กลบท รหัสอัศจรรย์ :: อัจฉริยภาพของภาษาไทย
O
วันนี้ เรามารู้จักภาษาไทยในแง่ของอัจฉริยภาพของอักขระวิธีกันสักนิด ดีไหมคะ

ช่วงนี้กำลังเพ้อคลั่ง ภาษาไทยอยู่ค่ะ
อ่านตำราสอนภาษาไทยในปัจจุบันแล้วก็ถอนหายใจหลายรอบเพราะห่างไกลกับวิชาภาษาไทยดั้งเดิมเหลือเกิน

แต่ก็ยอมรับค่ะ ว่าสมัยนี้ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เรามัวแต่สอน ปฐม ก. กา ให้ลูกหลานก็คงจะล้าสมัย เขาอาจจะหาว่าเราคร่ำครึก็ได้ แต่ที่หยิบมาในวันนี้ เพราะรู้สึกว่า วิชาความรู้ของคนไทยที่เก็บซ่อนไว้ในสรรพวิทยาการทั้งหลาย อาจถูกหลงลืมไป หากจะนำมาเอ่ยถึงเสียหน่อย ก็คงรื้อฟื้นความทรงจำดีๆ กันได้ ลักณะของวิชาภาษาไทยตามตำราสอนโบร่ำโบราณสามารถปูพื้นภาษากับวัฒนธรรมและจริยธรรมในวิชาเดียวกันได้อย่างแยบยลเหลือเกิน ทั้ง ปฐม ก. กา จินดามณี สุโพธลังกา หรือ ศรีวิบุลกิตติ์

อยากยกตัวอย่างเรื่องตำรา ปฐม ก. กา ทำให้รู้ว่าทำไม ที่เขาบอกว่าคนไทยสมัยก่อน เวลาเก่ง ก็เก่งรอบด้าน เพราะวิชาที่ร่ำเรียนกันมานั้น รู้รอบจริงๆ เพียงแค่อ่าน ปฐม ก. กา ก็สอดแทรกวิชาอะไรไว้มากมายในนั้น ลองดูสิคะ

นะโมข้าจะไหว้ วระไตรระตะนา
ใส่ไว้ในเกศา วระบาทะมุนี
คุณะวระไตร ข้าใส่ไว้ในเกษี
เดชะพระมุนี ขออย่ามีที่โทษา
ข้าขอยอชุลี. ใส่เกศีไหว้บาทา
พระเจ้าผู้กรุณา อยู่เกศาอย่ามีภัย
ข้าไหว้พระสะธรรม ที่ลึกล้ำคัมภีร์ใน
ได้ดูรู้เข้าใจ ขออย่าได้มีโรคา
ข้าไหว้พระภิกษุ ที่ได้ลุแก่โสดา
ไหว้พระสกินาคา อะระหาธิบดี
ข้าไหว้พระบิดา ไหว้บาทาพระชนนี
ไหว้พระอาจารีย์ ใส่เกศีไหว้บาทา
ข้าไหว้พระครูเจ้า ครูผู้เฒ่าใส่เกศา
ให้รู้วิชา ไหว้บาทาที่พระครู
จะใคร่รู้ที่วิชา ขอเทวามาค้ำชู
ที่ใดข้าไม่รู้.. เล่าว่าดูรู้แลนา
ไชโยขอเดชะ ชัยชนะแก่มารา
ระบือให้ลือชา เดชะสามาไชโย
ไชโยขอเดชะ ชัยชนะแก่โลโภ
โทโสแลโมโห อย่าโลเลโจ้เจ้ใจ.


