Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
7 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 

วิปัสสนาญาณทั้ง 16

วิปัสสนาญาณทั้ง 16

บทความเรื่องสติปัฏฐาน 4 และทางสายเอกทางสายกลาง เป็นแนวปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องผลของการปฏิบัติก็จะบังเกิดขึ้นมาเป็นญาณต่างๆ และขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจด้วยว่าอย่างหลงญาณ หรือคิดปรุงแต่งเรื่องญาณจนลืมกำหนดภาวนาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการปฏิบัติ ความจริงแล้วเรื่องญาณถึงแม้ไม่ไปสนใจ ก็สามารถปฏิบัติถึงซึ่งนิพพานได้ แต่เมื่อมีผู้บรรยายกันมากข้าพเจ้าก็ต้องบรรยายบ้าง ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ใช้หนังสือของท่านเจ้าคุณ วิลาศ ญาณวะโร วัดดอนยานนาวา ที่เป็นคำศัพท์ตามพระไตรปิฏก และชื่อของวิปัสสนาญาณทั้ง 16 (การบรรยายของข้าพเจ้าอาจจะยังผิดพลาดอยู่บ้างหลายส่วน เพราะเอาความเห็นของตนเองและประสพการณ์ของตนเองเป็นตัวเปรียบเทียบ จงขอให้คิดว่าอ่านความคิดเห็นของบุคคลหนึ่ง ที่พยายามแสดงสิ่งที่ตนเองเข้าใจ)

เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 มีพละ 5 อย่างสมบูรณ์ เห็นแจ้งตามกฎไตรลักษณ์ โดยไม่ทอดธุระ ญาณต่างๆ ก็จะบังเกิดขึ้นมาเองตามลำดับ ถึงแม้ผู้ปฏิบัติจะจดจำหรือไม่จนจำก็ตามแต่ แต่วิปัสสนาญาณนั้นก็บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วถอยไป ถ้าถอยการปฏิบัติ หรือดับไปผ่านไปเมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แล้วปล่อยวางเห็นตามกฏไตรลักษณ์ ก็จะพัฒนาขึ้นสู่ญาณเบื่องสูงต่อไปตามลำดับ ญาณนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ญาณก็จะบังเกิดขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องไปตั้งใจรอ และขอเตือนสติท่านทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเราบัญญัติหรือสำคัญมั่นหมายตัวเองหรือผู้อื่นว่า ผู้นั้นผู้นี้หรือเราเองถึงธรรมอันได้แก่นิพพาน ท่านทั้งหลายจงอย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย เพราะจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยในการปฏิบัติ เรื่องวิปัสสนนาญาณที่เขียนนี้เพื่อเป็นการศึกษาพอรู้แนวทางเเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการปฏิบัติกรรมฐาน เพราะเวลาปฏิบัติแทบจะนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย

เมื่อข้าพเจ้าจะเริ่มเขียนเรื่องวิปัสสนาญาณ ข้าพเจ้าต้องเรียงลำดับความคิดและความเข้าใจให้เป็นระบบ เพราะคำว่าวิปัสสนาญาณนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ให้บังเกิดความเข้าใจเห็นอารมณ์และจิตใจของตนเองแล้วปล่อยวางด้วยสติปัญญา อันมีพละ 5 อย่างเพรียบพร้อม คื่อมี สติ ปัญญา สมาธิ ศรัทธา และความเพียรอย่างเหมาะสม ความจริงแล้วญาณต่างๆ ในวิปัสสนาญาณ สำหรับผู้ปฏิบัติจริงๆ ไม่ควรไปสนใจหรอก เพราะแทบจะไม่ได้ช่วยประโยชน์อะไรเลยในขณะที่ปัฎบัติ เพราะถ้านำมาเปรียบเทียบกับอารมณ์กรรมฐานตัวเองในขณะที่ปฏิบัติ จะทำให้เกิดความสับสน ทำให้สติปัญญาที่ควรเจริญขึ้นตามฐานะกลับวกวนอยู่อย่างนั้น ด้วยความสงสัยลังเล เพราะว่าผู้ใดที่ตกอยู่ในอารมณ์ญานนั้นๆ เสมือนผู้ที่เข้าไปในห้องมืดที่จะต้องผ่านห้องนั้นๆ ไปให้ได้ ถึงแม้เคยศึกษาตำราวิปัสนาณานจนจำได้ขึ้นใจ หรือมีหนังสือวิปัสสนาญานอยู่ในมือก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพราะอารมณ์นั้นเพิ่งบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เสมือนสิ่งที่ไม่เคยประสบมาก่อน เมื่อประสบก็ย่อมไม่สามารถแยกแยะได้เลย ต้องเรียนรู้ของจริงนั้นเป็นเวลาพักหนึ่ง จึงสามารถรู้ทางผ่านไปได้ด้วยตัวเองบางคนอาจช้าบางคนอาจเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาในการกำหนดกรรมฐานอย่างถูกต้อง พิจารณาเป็นไตรลักษณ์แล้วปล่อยวางไปได้ ขออย่างเดียวให้กำหนดสติปัฏฐาน 4 ให้ถูกต้องเท่านั้น สติปัญญาและสมาธิก็จะเจริญขึ้นตามฐานะจนถึงที่สุด เรามาเริ่มวิปัสสนาตั้งแต่ญาณแรก

1. นามรูปปริเฉทญาณ เป็นด่านแรกของการปฏิบัติว่า การปฏิบัติกรรมฐานนั้นเป็นวิปัสสนาหรือเป็นสมถะ เมื่อถึงตรงนี้ย่อมมีผู้ที่สงสัยว่า อะไรคือวิปัสสนา อะไรคือสมถะหรือสมาธิ ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ละเอียดสักหน่อย เพื่อไม่ให้สับสนเรื่องสมถะกับวิปัสสนา เพราะมีคนอีกส่วนมากแม้กระทั้งผู้ปฏิบัติเองยังสับสนอยู่ ไม่เข้าใจ และเข้าใจผิดอยู่มาก ความจริงแล้วในพระไตรปิฏกพระพุทธองค์ทรงแยกให้ชัดเจนอยู่แล้วว่า สมถะกรรมฐานมีทั้งหมด 40 อย่าง คือ อานาปานสติ กระสิน 10 พรหมวิหาร 4 พุทธทา ธรรมมา สังฆานุสติ อสุภ กายกตา ฯลฯ ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของสมาธิทั้งหมด แต่ อานาปานสติ อสุภ กายคตา มรณานุสติ พิจารนาธาตุ จัดเป็นวิปัสสนากรรมฐานได้ เมื่อน้อมเข้ามาสู่พิจารณาตนเอง เพราะง่ายต่อการพิจารณาสติปัฏฐาน 4 และเรื่องสมาธิเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกือบทุกสำนักที่สอนกรรมฐานกันในประเทศไทย มุ่งเน้นเบื้องต้นในเรื่องของสมาธิกันส่วนมาก จนทำให้บางบุคคล บางสำนักที่สอนกรรมฐานเข้าใจผิดคิดว่าเป็นวิปัสสนากรรมฐานไปเสียก็มี เพราะการไม่ศึกษาหรือปฏิบัติให้ถึงที่สุดตามพระไตรปีกฎ หรืออาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ จึงเข้าใจผิดว่าที่ปฏิบัตินี้และคือที่สุดของธรรม ทั้งที่เป็นเรื่องของสมาธิและฌานสมาบัติ จนมีบางคนหรือบางสำนักเห็นผิดว่า นิพพาน เป็นอัตตา(เป็นตัวตน) เป็นนิจจัง(เทียงแท้) เป็นสุขขัง(เป็นสุขอย่างเดียว) ไปเสีย สวนทางกับไตรลักษณ์อย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้วผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานท่านมีวิธิที่จะยกสมถะหรือสมาธิขึ้นเป็นวิปัสสนาได้โดยไม่ยาก ด้วยหลักง่ายๆ คือเมื่อสมาธิเป็นอารมณ์เดียวถึงความสงบนิ่งเต็มที่ ตามกำลังของตนเองและง่ายต่อการพิจารณา นำมาพิจารณา ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง หรือพิจารณาอสุภะ หรือพิจารณาความตาย เห็นเป็นไตรลักษณ์ จนจิตเข้ามาย้อนดูตัวเองแยกเป็นรูป กับนาม คือสิ่งที่กำลังกำหนดภาวนาอยู่ กับความรู้หรือตัวรู้ในขณะนั้นๆ กลายเป็นการเริ่มเข้าสู่ประตูวิปัสสนาญาณที่ 1.นามรูปปริเฉทญาณ และเมื่อพิจารณาต่อเห็นแจ้งว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็จะขึ้นสู่ญาณเบื้องสูงต่อไป สำหรับผู้ที่ฝึกสติปัฏฐาน 4 แบบยุบหนอพองหนอ ถ้าภาวนาไม่ถูกลักษณะก็จะกลายเป็นสมาธิคือกลายเป็นอารมณ์เดียวแล้วนิ่งสงบอยู่ไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ คือไม่มีสติปัญญาแยกได้ว่า นี้คือสิ่งที่กำหนดภาวนา และนี้คือตัวรู้ที่เข้าไปภาวนา อาจจะมีบางท่านแย้งว่า รูป คือ รูป นามคือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นก็ถูกตามบัญญัติตามตำรา แต่ถ้าเป็นการการฝึกวิปัสสนา หรือกำหนดสติปัฏฐาน 4 ขณะที่เกิดเวทนา อาจจะเจ็บ หรือสบาย หรือเสียใจอยู่ ถ้ากำหนดว่า เจ็บ ๆ หรือสบายๆ หรือเสียใจ ๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถแยกได้ว่าขณะที่กำหนดอยู่ ว่านี้คือความเจ็บ นี้คือตัวรู้ความเจ็บ ในขณะนั้นๆ ก็จะกลายเป็นสมาธิคือเมื่อถึงที่สุดก็กลายเป็นอารมณ์เดียว ไม่มีสติปัญญาเห็นสภาวะแท้จริง ของธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นธรรมดา หรือ ความไม่เทียง (อนิจจัง) ไม่เป็นตัวเป็นตน(อนัตตา) และตั้งอยู่ไม่ได้(ทุกขัง) ทั้งที่กำหนดนามหรือรูปอยู่ตามความหมายของรูปนามตามบัญญัติของขันธ์ 5 แต่ก็ยังไม่เข้าสู่วิปัสสนาญาณ ข้าพเจ้าก็ย่ำอีกครั้งในเรื่องของสติปัฏฐาน 4 อีกครั้ง ว่าเมื่อท่านไม่เข้าใจการพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมและไม่สามารถแยกรูปแยกนามให้แช่มแจ้งออกมาได้ ในขณะที่กำหนดภาวนาสิ่งนั้นอยู่ก็จะกลายเป็นสมถะ ไม่สามารถขึ้นสู่วิปัสสนาญาณได้เลย ข้าพเจ้าได้อธิบายตามภูมิที่ข้าพเจ้าสามารถระลึกได้ในช่วงนี้น่าจะทำให้ผู้ที่ศึกษาพอเข้าใจได้ หรือผู้ปฏิบัติอยู่อาจจะเข้าใจแจ้งชัดขึ้น ของวิปัสสนาญาณที่ 1

