เมื่อความฝัน* มีความมุ่งมั่น ชีวิตก็จะมีความหวัง * เมื่อชีวิตมีความหวัง กำลังใจก็จะตามมา * อุปสรรค์ เป็นแค่เพียงบททดสอบ เท่านั้น * ขอจงมี ความฝัน อยู่เสมอ คุณทำได้ ถ้าได้ทำ * คุณทำไม่ได้ เพราะ ไม่ได้ทำ **
จากผูกปี้ ถึง ใบต่างด้าว.. ( เรื่องเล่าจากแสตมป์ )

โดย : นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช
ที่มา : วารสารตราไปรษณียากร
.................................................................................................
เกริ่นนำ......

ปี พ.ศ. 2441 ( ค.ศ. 1898 ) นายเอิร์นเนสต์ ยัง ( Ernest Young ) ชาวอังกฤษ ผู้เคยพำนักในสยามหลายปี เขียนหนังสือเรื่อง " ราชอาณาจักรกาสาวพัตร์ " ( The Kingdom of The Yellow Robe ) ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ได้กล่าวถึงคนจีนในบางกอกตอนหนึ่งว่า

.. เท่าที่สังเกตุในเมืองหลวงของสยาม ไม่มีคนไทยทำงานหนักเลย ส่วนใหญ่ทำงานบ้าน หรือรับราชการ งานหนักตกกับคนจีนเป็นส่วนใหญ่ สยามมีคนจีนมากพอๆ กับคนไทย คนจีนนิยมแต่งงานกับสาวไทย ลูกจีนจึงได้รับหน้าตาที่งดงามจากมารดา รับนิสัยขยันจากบิดา ลูกจีนเหล่านี้หากไม่สละสัญชาติจีนแล้ว จะต้องเสียค่าช่วยราชการ ( poll Tax ) เช่นเดียวกับบิดา เป็นเงินประมาณ 5 หรือ 6 ชิลลิ่ง ( ของอังกฤษ ) โดยจ่ายทุก 4 ปี

..เมื่อถึงวันที่ราชการประกาศ คนจีนต่างมุ่งสู่สถานีตำรวจเพื่อชำระภาษี หลักฐานการชำระเงิน ใช้เชือกผูกข้อมือข้างใดข้างหนึ่ง ปลายเชือกติดด้วยครั่ง และประทับตราของราชการ ครั่งนี้มีรูปกลมแบน ขนาดเหรียญ 3 เพนนี ( ของอังกฤษ ) ช่วงเวลานี้ตำรวจไทยทำงานหนัก คอยตรวจจับคนจีนไปเสียภาษี หากผู้ใดทำครั่ง หรือเชือกที่ผูกข้อมือหลุดหาย จะต้องไปเสียค่าปรับและทำใหม่ มิฉนั้นจะมีความผิด

นายยัง ได้บรรยายถึงภาพลักษณ์ของตำรวจสยาม ( พลตระเวน หรือโปลิศ ) ในสมัยนั้นว่า ..ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่งตัวสง่าสู้บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้ ตำรวจใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน ตั้งใจเลียนแบบตำรวจกรุงลอนดอน แต่ผ้าที่ใช้สีตก และหดตัวทำให้ดูแล้วตลก ตำรวจชอบถือร่ม ชอบถลกขากางเกงเหนือเข่า ไม่สวมรองเท้า สวมหมวกยู่ยี่ แม้ไม่มีบุคลิคน่าเกรงขาม แต่ก็ไม่ถูกต่อต้านจากผู้จับกุม มักเห็นตำรวจโทรมๆ เหล่านี้นำผู้ต้องหา 3 ถึง 4 คนเดินไปโรงพัก ให้ผูกข้อมือไพล่หลังด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าพันคอของผู้ต้องหาเอง

( คนจีนในสยาม สมัยนั้นสังเกตุได้ง่ายว่าต่างจากคนไทย เพราะคนจีนไว้ผมเปียทุกคน เพิ่งมาเลิกหลังปี ค.ศ. 1911 หลังราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้ม จีนเป็นสาธารณรัฐ )

** กล่าวเพิ่มเติม นายยังผู้นี้ได้เขียน ไว้ในบทนำของหนังสือข้างต้นว่า เขาเป็นเพื่อนกับนายโรเบิร์ต โมรันต์ ( Mr. Robert L. Morant ) ผู้ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ใหญ่แห่งโรงเรียนราชกุมาร ภายในพระบรมมหาราชวัง ( Rajaku-mara School ) นายยังได้รับคำแนะนำ และคำวิจารย์จากท่านผู้นี้ เรื่องการผูกปี้คนจีนในสยาม.........

