สิ่งเดียวที่คอยเยียวยาข้าพเจ้าคือลมหายใจ
Group Blog
 
 
กันยายน 2553
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
11 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
The Dark Knight: วีรบุรุษ วาทกรรมแห่งโลกสีเทา



แด่อัศวินแห่งรัตติกาล



   ความรู้สึกแรกหลังภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง เกิดขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 5 วินาที ว่าด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ นี่เป็นภาพยนตร์ที่ทรงพลังเรื่องหนึ่งที่สามารถเข้าไปเกาะกุมพื้นที่ทางความรู้สึก และพื้นที่ทางความคิดข้างข้าพเจ้าได้โดยพลัน


   “The Dark Knight” หรือในชื่อภาษาไทยว่า อัศวินรัตติกาล เป็นภาพยนตร์ภาคต่อที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้ และคำวิจารณ์อย่างล้นหลาม โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าคิดว่าภาพยนตร์ที่สามารถทำให้ตาและสติสัมปชัญญะจดจ่อได้ตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ย่อมมีความไม่ธรรมดาอยู่เป็นแน่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่ให้ความรู้สึกที่เต็มอิ่มในการรับชมได้อย่างไม่มีข้อกังขา เมื่อถามถึงสาระแล้วยิ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้มข้นของการวิพากษ์สังคมและมนุษย์ ความดี ความชั่ว สิ่งเหล่านี้ต่างทำให้ต้องคิดตามไปว่าความเป็นจริงของโลกเรานั้น หากเป็นดั่งในภาพยนตร์จะเป็นเช่นไร


   ด้วยความสมบูรณ์ของตัวภาพยนตร์เองแล้ว ในงานเขียนนี้ข้าพเจ้ายังมีความลังเลในข้อที่ว่าจะสามารถขับเคลื่อนตัวหนังสือได้ทรงพลังอย่างที่ได้รับชมหรือไม่ อย่างไรก็ตามคำถามนี้มักจะเกิดขึ้นใหม่เสมอทุกครั้งที่ภาพยนตร์จบลงอีกครั้งและอีกครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งข้าพเจ้าจะตอบด้วยการย้อนกลับไปดูอีกรอบ






   บทความชิ้นนี้เขียนโดยใช้กรอบแนวคิดเรื่อง “วาทกรรม” มาใช้วิเคราะห์ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า “วาทกรรม” นั้นหมายความว่าอย่างไร


   มิเชล ฟูโกต์ ( Michel Foucault) ได้ให้ความหมายของ วาทกรรม หมายถึง กระบวนการสร้างความหมายโดยภาษาและสัญลักษณ์ต่างๆที่ดำรงอยู่ในสังคม ประกอบกันเป็นความรู้ ความเข้าใจในเรื่องหนึ่งๆซึ่งส่งผลต่อการกำหนดว่าอะไรคือความรู้ ความจริง และอะไรใช่ ไม่ใช่ วาทกรรมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมทั้งโดยกลุ่มที่ครองอำนาจและกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจ จัดเป็นเทคโนโลยีทางอำนาจที่ถูกใช้ทั้งการเก็บกดปิดกั้นและจัดระเบียบวิถีชีวิตของคนในสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกใช้เพื่อต่อต้านอำนาจ (Counter discourse) ต่อต้านระเบียบที่วาทกรรมหลักครอบงำอยู่ การวิเคราะห์วาทกรรมทำให้เห็นแง่มุมของอำนาจ โดยเฉพาะในแง่มุมของความรู้ได้ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น เมื่อวาทกรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอ้างได้ว่ามีผู้ผลิต ผู้ควบคุมวาทกรรมอย่างชัดเจน อำนาจในแง่มุมของวาทกรรม เป็นอำนาจที่กระจายตัว แทรกซึมในแนวระนาบ เชื่อมต่ออย่างหลากหลาย ยากที่จะหาจุดกำเนิด จุดศูนย์กลางของการผลิต ดังนั้นไม่ว่าผู้กระทำการใดๆ ล้วนตกอยู่ภายใต้วาทกรรมหรือความสัมพันธ์อำนาจ ในเรื่องความรู้และความจริงด้วยกันทั้งสิ้น ประเด็นของการวิเคราะห์วาทกรรม ไม่ได้อยู่ที่คำพูดนั้นๆ เป็นจริงหรือเท็จ แต่อยู่ที่กฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่เป็นตัวกำกับให้การพูดนั้นๆเป็นไปได้มากกว่าจะเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง วาทกรรมจึงไม่ใช่เป็นเพียงผลลัพธ์ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบของการครอบงำ แต่วาทกรรมในตัวของมันเองนั้น คือการต่อสู้และการครอบงำ ที่มีต่อรูปแบบและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม


   ส่วนการวิเคราะห์วาทกรรม โดยสาระแล้วก็คือ การพยายามศึกษาและสืบถึงกระบวนการ ขั้นตอน ลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการสร้างเอกลักษณ์และความหมายให้กับสรรพสิ่งที่ห่อหุ้มเราอยู่ในสังคมในรูปแบบของวาทกรรม และภาคปฏิบัติการของวาทกรรมว่าด้วยเรื่องนั้นๆว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีการต่อสู้เพื่อช่วงชิงการนำในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยเรื่องนั้นๆอย่างไรบ้าง มีความเกี่ยวข้องกับบุคคล สถาบัน สถานที่ เหตุการณ์อะไรบ้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้าง รวมตลอดถึงการเก็บกด/ปิดกั้น, สิ่งเหล่านี้ของวาทกรรมมีอย่างไร (ไชยรัตน์, 2545 หน้า 27-28)


   ในภาพยนตร์เรื่อง “The Dark Knight” ได้ก่อให้เกิดวาทกรรมชุดหนึ่งนั่นคือ “วีรบุรุษ (Hero)” ขึ้นมา ตามความหมายของคำว่าวีรบุรุษแล้วนั้นโดยทั่วย่อมรับรู้ได้ถึง ผู้ที่ทำคุณงามความดี เป็นผู้ที่สังคมให้การยอมรับและยกย่องถึงเกียรติคุณ การกระทำที่เป็นตัวกำหนด ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ก่อให้เกิดอีกด้านหนึ่งของคำว่าวีรบุรุษ เป็นพลังแห่งวาทกรรมที่เกิดขึ้นในโลกของภาพยนตร์



   วาทกรรมแห่งคำว่าวีรบุรุษ ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้หมายความว่าใครคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงการดำรงอยู่ของวีรบุรุษ ที่อาจจะเป็นใครก็ตามแต่ ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำที่ได้มาซึ่งไม่ใช่เพียงตัวบุคคล เพราะการทำให้เกิดขึ้นของวีรบุรุษนั้น ต่างจากการกล่าวขานชื่อของวีรบุรุษ และโดยวาทกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้เอง ที่ทำให้ต้องศึกษาที่มาของวีรบุรุษ กฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทำให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างไร


   อนึ่งด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาและฉากที่หลากหลายจึงขอหยิบยกเฉพาะฉากที่เกิดขึ้นซึ่งมีความเกี่ยวข้องและส่งผลให้เกิดชุดวาทกรรมนี้ขึ้น


 วิเคราะห์ตัวละคร



Bruce Wayne / Batman
เป็นตัวละครที่มีชีวิต 2 ด้าน ฉากหน้าในสังคมแล้วเขาเป็นมหาเศรษฐีหนุ่มที่รักสนุก ใช้เงินไปกับการเที่ยวเสพความสุข แต่อีกด้านหนึ่งเขาพยายามทำตัวเป็นผู้พิทักษ์แห่งก็อธแธม หรือในชื่อ Batman ตัวละครตัวนี้ถูกปูพื้นมาจากภาคก่อน (Batman Begins) ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังและปมในวัยเด็กที่มีผลให้เขากลายมาเป็นบุคคล 2 ตัวตนในขณะนี้ การดำรงอยู่ของ Bruce Wayne นั้นก็เพื่อปกป้องเจตจำนงที่แท้จริงในการเปลี่ยนตัวเองเป็น Batman มันคือหน้าฉากที่ฉาบไว้ด้วยความฟู่ฟ่า ในภาพยนตร์มีการชี้ให้เห็นว่าเขาทำตัวเที่ยวเล่นหาสนุกไปวันๆ ก็จะไม่มีใครสงสัยว่าจริงๆแล้วเขาทำอะไร คนจะสนใหญ่ฉากหน้าที่เขาใช้เงินทำอะไรมากกว่า ต่อมาเมื่อถึงจุดที่ Batman ตกเป็นผู้ถูกล่าตามกฎหมายแล้ว Bruce พยายามมองหาใครคนหนึ่งมารับช่วงต่อเพื่อจัดการให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง โดยเงื่อนไขที่เขาต้องเป็นคนหลักฉากเพื่อคอยเสริมให้หน้าฉากสามารถโลดแล่นได้ตามบทบาท แต่จนแล้วจนรอดการคิดจะถอดหน้ากากแล้วเดินจากไปเฉยๆนั้นไม่สามารถทำได้ง่ายเลย Batman ยังคงต้องเป็นผู้เสียสละรับผิดชอบเรื่องราวทั้งหมดไว้เพียงเพราะคนในสังคมต้องรับรู้ไว้แต่ว่าผู้ที่ทำคือ Batman