2. ปัจจัยปริคคหาญาณ เมื่อท่านสามารถแยกรูปแยกนามได้แล้วในขณะที่กำหนดถาวนาตามญาณที่ 1 และมีพละ 5 พร้อมขึ้นก็จะเข้าสู่ญาณที่ 2 ปัจจัยปริคคหาญาณ คือจะมีปัญญาชัดแจ้งว่ารูปกับนามบังเกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลกันอยู่ อธิบายง่ายๆ คือ เมื่อมีสิ่งภายนอกกระทบร่างกายหรือจิตใจ หรือใจไปปรุงแต่งขึ้นมาเอง ก็จะบังเกิดความรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉย เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันทุกขณะทุกเวลา เมื่อมีสติกำหนดพิจารณาอยู่ทุกขณะก็จะเห็นเหตุและปัจจัยนี้ได้อย่างชัดเจนขึ้น และเมื่อสติปัญญาหรือพละทั้ง 5 สมบูรณ์พร้อมขึ้นก็จะเข้าสู่ญาณที่ 3

3. สัมมสนญาณ เมื่อการกำหนดสติปัฏฐาน 4 อย่างต่อเนื่อง ก็จะเห็นแจ้งขึ้นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นกระทบกับร่างกาย หรือจิตใจ ขณะกำหนดภาวนาอยู่เมื่อมีขันติพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วสลายไปตามเวลาตามฐานะ แล้วบังเกิดสิ่งที่กระทบใหม่ต่อเนื่องกันไปเรื่อย เรียกว่ามีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นในทุกขณะที่กำหนดภาวนาอยู่ ถ้าท่านผู้ปฏิบัติไม่สำรวจกรรมฐานให้ดี จะทำให้เกิดการปรุงแต่งเกิดการเบื่อหน่ายตามความคิดที่ปรุงแต่งไป จนอาจล้มเลิกกรรมฐานไปชั่วคราวก็ได้ หรืออาจจะบังเกิดเป็นอุเบกขาหรือเฉยแบบสติสัมปัญญะไม่ทันปัจจุบัน หรืออาจจะกำหนดกรรมฐานได้รวดเร็วเกินความเป็นจริง หรือบังเกิดญาณรู้อะไรล่วงหน้า หรือบังเกิดมีปีติมากมาย หรือบังเกิดเห็นแสงสว่างทั้งหลับตาหรือลืมตา ฯลฯ สภาวะอย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนูกิเลส 10 ประการ ถ้าผู้ปฏิบัติใดไปหลงยินดีและยึดติดเข้าใจผิดว่าเป็นของวิเศษเป็นผู้วิเศษ จนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอาจจะทำให้เกิดวิปลาสไปชั่วคราวได้จนต้องให้หยุดกรรมฐาน มีตัวอย่างบางท่านอาจจะยึดติดเป็นเดือน เป็นปี หรือเป็น 10ปี หรือจนตายก็ยังมี ถ้าไม่รู้จักเตือนตัวเอง และพิจารณากิเลสของตนเองที่มีอยู่ทำให้เป็นทุกข์เพราะ ราคะ โทสะ และโมหะ แล้วยังดื่อด้านหลงเป็นตัวเป็นตนเป็นผู้วิเศษอย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็ไม่มีผู้ใดสามารถช่วยแก้ไขได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติสำรวมอย่างดีไม่ไปยึดติดในวิปัสสนูกิเลส และเมื่อสติปัญญาเพิ่มขึ้น(พละ 5 เพิ่มขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น) ก็จะเข้าสู่ญาณที่ 4

4. อุทยัพพยญาณ เมื่อกำหนดภาวนาอยู่ก็เห็นว่าการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วหายไป ของอารมณ์หรือรูปนามนั้นเกิดขึ้นเร็วขึ้น เพราะมีสติสัมปัญญะ(ปัญญา)ไปรู้เห็นทำให้การปรุงแต่งของกิเลสต่อสิ่งที่กระทบน้อยลง จึงเกิดการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปได้เร็วขึ้น และเมื่อมีสติสัมปํญญะมากขึ้น พอกำหนดด้วยสติต่อสิ่งที่กระทบเกิดขึ้น ก็จะดับทันที ไม่ว่าสติจะกำหนด กาย หรือ เวทนา หรือ จิต หรือ ธรรม เมือเป็นปัจจุบันก็จะดับทันทีหรืออารมณ์ขาดจากันทันที ปรากฏอย่างชัดเจนทั้งอาการและความรู้สึก และญาณนี้และเป็นญาณที่สามารถบอกให้ท่านผู้ปฏิบัติทราบโดยไม่ต้องสงสัยว่า ได้มาถึงญาณที่ 4 แล้ว หลังจากนั้นกำหนดได้ถูกส่วน คือพละ 5 สมบูรณ์ก็จะเห็นการเกิดดับได้มากขึ้นและชัดเจน เมื่อพละ 5 เพิ่มขึ้นก็จะเข้าสู่ญาณที่ 5

5. ภังคญาณ เมื่อสติสัมปัญญะแก่กล้าขึ้นเมื่อกำหนดอะไรก็ดับ ก็สลายไป เป็นอันว่าทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อกำหนดก็สลายไปต่อหน้าต่อตาอย่างมากมาย เป็นการละบัญญัติเข้าขั้นปรมัตถสภาวะล้วน เพราะกำหนดอะไรก็ดับหายไปหมดตั้งอยู่เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ เปรียบสเหมือนผู้ชายคนหนึ่งที่มีร่างกายอ่อนแอคนหนึ่งเอากระบ่องใบหนึ่งไปตักน้ำ พอจวงตักน้ำเสร็จจะยกกระบ่องขึ้นจากน้ำมันชั่งหนักแทบจะยกขึ้นไม่ไหว แต่เมื่อชายคนนี้ได้บำรุงรางก่ายด้วยอาหารที่สมบูรณ์ รักษาโรคต่างๆ ให้หายขาดและออกกำลังกายเพาะกายทุกวันจนรางก่ายแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อชายผู้นี้เอากระบ่องใบเดิมไปตักน้ำ พอจวงตักน้ำเสร็จจะยกกระบ่องขึ้นมาจากน้ำ ก็ยกขึ้นมาอย่างง่ายดายเหมือนกับไม่ต้องออกแรงอะไรเลย เช่นเดียวกับวิปัสสนาญาณที่ 5 ภังคญาณนี้ จนบางครั้งทำให้ผู้ปฏิบัติคิดไปว่าเหมือนกับสติสัมปัญญะในการกำหนดอ่อนลงเพราะไม่เกิดอาการชัดเจนเหมื่อนกับญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติยังสำรวมระวังและกำหนดสติปัฏฐาน 4 อย่างไม่ทอดธุระ พละ 5 ก็จะสมบูรณ์ขึ้น เข้าสู่เขคญาณที่ 6 ภยญาณ

6. ภยญาณ เมื่อกำหนดสติปะฐาน 4 อย่างต่อเนื่องอย่างไม่ประมาท ก็จะเห็นทุกอย่างเกิดขึ้นก็หายไปในทุกขณะทุกเวลา ก็จะเกิดภาวะที่กลัวในสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ถ้าไม่สำรวมระวังให้ดี จะทำให้ไม่ว่าจะรู้อะไร หรือเห็นอะไรตามปกติ หรือคิดอะไร กลายเป็นว่าน่ากลัวไปหมด ที่ข้าพเจ้าอธิบายอย่างนี้ก็กลัวว่าท่านผู้อ่านที่อ่านถึงตรงนี้จะคิดอะไรเลยเถิดไปว่า ถ้าคุมสติไม่อยู่ก็จะกลายเป็นคนบ้าคนขี้ระแวงไปเสีย ท่านทั้งหลายจงอย่าไปตกใจอะไรเลย เพราะสติสัมปัญญะของผู้ที่ถึงญาณนี้ ดีกว่าคนธรรมดามากมายนักการที่จะเสียสตินั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จะเปรียบเทียบให้เข้าใจดังนี้ ผู้ถึงญาณนี้เสมือนมี ชาย 2 คน ซ้อมฟันดาบกันโดยใช้ดาบไม้ซ้อมกัน ดังนั้นขนะที่กำลังซ้อมฟันกันอยู่ก็กลัวถูกโดนฟันด้วยดาบไม้ให้เจ็บถ้าเผลอป้องกันตัวไปทัน แต่พอเลิกซ้อมฟันดาบความกลัวนั้นก็จะหายไป หรือเมื่อซ้อมฟันดาบจนชำนาญความกลัวนั้นก็จะลดน้อยถอยลง เช่นเดียวกันผู้ปฏิบัติสติปะฐาน 4 กำหนดภาวนาโดยไม่ประมาท พละ 5 ก็ย่อมสมบูรณ์ขึ้น ก็เข้าสู่ญาณที่ 7 อาทีนวญาณ

