Khantī paramam tapo tītikkhā [Buddhist Proverbs]
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
23 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 

๒๓ พฤศจิกาฯ คารวะ พนมเทียน



สุข กายใจมั่นด้วย.........รัตน์ไตร
สันต์ ยิ่งสู่ภายใน...........เจิดจ้า
วัน เดือนผ่านพ้นไป.......คงมั่น
เกิด สว่างใสไร้ล้า.........เด่นล้ำ พนมเทียน


พนมเทียน : เปลวเทียนยามแสงโชนสว่างได้ที่ จะเห็นเปลวเทียนเรียวขึ้นจากปลายแท่งแล้วค่อยแผ่กว้างออกก่อนจะสอบปลายแหลมให้เรียวสะบัดความสว่างขึ้นอีกครั้ง

พนมเทียน ผู้แต่งสุดยอดนวนิยายเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นนามปากกาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพ.ศ. 2540 เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2474 ที่จังหวัดปัตตานี

//th.wikipedia.org/wiki/พนมเทียน






สุขสันต์วันเกิดครับคุณลุงพนมเทียน ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ช่วยดลบันดาลให้คุณลุงพนมเทียน มีสุขภาพกายแข็งแรง มีความสุขทั้งกายและใจให้ยิ่งๆขึ้นไปครับ

ด้วยจิตคารวะอย่างสูง
อุปนิกขิต
สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ เพชรพระอุมา





พร้อมนี้ ผมขอลงบทความที่ได้เขียนไว้เกี่ยวกับนวนิยายเพชรพระอุมา มาลง ณ ที่นี้อีกครั้ง เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาอาจารย์ แทนอามิสบูชาใดๆ ครับ

จาก คิง โซโลมอนส์ ไมนส์ ถึง เพชรพระอุมา
...ในบรรดานวนิยายผจญภัยด้วยกันแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักคิง โซโลมอนส์ ไมนส์ (King Solomon’s Mines) ของเซอร์ เอช. ไรเดอร์ แฮกการ์ด (Sir H. Rider Haggard) และ เพชรพระอุมา ของ พนมเทียน หลายคนถึงกับคิดว่าเพชรพระอุมานั้น แปลหรือลอกมาจากคิง โซโลมอน ไมนส์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เพชรพระอุมา ดูด้อยค่าลงไปอย่างไม่เป็นธรรมนัก ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนจะได้อธิบายเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องนี้


เรื่องย่อของ คิง โซโลมอน ไมนส์
...นิยายเล่มนี้เป็นนิยายขนาดพ็อกเก็ตบุ้ค จำนวน ๑ เล่ม แต่งขึ้นเมื่อปีค.ศ. ๑๘๘๖ (พ.ศ. ๒๔๒๙) เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของพรานคนหนึ่งชื่อ อัลลัน ควอเตอร์เมน ในการนำทางให้กับผู้ว่าจ้าง ๒ คนคือ เซอร์เฮนรี่ เคอร์ติส และกัปตันจอห์น กู้ด เพื่อไปตามหาบุคคลสาบสูญซึ่งเป็นน้องชายของเซอร์เฮนรี่ ชื่อ จอร์จ เคอร์ติส และจิม พรานคู่ใจ ที่เดินทางไปในยังดินแดนที่เชื่อกันว่ามีขุมทรัพย์ของกษัตริย์โซโลมอนอยู่

...ขณะกำลังออกเดินทาง ได้มีบุคคลผู้หนึ่งชื่อ อัมโบปา ขอออกเดินทางไปด้วย ต่อมาเมื่อถึงที่หมายก็ปรากฏว่า อัมโบปา คือทายาทของกษัตริย์องค์ก่อนของดินแดนนั้น ติดตามคณะมาเพื่อทวงบัลลังค์คืน ซึ่งอัลลันและพวก ก็ได้ร่วมช่วยเหลืออัมโบปาในการครั้งนี้ด้วยจนสำเร็จผล