The Joker
เป็นตัวละครที่ออกมาสร้างสีสันให้กับโลกอาชญากรรมแห่งเมืองก็อธแธมได้เยี่ยมยอดสมคำร่ำลือ Joker เป็นตัวละครที่มีภูมิหลังลึกลับไม่เปิดเผยที่มาที่ไปอย่างแน่ชัด มีเพียงแต่เรื่องเล่าตลกๆเกี่ยวกับแผลเป็นบนใบหน้า ซึ่งเหมือนเป็นปมปัญหาชีวิตเดียวที่ออกมาโดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือแต่งกันแน่และเรื่องที่เล่ามาแต่ละครั้งนั้นสะท้อนความรู้สึกที่เครียดแค้นต่อสังคมได้อย่างเด่นชัด สิ่งที่ Joker ทำในภาพยนตร์นั้นคือการท้าทายความดีในจิตใจมนุษย์ หลายเหตุการณ์ที่เขาสร้างขึ้นอย่างไร้แบบแผนทำให้ศีลธรรมถูกบั่นทอนโดยผู้คนและเขายังเป็นผู้โยนคำถามให้คนเหล่านั้นตอบเสมอๆ สำหรับ Joker แล้วถือว่าเป็นตัวต้นแบบแห่งอนาธิปไตยที่ใช้สนองความสนุกส่วนตน เป้าใหญ่ของเขาคือการทำให้ความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นโดยเฉพาะ Batman ผลกระทบอันนี้ยังส่งผลไปถึงประชาชน เพราะ Batman ปกป้องประชาชน ประชาชนแทนผืนผ้าขาวคอยรับสีต่างๆจากการกระทำของเหล่าวีรบุรุษหรือตัวร้าย Joker นิยมใน Batman ที่ทำให้โลกแห่งอาชญากรรมและอนาธิปไตยของเขามีความเร้าใจยิ่งขึ้น Joker จึงตอบสนองตัวเองด้วยการสั่นคลอนสองสิ่งพร้อมๆกันคือ การข่มขู่ประชาชนและข่มขู่ Batman



Harvey Dent / Two-Face
เป็นตัวละครที่ได้ผลพวงมาจากวาทกรรมแห่งคำว่าวีรบุรุษโดยแท้ Harvey เป็นอัยการที่กล้าเดินหน้าชนกับเหล่าอาชญากรอย่างตรงไปตรงมา ผู้คนในสังคมคาดหวังในตัววีรบุรุษผู้นี้ให้เป็นเสาหลักของความยุติธรรม แต่เมื่อเรื่องราวของการสูญเสียคนรักเกิดขึ้น ส่งผลให้สิ่งใดๆก็ตามที่เขาเคยเชื่อได้สั่นคลอนไป Harvey กลายเป็น Two-Face ผู้ที่พิพากษาคนที่ตนโกรธแค้นโดยการเสี่ยงโชค Harvey ทำสิ่งที่วีรบุรุษไม่สมควรกระทำขึ้น      แน่นอนว่าเพื่อรักษาไว้ซึ่งเสาหลักของสังคม การกระทำจึงไม่สามารถให้ผู้คนรับรู้ได้



James Gordon
ตำรวจที่ทำหน้าที่ปราบปรามเหล่าอาชญากรของก็อธแธมจนถึงการปรากฏตัวของ Batman ทั้งสองคอยให้การช่วยเหลือมาตลอด หากมองจากชุดวาทกรรมนี้แล้ว ถือว่าเขาเป็นผู้ที่ถูกมองข้ามไปในฐานะวาทกรรมหลัก แต่ในตอนจบของเรื่องเมื่อทางออกของสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาของวาทกรรมนี้แล้วจึงไม่สามารถขาดการมีอยู่ของวีรบุรุษได้ HJames GordonH จึงเป็นคนสืบเนื่องของวาทกรรมในภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่สุด



