"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
20 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
ความคิดและความเคลื่อนไหว (2) ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มกบฎ ร.ศ. 130




ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มกบฎ ร.ศ. 130
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. 2453 นั้นกลุ่มปัญญาชนต่างก็มุ่งหวังว่า พระองค์จะทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และคงได้ทรงเตรียมพระองค์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสไว้

แต่ปรากฏว่ายังไม่มีพระราชดำริในเรื่องรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด ในเวลาเดียวกันประเทศจีนมีการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์แมนจู เปลี่ยนการปกครองประเทศ เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐเป็นผลสำเร็จ ทำให้ความคิดอยากจะได้ประชาธิปไตยมีมากขึ้น

ประกอบกับความไม่พอใจในพระราชจริยาวัตรบางประการ ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาที่จะล้มล้างระบอบการปกครอง

ดังนั้น เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คือ พวกนายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน รวมประมาณ 100 คน เรียกตัวเองว่า คณะ ร.ศ. 130 ได้วางแผนการปฏิวัติการปกครอง หวังให้พระมหากษัตริย์พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทย

ถ้าจะพิจารณารายชื่อกันแล้วส่วนใหญ่เป็นนายทหารบก อายุน้อย เพิ่งสำเร็จการศึกษาใน ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2451) หัวหน้าคณะได้แก่ นายร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) อายุ 28 ปี อายุคนอื่น ๆ เช่น นายร้อยตรีเหรียญ ศรีจันทร์ เพียง 18 ปี นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ อายุ 19 ปี เป็นต้น

คณะ ร.ศ. 130 ได้กำหนดวันปฏิวัติเป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2455 อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยสมัยนั้น ซึ่งจะมีพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่คณะก่อการคณะนี้ได้ถูกจับกุมเสียก่อนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454

เพราะผู้ร่วมงานคนหนึ่งคือนายร้อยเอก หลวงสินาดโยธารักษ์ นำความลับไปทูลหม่อมเจ้าพันธุประวัติผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งก็ได้กราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถให้ทรงทราบ และดำเนินการจับกุมด้วยพระองค์เอง

คณะ ร.ศ. 130 ถูกศาลทหารพิพากษาให้ประหารชีวิต 3 คน จำคุกตลอดชีพ 20 คน และจำคุกนานลดหลั่นกันตามความผิด โทษที่น้อยคือจำคุกมีกำหนด 12 ปี ในข้อหาว่าจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง ของพระราชอาณาจักรและทำการกบฎประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ความผิดของพวกเขาเหล่านี้มี "ข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้"

ดังนั้น ผู้ที่มีชื่อถูกประหารชีวิต 3 คน จึงได้รับการลดโทษลงมาเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ที่มี่ชื่อถูกจำคุกตลอดชีวิต 20 คนให้ลดโทษลงมาเหลือจำคุก 20 ปี อีก 68 คนซึ่งมีโทษจำคุกต่าง ๆ กันนั้น ให้รอการลงอาญาไว้ (ใน พ.ศ. 2467 นักโทษการเมืองทั้ง 23 คนได้ถูกปล่อยตัวหมด)

สาเหตุของการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเพียงขบวนเล็กน้อย คือในปลาย พ.ศ. 2452 ได้มีการโบยหลังนายทหารสัญญาบัตรกลางสนามหญ้า ภายในกระทรวงกลาโหมท่ามกลางวงล้อมของนายทหารกองทัพบก ด้วยพระบัณฑูรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

ทั้งนี้เพราะนายร้อยเอกโสม ได้ตามไปตีมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ที่มาทะเลาะวิวาทกับทหารบกที่หน้ากรมทหาร การโบยหลังนายร้อยเอกโสม ทำให้เกิดปฏิกิริยาเกิดขึ้นในหมู่ทหารบก และโดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยทหารบก

ครั้นต่อมา ใน พ.ศ. 2453 – 2454 นายทหารรุ่นที่จบจากโรงเรียนนายทหารบกในปลาย ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ได้เข้ารับราชการประจำกรมกองต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักรแล้ว มีหลายคนที่เกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างแรงกล้าจากการตั้ง "กองเสือป่า" คิดว่าพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงสนับสนุนกิจการทหารบก

และคิดต่อไปว่าการที่ประเทศไทยไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะเป็นการปกครองด้วยคนคนเดียว นายทหารบกกลุ่มนี้คิดเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มการปฏิรูปประเทศพร้อม ๆ กัน แต่เหตุใดประเทศญี่ปุ่นจึงเจริญเกินหน้าประเทศไทยไปไกล

คำตอบที่นายทหารบกกลุ่ม ร.ศ. 130 คิดได้คือประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใต้กฎหมาย ทั้งยังปลูกฝังให้พลเมืองรู้จักรักชาติ รักวัฒนธรรม รัฐบาลรู้จักประหยัดการใช้จ่าย

ในไม่ช้าก็มีการค้าไปทั่วโลก มีผลิตผลจากโรงงานอุตสาหกรรมของตนเอง มีการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบกภายในประเทศและนอกประเทศ และแผ่อิทธิพลทางการเมือง การทหาร การสังคมและวัฒนธรรมไปทั่วโลกได้อีกด้วย

แต่ประเทศไทยไม่สามารถจะหยิบยกภาวะอันใด ที่เป็นความเจริญก้าวหน้ามาเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่นได้เลย เมื่อคำนึงถึงความล้าหลังของประเทศ และคิดว่าไม่ควรที่อำนาจการปกครองประเทศชาติจะอยู่ในมือของคนคนเดียว จึงทำให้นายทหารบกคิดปฏิวัติ

แผนการปฏิวัตินั้น จะขอเพียงว่าให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยุ่หัว ทรงยอมยกตำแหน่งมาอยู่ใต้กฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และได้วางแผนกันต่อมา ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยินยอม ก็จะทูลเชิญเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐไทย

บรรดานายทหารบกคิดจะทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นประธานาธิบดี พวกทหารเรือก็คิดว่าควรจะเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เป็นต้น

การดำเนินงานตามแผนเน้นจะใช้เวลาถึง 10 ปีเพื่อจะได้มีเวลาสอนทหารเกณฑ์ทุกรุ่นในช่วงเวลานั้น รอให้ทหารเกณฑ์ได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพตามภูมิลำเนาทั่วประเทศ และได้อบรมสั่งสอนลูกหลานในทำนองเดียวกัน

อีกประการหนึ่งก็เพื่อให้ผู้คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีวัยวุฒิ และคุณวุฒิเพิ่มขึ้น คือมีอายุ และตำแหน่งในหน้าที่การงานสูงขึ้น ความสามารถและความสุจริต จะได้เป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติให้มหาชนเชื่อถือได้

อุดมการณ์ของคณะ ร.ศ. 130 เป็นอุดมการณ์ของคนหนุ่มซึ่งส่วนมากเพิ่งสำเร็จการศึกษา มีความห่วงใยในอนาคตของประเทศชาติ แต่ก็นับว่าเป็นผลผลิตของการศึกษาแผนใหม่แบบตะวันตก ซึ่งเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พวกนักเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับการสั่งสอนเรื่องระบอบการปกครองและลัทธิ จากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และได้วิพากษ์วิจารณ์กันในห้องเรียนถึงลัทธิที่ดีและไม่ดี

ถึงแม้ว่าคณะ ร.ศ. 130 จะประสบความล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนในการริเริ่ม และวางรากฐานความคิด ที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในประเทศไทย

ซึ่งต่อมาการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ได้กระทำสำเร็จก็เป็นคณะปฏิวัติที่มาจากทหารบกอีกเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าเป็นอิทธิพลทางความคิดที่ต่อเนื่องกัน