...หลังจากนั้น อัลลันและพวก ก็ได้พบกับขุมทรัพย์ของกษัตริย์โซโลมอน พร้อมทั้งนำเพชรกลับออกมาด้วยจำนวนหนึ่ง ระหว่างทางกลับ ก็ได้พบกับจอร์จและจิม บุคคลสูญหาย ที่หลงอยู่ในโอเอซิสกลางทะเลทราย จึงได้กลับมาพร้อมคณะ


เรื่องย่อของเพชรพระอุมา
...เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายขนาดพ็อคเก็ตบุ้คจำนวน ๔๘ เล่ม แบ่งเป็น ๒ ภาคๆ ละ ๒๔ เล่ม เริ่มเขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๗ จนมาจบสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๓ รวมระยะเวลา ๒๕ ปี ๗ เดือน ๒ วัน

...ภาคแรกแบ่งเป็น ๖ ตอนคือ ไพรมหากาฬ ดงมรณะ จอมผีดิบมันตรัย อาถรรพ์นิทรานคร ป่าโลกล้านปี และแงซายจอมจักรา

...ภาคจบบริบูรณ์แบ่งเป็น ๖ ตอนคือ จอมพราน ไอ้งาดำ จิตรางคนางค์ นาคเทวี แต่ปางบรรพ์ และมงกุฏไพร

...เรื่องย่อของเพชรพระอุมาภาคแรกคือ รพินทร์ ไพรวัลย์ พรานวัยฉกรรจ์อดีตร้อยตำรวจเอกตระเวนชายแดน ผู้ผ่านการศึกษาในระดับสูง ได้รับการว่าจ้างจากคณะนายจ้างคือ ม.ร.ว. เชษฐา วราฤทธิ์ ไชยยันต์ อนันตรัย และม.ร.ว. ดาริน วราฤทธิ์ ให้ติดตามบุคคลหายสาบสูญซึ่งเป็นน้องชายของม.ร.ว. เชษฐา ชื่อ ม.ร.ว. อนุชา วราฤทธิ์ พร้อมกับพรานคู่ใจคือ หนานอิน ซึ่งออกเดินทางไปตามหาขุมเพชรพระอุมา ณ ดินแดนหลงสำรวจแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า มรกตนคร โดยขณะกำลังออกเดินทางก็ได้มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ แงซาย มาขอร่วมเดินทางไปด้วย

...ในขณะที่รพินทร์ นำคณะนายจ้างเดินทางเพื่อไปสู่ที่หมายนั้น ก็ได้ผจญภัยกับสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งสัตว์ดุร้ายหลายๆตัว งูยักษ์ การเผชิญหน้ากับเผ่ากินคน การหลงเข้าไปในนครร้างอาถรรพ์ การหลุดย้อนเวลาไปในยุคป่าโลกล้านปี การเอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อหาทางขึ้นสู่มรกตนคร ซึ่งในระยะเวลานั้น ความรักของรพินทร์ พรานผู้ต่ำศักดิ์ กับม.ร.ว. ดาริน ก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

...เมื่อไปถึงมรกตนคร ก็ได้พบกับอนุชาและหนานอิน สองบุคคลสาบสูญ อีกทั้งปรากฏว่า แงซาย พรานป่าที่ติดตามมาด้วยนั้น เป็นทายาทของกษัตริย์องค์ก่อน ผู้มาทวงบัลลังค์คืนจากกษัตริย์ทรราชองค์ปัจจุบัน ซึ่งรพินทร์และคณะก็ได้ร่วมช่วยเหลือแงซายชิงบัลลังค์คืนจนเป็นผลสำเร็จ

...หลังจากนั้น รพินทร์และคณะก็ออกเดินทางกลับมาโดยสวัสดิภาพ ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไป คณะนายจ้างกลับไปตามทางของตน ส่วนรพินทร์ ก็กลับมาเป็นพรานตามเดิม ทิ้งท้ายไว้ที่ความรักระหว่างรพินทร์กับม.ร.ว. ดาริน ว่าจะลงเอยเช่นไร

