"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงเรียบเรียงไว้ในเรื่อง “ประวัติ และพระอาการประชวรจนสวรรคต แห่ง สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี”


พระขัตติยนารีพระองค์นี้ มีพระประสูติกาลในวันอาทิตย์ สุรทินที่ 21 เดือนธันวาคม ปีมะเมีย พุทธศก 2377 (เดือนอ้าย แรม 6 ค่ำ) เป็นพระธิดาองค์เดียวของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 3) พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ซึ่งสิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้วแต่ในต้นเดือนมิถุนายน ปีมะแม พุทธศก 2378 เมื่อพระบุตรีเพิ่งมีพระชนมายุได้เพียง 6 เดือน เท่านั้น

ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาเมตตาการุญภาพ ในพระราชนัดดากำพร้าพระองค์นั้นยิ่งนัก โปรดเกล้าฯ ให้เชิญเสด็จเข้ามาจากวังพระบิดา และอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง อย่างพระราชธิดาของพระองค์เอง

ทรงเจริญพระชนมายุเกษมสวัสดีมาโดยพระอาทรทะนุถนอมของพระเจ้าป้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 3) กรมขุนอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาศ) ซึ่งมาสิ้นพระชนม์ลงเสียแต่ในปีมะเส็ง พุทธศก 2388 เมื่อพระภาติยะยังทรงพระเยาว์ เพิ่งมีพระชันษาได้ 12 พรรษา เท่านั้น

เมื่อสิ้นพระเจ้าป้าเสียแล้วเช่นนี้ สมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยิ่งทวีพระเมตตากรุณาหนักขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้หม่อมเจ้าหญิงพระราชนัดดาองค์นี้ เป็นผู้รับทรัพย์มรดกทั้งสิ้นของพระบิดาและพระเจ้าป้าแต่องค์เดียว ทั้งทรงสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเสมอพระราชนัดดา เป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

เมื่อถึงกำหนดโสกันต์ ในปีมะเมีย พุทธศก 2389 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์แห่ใหญ่ อย่างพระยศเจ้าฟ้าทั้งทรงสิเนหา ยกย่องเฉลิมพระเกียรติศักดิ์นานัปการ ให้ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น

ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ บรมราชาภิเษกสืบพระบรมราชจักรีวงศ์ สนององค์สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า สกลราชมนตรีรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีมนตรีสุข เห็นพร้อมกันว่า

ถึงบัดนั้น พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี หามีที่พึ่งพาปกครองอุปถัมภ์บำรุงเหมือนสมเด็จพระอัยกาธิราชเจ้า ซึ่งเสด็จสวรรคตเสียแล้วนั้นไม่ ก็พากันสงสาร ทั้งเป็นสหฉันท์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เพิ่งลาผนวชจากภิกษุภาวะ ซึ่งทรงบำเพ็ญพระเนกขัมมบารมีมาตั้ง 27 พรรษา ยังหามีพระอัครมเหสีสมพระเกียรติยศ ตามพระราชประเพณี (อันเป็นพระขัตติยนารี ซึ่งจะได้มีพระราชโอรส สมสืบสันตติวงศ์) ไม่

จึงพร้อมใจกันใคร่ให้ได้มีความสัมพันธ์ในระหว่างพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งราชาภิเษกใหม่ และพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี โดยราชาภิเษกสมรสเฉลิมพระเกียรติพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ ขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี จึงได้ตั้งการมงคลราชพิธีบรมราชาภิเษกสมรส เมื่อวันอาทิตย์สุรทิน ที่ 2 เดือนมกราคม ปีกุน พุทธศก 2394

ขณะนั้นพระชนมายุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 48 พรรษา พระอัครมเหสี 18 พรรษา ปรากฏพระนามาภิไธยสืบต่อมาว่า สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี

ตั้งแต่ราชาภิเษกสมรส ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสี ร่วมพระราชหฤทัยพระราชสวามีมาโดยสนิทสนมกลมเกลียว ทั้งในส่วนพระองค์และทางราชการแผ่นดิน เป็นที่เคารพนับถือของพระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ ราษฎรสยามทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งได้ทรงรับความเคารพนับถือและเครื่องบรรณาการ จากหัวเมืองประเทศราชใหญ่น้อยทุกสารทิศ