นอกจากนั้น เรื่องความอัศจรรย์ของภาษาไทย ยังมีมากกว่าที่เราคิด อย่างเรื่องของ กลภาษา คำผวน อาจจะเป็นที่รู้จักกันในสมัยนี้ในแง่ของ คำประเภทสองแง่สองง่าม อย่างเช่น "สรรพลี้คำหวน" หรือเรียกให้สุภาพว่า "สรรพลี้คำผวน" สมัยนี้ที่รู้จักกัน ก็เอาเพื่อความสนุกสนานคึกคะนอง แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นพื้นฐานของการใช้ภาษาเพื่อดัดแปลงทักษะการใช้ภาษาไทยอย่างหนึ่ง

....เช่นครั้งหนึ่ง มีคนมาทักท่านสุนทรภู่ ว่าท่าน ชำนาญแต่แต่งกลอนเสภา สมัยก่อนคนที่เชี่ยวชาญภาษาต้องเก่งด้านโคลงด้วย ท่านสุนทรภู่ หรือพระยาศรีสุนทรโวหาร ก็เลยประพันธ์คำโคลงสี่สุภาพคำหวน ขึ้นมาหนึ่งบท คือ

เฉนงไอใยจึ่งเ้ว้า วู่กา
รูกับกาวเมิ่งแต่ยา มู่ไร้
ปิษย์เศ็นจะมู้สา เคราฒู่
ประเดะพ่อเตี๋ยวปากให้ มอดม้วย มังรณอ


ถอดคำหวนออกมาจึงได้ว่า

ไฉนเอ็งใยจึ่งเว้า่ ว่ากู
ราวกับกูมาแต่เยิ่ง ไม่รู้
เป็นศิษย์จะมาสู้ ครูเฒ่า
ประเดี๋ยวพ่อเตะปากให้ ม้วยมอด มรณัง




จากพื้นฐานของคำหวน มาสู่กลบท อีกประเภทหนึ่งของทักษะการใช้ภาษาไทยที่เป็น เคล็ด เป็นเกร็ด ที่บรรพชนได้คิดค้นไว้กับการใช้ภาษาไทย อ่านบางกลบทแล้วถึงกับอึ้งว่า.....มีอย่างนี้ด้วยหรือ...คิดได้ด้วยหรือ....

ต้องบอกว่า บางกลบท คิดค้นมาไว้...เผื่อการ สงคราม เสียด้วยซ้ำไปค่ะ มีการวางหมากตัวอักษรเหมือนค่ายกลดอกท้อ ทำให้คนที่ฝึกการใช้ภาษาต้องใช้ความคิด ใช้ทักษะ ทางด้าน อักขระวิธี และรวมไปถึงการฝึกทางด้านตรรกะภาษา ที่ต้องเชี่ยวชาญระดับยิ่งยวด ถึงจะสามารถคิดค้นประดิษฐ์คำตามกลแต่ละบทออกมาได้

....ตัวเองได้อ่านไปก็ปลาบปลื้มใจเหลือเกินที่ได้ใช้ภาษาไทย ลองอ่านตัวอย่างดูสักหน่อยนะคะ



กลอน: ถาวรวธิรา

บังคับให้มีคำใช้ไม้ม้วนทุกวรรค โดยไม่กำหนดจนวนและตำแหน่งของคำ


กล่าวถึงมเหสีที่อยู่ใน
อรัญใหญ่องค์เดียวอนาถา
อนาถใจถึงพระองค์พระภัสดา
ให้โศกาถึงบุตรสุดอาวรณ์
พ่อเนื้อทองผ่องใสสุดใจเอ๋ย
มาละเลยแม่เสียในศิงขร
ให้แม่ทุกข์ทุเรศเทวศวอน
บเห็นมิ่งดวงสมรแม่ร้อนใจ
(ศิริวิบุลกิตติ์)



กลอน: โสภณาอนุกูล

บังคับให้มีคำใช้ไม้มลายทุกวรรค โดยไม่กำหนดจำนวนและตำแหน่งของคำ


โอ้พระร่มโพทองของน้องไฉน
ไม่เห็นไทกลับหลังดังประสงค์
ตั้งแต่ท้าวไปจากน้องพรากองค์
อาไลยทรงโศกเศร้าร้าวอุรา
เมื่อยามเสวยเสวยชลเนตรไหล
ดังฟอนไฟไหม้อกหมกมุ่นหา
พระจอมไทไกรจักรหลักโลกา
อนาถายากไร้หมดไพร่พล
(ศิริวิบุลกิตติ์)



