กันเอง ง่ายๆ สบายๆ เล่าเรื่อง พูดคุย นานาสาระ และไร้สาระ เกี่ยวกับคนพวน ไทยพวน ลาวพวน...
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
10 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
ตอนที่ 1 กำเนิดขุนบูลม

          เมื่อครั้งสมัยโบราณนานมาแล้วโน้น แผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้ คงเป็นดินเป็นหญ้า มีฟ้ามีแถน ผีแลคนเทียวไปมาหากันไม่ได้ขาด คนเราก็อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่ม กินปลา เฮ็ดนาเมืองลุ่ม กินข้าว...

          คราวเดียวกันนั้น  แถน คือ ฟ้า หรือเทพเจ้าสิงสถิตอยู่บนฟ้า ได้บอกกล่าวกับคนทั้งหลายว่า “...ในเมืองลุ่มนี้ กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินซิ้นก็ให้ส่งขา ได้กินปลาให้ส่งฮอยแก่แถน...”


          คนในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องเทพเจ้าและวิญญาณ หรือภูมิผีสางเทวดา ตลอดจนเรื่องรามอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเหมือนในสมัยนี้ เมื่อแถนหรือคนดีมีวิชามาแนะนำสั่งสอนอย่างไร ก็คงเฉยเมยไม่ได้กระทำตาม บ้านเมืองจึงเกิดอาเพศ มีน้ำท่วมใหญ่ บ้านเรือนที่อยู่อาศัยถึงความพินาศล่มหายไปตามกระแสน้ำจนหมดสิ้น ชาวบ้านก็เลยนึกว่า แถน บันดาลโทสะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาใจแถนในทางใดได้ เพราะบ้านเรือนก็พังทลายไปตามกระแสน้ำหมดแล้ว อาจจะเป็นเพราะพวกตนมาอยู่ที่ลุ่มที่ลึกเกินไป ชาวบ้านที่เหลืออยู่เหล่านั้นจึงพากันหนีตาย โดยพากันสร้างแพไม้อาศัยนำครอบครัวผู้รอดชีวิตทั้งหมด หอบลูกหอบเต้าหนีขึ้นไปเมืองบน (ที่โคกสูง)


          พระยาแถน จึงถามว่า “สูจักมาเมืองฟ้าตูพี้เฮ็ดสัง” หมายถึง พวกเจ้ามาเมืองของเราทำไม พวกที่หนีน้ำท่วมมาก็เล่าถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นให้ฟัง  พระยาแถน ได้รับฟังแล้วก็เลยให้อาศัยอยู่บนที่สูงที่เนินได้  แต่พออยู่ไป อาจจะเป็นเพราะความไม่ถนัดในการทำมาหากินบนที่สูงที่เนิน พระยาแถน เห็นท่าจะไม่ดี จะพาไปส่งให้อยู่ในที่หนึ่ง โดยให้ควายเขาลู่ไปด้วย เพื่อนำไปช่วงทำไร่ทำนาหากินกันต่อไป บริเวณที่ไปอยู่ใหม่นี้เรียกว่า” นาน้อย อ้อยหนู” ซึ่งหมายความว่าเป็นที่มีนาน้อยและอ้อยก็มีแต่ลำเล็ก ๆ เป็นที่ดอนปลูกข้าวก็ไม่งามได้ผลผลิตน้อย ครั้นปลูกอ้อยก็ได้แต่ลำไม่งาม เจ้าบ้านเจ้าเมืองก็ไม่เอาใจใส่ทำนุบำรุงดูแลประชาราษฎร์ ชาวบ้านเกิดความเกียจคร้านไม่สนใจทำมาหากิน เข้าทำนองว่า “ สร้างบ้านก็บ่เปลือง สร้างเมืองก็บ่กว้าง สูกินเหล้า ซูมื้อซูวัน นานมาไพร่ค้างทุกข์ค้างยากก็บ่ดูนา...”


          ต่อ ๆ  มา มีคนเป็นศรีแก่บ้านแก่เมืองเกิดขึ้น มีท้าวผู้มีบุญเกิดขึ้น ชื่อ ขุนบูลม เทพยดาจึงได้ส่งขุนบูลม หรือขุนบรมมาเป็นเจ้าผู้ครองเมือง  ได้ชักชวนแนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีทำไร่ไถนา ปลุกผักปลูกหญ้า ปลูกผลหมากรากไม้ หัวมันทั้งมวลอันควรกินควรเก็บ จึงเกิดมีพืชพันธุ์ ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนและบ้านเมืองค่อยพัฒนา มีความสุข ความสะดวกสบาย มีลูกเต็มบ้านหลานเกลื่อนเมือง เกิดมีคติวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อถือในกลุ่มชนแบบบรรพบุรุษขึ้น กล่าวคือ มีการยึดถือวิญญาณผีปู่ผีย่า ผีปู่ทวดตาทวด เรียกว่า”เฒ่าเยอ” (ผีผู้ชาย) “เฒ่ายา” (ผีผู้หญิง) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และมีการกราบไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษสืบต่อ ๆ กันมาตราบเท่าทุกวันนี้