และได้ทรงรับความเป็นมิตรภาพและบรรณาการจากข้าราชการ และท่านผู้มีศักดิ์ชาวต่างประเทศในนานาประเทศ บรรดาแต่ก่อนเคยผูกมิตรสันถวะต่อพระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัว โดยทรงอักษรติดต่อถึงกัน เพราะฉะนั้น พระนางย่อมเสวยสุขสำเริงพระฤทัยมาตลอดเวลา 6 เดือน ซึ่งทรงพระครรภ์ตามปกติภาพ

ครั้นเดือนถัดไป อุปัทวเหตุน่าสยดสยองอย่างเคราะห์ร้ายที่สุดท่วมถึงพระนางฯ จนทรงพระประชวรและพระประชวรโรคถึงสังหารพระชีวิต ซึ่งในขั้นแรกดูเหมือนพอจะรักษาให้หายได้ บรรดาแพทย์หลวงและหมอฝรั่งเชื่อว่า พระพลานามัยเช่นนี้ย่อมเป็นธรรมดาสำหรับสตรีมีครรภ์ ไม่อัศจรรย์ถึงน่าตระหนกตกใจอย่างใดเลย ด้วยเป็นแต่ทรงพระอาเจียนเนืองๆ และเบื่อพระกระยาหารเท่านั้น แต่อาการพระโรครุนแรงขึ้น

ครั้งหนึ่ง ในวันที่ 25 มิถุนายน พุทธศก 2395 คือปวดพระอุทร แพทย์หลวงถวายอภิบาล ทรงคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียน ปวดพระอุทรอยู่เพียง 4-5 วัน ตั้งแต่วันจันทรุปราคาที่ 1 กรกฎาคม ก็ดูเหมือนพระนางหายพระประชวร ทรงพระสำราญเป็นปกติตลอดมาได้ราว 40 วัน

ครั้นพระครรภ์ล่วงเข้า 7 เดือน พระโรคปวดพระอุทรก็กลับเป็นเหมือนคราวก่อน และทรงพระอาเจียนร่ำไปในราตรีวันที่ 10 สิงหาคม

ครั้นรุ่งขึ้น ก็ปรากฏพระอาการไข้พระองค์ร้อน ยิ่งขึ้นจนวันที่ 14 สิงหาคม พ้นนั้นมาก็ทรงพระทุเลาขึ้น เกือบจะทรงพระสบายเหมือนคราวก่อน เป็นแต่ยังทรงอ่อนเพลียอยู่ เสวยพระกระยาหารมิใครได้ดังปกติ

ครั้นราตรีวันที่ 17 สิงหาคม พระนางกลับล้มประชวรพระโรคอย่างเดิมอีก แต่ยิ่งร้ายแรงกว่าเคยเป็นมาครั้งก่อน การทรงคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียน ก็กำเริบเรื่อยทั้งทิวาราตรีกาล ซ้ำรัญจวนพระอุทรรวดร้าวจนเห็นกันว่าน่าที่จะประสูติพระราชดนัยเสียเป็นแน่แล้ว ก็เป็นจริงดังสมคาด

ในวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม เวลา 1 นาฬิกาหลังเที่ยงคืน สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี ประสูติพระราชกุมารบรมราชโอรสเรียบร้อยและมีพระชนม์ เป็นแต่พระกำลังอ่อน และพระองค์ย่อมทรงพระกันแสงและแสดงอาการอย่างชีวิตทารกเกิดโดยปกติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อส่อดุษณีภาพทั่วไป

ในมิช้าพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายในฝ่ายหน้าก็มาชุมนุมเนืองอนันต์ เพื่อชื่นชมพระบารมีถวายพระรัชทายาท ซึ่งเสด็จอวตารโดยมหาประสูติ ชาวประโคมก็ประโคมดุริยดนตรี เป่าสังข์กระทั่งแตรย่ำฆ้องชัยนฤนาท

เพื่อสำแดงโสมนัสปราโมทย์ในมหามงคลฤกษ์ เชิญพระราชโอรสบรรทม ณ แท่นแว่นฟ้าทอง หุ้มด้วยพระกระโจมเศวตวัตถา สอดพระแสงราชาวุธ พระสมุดและดินสอ ฯลฯ ไว้รอบล้อมตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ระแวดระวังพิพักษ์พระกุมารอย่างกวดขัน

