......U s a g i   b u n n Y    h o l l a n d   l o p   f a r m.......

 บานได้ใจ สไตล์ฮอลแลนด์ลอป 08-1199-4545 ,085-222-5587

 
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
27 พฤศจิกายน 2551
 
 
Netherland Dwarf

ประวัติ Netherland Dwarf
กระต่ายแคระสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ (Netherland Dwarf) เป็นชื่อของกระต่ายแคระสายพันธุ์หนึ่ง เป็นกระต่ายที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก คือมีน้ำหนักของตัวโตเต็มที่ ตั้งแต่ 7 ขีด (หรือปอนด์ครึ่ง) ถึงไม่เกิน 1.15 กิโลกรัม (หรือ 2 ปอนด์ครึ่ง) โดยมีน้ำหนักในอุดมคติอยู่ที่ 9 ขีดเท่านั้น (หรือ 2 ปอนด์)


ประวัติ Netherland Dwarf

กระต่ายพันธุ์นี้ได้ชื่อว่าเป็น อัญมณีแห่งกระต่ายสวยงาม หรือ Gem of the Fancy และเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และในยุโรป เช่นประเทศเยอรมนี และประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นต้นกำเนิดของสายพันธุ์นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า สายพันธุ์นี้เป็นเหมือนกระต่ายในฝัน คือ มีขนาดเล็ก มีหลากหลายลักษณะสี หรือ Variety กินอาหารน้อย ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงน้อย โดยรวมก็คือ เป็นสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมสำหรับยุคที่ต้องประหยัดในขณะนี้ นอกเหนือจากลักษณะที่น่ารักและคล่องแคล่ว ว่องไวแล้ว กระต่ายแคระยังมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้ที่ได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่ขี้เล่น ช่างสนอกสนใจไปเสียทุกสิ่ง และลักษณะที่เล็ก สั้น ตัวกลม หัวกลม ตากลมโต บ้องแบ๊ว ชอบยืนสองขาเพื่อสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว


ประวัติความเป็นมาของกระต่ายสายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอฟ
เมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 1880 หรือราว พ.ศ. 2423 ที่ประเทศอังกฤษ ได้ปรากฏว่ามีกระต่ายสายพันธุ์ดัทช์ได้ให้กำเนิดลูกหลากหลายครอกที่มี สีขาวแต่มีลายสีต่างๆ ไม่เป็นสีขาวทั้งตัว มีตาสีแดง มีลักษณะลำตัวที่เล็ก สั้นกะทัดรัด มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.6 ถึง 2 กิโลกรัม แต่มีขนที่นุ่มลื่นสวยงาม ซึ่งเป็นที่มาของกระต่ายโปลิช (Polish) แม้ว่ากระต่ายที่ได้จะยังมีเลือดที่ไม่นิ่ง แต่การผสมแบบในสายเลือด (Line Breeding) เช่น พ่อผสมลูกสาว แม่ผสมลูกชาย ทำให้ได้กระต่ายในรุ่นต่อมาที่มีสีขาวมากขึ้น จนกระทั่งได้กระต่ายสีขาวล้วน ตาสีทับทิม (Ruby-Eyed White) ที่เป็นต้นกำเนิดของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ ในปัจจุบัน ด้วยแรงบันดาลใจจากการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์โปลิช มายังสหราชอาณาจักรอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1884 หรือ พ.ศ. 2427 กระต่ายพันธุ์โปลิชจากประเทศเยอรมนี ได้ถูกนำมาผสมข้ามพันธุ์กับกระต่ายป่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดเล็กโดยบังเอิญ จนทำให้เกิดการถ่ายทอดยีนส์แคระลงในกระต่ายพันธุ์โปลิช ทำให้มีขนาดเล็กและมีลำตัวที่สั้นลง ในเวลานั้นกระต่ายแคระ จึงมีแต่สีขาวล้วนและมีตาสีทับทิม

