เรื่องเล่าจากดาวโลก
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
นศ.ป.เอกไทยเจ๋งพัฒนา "ซิมส์โรงงาน" IBM ทุ่ม350ล้าน

ข่าวผมเอง จาก นสพ. ผู้จัดการ

//www.manager.co.th/Game/ViewNews.aspx?NewsID=9500000116649




“นาย ธันยวัต สมใจทวีพร” หนึ่งในผู้หลงใหลชื่นชอบ “เกม” เป็นความบันเทิงเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน แต่อีกส่วนหนึ่งเขาได้นำเกมมาใช้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่อังกฤษ ก่อนสำเร็จเป็นด็อกเตอร์หนุ่มวัย 28 ปีในอีก 3 เดือนข้างหน้าด้วยเกมแนว “เดอะ ซิมส์ เวอร์ชันโรงงาน” ที่มี “ไอบีเอ็ม” ให้ทุนทำวิจัยถึง 350 ล้านบาทเลยทีเดียว พร้อมกลับมาสานต่อเกมในเมืองไทย

ธันยวัตเล่าความเป็นมาเป็นไปของตัวเกมให้ฟังว่า จากการที่เขาเรียนปริญญาโททางด้านวิศวกรรมอินเทอร์เน็ตมา เลยคิดสร้างระบบตัวหนึ่งที่ชื่อว่า “เวอร์ชัวล์ เวิลด์” ไว้ ซึ่งปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นได้จากพวกเกมออนไลน์ต่างๆ แต่ก็ออกตัวไว้ด้วย ว่าเขาไม่ได้คิดค้นขึ้น เพียงแต่บังเอิญสร้างก่อนที่มันจะบูมขึ้นมาเท่านั้น ปัจจุบันเกมนี้สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังเป็นเวอร์ชันทดลองใช้

“ว่าที่ ดร.ธันยวัต” ชี้ให้เห็นข้อดีของเกมว่า นอกจากเกมจะสามารถใช้เพื่อความบันเทิงแล้ว ยังถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือในการเรียนการสอนวิชาวิศวกรรมโรงงานใน มหาวิทยาลัย “แอสตัน ยูนิเวอร์ซิตี้” ด้วย ตัวเกมเอื้อให้ผู้เล่นสามารถทดลองตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการตลาด ,บุคคลากร ,การเงิน และการดำเนินการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือช่วยให้ผู้เล่นสามารถเข้าใจในหลักวิชาได้ลึกซึ้ง และสามารถมองเห็นภาพรวมของระบบโรงงานได้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อไปทำงานในชีวิตจริงจะสามารถที่จะนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้โดยง่าย



เกมมีประโยชน์กว่าที่คิด

เกมดังกล่าวได้จำลองสภาวะแวดล้อมของโรงงาน “สว่านไฟฟ้า” แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ โรงงานแห่งนี้จะมีการดำเนินงานโดยใช้เครื่องจักรหลายๆ แบบ อาทิ เครื่องเจาะ ,เครื่องตัด เครื่องกลึง และเครื่องเจียร์ จุดประสงค์หลักของเกมก็คือให้ทีมของผู้เล่นนั้นบริหารการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารพนักงานและเครื่องจักรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลิตผลอย่างสูงสุด ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบริหารโรงงานเท่านั้น แต่เป็นการบริหารโรงงานในลักษณะข้ามประเทศและทวีป ซึ่งตัวเกมเอื้อให้ผู้เล่นได้ซึมซับความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม,แบบแผน แนวคิด และความแตกต่างของผู้บริหารโรงงานในประเทศต่างๆ อันเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถ ถ่ายทอดผ่านทางหนังสือหรือสื่อการเรียนการสอนแบบเก่าได้