แนวพระราชดำริและการเตรียมการเรื่องระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความต้องการของกลุ่มปัญญาชนทั้งข้าราชการและประชาชน ที่ต้องการปกครองในแนวประชาธิปไตย พระราชดำริของพระองค์เกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ปรากฏในจดหมายเหตุรายวันว่า

การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีข้อดี ในการที่อำนาจการปกครองประเทศไม่ตกอยู่กับบุคคลคนเดียว แต่ถ้าจะนำมาใช้ก็มีข้อจำกัด คือประชาชนไม่มีความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้ ถ้าให้อำนาจในการตัดสินใจแทนผู้ปกครองแประเทศ ก็อาจจะเกิดผลร้ายต่อชาติ

นอกจากนี้ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ไม่แน่เสมอไปว่า จะได้คนดีมีความรู้ความสามารถ เนื่องจากประชาชนไม่มีเวลามากพอที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีพระราชวิจารณ์เกี่ยวกับ ระบบพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดทุนมาก ก็อาจจะล่อใจให้ประชาชนเลือกพรรคของตน อำนาจจึงตกเป็นของคนกลุ่มน้อย แทนที่จะอยู่ในมือของประชาชน และการที่พรรคการเมืองผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศ ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ไม่ติดต่อกัน การงานล่าช้า และชะงักงัน

สรุปว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วย กับการปกครองระบบประชาธิปไตยที่จะมีมาในขณะนั้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอดแทรกแนวพระราชดำริเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม ของประชาธิปไตยต่อสังคมไทยทุกโอกาส

เช่น พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียนไทยในยุโรป เมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ตอนหนึ่งว่า ก่อนที่จะรับลัทธิการปกครองใด ๆ ว่าเป็นสิ่งดีและน่านิยม ควรจะพิจารณาว่าลัทธิหรือวิธีการนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปหรือไม่ สภาพบ้านเมืองของยุโรปกับประเทศไทยไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นคุณสำหรับยุโรปอาจเป็นโทษสำหรับประเทศไทยได้

สิ่งที่พระองค์ทรงทำได้ในขณะนั้นก็คือ ทรงใช้วิธีการปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้ประชาชนมีความสามัคคี รักชาติ และจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ ด้วยการพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ เป็นบทความลงหนังสือพิมพ์ บทละครทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง และพระราชดำรัสในวโรกาสต่าง ๆ เน้นถึงความเหมาะสมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ต่อสภาพของเมืองไทย

ใน พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดโครงการเมืองทดลองเรียกว่า ดุสิตธานี ซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองตุ๊กตา มีบ้านเล็ก ๆ และถนนที่ย่อส่วน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เลือกมหาดเล็กและข้าราชการเป็นเจ้าของบ้านสมมุติในดุสิตธานี

ดุสิตธานีอยู่ในบริเวณสนามเนื้อที่สองไร่ครึ่ง ระหว่างพระที่นั่งอุดรและอ่างหยกในบริเวณพระราชวังดุสิต พระราชดำริที่จะให้ดุสิตธานีเป็นก้าวแรก ของการเตรียมตัวเพื่อการปกครองตนเองของราษฎร ดังพระราชดำรัสในวันเปิดศาลารัฐบาลของดุสิตธานีว่า

"....การงานฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนคราภิบาลก็ถ่ายแบบมาจากของจริงทั้งนั้น วิธีการที่ดำเนินไปนี้ เป็นการทดลองว่าจะเป็นประโยชน์เพียงใด เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับธานีให้แน่ชัดเสียก่อน

วิธีการดำเนินการในธานีเล็ก ๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดัง
ธานีเล็กนี้ก็ยังทำไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง …"

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประกาศธรรมนูญลักษณะการปกครอง คณะนครภิบาลของดุสิตธานี มีการดำเนินการในรูปแบบของการปกครอง มีวาระ 1 ปี ต่อมามีการตั้งตำแหน่งกรรมการในนคราภิบาลสภาขึ้นอีกเรียกว่า เชษฐบุรุษ คือผู้แทนทวยนาครในอำเภอ