กลอน: อุภะโตโกฏิวิลาศ

บังคับให้ใช้วรรณยุกต์รูปเดียวกันตลอดวรรค โดยไม่กำหนดจำนวนและตำแหน่งของคำ


จักกล่าวถึงยอดยิ่งมิ่งกุมาร
ให้รีบยกพลทหารสท้านไหว
มาถึงที่เขาวิบุลบรรพตไพร
เห็นไรไรราวแคว้นกุฎีดง
เสด็จด่วนจากที่มงคลคช
ค่อยไคลคลาลาลีกับบาทบง
น้อมประนตนบนิ้วขึ้นจำนง
กระประจงน้อมนบเคารพคุณ
(ศิริวิบุลกิตติ์)




กลอน: กัจจายนมณฑล

บังคับให้คำต้นวรรคใช้อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ สลับกันไปทุกวรรค


สมเด็จพระศิริวิบุลกิตต์
กำจัดจิตจากโศกวิโยคหา
ค่อยตรึกตรองฉลองคุณพระชนมา
ให้เสนาจัดแจงแต่งโกษทอง
ดับประดิดวิจิตรบรรจงเจิด
วิไลยเลิศล้วนลายไม่มีหมอง
แผ้วจำรัสผ่องศรีมณีรอง
ดูลอยล่องเครื่องประดับระยับตา
(ศิริวิบุลกิตติ์)




กลอน: สุนทรโกศล

บังคับใช้แต่ "ส"


จักกล่าวถึงสมเด็จราชกุมาร
กระเษมสานต์สุรสิทธิ์สมฤทธิ์สมร
ครองสมบัติแสนสวัสดิสุนทร
พระยานาคเสด็จจรยังบาดาล
พระองค์กับทรงฤทธิ์พระบิตุราช
คิดถึงนาฏชนนีในไพรสาณฑ์
จะไปรับหม่อมราชสุริกากาญจน์
ให้คืนสู่เขตรสถานเสวยรมย์
(ศิริวิบุลกิตติ์)





แค่ตัวอย่างค่ะ ตอนนี้รวบรวมได้เยอะมาก ยิ่งกลบทที่ใช้ในสงคราม ต้องบอกว่าเป็นอัจฉริยภาพของบรรพชนอย่างที่สุด

ตัวเองที่พออ่านออกเขียนได้กับภาษาต่างประเทศ ก็เรียนเฉพาะเพื่อการสื่อสารเท่านั้น ยังไม่เคยเรียนภาษาอื่นให้ลกซึ้งไปเลยว่า จะมีภาษาไหนในโลกอีกที่จะอ่าน หวนคำ และสามารถถอดเป็นความได้แบบภาษาไทยบ้าง........ หรือมีลูกเล่นทางภาษา ทางอักขระวิธี ที่สามารถทำได้หลายอย่าง มากมาย แบบของไทยเรานี้....เลยภูมิใจเหลือเกินกับ อัจฉริยภาพของบรรพชนไทยค่ะ

อย่าเพิ่งคิดว่าภาษาไทยเป็นแค่ภาษาปู่ย่าตายาย ที่พูดสื่อสารคนในไทยเท่านั้นเลยค่ะ มีอะไรหลายอย่างที่ซุกซ่อนไว้ โดยที่ปู่ย่าตายายของเราไม่ได้ถ่ายทอดมาทั้งหมด มันสูญหาย มันเลอะเลือน เพราะระบบการศึกษา และสภาพสังคมในชีวิตประจำวัน ทำให้เราหลงลืมไป....แต่เมื่อทบทวนอีกครั้ง ลองหันไปดูจะรู้สึกอิ่มเอม และชื่นชมที่เราได้เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนในการใช้ภาษาที่ถือได้ว่ามีความซับซ้อนอย่างสูงในทาง อักขระวิธี ภาษาหนึ่งในโลกค่ะ

วันนี้ เรามาสนใจภาษาไทยในแง่ของอัจฉริยภาพของอักขระวิธีกันสักนิด ดีไหมคะ





เครดิตเพลง มยุราภิรมย์ ของ Zansab Philhamnic Orchestra



Create Date : 24 พฤษภาคม 2550
Last Update : 25 พฤษภาคม 2550 1:41:21 น.
Counter : 1569 Pageviews.