...ส่วนเพชรพระอุมาภาคสมบูรณ์นั้น เรื่องย่อมีอยู่ว่า ม.ร.ว. ดารินได้ย้อนกลับมาหารพินทร์ที่หนองน้ำแห้ง บอกให้ขึ้นไปกรุงเทพฯให้ทันวันเกิดของตนเอง แต่หลังจากนั้นไม่นาน รพินทร์ได้รับการติดต่อด่วนให้ไปเป็นพรานนำทางคณะอเมริกันเพื่อตามหาเครื่องบินบี 52 บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ 10 เมกะตัน รพินทร์และลูกน้องจึงต้องออกเดินทางเข้าป่าอีกครั้ง โดยไม่ได้ขึ้นไปกรุงเทพฯ

..การติดตามค้นหาเครื่องบินบี 52 นี้ รพินทร์ได้เดินทางไปในแนวเดียวกับเส้นทางไปมรกตนคร เนื่องจากตำแหน่งของเครื่องบินตกระบุเป็นนัยไว้ ซึ่งการค้นหาทางอากาศไม่สามารถหาได้พบเหมือนกับหายไปจากโลก ระหว่างการเดินทางก็ได้ผจญภัยในดินแดนนรกดำ โดยเฉพาะกับการเผชิญหน้ากับ มันตรัย ปีศาจจอมขมังเวทย์แห่งนิรานคร ผู้อาฆาตแค้นรพินทร์มาตั้งแต่ปางบรรพ์

...ระหว่างที่รพินทร์เดินทางอยู่ในป่า ม.ร.ว. ดารินก็ทราบเรื่องในช่วงวันเกิดของตนเอง ซึ่งเธอเสียใจและเป็นห่วงรพินทร์อย่างมาก ร้อนถึงม.ร.ว. เชษฐา ม.ร.ว. อนุชา และไชยยันต์ ต้องตัดสินใจออกตามรพินทร์ด้วยความเป็นห่วง เกรงว่าจะถูกคณะอเมริกันซึ่งเป็นพวกสายลับ จะสังหารปิดปากเมื่องานเสร็จ

...การเดินทางของ ๒ คณะนี้ ได้ติดตามกันไปเป็นระยะๆ และประสบกับการตามอาฆาตจองเวรของ มันตรัย ด้วยกันทั้งสิ้น แต่สุดท้าย มันตรัยก็พินาศลงด้วยฝีมือของม.ร.ว. ดาริน ผู้เป็นหนึ่งในบุคคลที่เผชิญหน้ากันมาแต่ปางบรรพ์

...การเดินทางของทั้ง 2 คณะ ไปพบกันที่มรกตนคร เมืองของพระเจ้าจักราธิราช หรือ แงซาย ของทุกๆ คน แงซายใช้กุศโลบายจนทำให้รพินทร์และดาริน สมรสกัน ณ เมืองนั้น อีกทั้งคณะนายจ้างอเมริกันได้มาพบกับซากเครื่องบินบี 52 พร้อมทั้งซากระเบิดนิวเคลียร์ที่ไม่ทำงานแล้ว เนื่องจากหลุดเข้ามาในแดนสนธยานี้ หลังจากนั้นทั้งหมดก็เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ


ความเหมือนและความแตกต่าง
...ในเบื้องต้นจะเห็นว่า เพชรพระอุมา จะมีความคล้ายคลึงกับ คิง โซโลมอนส์ ไมนส์ เฉพาะภาคแรกเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อมาถึงปริมาณของหนังสือ ก็พบว่าเป็นอัตราส่วนถึง ๑ ต่อ ๒๔ อันมีนัยยะที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

...สำหรับเรื่องนี้ ‘พนมเทียน’ ได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือ เจาะลึกเบื้องหลังนวนิยาย เพชรพระอุมา ความตอนหนึ่งว่า