การปกครองของดุสิตธานี ไม่ได้นำมาเกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศไทยในส่วนรวมเลย ดุสิตธานีจึงเป็นเพียงเมืองสมมุติเท่านั้น อย่างไรก็ดี พระยาราชนกุล (อวบ เปาโรหิต) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูล

ขอพระบรมราชานุญาต นำพระบรมราโชบายและวิธีการของดุสิตธานีไปทดลองตามจังหวัดต่าง ๆ กำหนดทดลองใช้ที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรก โดยใช้พระยาสุนทรพิพิธเป็นผู้ดำเนินการ แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบไปจนสิ้นรัชกาล

อีกประการหนึ่ง มีบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องรายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม เป็น "ปฏิกิริยา" ที่พระองค์ทรงมีต่อข้อเรียกร้องของเทียนวรรณ ที่จะให้ประเทศไทยมีรัฐสภาเหมือนกับชาติอื่น ๆ

เทียนวรรณได้เขียนบทความโดยอ้างว่า ได้ฝันไปหรือได้ฝันทั้ง ๆ ที่กำลังตื่นอยู่ ดังนั้นพระราชนิพนธ์รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม จึงเป็นบทความล้อเลียนเทียนวรรณคือ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุบินไปว่า ประเทศไทยมีรัฐสภาแล้ว มีสมาชิกรัฐสภา 2 ท่าน ชื่อ นายเกศร์ ซึ่งอาจเป็น ก.ศ.ร กุหลาบ และนายทวน คงจะเป็นเทียนวรรณเสนอความเห็นในรัฐสภา แล้วเป็นการพูดนอกประเด็น

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงเห็นด้วยในการที่ประเทศไทยจะมีการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย


แนวพระราชดำริและการเตรียมการเรื่องประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2468 โดยไม่ได้ทรงคาดคิดมาก่อน เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระราชอนุชาองค์เล็กที่สุด และมีพระเชษฐาหลายพระองค์ ระหว่างพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระองค์

แต่เมื่อต้องทรงรับหน้าที่เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงทำนุบำรุงให้ราษฎรอยู่เป็นสุขโดยทั่วหน้า

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ใหม่ ๆ มีผู้ใช้นามว่านายภักดีกับนายไทย ถวายฎีกาขอให้พระองค์พระราชทานรัฐธรรมนูญ และในขณะนั้นหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง มีบทความเกี่ยวกับแง่คิดหรือปัญหาบ้านเมืองลงพิมพ์อยู่เนื่อง ๆ

เสียงเรียกร้องเหล่านี้อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มแสวงหาแนวทางการปกครองที่เหมาะสม

แนวพระราชดำริเรื่องประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้อย่างเด่นชัดเมื่อ ดร. ฟรานซีส บีแซร์ หรือพระยากัลยาณไมตรี อดีตที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของไทย มาเยือนประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชบันทึกปรึกษาพระยากัลยาณไมตรีว่า ประเทศไทยควรมีรัฐบาลในรูปแบบใด ประเทศไทยจะมีการปกครองในระบบรัฐสภาได้หรือไม่ในอนาคต ระบบรัฐสภาแบบอังกฤษจะเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่

ส่วนพระองค์เองทรงมีความเห็นว่า ในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน คำกราบบังคมทูลของพระยากัลยาณไมตรี เป็นไปในลักษณะสนับสนุนแนวพระราชดำริที่ว่า เมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะมีรัฐสภามีมาจากประชาชนโดยตรง

ระบบรัฐสภาที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างใช้สติปัญญาของผู้มีสิทธิเลือกผู้แทน มิฉะนั้นจะกลายเป็นเผด็จการทางรัฐสภา ฉะนั้นจึงควรรอให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นก่อน