วิเคราะห์ภาพยนตร์


“Everyone's a hero in their own way, in their own not that heroic way”


Joss Whedon, Zack Whedon, Maurissa Tancharoen, and Jed Whedon, Dr. Horrible's Sing Along Blog, 2008



   เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อมีคนพยายามแต่งตัวเลียนแบบ Batman และออกทำหน้าที่ปราบปรามเหล่าอาชญากรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของการที่ Batman เริ่มเป็นต้นแบบของใครก็ตามที่คิดว่าการกระทำของของเขาเป็นสิ่งสมควร เป็นไปตามแบบของการสถาปนาวีรบุรุษขึ้นมา การเกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่การเลียนแบบแต่หมายถึงการสร้างตนเองขึ้นเป็นวีรบุรุษ เฉกเช่นเดียวกับ Batman ที่เป็นต้นแบบ โดยที่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะตามมา เป็นเหตุให้ต้องมองลงไปถึงคุณสมบัติของการเป็นวีรบุรุษนั้นหมายถึง เพียงเพราะแต่งตัวเป็น Batman สร้างรูปลักษณ์ภายนอกให้เหมือนบุคคลที่ตนยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ ชายคนที่เลียนแบบจึงถาม Batman กลับไปว่า “ทำไมคุณถึงมีสิทธิ์ คุณต่างจากผมตรงไหน” Batman ตอบประชดกลับไปว่า “เพราะฉันไม่ได้ใส่เสื้อฮ้อกกี้” การมีวีรบุรุษเกิดขึ้นนั้นเป็นเหมือนคนต้นแบบที่สามารถชี้ทิศทางให้ผู้คนทำตามได้



   อีกเหตุการณ์หนึ่งคือเมื่อครั้งที่ Joker จับคนที่แต่งตัวเลียนแบบ Batman และออกมาข่มขู่ทางโทรทัศน์ ในฉากนี้ยังถือได้ว่าความเป็นวีรบุรุษได้สร้างสัญลักษณ์ไว้อีกด้วย คนแต่งตัวเลียนแบบนั้นเชื่อว่าการที่มี Batman เหมือนเป็นสัญลักษณ์ถึงการไม่ต้องกลัวคนชั่วอีกต่อไป ความเป็นวีรบุรุษได้สร้างสิ่งที่ขจัดความกลัวและเปลี่ยนเป็นตัวแทนของคนในการต่อสู้กับอำนาจบางอย่าง


   และเมื่อเอ่ยถึงสัญลักษณ์แล้ว การที่เมืองก็อธแธมมีตรา Batman ฉายสว่างอยู่บนท้องฟ้านั้นเป็นการส่งผลถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งในทางตรงข้าม หาก Batman คือวีรบุรุษ สัญลักษณ์นี้จึงไปสร้างความหวั่นผวากับ Villain ในฐานะตัวแทนของวีรบุรุษ



“You Either Die a Hero, or Live Long Enough To See  Yourself Become the Villain”



Harvey Dent, The Dark Knight, 2008



   Harvey Dent โยนคำถามไว้กับคนดูว่า “คุณอยากตายอย่างวีรบุรุษ หรืออยากอยู่ไปจนตัวเองเป็นวายร้าย” ฉะนั้นการเป็นวีรบุรุษคือการตอกย้ำการต่อสู้เชิงวาทกรรมว่าเมื่อใดที่คุณปล่อยให้ถูกครอบงำจากเหล่าวายร้าย    หนทางเดียวคือหากไม่ลุกขึ้นต่อสู้หรือต่อต้านแล้วก็คือการต้องจมอยู่กับสิ่งนั้นไปตลอดจนกว่าคุณต้องเปลี่ยนเป็นวายร้าย การอาศัยคู่ตรงข้ามระหว่างวีรบุรุษ และ วายร้าย สร้างความขัดแย้งให้กับความเชื่อของตัว Harvey เอง ข้อขัดแย้งนั้นคือ การที่วายร้ายเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ของคนธรรมดา ถือเป็นเรื่องน่าอดสูเกินกว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ แต่การลุกขึ้นสู้แล้วตายจึงอาจจะดูเป็นเรื่องที่โง่ไปเสียหน่อย การที่ต้องมีวีรบุรุษขึ้นมาก็เพื่อรักษาพื้นที่ของคนธรรมดาเอาไว้ Bruce ซึ่งร่วมฟังอยู่ รู้ดีว่าการตายเปล่ากับการตายอย่างวีรบุรุษต่างกันอย่างไร เขาจึงเสนอการจัดระดมทุนให้กับ Harvey เพื่อต่อสู้กับอาชญากรรม ขั้นตอนของวาทกรรมแห่งวีรบุรุษนี้คือต้องช่วงชิงพื้นที่ของคนธรรมดาไว้ให้ได้ การระดมทุนนอกจากจะหาเงินแล้ว ยังเหมือนเปิดตัว Harvey ในพื้นที่ของคนธรรมดาอีกด้วย