...เมื่อยังวัยรุ่นอยู่ ตอนเป็นนักเรียนแผนกอักษรศาสตร์ ผมได้ไปพบกับหนังสืออ่านประกอบบทเรียนของญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง… ชื่อเรื่อง KING SOLOMON’S MINES เขียนโดยนักประพันธ์อังกฤษคือ SIR H. RIDER HAGGARD มีเนื้อหาสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับ การผจญภัยในป่าของพรานผิวขาวผู้หนึ่ง ซึ่งมีผู้มาจ้างวานให้ไปติดตามคนหาย ก่อนการออกเดินทางนั้น มีคนพื้นเมืองคนหนึ่งมาขออาสาสมัครเป็นคนใช้ติดตามไปด้วย และผลที่สุดเมื่อไปถึงดินแดนหลงสำรวจในป่าลึกนั้น ก็ปรากฏว่าเจ้าคนใช้ที่สมัครติดตามมานั้น แท้ที่จริงก็คือทายาทของนครลับแล หลงสำรวจนั้น พรานนำทางกับคณะผู้ติดตามคนหายก็เลยช่วยกันต่อสู้กอบกู้บัลลังค์จากทรราช ให้เจ้าคนใช้คนนั้นได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้พบกับขุมทรัพย์ใหญ่แห่งนครนั้น

...โครงเรื่องเพียง ๕-๖ บรรทัดแค่นี้เองแหละครับ (เฉพาะในภาคหนึ่งของเพชรพระอุมา) ที่ผมได้เอาโครงมาจากแนวเรื่องเดิมของ คิง โซโลมอน’ส มายน์ส ของ เซอร์ฯ แฮกการ์ด เพราะมันเป็นเค้าโครงเรื่องที่ดีมาก ในการจะนำมาเป็นเหตุผลให้ต้องมีการเดินป่าของพรานในนวนิยายที่กำลังจะเขียนขึ้น เพราะจะทำให้พล็อตเรื่องมีจุดหมายที่แน่นอนลงไป ส่วนหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศให้เป็นป่าแบบไทยหรือป่าในเอเชีย ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด สิ่งแวดล้อมต่างๆของเรื่อง เป็นหน้าที่ของผมเองที่จะต้องนำมาประสานกันให้กลมกลืนหมดจด



ว.วินิจฉัยกุล ได้เคยเขียนบทวิจารณ์เพชรพระอุมา ภาค 1 มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

...การเท้าความถึง King Solomon’s Mines นี้ ไม่ได้ต้องการแสดงว่า เพชรพระอุมา ภาค 1 เป็นงานของฝรั่ง ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นงานประพันธ์ของคนไทย แม้มีที่มาจากวรรณกรรมอังกฤษ แต่ก็เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ที่มีฝีมือ มีความจัดเจนทางภาษาและจินตนาการมากที่สุดงานหนึ่งของนวนิยายยอดนิยมของไทย

...ในความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว เห็นว่า เพชรพระอุมา ภาค 1 เป็นงานที่สร้างยากกว่า King Solomon’s Mines หลายเท่า และมีลักษณะเฉพาะของตัวเองชัดมาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า การที่สถาปนิกไทยใช้กระเบื้องมุงหลังคาและเสาปูนของฝรั่ง ตลอดจนหน้าต่างกระจกติดเครื่องปรับอากาศมาสร้างบ้านไทย ก็หาได้ทำให้บ้านไทยนั้นกลายเป็นบ้านฝรั่งไปไม่ และยิ่งเมื่อใช้พื้นไม้สัก ฝาปะกน ฝาเฟี้ยมแบบไทย มีประตูที่มีธรณีประตูสูง มีหย่องหรือแผ่นไม่สลักใต้หน้าต่าง มีคันทวยสลักค้ำชายคา นอกชานตั้งเขามอและไม้ดัดตลอดจนอ่างปลาเงินปลาทอง มันก็กลายเป็นบ้านไทยประยุกต์ที่คนไทยคุ้นตากันนั่นเอง



และสำหรับต่อกรณีนี้ สุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจา ได้ทำวิทยานิพนธ์เชิงเปรียบเทียบเอาไว้ ซึ่งความตอนหนึ่งในบทสรุป มีอยู่ว่า

