ใครชอบใครชังช่างเถิด 
ใครเชิดใครแช่งช่างเขา 
ใครเบื่อใครบ่นทนเอา ...
 
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
29 มิถุนายน 2552

พรหมวิหาร ๔ และ อัปปมัญญา ๔

อัปมัญญา หมายความว่า ธรรมที่เป็นไปในสัตว์ทั้งหลาย
หาประมาณมิได้ ไม่มีจำกัด … ผู้เจริญอัปมัญญา ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง
อยู่นั้น จะต้องมีการแผ่ตลอดทั่วไปในสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีจำกัด
จึงจะเรียกว่าเป็นการแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เป็นอัปมัญญา …
สำหรับการแผ่เมตตา ฯลฯ โดยจำกัดบุคคลและจำกัดสถานที่
ไม่จัดว่าเป็นการเจริญอัปปมัญญากรรมฐาน … เป็นแต่เพียงการแผ่
อย่างธรรมดา อย่างไรก็ตาม การแผ่ที่มีการจำกัดบุคคลและสถานที่นี้
ก็ยังได้รับอานิสงส์อย่างไพศาล คือ ในภพนี้ก็จะช่วยให้พ้นจากภัยต่างๆ
ในภพหน้าก็ช่วยให้เกิดเป็นมนุษย์และเทวดา

อัปมัญญา ๔ ที่ได้ชื่อว่า พรหมวิหาร นั้น เพราะว่า
บุคคลใดกำลังดำเนินการปฏิบัติในอัปมัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
บุคคลนั้นย่อมมีจิตใจเสมือนพรหม …

หรืออีกนัยหนึ่ง คำว่า 'พรหม' แปลว่า ผู้ประเสริฐ 'วิหาร' แปลว่า
ความเป็นอยู่ที่เข้าถึงอย่างประเสริฐด้วยอัปมัญญา ๔
เมื่อรวมแล้ว ความเป็นอยู่ที่เข้าถึงอย่างประเสริฐของบุคคลผู้ประเสริฐ
ชื่อว่า พรหมวิหาร …

+ + + + +

เมตตา

เมตตา หมายความว่า การปรารถนาดีรักใคร่ต่อสัตว์ทั้งหลาย
เมตตาคือความไม่โกรธ (อโทสะ) …

การนึกถึงและมองดูคนอื่นด้วยโทสะ ในขณะนั้นย่อมมีแต่ความเกลียดชัง
จิตใจไม่ชื่นบาน ส่วนการนึกถึงและมองดูบุคคลอื่นด้วยเมตตานั้น จิตใจก็จะ
มีแต่ความรักใคร่เบิกบาน …

ความรักใคร่ชื่นชมนี้ มี ๒ อย่าง คือ (๑) เมตตาอโทสะ
(๒) ตัณหาเปมะ ใน ๒ อย่างนี้ เมตตาอโทสะ เป็นความ
รักใคร่ชื่นชมปรารถนาดี ไม่มีการยึดถือว่าเป็น บิดา มารดา บุตร
ธิดา ภรรยา สามี ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แต่อย่างใด ถึงจะจากไป
อยู่ที่อื่นก็ไม่เดือดร้อน ส่วนตัณหาเปมะนั้น เป็นความรักใคร่ชื่นชม
ด้วยการยึดถือว่าเป็น บิดา มารดา บุตร ธิดา ภรรยา สามี
ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงและแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้นความรักใคร่ชื่นชม
ชนิดที่เป็นชนิดตัณหาเปมะนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นเมตตาเทียม เพราะยัง
มีโลภะอยู่ด้วย

ถึงกระนั้น ตัณหาเปมะ อันเป็นตัวเมตตาเทียมนี้ ก็ยังเป็นความดี
เพราะหากเจริญเป็นปกติอยู่เนืองๆ ก็สามารถยังให้เมตตาอโทสะ
เกิดขึ้นได้ง่าย และดำรงมั่นไม่เสื่อมถอย …