สภากรรมการองคมนตรี

เป็นพระราชกรณียกิจประการหนึ่ง ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชดำริที่จะต้องเตรียมการให้ประชาชนรู้เรื่องประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าประชาชนใช้รัฐธรรมนูญไม่เป็น ก็จะเกิดปัญหายุ่งยาก พระราชดำรินี้อยู่ในพระราชบันทึก เรื่อง “Democracy in Siam” ว่า

"เราต้องเรียนรู้และทดลองเพื่อที่จะมีความคิดว่า ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาจะเป็นไปได้อย่างไรในสยาม เขาต้องพยายามให้การศึกษาแก่ประชาชนให้มีความสำนึกทางการเมือง ถ้าเราจะต้องมีรัฐสภา

เราต้องสอนประชาชนว่าจะออกเสียงอย่างไร และจะเลือกผู้แทนอย่างไร ที่จะมีจิตใจฝักใฝ่กับผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างแท้จริง"

ดังนั้น พระองค์จึงทรงปรับปรุงสภาองคมนตรี ซึ่งเป็นสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ ที่มีมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 277 คน ด้วยการออกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช 2470 ให้มีสภากรรมการองคมนตรี

ทรงคัดเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิและความสามารถพิเศษ จำนวน 40 คนจากองคมนตรีเข้าเป็นสมาชิกสภากรรมการองคมนตรี มีหน้าที่ประชุมปรึกษาข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา

แต่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีมากกว่านั้น พิจารณาได้จากกระแสพระราชดำรัส ในการเปิดประชุมสภากรรมการองคมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ตอนหนึ่งว่า

"....เราขอให้ท่านเข้าใจว่า สภากรรมการขององคมนตรีที่เราตั้งขึ้น ต้องเป็นไปตามสภาพที่เหมาะแก่ประเทศเรา กล่าวคือ เรามีความประสงค์ที่จะทดลองและปลูกฝังการศึกษา ในวิธีการศึกษาโต้เถียงให้สำเร็จเป็นมติตามแบบอย่างที่ประชุมใหญ่

ถ้าหากถึงเวลาอันควรที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองประเทศต่อไป ก็จะได้ทำได้โดยสะดวก

การที่เราได้เลือกท่านเป็นกรรมการองคมนตรีนั้น ควรเห็นว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง และท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เรามิได้เลือกท่านมาเป็นผู้แทนชนคณะใดหรือเหล่าใดโดยเฉพาะ

ท่านทั้งหลายจงออกความเห็นโดยระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมส่วนใหญ่ของแผ่นดิน และประชาชนชาวสยามโดยทั่วไปเป็นสำคัญ เราเชื่อว่าท่านคงจะดำเนินการประชุมให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง

แม้มีสิ่งไรที่ท่านเห็นว่าจะยังความผาสุกให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชน ก็ให้ท่านถวายความเห็นได้ทุกเมื่อ เรายินดีที่จะฟังเสมอ"


จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งสภากรรมการองคมนตรี ตลอดจนวิธีการประชุมมีลักษณะคล้าย สภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่จะไม่ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรง ในทางปฏิบัติ สภากรรมการองคมนตรีประสบความล้มเหลว ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้

ผลงานของสภามีเพียงพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามพระบรมราชโองการเท่านั้น และเวลาในการที่จะประชุมถกเถียงกันก็มีน้อย สมาชิกขาดประชุมและไม่กระตือรือร้นในการปฏิบัติงานเท่าที่ควร

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงแสวงหาแนวทางอยู่นั้น การแสดงความคิดเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องประชาธิปไตยมีมากขึ้น เช่นใน บางกอกการเมือง ผู้ใช้นามว่า พระจันทร เขียนว่า

"ไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ยังคงใช้การปกครองในระบอบพระราชาอยู่เหนือกฎหมาย ราษฎรไม่มีเสียงเลยในการปกครอง ซึ่งทำให้คนมีเงินได้เปรียบคนจน แล้วยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาว่ามีการปกครองแบบรีปับลิค ซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วจนเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง"