ธันยวัตอธิบายถึงผลงานเกมของเขาว่า หากมองจากมุมมองของนักเล่นเกมแล้ว เกมนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็น “เดอะ ซิมส์ เวอร์ชันโรงงาน” โดยที่ผู้เล่นจะจำลองตัวเองเป็นผู้จัดการในโรงงานนั้นๆ ความแตกต่างระหว่างเกมนี้กับซิมส์ อยู่ตรงที่ซิมส์จะไม่มีตัวควบคุมพวกสิ่งแวดล้อมหรือมีก็มีหยาบๆ

ผู้เล่นสามารถสั่งฝึกหัดพนักงานได้ โดยพิมพ์เข้าไปสั่งตัวผู้จัดการให้ฝึกพนักงาน เมื่อฝึกพนักงานแล้ว ค่าต่างๆ ในระบบที่เกี่ยวกับตัวพนักงานจะเปลี่ยนไป คือจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การฝึกนั้นก็จะต้องสูญเสียบางอย่าง หลักๆ ก็คือ “เงินกับเวลา” ซึ่งส่งผลต่อสินค้าด้วย จุดเด่นของเกมนี้อยู่ที่เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ระบบซิมูเลชัน,ระบบเวอร์ชัวล์ รีอัลลิตี้,ระบบเน็ตเวิร์ก และระบบ IA



ธันยวัตบอกว่าหากพัฒนาจริงกราฟิกจะดูดีกว่านี้แน่ เพราะตัวเอนจินนี้มีข้อจำกัด

4 หัวใจหลักของเกม

“ระบบซิมูเลชัน” จะทำหน้าที่ควบคุมสภาวะของโรงงาน ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยระบบซิมูเลชันที่ใช้เป็นระบบที่มีความละเอียดสูง ตัวระบบจะควบคุมตั้งแต่ประสิทธิภาพของเครื่องจักร พวกประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน อย่างเช่น ความพอใจ ,ความซื่อสัตย์ ,อัตราส่วนการขาดงาน ไปจนถึงผลผลิตและผลสืบเนื่องของแผนทางด้านการตลาด ,การเงิน ,บุคลากรและ เทคโนโลยี

ส่วน “ระบบเวอร์ชัวล์ รีอัลลิตี้” นั้นจะทำการแสดงผลของซิมูเลชันออกมาในรูปแบบ 3 มิติ ที่มีความใกล้เคียงกับโรงงานของจริง ผู้เล่นสามารถปรับโหมดเพื่อเข้าไปอยู่ในโรงงานนั้นได้ ผ่านอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า “แว่น สเตอริโอสกอปิก” (stereoscopic)

ขณะที่ “ระบบเน็ตเวิร์ก” จะถูกนำไปใช้สร้างสภาวะสังคมเสมือน โดยอนุญาตให้ผู้เล่นจากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เข้ามาอยู่และเยี่ยมชมการทำงานของโรงงานได้ พร้อมทั้งอนุญาตให้ผู้เล่นสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ และ “ระบบ IA” (Intelligent Agent) จะเปรียบเหมือนผู้ช่วยเหลือในตัวเกมที่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์และตอบสนองได้ เหมือนเป็นมนุษย์ โดยระบบ IA นี้พัฒนาจากดาต้าเบสที่รวบรวมคำถามต่างๆ ของนักเรียนเกี่ยวกับระบบโรงงานแห่งนี้ ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา

ด้านการทำงานของโรงงานนั้นจะถูกควบคุมโดยระบบระบบซิมูเลชันเป็นหลัก โดยที่ผู้เล่นสามารถกำหนดปรับค่าต่างๆ ได้ โดยการเสนอแผนแม่บท (policy) เข้าไปยัง IA ซึ่งการติดต่อกับ IA นั้นสามารถทำได้เหมือนกับการแชตกับมนุษย์ และเมื่อติดต่อแล้วตัว IA ก็จะทำการปรับค่า ระบบซิมูเลชันให้ตรงตามแผนแม่บทนั้น โดยที่โรงงานในแต่ล่ะแห่งจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป อย่างที่จีนนั้นเครื่องจักรจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าทางแถบยุโรป แต่ค่าแรงจะถูกกว่า โดยที่กลุ่มผู้เล่นสามารถที่จะซักถามข้อสงสัยต่างๆ หรือขอดูข้อมูลจาก IA ได้ตลอดเวลา