   Bruce เข้าใจใจถึงหัวใจในการทำหน้าที่ขับเคลื่อนบุคคลในฐานะของวีรบุรุษดี หากมีวีรบุรุษ ก็จำเป็นต้องมี วายร้าย คำพูดที่ว่า “คุณอยากตายอย่างวีรบุรุษ หรืออยากอยู่ไปจนตัวเองเป็นวายร้าย” จึงกลับมาเตือน Bruce ในฐานะของ Batman อีกครั้ง หลังจาก Harvey ได้ฆ่าคนตายไป 5 คน มันเป็นการตอกย้ำถึงการรักษาความเป็นวีรบุรุษก่อนหน้าของ Harvey ก่อนจะเปลี่ยนเป็นวายร้าย ผลที่ตามมาคือการเข้าไปแบกรับความเป็นวายร้ายต่อของเขา เพื่อยังคงรักษาความเป็นวาทกรรมแห่งวีรบุรุษไว้นั่นเอง


“A hero is one who does what he can. The others don't”



Ralph Waldo Emerson  (1803 - 1882)


   โครงสร้างของวาทกรรมแห่งวีรบุรุษในเรื่องนี้เกิดจากการยอมรับโดยคนหมู่มากในสังคม คำถามต่อมาเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะอยู่เพื่อใครและอยู่อย่างไร คำตอบคือตราบใดที่ยังการต้องคงไว้ของสองทั้งสิ่งสองคำถามนี้คือ การได้รับประโยชน์ของการมีอยู่ แม้จะเป็นวีรบุรุษแต่หากปราศจากประโยชน์ของการมีอยู่ก็ไม่ต่างจากคนธรรมดา


   หากแต่ในมุมของ Batman นั้น ตัวเขาเองไม่ได้มองสถานะของตนเองเป็นวีรบุรุษ เขาจึงไม่ยึดติดกับ      วาทกรรมในการสร้างวีรบุรุษขึ้นมา เรียกได้ว่า Batman ไม่ได้เป็นอะไรเลย Batman ก็คือ Batman เขาไม่ต้องอาศัยการคงไว้ในฐานะวีรบุรุษเพื่อให้คนหมู่มากยอมรับ ซึ่งต่างจากสถานะ Harvey ที่จำเป็นต้องรักษาความเป็นวีรบุรุษนี้ไว้ Harvey จำเป็นต้องรักษาระดับความศรัทธาของเขาไว้ในการทำหน้าที่เป็นวีรบุรุษ



   ในฉากหนึ่งพนักงานงานตรวจสอบบริษัท Wayne Enterprise ต้องการออกมาเปิดเผยตัวตนของ Batman ทั้งนี้เพราะเขาไม่เห็นว่าการเป็นวีรบุรุษของ Batman มีประโยชน์ต่อเขาแต่อย่างใด เช่นเดียวกันในคำถามที่สอง ผู้ที่จะเป็นวีรบุรุษนั้นต้องอยู่อย่างไร สิ่งเดียวที่วีรบุรุษมีได้คือการเสียสละ การเสียสละนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของวาทกรรมหลัก ว่าวีรบุรุษต้องเสียสละอะไรบ้าง ตรงนี้เองที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ อาจจะเรียกว่าปฏิเสธโดยการไม่รับรู้ก็เป็นได้ เมื่อปฏิเสธที่จะมองไม่เห็นนั่นเท่ากับว่าคนที่เสียสละบางคนไม่จำเป็นต้องเป็นวีรบุรุษก็ได้เช่น Batman


