โลกจะสวยงาม เพราะมีความรัก ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบไหน
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
8 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
วันสุดท้ายของการเรียน แต่ไม่สิ้นสุดความทรมาน การพัฒนาของภูฐานกับโลกาภิวัฒน์

ก่อนปิดเทอมเป็นเวลาที่ฉันเกลียดที่สุด ทั้งเขียนรายงาน ทั้งสอบ ทั้งรายงานหน้าชั้น วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเรียนเทอมนี้ เมื่อคืนอดนอนเพราะเตรียมรายงานหน้าชั้นของวันนี้ ช่วงเช้าง่วงจนปวดหัว ช่วงบ่ายสมองไม่ทำงาน แต่ไม่ง่วง เหมือนมันชาชินไปแล้ว ฉันมาถึงห้องเรียนช้าไปสิบห้านาที แต่โชคดีที่อาจารย์ยังไม่เริ่ม และเพื่อนบางคนก็ยังไม่มา เราจับสลากกันว่าใครจะได้รายงานก่อน ฉันได้ลำดับที่เจ็ดในจำนวนทั้งหมดสิบเจ็ดคน ไม่ช้าไม่เร็ว
ทุกคนมีเวลาพูดและฉายสไลด์คนละไม่เกินสิบห้านาที ที่จริงฉันยังไม่พร้อมนักเพราะยังลำดับความคิดไม่ค่อยดี มัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่กับรายงานเรื่องนี้อยู่หลายวันกว่าจะได้หัวข้อ ดีที่มีข้อมูลบางส่วนบ้างแล้วเพราะเคยเขียนรายงานใกล้เคียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเทอมก่อน ข้อมูลทุกอย่างที่เหลือ ฉันหาได้จากอินเตอร์เน็ต ขอบคุณโลกไซเบอร์อีกครั้ง

โจทย์ของการรายงานครั้งนี้คือให้อธิบายความเกี่ยวพันของโลกาภิวัฒน์กับการพัฒนา โดยยกตัวอย่างประเทศในเอเชียแปซิฟิก

ฉันจึงตั้งชื่อหัวข้อการายงานของฉันว่า "Globalization and Development in Bhutan"

เป้าหมายคือ หาข้อมูลมาอธิบายความพยายามของภูฐานในการพัฒนาประเทศที่เพิ่งเปิดประตูรับโลกท่ามกลาง กระแสเชี่ยวกรากของโลกาภิวัฒน์

ภูฐาน ประเทศเล็กๆที่มีประชากรประมาณเจ็ดแสนคน หรือเพียงหนึ่งในร้อยของประเทศไทย มีปรัชญาในการพัฒนาประเทศอิงอยู่กับหลักการที่เรียกว่า Gross National Happiness (GNH)หรือความสุขมวลรวมประชาชาติซึ่งเป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งภูฐาน King Jigme Singeye Wangchuck ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังสัมผัสได้ถึงผลกระทบด้านลบของการพัฒนากระแสหลัก หรือการพัฒนาที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ให้ตลาดเป็นศูนย์กลางการพัฒนา เป็นแนวทางที่ประเทศพัฒนาแล้วออกมาชี้นำในทศวรรษ 1950 ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายก็ก้าวเดินตามอย่างว่าง่าย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งหากกล่าวถึงการพัฒนากระแสหลัก GNP (Gross National Product) หรือผลผลิตมวลรวมประชาชาติ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการวัดความสำเร็จของประเทศต่างๆ