19 comments
  
สุดยอดเลยค่ะ

เราเองตั้งใจเรียน และรักภาษาไทยมากๆ ก็เพราะความมหัศจรรย์ของภาษาไทยนี่แหละ


เพิ่งรู้ว่าท่านสุนทรภู่เคยแต่งโคลงคำผวนโต้ตอบอย่างนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะ
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:05:12 น.
  
เราก็ชอบเรียนภาษาไทย เป็นวิชาที่คิดเอาเองตั้งแต่เด็กๆ ว่า ถ้าเรียนวิชานี้ไม่รู้เรื่อง จะไปเรียนอย่างอื่นให้เก่งคงยาก ฮ่าๆๆ
โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:46:09 น.
  
ภาษาไทยเป็นภาษาที่สุดยอดจริงๆคะ แต่น่าเสียดายที่ กระทรวงศึกษาฯเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยให้ความสำตัญเท่าไร อย่างสมัยที่เราเรียนนี้ หนังสือภาษาไทย มานี มานะ ยังมีกลเม็ดต่างๆให้เราสนใจทั้งภาษาไทยและวรรณคดีไทย แต่พอมาดูหนังสือของหลานๆสมัยนี้ แปลกใจกับแนวทางการสอนแหะ และยังพอจำได้ว่าเด็กๆยังต้องนั่งท่องอาขยานเลย ก่อนกลับบ้าน สนุกดีจริงๆ



เราโตมาพร้อมกับวรรณคดีที่สอดแทรกตามบทเรียน แต่สมัยนี้กลับหาไม่เจอ จะได้เห็นได้รู้จักกันอีกทีก็ตอนเข้าชั้นมัธยมฯไปแล้ว หลานๆ ไม่รู้จักว่าโสนน้อยเรือนงามคือใคร ทำไมถึงเรียกลูกที่ไม่ดี ว่าลูกทรพี ยังดีที่ยังพอรู้จักพระอภัยมณี นะเนี่ย ไม่งั้นคงเศร้าที่ของดีๆ เด็กสมัยกลับลืมเลือน

เข้าโหมดวันวานยังหวานอยู่อีกแล้ว
โดย: ฟิลิเซียน่า IP: 58.8.60.14 วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:50:31 น.
  
ลี่เองก็เป็นคนหนึ่งที่รักวิชาภาษาไทยมากๆ ค่ะ เวลาเรียนแล้วมีความสุข ในขณะที่เพื่อนๆ จะเบื่อกัน

ลี่จำได้ว่าอาจารย์สอนไทยคนหนึ่งเคยบอกว่า สมัยอาจารย์เรียน มีเรียนคำผวนเป็นวิชาเลยค่ะ ฟังแล้วดูท่าทางจะสนุกดีค่ะ

ลี่ว่าภาษาไทยยังมีอะไรให้น่าศึกษา ต้นหา อีกมากมายเลยค่ะ เป็นภาษาที่มีเสน่ห์ในตัวของภาษาเอง ถึงหลายๆ คนจะบ่นว่าจะเรียนให้ลึกทำไมกัน เอาแค่สื่อสารกันได้ก็พอ ถ้ามัวแต่คิดอย่างนี้ อีกหน่อยอะไรดีๆ เกี่ยวกับภาษาไทย ก็คงจะหายไปหมด เพราะไม่มีใครใส่ใจ

อย่างมานะ มานี อะไรพวกนี้ ลี่ก็ตามเรียนไม่ทันค่ะ แต่เคยได้รับจากพี่ข้างบ้านมา 1 เล่ม อ่านแล้วชอบ สนุก สนใจอ่านซ้ำไปอีกหลายรอบ จนป่านนี้ก็ยังเก็บไว้อยู่ในตู้เลยค่ะ ถึงจะเก่ามากแล้ว แต่ก็ดูมีคุณค่าของหนังสือค่ะ

