โกโก้ไข่มุกใส่นมข้น คุ้ยค้นเรื่องจีน
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2551
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
30 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

คำว่า อวโลกิเตศวร ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายนัยด้วยกัน แต่โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่าอวโลกิเตศวรมาจากคำสันสกฤตสองคำคือ อวโลกิต กับ อิศวร แปลได้ว่าผู้เป็นใหญ่ที่เฝ้ามองจากเบื้องบน หรือพระผู้ทัศนาดูโลก ซึ่งหมายถึงเฝ้าดูแลสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์นั่นเอง

ซิมเมอร์ นักวิชาการชาวเยอรมันอธิบายว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ทรงเป็นสมันตมุข คือ ปรากฏพระพักตร์อยู่ทุกทิศอาจแลเห็นทั้งหมด ทรงเป็นผู้ที่สามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ คืออาจจะเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อใดก็ได้ แต่ทรงยับยั้งไว้เนื่องจากความกรุณาสงสารต่อสรรพสัตว์

นอกจากนี้นักปราชญ์พุทธศาสนาบางท่านยังได้เสนอความเห็นว่า คำว่า อิศวร นั้น เป็นเสมือนตำแหน่งที่ติดมากับพระนามอวโลกิตะ จึงถือได้ว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์เดียวที่มีตำแหน่งระบุไว้ท้ายพระนาม ในขณะที่พระโพธิสัตว์พระองค์อื่นหามีไม่ อันแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญยิ่งของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้

พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง

ภาพเขียนหรือรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรเริ่มแรกนิยมสร้างเป็นรูปบุรุษหนุ่ม ทรงเครื่องอลังการวิภูษิตาภรณ์อย่างเจ้าชายอินเดียโบราณ และมีอยู่หลายปางด้วยกัน แต่สิ่งสำคัญคือศิราภรณ์บนพระเศียรพระอวโลกิเตศวรจะต้องมีรูปของพระอมิตาภะในปางสมาธิ หากเป็นปางที่มีหลายเศียร เศียรบนสุดจะเป็นเศียรพระอมิตาภะ นับเป็นข้อสังเกตในด้านปฏิมากรรมของพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ ส่วนดอกบัวอันเป็นสัญญลักษณ์ของพระอวโลกิเตศวร คือ บัวสีชมพู ขณะที่สีขาวคือบัวของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เท่านั้น และด้วยดอกบัวสีชมพูในตระกูลปัทมะนี้เอง ทำให้พระองค์ได้รับการขนานพระนามว่าปัทมปาณีโพธิสัตว์

เมื่อพระพุทธศาสนามหายานได้เข้าสู่ประเทศจีนในช่วงแรกคือสมัยก่อนราชวงศ์ถัง ในยุคนั้นรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรยังสร้างเป็นรูปบุรุษตามแบบพุทธศิลป์ของอินเดีย

หากในกาลต่อมาช่างชาวจีนได้คิดสร้างเป็นรูปสตรีเพื่อแสดงออกถึงความอ่อนโยน และแสดงถึงความเมตตากรุณาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ดังเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร สะท้อนถึงความรู้สึกและความเชื่อของประชาชนพื้นถิ่นที่ห่างไกลแม่แบบซึ่งมาจากอินเดีย จนอาจจะเรียกได้ว่ากวนอิมในรูปลักษณ์ของสตรีเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในจีน และแพร่หลายมากกว่าปางอื่น ๆ กระทั่งแผ่ขยายเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย ทั้งนี้เพราะรูปลักษณ์ของฝ่ายหญิงแทนค่าในเรื่องความเมตตากรุณาได้ดี ในขณะที่รูปลักษณ์อย่างบุรุษเพศจะสะท้อนเรื่องคุณธรรมมากกว่าความเมตตา เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าไปยังเกาหลี ญี่ปุ่นและเวียดนาม พุทธศาสนิกชนในประเทศนั้นก็พลอยสร้างรูปพระอวโลกิเตศวรเป็นสตรีตามแบบอย่างประเทศจีนไปด้วย


..........................................................................



Create Date : 30 มิถุนายน 2551
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 15:52:43 น. 0 comments
Counter : 358 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อุดอิด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุดอิด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.