ฝ่ายผู้ที่แสวงหาโลกุตตรธรรม (= การสิ้นกิเลส การพ้นทุกข์ คือ
พระนิพพาน - deedi) นั้น ถ้าจิตใจยังประกอบด้วยตัณหาเปมะ
ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โลกุตตรธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ
ตัณหาเปมะนี้ ขัดกันกับสมาธิตลอดจนถึงสติสัมปชัญญะ ดังเช่น
พระฉันนเถระ มีความรักในพระพุทธองค์อย่างเหนียวแน่น
เนื่องจากเคยอยู่ใกล้ชิด จึงถึงออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ดังนั้น
ในระหว่างที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระภิกษุฉันนะ
มิอาจปฏิบัติให้มรรค ผล เกิดได้ ต่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
การปฏิบัติจึงสำเร็จ ทั้งนี้ก็เพราะตัณหาเปมะที่ขัดกับสมาธิ
สติสัมปชัญญะ ได้หายไปจากใจหมดสิ้น



การแผ่เมตตา ควรจะต้องแผ่แก่ตนเองก่อน เพื่อประโยชน์อันที่จะ
ได้เป็นสักขีพยานแก่การแผ่ไปยังบุคคลอื่น ทั้งนี้ก็เพราะว่า
ความรักต่อสิ่งอื่นๆ นั้น จะมีมากมายสักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เหมือน
ความรักตนเอง (น จ อตฺต สมํ เปมํ) ดังนั้น เมื่อแผ่แก่ตนก่อน
อยู่เสมอๆ แล้ว ความปรารถนาสุข กลัวทุกข์ อยากมีอายุยืน
ไม่อยากตาย ที่มีประจำใจอยู่นั้น ย่อมเกิดขึ้นเป็นพิเศษ
แล้วนึกเปรียบเทียบไปในสัตว์ทั้งหลายว่า ล้วนแต่มีความ
ปรารถนาเช่นเดียวกับตนทุกประการ การนึกเปรียบเทียบระหว่าง
ตนกับผู้อื่นอย่างนี้แหละ เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เมตตาจิต
เกิดขึ้นได้ง่าย และตั้งอยู่มั่นคง … พระพุทธองค์ก็ได้ทรงเทศนาไว้ว่า
สพฺพา ทิสา อนุปริคมฺม เจตสา
เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กฺวจิ
เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ
ตสฺมา น หึเส ปรํ อตฺถกาโม-ติ ฯ
แปลความว่า
บุคคลเอาจิตใจค้นคว้าพิจารณาไปทั่วทิศ
ย่อมไม่เห็นใครเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
ในที่ใดๆ ก็ตาม ตนนั้นแหละเป็นที่รักอย่างมาก
คนอื่นก็เช่นกัน ฉะนั้น ผู้ที่รักตนไม่ควรเบียดเบียน
ผู้อื่นแม้กระทั่งมด ปลวก



อานิสงส์ที่ได้รับจากการแผ่เมตตา
นอนหลับสบายคล้ายเข้าสมาบัติ - เมื่อตื่นก็สบายคล้ายกับ
ออกจากสมาบัติ - ไม่ฝันเห็นสิ่งที่ชั่ว และ เรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัว
ฝันเห็นแต่สิ่งที่ดีที่น่าปลื้มใจ - เป็นที่รักของคนทั้งหลาย -
เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย มี เทวดา เป็นต้น -
เทวดาย่อมรักษา - ไฟหรือยาพิษหรือศาสตราวธต่างๆ
ทำร้ายไม่ได้ - มีจิตใจสงบได้เร็ว - มีหน้าตาผ่องใส -
เมื่อเวลาตายจิตใจไม่ฟั่นเฟือน - แม้ว่ายังไม่ได้บรรลุมรรคผล
อันประเสริฐในภพนี้ก็ตาม ถ้าได้รูปฌานก็จักไปบังเกิด
ในพรหมโลก

