Group Blog
 
 
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
16 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
อัลตร้าบุ๊ก 2012 ความหวังใหม่ของอินเทล

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
เมื่อปีที่แล้วอัลตร้าบุ๊กรุ่นแรกเริ่มทำตลาดพร้อมความคาดหวังว่าจะปฏิวัติวงการแล็ปท็อปในเรื่องการพกพาและประสิทธิภาพที่ดีกว่าโน้ตบุ๊ก แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความคาดหวังดังกล่าวกลับพังทลายลงเพียงเพราะค่านวัตกรรมด้านการออกแบบและผลิตนั้นสูงจนเป็นเหตุให้ค่าตัวอัลตร้าบุ๊กพุ่งแตะหลัก 3-5 หมื่นบาทในขณะที่ประสิทธิภาพกลับต่ำกว่าโน้ตบุ๊กในราคาเดียวกัน 
       
       “ราคาสูง ประสิทธิภาพ-ฟีเจอร์หลักก็ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊ก จุดขายแค่เน้นเรื่องดีไซน์และการพกพาไม่อาจมีน้ำหนักที่เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้”
       
       ***อัลตร้าบุ๊กรุ่นแรกอ่วม
       
       คาดว่าอินเทลก็รู้คำตอบอยู่แล้ว ว่าผู้บริโภคยุคนี้ต้องการแล็ปท็อปน้ำหนักเบา-บาง แบตเตอรีอยู่ได้นาน พกพาสะดวก ประสิทธิภาพพอใช้ พิมพ์งาน ตัดแต่งรูปได้ ซึ่งในอัลตร้าบุ๊กรุ่นแรกจากผู้ผลิตหลายแบรนด์ก็ทำได้ตามสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อเจอราคาค่าตัวและฟีเจอร์ที่ไม่ต่างกับโน้ตบุ๊กทั่วไปก็ต้องยกเท้าหงายหลังไปตามกัน
       
       ซึ่งเหตุผลเหล่านั้นเกิดจากการกำหนดมาตรฐานอัลตร้าบุ๊กรุ่นแรกของอินเทลที่ต้องใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมหรือแม็กนีเซียมอัลลอยด์เท่านั้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น ยิ่งผนวกกับเรื่องการดีไซน์และต้องผลิตโครงแบบยูนิบอดี้ด้วยแล้ว ราคาอัลตร้าบุ๊กยิ่งสูงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว และด้วยราคาที่สูงเกิน 3 หมื่นบาทในอัลตร้าบุ๊กรุ่นแรก ทำให้อินเทลต้องเจออีกหนึ่งเสียงเสียดสีว่า “ตั้งราคาแบบนี้ซื้อแอปเปิล แมคบุ๊ก แอร์ ในราคาใกล้ๆ กันไม่ดีกว่าหรือ”
       
       แน่นอนผู้บริโภคส่วนใหญ่อยากสัมผัสแมคบุ๊กที่ใช้ระบบปฏิบัติการเฉพาะอย่างแมคโอเอส เพราะแอปเปิลสร้างการตลาดไว้ดีจนยกหน้าตาของแบรนด์ให้เหมือนรถแข่งราคาแพง ผู้ใช้ส่วนใหญ่อยากสัมผัสแต่ติดในเรื่องราคาและไม่มีความจำเป็นต้องใช้
       
       “ฉันใดฉันนั้น อัลตร้าบุ๊กกล้าตั้งราคามาสูงเทียบแมคบุ๊ก ในขณะที่ตัวเลือกอย่างโน้ตบุ๊กมีราคาต่ำกว่า และได้ประสิทธิภาพที่ดีเช่นกัน แล้วอย่างนี้จะมีความจำเป็นหรือที่ต้องเปลี่ยนมาใช้อัลตร้าบุ๊ก

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
**อินเทลไม่ขอเจ็บซ้ำสอง
       
       ก็เหมือนคนล้มแล้วลุกยืนสู้ใหม่พร้อมประสบการณ์จากเรื่องเจ็บตัวที่ผ่านมา ในปี 2012 อินเทลจึงพร้อมปรับเปลี่ยนสเปกและแผนการตลาดอัลตร้าบุ๊กใหม่หมด โดยไปเน้นในเรื่องของฟีเจอร์เสริม และพยายามเปลี่ยนแนวคิดการออกแบบอัลตร้าบุ๊กให้มีฟีเจอร์ที่สามารถตอบสนองชีวิตประจำวันของผู้ใช้ เพื่อเปิดมุมมองให้ผู้ใช้ทั่วไปที่ยังยึดติดกับโน้ตบุ๊กเก่าๆหันมาให้ความสนใจอัลตร้าบุ๊ก
       
       ยกตัวอย่างเช่น การยอมเปลี่ยนมาตรฐานดีไซน์และวัสดุให้สามารถใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบเพื่อลดต้นทุนการผลิตและอาจเปิดตลาดผู้ใช้ระดับล่างให้หันมามองอัลตร้าบุ๊กในราคาที่ไม่แพงเกินเอื้อม รวมถึงการถีบตัวเองจากคู่แข่งด้วยราคาที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ในขณะที่สเปกก็ปรับเปลี่ยนไปใช้ชิปเจนเนอเรชัน 3 (Ivy Bridge) ที่มาพร้อมกราฟิกชิป Intel HD Graphics 4000 หรือจะเรียกว่าเร็วกว่ารุ่นแรกถึง 20-30%
       