ขณะนั้น ประชาคมโลกพบว่า ยิ่งประเทศต่างๆพัฒนามากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ผลกระทบด้านลบของการพัฒนากระแสหลักดังกล่าวก็เริ่มปรากฏชัด การพัฒนาโดยใช้ตลาดเป็นตัวนำทำให้การบริโภคถูกกระตุ้นโดยการโฆษณา ผู้คนบริโภคสินค้าเกินความจำเป็น สิ่งปลูกสร้างและโรงงานผุดเป็นดอกเห็ดเพื่อผลิตสินค้ารองรับความต้องการของตลาด ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เงินตรามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าความสัมพันธ์ของคน ปากและท้องของคนไม่ได้อยู่ที่การบริหารทรัพยากรของตนอย่างพอมีพอกิน แต่อยู่ที่รายได้ของครอบครัว ทุกสิ่งที่เคยหาได้อย่างง่ายดายรอบตัว กลายเป็นสินค้าที่ต้องซื้อหามาด้วยเงินเท่านั้น อาชีพแต่ดั้งเดิมเริ่มไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงปากท้อง เกิดการไหลบ่าของแรงงานเข้าสู่ตัวเมือง ครอบครัวและชุมชนล่มสลาย ชุมชนที่เหลืออยู่พึ่งตนเองไม่ได้ ติดตามด้วยปัญหาสังคมมากมาย สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำออกมาใช้อย่างตะกรุมตะกราม เมื่อมีการใช้ทรัพยากร สิ่งที่ตามมาคือขยะ เริ่มมีคำถามจากหลายๆภาคส่วนว่า การพัฒนากระแสหลักเหมาะสมกับทุกประเทศจริงหรือ? อย่างไรก็ตามการพัฒนาในลักษณะดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปเหมือนกระแสน้ำเชี่ยวที่เมื่อเอาเรือลงไปแล้วก็ไม่อาจกลับเข้าฝั่งได้ง่ายๆ

ท่ามกลางคำถามที่มีต่อการพัฒนากระแสหลักในทศวรรษ 1970 นี้เองที่ภูฐานได้ทวนกระแสโลก โดยพระประมุขของประเทศกล่าวว่า "Gross National Happiness (GNH) is more important than Gross National Product (GNP)" ซึ่งเท่ากับการล้มล้างความเชื่อของคนทั้งโลก คือชี้ว่าความสุขของคนในประเทศต่างหากที่สำคัญกว่าผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตของประเทศ คำกล่าวนี้ ทำให้กษัตริย์ของประเทศเล็กๆซึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก กลายเป็นจุดสนใจของโลกเพียงชั่วคืน และตั้งแต่นั้นภูฐานก็ใช้หลัก GNH หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ ในการพัฒนาประเทศ โดยมีหลักการพัฒนาด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อม อาจพูดได้ว่า ภูฐานมีหลักการพัฒนาประเทศที่แตกต่าง ก็เนื่องมาจากการตีความความหมายของคำว่าพัฒนาแตกต่างไป "การพัฒนา" จากการตีความของภูฐานคือ "การอยู่ดีมีสุขทั้งร่างกาย และจิตใจ (มีความสุข)" ซึ่งภูฐานตระหนักว่าการที่คนเราจะอยู่ดีมีสุขได้จะต้องมีเศรษฐกิจที่ดีด้วย ดังนั้นหลักการ GNH จึงไม่ปฏิเสธการพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมๆกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นไม่ทำลายวัฒนธรรมซึ่งเป็นรากเหง้าและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศ เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

แล้วการพัฒนาในภูฐานเกี่ยวข้องอย่างไรกับโลกาภิวัฒน์?

"โลกาภิวัฒน์" เป็นคำที่ตามคำว่า "การพัฒนา" มาอย่างติดๆ เป็นคำที่ใช้อธิบายกระบวนการไหลของสิ่งต่างๆไปยังทั่วโลก มีนัยยะว่าโลกนี้เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีพรมแดนอีกต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นในซีกโลกหนึ่ง สามารถรับรู้ได้โดยคนอีกซีกโลกหนึ่งในชั่วเวลาไม่กี่นาที สิ่งที่อยู่ในซีกโลกนี้ก็สามารถไปอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้เช่น สินค้า ผู้คน เห็นชัดๆก็ร้านMcDonald's และ Starbucks หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้เช่น ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ แนวคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม ข้อถกเถียงของโลกาภิวัฒน์คือ ในขณะที่โลกาภิวัฒน์ทำให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ สิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆกระจายออกสู่สังคมวงกว้าง เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันมากมายในสังคมโลก สิ่งที่มาพร้อมกับโลกาภิวัฒน์คือความปะปนกันของข้อดีและข้อเสียของสิ่งต่างๆเหล่านั้น สิ่งที่เหมาะสมในสังคมหนึ่งในซีกโลกหนึ่ง อาจไม่เหมาะสมกับอีกสังคมหนึ่งก็ได้ อาจกล่าวได้ว่าโลกาภิวัฒน์มีทั้งผลดีและผลร้าย ถึงแม้ว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลร้ายอาจมีมากกว่าผลดี