เมตตากรรมฐาน มีความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจ
ในอันที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ -
มีการนำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย อย่างใกล้ชิด เป็นกิจ -
มีการบำบัดความแค้นเป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการ
พิจารณาเมตตา - มีการพิจารณาแต่ความดีที่น่าพึงพอใจ
ของสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีการนึกถึงสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
เป็นเหตุใกล้ - การสงบความพยาบาทลงได้เป็นเวลานาน
เป็นความสมบูรณ์ของเมตตา - และการเกิดขึ้นแห่งตัณหา
ที่เหนียวแน่น เป็นความเสียหายแห่งเมตตา - ราคะ เป็น
ข้าศึกใกล้ของเมตตา - พยาบาท เป็นข้าศึกไกลของ
เมตตา

+ + + + +

กรุณา

กรุณา หมายความว่า เมื่อเห็นสัตว์ทั้งหลายได้รับ
ความลำบาก จิตใจของสัปบุรุษ (สัปบุรุษ - สัตบุรุษ คือ คนสงบ
คนดี คนมีศีลธรรม คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม - พจนานุกรม
พุทธศาสน์) ก็เกิดความหวั่นไหว นิ่งดูอยู่ไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง
หมายความว่า ย่อมช่วยผู้ที่ได้รับความลำบากนั้นให้ได้รับความสุข
ดังแสดงวจนัตถะว่า
ปรทุกฺเข สติ สาธูนํ หทยกมฺปนํ กโรตีตี = กรุณา
ธรรมชาติใดย่อมทำให้จิตใจของสัปบุรุษทั้งหลาย หวั่นไหว
อยู่นิ่งไม่ได้ เมื่อผู้อื่นได้รับความลำบาก ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น
ชื่อว่า กรุณา
กิณาติ ปรทุกฺขํ หึสติ วินาเสตีติ = กรุณา
ธรรมชาติใดย่อมเบียดเบียนทำลายความลำบากของผู้อื่นเสีย
ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กรุณา

กรุณา เมื่อว่าโดยสามัญแล้ว มี ๒ อย่าง คือ กรุณาแท้ และ
กรุณาเทียม ใน ๒ อย่างนี้ กรุณาแท้ แม้ว่าจะมีความสงสาร
ต่อสัตว์ที่ได้รับความลำบากอยู่ หรือ จะได้รับความลำบากต่อไป
ในข้างหน้าก็ดี ทำการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความลำบากอยู่
ด้วยประการใดๆ ก็ดี ความเศร้าโศก เดือดร้อน ขุ่นหมองใจไม่มี
มีแต่ความแช่มชื่นผ่องใส ซึ่งเป็นมหากุศล … ที่เนื่องมาจาก
กรุณาเจตสิก (ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์ คือ
ผู้ที่กำลังได้รับความลำบากอยู่ หรือ จะได้รับความลำบาก
ในกาลข้างหน้า) อันเป็นกรุณาอัปปมัญญาแท้

สำหรับกรุณาเทียมนั้น เมื่อมีความสงสารต่อสัตว์ที่ได้รับความ
ลำบากอยู่ หรือจะได้รับความลำบากต่อไปในข้างหน้าก็ดี
ช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับความลำบากอยู่ก็ดี กลับมีความ
เศร้าโศก เดือดร้อน ขุ่นมัว อยู่ด้วย



อานิสงส์ของกรุณาก็เป็นเช่นเดียวกับเมตตา

กรุณา มีลักษณะที่ กาย วาจา ใจ เป็นไปในอันที่จะบำบัดทุกข์
ของผู้อื่นให้ปราศจากไป - มีการอดกลั้นนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์
ของผู้อื่นและอยากช่วย - มีการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอาการ
ปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณากรุณา - มีการพิจารณาเห็น
บุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ไร้ที่พึ่ง เป็นเหตุใกล้ - มีความสงบลง
แห่งโทสะในอันที่จะเบียดเบียนสัตว์ เป็นความสมบูรณ์แห่ง
กรุณา - และการเกิดขึ้นแห่งความเศร้าโศก เป็นความเสียหาย
แก่กรุณา - ความเสียใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็น
ศัตรูใกล้ของกรุณา - มีความเบียดเบียนสัตว์เป็นศัตรูไกล
ของกรุณา

+ + + + +

มุทิตา

มุทิตา หมายความว่า ความรื่นเริงบันเทิงใจ
ในความสุขความสมบูรณ์ของผู้อื่น

มุทิตา เมื่อว่าโดยสามัญแล้ว มี ๒ อย่าง คือ มุทิตาแท้และ
มุทิตาเทียม ใน ๒ อย่างนี้ มุทิตาแท้ แม้ว่าจะมีความรื่นเริง
บันเทิงใจต่อสัตว์ที่มีสุขอยู่ หรือจะได้รับความสุขต่อไป
ข้างหน้าก็ดี จิตใจหาได้มีการยึดถือหรืออยากโอ้อวดต่อผู้อื่น
แต่อย่างใดไม่ มีแต่ความเบิกบานแจ่มใสอันเป็นตัวมหากุศล …

สำหรับมุทิตาเทียมนั้น แม้จะมีความยินดีปรีดาก็จริง
แต่ก็มีการยึดถืออยากได้ดีมีหน้า ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
ส่วนมากย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้เห็นบิดา มารดา ญาติพี่น้อง
บุตร ธิดา มิตรสหายของตนมียศ มีทรัพย์ อำนาจ หรือ
ได้ทราบว่าจะได้รับยศอำนาจในวันหน้า โดยความยึดถือ
ว่าผู้นั้นเป็นบิดา มารดา ฯลฯ ของตน



อานิสงส์เป็นเช่นเดียวกันกับเมตตา

มุทิตา มีลักษณะเป็นความบันเทิงใจในคุณความดี
ทรัพย์ บริวาร ความสุขของผู้อื่น - มีการไม่ริษยาในคุณความดี
ทรัพย์ บริวาร ความสุขของผู้อื่น เป็นกิจ - มีการพิฆาตทำลาย
ความริษยา เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณามุทิตา -
มีการรู้เห็นความเจริญด้วยคุณความดี ทรัพย์ บริวาร
ความสุขของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้ - มีความสงบจากความ
ไม่พอใจในสมบัติของผู้อื่น เป็นความสมบูรณ์แห่งมุทิตา -
และความสนุกรื่นเริงโอ้อวดกำหนัด เป็นความเสียหาย
แห่งมุทิตา - ความดีใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็น
ศัตรูใกล้ของมุทิตา - ความไม่ยินดี ไม่สบายใจใน
ความเจริญของผู้อื่น เป็นศัตรูไกลของมุทิตา

+ + + + +

อุเบกขา

อุเบกขา หมายความว่า ความวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย
โดยมีจิตใจที่ปราศจากอาการทั้ง ๓ กล่าวคือ ไม่น้อมไปในความ
ปรารถนาดี ในการที่จะบำบัดทุกข์ ในการชื่นชมยินดี ในความสุข
ของสัตว์แต่อย่างใดทั้งสิ้น … พิจารณาในสัตว์ทั้งหลายพอประมาณ
ด้วยการที่ไม่รักไม่ชัง คือ สละความวุ่นวายที่เนื่องด้วยเมตตา กรุณา
มุทิตา … และมีสภาพเข้าถึงความเป็นกลาง



การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลายนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๒ อย่าง คือ
เป็นไปด้วยอำนาจแห่งตัตตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์
นั้นๆ / ภาวะที่จิตและเจตสิกตั้งอยู่ในความเป็นกลาง) …
นี้เป็นอุเบกขาแท้