...แม้พนมเทียนจะได้รับอิทธิพลในการประพันธ์นวนิยายมาจากนวนิยายเรื่องอื่นก็ตาม แต่ก็กล่าวได้ว่า นวนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่มีลักษณะเป็นแบบฉบับของพนมเทียนเอง เนื่องจากการได้รับอิทธิพลนั้น เป็นการได้รับอิทธิพลแล้วนำอิทธิพลที่ได้รับนั้น มาสร้างสรรค์และขยายเรื่องราวการผจญภัยใน เพชรพระอุมา ให้สนุกสนานและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มประสบการณ์ในการเดินป่า และความรู้ในด้านต่างๆ ของตนเองเข้าไปได้อย่างเหมาะสม เป็นการรับอิทธิพลแล้วมาสร้างสรรค์ต่อ ลักษณะการได้รับอิทธิพลเช่นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักประพันธ์คนอื่น เพราะการได้รับอิทธิพลแล้วมาผสมผสานเข้ากับประสบการณ์และความรู้ของตนให้นวนิยายเรื่องนั้นมีความแปลกใหม่ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้วรรณกรรมมีการพัฒนาต่อไปไม่หยุดอยู่กับที่

...อาจกล่าวได้ว่า เพชรพระอุมา ได้พล๊อตโครงเรื่องหลักมาจาก คิง โซโลมอนส์ ไมนส์ แต่ได้นำพล็อตนั้นมาสร้างเรื่องราวขึ้นมาใหม่อันมีลักษณะเฉพาะตนสูง พร้อมทั้งเพิ่มเติมโครงเรื่องย่อยเข้าไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะกับเพชรพระอุมาในภาคสมบูรณ์ ที่โครงเรื่องทั้งหมดได้กลายเป็นตัวตนของ ‘พนมเทียน’ อย่างสมบูรณ์



อมตะนิยายที่คนไทยควรภาคภูมิใจ
...นอกเหนือจากความสนุกสนานเพลิดเพลินที่ผู้อ่านจะได้รับจาก เพชรพระอุมา แล้ว ยังจะได้รับศาสตร์ทางด้านอื่นๆ อีกมากมาย ที่ พนมเทียน ได้บรรจงสอดแทรกลงไปอย่างกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง อาทิเช่น การดำรงชีวิตในป่า การใช้อาวุธปืน สัตว์โลกล้านปี วรรณคคีต่างๆ การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างมีชั้นเชิง ฯลฯ และที่สำคัญคือ การได้ซึมซับอุปนิสัยความเป็นนักสู้ผู้ไม่ยอมถอยหลังหากงานที่ได้รับมอบหมายยังไม่ประสบความสำเร็จ มิตรภาพระหว่างกัน และความมีมนุษยธรรม ของตัวเอกในเรื่อง ซึ่งเป็นคุณธรรมสากลในการดำเนินชีวิต และความมีมนุษยธรรมในทุกๆ เรื่อง ที่ พนมเทียน บรรจงสร้างนี้เอง ที่เป็นปัจจัยหลักสนับสนุนทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๐

...ดังนั้น กล่าวได้ว่า เพชรพระอุมา เป็นอมตะนิยายที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จากอดีตจวบจนปัจจุบัน ซึ่งคนไทยควรภาคภูมิใจ และได้อ่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต


หนังสืออ้างอิง
1) พนมเทียน (นามแฝง). เจาะลึกเบื้องหลังนวนิยาย เพชรพระอุมา. พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก. กรุงเทพมหานคร : แซทโฟร์พริ้นติ้ง, ๒๕๔๑.
2) ว. วินิจฉัยกุล (นามแฝง). “บทวิจารณ์เพชรพระอุมา ภาค ๑ ประติมากรรมระดับ “ยักษ์” ของพนมเทียน”. นิตยสารโลกนวนิยาย, ๒๕๓๙.
3) สุภารัตน์ ศุภภัคว์รุจา. . “นวนิยายแนวผจญภัย : จากคิง โซโลมอนส์ ไมนส์ ล่องไพร ถึงเพชรพระอุมา (ภาคหนึ่ง)”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๑.




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2550
13 comments
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2550 18:52:43 น.
Counter : 2980 Pageviews.

 



จริงๆ ว่าจะแต่งกลอน
แต่กระดาษที่กองอยู่ตรงหน้า 2 มัดเศษ
ทำเอาแต่งกลอนไม่ออก - -"
งั้นเอาแบบมาตรฐานก่อนนะคะ


ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยบันดาลให้คุณลุงพนมเทียนมีความสุข สุขภาพแข็งแรงตลอดได้นะคะ

 

โดย: เ จ้ า ตั ว ร้ า ย 23 พฤศจิกายน 2550 18:19:57 น.  

 

ผม ขอคารวะท่านด้วยคน ครับ อายุยืนยาวนานๆนะ ครับ นับถือ

 

โดย: wildbirds 23 พฤศจิกายน 2550 18:31:46 น.  

 

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยจงปกป้องคุ้มครองคุณลุงพนมเทียน ให้มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

 

โดย: กบเทียน 23 พฤศจิกายน 2550 20:12:54 น.  

 

มาคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ด้วยคนค่ะ ขอให้คุณลุงพนมเทียนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงนะ

 

โดย: ชบาแก้ว (peta.W ) 23 พฤศจิกายน 2550 21:17:42 น.  

 

สุขสันต์วันเกิดค่ะ คุณลุงพนมเทียน
( นู๋มาช้าไปหนึ่งวัน ค่ะ แหะๆๆ )

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ช่วยดลบันดาลให้คุณลุงพนมเทียน มีสุขภาพกายแข็งแรง มีความสุขทั้งกายและใจให้ยิ่งๆขึ้นไปค่ะ

 

โดย: naragorn 24 พฤศจิกายน 2550 8:15:19 น.  

 

สวัสดีค่ะปู่ไปลอยกระทงหรือเปล่า
หนูขอให้ปู่กับปู่พนมเทียนแข็งแรงนะคะ
รักษาสถุขภาพด้วยนะคะ

 

โดย: อัศวินสองแคว 24 พฤศจิกายน 2550 20:25:30 น.  

 

สุขสันต์วันเกิดคุณพนมเทียนค่ะ..ขอให้มีสุขภาพพลานาลัยแข็งแรงนะคะ..

 

โดย: ฝน วนันฯ (fon_wanan ) 25 พฤศจิกายน 2550 4:26:39 น.  

 

สุขสันต์วันเกิดคุณพนมเทียนค่ะ..ขอให้มีสุขภาพพลานาลัยแข็งแรงนะคะ..

 

โดย: ฝน วนันฯ (fon_wanan ) 25 พฤศจิกายน 2550 4:26:39 น.  

 

สุขสันต์วันเกิดคุณลุงพนมเทียนครับ ขอคุณลุงอายุมั่นขวัญยืนนะครับ

 

โดย: บุรุษพเนจร 25 พฤศจิกายน 2550 13:43:19 น.  

 

มาร่วมกราบอวยพรวันเกิดคุณพนมเทียนด้วยอีกคนค่ะ

ขอให้ท่านมีสุขภาพพลามัยที่แข็งแรงตลอดไปนะคะ

 

โดย: Batgirl 2001 27 พฤศจิกายน 2550 11:08:14 น.  

 

มาหาข้อมูลก่อนไปแคมป์ปีหน้าจ้า

 

โดย: แม่มดจิ๋ว 12 ธันวาคม 2550 13:37:54 น.  

 

คาราวะอย่างเคารพ ที่ให้พวกเราได้อ่านเรื่องดีดี สนุก ๆ ตลอดมาครับ

 

โดย: Thanunchaisa 2 มีนาคม 2551 19:24:46 น.  

 

ผมชอบหนังสือของคุณปู่พนมเทียนมากเลยครับ
โดยเฉพาะเพชรพระอุมาที่ท่านแต่ง

ขอให้ท่านแข็งแรงอยู่กับเราไปนานๆ ครับ

 

โดย: คิมหันต์วิษุวัต 4 มิถุนายน 2553 12:58:53 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อุปนิกขิต
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




อุปนิกขิต น. คนสอดแนม, จารบุรุษ



Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
New Comments
Friends' blogs
[Add อุปนิกขิต's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.