Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 

‘พิษเหล้า’ เหตุเตียงหักทำลายรักสิงห์สุรา

‘พิษเหล้า’ เหตุเตียงหักทำลายรักสิงห์สุรา


‘ภัยไหนจะเท่า เมื่อเหล้าได้กลายเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์ร้ายแรงกว่าเฮโรอีน’ เป็นผลการยืนยันจากการศึกษาของศาสตราจารย์ เดวิด นัตต์ อดีตที่ปรึกษาด้านยาเสพติดของญี่ปุ่น ที่นำเสนอผลการวิจัยลงในวารสารการแพทย์ชื่อดังของอังกฤษ ‘แลนเซต’ ได้รายงานว่าเหตุที่เหล้าเป็นยาเสพติดอันตรายที่สุด เนื่องจากมีการเสพกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด

ภัยร้ายต่างๆ ขอจากงเหล้าจากงานวันแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์ 'วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2554' ซึ่งจะตรงกับวันที่ 16 ก.ค. ปีนี้ ทำให้ได้เห็นความร้ายกาจของฤทธิ์เหล้าอีกหนึ่งอย่างคือ ทำให้ชีวิตรักล่ม จากการเปิดเผยข้อมูลโดย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2553 พิษเหล้าทำคนไทยหย่าร้างกว่า 100,000 คู่ เนื่องจากเกิดความรุนแรงมากกว่าคนไม่ดื่มถึง 4 เท่า

หลายคนอาจมองข้ามพิษสงของน้ำเมาที่ส่งผลถึงความมั่นคงของครอบครัว จนดูเหมือนว่าการหย่าร้างกลับกลายเป็นความเคยชินไปเสียแล้ว สาเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจต่อการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเหล้าจึงมีอิทธิพลต่อการครองคู่ในสังคมไทย

เหล้าน้ำเมาที่ก่อปัญหา
การดื่มเหล้าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าถึงที่มาที่ไปของการวิจัยครั้งนี้ว่า มาจากที่ผ่านมา มีการพบว่าปริมาณการบริโภคสุราของคนไทยนั้นมีเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งๆ ที่มีการรณรงค์และให้ความรู้แก่สังคมก็ตาม ประกอบกับเมื่อมีการเก็บสถิติของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเข้ามารักษาในโรงพยาบาลก็มีสูงขึ้นเรื่อยๆ

“เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีตัวเลขเฉลี่ยของผู้มาโรงพยาบาลจากความรุนแรงอยู่ที่ 19 ราย ถัดมา 3 ปีก็ขึ้นมาเป็น 36 ราย ถัดมาอีกก็ปีขึ้นเป็น 52 ราย และเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาเป็น 80 รายต่อวัน พอเห็นแบบนี้เราก็เลยสงสัยว่า เมื่อทั้งเหล้าและความรุนแรงมันสูงขึ้นทุกปี แล้วอย่างนี้ทั้งสองสิ่งจะมีความสัมพันธ์กันไหม ผมก็เลยศึกษาชุมชนรอบโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีอยู่ 6 ชุมชน ไปเก็บข้อมูลทุกครอบครัวเลย เราก็เลยพบว่า อัตราความรุนแรงของครอบครัวในชุมชนเหล่านี้นั่นอยู่ที่ 25-26 เปอร์เซ็นต์

“จากนั้นเราก็ทำการแบ่งครอบครัวออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 100 ครอบครัว โดยเราพยายามจะซุ่มครอบครัวให้มีองค์ประกอบคล้ายกันที่สุด ไมว่าจะเป็นอยู่ในชุมชนเดียวกัน เศรษฐานะ (ระดับฐานะทางการเงิน) ใกล้เคียงกัน การศึกษาใกล้เคียงกัน และจำนวนของบุคคลใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันคือ ‘เหล้า’ แล้วเราค่อยมาดูว่าความรุนแรงจะปรากฏอยู่ในครอบครัวทั้ง 2 ฝั่งกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลที่ออกมา เราพบว่ากลุ่มที่ใช้เหล้ามีความรุนแรงในครอบครัวสูงเป็น 3.84 เท่าของกลุ่มที่ไม่มีเหล้า”

โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างทั้ง 2 กลุ่มนี้จะแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่ไม่ใช่เหล้า ส่วนใหญ่รูปแบบความรุนแรงจะออกมาในลักษณะของทางวาจา ทางจิตใจ เช่นมีเมียน้อย หรือการกักขังอิสรภาพหรือเงินทอง ส่วนที่กลุ่มที่ใช้เหล้า ความรุนแรงส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบทางกาย เช่นการตบตี หรือทำร้ายร่างกายมากกว่า ซึ่งอธิบายได้ง่ายๆ ว่าเป็นความรุนแรงที่จากการขาดสติสัมปชัญญะนั่นเอง

สำหรับเรื่องจำนวนของผู้หย่าร้างที่สูงนับแสนรายนั้น ไม่ได้อยู่ในงานวิจัยชุดนี้แต่อย่างใด แต่ก็พอที่จะสามารถสรุปได้ว่า เหล้าน่าจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น

“ในสมัยก่อน สังคมไทย ชายหญิงด่าว่ากัน ตบตีกันจะอดทนเพื่อลูก เพื่อครอบครัว โดยเฉพาะบางประเพณี เช่น จีนก็จะอดทนสุดๆ แต่ปัจจุบันนี้ เราเห็นทัศนคติที่เปลี่ยนไป นั่นคือ หากมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ก็จะไม่ทนเพื่อคงสภาพแล้ว เขาจะตัดสินใจหย่าร้างมากกว่าทนอยู่ต่อไป เพราะปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของหญิงชายมีการพูดถึงกันมากขึ้น ทั้งประชาคมโลก และประเทศไทย ฉะนั้นแนวคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นทรัพย์ของผู้ชายที่ถูกตบตีได้มันไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่เหล้าจะเป็นเหตุผลหนึ่งของการหย่าร้าง เพราะเหล้าก็คือสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัวนั่นเอง”

ขณะเดียวกันในมุมมองของ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ตามสถิติของมูลนิธิการดื่มสุราเป็นเหตุให้มีการทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว การดื่มสุราในครอบครัวได้สร้างผลกระทบด้านลบต่อบุคคลต่างๆ ในครอบครัวตั้งแต่คู่สมรสมีการหย่าร้างกันกระทบไปถึงบุตร และญาติสนิท ซึ่งในบางกรณีมีการทำร้ายถึงขั้นลงมือฆ่าคนในครอบครัว

“ครอบครัวที่มีการดื่มสุรากระตุ้นให้เกิดการทำร้ายกันมากขึ้นถึง 3-4 เท่า และมีการแยกทางกันของคู่สามีภรรยา ส่วนใหญ่ผู้ที่โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และมากกว่า 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงที่เกิดมาจากการดื่มสุรา โดยมีทั้งกรณีที่ถูกทำร้ายทุบตี มีหญิงอื่น ข่มขืนคนในครอบครัว และการฆ่ากัน”

เหล้าทำให้เราร้าวราน
ความรุนแรงที่เกิดจากการดื่มสุราไม่มีท่าทีว่าจะลดลง แต่ได้ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การดื่มเหล้าแม้จะมีเหตุผลเพื่อได้มิตรภาพได้สังคมในวงเหล้า แต่กลับกันคนเหล่านี้ได้สูญเสียสังคมความเป็นครอบครัวไปอย่างน่าเสียดาย จิตมาฆ สืบสำราญ แม่บ้านรายหนึ่งเล่าว่าเมื่อสามีติดเหล้าก็ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ค่าใช่จ่ายจะหมดไปกับการซื้อเหล้า เรื่องเหล้าเรื่องเพื่อนถือเป็นเรื่องสำคัญทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

"กินมากเข้าก็ไม่มีเงิน จะคลุกอยู่กับเพื่อนตลอด เขาเห็นความสำคัญของเหล้าและเพื่อนมากกว่าเมีย กลับเข้าบ้านก็ทะเลาะกัน ชอบขุดคุ้ยเรื่องเดิม เมาแล้วเพ้อเจ้อ บ้าบอ กินแล้วก็หาเรื่อง บ้าพลัง ตบตี มองเมียตาขวาง พอนานวันเข้าทะเลาะกันมากๆ ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ ก็ต้องเลิกรากันไป"

ที่ผ่านมาไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะครอบครัวเท่านั้นแต่ยังสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านอีกด้วย

"เวลาตั้งวงกินเหล้า ก็สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง หนวกหู ก่อกวน เกิดความรำคาญ คนอื่นเขาก็มองเราไม่ดีด้วยนะที่ไม่ห้าม"

เช่นเดียวกับชายที่ต้องเจอกับปัญหาแบบนี้บ้างก็รู้สึกไม่ต่างกันกับผู้หญิงที่ไม่ชอบผู้ชายกินเหล้า เกียรติภูมิ คงภักดี พนักงานร้านค้าแห่งหนึ่ง เล่าว่า แฟนเป็นคนที่ชอบกินเหล้ากับเพื่อนเป็นประจำทุกวันกลับมาก็จะมีการทะเลาะกันบ้าง แต่ด้วยความที่เขาเป็นผู้ชายเลยไม่ทำร้ายแฟนจะพยายามไม่คุยไม่ตอบโต้

“เห็นเขาเมาเราก็เข้านอนไม่อยากคุยให้มันยาวหรอก เดี๋ยวก็ได้เรื่องอีก ต้องปล่อยเขาไป ถ้าสักวันทนไม่ไหวก็คงต้องเลิกกัน”

ที่เห็นว่าทนไหว ก็เพราะเห็นไปกับเพื่อนสนิทที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน แต่หากวันใดไปกินกับเพื่อนชายก็ไม่น่าไว้ใจ เมื่อเหล้ากับความหึงหวงมาแพ็กคู่กัน ชีวิตรักกับฤทธิ์สุราจึงไปกันได้ยาก

“ถ้าไปกับเพื่อนหญิงไม่เป็นไรหรอก แต่เรื่องเดียวที่ยอมไม่ได้เลย คือแฟนไปกินเหล้ากับชายอื่นนะ”

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกรณีความรุนแรงที่เกิดจากเหล้า ซึ่งพบจากการลงพื้นที่ทำงานวิจัยของ ศ.นพ.รณชัย จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้หญิงที่ฆ่าสามี พบว่า เรื่องนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับเหล้าเช่นกัน

“เราเข้าไปพูดกับผู้หญิงที่ต้องคดีเหล่านี้ พบว่า จริงๆ นิสัยเดิม เขาไม่ได้เป็นคนที่ใช้ความรุนแรงเลย แถมยังเป็นคนที่อ่อนแอ ไม่เคยประวัติว่าเคยทำร้ายใครมาก่อนยอมทนมาตลอด แต่พวกเธอต่างก็ถูกสามีกระทำรุนแรงมานานเป็นสิบๆ ปี จนมีภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยังพบด้วยว่าส่วนใหญ่ในวันที่เกิดเหตุสามีจะมึนเมา แล้วทำร้ายภรรยาอย่างแรง เพราะฉะนั้น ภรรยาเลยป้องกันตัว เป็นเหตุให้เกิดการทำร้ายกลับไป และเกิดการเสียชีวิตขึ้น”

แน่นอนผู้เกี่ยวข้องก็ควรต้องหากลไกป้องกันความรุนแรงในครอบครัวให้มากกว่านี้ เพราะหากไม่ทำอะไร สุดท้ายก็จะลุกลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งนับว่าน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเด็กก็อาจจะซึมซับเอาสิ่งเหล่านี้ไว้กับตัว และพอโตขึ้นก็ใช้ความรุนแรงกับครอบครัวของตัวเองต่อไปได้เช่นกัน

เหล้าสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทย
“เหล้ากับคนไทย เป็นสิ่งที่มาด้วยกันตั้งนานแล้ว สังเกตว่าคนบ้านเราถ้ายินดีหรือเฉลิมฉลองก็จะดื่มเหล้ากัน คนชนชั้นกลางหรือคนที่มั่งมีมักจะดื่มกันเฉพาะการสังสรรค์ แต่กับคนที่ลำบากยากเข็ญมักจะดื่มเพราะคิดว่ามันเป็นเครื่องดับทุกข์ เวลามีปัญหาอะไรก็จะดื่มเหล้า ซึ่งมันต่างกัน”

สุพัตรา สุภาพ อาจารย์อาวุโสจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา กล่าวถึงปัญหาครอบครัวที่เกิดจากสุราในสังคมไทย

“การดื่มเหล้าเป็นสาเหตุทำให้เกิดการหย่าร้าง ไม่ว่าจะกับที่มั่งมีหรือคนยากจน มันไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด จริงๆ มันมีต้นตอเรื่องอื่น โดยเฉพาะเรื่องเพศ เช่นเรื่องของการนอกใจ การมีเมียน้อย และอื่นๆ แต่เหล้านั้นมันเข้ามาเป็นตัวเร่ง เป็นปัจจัยเสริมมากกว่า เพราะการดื่มนั้นทำให้สติที่ใช้ในการไตร่ตรองก่อนทำอะไรนั้นน้อยลง บางทีอาจจะทำให้เกิดการลงไม้ลงมือในขณะที่ทะเลาะกันจากเรื่องอื่นๆ”

ถึงเหล้าจะเป็นตัวเร่งอย่างหนึ่งให้เกิดการหย่าร้างแต่สำหรับสิงห์สุราทั้งหลายแล้วก็ยังเป็นสิ่งเร้าใจให้แสวงหามาดื่ม แม้จะมีเงินน้อยแต่ก็ขอให้ได้ลิ้มรสความสุขเล็กน้อยจากฤทธิ์สุรา

“เท่าที่เห็นมา คนในระดับของผู้ใช้แรงงานนั้นมักจะดื่มเหล้าหลังเลิกงานกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะรายได้ไม่มาก เขาก็มักจะมีเงินไปดื่มเสมอ เพราะเขาคิดว่านั่นเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของเขา ทีนี้พอดื่มมากๆ ก็กลับไปก่อเรื่องที่บ้าน ไปทุบตีภรรยา”

ซึ่งอาจารย์สุพัตรา ได้กล่าวต่ออีกว่า หากคนทั้งประเทศเลิกดื่มเหล้า ปัญหาการหย่าร้างก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป แต่มันอาจจะน้อยลงเพราะไม่มีปัจจัยเรื่องของสุราเข้ามาเป็นตัวเร่ง

“ถ้าตัวเร่งมันหายไปการหย่าร้างก็อาจจะน้อยลง แต่มันก็จะมีอยู่ดี เพราะปัญหาที่แท้มันยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเพศ การนอกใจ หรือปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว มันเหมือนกับถ้าเลิกกินของมัน ก็จะมีโอกาสป่วยน้อยลง เพราะตัวเร่งมันหายไป 1 อย่าง กับเรื่องของสุรานั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน”

..........

เมื่อความสนุกชั่วคราวของการดื่มสุรา กล้ำกลายมาเป็นปัญหาชีวิตครอบครัว ทำให้สามี-ภรรยาหลายคู่ จำต้องอดทนกับพฤติกรรมเมาหัวราน้ำของคนรัก เพราะรักที่จะกอดขวดสุราแทนคนในครอบครัว คงถึงเวลาแล้วที่ต้องย้อนมองดูตัวเองว่าอยากมีครอบครัวแบบไหน ก่อนที่จะสายเกินไปกลับกลายเป็นขี้เมาที่มีเพียงขวดเหล้าเป็นเพื่อน…
>>>>>>>>>>>

……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2554
1 comments
Last Update : 4 กรกฎาคม 2554 17:52:06 น.
Counter : 1531 Pageviews.

 

นั่นนะสินะ ไม่รู้จะกินกันกันไปทำไม (ไม่เห็นอร่อยเลยนิ) แถมกินเข้าไปมากๆ ก็ทำให้ขาดสติ เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายเยอะแยะ

งั้นปีนี้เริ่มที่งดเหล้าเข้าพรรษากันนะ
ปีหน้าค่อยงดเหล้านอกพรรษา อิอิ

 

โดย: รุ่นป้าหน้าใส 4 กรกฎาคม 2554 20:52:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ต้นกล้าต้นนี้
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แม่แตนกับต้นกล้า ยินดีต้อนรับค่ะ
: Users Online
Friends' blogs
[Add ต้นกล้าต้นนี้'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.