รู้สึกหนังสือเรียนสมัยนี้เขาจะไม่ค่อยใส่ใจในคำผิดสักเท่าไรอ่ะค่ะ เวลาลี่อ่านสอบ แทนที่จะอ่านได้เนื้อหา กลับเห็นคำผิดมากมายในหนังสือแทน เลยสงสัยว่า ก่อนที่เขาจะตีพิมพ์เป็นหนังสือเรียนให้เด็กได้เรียนกันนั้น เขาไม่ได้พิสูจน์อักษรกันเลยหรือยังไง

อยากให้คนหันมาให้ความสนใจภาษาไทยมากกว่านี้จริงๆ เลยค่ะ
โดย: lily (lovekalo ) วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:17:19 น.
  
เด้กเดี๋ยวนี้เรียนหนังสือด้วยภาษาไทย แต่คงจะซาบซึ้งกับความหมายยาก เพราะสมาธิจดจ่ออยู่กับว่า ทำยังงัยถึงจะสอบได้คะแนนดี ทำยังงัยถึงจะเข้าคณะ มหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ แถมเวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าทีวี หรือคอมพิวเตอร์ที่ภาษาในการพูดคุยเป็นอีกแบบนึงไปแล้ว จะหาเด็กกี่คนท่องโคงกลอน หรือสุภาษิตที่ไพเราะเหล่านี้ได้
โดย: แม่มดจิ๋ว IP: 124.121.159.97 วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:14:46:51 น.
  
ไม่เคยทราบมาก่อนเลยค่ะ
เรื่องคำหวน หรือคำผวน
ที่แต่งเป็นกลอนแบบนี้

มิน่า เวลาใครพูดคำผวน
ไม่เคยเข้าใจกับเขาสักที

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ นะคะ
โดย: โสดในซอย วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:15:04:23 น.
  
โชคดีจริงค่ะที่เกิดเป็นคน มีภาษาใช้เป็นของตัวเอง เป็นภาษาที่สยงามจริงๆ ชอบเหมือนกันนะเรียนภาษไทยเนี่ย แต่หลักภาษาไม่ถูกกันเป็นอริกันตลอดเลยช่วงที่เรียน อิอิอิ เฮ้อ แต่เด็กสมัยนี้อ่านภาษาไทย สะกดคำ เขียนไทย ยังไม่ออกและไม่ถูกเลย แล้วต่อไปจะเป็นยังไงล่ะเนี่ย
โดย: อนาคิน IP: 202.44.70.52 วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:15:12:43 น.
  
ภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากมากๆ กว่าจะเรียนให้อ่านออกเขียนได้ก็ยากมากๆ ยิ่งหลังๆได้เห็นว่าภาษาไทยสมารถเขียนเป็นกลอนเพราะๆ ที่ภาษาอื่นๆเขียนได้ไม่เหมือนเลย มาอ่านบล็อกนี้ก็ยิ่งเห็นความมหัศจรรย์ของภาษาไทยเลยค่ะ
โดย: Deliver วันที่: 24 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:35:34 น.
  
เห็นด้วยกับทุกๆคนค่า ด้วยส่วนตัวนวลว่าการสอนภาษาไทยในสมัยก่อนจะมีศิลปะในการสอน แทรกแง่งามทางภาษาไว้ด้วยเสมอ อย่างสมัยที่เรียนก็มีมานะมานี แล้วแทรกเรื่องราวต่างๆที่สำคัญลงไป และอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตคือ น่าแปลกที่พอบ้านเมืองเรายิ่งเจริญทางวัตถุ แต่ดูเหมือนว่าภาษาไทยของเรากลับอ่อนด้อยลง ส่วนหนึ่งคือคนอาจไม่ให้ความสำคัญกันแล้วเพราะเชื่อว่าไม่สำคัญ ไม่เป็นภาษาสากล หรือ อย่างไรเสียก็แค่อ่านออกเขียนได้ก็ดีแล้ว (ดูได้จากสารพัดโรงเรียนนานาชาติ สังเกตุไหมว่านับวันก็ยิ่งเยอะ ไม่ได้ว่าไม่ดีนะค่ะ แต่มันก็มีแง่มุมอะไรให้คิดได้หลายอย่าง)
อาจารย์ภาษาไทยหลายคนก็บ้นบ่น แต่ก็นะมันก็ยากที่จะสู้กับกระแสสังคม