          ประเพณีโบราณที่ชาวบ้านเคารพนับถือกันได้แก่เวลาจะทำไร่ทำนา หรือเวลาอยู่เวลากิน ก็จะทำพิธีเรียกวิญญาณของบรรพบุรุษ ควายเขาลู่ไปด้วย คือ ๒ เฒ่าดังกล่าวมาแล้วนั้นทุกครั้งไป


          เมื่อคนเรามีเครื่องยึดเหนี่ยวในชีวิตจิตใจ จึงเกิดแรงศรัทธา ความเชื่อถือ มีการรวมหมู่ทำให้เกิดความสามัคคี บ้านเมืองลูกหลานของขุนบูรมจึงเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น ดังคำว่า ”สร้างบ้านก็จึ่งเปลือง สร้างเมืองก็จึ่งฮุ่ง ฝูงไพร่ก็อยู่ไถนาตกกล้า ฝูงข้าก็อยู่ฟั่งฟันไฮ่เฮ็ดนากินแล”


          ครั้งนั้นดินแดนที่ขุนบูลม พาผู้คนมาสร้างบ้านเมืองอยู่นั้น มีชื่อเรียกว่า “เมืองแถน” บางที่เรียกว่า “เมืองแถง” ญวนเรียกว่า “เดียนเบียนฟู” และได้เป็นเจ้าผู้ครองเมือง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า “ขุนบรมราชาธิราช” ได้ครองเมืองแถน พระองค์มีพระมเหสี ๒ องค์ คือ พระนางแอกแดง (เอดแคง) ซึ่งมีพระโอรส ๔ องค์ และพระนางยมพาลา (ยมภาลา) ซึ่งมีพระโอรส ๓ องค์  รวมขุนบรมราชาธิราช มีพระโอรส ๗ พระองค์ เรียงตามลำดับ ดังนี้


          ๑.      ขุนลอ


          ๒.      ยีผาล้าน


          ๓.      สามจูสง


          ๔.      ไสผง (ต่อมาเป็น ท้าวไชยพงศ์)


          ๕.      งัวอิน


          ๖.      ลกกลม (ลุกกลม)


          ๗.      เจ็ดเจิง (เจตเจื้อง)


          ต่อมาเมื่อ ขุนบรมฯ ทรงเห็นว่าพระโอรสทั้ง ๗ เติบโตมีอายุสมควรจะแบ่งสันปันส่วน ส่งออกไปสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ปกครองอยู่กันเองสืบต่อไปแล้ว จึงได้แบ่งปันทรัพย์สมบัติและเครื่องแก้ว แหวนมณี ให้แก่พระโอรสแต่ละองค์ ขุนบูลม จึ่งกล่าวว่า


                                ให้ฆ้องราง ง้าวตาว แม่วี แก่ขุนลอ          อันแหวนธำมรงค์ เลื่อมแสงใส มณีโชติแก้ว ปู่เจ้าแถนกันแต่งมานั้น ให้ไว้แก่เจ้าขุนลอ


                                ให้หอกมังคละคันคำ แก่ยี่ผาล้าน


                                ให้เกิบ กับดาบฝักคำ แก่สามจูสง


                                ให้หน้าซองคำแล่งชายคำ แก่ไสผง


                                ให้ง้าวปากไซด้ามมาศ แก่งัวอิน


                                ให้ดาบท่อพวนฝักถักหวาย แก่ลกกลม


                                ให้ตาวรางกวน แก่เจ็ดเจิง


                      


                                หน่วยปัทมราช โชติแสงสิงตาวัน แถนคำกีใส่ถุงมาพร้อมนั้น ให้ไว้แก่ยี่ผาล้าน


                                หน่วยมุกตั้งเลื่อนผิวเงินเลียงล่อง นาคราชน้อมนำมาส่งส่วยแถน ให้ไว้แก่สามจูสง


                                หน่วยเพชรเชิดตั้งแผ้วแผ่นบาดาล ใคร ๆ แหงะหน้าคอยมิได้นั้น ให้ไว้แก่ไสผง


                                หมากนิลเลื่อม ผ่านส่องแสง สองแถนลูบไล้ลมนิ้วส่งมานั้น ให้ไว้แก่เจ้างัวอิน


                                อัมพาผ่องผายงามปัดตลอด ลิงลำไว้ห้าพากแพบนนั้น ให้ไว้แก่เจ้าลกกลม


                                มีหน่วยปัดคำแสงเลื่อมหลายหลากแก้ว แต่ฟ้าตนเจ้าปู่แถนนั้น ให้ไว้แก่เจ็ดเจิงเทอญ...


โปรดติดต่อตอนต่อไป หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.thaipuen.com






Free TextEditor


Create Date : 10 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2552 15:49:40 น. 0 comments
Counter : 810 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หม่าเด่น
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หม่าเด่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.