7. อาทีนวญาณ ญาณนี้เป็นญาณที่ปรากฏความทุกข์ของสังขารให้เห็นอย่างชัดเจน อาจมีอาการ ภาวนาอะไรก็รู้สึกอึดอัดอารมณ์ไปหมด เหมือนกับว่าทุกขณะที่กำหนดสติมีแต่ความทุกข์ความไม่สบาย หรืออาจมีอาการกำหนดสติตรงไหนของร่างกายก็รู้สึกเจ็บแปลบตรงนั้น จนต้องให้รำคาญและไม่ปลอดโปร่งสบายเอาเสียเลย จะเปรียบเทียบให้เข้าใจดังนี้ มีชายผู้หนึ่งหาหน่อไผ่เพื่อเอาไปขายและทำอาหารในครอบครัว เมื่อเดินไปถึงตรงกอไผ่ เห็นหน่อไผ่อันหนึ่งซึ่งตรงกับจุดประสงค์อยู่กลางก่อไผ่พอชายผู้นั้นจะมุดตัวเข้าในกอไผ่ก็ย่อมจะเกิดความกลัวหนามไผ่ และกิ่งไผ่ขึ้นมาก่อน เหมือกับญาณที่ 6 ภยญาณ แต่เมื่อมุดเข้าไปในก่อไผ่ก็ย่อมเจ็บปวดไม่มากก็น้อย เพราะหนามไผ่หรือกิ่งไผ่ขีดข่วนเอาให้ต้องทุกข์และรำคาญ เหมือนกับญาณที่ 7 นี้ แต่เมื่อปารถนาจะเอาหน่อไผ่ก็ยังต้องมุดไปข้างหน้า เช่นเดียวกันกับผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้ก็ยังกำหนดสติปะฐาน 4 อย่างไม่ท้อถอย เพราะปารถนาที่จะละกิเลสอันก่อให้เป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติยังเพียรกำหนดสติปัฏฐาน 4 อย่างต่อเนื่องไม่ถ้อถอย พละ 5 ก็จะสมบูรณ์ขึ้นก้าวสู่ญาณเบื่องสูงต่อไป คือนิพพิทาญาณ

8.นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายเป็นที่สุด กำหนดสติปะฐาน 4 ไปเบื่อหน่ายไป ในจิดใจเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ที่ไม่เกิดจากการคิดปรุงแต่งหรือการผิดหวังอะไรเลยตามที่ชาวโลกเป็นอยู่ตามปกติ การเบื่อหน่ายนี้ไม่ได้เกิดจากการคิดปรุงแต่งแม้แต่นิดเดียว แต่เกิดจากการกำหนดสติปัฏฐาน 4 ได้ทันปัจจุบันหรือเป็นปัจจุบัน ทำให้สติปัญญาเห็นไตรลักษณ์ อันไม่เทียง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่างชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องคิดปรุงแต่ง จะเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ อย่างเช่นในเมืองที่มีการจาราจลติดขัดทุกวี่ทุกวัน ผู้เดินทางต้องใช้เวลานานจนเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้าทุกวัน ผู้เดินทางก็ต้องเบื่อหน่ายต่อการเดินทางทุกครั้ง แต่ก็ต้องทนเพราะต้องไปทำงานเลียงชีพ เช่นเดียวกับผู้ถึงนิพพิทาญาณนี้ แต่ต่างกันตรงที่การเบื่อหน่ายของนิพพิทาญาณนั้น เห็นทุกข์โทษของสังขารทั้งหลายที่กำหนดกรรมฐานอยู่ ขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่เกิดจากการไปคิดปรุงแต่งให้เบื่อหน่ายขึ้นมา เพราะถ้าไปคิดปรุงแต่งให้เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมานั้นอยู่ในเขตญาณเบื่องต้น คือญาณ 2 หรือ ญาณ 3 หรือยังไม่ได้เข้าสู่วิปัสสนาญาณแม้แต่ญาณเดียว ขอให้ทำความเข้าใจไว้ด้วย จะไม่เกิดความเข้าใจผิดหลงญาณในภายภาคหน้า เพราะโดยปกติแล้วมนุษย์ชอบเห็นตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ โดยการคิดและจิตนาการแล้วปรุงแต่งอารมณ์เป็นประจำ จนเกิดวิชาการความรู้ขึ้นมามากมาย เรียกว่าความเฉลียวฉลาดหรือปัญญาของมนุษย์ แต่หาใช่คำว่า ปัญญาที่แท้จริง ในพระพุทธศาสนา เมื่อผู้ปฏิบัติยังกำหนดสติปัฏฐาน 4 อย่างไม่ลดละ สติปัญญาหรือ พละ 5 ย่อมพัฒนาขึ้นเป็นญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ

9. มุญจิตุกัมยตาญาณ เมื่อนิพพิทาญาณถึงความแก่กล้า ก็ย่อมต้องการจะหนีต้องการจะหลุดพ้นจากความเบื่อหน่ายในสังขารนั้น ซึ่งก็มีอยู่ 2 ทางให้ผู้ปฏิบัติเลือก ทางที่ 1. คือกำหนดสติปะฐาน 4 ต่ออย่างมีความเพียร ด้วยความศรัทธาและมีสติปัญญามีสมาธิอันแน่วแน่ จนเข้าสู่ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมญตาญาณ ทางที่ 2. คือเลิกกรรมฐานปล่อยให้วิปัสสนาญาณถอยกลับลงไปจนเป็นปกติ แล้วเริ่มปฏิบัติกันใหม่ ทั้ง 2 ทางเป็นทางเลือก แต่โดยมากแล้วผู้ปฏิบัติเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมเลือกทางที่ 1 ทุกคน ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ หรือติดความเป็นอยู่ที่สบายตามอารมณ์ของตนเองจนความเพียรนั้นถดถอยลง เมื่อผู้ปฏิบัติเลือกทางที่ 1 กำหนดสติปัฏฐาน 4 ต่อไป การต้องการจะหนีต้องการจะหลุดพ้นถึงความแก่กล้าของเขา พละทั้ง 5 ก็จะปรับเข้าสู่ความสมดุลโดยธรรมชาติ ย่างเข้าสู่ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ

10. ปฏิสังขาญาณ เป็นญาณที่เห็นทุกข์โทษของสังขารทั้งหลายมาตลอดของการปฏิบัติธรรม มีปัญญาแจ่มชัดขึ้นว่า สังขารทั้งหลาย ตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งหมดทั้งสิ้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามภาวะของเขามาตลอด เริ่มผ่อนคลายความยึดมั่นในสภาวะต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริง การกำหนดภาวนาที่แสนยากลำบากที่ผ่านมาเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามฐานะของการแก่กล้าขึ้นของสติปัญญา ญาณนี้เปรียบสะเหมือน เด็กทารกที่คลานได้และนั่งได้แล้ว และพยายามที่จะหัดเดิน ต้องลำบากอยู่กับการพยายามลุกขึ้นยืน โดยต้องเกาะต้องจับเพื่อให้ทรงตัวยืนให้ได้ พอปล่อยจากการเกาะการจับก็ล้มลงทันที่ ต้องหัดทำแล้วทำอีกจนทรงตัวยืนอยู่ได้โดยไม่เกาะอะไร แต่ยังจะก้าวเดินไม่ได้ ถึงตรงนี้และที่ยืนแล้วล้มเปรียบได้กับ ปฏิสังขาญาณ คือเริ่มจะเดินเป็น หรือเริ่มจะทำได้ เมื่อผู้ปฏิบัติยังกำหนดสติปะฐาน 4 อยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย สติปัญญาหรือพละทั้ง 5 ก็จะปรับเข้าสู่ญาณที่ 11 สังขารุเปกขาญาณ

11. สังขารุเบกขาญาณ เป็นญาณอันสุดยอดของโลกียญาณคือของรูปนามนี้ เพราะเมื่อสติปัญญาเห็นทุกข์โทษของสังขารทั้งหลายเป็นไตรลักษณ์ทุกขณะหรือทุกวิปัสสนาญาณที่ผ่านมา สภาวะจิตใจก็ย่อมปล่อยวางความยึดถือลงเป็นอุเบกขา ไม่ไปเป็นทุกข์หรือสุขในสังขารที่กำหนดภาวนาอยู่นั้น แต่มีสติสัมปัญญะในการภาวนาได้ดียิ่ง กำหนดภาวนาได้สบายเหมือนกับไม่ต้องพยายาม แต่เพียรกำหนดภาวนาต่อไปอย่างไม่ขาดระยะ เปรียบเสมือนผู้ที่หัดถีบจักรยาน ในระยะแรกต้องขึ้นคลอมประกองรถจักรยาน แล้วเข็นไปข้างหน้าด้วยเท้ายันอยู่กับพื้น ไม่สามารถที่จะทรงตัวขึ้นถีบจักรยานได้ บางต้องคอยให้ผู้อื่นคอยจับรถจักรยานให้ตรงจึงพอถีบได้บ้าง แต่พอคนที่จับปล่อยมือก็ล้มถีบไม่ได้เหมือนเดิม ผู้ที่หัดถีบจักรยานนั้นก็พยายามฝึกแล้วฝึกอีกด้วยตัวเอง จนขึ้นถีบจักรยานไปข้างหน้าได้โดยไม่ล้ม แต่การควบคุมรถจักรยานก็ยังโยกไปช้ายทีขวาทีไปได้สักพักก็ต้องเอาเท้าค้ำกับพื้นอีกตามเดิม เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยเปรียบเหมือนกับญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ เมื่อผู้ที่หัดถีบจักรยานพยายามแล้วพยายามอีก ก็สามารถที่จะควบคุมรถจักรยานได้ให้ถีบไปในทิศทางที่ต้องการโดยสะดวกด้วยความชำนาญ ช่วงนี้เปรียบเสมือนกับสังขารุเบกขาญาณ คือมีการกำหนดสติปะฐาน 4 ตามสบายสงบนิ่งไม่มีสิ่งใดที่ติดขัด บางท่านสามารถกำหนดได้อย่างสงบสบายเป็นวัน หรือเดือนๆ ก็มี แต่ต้องรักษาการภาวนานั้นเสมือนผู้ที่เอาถาดที่มีน้ำมันอยู่เต็มทูลไว้บนศรีษะ แล้วไม่ให้น้ำมันนั้นหกแม้แต่นิดเดียวด้วยความชำนาญ ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดหรือผู้วิเศษใดที่จับให้ท่านถีบจักรยานได้เป็นในทันที่และตลอดกาล ถ้าท่านไม่ฝึกหัดถีบรถจักรยานด้วยตนเอง เช่นเดียวกันของการฝึกสติปัฏฐาน 4 ไม่มีผู้ใดหรือผู้วิเศษใดสามารถจับให้ท่านถึงสังขารุเบกขาญาณ โดยที่ไม่ต้องฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ดังนั้นท่านทั้งหลายจงอย่าหลงกับคำว่าผู้วิเศษให้มากนักเพราะไม่เกิดประโยนช์เลย มากล่าวถึงสังขารุเบกขาญาณเมื่อถึงความแก่กล้าคือมีสติปัญญาเห็นไตรลักษณ์ ในทางอนิจจัง(ไม่เทียง) หรืออนัตตา(ไม่เป็นตัวตน) หรือทุกขัง(ตั้งอยู่ไม่ได้) เกือบพร้อมบริบูรณ์ ก็จะขึ้นสู่ญาณที่ 12 อนุโลมญาณ แต่ส่วนมากของผู้ที่มีบารมีไม่พร้อมยังเป็นปุถุชนอยู่ ถ้าพละ 5 ไม่สมบูรณ์จริงๆ ย่อมไม่บังเกิด อนุโลมญาณ เมื่อสติตกหรือพละ 5 หย่อน หรือไม่สมดุลกัน ก็จะเกิดอาการวูบได้เหมือนกัน แต่กลายเป็นสมาธิ กลายเป็นความสงบ กลายเป็นหลับ