ส่วนหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว ได้ลงพิมพ์บทความเรื่อง “ราษฎรตื่นแล้ว” โดยเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้ความรุนแรง และยกตัวอย่างกรณีพระเจ้าชาร์นิโคลาสแห่งรัสเซียถูกปลงพระชนม์ รัฐบาลสมัยนั้นได้ทำการสอบสวนหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว และก็สั่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

หนังสือพิมพ์ราษฎร ลงบทความเห็นว่า จ้าวเป็นลูกถ่วงความเจริญ ยกตัวอย่างการปฏิวัติจีนที่ซุนยัดเซ็นล้มจักรพรรดิจีน และสถาปนาระบบสาธารณรัฐขึ้นแทน เสนอแนวคิดว่า การที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเก่าได้นั้น จะต้องทำลายสังคมเดิมลงไปก่อน

ถ้าจะให้สังคมเสมอภาคก็ต้องทำเหมือนเครื่องบดยา ก่อนถูกบดให้ละเอียดนั้นเครื่องยาย่อมมีขนาดไม่เสมอกัน เมื่อบดละเอียดแล้วจึงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หรือประเทศใดที่เกิดศึกสงครามมาก ประเทศนั้นย่อมเจริญมาก ไฟไหม้ที่ใดที่นั้นจะสวยงามขึ้น เป็นต้น

ความกดดันจากหนังสือพิมพ์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะให้เตรียมตัวประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้พอสมควรที่จะมีระบอบรัฐสภาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พระราชดำริของพระองค์ คือให้มี “Municipal Council”(สภาเทศบาล) “Local Government” (การปกครองท้องถิ่น) เป็นการสอนให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองตั้งแต่ระดับท้องถิ่น นับเป็นการเตรียมการในการปูพื้นฐานประชาธิปไตยระดับฐานราก เรื่องนี้ได้มีกรรมการร่างพระราชบัญญัติเทศบาลเสร็จในปี พ.ศ. 2473 แต่ก็มิได้มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

ต่อมาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือเตรียมการจะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย จึงทรงมอบหมายให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ศึกษาระบบการปกครองแบบมีผู้แทนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดในชวา ในคราวที่กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยตามเสด็จประพาสชวาใน พ.ศ. 2472

ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตร นักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ชื่อ นายแฮโรลด์ เคนนี ได้รับพระราชทานโอกาสให้สัมภาษณ์ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2474 มีข้อความว่า พระองค์จะทรงจัดให้มีการปกครองระดับท้องถิ่นก่อน เพื่อเป็นการให้การศึกษาและฝึกการปกครองในระบบผู้แทนในระดับรากฐาน

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนิวัติกลับสู่พระนครแล้ว ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

พระยาศรีสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงต่างประเทศ ผู้สำเร็จเนติบัณฑิตจากประเทศอังกฤษ
และนายเรมอนด์ บีสตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้สำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
เคยเป็นผู้แทนราษฎรรัฐนิวแฮมเชียร์ สังกัดพรรคดีโมแครต รองประธานการเดินเรือแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้แทนอเมริกันในสภาการขนส่งทางทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2474 ร่างเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “An Outline of Changes in the Form of Government” ได้กำหนดรูปแบบการปกครองสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรไว้ด้วย

การเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แรกทีเดียวมีพระราชดำริว่า จะพระราชทานในวาระที่มีงานพระราชพิธีฉลองกรุงเทพมหานคร ครบรอบ 150 ปีในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อนำเข้าประชุมอภิรัฐมนตรีสภา พร้อมบันทึกความเห็นของนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งมีความเห็นว่า ยังไม่ควรใช้ระบอบการปกครองโดยรัฐสภาในตอนนั้นเนื่องจากประชาชนยังไม่พร้อม

ไม่ปรากฏเอกสารรายงานการประชุมอภิรัฐมนตรีครั้งนั้น แต่หลักฐานของอุปทูตอังกฤษกล่าวว่า อภิรัฐมนตรีสภาไม่เห็นด้วยทีจะให้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริไว้ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เตรียมการไว้ ก็ยังไม่ถึงประชาชนในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ก่อการปฏิวัติ