“One murder makes a villain, millions a hero”


Beilby Porteus, Death, A Poem


   Joker มองการคงอยู่ของ Batman เพื่อความสนุกของตน ไม่ได้มอง Batman ในความเป็นวีรบุรุษ ที่สำคัญ Joker ยังดูออกว่าเหล่าตำรวจนั้นได้มอง Batman ในฐานะของวีรบุรุษที่แท้จริงแต่อย่างใด แต่เพื่อผลประโยชน์หนึ่งเท่านั้น เมื่อหมดประโยชน์ไปก็จะเขี่ยทิ้ง ผลประโยชน์ที่ว่าคือการช่วยจุบกุมอาชญากร Joker เชื่อว่า Batman ไม่สามารถอยู่ในจุดของวีรบุรุษได้ เมื่อวายร้ายมองวีรบุรุษที่ไม่สามารถเป็นวีรบุรุษได้ ถือเป็นความล้มเหลวทางด้านปฏิบัติการเชิงวาทกรรม


   Joker เป็นผู้สั่นคลอนความเป็นวีรบุรุษลงเพราะถ้าไม่มี Joker การทำหน้าที่ของวีรบุรุษจะเกิดขึ้นไปตามขั้นตอนแบบแผน ผ่านตำรวจ ผ่านหน้าฉากอย่าง Harvey ที่เป็นอัยการ สังคมสามารถสถาปนาชุดวาทกรรมนี้ได้ แต่เมื่อมี Joker ความวุ่นวายเกิดขึ้นตำรวจไม่สามารถรับมือได้ ไม่เป็นไปตามแบบแผน Batman จึงต้องกลับเข้าสู่วงจร รักษาระดับของการเป็นวีรบุรุษในสังคมไว้ (ช่วยจับและส่งต่อให้ Harvey) การเป็นวีรบุรุษนอกคอกของ Batman ก็ไม่ได้อยู่ในกระแสสำนึกหรือยอมรับในสังคม




   อีกสิ่งหนึ่งที่ Joker ทำได้สำเร็จคือการดึงวีรบุรุษอย่าง Harvey ให้กลายมาเป็นวายร้ายซึ่งจะไปทำลาย   โครงสร้างของสังคมที่มีการเชิดชูวีรบุรุษอยู่


 ***


   ในตอนจบของภาพยนตร์ได้มีการวิพากษ์วาทกรรมชุดนี้ด้วยคำถามของเด็กหนุ่มว่าการเป็นวีรบุรุษของ Batman ทำไมต้องมีคนตามล่าเขาด้วย ด้วยความทรงพลังของวาทกรรมแห่งวีรบุรุษนี้ คำประกาศของ Gordon น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด “วีรบุรุษ ไม่ใช่วีรบุรุษที่เราควรมี แต่คือวีรบุรุษที่เราต้องมี”


   โลกของ The Dark Knight จึงเป็นโลกของสีเทาที่กัดกินพื้นที่ระหว่างขาวกับดำว่า คุณจะเป็นวีรบุรุษต่อเมื่อมีคนเรียกคุณเช่นนั้นและส่งมอบความเป็นอื่นให้กับใครก็ตามที่นอกเหนือข้อพิสูจน์ของวาทกรรมแห่งวีรบุรุษ


   แต่สุดท้ายสิ่งที่คนดูจะรับรู้ได้ในสิ่งที่ภาพยนตร์ได้แอบตบหน้าชุดวาทกรรมแห่งวีรบุรุษของภาพยนตร์เอาไว้คือการมองใหม่เสียว่าวีรบุรุษอาจไม่จำเป็นในสังคม ถ้าทุกคนเป็นวีรบุรุษให้ตัวเอง



อ้างอิง

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2549)  วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และ    ความเป็นอื่น.     กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา.
www.imdb.com
www.quotationspage.com





Create Date : 11 กันยายน 2553
Last Update : 11 กันยายน 2553 21:46:31 น. 1 comments
Counter : 2564 Pageviews.

 
เยี่ยมครับ อ่านแล้วได้เเง่คิดดีๆมากครับ


โดย: ิบิก IP: 180.183.201.11 วันที่: 19 กันยายน 2553 เวลา:18:35:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jazpada
Location :
ปราจีนบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สิ่งเดียวที่คอยเยียวยาข้าพเจ้าคือลืมหายใจ
Friends' blogs
[Add jazpada's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.