12. อนุโลมญาณ อาจจะเรียกว่าญาณหัวเลียวหัวต่อ คือหมายความว่าเกือบจะเป็นหรือเกือบจะได้ หรือเพียงนิดเดียวก็ถึง ที่กล่าวดังนี้ก็เพราะเมื่อสังขารุเบกขาญาณถึงความสงบอย่างเต็มที่เพราะภาวนาเห็นตรัยลักษณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ สภาวะจิตก็จะปล่อยวางสังขารลงสู่อุปจารสมาธิหรือลงภวังค์ในขณะที่สติสัมปัญญะสมบูรณ์อยู่ พอถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติกรรมฐานจงอย่าเข้าใจผิดว่าจะต้องถึงนิพพานแน่นอน เพราะญาณนี้จะเกิดขึ้นในช่วงอึดใจเดียว แต่มีเหตุหลายประการที่จะทำไม่ให้ถึงฝังนิพพานดังนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจงอย่าหลงยึดในอาการนั้น แล้วคิดเข้าข้างตนเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไปเสียก่อน โดยลืมหรือทิ้งการกำหนดภาวนา เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 เกือบถึงญาณที่ 12 นี้เมื่อไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน วิปัสสนาญาณก็จะถอยกลับลงมาที่ญาณ 11สังขารุเบกขาญาณดังเดิม และเมือกำหนดกรรมฐานต่อโดยไม่ขาดสายจนสังขารุเบกขาญาณแก่กล้าสมบูรณ์อีกครั้ง ก็จะเกือบเข้าสู่อนุโลมญาณอีกครั้งเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าปัญญาแก่กล้าถึงฝั่งนิพพาน เปรียบเสมือนมีคนผู้หนึ่งปารถนาจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง แต่มีช่องหน้าผาขั้นอยู่ ถ้าจะกระโดดในคราเดียวก็รู้ว่าไปไม่ถึงอีกฝั่งเพราะเกินกำลังของตนเอง แต่ฝั่งที่บุคคลนั้นยืนอยู่ มีต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งใหญ่กิ่งหนึ่งยื่นไปทางช่องหน้าผาฝั่งโน้น เมื่อผู้นั้นปีนขึ้นไปบนต้นไม้แล้วไต่ไปตามกิ่งที่ยื่นไปทางฝั่งโน้น ก็กะระยะแล้วว่าถึงจะกระโดดจากกิ่งไม้นี้ออกไปฝั่งโน้นก็ยังไม่ถึง คนผู้นั้นก็ต้องไต่ลงจากต้นไม้นั้น หาเชื่อกหรือเถาวัลย์ที่เหนียวและแข็งแรงทดสอบแล้วว่าสามารถรับน้ำหนักของตนเองได้อย่างสบายไม่มีวันที่จะขาดได้ และมีความยาวน่าจะพอดีที่จะโหนตัวไปฝั่งโน้นได้ คนผู้นั้นจึงไต่ขึ้นไปบนกิ่งไม้ใหญ่นั้นอีก แต่คราวนี้เอาเชือกเถาวัลย์ผูกกับปลายกิ่งไม้นั้นที่ประมาณดูแล้วว่ารับน้ำหนักของตนเองได้สบายในขณะที่โหนอยู่ แล้วจับปลายเชือกอีกด้านหนึ่งไต่ลงมาที่พื้นหน้าผา ถอยห่างจากหน้าผาเริ่มออกวิ่งอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งจับปลายเชือกไว้อย่างมั่นคง ตรงนี้เปรียบเสมือนกับ สังขารุเบกขาญาณที่แก่กล้า พอคนผู้นั้นวิ่งถึงริมหน้าผาก็กระโดดอย่างสุดกำลังโหนตัวไปฝั่งโน้น อาการกระโดดและโหนตัวไปฝั่งโน้นพ้นจากขอบหน้าผาที่ยืนอยู่ เปรียบเทียบได้กับ อนุโลมญาณคือญาณที่ 12 (แต่ส่วนมากจะวิ่งมาขอบหน้าผาคือสุดขอบญาณที่ 11 ก็จะไม่กล้ากระโดดเสียมากกว่าถ้ายังไม่พร้อมสมบูรณ์) ถ้าคนผู้นั้นเห็นว่าโหนมาถึงอีกฝั่งได้พอดีก็ย่อมปล่อยเชื่อกไปยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งอย่าปลอดภัย แต่ถ้าไม่ถึงฝั่งโน้นคนผู้นั้นก็ไม่ยอมปล่อยมือจากเชือก โหนกลับมายังฝังเดิม เปรียบเสมือนผู้ที่ถึงอนุโลมญาณแล้วแต่ไม่สามารถย่างถึงฝั่งนิพพานได้ ก็ต้องกลับมายืนที่ฝั่งเดิมคือ สังขารุเบกขาญาณ แล้วเริ่มวิ่งกระโดดไปใหม่จนกว่าจะสำเร็จ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดพละ 5 อ่อนลง หรือหยุดภาวนาต่อ อาจจะด้วยเหตุใดก็ตามวิปัสสนาญาณก็จะถอยกลับสู่ญาณเบื้องต้น แล้วเริ่มต้นกำหนดภาวนาขึ้นมาใหม่ตามลำดับแต่ก็ไม่ยากแล้วเพราะมีความชำนาญ ยกเว้นความคิดปรุงแต่งไปหลงญาณเสียก่อน หรือมีความเข้าใจคำว่าความเพียรผิด กลายเป็นความพยายามตามอำนาจของกิเลสจนพละ 5 ประการไม่สมดุลเสมอกัน ก็จะทำให้เกิดความทุกข์มากในการกำหนดกรรมฐาน จะมากล่าวถึงผู้ที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 เกือบถึงญาณ 12 อันเป็นญาณสูงสุดของโลกียญาณแต่ไม่สามารถให้ถึงซึ่งฝั่งพระนิพพาน เพราะมีเหตุทำให้พละ 5 ประการไม่สมดุลกัน แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

1.ประเภทบุคคลที่ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง แต่ความสมบูรณ์พร้อมของพละทั้ง 5 ประการยังไม่สมดุล วิปัสสนาญาณจึงขึ้นๆ ลงๆ ตามวิปัสสนาญาณทั้ง 11 ญาณ หรืออาจกล่าวว่าองค์ 8 ประการของมรรคหรือมรรค 8 ยังไม่สมบูรณ์พร้อม ตามแนวของผู้ฝึกสมาธิถึงฌานแล้วยกฌานขึ้นเป็นบาท เพื่อพิจารนาขึ้นเป็นวิปัสสนาตามแนวโพธชงค์ 7 เรียกว่าเป็นบุคคลผู้ปฏิบัติทาง เจโตวิมุต คือฝึกสมาธิได้ฌานก่อนแล้วเข้าออกฌานจนชำนาญได้ดังใจเรียกว่ามี วสี แล้วนำมาพิจารนาเป็นวิปัสสนาญาณ ญาณของท่านเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทุกญาณแต่ที่ปรากฏเห็นอาการชัดเจนเพียง 5 ญาณ คือ ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณ สติปัญญาเห็นการเกิดดับอย่างชัดเจน ญาณที่ 8 นิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเป็นที่สุด ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ มีความปารถนาจะหนีจะหลุดพ้นจากสังขารทั้งหลายอย่างสุดกำลัง ญาณที่ 11 สังขารุเบกขาญาณ คือปล่อยวางสังขารทั้งหลาย เข้าสู่การพิจารนาอย่างสงบสะดวกปัญญาแจ้งในไตรลักษณ์เกือบสมบูรณ์ แล้วจะเข้าเขตญาณที่ 12 คืออนุโลมญาณ แต่ถ้าผู้ที่มีองค์ 8 ของมรรคไม่สมบูรณ์พร้อม ก็จะทำให้วิปัสสนาญาณขึ้นๆ ลงๆ เห็นชัดเจนทุกญาณเพื่อให้เกิดความแก่กล้าของปัญญาในการเห็นพระไตรลักษณ์ เพื่อจะได้ประหารกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง ตามขั้นตามฐานะของบารมีในขณะนั้น ซึ่งการมีพละ5 หรืออินทรีย์ไม่สมบูรณ์นี้ทำให้เกิดน่าเป็นห่วงสำหรับท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ที่ยังประมาทอยู่ ไปโมเมหรือสำคัญตนว่าบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว หรือผู้อื่นที่ผู้นั้นศรัทธายกเป็นอาจารย์ กล่าวบัญญัติยืนยันว่าผู้นั้นปฏิบัติได้ถึงมรรคผลและนิพพาน แล้วผู้นั้นไปให้ความสำคัญในคำกล่าวนั้นแล้วยึดมั่นว่าเป็นจริง โดยไม่พิจารณาความรุนแรงกิเลสของตนที่มีอยู่ ที่บังเกิดขึ้นเผารนจิดใจให้เร้าร้อนหรือทุกข์ร้อนเหมือนดังเดิม

