3. Coronation Day ::: พระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ
พระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ ของกษัตริย์หนุ่มบนดินแดนสรวงสวรรค์แห่งสุดท้ายของมนุษย์



สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ซิงเก วังชุก กับพระชนนี อาชิ เกเซ็ง โชเดน วังชุก




หลังจาก เจ้าชายมกุฎราชกุมาร Trongsa Penlop ได้สูญเสียพระชนกนาถได้เพียงสามวัน พระองค์จำต้องรับมอบราชบัลลังก์และเข้าสู่ฐานะองค์พระประมุขของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักร เหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ในพระชนมายุน้อยที่สุดในโลกปัจจุบัน คือเพียงสิบเจ็ดชันษาเท่านั้น ที่จะเข้ามาปกครองประเทศเล็กๆ ที่ขาดแคลนสาธารณูปโภคแทบจะโดยสิ้นเชิง ไม่มีน้ำประปา ไม่มีการสาธารณสุขพื้นฐาน มีโรงพยาบาลเล็กๆอยู่ทั่วประเทศเพียง ๑๑ แห่ง อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนทั่วประเทศอยู่ที่ ๔๕ ปี



พระราชพิธีครองราชย์สมบัติอย่างเป็นทางการอันยิ่งใหญ่ได้ถูกจัดเป็นทางการในอีกสองปีถัดมาในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ รูปแบบพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรภูฏาน ผสมผสานกันระหว่างพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณีและความทันสมัยแบบตะวันตกได้ถูกนำให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศเล็กๆแห่งหิมาลัย ที่เชิญสื่อมวลชนต่างประเทศเพียง ๑๕๐ คนเข้าไปทำข่าวงานพระราชพิธียิ่งใหญ่ครั้งนี้ได้







พิธีการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๔ ตามกำหนดการที่โหรหลวงได้กำหนดพระฤกษ์ไว้ในเวลา ๙นาฬิกา ๑๐นาที ตามเวลาท้องถิ่น พระเจ้าจิกมี ซิงเก วังชุก ในพระชนม์เพียงสิบแปดชันษา เสด็จเข้าสู่ท้องพระโรงในพระราชวังกลางหุบเขาเมืองทิมพู เพื่อใช้เวลาต่อจากนั้นอีกประมาณชั่วโมงในการประกอบพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ








แสงแดดเรื่อแห่งหุบเขาทิมพูสาดส่องผ่านหน้าต่างเข้ามายังแท่นบัลลังก์กลางท้องพระโรง พระมหากษัตริย์หนุ่มประทับนั่งโดดเด่นเป็นสง่า ฉลองพระองค์เต็มยศในโกสีเข้ม มีดาบเงินสลักสวยงามเหน็บข้างบั้นพระองค์ ตกแต่งด้วยเครื่องประดับด้วยเข็มขัดหินเทอควอยซ์ และหินปะการัง สวมมงกุฎนกยูงสัญลักษณ์แห่งการปกครองอาณาจักรตามโบราณราชประเพณี






ณ เวลานั้น พระมหากษัตริย์หนุ่มได้รับการเรียกขานว่าเป็น Druk Gyalpo หรือราชันย์มังกร แห่ง ดินแดนมังกรสายฟ้า ปรากฏต่อสายตาชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมพระราชพิธีใหญ่อันสำคัญยิ่ง ชาวต่างประเทศถูกแยกให้นั่งร่วมพิธีที่เก้าอี้นวมเตี้ยๆปูทับด้วยหนังเสือผืนใหญ่ รอรับฟังเสียงพระลามะสวดพระพุทธมนต์สรรเสริญถวายพระพรแก่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งดินแดนพุทธนิยายตันตระยาน ที่ประทับบนพระราชบัลลังก์ยกสูงกว่าระดับพื้น กึ่งกลางห้องท้องพระโรง พระราชบัลลังก์สลักเสลาเป็นรูปมังกร และสายฟ้า อันเป็นสัญลักษณ์แห่งประเทศภูฏาน

เมื่อครั้นถึงศุภฤกษ์ พระองค์เสด็จไปยังแท่นบูชาหยิบผ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งราชอาณาจักร ประกอบด้วยผ้าห้าสี แดง น้ำเงิน ขาว เหลืองและเขียว มาคล้องพระอังสา เป็นสัญลักษณ์รับสืบทอดพระราชภารกิจอันหนักหน่วงทั่วทั้งพระราชอาณาจักร

จากนั้นจะประกอบพิธีฉลองด้วยพระสุธารสชา พระสุธารสชาที่นำมาประกอบพิธีในวันนั้นทำขึ้นจาก มันหวาน น้ำผึ้ง นมและใช้น้ำตาลแต่งรส พระสุธารสชานี้ถือเป็นการถวายพระพรแด่พระมหากษัตริย์ด้วยพรห้าประการ คือขอ ให้มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีโสตประสาทว่องไว พระสุรเสียง และการสัมผัสหยั่งรู้ที่ดี

พิธีการดำเนินไปตลอดชั่วโมงท่ามกลางการเฝ้าดูชื่นชมของประชาชนจำนวนหลายพัน แสงแดดที่แผดจ้ากลับหรุบเข้าเมฆจนประชาชนที่มารอเฝ้าชื่นชมพระบารมีทั่วทั้งหุบเขา รู้สึกร่มเย็น สายลมพัดตุงคะสะบัดแรงไปทั่ว เสียงปืนใหญ่จำวน ๓๑ นัดดังขึ้น ขณะพระมหากษัตริย์เสด็จออกมายังสนามด้านนอกท้องพระโรงเพื่อประกอบพิธีฉลองด้วยสุรามงคล ร่วมดื่มพร้อมกับเหล่าขุนนาง ถือเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่ลอบวางยาพิษแก่พระมหากษัตริย์ เมื่อพระองค์ประทับอยู่กลางสนามและเอื้อมพระหัตถ์ไปสัมผัสธงชาติรูปมักรสายฟ้ากลางสนามหญ้ากว้างในท้ายสุด....เป็นการน้อมถวายความเคารพต่อผืนแผ่นดินจากองค์พระมหากษัตริย์





หลังจากนั้นพิธีการร่ายรำเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดก็เริ่มต้นขึ้น ประชาชนชาวภูฏานล้วนปลาบปลื้มใจกับพระราชพิธียิ่งใหญ่ และพระราชภารกิจหนักหน่วงทั่วทั้งแผ่นดินถูกส่งมอบสู่พระองค์อย่างสมบูรณ์ นับแต่วินาทีนั้น







จากการที่เคยเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศทั้งประเทศอินเดียและประเทศอังกฤษ ทำให้พระองค์สามารถตรัสพระราชทานสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศได้ด้วยสำเนียงแบบอังกฤษแท้ การพระราชทานสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่างประเทศครั้งหนึ่งหลายเดือนก่อนหน้าพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ นั้น พระองค์ตรัสไว้ว่า

“ โชคดีที่มีบางสิ่งปรากฏอยู่ในประเทศภูฏานของเรา ....ประเทศของเราไม่มีปัญหาเรื่องประชากร ไม่มีการแบ่งแยก ชาวภูฏานล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีช่องว่างทางสังคม ระหว่างผู้ขาดแคลนและผู้มั่งมี ต่างจากที่จะได้พบเห็นในประเทศอื่น เราไม่มีขอทาน ชาวภูฏานเราล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและภาคภูมิใจที่จะดำรงรักษาสิ่งนี้สืบต่อไป....”











ภาพพระมหากษัตริย์หนุ่มรูปงาม ประกอบพระราชพิธีขึ้นครองราชย์บัลลังก์แห่งราชอาณาจักรเล็กๆกลางเทือกเขาหิมาลัย
ดินแดนสรวงสวรรค์แห่งสุดท้ายของมนุษย์ ถูกเผยแพร่สู่โลกภายนอก แลดูศักดิ์สิทธิ์และงดงาม ราวกับภาพของกษัตริย์ในเทพนิยายปรัมปรา

นับจากวันนั้นสมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ซิงเก วังชุก องค์พระประมุขผู้นำพาประเทศราชอาณาจักรภูฏาน อยู่ในสายตาจับจ้องของชาวโลกว่า จะดำเนินรอยตามนโยบายที่รับสืบทอดต่อจากพระบรมชนกนาถ ที่จะเปิดประเทศราชอาณาจักรภูฏานเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ได้มากน้อยเพียงใด ::::@::::





Create Date : 02 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2549 18:33:25 น.
Counter : 1527 Pageviews.

11 comments
  
เยี่ยมค่า....เอาอีกนะค๊า

เอาอีก เอาอีก
โดย: ตมิสาน้อยกลอยใจองค์จิตรเสน (เจ้าเก่า) IP: 61.90.143.210 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:16:20 น.
  
เยี่ยมค่า ปรบมือให้....เอาอีกนะค๊า

เอาอีก เอาอีก
โดย: ตมิสาน้อยกลอยใจองค์จิตรเสน (เจ้าเก่า) IP: 61.90.143.210 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:18:23 น.
  
ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ โดยเฉพาะภาพเก่าๆ ชอบฉลองพระองค์ของทางพระราชวงศ์ฝ่ายหญิงมากๆเลยค่ะ สวยงามมากๆๆๆๆ หากประเมินราคาคงจะผืนละมากกว่าแสนบาทเน๊าะ
โดย: เคียงจันทร์ IP: 61.19.47.117 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:39:52 น.
  
ขอบคุณค่ะ น้องตมิสาน้อย

กำลังพยายามสู้ สู้ เขียนให้จบตามข้อมูลที่มีอยู่ในมือเวลานี้ค่ะ

โดย: โตมิโต กูโชว์ดะ วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:40:22 น.
  
ขอบคุณมากค่ะคุณวรรธน์ สำหรับงานเขียนดีๆ แบบนี้
เป็นกำลังใจให้นะคะ
โดย: อ้อม IP: 168.120.77.38 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:46:29 น.
  
กรี๊ด แสตมป์ๆๆๆๆ ชอบแสตมป์สุดๆ
โดย: Tang_Lawlady (Helianthus annuus ) วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:17:00:22 น.
  
คุณเคียงจันทร์
ชุดที่เชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิงทรงฉลองอยู่ นั่น คงจะเป็นชุด คีร่า Kira ที่ทำมาจาก ผ้า กุชิตารา Kuchitara แน่แท้เชียวละค่ะ เลื่อมทองสวยสะพรั่ง งามจริงๆ ราคาเหยียบแสน....เดี๋ยวนี้จะเท่าไหร่....ไม่ทราบเหมือนกันนะคะ เห็นแล้วก็ขนลุก

คุณอ้อมขา
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับกำลังใจ วันนี้อ่านงานเรื่อง GNH ของภุฏานบางอย่าง แล้วค่อนข้างข้องใจค่ะ กำลังปวดหัวมากๆ ว่า แท้จริงปรัชญาตัวนี้จะเป็นอะไรกันแน่.....สงสัยว่า ตัวเองอาจจะวิเคราะห์เรื่องนี้ แปลกแตกต่างออกไปจากที่เสียงส่วนใหญ่ของเรารับฟังมาเป็นแน่แท้ค่ะ มีอยู่หลายจุดที่เห็นแล้วสะดุดมากๆ กับระบบทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงข้อคิดคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงภายหลังการใช้ระบอบประชาธิปไตยของเขา..........เอาเป็นว่า ขอวิเคราะห์ตัวนี้อีกสักระยะหนึ่งก่อนนะคะ ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม บางที ส่วนที่สองที่เกี่ยวกับ GNH อาจจะเขียนแบบละมุนละม่อมที่สุด โดยพักเรื่องวิเคราะห์ไว้ก่อนค่ะ


คุณ Tang_Lawlady
น้องแตงกรี๊ด แสตมป์....พี่กรี๊ดดด คนในแสตมป์ ค่า
โดย: โตมิโต กูโชว์ดะ วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:22:00:57 น.
  
รูปเด็ดมากค่ะ คุณวรรธ

อันนี้ตอบคำถามเรื่อง GNH เท่าที่ไปสัมผัสภูฏานมาบ้าง
คิดว่าเป็นนโยบายของรัฐ ซึ่งรัฐบาลและกษัตริย์คงพยายามไปให้ถึง
แต่คนที่ไม่มีความสุขในภูฏานก็มีนะคะ

อ้อ ๆ ได้ไปดูระบำหน้ากาก ที่ทิมปูซอง
เป็นพิธีทางศานา ชอบมากกกกกกกกก

เท่าที่เห็นภูฏานกำลังเริ่มเปลี่ยนแปลง
มีโรงแรมใหม่ๆ ขึ้นเยอะ
มีอินเทอร์เน็ต มีเคเบิลทีวี ( สำหรับคนมีฐานะ )
และเด็กวัยรุ่นผู้หญิงก็ใส่กางเกงยีนเอวต่ำกันแล้ว
( เอ มาทำลายความโรแมนติคของภูฏานไปหรือเปล่าคะ )
โดย: grappa วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:22:06:13 น.
  
ตามมาอ่านค่ะ ข้อมูลแน่นปึ้กเลย :)

คนใกล้ตัวก็ร่ำร้องอยากไปอยู่เหมือนกันเลยเนี่ย ฮึ่ม อยู่ก็ไกล๊ไกล พี่จะไปซะให้ได้ซะงั้น ตอนอยู่บ้านเราก็ไม่ยักกะไป

พี่กรัปป้าคะ ความโรแมนติกเดี๋ยวนี้อยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่แล้วนะ กระแสพัดไปเร็วมากๆ อย่างตอนไปหลวงพระบางพัทก็ว่าเหมือนถนนข้าวสารยุคยังไม่โทรมเลยอ่ะค่ะ แต่น่ารักกว่าเยอะ ชอบตลาดกลางคืนจุดเทียนขายของมากๆ ยังโรแมนติคอยู่ ฮ่า
โดย: พัท (Il Maze ) วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:22:17:48 น.
  
คุณ grappa

GNH คงสร้างความงุนงงให้กับตัวเองต่อไปค่ะ ตอนนี้กำลังอ่านเอกสารยุทธศาสตร์ ยี่สิบปีของภูฏานอ่านอยู่ค่ะ ว่าจะไปได้กับ รัฐธรรมนูญเขาหรือเปล่า มึนงงไปหมด ว่าที่สงสัยอาจเป็นจริงที่คิดอยู่ลึกๆว่า ยุทธศาสตร์ GNH ที่ว่ามานี้ อาจเป็นเพียง Propaganda ที่จะเลี่ยงการประเมินของWTO เกี่ยวกับ GNP หรือเปล่า....เท่านั้นค่ะ เพราะมีอะไรน่าสงสัยเยอะ แล้วทางประเทศเขาก็ไม่ได้ชี้แจงออกมาอย่างเป็ฯทางการเท่าไหร่ แม้แต่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ GNHโดยตรงของเขา ก็ยังเปิดกว้างพร้อมที่จะรับการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นของ GNHอยู่ ไม่เป็นที่ยุติ เรื่องช่องว่างทางสังคมคงเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศค่ะ โดยเฉพาะที่เริ่มเปิดตัวเข้าสู่โลกกว้าง ย่อมมีการเปรียเทียบโดยปริยาย
เรื่องความเจริญของสังคม ของเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยาก มันแสดงให้เห็นสัจธรรมหนึ่งของมนุษย์ว่า อย่างไรก็แสวงหาความสุขสบายใส่ตัว ถ้าหากมันไม่ทำลายสังคมเขาจนเกินไปนัก หรือทำลายวัฒนธรรมดีงามที่สืบทอดกันมาของเขา ก็คิดว่า คนของภูฏานเขาคงจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษถัดจากนี้ไป เมื่อคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาจากประเทศตะวันตก เริ่มทยอยกลับไปควบคุมบริหารของเขากันอย่างเต็มที่ ความโรแมนติค...มันลดน้อยลงตามลำดับละค่ะ...ว่าแต่ อยากดูระบำหน้ากากของเขาจังเลย....งือ...ว่าแล้วตอนนี้รออ่านภูฏาน ของคุณ grappa ต่อไปอยู่ค่ะ


คุณพัทขา
เรื่องนี้จะเขียนให้จบให้ทันฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ ๑๑ พย. นี้ค่ะ เหลือเวลาเขียนอีกไม่กี่วัน....แต่คงต้องตัดทอนข้อมูลบางอย่างออกค่ะ ฝากติดตามด้วยนะคะ
ปล. ไปภูฏานเมื่อไหร่บอกด้วยนะค๊า จะรีบเย็บกระด้งบินตามไปโต้ยคน
โดย: โตมิโต (ผู้ท้าทายราชภัย) IP: 202.57.169.163 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา:14:06:45 น.
  
คุณวรรธน์คะเราเพิ่งอ่านแง่มุมของ GNH โดยบังเอิญจากการ serch ข้อมูลไปเรื่อยๆ
เป็นของวารสารการธนาคารหรือหน่วยงานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร
นี่ล่ะค่ะ ผู้เขียนบทความให้ความเห็นไว้ว่า GNH เป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดขององค์กษัตริย์ในการ
บริหารประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงอะไรสักอย่าง ว้า จำไม่ได้ แต่เป็นการใช้คำที่ฟังแล้วดี คือเขาเองก็มี
คำถามเหมือนกันในการวัดค่าดัชนีความสุข ว่าแท้จริงแล้วคนภูฏานมีความสุขแท้จริงมากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากเป็นประเทศที่จัดอยู่ในข่ายประเทศที่ยากจน ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีทีวี เพื่อรับรู้ข่าวสาร
หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย (ขณะนั้น) แง่มุมนึงก็คือคนภูฏานรู้จักโลกภายนอก
น้อยมาก จึงไม่อยากได้ใคร่มีอะไร ดังนั้นการปกครองโดยใช้หลัก GNH จึงน่าจะ เป็นทางออก
ที่ดูจะเหมาะสมต่อองค์กษัตริย์ที่จะปกครองประเทศเล็กๆแห่งนี้น่ะค่ะ เสียดายที่ไม่ได้เซฟ
บทความนี้เอาไว้
โดย: เคียงจันทร์ IP: 61.19.47.117 วันที่: 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา:16:19:47 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โตมิโต กูโชว์ดะ
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ร่างทรงของ "วรรณวรรธน์" โปรดอย่าถามว่าเป็นใครในอดีต รู้แต่ว่าตอนนี้ยังมีลมหายใจอยู่ เท่านั้นก็มากเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งได้รู้จักกันแล้ว
New Comments
พฤศจิกายน 2549

 
 
 
4
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30