ในความคิดของฉัน โลกาภิวัฒน์เกี่ยวพันกับการพัฒนาอย่างมาก เพราะการพัฒนากระแสหลักทำให้เกิดโลกาภิวัฒน์ทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันโลกาภิวัฒน์ก็มีบทบาททำให้การพัฒนาเข้าถึงทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้ การพัฒนากระแสหลักซึ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ประเทศต่างๆความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ โดยขยายการค้าขายให้กว้างขึ้นจนเกิดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งต้องการช่องทางการสื่อสารและส่งผ่านข้อมูล รวมทั้งตัวสินค้าที่รวดเร็ว เทคโนโลยีต่างๆจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว จนในที่สุดการสื่อสาร และการเดินทางไปมาหาสู่ก็พัฒนาถึงขีดสุดจนไม่มีพรมแดนอีกต่อไป นักวิชาการจึงอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า “โลกาภิวัฒน์” แต่โลกาภิวัฒน์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงการค้าเท่านั้น กลับมีผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่สิ้นสุด และโลกาภิวัฒน์นี้เองที่นำพาการพัฒนากระแสหลักไปสู่ที่ใดก็ตามในโลกอย่างได้ง่ายดายและรวดเร็ว ยังไม่นับผลพวงด้านลบของโลกาภิวัฒน์เองที่อาจนำไปสู่ที่แห่งนั้น

กลับมาที่ภูฐาน ฉันคิดว่า โลกาภิวัฒน์ช่วยเสริมให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคในภูฐานเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว มีเงินทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศมาสู่ภูฐาน รวมไปถึงมีการส่งผ่านความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้ภูฐานมีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว คือ มีจำนวนบุคลากรครู แพทย์ โรงเรียนและโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของที่เคยมีเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันอัตราของของผู้รู้หนังสือก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว และอัตราการตายของเด็กแรกเกิดต่ำลง พร้อมกับที่อายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น การคมนาคมก็สะดวกขึ้นเพราะมีถนนมากขึ้น ไม่นับตึกรามห้างร้านที่มากขึ้น

แต่…เหรียญย่อมมีสองด้าน เป็นไปได้หรือที่ภูฐานจะหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบของโลกาภิวัฒน์
และ...เป็นไปได้หรือที่จะพัฒนาวัตถุโดยไม่ต้องสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม?

ฉันคิดว่า ภูฐานถือว่าได้เปรียบประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เนื่องจากเปิดสู่การไปมาหาสู่กับโลกช้ากว่า จึงได้ทันเห็นผลกระทบของการพัฒนากระแสหลักและโลกาภิวัฒน์ ที่มีต่อประเทศที่เริ่มพัฒนาก่อนหน้าตน ทำให้มีนโยบายการพัฒนาที่คำนึงถึงผลเสียเหล่านั้น และพยายามป้องกัน โดยนับตั้งแต่ภูฐานประกาศแนวทางการพัฒนาโดยใช้หลักการ GNH จนถึงวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าภูฐานได้ยึดถือแนวทางดังกล่าวในการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลายอย่างที่มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของตนอย่างเข้มงวดเช่น การห้ามใช้ถุงพลาสติก การกันพื้นที่ป่าไว้อย่างน้อยร้อยละ 60 อย่างถาวรห้ามนำมาใช้งาน กำหนดให้ประชาชนสวมชุดประจำชาติเมื่อมาติดต่อราชการ เจ้าหน้าที่ราชการสวมชุดประจำชาติเมื่อไปทำงาน และเยาวชนก็ต้องสวมชุดประจำชาติเมื่อไปโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม ยิ่งภูฐานพัฒนาด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัฒน์มากขึ้น จะเห็นได้ว่าภูฐานได้ร่วมลงนามในข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ และได้สมัครเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก (WTO) แล้ว อีกทั้งนโยบายที่เคยเข้มงวดก็เริ่มผ่อนปรนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น อินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นสัญลักษณ์ของโลกาภิวัฒน์ เพราะเป็นช่องทางในการไหลและส่งผ่านของข้อมูลต่างๆ เคยถูกห้ามใช้ในภูฐานเด็ดขาด ก็มีการอนุญาตให้ใช้แล้วเมื่อเร็วๆนี้ ถึงแม้ว่ารายการโทรทัศน์ของภูฐานจะดำเนินการโดยรัฐบาลเท่านั้น ก็มีรายงานว่าประชาชนนิยมติดจานดาวเทียมเพื่อดูรายการโทรทัศน์ของต่างชาติมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อเอื้อให้แก่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของภูฐานเห็นได้ชัดเจนมากจาก นโยบายการท่องเที่ยว

เมื่อเริ่มแรกที่ภูฐานเปิดประเทศในทศวรรษ 1970 นั้น แทบไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศเลย นอกจากเป็นแขกของราชการเท่านั้น และกิจการการท่องเที่ยวมีรัฐเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาในทศวรรษ 1980 เมื่อภูฐานมีสนามบินแห่งแรก จึงผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงปีละ 200 คน และกำหนดให้มีการเก็บภาษีท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวในอัตรา 134 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน รวมค่าที่พัก ไกด์และอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมากในขณะนั้น เพื่อควบคุมจำนวนและคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางโดยไม่มีผู้นำทางชาวภูฐานเด็ดขาด ห้ามเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ และต้องท่องเที่ยวเป็นกลุ่มไม่ต่ำกว่า 6 คน แต่แล้ว ต่อมาในปี 1991 ก็ยกเลิกการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว และในปีเดียวกันนั้นเองที่ภูฐานปล่อยกิจการด้านท่องเที่ยวให้เอกชนเป็นผู้จัดการภายใต้การควบคุมของรัฐ โดยยังคงกฎระเบียบอื่นไว้ แต่ขึ้นราคาภาษีท่องเที่ยวเป็นวันละ 200 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน โดยหักให้ราชการ 65 เหรียญ

มีรายงานว่ารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีอัตราที่สูงกว่าร้อย 10 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศภูฐาน นับว่าเป็นตัวเลขที่น่ายั่วยวนไม่น้อย ในปี 2006 นาย Lyonpo Jigme Thinley นายกรัฐมนตรีของภูฐานกล่าวว่า เขาหวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูฐานในปี 2008 จะมากกว่าปี 2006 ถึงเท่าตัว ทั้งยังยอมรับว่าต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน “เพราะประเทศกำลังเข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัฒน์ จำเป็นต้องมองข้ามรั้วแล้วเดินออกไป ไม่มีหนทางย้อนกลับ” การเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเสรี เท่ากับภูฐานยอมรับความเสี่ยงจากโลกาภิวัฒน์ ซึ่งหมายถึงการไหลเข้ามาของ “สิ่งใดก็ตาม” ที่มาพร้อมกับนักท่องเที่ยวซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ความรู้ ข้อมูล ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม และอื่นๆอีกมากมาย ทั้งดีและเลวอย่างไม่อาจประมาณได้ ยังไม่นับการที่ต้องยอมรับว่าทรัพยากรของประเทศไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งต้องถูกใช้ออกเพื่อรองรับการบริโภคของนักท่องเที่ยว

ในวันที่ภูฐานประกาศว่าจะใช้หลัก GNH ในการพัฒนาประเทศโดยมีความเชื่อว่าจะสามารถหยุดผลกระทบด้านลบของการพัฒนากระแสหลักได้นั้น แม้ไม่มีใครรู้และแน่ใจว่าภูฐานจะทำได้หรือไม่ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่เริ่มมีความหวังว่า GNH อาจจะเป็นทางออกของการพัฒนา แต่ในวันนี้ ดูเหมือนว่าภูฐานกำลังเผชิญกับความท้าทายในการที่จะยืนหยัดหลักการเดิม มิหนำซ้ำ ผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้น มีการอพยพของแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ ผู้คนเริ่มบริโภคสินค้าเกินความจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ วันนี้ ภูฐานได้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศล่าสุดของโลกโดยได้มีการเลือกตั้งผู้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประวัติศาสตร์ภูฐานเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2008 ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ภูฐานอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์มากว่า 100 ปี การเปลี่ยนการปกครองครั้งนี้หมายถึงการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย คำถามที่ประเทศภูฐานต้องหาคำตอบคือ ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ และท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์เช่นนี้ ภูฐานจะมีนโยบายอย่างไรที่จะคงความสมดุลในการพัฒนาประเทศโดยการปกป้องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของประเทศจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป

จบแล้ว...

เฮ้อ...เหนื่อยจังเลย แต่ก็รู้สึกดีที่ได้เค้าโครงเรียงความแล้ว การรายงานหน้าชั้นของฉันไม่ละเอียดขนาดนี้เพราะมีเวลาพูดน้อย ก่อนหน้านี้ ความคิดของฉันมันฟุ้งๆ ข้อมูลมากมายที่อ่านมา กระจายเต็มสมอง บางครั้งเหมือนจะเชื่อมโยงได้...แต่ก็ไม่ได้... ขณะที่เตรียมสไลด์เพื่อรายงานหน้าชั้น ก็สามารถเชื่อมได้ระดับหนึ่งแต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ชัดเจนมากพอ

งานเขียนชิ้นนี้ไม่สมบูรณ์ เป็นร่างความคิดที่จะนำไปพัฒนาให้เป็นเรียงความภาษาอังกฤษขนาดประมาณ 15 – 20 หน้า ซึ่งจะเป็นเสมือนการสอบปลายภาคในวิชา Globalization and Development in the Asia Pacific ข้อมูลตัวเลขที่มีอยู่ยังนำไปอ้างอิงไม่ได้ (จะเห็นได้ว่าฉันยังไม่มีจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนของข้อมูลต่างๆ บางแห่งก็เป็นแค่ตัวเลขที่จำได้คลับคล้ายคลับคลา อาจคลาดเคลื่อนบ้าง เพราะเอามาจากสมองส่วนความจำล้วนๆ เพราะฉันไม่อยากเปิดหนังสือเช็คตัวเลขให้แน่นอน เพราะเวลานั้นกำลังเขียนอยู่แล้วสมองกำลังแล่น) สิ่งที่ฉันต้องทำหลังจากนี้คือเช็คตัวเลข และหาข้อมูลสถิติมาประกอบส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ฉันยังต้อง เพิ่มเติมตัวอย่างและสถานการณ์จริง พร้อมทั้ง อ้างถึงงานเขียนของนักวิชาการต่างๆเพื่อสนับสนุนความคิดของฉันอีกด้วย

เรียงความฉบับนี้เป็นหนึ่งในสองฉบับที่ฉันต้องเขียนให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ อีกฉบับหนึ่งฉันยังไม่ได้เริ่มเขียนเลยทั้งๆที่จะส่งอีกไม่กี่วันนี้ เหตุผลก็เพราะ รายงานฉบับนี้ง่ายกว่า
คนเราก็อย่างนี้...ทำสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่ยอมทำสิ่งที่ควรทำ

ดึกมากแล้ว ฉันควรจะไปนอนเสียที

เริ่มเขียนวันที่ 8 พฤษภาคม 2551
เขียนเสร็จเวลา 03:48 วันที่ 11 พฤษภาคม 2551


Create Date : 08 พฤษภาคม 2551
Last Update : 11 พฤษภาคม 2551 4:05:47 น. 17 comments
Counter : 639 Pageviews.

 


ขอบคุณที่ไปเยี่ยมกันนะครับ

เอาใจช่วยให้เขียนอีกอันเสร็จเร็วๆนะครับ อิอิ

ย๊าวยาว



ทำสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่ยอมทำสิ่งที่ควรทำ //อันนี้เจ๋งเป็นบ้าเลยครับ


โดย: jone500 (max_pressure ) วันที่: 12 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:52:01 น.  

 
อู้หู เขียนเองเหรอเนี่ย ทำไมเก่งอย่างนี้ ขอให้สำเร็จเร็วๆดังตั้งใจนะน้อง อ้อ สู้สู้ ทำสิ่งที่ต้องทำสิแล้วจะได้สิ่งที่อยากทำตามมา


โดย: รวีดา IP: 58.8.46.199 วันที่: 12 พฤษภาคม 2551 เวลา:23:49:50 น.  

 


โดย: เพราะฉันห่างไกล วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:12:46:17 น.  

 
หัวบล็อกสวยดีจัง
ยังไม่ได้อ่านนะคะ
แวะมาเยี่ยมชมไว้ก่อน
^^


โดย: I am just fine^^ วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:13:00:43 น.  

 
ขอบคุณที่อวยพรวันเกิดให้นะก้าบ


โดย: กิฟท์ (kitten kaori ) วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:08:36 น.  

 
เป็นประเทศหนึ่งที่อยากไปมาก แต่ไม่รู้ว่าจะได้ไปเมื่อไหร่ค่ะ เฮ้อ


เห็นด้วยค่ะว่าลาวมีเสน่ห์ที่คนกับธรรมชาติค่ะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:26:09 น.  

 
และเเล้วก็ผ่านไปด้วยดีใช่ไหมค่ะ...
ขอบคุณที่เเวะไปเยี่ยมกันค่ะ...


โดย: กาแฟดำไม่เผ็ด วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:18:36:04 น.  

 
น้องอ้อเขียนได้เก่งมากๆเลยค่ะ เหมือนมืออาชีพเลยเชียว


โดย: Cable InLove วันที่: 13 พฤษภาคม 2551 เวลา:21:14:57 น.  

 
สวัสดีเจ้า แวะมาแอ่วหา
เมินละม่ได้แว่มาหา สบายดีน่อเจ้า

ยังบ่อได้อ่านเตื่อ ต๋าเริ่มม่อยลงๆ
ขอติดไว้ก่อนเน่อเจ้า

นอนหลับฝันดีราตรีสวัสดิ์เน่อเจ้า


โดย: แม่เฮือน วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:1:06:59 น.  

 
ประเทศภูฐาน เพื่อนเราชอบมากๆๆๆ เลย
สาเหตุ มาจากเจ้าชายจิ๊กมี เลยยย


สวัสดีตอนเย็นๆ นะคะ


โดย: คิตตี้..เหมียว วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:17:04:40 น.  

 


โดย: เพราะฉันห่างไกล วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:35:52 น.  

 
ขอให้เขียนสำเร็จอย่างที่ตั้งใจนะคะ

^ ^


โดย: หมูปิ้งไม้ละ 5 บาท วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:21:01:10 น.  

 
โห เก่งจังเลยสาวอ้อ เขียนได้ขนาดนี้แจ๋วมากๆ แบบนี้อีกไม่นานก็เรียนจบสำเร็จแน่ๆ พี่เขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ไม่เป็นหรอก แต่เรื่องไร้สาระอ่ะถนัด อิอิ

ปล.. ตอนนี้หลุดออกมาจากโหมด private แล้วจ้า อิอิ


โดย: มาเรีย ณ ไกลบ้าน วันที่: 15 พฤษภาคม 2551 เวลา:13:34:43 น.  

 
อ่านแล้วทึ่งมากค่ะ เขียนได้ดีมากเลย
เป็นหัวข้อที่น่าสนใจด้วย ขอบคุณมากค่ะ
ที่นอกจากจะทำเพื่อการศึกษาแล้ว ยังเอามาเผยแพร่ในบล็อก
ให้คนอื่นได้อ่านประดับความรู้และวิเคราะห์ตามไปด้วย

ปรบมือให้ดัง ๆเลยค่ะ


โดย: เราสองคน (ฝากเธอ ) วันที่: 15 พฤษภาคม 2551 เวลา:15:43:37 น.  

 

เลือกหัวข้อได้น่าสนใจ และเขียนได้ดีมากค่ะ
เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และทั่วโลกก็กำลังจับตา
ดูเรื่องนี้อยู่ ว่าภูฐานจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่จะ
คงความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
และการปกป้องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของตนเอง
ให้พ้นจากการรุกคืบของกระแสโลกาภิวัฒน์ได้สำเร็จ
หรือไม่ .. เพียงใด

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้หนูอ้อประสบผลสำเร็จ
ในการศึกษาด้วยคะแนนดีเยี่ยมนะคะ


โดย: ป้าติ๋ว (nature-delight ) วันที่: 25 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:21:16 น.  

 

เลือกหัวข้อได้น่าสนใจ และเขียนได้ดีมากค่ะ
เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และทั่วโลกก็กำลังจับตา
ดูเรื่องนี้อยู่ ว่าภูฐานจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่จะ
คงความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
และการปกป้องวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของตนเอง
ให้พ้นจากการรุกคืบของกระแสโลกาภิวัฒน์ได้สำเร็จ
หรือไม่ .. เพียงใด

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้หนูอ้อประสบผลสำเร็จ
ในการศึกษาด้วยคะแนนดีเยี่ยมนะคะ


โดย: ป้าติ๋ว (nature-delight ) วันที่: 25 พฤษภาคม 2551 เวลา:11:21:16 น.  

 
แวะมาให้กำลังใจค่า อดทนเอาไว้
ความสำเร็จอยู่อีกไม่ไกลแล้วนะ สู้สู้


โดย: บัวริมบึง วันที่: 29 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:10:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sandseasun
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add sandseasun's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.