2. ประเภทบุคคลที่มีกรรมอันเป็นอกุศลมาขวางขั้น แบ่งเป็นส่วนบุคคลได้ 3 ส่วน

2.1 ภิกษุและสามเณร ที่ผิดศีลอย่างเบาและอย่างกลาง แต่ยังไม่ปลงอาบัติหรืออยู่กรรม ตามโทษของศีลที่ผิด ท่านเหล่านี้เมื่อปฏิบัติกรรมฐานถึงญาณ 11 สังขารุเบกขาญาณ แล้วอินทรีย์ 5 หรือพละ 5 จะรวมกันอย่างสมดุล เพื่อเข้าสู่อนุโลมญาณที่ 12 เป็นไปได้อยาก แต่ถ้าตกภวังค์แล้วอารมณ์กรรมฐานขาดจากกันหรือดับไป ก็จะกลายเป็นอย่างอื่น เช่นเป็นสมาธิหรือเผลอไป จะไม่ใช่มรรคผลนิพพาน เพราะเมื่อกลับมาสู่ภาวะปกติ กิเลสที่ก่อให้เกิดทุกข์ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม จึงแก้ด้วยการปลงอาบัติหรืออยู่กรรมให้ถูกต้อง แล้วปฏิบัติกรรมฐานตามปกติก็จะสามารถละกิเลสได้อย่างถาวรตามฐานะ

2.2 ภิกษุหรือสามเณร ทีผิดศีลขั้นปาราชิก ได้แก่
2.2.1 เสพเมถุน ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว
2.2.2.ฆ่ามนุษย์
2.2.3.มีเจตนาลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น 1 มาสก ขึ้นไป
2.2.4.อวดอุตริมนุษยธรรมที่ไม่มีอยู่ในตนหรือของผู้อื่น เช่น โออวดว่าตนหรือผู้อื่น ว่ามีฤทธิ์ หรือได้ฌานสมาบัติ หรือบรรลุมรรคผลนิพพาน ทั้งที่รู้ว่าไม่เป็นจริง อาจจะเป็นกรณีอย่างนี้ก็ได้คือในระยะแรกอาจจะเข้าใจผิด ด้วยมีความรู้ไม่ถึงการ ก็ยังถือว่าไม่ผิดศีลปาราชิกแต่ผิดศีลสังฆาทิเสส เมื่อมีผู้รู้ในพระไตรปิฏกอย่างถ่องแท้แจกแจงให้ทราบถึงความเป็นจริง พระผู้นั้นกลับใจได้ถือว่าไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องปลงอาบัติด้วยการอยู่กรรม คือการถูกกะบริเวณเพื่อให้สำรวม กาย วาจา ใจ ตามเวลาที่คณะสงฆ์กำหนด แต่ถ้าพระผู้นั้นไม่ยอมรับฟังทั้งที่รู้อยู่ว่าอาจจะผิด ด้วยติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ หรือมีความพอใจในการอวดอุตริมนุษย์ธรรม ถือว่าผิดศีลปาราชิกในทันที่ ท่านที่ผิดศีลปาราชิกเหล่านี้แม้จะทำวิปัสสนากรรมฐานจนตายก็ไม่มีทางถึงชึ่งมรรคผลนิพพาน ยกเว้นท่านเหล่านี้ยอมสละเพศจากการเป็นพระภิกษุหรือสามเณรมาเป็นฆารวาส เมื่อยังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่ออยู่ ก็มีโอกาสถึงซึ่งมรรคผลนิพพาน อาจจะมีผู้สงสัยว่าทำไม่? พระท่านที่ผิดศีลปาราชิกแล้วไม่สามารถถึงมรรคผลนิพพานได้ เป็นเพราะเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสอะไรไว้ ก็ทรงตรัสในสิ่งที่เป็นจริงตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่พระองค์ทรงบัญญัติสิ่งนั้นต้องเป็นจริงตามฐานะ และเนื่องจากภิกษุและสามเณรทั้งหลายในพระพุทธศาสนา ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยฐานะของพระองค์ ดั้งนั้นสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสไว้จะต้องเป็นจริงตามนั้น

2.3 บุคคลที่ทำกรรมหนัก คือทำอนันตรกรรมไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรือในอดีตกาล ท่านผู้นั้นเมื่อมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพราะปัจจุบันเป็นกัลยาชนคนดี ถึงจะเพียรปฏิบัติอย่างไรทำความดีไว้มากเพียงใดก็ไม่มีโอกาศถึงซึ่งนิพพาน การผิดอนันตรกรรมได้แก่
2.3.1.ฆ่าบิดามารดาที่เป็นมนุษย์และผู้นั้นเป็นมนุษย์
2.3.2. ฆ่าพระอรหัน
2.3.3 ทำพระโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ
2.3.4. ทำสังฆเภท คือทำให้สงฆ์แตกออกจากกันเป็นสองฝ่ายไม่ย่อมร่วมทำสังฆกรรมด้วยกัน ซึ่งแบ่งเป็นกรณีการทำสังฆเภทได้ดังนี้

กรณีที่ 1 ทำให้สงฆ์แตกกันสองฝ่าย จะไม่กล่าวว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดก่อน เพราะแต่ละฝ่ายถือว่าถูกทั้งสองฝ่ายซึ่งสงฆ์ที่เข้าร่วมแต่ละฝ่ายไม่ถือว่าผิดอนันตรกรรม แต่บุคคลผู้นำที่ยุยงหรือผู้ยุยงไม่ให้สงฆ์ทำสังฆกรรมได้สำเร็จ และทำให้ต่างฝ่ายต่างเพ่งโทษซึ่งกันและกัน บุคคลผู้นำที่ยุยงหรือผู้ยุยงจนสำเร็จนั้นผิดอนันตรกรรมทันที

กรณีที่ 2 มีคณะหรือกลุ่มสงฆ์ ที่มีความเข้าใจในธรรมอันสูงสุดอันได้แก่พระนิพพานไม่ตรงกับพระไตรปฏิกหรือไม่ถูกต้อง แล้วนำไปสั่งสอนผู้อื่นให้เห็นตาม ก็ยังไม่เป็นอนันตรกรรมแต่เสมือนเป็นปาราชิกในตัวเอง เพราะผู้สอนและผู้ที่ปฏิบัติตาม ไม่มีโอกาสถึงพระนิพพานแม้แต่นิดเดียว เป็นเพียงนิพพานหลอกตนเองไปวันๆ เมื่อมีกิเลสเข้ารุมล้อมหรือมีปัญหาจนกิเลสปะทุขึ้นมา ก็ทำให้เกิดความทุกข์และเร้าร้อนตามประสาปุถุชน แต่ถ้ามีทิฏฐิอาจจะเกิดจากการมีลาภ ยศ สรรเสริญหรือมีมิจฉาทิฐิแบบเต็มกำลัง บังเกิดการโออวดอุตริมนุษยธรรมเกินจากสิ่งที่เข้าใจผิดอยู่ เพื่อให้ผู้อื่นศรัทธาหรือหลงเชื่อก็จะต้องอาบัติปาราชิกทันที่ ซึ่งสามารถอธิบายให้พอเข้าใจได้ดังนี้ คือผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาแบบไหนก็ตามแต่ แล้วสำคัญมั่นหมายว่าเป็นมรรคผลนิพพาน และกล่าวบอกและสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามว่าตนเองถึงขั้นนิพพาน ยังไม่ถือว่าผู้นั้นต้องอาบัติปาราชิกเพราะความเข้าใจผิดแต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เมื่อไรพระภิกษุหรือสามเณรผู้ที่เข้าใจมรรคผลนิพพานผิดนั้น เกิดกล่าวอวดว่าตนมีอิทธิฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศ มีตาทิพย์ มีกายทิพย์ ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่ไม่มีจริงในตนเลย ก็จะกลายเป็นปาราชิกทันที นอกจากภิกษุหรือสามเณรนั้นเข้าใจผิดในการปฏิบัติของตนว่า เป็นมรรคผลนิพพานแล้วกลายเป็นผู้วิปลาสหรือเป็นบ้าไป แบบไม่มีสติสัมปัญญะเหมือนคนปกติไปช่วงเวลาหนึ่ง เพราะความเข้าใจผิด หรือเป็นเพราะวิปัสสนูกิเลสของวิปัสสนาญาณทำให้วิปลาสไป แล้วกล่าวเพ้อไปต่างๆ นาตามประสาของคนวิปลาสหรือบ้า ถือว่าไม่ผิดศีลปาราชิก แต่จำเป็นต้องนิมนตร์ให้ท่านลาสิขาเพศไปก่อนเมื่ออาการบ้าหรือวิปลาสนั้นหายเป็นปกติ ก็สามารถบวชเป็นพระได้อีก แต่ถ้าอาการวิปลาสหรือบ้านั้นหายเป็นปกติและรู้ตนเองว่าเข้าใจผิดอยู่ก่อนที่จะลาสิขาเพศ ก็สามารถเป็นพระหรือเณรต่อไปโดยไม่ผิดศีลปาราชิก แต่ผิดศีลสังฆาทิเสส และที่ร้ายที่สุดของการเข้าใจผิดในธรรมอันสูงสุดอันได้แก่พระนิพพานนี้ ที่เป็นอันตรายต่อพุทธศาสนาอย่างยิ่ง คือเมื่อคณะสงฆ์หรือบุคคลที่เข้าใจผิดในพระนิพพานมีมาก ก็ทำให้คณะสงฆ์แยกเป็นสองฝ่ายถึงขั้นไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน กลายเป็นอนันตรกรรมของผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีโดยปริยาย ของผู้ที่เข้าใจในพระธรรม(นิพพาน)ผิด และถ้าฝ่ายที่เข้าใจในความของพระนิพพานผิดๆ มีอิทธิพลสูง ที่สามารถเบี่ยงเบนธรรมอันเป็นความหมายที่ให้เข้าใจในพระนิพพาน ตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ แล้วการทำสังฆายนาพระไตรปิฏกใหม่ใส่ความเห็นของตนเข้าไป ก็จะทำให้ชนหมู่มากพลาดจากการปฏิบัติเพื่อถึงนิพพาน ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้าในพระสูตรหนึ่งว่า "ผู้ที่มีเข้าใจในความหมายของนิพพานถูกต้องแล้ว แต่จะปฏิบัติถึงซึ่งพระนิพพานนั้นก็ยังยากอยู่" ตามคำตรัสของพระพุทธเจ้านี้ ทำให้ต้องคิดย้อนไปว่า ในเมื่อความหมายของนิพพานที่พอเข้าใจได้ถูกบิดเบือนไป แล้วจะมีผู้ที่สามารถปฏิบัติถึงนิพพานได้อีกหรือ ถ้ามีผู้ปฏิบัติถึงนิพพานได้ก็คงมีน้อยอย่างยิ่งและเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือสามเณร หรือคณะสงฆ์หรือบุคคลที่มีบุญญาบารมี อาจจะด้วยมีอิทธิพลใดก็ตามแต่ ขอท่านจงอย่าสังฆายนาพระไตรปฏิก แล้วเบียงเบนพระนิพพานตามความเห็นของท่านเลย แต่การที่ท่านจะสั่งสอนผู้อื่น หรือศิษย์ของท่านตามความเห็นของท่านนั้นเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ขอจงอย่าเบี่ยงเบนพระไตรปิฏกเลย จะทำให้พุทธสนิกชนทั้งหลายต้องมืดบอดจากพระนิพพานอันแท้จริง เนื่องจากความเห็นของท่านเลย แม้ว่าเจตนาของท่านจะบริสุทธิ์ แต่ถ้าเปรียบเทียบแล้วท่านจะมีปัญญาบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งก่อตั้งพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ขอให้ท่านทำความเข้าใจด้วยว่า "นิพพานนั้นเป็นธรรมชาติ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้วกล่าวสอนให้กับพุทธบริษัท ให้เข้าใจและปฏิบัติตาม จะมีผู้ใดไปปฏิรูป หรือปฏิวัตินิพพานเสียใหม่ให้เข้าใจตามที่ตนเองเข้าใจ แล้วบัญญัติสังฆายนาพระไตรปิฏกเสียใหม่ ตามเจตนาของตนนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะท่านยังอาศัยพุทธศาสนานี้ดำรงชีพอยู่ แต่ถ้าความเห็นของท่านมีแรงกล้า ขอจงสลัดพุทธศาสนานี้ทิ้งเสีย แล้วไปตั้งลัทธิหรือศาสนาของตนเองขึ้นมาใหม่ แต่อย่าเอาพระพุทธศาสนานี้เป็นฐานเพื่อความเติบโตในทิฏฐิตามความเห็นของท่าน แล้วเบี่ยงเบนความหมายนิพพานตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เลย"