“ส่วนใหญ่แล้ว ผู้เล่นต้องเล่นเป็นทีม การขยายโรงงานนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันในทีม ไม่ว่าจะนำเครื่องจักรมาเพิ่ม หรือไม่ว่าจะเป็นเพิ่มส่วนต่างๆ ของโรงงาน ในกรณีที่คำถามของนักเรียนบางครั้งส่งไปไม่เคลียร์ ตัว AI จะพบคำตอบที่ใกล้เคียงหลายอัน จึงถามย้ำกลับมาที่นักเรียนว่าจะเอาอะไรกันแน่”ธันยวัตตอบข้อสงสัย



IBM- Dunlop มอบทุนวิจัยระบบเกมก้อนโต

สำหรับผลที่ตามมาหลังจากเผยแนวคิดของเกมนี้ไปนั้น ธันยวัตบอกว่า ขณะนี้กลายเป็นที่สนใจของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ อย่าง “ไอบีเอ็ม” (IBM) หรือ “ดันล็อป” (Dunlop) โดยที่ทางมหาวิทยาลัยแอสตันมีการตกลงกับบริษัท “ไอบีเอ็ม” เพื่อทำงานวิจัยร่วมโดยมีทุนการทำวิจัยอยู่ที่ 5 ล้านปอนด์ ประมาณ 350 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งตัวเกมจะถูกนำไปใช้เพื่อให้ลูกค้าที่มารับบริการทางด้านการรับคำปรึกษา เพื่อให้ลูกค้านั้นได้เห็น แผนการทำงานทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่ลูกค้านั้นจะนำเอาแผนธุรกิจที่ไอบีเอ็มออกแบบให้ไปใช้จริง ส่วนทาง “ดันล็อป” นั้น ตัวเกมถูกนำไปใช้เพื่อประมวลและแสดงประสิทธิภาพของโรงงานในการผลิตเพื่อ เป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนและตัดสินใจ

เมื่อถามว่าเกมนี้ช่วยกันพัฒนากันมากน้อยขนาดไหน ธันยวัตบอกว่า เขาพัฒนาตัวต้นแบบนี้เพียงคนเดียวทั้งระบบ ภายใต้การควบคุมและดูแลของ “ดร.ดัก เลิฟ” (Doug Love) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องซิมูเลชันของประเทศอังกฤษ ตัวเอนจินที่เลือกใช้ในเวลานั้นปัจจุบันนี้ค่อนข้างที่จะล้าสมัย ทำให้ภาพออกมาไม่สวยงามเหมือนที่ปรากฏอยู่ในเกมทั่วไป ตัวเกมนี้จะตกเป็นของมหาวิทยาลัย แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีแผนที่จะพัฒนาเกมนี้ต่อโดยจะหาทีมมาพัฒนาในทุกๆ ส่วนให้ดูดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะความเสมือนจริงทั้งในเรื่องของภาพ และกระบวนการทำงานต่างๆ ซึ่งตัวที่พัฒนาจากตัวนี้เอาไปขายจริงๆ



อนาคตระบบภาษาไทย-เศรษฐกิจพอเพียง

“แน่นอนว่าจะมีการพัฒนาระบบสนทนาภาษาไทยด้วย สำหรับนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยในภาควิชาที่เกี่ยวข้อง เพิ่มเติมจากการเรียนการสอนในแบบเดิมๆที่ให้โจทย์นักเรียนมานั่งคำนวณ หรือเรียนแบบท่องจำและฟังบรรยาย เพื่อนำไปตอบโจทย์ในห้องสอบ รวมทั้งผมยังจะมีโครงการเล็กๆ เพื่อการสร้างเกมบนแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้ผู้เล่นได้ลองนำเอาแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจจำลอง เพื่อที่จะได้เข้าใจสาระสำคัญต่างๆ ของทฤษฎีใหม่นี้ในโอกาสต่อไป” ธันยวัตกล่าวถึงโครงการในอนาคต