การผูกปี้คนจีนในสยาม

.. การเก็บภาษีคนจีนในสยาม รัฐบาลสยามใช้วิธีผูกเชือกที่ข้อมือข้างหนึ่ง และตีด้วยครั่ง เรียกกันว่า " ผูกปี้ "
เดิมที คำว่า " ปี้ " มาจากภาษาจีน หมายถึง เงินเหรียญกลมแบน
ส่วนภาษาไทย ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่าปี้ หมายถึง กระเบื้องถ้วย หรือทองเหลือง หรือแก้ว ทำเป็นเครื่องหมาย สำหรับใช้แทนเงินในบ่อนเบี้ย และยังหมายถึง " ครั่งประทับตราที่ผูกข้อมือจีนครั้งก่อนเป็นสำคัญว่า ได้เสียค่าราชการแล้ว "

การเก็บภาษีโดยตรงจากคนจีน ที่อพยพทำมาหากินในสยาม เป็นรายหัว มีครั้งแรกตั้งแต่สมัย รัชกาลที่สาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเก็บเงิน หนึ่งบาท สองสลึง ทุกๆ สามปี



( ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หน้ารายการต่ออายุ ปี พ.ศ. 2497 และ ปี พ.ศ. 2498 ผนึกอากรใบต่างด้าว 4 บาท แก้เป็น 20 บาท แล้วแก้ราคา เป็น 400 บาท (แก้ 2 ครั้ง) เจาะรู ลงลายมือชื่อ และลงวันที่ขีดฆ่า )



1 / ..ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หน้ารายการต่ออายุ ส่วนบนผนึกอากร 200 บาท (สีเขียว) สำหรับปี พ.ศ. 2523 ส่วนล่างผนึกอากร 200 บาท จำนวน 3 ดวง สำหรับปี พ.ศ. 2518 ข 2521 (สามปี )

.. ระหว่างปี พ.ศ. 2371 - 2452 ( ค.ศ. 1828 - 1909 ) เก็บภาษีคนจีน 3 ปีครั้ง กำหนดเป็นเงิน 4 บาทสลึง
การเก็บภาษี (ผูกปี้) จากคนจีนต่างกับ เงินช่วยราชการ จากชายฉกรรจ์ไทย เพราะคนจีนที่มาเมืองไทยไม่ถูกต้องเกณฑ์แรงงาน (ไม่ได้ถูกสักข้อมือเป็นไพร่ของชายไทย) ได้รับยกเว้นการรับใช้มูลนายเป็นส่วนตัว จึงประกอบอาชีพอิสระ มีอาชีพตั้งแต่กรรมกรใช้แรงงาน จนถึงฐานะสูงส่งเป็นถึงเจ้าสัว เถ้าแก่ เจ้าภาษีนายอากร

หลังจากสยามลงนาม ในสนธิสัญญาเบาริ่ง กับอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ( ค.ศ. 1855 ) สยามค้าขายกับต่างประเทศอย่างเสรี มีเรือเดินสมุทร ระหว่างกรุงเทพฯ กับ เมืองซัวเถา ของจีนเป็นประจำ เป็นผลให้มีคนจีนอพยพ มาพำนักในสยามเพิ่มขึ้นทุกปี

ตลอดราชกาลที่ 4 และ 5 จนสิ้นสุดการผูกปี้ ในปี พ.ศ.2453 รัฐบาลไม่เคยขึ้นภาษีการผูกปี้เลย แม้ว่ารายได้จากภาษีประเภทนี้ จะไม่สูงนัก แต่รัฐบาลสยาม ต้องพึ่งแรงงานจีน เพื่อพัฒนาประเทศ รัฐเก็บภาษีทางอ้อมจากคนจีน ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นทุกปี เช่น จากภาษีฝิ่น ภาษีบ่อนการพนัน ภาษีสุรา อบายมุขเหล่านี้ จูงใจให้กรรมกรจีน (กุลี) อุดหนุนเป็นส่วนใหญ่ ทำรายได้ให้รัฐมากกว่าเงินจากผูกปี้

การสูบฝิ่นของคนจีน

ปี พ.ศ. 2395 ( ค.ศ. 1852) พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้รัฐบาลผูกขาดการค้าฝิ่น ใช้มาตรการจำกัดการสูบฝิ่นให้เฉพาะคนจีน โดยมีพระบรมราชโองการรับสั่งว่า คนที่เข้าโรงฝิ่นได้ จะต้องไว้หางเปีย และผูกปี้เท่านั้น คนไทยห้ามสูบ รายได้จากภาษีฝิ่นเป็นรายได้หลักของสยาม