แต่ต่อมาเวลาพระประสูติมาอีก 3 ชั่วโมงเท่านั้น พระอัสสาสะปัสสาสะพระราชกุมารก็หยุดลงเสียเฉยๆ ใน 4 นาฬิกาหลังเที่ยงวันนั้น พระชีพดำรงอยู่ได้น้อยเวลานัก เจ้าพนักงานเชิญพระสรีระพระกุมาร (ลงกุมภ์ขนัน) ไปเสียเป็นการลับ มิให้พระนางราชมารดาทราบเงื่อนสาย ทำประหนึ่งว่าเชิญไปพิทักษ์ไว้ในห้องอื่นด้วย

แม้ประสูติพระราชกุมารแล้ว พระอาการพระนางก็ยังคงเป็นปกติอยู่อย่างเดิม และในราตรีแรกพระอาการยิ่งกลับทรุดลง โดยทรงพระอาเจียนถี่จนนับครั้งมิได้ เสวยอะไรก็ทรงพระอาเจียนเสียหมด หายพระทัยขัด จวนเจียนจะเสียพระชีพลง

ในราตรีวันที่ 23 สิงหาคมนั้นอยู่ร่อแร่ ได้ประชุมแพทย์หลวงปรึกษากันเพื่อพยายามแก้ไขให้ฟื้น แต่ไม่มีแพทย์ไหนสามารถให้สงบพระอาเจียนได้แม้แต่เพียงครึ่งชั่วโมง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 2) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงพยายามถวายยาฝรั่งเพียง 1 หรือ 2 หยด ฤทธิ์ยานั้นระงับพระอาเจียนซึ่งพระนางต้องทรงพระทรมานความลำบากมาเกือบตลอดคืนนั้นให้สงบลงได้ ค่อยทรงพระสบายถึงบรรทมหลับได้เมื่อ 4 หรือ 5 นาฬิกา

ครั้นรุ่งขึ้น (วันที่ 23 สิงหาคม) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น 2) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และพระเจ้าบรมวงศ์พระอนุวงศ์ องค์อื่นอีกหลายพระองค์ ทั้งพระญาตินางใน ประชุมปรึกษากับแพทย์หลวงมากท่าน เพื่อจะให้หมอ D.B. บรัดเลย์ ผู้เป็นหมออเมริกันซึ่งบัดนั้นอยู่ในกรุงสยาม และตรัสให้เชิญมาปรึกษาหารือด้วยนั้นถวายอภิบาล

ลำดับนั้น หมอ D.B. บรัดเลย์ ก็เริ่มรักษาตามวิธีแพทย์ฝรั่งอย่างใหม่ ซึ่งหมอผู้นั้นเองเพิ่งพามาใช้ในกรุงสยาม ในจำพวกชาวสยามไม่มีใครใคร่เชื่อนัก มีแต่เห็นจำเป็นสมควรจะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระนางฯเอง เพื่อให้ถวายอภิบาลตามลัทธิของไทย ที่เคยใช้ในยามสตรีคลอดบุตรตามปรัมปรามา

พระนางฯก็ต้องบรรทมเพลิง (อยู่ไฟ) อย่างใช้กันทั่วประเทศ เมื่อแม่หญิงคลอดบุตร ถ้าจะห้ามเสียตามคำแนะนำของหมอฝรั่ง ทั้งขับนางในซึ่งรอบล้อมพระนางฯ อยู่ให้ออกเสียสิ้น เหลือไว้น้อยนางเฉพาะที่นิยมนับถือหมอฝรั่งฉะนั้น ก็ย่อมจะเป็นข้อเดือดร้อนทั่วไป

ตั้งแต่หมออเมริกาถวายอภิบาลอย่างฝรั่งมา ดูเหมือนพระอาการไม่ดีขึ้นเลย การที่ทรงคลื่นเหียนและทรงพระอาเจียนทั้งทรงสะท้านไข้ ก็ยังเป็นอยู่เสมอเป็นครั้งเป็นคราวไม่ระงับได้ขาด ตลอดเวลา 7 หรือ 8 วัน

เมื่อถึงวันที่ 28 สิงหาคมซึ่งเป็นวันที่ 7 จำเดิมแต่เจ้าฟ้าพระราชโอรสน้อยของ พระนางฯสิ้นพระชนม์ (เจ้าฟ้าเป็นคำนำพระนามอันสมพระอิสริยยศพระราชโปดกซึ่งประสูติจากพระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี หรือพระขัตติยนารีอันสูงศักดิ์ หรือประสูติจากเจ้านายชั้นอื่นๆ บรรดาพระมารดาทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าหรือเป็นเจ้าฟ้าทั้งอุภโตปักษ์ ในประเทศสยาม)

พระนางทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์แห่งเจ้าฟ้าพระราชโอรส จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสี พร้อมกันทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายมหัคฆภัณฑ์แด่พระสงฆ์พุทธชิโนรสบรรดาชุมนุม และทรงโปรยทาน บรรจุเงินตราสยามในผลมะนาวพระราชทาน แต่บรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายใน ฝ่ายหน้า บรรดาเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาทรงบำเพ็ญทักษิณาทานุทิศนั้น

การเช่นนี้เป็นประเพณีการพระศพ สมเด็จพระราชโอรสเจ้าฟ้า (ต่อมาออกพระนามว่าเจ้าฟ้าโสมนัส) พระโอรสของสมเด็จพระนางเจ้า แม้มีพระชนม์อยู่เพียงชั่วสามนาฬิกา ก็ยังคงได้ทรงรับเกียรติยศสมพระอิสริยศักดิ์

ตั้งแต่วันที่ 29 และ 30 สิงหาคมมา พระอาการสมเด็จพระอัครมเหสีก็ทรงลงพระอาเจียนเป็นสีดำ สีเขียว และสีเหลือง ซึ่งแพทย์หลวงว่าเพราะน้ำพระดีผสมกับสิ่งอื่นในพระอันตะอันพิการนั้นหลั่งไหล ไข้ซึ่งเคยทรงจับนั้นก็สะท้านรุนแรงมากขึ้น จนพระชีพจรเต้นรุกเร่งถี่มาก

หมอบรัดเลย์จึงกราบทูลอุทธรณ์ต่อองค์สมเด็จพระนางเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ขอให้เชิญเสด็จพระนางออกพ้นจากการบรรทมเพลิงอย่างธรรมเนียมไทยให้หมอได้ถวายอภิบาลอย่างฝรั่งเต็มที่ตามพอใจทุกประการเถิด ก็ได้พระอนุญาตตามปรารถนา

เมื่อถวายอภิบาลอย่างฝรั่งเต็มที่ในชั้นแรก พระอาการสมเด็จพระนางเจ้าดูเหมือนจะค่อยทุเลาขึ้น โดยหยุดทรงคลื่นเหียนและไม่ทรงพระอาเจียน ทั้งไข้ก็ไม่ทรงจับ แต่ยังเสวยมิใคร่ได้ ทั้งยังทรงอ่อนเพลียเป็นกำลัง

ปรากฏพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับจนถึงวันที่ 11 กันยายน ทรงพระโศผะขึ้นที่พระบาทและพระอติสารอาการปรากฏแก่แพทย์หลวงและพระญาติพระมิตรข้าหลวง ต่างพากันตระหนกตกใจ ปรึกษากัน ตกลงขอให้ลองให้แพทย์หลวงถวายอภิบาลอย่างไทยอีก

พูดตามจริงองค์สมเด็จพระนางเจ้าก็สำนึกมิพอพระทัย ด้วยมิทรงไว้พระหฤทัยและมิทรงเชื่อ มิทรงโปรด หมอ D.B. บรัดเลย์ เสียเลย ด้วยเป็นฝรั่งทรงเห็นว่าเป็นแขกบ้านค้านเมืองทั้งวิธีถวายอภิบาลอย่างฝรั่ง ซึ่งถวายพระโอสถมีหยดสุราลงในน้ำใสเพียง 1 หรือ 2 ฉลองพระหัตถ์เท่านั้น ให้เสวยบ่อยๆ

ทั้งถ้อยคำของหมอฝรั่งคนนั้นหรือคนไทยที่เชื่อถือหมอ ก็จวนจะไม่น่าให้เชื่อถือได้เสียเลย ด้วยหมอรับว่ายังไม่เคยมีตัวอย่างคนไข้ที่ไหนที่หมอเคยรักษามีอาการเหมือนองค์พระนางเลยแม้แต่สักรายเดียว

เมื่อกลับให้แพทย์ไทยถวายอภิบาลอย่างไทยได้ตั้งสามวัน พระอาการพระนางจะค่อยทุเลาขึ้นแม้น้อยก็หามิได้ มีแต่ทรุดหนักลง ทั้งไม่มีหมอหลวงผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลพระกรุณายืนยันรับแก้ไขให้ทรงพระสำราญขึ้นได้ เหตุฉะนี้จึงรับสั่งให้หาหมอบรัดเลย์กลับมาถวายอภิบาลอีกดังเดิม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้วิธีรักษาสุดแต่ใจ

เมื่อเวลาแพทย์สยามถวายอภิบาลนั้น พระอาเจียนสีดำ สีเหลือง และสีเขียว ก็ยังมีอยู่เรื่อยไป ทั้งยอกเสียดในพระอุรประเทศก็ซ้ำแทรกมา วันหนึ่งๆ เป็นตั้ง 7 หรือ 8 ครั้ง

ตั้งแต่ให้หมอบรัดเลย์กลับมาถวายอภิบาลใหม่อย่างลัทธิฝรั่งอย่างใหม่ (เลิกใช้ลัทธิอย่างเก่าที่หมอเคยใช้มานาน) ถึงวันที่ 16 กันยายน ดูเหมือนสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระทุเลาขึ้นเล็กน้อย ด้วยมิใคร่จะทรงพระอาเจียนเป็นสีดำหรือสีเหลืองและสีเขียว

ซึ่งคาดกันว่าน้ำพระดีไหลลงในพระอันตะเนืองๆ ทั้งพระอาการที่ทรงเดือดร้อนก็ดูเหมือนจะดีขึ้นด้วย เสียดแทงร้าวในพระทรวงและน้อยกว่าวันก่อนๆ พระไข้ก็สงบ แปลกกว่าแพทย์หลวงยังรักษาอยู่ แต่ยังทรงอ่อนเพลียและทรงปฎิเสธมิเสวยพระกระยาหารก็ยังคงอยู่

เพราะยังทรงพระอาเจียนอยู่เหมือนทุกๆวัน ด้วยยังไม่มีวันใดที่ไม่ทรงพระอาเจียนเลย แม้จะถวายพระโอสถไทยหรือฝรั่งขนานไหนๆ ก็ระงับมิได้เสียทั้งนั้น

เวลาล่วงไปน้อยราตรี หมอบรัดเลย์ก็ไม่สามารถจะบรรเทาพระอาเจียนให้น้อยลงได้ ซ้ำกลับบ่อยๆ หนักขึ้นฟื้นพระอาการออกท่าสะทก ด้วยพระฉวีที่พระพักตร์และพระองค์ก็เหลืองแลเห็นถนัด

เหตุฉะนั้นจึงต้องปล่อยให้หมอหลวงฝ่ายไทยถวายอภิบาลต่อไปอีกดังเดิม แต่แพทย์หลวงทั้งสิ้นไม่มีใครกล้ารับที่จะฉลองพระเดชพระคุณแก้ให้หาย หรือจะให้บรรเทาได้ไหว โดยหมดวิชาและสติปัญญาจะประกอบพระโอสถ

เหตุฉะนั้น จึงทราบพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ป่าวร้องประกาศจะพระราชทานบำเหน็จเงิน 2 หาบ หากผู้ใดสามารถแก้ไขให้พระอัครมเหสีที่ทรงพิศวาสพ้นมรณามัยพินาศ กลับคืนทรงพระสบายปกติดังเดิมได้

จำเดิมแต่พระอาการทรุดหนักลงในมือหมอบรัดเลย์ พระชีพจรเร็วทวีขึ้น ถึง ณ วันที่ 27 กันยายน จับเฟือนพระสติ เพราะเมื่อวันประกาศป่าวร้องไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ตั้งบำเหน็จพระราชทาน 2 หาบ ถ้าผู้ใดแก้ไขสมเด็จพระอัครมเหสีให้ฟื้นจากพระโรคาพาธเป็นปกติได้นั้น

มีหมอเฒ่าเชลยศักดิ์ผู้หนึ่งเข้ามาอาสาฉลองพระเดชพระคุณด้วยยาศักดิ์สิทธิ์จนสุดกำลัง แต่ขอตรวจพระอาการก่อน ก็ได้พระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าและตรวจตรา

หมอเฒ่าเข้าใจพระโรคผิด อ้างว่าพระโรคพระอัครมเหสีมากมายไปนั้น เพราะรักษาผิดคัมภีร์แพทย์ภาคครรภรักษา โดยพระนางบรรทมเพลิงน้อยเวลานัก หมอเฒ่าสมัครจะรักษาด้วยยาศักดิ์สิทธิ์ให้หายเป็นปลิดทิ้งจงได้