ในช่วงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กระต่ายแคระ สีขาวตาฟ้า (Blue-Eyed White) ได้ถือกำเนิดขึ้นในจักรวรรดิเยอรมัน แต่ลักษณะของกระต่ายแคระสีขาวตาฟ้าในขณะนั้นจะมีโครงสร้างกระดูกที่ใหญ่ ลำตัวที่ยาวกว่า ขนหยาบและสั้นกว่าของขาวตาทับทิม จนกระทั่งถึงช่วง ปลายทศวรรษปี 1930 หรือราว พ.ศ. 2480-2483 กระต่ายแคระที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในขณะนั้น จึงมีเพียงแค่ 2 ประเภทสีเท่านั้น คือ ขาวตาทับทิม และ ขาวตาฟ้า

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 ถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ เนื่องจากกระต่ายสายพันธุ์นี้ได้ถูกนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยนักพัฒนาสายพันธุ์กระต่าย และในปี ค.ศ. 1969 หรือ พ.ศ. 2512 กระต่ายสายพันธุ์นี้ ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา จนได้รับการยอมรับจากสมาคมนักพัฒนาพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา โดยมีการปรับปรุงข้อกำหนดของรายละเอียดมาตรฐานสายพันธุ์จากของสภากระต่ายแห่งสหราชอาณาจักรเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

สำหรับในประเทศไทย เมื่อปลายปี ค.ศ. 2003 หรือ พ.ศ. 2546 ได้มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้คุณภาพระดับประกวดจากสหรัฐอเมริกาสำหรับสมาชิก ชมรมคนรักกระต่ายแห่งประเทศไทย สีที่นำเข้ามาในขณะนั้น คือสีขาวตาฟ้า สีดำสร้อยทอง (Black Otter) และสีดำสร้อยเงิน (Black Silver Marten) และในปีต่อมา ก็ได้มีการนำเข้า สีต่างๆ ที่แปลกและสวยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สีศุภลักษณ์หรือสีทองแดง (Siamese Sable) สีควันบุหรี่ (Siamese Smoke Pearl) สีฮิมาลายัน (Himalayan) และสีที่หายาก อย่างสีวิเชียรมาศ (Sable Point) หรืออย่าง สีพื้นเช่น สีดำ สีบลู (Blue) สีชอกโกแลต ทำให้ในขณะนี้ ประเทศของเราก็มีกระต่ายสายพันธุ์นี้ในประเภทสีต่างๆ มากมาย ดังที่ได้เห็นกันแล้วตามงานประกวดต่างๆ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ก็มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้จากประเทศต้นกำเนิดคือ เนเธอร์แลนด์ ความแตกต่างหลักๆของกระต่ายจากสหรัฐอเมริกาและจากเนเธอร์แลนด์ นอกเหนือจากลักษณะทางกายภาพ อันได้แก่ น้ำหนัก หุ่น รูปทรง หัว กะโหลก และลำตัว ระบบเพดดีกรีและการจดทะเบียนของสหรัฐอเมริกาถือได้ว่ามีระบบที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งดีกว่าของกระต่ายทางเนเธอร์แลนด์ ซึ่งยังไม่มีการจดทะเบียนที่มีระบบ จึงทำให้กระต่ายจากทางสหรัฐอเมริกามีคุณภาพและราคาที่สูงกว่า


มาตรฐานสายพันธ์ Netherland Dwarf

ลักษณะมาตรฐานของสายพันธุ์โดยทั่วไปของสายพันธุ์กระต่ายแคระเนเธอร์แลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์ดวอฟ คือ มีลำตัวสั้น กะทัดรัด ไหล่ สะโพก ความสูง มองดูโดยรวมแล้วสมมาตรกันอย่างสวยงาม หัวมองดูกลม ไม่ว่าจะมองจากมุมใด คอสั้นมากเท่าที่จะเป็นไปได้ หูตั้ง ตรง มีขนเต็ม และมีความแน่น ไม่บางจนเกินไป ตากลม โต สดใส ขนดูแลรักษาง่าย เวลาหวีย้อนแนวขน ขนสามารถกลับมาเป็นทรงเดิมได้
น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ในอุดมคติคือ 0.9 กิโลกรัม
น้ำหนักมากที่สุดที่สามารถจดทะเบียนได้ 1.15 กิโลกรัม