รับบาลยังผูกขาดบ่อนการพนัน และสุรากลั่น โดยให้การประมูลภาษีแก่คนจีนที่เป็นเจ้าภาษีนายอากร ทำให้รัฐบาล มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

คนจีนในบางกอก

.. ขุนวิจิตรมาตรา ( กาญจนาคพันธุ์ ) เขียนไว้ในหนังสือกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ ( พ.ศ.2520 ) เล่าถึงสภาพของกรุงเทพฯ ยุคปลายรัชกาลที่ 5 และต้นรัชกาลที่ 6 ดังนี้

.." สรุปแล้ว เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กรุงเทพฯ ร่วม 80 ปีมาแล้ว ตรงกันข้ามกับอยู่คลองบางหลวง แทบทุกอย่าง ในคลองบางหลวง ( เว้นแต่ตลาดพลู ) ดูเป็นคนไทยทุกอย่าง ครั้นไปอยู่กรุงเทพฯ ดูคนสำส่อน แต่งเนื้อแต่งตัวกันหาระเบียบอะไรกันไม่ได้ นุ่งกางเกงแพร กางเกงสั้น นุ่งโสร่ง ใส่เสื้อชั้นในอะไรต่ออะไร คละกันไปหมด

ว่าถึงส่วนมากแล้ว มองไปทางไหนก็เห็นแต่เจ๊กอยู่ทั่วไปหมด เริ่มแต่เจ๊กขายข้าวพอง ( คือเอาข้าวพองเป็นก้อนๆ ไปขายบ้าง แลกของตามบ้านบ้าง ราคาถูกๆ ) เจ๊กขนขี้ เจ๊กรดถนนกันฝุ่น เจ๊กกวาดถนน เจ๊กลากรถเจ๊ก เจ๊กตักน้ำส่งตามบ้าน เจ๊กรับจ้างแบกหามต่างๆ เจ๊กหาบเร่ขายของกิน ตั้งร้านขายของเบ็ดเตล็ด และมักจะเป็นร้านขายหวย ก.ข. ด้วย เจ๊กตั้งโรงยาฝิ่น (อาเพี้ยน) มีเจ๊กบ้าง ไทยบ้าง เข้าไปนอนเป่าปี่กันเป็นแถวเสมอ
เจ๊กตั้งโรงจำนำ... "



2 / ...ใบสำคัญประจำตัว คนต่างด้าว หน้ารายการต่ออายุ ส่วนบนผนึกอากร 100 บาท จำนวน 2 ดวง (สีแดง) สำหรับปี พ.ศ.2527 - 2528 ส่วนล่างผนึกอากร 100 บาท จำนวน 4 ดวง (สีแดง) สำหรับปี พ.ศ.2528 - 2529 โดยเพิ่ม 200 บาท เป็นค่าปรับ ที่ชำระล่าช้ากว่ากำหนด





.. ถ้าจะพูดอีกแง่หนึ่ง ก็น่าจะกล่าวได้ว่า การค้า และเศรษฐกิจอยู่ในมือจีน ตั้งแต่แลกข้าวพองหาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงห้าง เช่น ห้างเคียมฮั่งเฮง ตลอดจนโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร ซึ่งล้วนแต่มีกรรมกรจีน ตกอยู่ในมือจีน ตั้งแต่ข้าพเจ้าเห็นมาร่วม 80 ปี จนกระทั่งปัจจุบัน.."

การส่งเงินกลับเมืองจีน

คนจีนในสยามหาเงินได้ ส่วนหนึ่งส่งไปจุนเจือ ครอบครัวที่ยากจนในเมืองจีน โดยทาง " โพยก๊วน " คนจีนจะไม่ส่งจดหมายไปบ้านเลย ถ้าไม่มีการส่งเงินไปเป็นของขวัญ เขาไม่เขียนจดหมายเสียดีกว่า โดยไม่มีอะไรสำคัญกว่ากระดาษ และคนจีนส่วนใหญ่เป็นกรรมกร (กุลี) ใช้แรงงาน การเขียนจดหมาย ต้องพึ่งพาเสมียนของ " โรงโพย " ที่ให้บริการเสริมพร้อมกับการส่งเงินกลับเมืองจีน บรรยายทุกข์สุขในจดหมายไปด้วย