ส่วนที่เป็นไปด้วยอำนาจโมหะนั้น เมื่อได้ประสบกับสิ่งที่น่ารัก
ก็ไม่รู้จักรัก น่าขวนขวายอยากได้ก็ไม่มีการขวนขวายอยากได้
เฉยๆ ไป น่าเคารพเลื่อมใสก็ไม่รู้จักทำการเคารพเลื่อมใส
น่ากลัวน่าเกลียดก็ไม่รู้จักกลัวจักเกลียด ควรสนับสนุนส่งเสริม
ก็ไม่รู้จักสนับสนุนส่งเสริม ควรแก้ไขปรับปรุงให้ดีให้สมบูรณ์
ในการงานทั้งปวงก็นิ่งเฉยเสีย นี้เป็นอุเบกขาเทียม

อุเบกขาพรหมวิหาร - อุเบกขาบารมี

ในสองอย่างนี้ แม้ว่าจะมีการวางเฉยต่อสัตว์ด้วยกันก็จริง
แต่อารมณ์ที่จะให้เกิดความวางเฉยนี้ต่างกันคือ
อุเบกขาพรหมวิหาร มีการวางเฉยต่อสัตว์ คือ
ละความวุ่นวายที่เนื่องด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา มีสภาพ
เข้าถึงความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย
อุเบกขาบารมี นั้น เป็นการวางเฉยในบุคคล
ที่กระทำดีและไม่ดีต่อตน โดยไม่มีการยินดียินร้าย
แต่ประการใด คือ ผู้ที่กระทำความดี มีความเคารพนับถือ
บูชาสักการะ เกื้อกูล อนุเคราะห์ สงเคราะห์ เป็นประโยชน์
แก่ตนสักเท่าใดๆ ก็คงมีจิตใจวางเฉยอยู่ และผู้ที่กระทำ
ความไม่ดี มีการประทุษร้ายต่อตนสักเพียงใดก็ตาม
ก็คงวางเฉยอยู่ได้เช่นกัน ในการวางเฉยทั้ง ๒ อย่างนี้
ฝ่ายบารมีประเสริฐยิ่ง การบำเพ็ญก็สำเร็จได้ยาก

๑.
เมตฺตาทโย โอฬาริกา สตฺตเกลายเนน จ
ยุตฺตา สมีปจาริกา ปฏิฆานุนยานํ จ ฯ
๒.
อุเปกฺขา ตุ สนฺตภาวา สุขุมปณีตา ปิ จ
กิเลเสหิ จ วิทูรา สเวปุลฺลผลา ตถา ฯ
แปลความว่า
(๑)
เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ นี้มีสภาพหยาบ เพราะยังประกอบ
ด้วยโสมนัสเวทนา และยังมีความยินดีรักใคร่ในสัตว์ ทั้งยัง
ประพฤติเป็นไปใกล้ต่อความเกลียดและความรัก
(๒)
สำหรับอุเบกขานั้น มีสภาพสงบ สุขุม ประณีต ห่างไกล
จากกิเลสด้วย มีผลไพบูลย์ดีงามมากด้วย



อานิสงส์ของอุเบกขา ก็เป็นเช่นเดียวกับเมตตา

อุเบกขา มีลักษณะ คือ มีอาการเป็นไปอย่างกลาง
ในสัตว์ทั้งหลาย - มีการมองดูในสัตว์ทั้งหลายด้วยความเสมอกัน
เป็นกิจ - มีการสงบความเกลียดและไม่มีความรักในสัตว์ทั้งหลาย
เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ทำการพิจารณาอุเบกขา - เหตุใกล้ของ
อุเบกขา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นการกระทำของตนเป็นของ
ตนเอง เป็นไปอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายมีการกระทำของตนเป็นของ
ตนเอง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้จะมีความสุข หรือ พ้นจากทุกข์
หรือ จักไม่เสื่อมจากทรัพย์สมบัติของตนที่มีอยู่เหล่านี้
ด้วยความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย" -
มีความสงบความเกลียดและไม่มีความรัก เป็นความสมบูรณ์
แห่งอุเบกขา - มีการเกิดขึ้นแห่ง อญาณุเปกขาโดยอาศัย
กามคุณอารมณ์ เป็นความเสียหายแห่งอุเบกขา - การวางเฉย
ด้วยอำนาจโมหะ (อวิชชา - ความไม่รู้ตามความเป็นจริง)
เป็นศัตรูใกล้ของอุเบกขา - ราคะและโทสะ เป็นศัตรูไกล
ของอุเบกขา

+ + + + +

เหตุที่อัปมัญญามีเพียง ๔

การที่อัปมัญญามีเพียง ๔ นั้น เพราะเหตุที่จะทำให้จิตใจ
บริสุทธิ์จากการพยาบาท วิหิงสา อรติ ราคะ ที่มีอยู่ในสันดานของ
สัตว์ทั้งหลายนั้นมีอยู่เพียง ๔ และการใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลาย
ที่มีต่อกันนั้นเล่า ก็มีเพียง ๔ เช่นกัน ดังนั้นอัปปมัญญาจึงมี
เพียง ๔ เหตุทีททำให้จิตใจบริสุทธิ์ ๔ อย่างนั้นก็ได้แก่
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เอง เพราะธรรมดาจิตใจ
ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมหมกมุ่นเกี่ยวพันอยู่ด้วยเรื่องพยาบาท
วิหิงสา (การเบียดเบียน การทำร้าย) อรติ (ความขึ้งเคียด
ความไม่ยินดีด้วย ความริษยา) ราคะ อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไป
ต่างกันก็แต่เพียงบางอย่างมาก บางอย่างน้อย ซึ่งเป็นไปตาม
กาลเวลาเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ที่มีพยาบาทมาก จึงต้องปราบด้วยเมตตา จิตใจจึงจะ
สงบลงและเข้าถึงความบริสุทธิ์ผ่องใสได้ ส่วนผู้ที่มีวิหิงสามาก
ต้องปราบด้วยกรุณา ผู้มีอรติมากต้องปราบด้วยมุทิตา
และผู้ที่มีราคะมาก ต้องปราบด้วยอุเบกขา
จิตใจจึงจะสงบและเข้าถึงความบริสุทธิ์ผ่องใสได้

อนึ่ง การใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลายที่มีต่อกัน ๔ อย่างนั้นคือ
นำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นตัวเมตตาอย่างหนึ่ง
บำบัดปัดป้องสิ่งที่ไร้ประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็น
ตัวกรุณา อย่างหนึ่ง วางเฉยในเรื่องจะนำประโยชน์ ในเรื่อง
บำบัดปัดป้องสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ในเรื่องยินดีในความสุขสบาย
ทรัพย์สินเงินทอง ของสัตว์ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นตัวอุเบกขา อย่างหนึ่ง

เปรียบเหมือนมารดาที่มีบุตรอยู่ ๔ คน คนหนึ่งยังเล็กอยู่
คนหนึ่งเจ็บไข้ไม่สบาย คนหนึ่งโตแล้ว คนหนึ่งประกอบการงาน
เลี้ยงตนเองได้แล้ว ใน ๔ คนนี้ มารดาย่อมมีจิตใจฝักใฝ่รักใคร่
บำรุงเลี้ยงดูเพื่อการเจริญวัยในบุตรคนเล็ก อนึ่ง มารดาย่อม
ฝักใฝ่ในการบำบัดความเจ็บไข้ให้แก่บุตรที่ไม่สบาย และย่อม
มีความชื่นชมในความงามเป็นหนุ่มเป็นสาวของบุตรที่เจริญ
เติบโตขึ้นแล้ว แต่มารดาย่อมไม่มีความกังวลห่วงใยคอยแนะนำ
พร่ำสอนแก่บุตรที่ประกอบการเลี้ยงชีพตนเองได้แล้ว ข้อนี้ฉันใด
การใฝ่ใจของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีต่อกันนั้น ก็ไม่พ้นออกไปจาก
๔ อย่างนี้ ฉะนั้น อัปปมัญญา จึงมี ๔