รูปร่าง ทรง และลักษณะทั่วไป

- ลำตัว ลำตัวต้องสั้น เล็กกะทัดรัด ไหล่หนา และมีความกว้างเท่ากับความกว้างของสะโพก ความกว้างและส่วนสูงจะต้องใกล้เคียงกัน ไหล่โค้งได้รูปรับกับส่วนโค้งของสะโพกที่กลมกลึง ซึ่งทำให้เน้นความสูงของตัวกระต่าย โดยที่ความกว้างและส่วนสูงจะต้องสมดุลกัน

- หัว หัวโต มีขนาดใหญ่สมดุลกันกับลำตัว ตัวผู้จะมีหัวใหญ่กว่าตัวเมีย หัวเป็นทรงกลมเมื่อมองจากทุกทิศทาง ส่วนโค้งของหัวมองดูกลมไม่มีสะดุด หัวตั้งสูงและติดกับไหล่มากที่สุด

- หู หูจะต้องสั้นและตั้งอยู่บนส่วนหัว หูตั้งแต่ไม่จำเป็นต้องชิดติดกัน มีขนเต็มสม่ำเสมอ แสดงถึงความมีเนื้อของส่วนฐานของหู ปลายหูมน ความยาวของหูในอุดมคติคือ 2 นิ้ว ขนาดของหูต้องสมดุลกันกับหัวและลำตัว

- ตา ดวงตาต้องกลม โต สดใส สีของตาต้องตรงตามมาตรฐานของประเภทสีที่ทำการประกวด ดังจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดในเล่มต่อไป เช่น สีบลูหรือสีสวาดหรือสีเทาควันบุหรี่ ต้องมีตาสีเทา เป็นต้น ข้อยกเว้นในกระต่ายสีช็อกโกแล็ต สีไลแลคหรือสีเทากาบบัว และกลุ่มสีเฉด รวมถึงพวกสร้อยเงิน รูม่านตาอาจจะเป็นสีแดงสะท้อนออกมาได้ เรียกว่า Ruby Glow หรือ Ruby Red Reflection ในแสงปกติ ซึ่งกรรมการไม่ควรที่จะมาคำนึงถึงตรงส่วนนี้เวลาประกวด เพราะว่าไม่มีกระต่ายตัวไหนที่จะถูกตัดสิทธิ์หรือถูกหักคะแนนจากการที่มีสีแดงสะท้อนออกมาจากรูม่านตา

- หาง ลักษณะของหางต้องตรง และมีขนเต็ม ถึงแม้ว่าจะไม่มีการให้คะแนนในส่วนหางของกระต่าย แต่ถ้าหางมีลักษณะที่บกพร่องบ้าง ก็อาจจะถูกหักคะแนนบ้างจากลักษณะประกอบอื่นๆ แต่ถ้าบกพร่องมาก ก็อาจจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวดได้เช่นกัน

- ขน ลักษณะขนต้องเป็นแบบโรลแบ็ค (Rollback) เท่านั้น โรลแบ็ค หมายถึง ลักษณะขนที่เมื่อใช้มือลูบย้อนแนวขน ขนจะค่อยๆ กลับคืนตัวสู่ตำแหน่งเดิม คุณภาพของขนต้องนุ่ม หนาแน่นสม่ำเสมอกัน ขนไม่ตายและเป็นมันเงางาม

- สี ลักษณะของสีขนและสีตาต้องตรงกันตามมาตรฐานของสีนั้นๆ สีเล็บก็ต้องตรงตามมาตรฐานของสีนั้นๆ ด้วย กระต่ายจะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด เมื่อปรากฏเล็บขาว ในกระต่ายสี สุดท้ายสีขนชั้นนอกและสีขนชั้นในไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด
ลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ ไหล่แคบ ลำตัวยาวและแคบ หัวไหล่หรือสะโพกแคบ ส่วนโค้งหลังแบนราบไม่โค้ง ดังนั้นถ้าความกว้าง ความยาวและส่วนสูง ไม่สัมพันธ์กัน จึงถือว่าเป็นลักษณะที่บกพร่องทั้งสิ้น ลักษณะหัว ที่มีจมูกแหลม บาน หรือแบน ถือเป็นลักษณะที่ไม่ต้องการ หัวใหญ่หรือเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับตัว หัวไม่สมดุลกับตัวและหู หัวขาดความกลมถือเป็นลักษณะที่บกพร่องทั้งสิ้น หูบาง หูงอ หูพับ ขนที่หูไม่สม่ำเสมอ หูแบน หูเป็นรูปตัววีกางมากเกินไป เส้นขนยาวเกินไป ขนบาง ขนไม่หนาแน่น กระต่ายอยู่ในช่วงผลัดขน สีจางไม่เท่ากัน หรือมีสีปะคือมีสีอื่นปรากฏขึ้นมาในที่ที่ไม่ควรเป็น และที่ยอมไม่ได้มากที่สุดคือ ขนปรากฏเป็นแบบฟลายแบ็ค (Flyback) คือเมื่อลูบขนย้อนแนว จะตีกลับสู่ตำแหน่งเดิมในทันที ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้กระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟแตกต่างจากกระต่ายพันธุ์โปลิช

ลักษณะที่ปรับเป็นโมฆะจากการประกวด เมื่อมีเหนียงใต้คอ กระต่ายที่มีหูยาวเกิน 2 นิ้วครึ่ง เมื่อกระต่ายประกวดในกลุ่มสีใดๆ ถ้าหากปรากฏว่ามีขนแซมสีขาวขึ้นมา หรือกระต่ายสีขาว หรือกลุ่มสีฮิมาลายัน แต่ขนสีอื่นปรากฏแซมขึ้นมา จะถูกตัดสิทธิ์จากการประกวด

การจัดท่าทาง เวลาประกวดกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอฟ จะจัดระเบียบร่างกายให้เป็นไปตามธรรมชาติของสายพันธุ์นี้ที่สุด คือ ไม่ควรยืดลำตัวให้ยาวออก หรือดันมาให้ติดกัน ไม่ควรจัดท่าให้กระต่ายอยู่ในท่ายืนถ่ายน้ำหนักไปที่ขาหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความสูง และความสมดุลของตัวกระต่ายจะหายไป ทำให้ตัวกระต่ายไม่แลดูสั้นและกะทัดรัด การจัดระเบียบร่างกายที่ดีคือ ต้องแสดงถึงความสมดุลกันทั้งความกว้าง ความยาวและส่วนสูง ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญที่สุดของกระต่ายแคระ

ขอขอบคุณแหล่งความรู้ดีๆจาก //www.thairabbitclub.com



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 3 ธันวาคม 2551 22:23:11 น. 4 comments
Counter : 6361 Pageviews.

 
อยากได้ เนื้อหา

เรื่องโปรตีนมีหน้าที่ในการเจริญเติบโตของกระต่ายแม่พันธุ์

อยากด้ายมาก ด่วนนะค่ะ


โดย: ggg IP: 114.128.46.198 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:15:26:36 น.  

 


โดย: ohayo usagi วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:0:34:29 น.  

 
อยากได้มากเลยค่ะ ตอนนี้ที่บ้านเลี้ยงอยู่9ตัวอยากได้nd อีกเป็นตัวที่10น่ารักขนาดกะทัดรัดดี


โดย: moonoi IP: 180.183.23.172 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2552 เวลา:15:14:47 น.  

 
เคยเลี้ยงแต่....ตายแย้ว+-+


โดย: จา IP: 118.172.249.41 วันที่: 10 ธันวาคม 2552 เวลา:13:12:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

ohayo usagi
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ohayo usagi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com