จากผูกปี้ มาเป็นใบต่างด้าว

.. มีข้อมูลว่า คนจีนที่ฐานะการเงินดี ไม่อยากผูกปี้ที่ข้อมือให้อับอาย อาจเสียภาษีเพิ่มเป็น 6 บาทสลึง (แทนที่ 4 บาทสลึง) ทุกๆ 3 ปีก็ได้

ในปี พ.ศ. 2453 ( ค.ศ.1910) ทางราชการยกเลิกการผูกปี้ ปีนั้น ตรงกับปีที่จีนล้มล้างราชวงซ์ชิง มาเป็นสาธารณรัฐ ภายใต้การนำของ ซุนยัคเซ็น รัฐบาลสยามออกกฏหมาย ให้คนจีน และคนไทย เสียค่ารัชชูปการ เหมือนๆ กัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ และเริ่มระบบเกณฑ์ทหารมาใช้สำหรับคนสัญชาติไทย

คำว่า รัชชูปการ หมายถึง เงินช่วยราชการ ตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชาย ที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล

.. เดือนมีนาคม พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939 ) รัฐบาลสยามใช้ประมวลรัษฎากร แบบใหม่ ยกเลิกการเก็บค่ารัชชูปการ ทั้งคนไทยและจีน

สำหรับคนจีนให้ชำระ " ค่าธรรมเนียมคนต่างด้าว " แทน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป คนเชื้อชาติจีนทุกคน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคนต่างด้าว ครั้งแรกปีละ 4 บาท ให้ไปชำระที่สถานีตำรวจ (โรงพัก)

ค่าธรรมเนียมคนต่างด้าว

ค่าธรรมเนียมคนต่างด้าว ( ส่วนมากเก็บจากคนจีน จากคนชาติอื่นๆ มีจำนวนน้อยมาก ) มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อคนจีน ว่าจะเป็นหรือเป็นมิตรเพียงใด
1. พ.ศ. 2482 ( 1939 ) เก็บปีละ 4 บาท
2. พ.ศ. 2489 ( 1946 ) เก็บปีละ 8 บาท
3. พ.ศ. 2493 ( 1950 ) เก็บปีละ 20 บาท
4. พ.ศ. 2494 ( 1951 ) เก็บปีละ 80 บาท
5. พ.ศ. 2495 ( 1952 ) เก็บปีละ 400 บาท
6. พ.ศ. 2498 ( 1955 ) ถึงปัจจุบัน เก็บปีละ 200 บาท

จากสถิติการเก็บค่าธรรมเนียมคนต่างด้าว ข้างต้น จะเห็นได้ว่า รับบาลไทยเริ่มใช้ใบต่างด้าวสำหรับคนจีน ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำรับบาล ( เป็นนายกรับมนตรี ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ) โดยเก็บปีละ 4 บาท

** หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพิ่มอัตราหลายครั้ง จนถึงปีละ 80 บาท

.. หลังจากประเทศจีน เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ มาเป็นรัฐบาลคอมมูนิสต์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ความเป็นมิตรของรัฐบาลไทย กับคนจีนลดลง รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพิ่มค่าธรรมเนียมคนต่างด้าว จาก 80 บาท เป็น 400 บาทต่อปี ( ทั้งๆ ที่กระทรวงการคลังเสนอมา 200 บาทต่อปี ) มีการประท้วงจากรับบาลจีนคณะชาติ ซึ่งยังมีความสัมพันธไมตรี กับไทยอยู่ในขณะนั้น แต่ก็ไร้ผล

.. ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2498 หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับจากการเดินทางรอบโลก การบีบคั้นของรัฐบาลต่อคนจีนในไทยลดลง มีความปรองดอง ระหว่างนักธุรกิจจีน กับข้าราชการไทยมากขึ้น มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2499 ให้ลดค่าธรรมเนียมคนต่างด้าวจาก 400 บาท มาเป็น 200 บาท และระงับการเก็บค่าธรรมเนียมย้อนหลัง จากผู้ที่ยังติดค้างอยู่ อัตราปีละ 200 บาทนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ใช้จนถึงปัจจุบัน

เวลานี้คนเชื้อชาติจีน ที่มีใบต่างด้าวเหลือน้อยเต็มที่ ส่วนใหญ่เป็นลูกจีน ( คนไทยเชื้อสายจีน ) ที่ไม่ต้องมีใบต่างด้าวอยู่แล้ว

