เหรียญมีสองด้าน แล้วแต่คุณจะเลือกมองด้านไหน
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 ตุลาคม 2549
 
All Blogs
 

ผลกระทบของนโยบายการคลังด้านรายจ่าย

หลังจากที่ดูกันเรื่องรายได้ไปแล้ว คราวนี้จะมาดูกันเรื่องรายจ่ายกันบ้าง

ในส่วนรายจ่ายภาครัฐสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆได้คือ
รายจ่ายในงบประมาณ และรายจ่ายนอกงบประมาณ

รายจ่ายในงบประมาณ
รายจ่ายในงบประมาณถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นหรือรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การบริหารจัดการประเทศ

รายจ่ายในงบประมาณในปัจจุบันของไทย มีการจัดทำตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ได้แก่
ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้
ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ยุทธศาสตร์การพัฒนากฎหมายและส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ยุทธศาสตร์การส่งเสริมประชาธิปไตยและกระบวนการประชาสังคม
ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัฐ
ยุทธศาสตร์รองรับการเปลี่ยนแปลงพลวัตโลก
และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ

การจัดสรรงบประมาณตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นไปเพื่อตอบสนองการดำเนินนโยบายสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ โดยมีพื้นฐานอยู่บนการบริหารเชิงกลยุทธ ซึ่งหน่วยงานของรัฐต่างๆจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า จะสามารถบรรลุหน้าที่ของตนเองภายใต้ยุทธศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร นั่นคือ ทุกหน่วยงานจะต้องเสนอพันธกิจและแผนงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของหน่วยงานและยุทธศาสตร์ของประเทศ ภายใต้ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานและต้นทุนการดำเนินงานที่ชัดเจน

สำหรับงบประมาณที่โครงการของหน่วยงานจะได้รับการจัดสรร จะแบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ
ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงาน
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน
และค่าใช้จ่ายในลักษณะเงินอุดหนุน

อย่างไรก็ดี การจัดสรรงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศมีลักษณะเป็นแบบ Top-down แต่การจัดทำที่เกิดขึ้นจริง ยังมีลักษณะเป็นแบบ Bottom-up อยู่พอสมควร นั่นคือ หน่วยงานคิดถึงโครงการที่ต้องการทำนำหน้า โดยไม่ได้คิดถึงยุทธศาสตร์เป็นหลัก (ใครเคยเขียน TOR คงพอจะทราบวิธีเขียนโครงการให้สามารถบรรลุยุทธศาสตร์ที่ต้องการได้ไม่ยากนัก)

หากจะพิจารณาผลต่อเศรษฐกิจ สามารถแบ่งรายจ่ายในงบประมาณออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
รายจ่ายประจำ ได้แก่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ภาครัฐจ่ายออกไปโดยไม่ต้องมีการชำระคืนภายหลัง ทั้งนี้จะไม่รวมรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ และรายจ่ายประเภทนี้เป็นรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดสินทรัพย์ประเภททุน รายจ่ายประเภทนี้ได้แก่ รายจ่ายบุคลากร รายจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รายจ่ายประจำที่ผูกพันตามนโยบายของรัฐบาล และรายจ่ายประจำอื่นๆ
รายจ่ายลงทุน จากปรัชญาการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐนั้น รัฐจะดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด (Maximized Social Welfare) และทั้งนี้ควรเป็นกิจกรรมในส่วนที่เกิดความล้มเหลวของตลาดขึ้น (Market Failure) โดยในส่วนของการลงทุนนั้นรัฐควรเข้าไปลงทุนในกิจการสาธารณูปโภคที่มีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) ที่อาจจะเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล (Sunk Cost) หรือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้หวังผลกำไร เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วรัฐจะดำเนินการเศรษฐกิจดังกล่าวผ่านรัฐวิสาหกิจและกองทุนต่างๆ
รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ เป็นการชำระคืนเงินต้นของเงินกู้ที่รัฐได้ยืมมาในช่วงเวลาก่อนหน้า


รายจ่ายนอกงบประมาณ
เป็นเงินที่อยู่นอกเหนือจากเงินในงบประมาณ (นั่นคือ ไม่ต้องผ่านสภาฯ) มีข้อดีในเรื่องของการเบิกจ่าย การกระจายอำนาจในการบริหารของหน่วยงาน รวมถึงในกรณีที่รายจ่ายจากงบประมาณได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอด้วย สามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้

กองทุนนอกงบประมาณ ถือเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐโดยเฉพาะเป้าหมายทางด้านสังคม โดยกองทุนเหล่านี้จะได้รับอำนาจทางกฎหมายในการหารายได้เพื่อใช้ดำเนินการที่ได้รับมอบหมาย เช่น กองทุนประกันสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องเป็นการดำเนินงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรเป็นหลัก

การใช้จ่ายเงินกู้ต่างประเทศ การกู้เงินจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นเงินกู้โครงการเพื่อการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ
- เพื่อเสริมสร้างความสมดุลในการพัฒนาและการจัดการภาครัฐในการสร้างความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ให้เป้นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
- เพื่อปรับปรุงโครงสร้าง กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในบางสาขาที่ประสบปัญหาชะลอตัวของเศรษฐกิจ หรือภาวะการว่างงานอยู่ในระดับสูง
- เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบการเงินการคลังภาครัฐและประเทศ ในระยะปานกลางและระยะยาว ภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกรอบวินัยด้านการกู้เงินที่เหมาะสม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากพรบ.กระจายอำนาจฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและตรงกับความต้องการของคนในชุมชน เพื่อให้การให้บริการแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับรายได้ของอปท.ที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ
- รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง
- รายได้ที่รัฐจัดเก้บให้
- รายได้ที่รัฐแบ่งให้
- รายได้จากเงินอุดหนุนจากงบประมาณ
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการกระจายอำนาจในปัจจุบัน ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากการกระจายอำนาจ ไม่ใช่เพียงแค่การกระจายเงินลงสู่ท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่จะต้องกระจายทั้ง งาน เงิน คน ลงไปพร้อมๆกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว อปท.ก็จะเปรียบเสมือนเสมียนของรัฐเท่านั้น

เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่ได้กล่าวถึงขอบเขตภาครัฐไปแล้ว เราจะทราบได้ว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจถือเป็นการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐด้วย ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ขึ้นกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ


รายละเอียดของรายจ่ายแต่ละส่วนที่กล่าวไปแล้ว คงจะทำให้พอมองเห็นภาพคร่าวๆว่า รายจ่ายส่วนใด จะกระทบเศรษฐกิจส่วนใดบ้างนะครับ




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2549
0 comments
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2549 21:41:31 น.
Counter : 10534 Pageviews.


TheShadow
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ข่าวเศรษฐกิจไทย
ข่าวต่างประเทศ


ข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศ
ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ
ค้นคว้าข้อมูลทั่วไป
แหล่งเชื่อมโยงอื่นๆที่น่าสนใจ
Friends' blogs
[Add TheShadow's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.