       พร้อมการปรับเปลี่ยนมาตรฐานสเปกใหม่ โดยเฉพาะด้านแบตเตอรีที่ต้องอยู่ได้ 5 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย น้ำหนักเครื่องต้องไม่เกิน 2 กิโลกรัม และต้องมาพร้อมคุณสมบัติ Deep Sleep (S4) หรือในความหมายคือ ผู้ใช้สามารถกดปุ่มปิดเครื่องหรือพับหน้าจอได้ทันที โดยไม่ต้องสั่ง Shut Down และเมื่อผู้ใช้เปิดหน้าจอใหม่อีกครั้งหรือกดปุ่มเปิดเครื่องระบบต้องพร้อมทำงานในเวลาไม่เกิน 7 วินาที 
       
       นอกจากนั้นในส่วนของพอร์ตเชื่อมต่อข้อมูลต้องใช้ USB 3.0 หรือพอร์ต Thunderbolt ที่มีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลมากกว่า USB 3.0 ถึง 10 เท่า รวมถึงอัลตร้าบุ๊กรุ่นสองต้องมาพร้อมระบบ Intel Anti-Theft หรือระบบป้องกันขโมยผ่านระบบคลาวด์ โดยผู้ใช้สามารถรีโมทสั่งล็อคเครื่องหรือลบข้อมูลระยะไกลได้เมื่อถูกขโมย
       
       อีกทั้งในอนาคตอินเทลอาจมีการต่อยอด Intel Smart Connect ให้อัลตร้าบุ๊กสามารถอัปเดตซอฟต์แวร์หรือเช็คอีเมล ข้อความใหม่พร้อมไฟแจ้งเตือนแบบสมาร์ทโฟนในระหว่างที่เครื่องปิดอยู่ได้

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
**วินโดว์ส 8 พระเอกตัวจริง
       
       การเกิดของไมโครซอฟท์ วินโดว์ส 8 ถือเป็นพระเอกที่มาช่วยทำให้อัลตร้าบุ๊กน่าสนใจมากขึ้น และเหมือนอินเทลมองเห็นเกมชิงความเป็นหนึ่งได้ชัดเจนก่อนหน้าคู่แข่งรายอื่น เพราะจะเห็นว่าในช่วงเปิดตัววินโดว์ส 8 ตั้งแต่เวอร์ชันทดสอบ แล็ปท็อปที่ถูกนำมาทดสอบมากที่สุดก็คืออัลตร้าบุ๊กรุ่นสองแบบหน้าจอสัมผัสที่ออกแบบมาเพื่อวินโดว์ส 8 โดยเฉพาะ
       
       อีกทั้งในงานคอมพิวเทคที่ผ่านมาทางอินเทลยังกล่าวกับสื่อถึงความพร้อมในการเปิดตัวอัลตร้าบุ๊กร่วมกับพาร์ทเนอร์กว่า 110 ดีไซน์ โดยใน 110 ดีไซน์จะมีประมาณ 30 รุ่นเป็นจอระบบสัมผัสที่รองรับวินโดว์ส 8 แบบเต็มฟังก์ชัน
       
       “ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่าง AMD เริ่มกระดิกตัว อินเทลก็เดินหมากเกมนี้ไปไกลแล้ว”
       
       **อนาคตอัลตร้าบุ๊ก
       
       ปีนี้ถือเป็นปีที่อินเทลตั้งความคาดหวังกับอัลตร้าบุ๊กรุ่นสองไว้สูงมาก และแผนการตลาดก็ดูวางไว้รอบครอบกว่าปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นการหาพาร์ทเนอร์ให้มากที่สุด โดยดึงเรื่องฮาร์ดแวร์ที่รองรับกับวินโดว์ส 8 อย่างเต็มระบบมาเป็นจุดดึงดูด หรือในมุมมองของผู้บริโภคอินเทลก็พยายามปรับสเปกอัลตร้าบุ๊กรุ่นสองให้เป็นไปตามใจของผู้บริโภคมากกว่าการยัดเยียดฟีเจอร์ไร้ประโยชน์มาให้
       
       เพราะฉะนั้นด้วยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือว่าปีนี้อินเทลทำการบ้านมาดีมากจนทำให้อัลตร้าบุ๊กกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง
       
       แต่ในความน่าสนใจและเสียงชื่นชม ยังมีสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับอินเทล และเชื่อว่าอาจเกิดขึ้นอีกครั้งถ้า...อินเทลยังไม่สามารถควบคุมราคาให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพได้ เพราะไม่ว่าอินเทลจะใส่ฟีเจอร์มาดีแค่ไหนก็ตามถ้าราคาอัลตร้าบุ๊กยังสูงเพราะยึดติดกับอีโก้ของตัวเองในเรื่องเทคโนโลยีและการผลิตเฉพาะที่ต้องมีราคาแพงเกินความจำเป็น โดยไม่มองความเป็นจริงที่ว่าในโลกนี้มียังมีผู้ผลิตชิปรายอื่นๆ เช่น ARM กำลังตีวงเข้ามาในตลาดแล็ปท็อปแล้ว
       
       ถึงวันนั้นอินเทลคงต้องเจ็บซ้ำสองอีกเป็นแน่ และดีไม่ดีอาจจะไม่มีความหวังใหม่เกิดขึ้นเพราะไม่สามารถเรียกศรัทธาจากผู้บริโภคได้อีกต่อไป



Create Date : 16 มิถุนายน 2555
Last Update : 16 มิถุนายน 2555 18:57:19 น. 0 comments
Counter : 1271 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






Friends' blogs
[Add ยี่สิบห้าเดือนเจ็ด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.