ยิ่งพัฒนาการด้านตำราเรียนยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงได้แต่ปลงค่ะว่าใดๆในโลกย่อมอนิจจังเมื่อมีช่วงรุ่งเรื่องที่สุดในภาษาก็ย่อมต้องโรยราไปในที่สุด(ปัจจุบัน?) เพราะถ้าลองเอาปฐมก กา มาสอนสมัยนี้ เด็กๆคงได้แต่ส่ายหน้า ม่ายเข้าจายยยยยยยย

แต่เพิ่งรู้นะค่ะว่าสุนทรภู่ท่านเคยแต่งกลอนผวนด้วย เป็นความรู้ใหม่จริงๆค่ะ ขอบคุณนะค่ะพี่วรรณ อย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ สู้ๆๆ

โดย: ป้านวล IP: 203.146.63.185 วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:5:33:17 น.
  
ทึ่งกับกลอนทุกบทที่พี่ยกมาให้อ่านค่ะ เพราะเหลือเกิน และแสดงถึงอัจฉริยภาพของคนแต่งได้ดีมากด้วย

อังเองตอนเรียนก็ชอบวิชาภาษาไทยมาก ชอบแต่งกลอน ชอบอ่านหนังสือ รู้สึกรันทดใจทุกครั้งที่เห็นเด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยอย่างวิบัติๆ กัน

แต่ไอ้เรื่องแต่งกลอนโดยใช้คำประหลาดๆ เนี่ย อังเองก็แต่งบ่อยนะ แต่จะออกแนวประสาทมากกว่าค่ะ ขอเอามาให้พี่อ่านเล่นสักบทละกัน นี่เป็นกลอนที่แต่งตอนเรียนวิชาบัญชีนะคะ

" ง่วงอ้ะ ง่วง ง่วง ง่วง ง่วง
ง้วง ง่วง งุนงง งกเงิ่น
ง่วงเอย ง่วงจริง ง่วงเหลือเกิน
หลับเพลินลืมเรียนไปเลย "
โดย: พิมลพัทธ์ วันที่: 26 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:04:52 น.
  
อ่า...จอยไม่ค่อยถนัดเรื่องแต่งกลอนอ่ะพี่
แต่ทุกครั้งที่อ่านงานของท่านครูสุนทรภู่จะ
คิดเหมือนกันทุกครั้ง ช่างไปสรรหา
คำที่ไหนมาร้อยเนี่ย ไพเราะเหลือเกิน

อาจารย์สมัยมัธยมเคยเอาจดหมายตัดรอน
คนรักมาให้อ่านอ่ะ อ่านยาว ๆ ก็จะเป็น
จดหมายตัอรอนแฟนธรรมดา
แต่ถ้าอ่านเว้นบรรทัดจะเป็นจดหมาย
รักหวานหยาดเยิ้มเลย

ตอนนี้อยากกลับไปเรียนภาษาไทยใหม่
เสียจริง ๆ ค่ะ
โดย: ตอกะจอ วันที่: 26 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:30:44 น.
  
มาแอบบอกว่าชอบกลอนพี่อังจังเลยค่ะ อิอิ ได้อารมณ์เวลานั่งเรียนแล้วง่วงนอนจริงๆ เลยค่ะ

โดย: lily <lovekalo> IP: 124.121.23.54 วันที่: 28 พฤษภาคม 2550 เวลา:1:56:42 น.
  
ว่าจะมาเปิดอาศรมชาวกลอนกันในนี้ดีไหมนี่.......