ในอัปปมัญญา ๔ อย่างนี้ การเจริญเมตตามีประโยชน์กว้างขวาง
อย่างมหาศาล ทั้งเป็นกำลังช่วยอุดหนุนให้กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เกิดขึ้นง่าย และยังช่วยทำให้การสร้างบารมีต่างๆ สำเร็จลงได้
อย่างสะดวกสบาย เหตุนั้นผู้ที่ปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณทั้งหลาย
(ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า) จึงมีการเจริญเมตตาและการเจริญ
พุทธคุณประกอบไปด้วย โดยมาคำนึงนึกถึงว่าตนจะต้องทำการ
สร้างสมบารมี ๓๐ ทัศ เป็นเวลาอย่างช้านานอยู่ในวัฏฏสงสาร

+ + + + + + + + + + + + + + +
คัดลอก-ตัดตอน-เรียบเรียงมาบางส่วน
จาก
ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๙ เล่ม ๑ สมถกรรมฐานทีปนี
รจนาโดย
พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ
หน้า ๑๗๘ - ๒๐๖
+ + + + + + + + + + + + + + +

สวัสดีค่ะ :) เนื้อหาทั้งหมดที่นำมาตั้งเป็นกระทู้นี้
นำมาจากส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนเล่มหนึ่ง
ด้วยการตัดตอนมาบางส่วน ปรับเขียนเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
เป็นบางส่วนและในบางส่วนก็คงศัพท์ที่อาจฟังดูยากไปบ้าง
เพื่ออย่างน้อยจะได้อ่านผ่านๆ ตาไว้บ้าง
และบางส่วนก็ยังไม่มีความรู้พอ ยังไม่เข้าใจในศัพท์นั้นๆ
เพียงพอที่จะสามารถขยายความหรือปรับเขียนได้แต่ก็คิดว่า
ไม่สมควรจะตัดออก จึงนำมาใส่ไว้ด้วย ก็มี

เห็นว่าเป็นเนื้อหาที่น่าสนใจและมีประโยชน์ในการปฏิบัติตน
เป็นอย่างยิ่ง มีรายละเอียดที่กระชับแต่ก็กว้างขวาง ลุ่มลึก
และครอบคลุมในเรื่อง เมตตา - กรุณา - มุทิตา - อุเบกขา ไว้ครบถ้วน
จึงนำเนื้อความมาสรุปเอาเฉพาะส่วนที่อธิบายลักษณะของ
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพื่อเป็นอีกแง่มุมหนึ่ง
ในการพิจารณาทำความเข้าใจและเพื่อผู้สนใจจะสามารถ
นำมาปรับใช้ได้จริงในการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไปและในการปฏิบัติตน
ในฐานผู้มุ่งสร้างปัญญาสู่การลด-ละ-เลิกกิเลส มุ่งชำระจิตใจ
ให้บริสุทธิ์จากกิเลสยิ่งๆ เพียรและมุ่งหวังทำจิตใจให้สูงขึ้นยิ่งๆ

หากมีความผิดพลาดประการใดในการนำเสนอเนื้อหาในกระทู้นี้
ที่เกิดจากการรีบพิมพ์ก็ตาม ที่เกิดจากความรู้ที่ไม่แตกฉานก็ตาม
ขอน้อมรับความผิดนั้นทั้งปวงและขอกราบขออภัยผู้อ่านทุกท่าน
และกราบขออภัยในธรรมะอันบริสุทธิ์และประเสริฐสุด ไว้
ณ ตรงนี้ด้วยค่ะ

เจริญในธรรม

จากคุณ : deedi [ 25 มิ.ย. 2544 / 13:49:06 น. ]
//www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/002987.htm



Create Date : 29 มิถุนายน 2552
Last Update : 29 มิถุนายน 2552 1:41:33 น. 3 comments
Counter : 1071 Pageviews.  