หมายเหตุ ถ้าผู้ที่ทำผิดอนันตรกรรมไปแล้วในอดีต และปัจจุบันเป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงวิปัสสนาญาณสูงสุดของโลกิยะ ถึงแม้มีความเพียรภาวนาอย่างไรหรือได้รับคำสังสอนจากพระพุทธเจ้าหรือพระอริยะสงฆ์อย่างไร ก็ไม่สามารถถึงซึ่งพระนิพพาน ยกเว้นจะตรัสรู้ด้วยตนเอง คือต้องสร้างบารมีด้วยกุศลกรรมปารถนาเพื่อเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า คือตรัสรู้พระนิพพานแต่ไม่สามารถสั่งสอนผู้ใดให้บรรลุตามได้ ผู้ปารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมบารมี ถึง 2 อสงไขย และจะสามารถบรรลุเป็นปัจเจกพุทธเจ้าได้ในกัปล์ที่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นระเวลาที่ว่างจากพระพุทธศาสนาในกัปนั้น แต่ในกาลใดที่พระพุทธศาสนากำลังดำเนินอยู่ จะไม่บังเกิดมีพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย

3.บุคคลที่ปรารถนาสิ่งที่เป็นมหากุศลในอนาคตเบื้องหน้า เพื่อเป็นคุณต่อพระพุทธศาสนาในอนาคต แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

3.1 ผู้ปรารถนาที่จะได้พบกับพระพุทธเจ้าในขณะที่ทรงมีพระชนชีพอยู่ และขอให้ได้บรรลุธรรมสมัยในสมัยนั้นเพื่อจะได้เห็นพระพุทธเจ้าเต็มทั้งดวงตาและดวงใจ หรือปรารถนาได้พบกับพระพุทธเจ้าแล้วได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์ของพระองค์และได้บรรลุธรรมในขณะนั้น ท่านเหล่านี้ถึงแม้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถึงญาณที่ 11 ก็ไม่สามารถถึงมรรคผลนิพพาน ในช่วงของพุทธศาสนาขณะที่พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนชีพไปแล้ว ยกเว้นจะล้มเลิกความปรารถนานี้เสียก็สามารถถึงมรรคผลนิพพานได้ ถ้าไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาบดบัง

3.2 ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระอเสติในพระพุทธศาสนาใดพุทธศาสนาหนึ่งในอนาคต พระอเสติคือพระผู้ใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งว่าเป็นเอกกว่าพระผู้ใดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพราะ อย่างเช่นพระอานนท์ เป็นเอกในเรื่องพาหูสูตร คือได้ยินได้ฟังและจดจำและจำแนกพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าได้มากที่สุด หรือ นางวิสาขา เป็นมหาอุปฐากฝ่ายฆารวาสหญิงที่ยอดเยี่ยมที่สุด ฯลฯ

3.4. ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระมหาสาวกเบื้องขวามีปัญญาเป็นเลิศ หรือพระมหาสาวกเบื้องซ้ายมีอิทธิฤทธิ์เป็นเลิศ อย่างเช่นพระสารีบุตร และพระโมคัลลา

3.5. ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

3.6. ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
ผู้ที่ปรารถนา เป็นพระอเสติ เป็นพระมหาสาวก เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

- ผู้ที่ปรารถนาไว้ แต่ยังไม่แน่นอนคือยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ไดองค์หนึ่งมาก่อน ท่านเหล่านี้ถ้าได้พบกับพระพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงสังขรุเบกขาญาณ ถ้าเลิกล้มความปรารถนา และไม่มีอกุศลกรรมหนักอื่นมาขวางขั้น ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในชาตินั้น

- ผู้ที่ปรารถนาไว้แล้ว และได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อน ท่านเหล่านี้เมื่อยังมีบารมีไม่แก่กล้าครบถ้วนสมบูรณ์ แม้จะได้พบกับพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนา และได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมอย่างมีความเพียรภาวนาเพียงใด ก็ไม่สามารถถึงซึ่งมรรคผลนิพพาน เมื่อบารมีและระยะเวลายังไม่สมบูรณ์ ถึงแม้ท่านจะมีความเบื่อหน่ายในวัฎจักรสังขารเพียงใด แม้จะเอาชีวิตเข้าแรกในการปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่สามารถถึงมรรคผลนิพพานได้ แต่จะต้องมีเหตุการณ์หรือมหากุศลที่ฝังอยู่ไต้สุดภายไต้จิดสำนึก กระตุ้นเตือนออกมาเป็นระยะ ถึงแม้ว่าท่านผู้นั้นจะลืมหรือทำเป็นไม่สนใจ หรือปรารถนาจะละกิเลสอันเป็นทุกข์อย่างที่สุด ก็ไม่สามารถบรรลุได้แต่กลายเป็นการสร้างบารมีให้เพิ่มขึ้น และมหากุศลที่ฝังอยู่ไต้จิตสำนึกของท่านเหล่านั้น ก็คอยกระทุ่นเตือนเป็นระยะตามช่วงบารมี ที่ปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนากรรมฐาน จนต้องอธิษฐานสร้างบารมีต่อ แต่ตามวิสัยของผู้ได้รับพยากรณ์แล้วเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ว่าจะไปอธิษฐานแล้วหรือมีผู้อื่นยืนยัน ทั้งที่เป็นคนหรือเทวดามายืนยันแล้วว่าได้รับพยากรณ์มาแล้ว แต่ไม่ได้รับทราบจากโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้นก็จะไม่ละจากการปฏิบัติวิปัสสนา ยังทำการพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลา

ความแตกต่างของผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ของผู้ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์กับผู้ที่ได้รับพยากรณ์มีดังนี้

- ผู้ที่ยังไม่รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้ามาก่อนแต่มีความปรารถนาอยู่ในใจ เมื่อปฏิบัติถึงวิปัสสนาญาณที่ 11 ก็ไม่สามารถผ่านญาณที่ 12 ได้ จนกว่าจะยกเลิกความปรารถนานั้นออกจากใจ จึงสามารถก้าวสู่ญาณเบื้องสูงได้ต่อไป แต่ถ้าผู้นั้นมีความปรารถนามาแต่อดิตชาติมาแล้วแต่ปัจจุบันนี้ลืมไปแล้ว เมื่อมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงญาณที่ 11 จนชำนาญ วิปัสสนาญาณขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น อนุสัยของความปรารถนาก็จะกระตุ่นเตือนให้ทราบ คือบังเกิดให้เกิดความปารถนาขึ้นมาอีก ถ้ามีความปรารถนามากก็จะถอยการปฏิบัติกรรมฐานลง แต่ถ้ายังเพียรกำหนดกรรมฐานต่อ เพื่อให้ถึงมรรคผลนิพพานก็ต้องยกเลิกความปรารถนานั้นเสียก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

- ผู้ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนมาแล้วและชาติปัจจุบันมีความปรารถนาอยู่ในใจ เมื่อปฏิบัติถึงวิปัสสนาญาณที่ 11 ก็สามารถถึงญาณที่ 12 ได้ แต่ไม่สามารถถึงฝั่งพระนิพพานแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อถึงกาลเวลาที่เหมาะสมของบารมี มหากุศลที่เป็นอนุสัยก็กระตุ่นเตือนขึ้นมาให้รู้ตัว สร้างบารมีต่อเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ กรณีผู้ที่ไม่รู้ตัวในปัจจุบันชาตินี้ หรือไม่เคยคิดปรารถนาเลยอาจจะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงญาณที่ 12 ขึ้นๆ ลงๆ ญาณอยู่อย่างนั้น ใจนั้นปรารถนานิพพานอย่างเดียว ขณะปฏิบัติไม่ได้มีความปรารถนาอื่นแต่อย่างใด แต่เมื่อมีความทุกข์เพราะวิปัสสนาญาณไม่สมดุยล์เพราะความเพียรแก่กล้าเกินไป บังเกิดเป็นกำลังสมาธิเบื้องสูงคือฌาน ทั้งที่ปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเรียกว่าลักษณูฌาน จนความแก่รอบของบารมีเต็มที่ อนุสัยของมหากุศลก็จะกระตุ้นเตือนออกมาเหนือความคาดหมาย หลังจากนั้นความปรารถนาจะเริ่มกระจายเพิ่มขึ้นเต็มทั้งจิตใจ จนทนไม่ได้ต้องไปอธิฐานสร้างบารมีต่อให้สมบูรณ์ แต่ตามวิสัยของผู้ได้รับพยากรณ์แล้วย่อมไม่ตั้งอยู่บนความประมาท ยังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อ แต่ไม่สามารถถึงฝั่งพระนิพพานแม้แต่ครั้งเดียว แต่เมื่อถึงกาลเวลาที่เหมาะสมอีกของบารมี มหากุศลที่เป็นอนุสัยก็กระตุ้นเตือนขึ้นมา ให้รู้ตัวสร้างบารมีต่อเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