อ่านกลอนน้องอัง แล้วนึกคึกค่ะ

โอ้ว่ายามทุกขเศียรเขียนไม่ออก
อยากจะบอกคนอ่านวานแก้ไข
ข้อมูลมากพะเรอบานล้านตะไท
ทำอย่างไรเอามาเขียน.....ให้เวียนชม

อยากบอกว่า เพลานี้อัตคัต
ต้องประหยัดอาหารตา...ทั้งค่าขนม
เพื่อเก็บงำนำตำราสาระงม
มาเพาะบ่ม....เป็นเรื่องใหม่....ในกันยา(ยน)


เริ่มจนหม้อขออนุญาตเผ่นป่าราบ
คลานมากราบไปอ่านหนังสือ คู้สร้างคู่สม
ชีวิตจริง ทีวีพูล ศาลาระทม
แล้วนอนกรน ตื่นสายๆ.... ละอายใจ..จัง



อนุรักษ์กลอนไทยเถิดค่ะ ภาษาไทย มีดีกว่าที่คิดค่ะ
โดย: โตมิฯ มาแต่ง มั่ง IP: 58.9.203.68 วันที่: 28 พฤษภาคม 2550 เวลา:20:24:16 น.
  
ฮา... อ่านกลอนของพี่แล้วอังก็ "อิน" ไปด้วยค่ะ

"โอ้ว่ายามทุกข์เศียรเขียนไม่ออก" อิอิ วรรคเนี้ย เป็นบ่อยค่ะ
ฮา
โดย: พิมลพัทธ์ วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:9:36:35 น.
  
เข้ามาเรียนภาษาไทยค่ะ ^^
โดย: Invisible Angel วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:11:33:05 น.
  
เรียนเชิญไปร่วมงานสุนทรภู่ที่ วัดเทพธิดารามฯ ด้วยกันนะคะ วันที่ 7 มิ.ย.นี้ค่ะ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป มีรายการพิเศษให้ดูให้ฟังเยอะมาก สนใจดูที่กระทู้ของศิริกานต์ ใน pantip นะคะ ขอบคุณค่ะ
โดย: ศิริกานต์ IP: 58.8.123.33 วันที่: 1 มิถุนายน 2550 เวลา:15:27:31 น.
  
ขอบคุณครับที่ให้เกียรติแวะมาเยี่ยมเยียนถึงแม้ผมจะไม่ถนัดภาษาไทยแต่ก็รู้สึกว่าบล็อคคุณอลังการ สวยมากและได้สาระดี แต่ดูโปรไฟล์ทำไมถึงเกิดปี 46 ล่ะครับหรือว่า 16 ?
โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 1 มิถุนายน 2550 เวลา:16:53:51 น.
  
ขอบพระคุณที่มาอ่านกันนะคะ ช่วงนี้กำลังอินค่ะ กับเรืองภาษาไทย รู้สึกถึงความงามของภาษา และอัจฉริยะของคนไทยสมัยก่อนเป็นอย่างมากค่ะ ที่สร้างสรรค์ ประดิษฐ์กลวิธีการใช้ภาษาได้อย่างพลิกแพลง เหนือกว่าที่คนไทยในปัจจุบันจะสามารถประดิษฐ์ได้

ตอนนี้....คิดว่า คงจะให้ความสำคัญกับภาษาไทยมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าแล้วค่ะ

โดย: โตมิโต กูโชว์ดะ วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:10:33:55 น.
  
ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนภาษาไทยแบบตั้งใจ

เรียนแบบรักภาษาไทยอย่างสุดชีวิต

และตอนนี้ก็กำลังใช้ภาษาไทยหาเลี้ยงชีพอยู่

ขอบพระคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

คงต้องเข้ามาบล็อคนี้บ่อย ๆ แล้วล่ะ

ขออณุญาตแอดนะครับ

โดย: ปะหล่อง (ปะหล่อง ) วันที่: 3 มิถุนายน 2550 เวลา:15:40:22 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โตมิโต กูโชว์ดะ
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ร่างทรงของ "วรรณวรรธน์" โปรดอย่าถามว่าเป็นใครในอดีต รู้แต่ว่าตอนนี้ยังมีลมหายใจอยู่ เท่านั้นก็มากเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งได้รู้จักกันแล้ว
New Comments
พฤษภาคม 2550

 
 
1
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog