Who is the wisest of men?

ทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องแม่มดถามกระจกวิเศษว่าใครงามเลิศในปฐพีมาแล้วนะคะ แต่เนื่องจากบล็อกนี้เป็นบล็อกสำหรับสะสมความรู้ ไม่ใช่ความสวยความงาม ก็เลยขอเปิดเรื่องด้วยคำถามว่า “ใครฉลาดล้ำเลิศในปฐพี?” แทนค่ะ

คำถามนี้มีที่มาจากหนังสือของนักปรัชญากรีก ชื่อเพลโต ซึ่งบันทึกเรื่องราวของโสกราติส (Socrates) ผู้เป็นอาจารย์ของเขา

โสกราติสเกิดเมื่อ 469 ปีก่อนคริสตกาล เขามีวิธีศึกษาหาความรู้ที่เรียกว่า Dialogue คือการตั้งคำถามต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเรื่อยๆ ถ้าความคิดหรือความรู้ของเรามีตรรกะ มีเหตุผล ก็จะตอบคำถามของโสกราติสไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเราคิดไม่ชัดเจน หรือไม่มีตรรกะ เราจะจนมุมต่อคำถามของโสกราติส อย่างรวดเร็ว

เพลโตบันทึกว่า วันหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งของโสกราติสเดินทางไปที่วิหารศักดิ์สิทธิ์ในเมือง Delphi ของกรีก ซึ่งผู้คนสามารถถามคำถามและขอคำตอบจากเทพ Apollo ผ่านผู้ดูแลวิหารได้

คำถามที่เขาถามคือ ใครฉลาดที่สุดในโลก เทพ Apollo ตอบว่า “โสกราติสไง”

คำตอบว่า “ใคร” คงไม่สำคัญเท่ากับคำอธิบายว่า “ทำไม” โสกราติสเองก็ข้องใจอยู่ว่าทำไมจึงเป็นตัวเขา เพราะเขารู้สึกว่าตัวเอง “ไม่รู้อะไรเลย” เพื่อหาหลักฐานว่าที่จริงยังมีคนอื่นฉลาดกว่าเขา โสกราติสจึงเดินทางไปคุยกับคนที่คนส่วนใหญ่คิดว่าฉลาด (ในสมัยนั้นคือ นักการเมือง กวี เป็นต้น) แต่โสกราติสก็ผิดหวัง เพราะเมื่อเขาตั้งคำถามไปสักพัก คนเหล่านั้นก็จนด้วยเหตุผล โสกราติสจึงตระหนักว่า แม้ว่าเขาไม่รู้อะไรเลย แต่อย่างน้อย เขาก็รู้ตัวว่าเขาไม่รู้ ผิดกับผู้คนที่เขาไปคุยด้วย ซึ่งนอกจากจะไม่รู้อะไรแล้ว ยังไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับด้วยว่าตัวเองไม่รู้

สองพันกว่าปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1999 นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกันสองคน ชื่อ Kruger และ Dunning รายงานในวารสารทางจิตวิทยาว่า เขาให้นักศึกษาทำข้อสอบวัดความสามารถในการคิดเชิงตรรกะ หรือความรู้เรื่องไวยากรณ์ และให้ประเมินว่า หากมีอันดับเรียงจาก 1 ถึง 100 ตนเองน่าจะได้คะแนนอยู่ในอันดับที่เท่าใดเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น

ผลปรากฏว่า ไม่มีใครคิดว่าตัวเองจะอยู่ในอันดับต่ำกว่า 50 เลยสักคนเดียว นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Above average effect คือ ทุกคนอยากมองเห็นตัวเองในแง่บวก ดังนั้น ไม่ว่าความจริงจะเป็นคนที่มีความสามารถในเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด ก็ยังอยากเชื่อว่า อย่างน้อยตัวเองก็ยังดีกว่าค่าเฉลี่ย หรือดีกว่าคนส่วนใหญ่ (มากกว่า 50%) ล่ะน่า

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่เขาค้นพบก็คือ คนที่ทำคะแนนสอบได้สูงสุด 25 อันดับแรก ประเมินว่าตัวเองน่าจะอยู่ในอันดับต่ำกว่านั้น

ส่วนคนที่ทำคะแนนสอบได้ต่ำสุด 25 อันดับสุดท้าย กลับประเมินตัวเองว่าน่าจะได้อันดับสูงเกินจริงมากที่สุด

Kruger และ Dunning อธิบายว่า การประเมินความสามารถของตนเองในเรื่องอะไรสักเรื่อง เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นในระดับหนึ่งจึงจะบอกได้ว่า เรา “รู้หรือไม่รู้” คนที่ไม่รู้จริงหรือไม่เชี่ยวชาญ นอกจากจะมีความรู้ในเรื่องนั้นน้อยแล้ว ยังขาดความสามารถที่จะประเมินด้วย ว่าความรู้ที่ตนเองมีอยู่นั้น คิดเป็นสัดส่วนเท่าใดขององค์ความรู้เรื่องดังกล่าว บางทีจึงอาจคิดว่าสิ่งที่ตนเองรู้นั้นคือความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ แล้ว ในทางกลับกัน คนที่รู้มากหรือเชี่ยวชาญมากในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง รู้ว่าขอบเขตของความรู้เรื่องนั้นๆ อยู่ตรงไหน จึงรู้ตัวว่าตนเองยังขาดตกบกพร่องในบางประเด็นของเรื่องนั้นอยู่เสมอ และประเมินว่าตนเองไม่ได้เป็นคนที่รู้ดีที่สุด แม้ว่าความจริงจะทำคะแนนได้ดีที่สุด

พูดถึงเรื่องของโสกราติสกับงานวิจัยข้างต้นแล้ว ก็เลยนึกถึงสำนวนไทยที่สอนว่า จงอย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว นี่แสดงว่าทัศนะเรื่องการแสวงหาความรู้ของทางตะวันตกกับทางตะวันออกก็มีอะไรคล้ายๆ กันอยู่นะคะ อันที่จริง คนเขียนเองรู้สึกเลยจริงๆ ค่ะว่า ยิ่งเรียนสูงขึ้น ก็ยิ่งสึกว่าตัวเองโง่นะเนี่ย เมื่อก่อนตอนเรียนปริญญาตรี อ่านหนังสือเรียนจบเล่มหนึ่ง ก็คิดว่าตัวเองรู้ เข้าใจวิชานั้นหมดแล้ว พอมาเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นถึงได้พบว่า เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเรื่องนี้เค้าทำวิจัยกันไปมากมายขนาดนี้

แบบฝึกหัดที่ดีเพื่อแก้ความโง่ของตัวเอง ก็คือ เดินเข้าไปในห้องสมุด แล้วดูชั้นหนังสือที่ว่าด้วยวิชานั้น แล้วจะรู้ซึ้งเลยว่า หนังสือที่เราเรียนจบในห้องเรียนเล่มหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนนิดเดียวของความรู้ที่มีอยู่ ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนเก่งๆ นอกห้องเรียนหรือมหาวิทยาลัยเค้าคิดและทำกันแล้ว ยิ่งเล็กน้อยเป็นเศษเสี้ยวมากๆ

ดังนั้น ถ้าหากเราคิดว่าเรารู้หมดแล้ว เราจะมีปัญหากับการเปิดใจรับฟังอะไรใหม่ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการแสวงหาความรู้ คนที่ฉลาดที่สุด จึงต้องรู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้ คิดว่าตัวเองยังโง่อยู่เสมอ เพราะนั่นจะผลักดันให้เราออกไปหาความรู้เพิ่มเติมไม่มีวันสิ้นสุด

มาถึงตรงนี้ ก็ทำให้นึกถึงสุนทรพจน์ของ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple Computer ที่กล่าวในวันรับปริญญาของบัณฑิตมหาวิทยาลัย Stanford เมื่อปี 2005

เขาทิ้งท้ายด้วยการเล่าเรื่องนิตยสาร The Whole Earth Catalog ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงปี 1960-1970 ที่เขาเป็นวัยรุ่น นิตยสารดังกล่าวเป็นแหล่งรวมความรู้มากมาย จะเปรียบไปก็เหมือนเว็บไซต์ google สมัยนี้

วันหนึ่ง เมื่อเงินทุนหมดและต้องปิดกิจการลง ที่ปกหลังของ The Whole Earth Catalog ฉบับอำลา เป็นภาพถนนในชนบทภายใต้แสงแดดยามเช้า กับข้อความสั้นๆ ว่า “Stay Hungry, Stay Foolish” - จงโง่เขลาและหิวโหย (ความรู้) อยู่เสมอ
.................................................
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ //www.psychola.com ด้วยค่ะ




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2552
2 comments
Last Update : 27 ธันวาคม 2552 7:46:58 น.
Counter : 1270 Pageviews.

 

รู้น้อย ลำพองว่ารู้เยอะ
รู้เยอะ ตระหนักว่ายังต้องเรียนรู้อีกมาก

 

โดย: กลับมาแล้วเหรอ เก่งมาก ๆ เลย 27 ธันวาคม 2552 14:00:21 น.  

 

ไม่ว่าจะผ่านไปสักกีปี
ยังมีความปรารถนาดีมามอบให้
แม้ว่าอยู่ห่างไกลยัง
มีน้ำใจส่งถึงกัน
ปีนั้นปีนี้ปีไหน
ยังมีพลังใจเติมฝัน
สืยทอดมานานวัน
ขอให้สุขสันต์ทุกวันไป

จากไผ่ค่ะ

 

โดย: chabori 27 ธันวาคม 2552 16:44:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แดดอุ่น
Location :
Claremont, CA United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ความสุขไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แดดอุ่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.