..สถานที่ขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว และจัดเก็บค่าธรรมเนียม เป็นหน้าที่ของสถานีตำรวจท้องถิ่น ที่ที่คนจีนผู้นั้นพำนักอยู่ เมื่อครบกำหนด จะต้องไปชำระเงิน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะผนึกอากรทะเบียนต่างด้าว บนใบสำคัญต่ออายุ และจดบันทึก ตำรวจจัดส่งเงินรายได้ ตามอากรที่เบิกมาใช้ไปจากกระทรวงการคลัง

โดยผ่านกองทะเบียนคนต่างด้าว และภาษีอากร ของกรมตำรวจ
( หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน )

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ( ค.ศ. 1995 ) ทางราชการได้ยกเลิก การผนึกอากรบนใบสำคัญต่ออายุแล้ว เพียงแต่บันทึกการชำระค่าลงทะเบียนไว้เท่านั้น นักสะสมแสตมป์ จึงหยุดสะสมอากรใบต่างด้าวมาหลายปี ....


เอกสารอ้างอิง

>1. กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้. สารคดี. 2546, หน้าที่ 219 .

2. วิชากร ชวนะศักดิ์. อากรทะเบียนต่างด้าว. วารสารตราไปรษณียากร. ปีที่ 33, ฉบับที่ 10, พฤษภาคม 2546 หน้า 59-61

3. พิพัฒน์ ชูวรเวช. ชาวจีนอพยพมากรุงเทพฯ. วารสารตราไปรษณียากร ปีที่ 26, ฉบับที่ 12, กรกฏาคม 2539, หน้า 30-31

4. พิพัฒน์ ชูวรเวช. สภาพสำเพ็งเมื่อร้อยปีก่อน. วารสารตราไปรษณียากร ปีที่ 29, ฉบับที่ 5, ธัรวาคม 2541, หน้า 8-9

5. พิพัฒน์ ชูวรเวช. จากเรือสำเภาสู่เรือกำปั่น. วารสารตราไปรษณียากร ปีที่ 32, ฉบับที่ 10, พฤษภาคม 2545, หน้า 50-52

6. พิพัฒน์ ชูวรเวช. ออฟฟิศไปรษณีย์ที่ 8 สำหรับคนจีนในสยาม. ใน ตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสมฬ ซีเอ็ด ยูเคชั่น, 2546, หน้า 163-147

7. G.W. Skiner. Chinese Society in Thailand: An Analytical History. Cornell University Press, 1957

8. Earnest Young. The Kingdom of the Yellow Robe. Oxford University Press. 1980, p. 9-10


................................................................................................




Create Date : 08 มิถุนายน 2551
Last Update : 12 กรกฎาคม 2551 18:08:17 น. 0 comments
Counter : 7179 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ดอกหญ้าในดงผู้ดี
Location :
Dorset, United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]




*.. ชีวิต ไร้ขอบเขต ธรรมชาติ คือสื่งที่แสวงหา
ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่รักที่จะอยู่แบบเดิมๆ .. *
..........................................................

.. คำนำ ..

เนื้อหา และบทความในบล็อกนี้ ส่วนหนึ่ง เขียนมาจากชีวิต และประสบการณ์ส่วนตัว ของเจ้าของบล็อก
และส่วนหนึ่ง เขียนมาจากความสนใจ ใคร่รู้ โดยส่วนตัวของ จขบ เอง และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
พร้อมอ้างอิงที่มา
เจ้าของบล็อกหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงเป็นประโยชน์แด่ผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อย
.....................................................................

.. งานเขียน และบทความ ที่เขียนมาจาก ' ชีวิตส่วนตัว และประสบการณ์ชีวิตจริง ' ของ เจ้าของบล็อคนี้

..ขอสงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของ ( ข้อความ,ภาพส่วนตัว ) ใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่ และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี
ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด..

หรือ....

...หากว่า มีส่วนใด ในบล็อคนี้ เห็นว่าเป็นความรู้ และเป็นประโยชน์ ช่วยเหลือท่านได้
( ที่ไม่ใช่การนำไปใช้หาผลประโยชน์ ให้ตัวเอง )

..เจ้าของบล็อคก็ยินดี แต่ขอให้บอกกล่าวกันบ้าง เพื่อเป็นการแสดงถึง การให้เกียรติ และเคารพในสิทธิ์ ซึ่งกัน และกันนะค่ะ ......
....................................
..... 4...... ..
New Comments
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
8 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ดอกหญ้าในดงผู้ดี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.