 
อภัยทาน คือสูงสุดของทาน


โดย: รถขนของ วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:1:32:51 น.  

 
อนุโมทนาสาธุค่ะ


โดย: Budratsa วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:18:21:15 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

ใช่แล้วค่ะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:23:47:20 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รถขนของ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




http://www.ponboon.com
นะ หิ เว เรนะ เวรานิ สัมมันตีธะ กุทาจะนัง อะเวเรนะ จะ สัมมันติ เอสะ ธัมโม สะนันตะโน ตัด
คาถาตัดเวร จะช่วยตัดเวรจากเจ้ากรรมนายเวรที่หัวดื้อๆ
อันนี้ขอให้ท่องทุกวัน..
พระคาถาแผ่เมตตาไปทั่วทั้ง 3 โลก
นโม พุทธสิกขีพระพุทธเจ้า
นโม สรรพพุทธานัง
นโม สรรพธัมมานัง
นโม สรรพสังฆานัง
นโม อิติ อิติ โพธิสัตว์

โอม ฉัพพรรณรังสีพระพุทธเจ้า
โอม ท่านท้าวจาตุรมหาพรหม
โอม ท่านท้าวพยายมราช
โอม ท่านท้าวสักกะเทวราช
โอม ท่านท้าวจาตุรมหาราช
ลูกขออุทิศส่วนกุศลด้วย อิทัง ปุญญะพะลัง

ผลบุญใดที่ลูกได้สั่งสมมารวมทั้งสวดพระนามพระผู้มีพระภาคเจ้า
ลูกขอแผ่ส่วนกุศลไปกับฉัพพรรณรังสีรัศมีหกประการขององค์สมเด็จพระพิชิตมารศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

ขอได้โปรดดลบันดาลให้สรรพสัตว์ทั้งสามโลก เจ้ากรรมนายเวร และญาติมิตร มีความสุขสำเร็จในชีวิต ได้หลุดพ้นจากวัฎสงสาร โดยสิ้นเชิง ด้วยพระบารมีมิอาจประมาณ ลูกขอน้อมนอบนมัสการด้วยจิตใจ ขอให้สรรพสัตว์ทั้ง 3 โลก เจ้ากรรมนายเวรญาติมิตรและจิตลูกสว่างสะอาดสดใส หลุดพ้นไซร้สู่บ้านพระนิพพานพร้อมด้วยบริวารทุกท่านเทอญ สัมปะติจฉามิ สัมปะจิตฉามิ นิพพานสุขัง

จาก ธรรมประทานพร เล่ม ๔
__________________

การจะแก้ไขกรรม หรือแก้ไขดวงก็คือ
การแก้เข้ามาในใจเรา แก้ไขความประพฤติ
ถึงจะแก้กรรมเก่าได้ แต่ถ้ายังไม่เลิกนิสัยชั่วๆ
มันก็ต้องทำกรรมชั่วอีกแหละ

กรรมใดผู้ทำ ทำด้วยความประณีต ผู้นั้นย่อมได้รับผลของกรรมอันประณีต
กรรมใดผู้ทำ ทำด้วยความหยาบ ผู้นั้นย่อมได้รับผลของกรรมอันหยาบ

ดังนั้น :

บุญใดเป็นบุญอันประณีต ผู้นั้นย่อมได้รับผลบุญอันประณีต
บุญใดเป็นบุญอันหยาบ ผู้นั้นย่อมได้รับผลบุญอันหยาบ

รู้ไม่ละหาพระไม่เจอ
สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่นให้สิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน

อดีตปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย

บทพระนามพระมัญชุศรี มหาโพธิสัตว์ - Buddist
[Add รถขนของ's blog to your web]