ตามที่กล่าวมาบุคคลที่เกิดปัญหาตามข้างบนที่เพียรกำหนดกรรมฐานจนถึงญาณ ที่ 12 ไม่สามารถถึงฝั่งพระนิพพานได้ ก็เปรียบเสมือนคนผู้ที่โหนเชือกที่กำลังจะข้ามหน้าผาถึงฝั่งโน้น แต่บังเกิดมีลมมาพัดให้เสียจังหวะทุกครั้งไป แต่ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีสิ่งใดมาขัดขวาง วิปัสสนาญาณก็สามารถขึ้นสู่ญาณเบื้องสูงทันที่ ข้ามพ้นจากโลกียญาณ ถึงญาณที่ 13 โคตรภูญาณ

13. โคตรภูญาณ เป็นญาณที่กำลังเข้าสู่โลกุตรภูมิคือฝั่งพระนิพพาน เปรียบเสมือนบุคคลผู้โหนเชือกข้ามหน้าผา เมื่อคนผู้นั้นเห็นว่าถึงฝั่งแล้วย่อมต้องปล่อยมือจากเชือกที่โหนในทันที่ อาการที่ปล่อยเชื่อกไปแล้วนั้นละกำลังลอยอยู่ในอากาศนั้นและเปรียบเสมือนกับ โคตรภูญาณ คือญาณที่ก้าวร่วงขาดจากปุถุชน คือถึงฝั่งพระนิพพานแน่นอนคือ ญาณที่ 14 มรรคญาณ

14. มรรคญาณ เป็นญาณที่ถึงพระนิพพานหรือโลกุตรภมิอย่างสมบูรณ์ ได้เชื่อว่าอริยะบุคคลในพุทธศาสนา เป็นพระโสดาบันติมรรค ทำให้อนุสัยกิเลสเบาบางอย่างมากมายและ สามารถละกิเลส 3 ตัวได้อย่างเด็ดขาด ได้แก่

1.สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ

2. วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

3. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง
ซึ่งกิเลสทั้ง 3 ละขาดจากสันดานได้อย่างเด็ดขาด ก็จะก้าวสู่ญาณที่ 15 ผลญาณ ทันที่

15. ผลญาณ เป็นญาณที่พระอริยะบุคคลเข้าเสวยผลของนิพพานขณะที่มีสังขารนี้อยู่ ชั่ว 2 หรือ 3 ขณะจิต หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่ญาณที่ 16 ปัจจเวกขณญาณ อันเป็นญาณสุดท้าย

16. ปัจจเวกขณญาณ เป็นญาณสุดท้าย ที่พิจารณาว่าละกิเลสอะไรได้บ้าง จะพิจารณาขึ้นมาเองให้รู้ฐานะที่แท้จริง ถึงซึ่งโสดาบันติผลหรือโสดาบันบุคคล

หมายเหตุ ญาณที่ 13 และ 14 นั้นไม่สามารถกล่าวเปรียบเทียบได้ว่าอารมณ์หรือความรู้สึกขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร แต่ญาณที่ 15 คือผลของญาณพอกล่าวได้บ้าง เพราะหลังจากที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผ่านที่ 16 ญาณ หรือเรียกว่า โสฬสญาณ ก็สามารถเข้าสมาบัติหรือผลญาณได้ตามฐานะของตนเองได้ทุกเมื่อเมื่อมีความชำนาณ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่สงสัยอย่างไม่สิ้นสุดของปุถุชน สามารถเปรียบเทียบผลของญาณได้คือ ความว่าง หรือความสงบที่ไม่มีอะไรเหลือ ที่ปุถุชนไม่เคยสัมผัส ขอเพิ่มเติมอันญาณที่ 16 นั้นบางท่านไม่บังเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่เมื่อกำหนดกรรมฐานทบทวนวิปัสสนาญาณทั้งแต่ญาณที่ 4 เพราะญาณที่ 1 ถึง 3 นั้น เป็นพื้นของท่านที่เห็นแจ้งอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องไปกำหนด แล้วญาณต่างๆ ก็ไต่ขึ้นแต่ไม่มีความรุนแรงหรือทุกข์เพราะวิปัสสนาญาณไปจนถึงญาณที่ 12 ก็เข้าสู่ผลของนิพพานทันที่หรือเรียกว่าผลสมาบัติตามกำลังสมาธิ หลังจากนั้นก็จะทำให้รู้สถานะของตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยที่ไม่ต้องไปรับคำยืนยันจากผู้ได เพราะเป็นปัจจตังรู้ได้เฉพาะตน ยกเว้นผู้ที่ยืนยันนั้นเป็นพระอริยะบุคคลผู้ถึงอภิญญา มีปรจิตรู้ถึงกิเลสที่ละที่เหลือของบุคคลอื่น และต้องเป็นอริยะบุคคลที่สูงกว่าหรือเสมอกัน แต่ตามธรรมดาพระอริยะนั้นไม่จำเป็นต้องมีใครบอกท่านดอก เพราะท่านรู้ด้วยตัวของท่านเองอยู่แล้ว ว่ากิเลสใดขาดหายไปและกิเลสใดยังมีอยู่ในสภาพแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่หลงเข้าข้างตนว่าเป็นพระอริยะ ทั้งที่เมื่อเวลากิเลสนั้นๆ ปะทุขึ้นยังทำให้ต้องทุกข์อย่างมหาศาลเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่มีความเห็นผิด หรือเพราะลาภ ยศ สรรเสริญ ทำให้หลงตนเองไปเสีย

คุณวิเศษของผู้ที่ปฏิบัติจนสิ้นสุด 16 ญาณ แต่ละรอบ แบ่งเป็นบุคคลได้ 4 ประเภท

บุคคลประเภทที่ 1. พระโสดาบันบุคคล คือท่านผู้ที่เพียรปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้น ทั้ง 16 ญาณ เป็นครั้งแรก ทำให้กิเลสต่างๆ เบาบางอย่างมากมายและสามารถละกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง 3 ประการ ในสัญโญชน์ 10 ประการ คือ

1.1 สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ

1.2 วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือความสงสัยในสิ่งต่างๆ จนฟุ้งซ่าน จนควบคุมจิตใจไม่อยู่เป็นบ่อเกิดโรคจิต โรคนอนไม่หลับ โรคหวาดระแวงโดยไร้สาเหตุ โรควิตกกังวลจนผิดปกติ รวมความแล้วคือสงสัยลังเลจนเลยเถิด

1.3. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง
มากล่าวถึงคำว่าสัญโญชน์ 10 ก็คือกิเลสหรืออนุสัยกิเลสที่นอนสงบนิ่งอยู่ในจิต เมื่อมีสิ่งอื่นใดมากระตุ่น หรือกวนให้กิเลสนี้กระจายขึ้นมากลายเป็น ราตะ โทสะ และโมหะ ให้เห็นทั้งทางใจ ทางวาจา และทางร่างกาย มี 10 ประการดังนี้

1 สักกายทิฐิสัญโญชน์ คือการยึดถือเป็นตัวตนผิดๆ ในรูปนามนั้นๆ
2 วิจิกิจฉาสัญโญชน์ คือความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ คือการถือข้อวัตรปฏิบัติผิดไม่ถูกทาง
ทั้ง 3 ประการข้างบนพระโสดาบัน ละได้อย่างเด็ดขาด
4. กามราคะสัญโญชน์ คือการมีกามราคะ
5. ปฏิฆะสัญโญชน์ คือความขุ่นเคือง ความโกรธ
ทั้ง 5 ประการข้างบนพระอนาคามี ละได้อย่างเด็ดขาด
6. รูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในรูปภพ
7. อรูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในอรูปภพ
8. มานะสัญโญชน์ คือความถือตัว
9. อุทธัจจะสัญโญชน์ คือความที่จิตฟุ้งไป ไม่สามารถตั้งอยู่อารมณ์เดียวได้นาน
10. อวิชชาสัญโญชน์ คือสภาพไม่รู้ ความมืดหลงของจิต หรือ โมหะ

ทั้ง 10 ประการพระอรหัน ละได้อย่างเด็ดขาด
เมื่อท่านทั้งหลายทราบถึง สัญโญชน์ 10 ประการแล้ว ก็จะมากล่าวถึงคุณวิเศษของพระโสดาบันต่อ ดังมีอยู่ในพระสูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบให้ทราบถึงกิเลส และความทุกข์ที่เหลือของพระโสดาบันกับปุถุชน ให้เข้าใจดังนี้
มีอยู่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกกับพระภิกษุว่า

"ภิกษุทั้งหลายเธอจงหยิบเศษดินบนแผ่นดินมาหนึ่งกำมือ"
เมื่อภิกษุหยิบเศษดินขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามว่า

"เธอทั้งหลายจงเปรียบเทียบดูจำนวนเศษดินที่อยู่ในมือ กับแผ่นดินต่างกันมากใช่ไหม?"

