได้เสด็จลงมาประทับคุยกับนายตำรวจ และขณะนั้น พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ อธิบดีกรมตำรวจ ก็ได้กราบทูลว่าจะมีทหารมาจับกุมพระองค์ พระองค์ก็ทรงพระสรวลเฉย ๆ แสดงว่าน้ำพระทัยของพระองค์ดีมาก

นายตำรวจพร้อมกับพระยาศราภัยพิพัฒน์ก็กราบทูลว่า ขอให้เสด็จลงเรือกลไฟซึ่งจอดรออยู่ก่อนแล้ว ไม่ทราบว่าผู้ใดจัดมาในเช้าวันนันคล้ายกับรู้เหตุการณ์ดีมาตลอดแล้ว ขณะนั้นพระองค์ก็ทรงประทับเฉยเสีย

โดยรับสั่งว่า "จะดูว่าเขาจะทำอะไรฉัน ฉันก็เป็นทหารและก็เคยทำคุณให้แก่ข้าราชการมาแล้วเป็นอันมาก เมื่อเขาจะมาจับจริงก็ต้องรับหน้าเขา ไม่ต้องให้ฉันหนีโดยเรื่อกลไฟที่จอดรอ ให้เรือเขาไปได้ "

เมื่อทรงรับสั่งขาดคำ ก็ได้ยินเสียงปืนยิงทางหน้าวังดังสนั่นหวั่นไหว โดยเข้าใจว่าคงจะเป็นปืนกลจากรถถัง และปืนเล็กยาว ได้ยินเป็นชุด ๆ ถนัดถนี่มากการยิงปืนเข้าไปตังแต่หน้าประตูวังนั้น เห็นจะเป็นการยิงขึ้นฟ้าขู่มากกว่า ได้ยินเสียงปืนดังติด ๆ กันจนใกล้จะถึงหน้าตำหนักใหญ่ คือที่วงเวียนหน้าตำหนักใหญ่ พร้อมกับเข้ายึดกองรักษาการณ์ทีประจำอยู่ในวัง

แต่อย่างไรไม่ปรกฎ คณะทหารที่เข้าไปนั้น หาทราบที่บรรทมของทูลกระหม่อมว่าทรงบรรทมแห่งใด เมื่อถึงท้องพระโรงแล้วก็ยึดปืนเล็กยาวที่ทหารรักษาการณ์ (ยาม) ที่ท้องพระโรงไว้ และถามว่าทูลกระหม่อมท่านบรรทมที่ไหน (พลยามเล่าให้ฟังภายหลัง)

ดังนั้น เมื่อได้รับคำตอบจากทหารยามแล้ว กลุ่มคณะทหารก็กรูกันไปที่ตำหนักน้ำ โดยมี พ.ท.พระประสาสนพิทยายุทธ เป็นผู้นำ มีประมาณ 20 คนเศษ ส่วนรถถังคงจอดอยู่ที่วงเวียนหน้าตำหนักใหญ่ อาจจะไม่รู้ว่าทางต้องอ้อมไปตำหนักน้ำทางใดก็เป็นได้

เมื่อพ.ท.พระประสาสน์พิทยายุทธ ก้าวขึ้นสะพานท่าน้ำ ซึ่งมีระยะห่างจากตัวตำหนักน้ำประมาณ 10 เมตร ขณะเดียวกันนั้นทูลกระหม่อมทรงสนับเพลา (กางเกง) นอน ทรงฉลองพระองค์บางสีขาวคงเป็นชุดนอนก็ทรงเสด็จมาที่กลางสะพานท่าน้ำนั้น พ.ท.พระประสาสน์ฯ ถึงกลางสะพานท่าน้ำพอดี อยู่ห่างพระองค์ประมาณ 3 เมตร

คณะทหารติดตามอยู่ห่าง ๆ กันระยะ 1,2,3 เมตรบ้าง ทหารอยู่ในลักษณะยกปืนเฉลียงด้านหน้า พานท้ายปืนอยู่ด้านขวาปลายกระบอกปืนอยู่เฉลียงไปทางด้านซ้าย มิได้แสดงท่าทางในทางเตรียมยิงแต่อย่างใด นอกจาก พ.ท.พระประสาสน์ฯ ถวายความเคารพโดยวันทยหัตถ์อยู่ใกล้พระองค์นั้น ในท่าวันทยหัตถ์มือสั่นเทา

และได้กราบทูล ทูลกระหม่อมที่ทรงประทับยืนจ้องหน้าอยู่นั้น ปากสั่น กราบทูลว่า "ขอเชิญเสด็จไปประชุมทีพระที่นั่งอนันตฯ ซึ่งขณะนี้มีทหาร พลเรือน รออยู่พร้อมแล้ว" เมื่อกราบทูลขาดคำทูลกระหม่อมก็รับสั่งสวนขึ้นว่า "ตาวันแกทำอะไรกัน แกจะเอาฉันไปทำไม เรื่องอะไร หรือแกหาว่าฉันโกงอะไรหรือ"

ในที่สุดพ.ท.พระประสาสน์ฯ ก็กราบทูลอีกว่า "มิได้พะยะค่ะ เพียงแต่ทูลเชิญให้ไปประชุมเดี๋ยวนี้ ที่พระที่นั้งอนันต์ฯ เท่านั้น" และขอให้เสด็จไปโดยเร็ว ๆ ด้วย คำพูดของ พ.ท.พระประสาสน์ฯ ขณะกราบทูลนั้นไม่ค่อยจะได้ความเพราะปากสั่นอยู่ตลอดเวลา เห็นจะเป็นด้วยตกประหม่าก็เป็นได้ หรือไม่ก็คงนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้เคยทรงแต่งงานให้ในวังบางขุนพรหมขึ้นมาในขณะนั้นก็เป็นได้ จึงกราบทูลเสียงสั่นและไม่ชัดถ้อยชัดคำเลย

ส่วนนายทหาร นายสิบ พลทหาร คนอื่น ๆ ก็ทำท่าระวัง ทรงเฉย ๆ อยู่ปกติ แล้วทูลกระหม่อมก็ทรงพระสรวลอย่างพระทัยเย็นมาก มิได้แสดงการสะทกสะท้านหรือท่าทรงตกพระทัยแต่อย่างใดเลย ทรงเป็นชายชาติทหารแท้ ๆ ข้าพเจ้าและมหาดเล็กถึงกับน้ำตาไหล ในขณะเดียวกันทุกคนก็ประทับปืน นั่งยอง ๆ เตรียมยิงและฟังรับสั่ง คือจะยิงต่อสู้อยู่แล้ว ขณะที่พ.ท.พระประสาสน์ฯ กราบทูลนั้น

แต่ทรงกำชับไว้ก่อน พ.ท.พระประสาสน์ฯถวายความเคารพทำวันทยหัตถ์แล้วว่า "แกอย่าทำอะไรเขานะ" ส่วนนายตำรวจที่ไปกราบทูลเรื่องราวก่อนนั้น เพียงแต่เอาปืนพกออกมาถือไว้เท่านั้น นับว่าเดชะบุญอยู่มากในกลุ่มคนทั้งหมด รวมทั้งทูลกระหม่อมด้วยเพียงไม่รับสั่ง "แกอย่าทำอะไรเขา" เท่านั้นทำให้บรรยากาศโดยทั่วไปสงบเงียบ

มิฉะนั้นต้องตายกันและเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันนั้น ต้องล้มเหลวอย่างแน่นอน หรือไม่ก็ต้องมีการนองเลือดอย่างไม่มีปัญหา

อีกประการหนึ่งเพียงแต่ทูลกระหม่อมรับสั่งว่า "ฉันจะไปเรือกลไฟ จะไปกรมมหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ที่ตั้งอยู่หน้าวัดโพธิ์ ขณะนั้นก็จะต้องเกิดเหตุการณ์ใหญ่ต่อสู้กันขึ้นอย่างไม่มีปัญหา แน่นอนเหลือเกินที่จะต้องเสด็จถึงกรมทหารมหาดเล็ก ที่หน้าวัดโพธิ์ก่อนคณะมหารจะไปถึงวังบางขุนพรหมเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ทูลกระหม่อมพระองค์เดียว ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จสมความประสงค์ของคณะราษฎร์ ทูลกระหม่อมน้ำพระทัยทรงเปี่ยมไปด้วยความรักราษฏร ประชาชนทั่ว ๆ ไปอยู่เป็นเดิมพันอยู่แล้ว จึงมิได้มีเหตุการณือะไรร้ายแรงเกิดขึ้นถึงกับนองเลือดในวันนั้น พระบุญคุณอันนี้ ไม่มีผู้ใดมองเห็นว่าจุดใหญ่อยู่ที่พระองค์ท่านพระองค์เดียวแท้ ๆ