วาจายืนยันมั่นคงของหมอเฒ่านี้ เป็นที่เชื่อถือกันทั่วไปในพระญาติวงศาข้าหลวง การที่อนุญาตให้ถวายอภิบาลก็เป็นสหฉันทานุญาต จนแม้พระบาทสมเด็จพระบรมราชสวามี ก็ทรงพระราชานุมัติอำนวยตาม

แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้เสวยพระโอสถซึ่งหมอเฒ่าตั้งถวาย 3 หรือ 4 ฉลองพระหัตถ์ได้สัก 2 หรือ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ก็เกิดพระอาการทรงเฟือนพระสติจนตรัสให้ถูกต้องเหมือนแต่ก่อนมิได้ ซ้ำทรงพระกันแสงและส่งพระสุรเสียงดังเผลอไผลไปต่างๆนานา

เมื่อปรากฏฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอง ตรัสให้หมอเฒ่าผู้เขลาหยุดถวายพระโอสถทันที และรับสั่งให้หาหมอบรัดเลย์กลับมาถวายอภิบาลอีก หมอฝรั่งอุตส่าห์ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณ แก้ไขจนสุดปัญญาและความรู้สึกตราบสุดชีวิต แม้อาการปรากฎเป็นอติสารอาสัญมรณะก็มิพักย่อท้อ

เมื่อกลับถวายพระโอสถอย่างฝรั่งใหม่ ก็ประคับประครองพระอาการให้ยั่งชั่วขึ้นได้บ้างเพียงบางอย่าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พระนัยน์เนตรสมเด็จพระนางเจ้าหลับสนิทอย่างน่าประหลาด เหมือนจะเซื่องซึม ไม่เสวยทั้งพระโอสถและพระกระยาหารชูพระกำลัง

ถึงขณะนั้นสังเกตได้ตระหนักแล้วว่า มีพระยอด (ฝี) ภายในซึ่งน่าจะได้เป็นก่อนทรงพระครรภ์ พิษพระยอดซ่านไปในพระกรัชกาย แต่โดยอำนาจแก้ไขประคับประคองหลายนัย พระนางกลับคืนสมประฤดีรู้สึกพระองค์ได้ดังเดิม แต่หมดพระกำลัง จนวันที่ 6 ตุลาคม

ในระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและพระญาติวงศ์พร้อมกันจัดผ้าไตรไทยธรรมมาถวายพระนาง ทั้งทูลแนะนำให้ทรงบำเพ็ญพระกุศลอวสานทาน ถวายไตรจีวรแด่พระสงฆ์เจ้า

ทรงสดับสุคติธรรมโอวาทจากพระราชาคณะผู้ใหญ่ ตามจารีตพุทธศาสนิกชนปางมรณาสัญสมัย ด้วยพระนางทรงศึกษาเลื่อมใสในพระศรีรัตนตรัยอย่างมั่นคงมาช้านานแล้วจนฝังพระจิต

สมเด็จพระนางเจ้าฯ อุตส่าห์ทรงกระทำตามโอวาทที่ทูลถวาย ทรงถวายไตร ฯลฯ แด่พระสงฆ์เจ้าหลายร้อยรูป ทั้งตั้งพระหฤทัยตรับฟังพระธรรมเทศนาและสาธยายพระพุทธมนต์ซึ่งเพลากำลังทรงระททุกขเวทนา ด้วยทรงพระอาเจียน เป็นต้น เป็นครั้งเป็นครามาทุกวัน ซ้ำพระกำลังก็มีแต่ถอยลงทุกที

ครั้นถึงวันที่ 6 ตุลาคม มีพยานปรากฏว่า พระยอดภายในแตก มีพระบุพโพออกมาแต่นั้นมา พระอาการก็ทรุดลงรวดเร็วอย่างน่าใจหาย ภายใน 3 วันเท่านั้น

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระอัครมเหสี ทรงหายพระทัยครั้งสุดท้าย ในวันที่ 10 ตุลาคม พุทธศก 2395 เพลา 6 นาฬิกา หลังเที่ยง เสียงโศกาลัยอาดูรภาพปริเทวนาการ แห่งพระประยูรวงศาข้าหลวงในราชสำนักขณะนั้นดังสนั่น น่าอเนจอนาถยิ่งนัก


จากหนังสือ หอสมุดแห่งชาติ 2510
ขอขอบคุณ


Create Date : 27 สิงหาคม 2552
Last Update : 4 กันยายน 2552 10:57:48 น. 0 comments
Counter : 3659 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.