พระภิกษุตอบว่า "ใช่ครับ" พระพุทธเจ้าจึงอธิบายให้ทราบ "เศษดินที่อยู่ในมือเธอเปรียบเสมือนกิเลสที่เหลืออยู่ของพระโสดาบันบุคคล แต่แผ่นดินนั้นเปรียบเสมือนกิเลสที่มีอยู่ของปุถุชนทั้งหลาย ดังนั้นความทุกข์เร้าร้อนที่พระโสดาบันได้รับ ย่อมน้อยกว่าปุถุชนมากมายจนประมาณไม่ได้"

คุณวิเศษที่พระโสดาบันได้รับมีดังนี้
1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระโสดาบันได้
2. จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดียรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรม ที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
3. จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิ ของแต่ละท่าน
4. จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดไม่เกิด 7 ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันเข้าสู่พระนิพพาน

ประเภทของพระโสดาบันบุคคลแบ่งได้ 3 ประเภท
1. เอกพิชีโสดาบัน คือจะกับมาเกิดในโลกมนุษย์เพียงชาติเดียว แล้วปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อจนบรรลุเป็นพระอรหัน แล้วดับขันธ์ปรินิพพานในชาตินั้น
2. โกลังโกละโสดาบัน คือท่านที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์อีก 2 ถึง 3 ชาติ แล้วมีโอกาศได้บรรลุเป็นพระอรหัน ดับขันธ์สู่พระนิพพาน
3. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือท่านที่จะมาเกิดบนโลกมนุษย์ มากกว่า 3 ชาติ แต่ไม่เกิน 7 ชาติ แล้วมีโอกาสบรรลุเป็นพระอรหัน ดับขันธ์นิพพาน

บุคคลประเภทที่ 2. พระสกิทาคามี คือพระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณในรอบแรกแล้วแล้วยังเพียรกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้นในรอบที่ 2 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญาณที่ 12 อนุโลมญาณ ชึ่งวิปํสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างละเอียดออ่นแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่เคยฝ่านมาแล้ว และติดตามด้วย โวทานะ โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว หลังจากนั้นบรรลุถึงพระสกิทาคามีมรรค และเมื่อผ่านตลอดทั้ง 16 ญาณในรอบที่ 2 กิเลสที่มีอยู่จะเบาบางจากเดิมที่มีอยู่ในทันที่ แต่ไม่สามารถละสัญโญชน์ทีเหลืออยู่ให้ตัวใดตัวหนึ่งขาดหายโดยสิ้นเชิ่ง แต่กิเลสของท่านเบาบางกว่าพระโสดาบันอย่างมาก ดำรงฐานะเป็นพระสกิทาคามีบุคคล

คุณวิเศษที่พระสกิทาคามีได้รับมีดังนี้
1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระสกิทาคามีได้
2. จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ สัตว์เดรัชฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก อีกเลย เพราะกิเลสที่จะก่อให้เกิดทำอกุศลกรรม ที่ร้ายแรงที่ต้องให้ไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมไม่มีอีกแล้ว
3. จะเกิดในภพมนุษย์ หรือ สวรรค์ หรือ พรหม ตามบุญกุศล หรือตามกำลังสมาธิ ของแต่ละท่าน
4. จะมาเกิดในภพมนุษย์อย่างมากที่สุดเพียง 1 ชาติ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับขันธ์นิพพาน

บุคคลประเภทที่ 3. พระอนาคามีบุคคล คือพระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณในรอบที่ 2 แล้ว ก็ยังกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้นในรอบที่ 3 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญาณที่ 12 อนุโลมญาณ ชึ่งวิปํสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างละเอียดออ่นแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่เคยฝ่านมาแล้ว และติดตามด้วย โวทานะ โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว ก็บรรลุถึงพระอนาคามีมรรค และเมื่อผ่านตลอดทั้ง 16 ญาณในรอบที่ 3 กิเลสที่มีอยู่จะเบาบางจากเดิมที่มีอยู่ในทันที่ และสามารถละสัญโญชน์ทีเหลืออยู่ได้อีก 2 สัญโญชน์อย่างสิ้นเชิง ได้แก่ กามราคะสัญโญชน์ และปฏิคะสัญโญชน์ ก็คือละกามและโทสะได้อย่างะเด็ดขาด ดำรงฐานะเป็นพระอนาคามีบุคคล

คุณวิเศษที่พระอนาคามีได้รับมีดังนี้
1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอนาคามีได้ แต่ท่านที่เคยฝึกสมาธิถึงฌานที่ 4 ท่านสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ หรือบางท่านบังเกิดมีวิชา 3 อภิญญา 5 สามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้
2. ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันจะไปเกิดใน พรหมโลก ชั้นสุทาวาสพรหม อย่างเดียว จะไม่มาเกิดในมนุษย์โลกนี้อีกเลย แล้วจะบรรลุเป็นพระอรหันดับขันธ์นิพพานบนสุทาวาสพรหมนั้น
ชั้นสุทาวาสพรหม เป็นชั้นของพระพรหมที่เป็นที่จุติของพระอนาคามีอริยะบุคคลในพระพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นในสุทาวาสพรหมได้อีก 5 ชั้น จากลำดับล่างไปสู่ชั้นสูง ดังนี้

1 ชั้นอวิหาภูมิ
2. ชั้นอตัปปาภูมิ
3. ชั้นสุทัสสาภูมิ
4. ชั้นสุทัสสีภูมิ
5. ชั้นอกนิฏฐกาภูมิ

ซึ่งพระอนาคามีท่านจะไปจุติตามชั้นต่างๆ ตามกำลังพละ 5 ของท่านที่เด่นชัด

บุคคลประเภทที่ 4. พระอรหันต์บุคคล คือพระอริยะบุคคลที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครบ 16 ญาณในรอบที่ 3 แล้ว ก็ยังกำหนดวิปัสสนากรรมฐานต่อ จนวิปัสสนาญาณบังเกิดขึ้นในรอบที่ 4 ตั้งแต่ญาณที่ 4 อุทยัพพยญาณจนญาณที่ 12 อนุโลมญาณ ชึ่งวิปํสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นอย่างละเอียดออ่นแจ่มแจ้งเป็นที่สุดด้วยบารมีที่เต็มบริบูรณ์ และติดตามด้วย โวทานะ โวทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านเป็นอริยะบุคคลแล้ว ก็บรรลุถึงพระอรหัตมรรค สามารถตัดกิเลสทั้งหมดได้สิ้นเชิง และเมื่อผ่านตลอดทั้ง 16 ญาณในรอบที่ 4 กิเลสที่ตัดขาดโดยอรหัตมรรคได้แก่สัญโญชน์ที่เหลืออยู่ 5 อย่างคือ

6. รูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในรูปภพ
7. อรูปราคะสัญโญชน์ คือความยินดีในอรูปภพ
8. มานะสัญโญชน์ คือความถือตัว
9. อุทธัจจะสัญโญชน์ คือความที่จิตฟุ้งไป ไม่สามารถตั้งอยู่อารมณ์เดียวได้นาน
10. อวิชชาสัญโญชน์ คือสภาพไม่รู้ ความมืดหลงของจิต หรือ โง่ หรือ โมหะ

คุณวิเศษของพระอรหันต์ได้รับมีดังนี้
1. สามารถเข้าผลสมาบัติตามฐานของพระอรหันต์ได้
2. ไม่มีกิเลสเหลือในจิตใจแม้แต่เพียงนิดเดียว
3. เมื่อดับขันธ์ต้องปรินิพพานอย่างเดียว

ประเภทพระอรหันต์ แบ่งตามกำลังสมาธิได้ 2 ประเภท

1. เจโตวิมุติอรหันต์ ได้แก่ท่านผู้ที่ได้ฌานมาก่อนแล้วมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือท่านที่ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างเดียว แต่เมื่อพระอรหัตมรรคจะอุบัติขึ้นนั้น ฌานก็อุบัติขึ้นในขณะนั้นเอง ด้วยบารมีที่สั่งสมมา ท่านเหล่านี้เรียกว่า ฌานลาภีบุคคล คือสำเร็จฌานสมาบัติได้วิชา 3 อภิญญา 6 มีคุณสมบัติแสดงฤทธิ์ทั้งหลายได้

2. ปัญญาวิมุติอรหันต์ ได้แก่พระอรหันต์ที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเดียวล้วนๆ และฌานไม่มีเกิดขึ้นเลย พระอรหันต์เหล่านี้มีชื่อว่า สุกขวิปัสสโก ไม่สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

ประเภทพระอรหันต์ ยังแบ่งตามความแตกฉานได้ 2 ประเภทใหญ่

1. ปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์ ได้แก่พระอรหันผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา เพราะเมื่อท่านบรรลุอรหัตมรรคอรหัตผลนั้นปฏิสัมภิทาญาณ ทั้ง 4 หรืออย่างหนึ่งอย่างใดบังเกิดขึ้น มีดังนี้

- อรรถปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในอรรถ
- ธรรมปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในธรรม
- นิรุตติปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในภาษา
- ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือแตกฉานในปฎิภาน

2. อัปปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์ ได้แก่พระอรหันต์ผู้ซึ่ง ไม่แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณทั้ง 4 ซึ่งพระอรหันเหล่านี้มีเชื่อเรียกอีกอย่างว่า มูคพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ผู้ที่ไม่มีความรู้ในปริยัติธรรม

การที่ท่านจะได้บรรลุพระอรหันประเภท เจโตวิมุติอรหันต์ มีวิชา 3 อภิญญา 6 หรือ ปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์ เกิดจากท่านได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแต่ชาติปางก่อน และ/หรือ ท่านเคยตั้งจิตอธิฐานเมื่อประกอบกุศลต่างๆ โดยนัยว่า "เมื่อข้าพเจ้า ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์สาวกแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ขอให้มัคคสิทธิฌานหรือพระปฏิสัมภิทาญาณจงบังเกิดขึ้นพร้อมกับได้บรรลุมรรคผลด้วยเถิด" เพราะเนื่องด้วยได้อธิฐานบารมีอย่างนี้ไว้ การสั่งสมบารมีก็จะถูกชักนำไปทาง ฌาน อภิญญา และ ปฏิสัมภิทา ตามฐานะจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ที่มีปฏิสัมภิทาพร้อมทั้งอภิญญา 6 ไม่ใช่ว่าพออธิฐานแล้วไม่ต้องทำอะไร รอเมื่อถึงเวลาก็จะได้เอง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนมาก เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ต้องมีเหตุปัจจัยอันสมบูรณ์แล้วจะได้ผลอันสมบูรณ์




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2554
0 comments
Last Update : 7 กรกฎาคม 2554 15:02:08 น.
Counter : 1047 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


P_vicha
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add P_vicha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.