สรุปและวิเคราะห์

ประเทศไทยมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มข้าราชการและประชาชน ให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

ความคิดที่จะให้มีการปกครองในแนวประชาธิปไตยนี้ ได้รับอิทธิพลจากชาวตะวันตก สืบเนื่องจากประเทศไทยได้มีการติดต่อกับชาวตะวันตกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา

การติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางยุโรป นับว่าเป็นความจำเป็น มหาอำนาจตะวันตกได้แข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส

ดังนั้น พระบรมวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงเน้นหนักไปในทางผูกมิตรกับมหาอำนาจตะวันตก และประเทศในยุโรปอื่น ๆ พร้อมกับเร่งศึกษาวิทยาการของชาวตะวันตก เพื่อจะได้ปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบอารยประเทศ

จากการได้ศึกษาวิทยาการของชาวตะวันตก ทำให้กลุ่มข้าราชการและประชาชนได้รู้เรื่อง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยความรักชาติและประสงค์จะให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองเหมือนประเทศที่ได้ปรับปรุงการบริหารประเทศแล้ว

เช่น ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มข้าราชการ และประชาชนที่ได้รับการศึกษาหรือได้ไปศึกษาดูงานวิทยาการแบบตะวันตก จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายปกครองประเทศ

นอกจากข้อเสนอคำกราบบังคมทูลของกลุ่มเจ้านาย ข้าราชการ ใน ร.ศ. 103 แล้ว ยังมีนักหนังสือพิมพ์คือ เทียนวรรณ ได้เสนอความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ในหน้าหนังสือพิมพ์ เห็นว่าควรมีรัฐสภา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นด้วยกับการที่จะมีการปกครองแบบรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญ

แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ แม้แต่ข้าราชการของพระองค์บางกลุ่ม ก็ยังไม่ได้แสดงว่าเข้าใจในระบอบการปกครองประชาธิปไตยนั้น ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงปกครองพระเทศชาติด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ก็ได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินสอดคล้อง กับการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศในยุโรป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีแนวพระราชดำริในเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มนายทหารบกชั้นผู้น้อยทำการปฏิวัติการปกครอง แต่ไม่สำเร็จ จึงได้รับสมญานามว่า กบฎ ร.ศ. 130 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายเน้นหนักทางลัทธิชาตินิยม ให้รักชาติ มีความสามัคคี โดยเฉพาะเน้นในเรื่องการจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าพระองค์จะยังไม่ทรงเห็นด้วย ที่จะให้ประชาชนมีการปกครองตนเองตามระบอบรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงทราบในพระราชหฤทัยดีว่า ถึงเวลาที่จะต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยขึ้น

หนังสือพิมพ์ใช้ถ้อยคำรุนแรงเมื่อพูดถึงเจ้า ซึ่งมีฐานะเหนือประชาชนธรรมดา พระองค์จึงทรงเตรียมการให้ผู้ที่มีความสามารถร่างรัฐธรรมนูญ และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะพระราชทานรัฐธรรมนูญแด่ประชาชนชาวไทยในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 150 ปี ของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

จากการที่คณะอภิรัฐมนตรีเห็นว่า ควรยืดระยะเวลาการพระราชทานรัฐธรรมนูญออกไปอีก เพราะประชาชนยังไม่พร้อมที่จะอยู่ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงยับยั้งการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้

การที่พระองค์ทรงลังเลพระราชหฤทัย จึงทำให้คณะราษฎรซึ่งได้เตรียมการไว้แล้วปฏิวัติยึดอำนาจปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์จันทรวาร สิริมานรมเยศค่ะ


Create Date : 20 สิงหาคม 2553
Last Update : 23 สิงหาคม 2553 14:17:48 น. 0 comments
Counter : 564 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.