ธันยวัตกล่าวว่า โปรเจกต์นี้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเกมนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเพื่อการสร้างความบันเทิงอย่างที่หลายๆ คนคิดเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ในวงการอื่นๆ ทั้งทางด้านการศึกษา และธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ในอนาคตนั้นเกมจะมีบทบาทมากขึ้นในวงการดังกล่าวและอาจจะขยายตัวไปยัง วงการอื่นๆ อย่างทางด้านการแพทย์ที่ใช้เกมเพื่อบำบัดผู้ป่วย, ทางปรัชญาและศาสนาอาจใช้เกมเพื่อถ่ายทอดแนวคิด, ทางการกีฬาใช้เกมในการฝึกฝนทักษะทางร่างกาย ,ทางการทหารที่ใช้เกมเพื่อฝึกฝนทักษะทางด้านการวางแผนหรือการรบ และอื่นๆอีกสารพัด

“จริงๆ แล้วเกมไทยมีปัญหามากๆก็คือไม่มีแนวคิด เกมเลยเล่นไม่สนุก แต่กราฟิกอยู่ในระดับดี สิ่งที่ขาดคือแนวคิดที่สร้างความแตกต่างและจุดเด่นที่ทำให้เกมนั้นบรรลุ เป้าหมายของมัน ส่วนที่ผมอยากถ่ายทอดที่สุดก็คือ เกมไม่จำเป็นต้องเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว เกมตัวที่สร้างนี้ทำให้คนใช้เวลากับการเรียนมากขึ้น เนื่องจากพวกนักเรียนคิดว่ามันน่าสนใจ เลิกเรียนแล้วหรือเวลาว่างพวกเค้าก็มาเล่นกันเอง ตอนสอบก็ตอบคำถามได้ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา ขณะที่การเรียนการสอนที่ไทยยังเป็นแบบเก่าอยู่ ส่วนใหญ่แล้วอย่างดีนักเรียนก็จำเอาไปตอบ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความเข้าใจ การวัดผลนั้นนักเรียนที่เรียนดีบางคนก็เป็นแค่คนทีอ่านหนังสือเยอะกว่า” อนาคต ดร.ธันยวัตเผยความคิดก่อนจบบทสนทนาข้ามโลกกับทีมผู้จัดการเกม



นายธันยวัต สมใจทวีพร
อายุ 28 ปี
ประวัติการศึกษา
๏ปริญญาตรี: มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) - บริหารธุรกิจ สาขา คอมพิวเตอร์ธุรกิจ - (พร้อมกับ rector's certificate of honor - ใบประกาศเกียรติคุณจากท่านอธิการบดี)
๏ปริญญาโท: London Southbank University ประเทศอังกฤษ - วิศวกรรมไฟฟ้า สาขา วิศวกรรมอินเทอร์เน็ตและมัลติมีเดีย - (พร้อมกับ Distinction - เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนสูงสุดของคณะ)
๏ปริญญาเอก: Aston University ประเทศอังกฤษ - บริหารธุรกิจ สาขา การบริหารเทคโนโลยีและการจัดการดำเนินงาน (อีก 3 เดือนข้างหน้า)


Create Date : 26 ตุลาคม 2550
Last Update : 25 มกราคม 2552 1:28:19 น. 2 comments
Counter : 987 Pageviews.

 
โอ้ สุดยอดแต้ ๆ ก้า


โดย: Solid IP: 222.123.231.12 วันที่: 18 ธันวาคม 2551 เวลา:17:03:02 น.  

 
ขั้นเทพ
นับถือ นับถือ


โดย: denstudio IP: 10.0.2.215, 124.120.176.253 วันที่: 5 ธันวาคม 2552 เวลา:19:12:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

=Por=
Location :
London United Kingdom

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add =Por='s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.