เมื่อตอนที่ พ.ท.พระประสาสน์ฯ กราบทูลและทรงรับปากว่า จะไปพระที่นั่งอนันต์ฯ ตามคำกราบทูลเชิญ โดยดีแล้ว ทันใดนั้นพระประสาสน์ฯ ก็ยิ้มออก ก้มลงกราบแทบพระบาทของพระองค์ แล้วก็เป็นอันเสด็จพระราชดำเนินไปตามทางขึ้นตำหนักใหญ่ ผ่านตำหนักใหญ่ก็ลงทางหน้าท้องพระโรง เสด็จเรื่อย ๆ ไปจนถึงรถถัง (ข้าพเจ้าขอเรียกว่า รถถังมหาภัย)

เมื่อเสด็จถึงรถถังแล้วทรงพระดำริอย่างไร ในพระทัยขึ้น จึงได้ทรงรับสั่งแก่พระประสาสน์ฯ ที่เดินตามเสด็จใกล้ๆ พระองค์นั้นว่า "ตาวัน ให้ฉันขึ้นไปแต่งตัวเสียหน่อยได้ไหม" พ.ท.พระประสาสน์ฯ กราบทูลทันทีว่า "ไม่ได้พะยะค่ะ" เพราะมีทหาร พลเรือน เตรียมพร้อมรอคอยแต่ใต้ฝ่าพระบาทไปประชุมโดยเร็ว ขอเชิญเสด็จขึ้นรถถังคันนี้ (รถถังจอดอยู่วงเวียนใหญ่กลางทางระหว่างกลางถนน)

ทรงประทับยืนสักครู่ก่อนขึ้นรถถังทรงรับสั่งอีกว่า "ตาวัน อย่างนั้นแกยิงฉันให้ตาย เอาไหมละ" "เอาซิ ยิงฉัน" พระประสาสน์ฯ กราบทูลทันทีว่า "ทำเช่นนั้นไม่ได้พะยะค่ะ" ส่วนเครื่องแต่งพระองค์จะให้มหาดเล็กเอาไปถวายที่พระที่นั่งอนันต์ฯ เป็นอันว่าเสด็จขึ้นรถถังกับพลขับ ส่วนพระประสาสน์ฯ นั่งไปอีกคันหนึ่ง ความเป็นจริงก็ได้ถวายความเคารพอยู่มาก คือ คณะทหารไม่แสดงว่าจับกุมพระองค์แต่อย่างใด แสดงสะทกสะท้านมาก

เมื่อออกไปจากวังบางขุนพรหมแล้ว ก็มีมหาดเล็กหลายคนได้เอารถตามเสด็จไปด้วย แต่เข้าไม่ได้ถึงที่ประทับพระที่นั่งอนันต์ฯ โดยไปสะดุดหยุดลงเสียที่พลทหารเรือ ในเครื่องแบบสนามถืออาวุธปืนครบมือเข้าแถวเรียงหนึ่งเป็นหน้ากระดาน ตั้งแต่หัวมุมหน้าวังปารุสกวันระยะ 1 เมตรยาวไปถึงหัวมุมสนามเสือป่าซึ่งขณะนั้นเป็นบ้านนรสิงห์ (ที่มีไฟสัญญาณจราจรเดี๋ยวนี้)

ข้าพเจ้ากำลังหนุ่มคะนองก็อดหลุดปากไปไม่ได้ว่า "เอ๊ะ ทหารพวกนี้จับทูล กระหม่อมของฉันไปทำไม" ทันใดนั้นทหารเรือที่ตั้งแถวอยู่นั้น ขู่ว่า "แกว่าอะไรนะ อย่าเข้ามายุ่งนะ เดี๋ยวยิงตายเปล่า"


มีต่อตอนที่ 2 ค่ะ


Create Date : 20 สิงหาคม 2553
Last Update : 23 สิงหาคม 2553 16:52:22 น. 0 comments
Counter : 3278 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.