space
space
space
 
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
space
space
22 ตุลาคม 2558
space
space
space

"ข้อสันนิษฐานว่าด้วยมวยงิ้ว"
"ข้อสันนิษฐานว่าด้วยมวยงิ้ว"
โดย เชา หมัดทศพืช
๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘
.
บทความนี้เขียนขึ้นโดยใช้วิธี
อุปมานแบบไม่สมบูรณ์
และใช้วิธีแบบประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์
หากท่านมีข้อสงสัยประการใด 
กรุณาติดต่อผมโดยตรงที่เบอร์ 0817639616
.
คำว่า มวยงิ้วที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะการต่อสู้ของไทย
แต่ไม่พบในวงการศิลปะการต่อสู้ของต่างประเทศ
.
คำนี้เกิดขึ้นจากหนังสือเล่าประวัติของแจ็คดี ชาน
หรือเฉินหลง ".. ได้เรียนมวยงิ้ว" และมีการเล่าถ่ายทอด
กันมาแบบไม่ได้ศึกษาเพิ่มเติมว่าจริงๆ แล้วมวยงิ้วคืออะไร
.
จริงๆ แล้ว "งิ้วไม่มีมีมวย" 
.
งิ้ว หรือ อุปรากรจีน (戏曲/戲曲; xìqǔ ; Chinese opera) 
เป็นการแสดงที่ผสมผสานการขับร้องและการเจรจา
ประกอบกับลีลาท่าทางของนักแสดงให้ออกเป็นเรื่องราว 
โดยสมัยนั้นได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดาร
และประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทแสดง รวมทั้งยังมีการ
นำเอาความเชื่อทางประเพณีและศาสนาเข้าไปผสมผสาน
กับการแสดงงิ้วด้วย เดิมประเทศจีนมีงิ้วราว 300 กว่าประเภท 
ส่วนใหญ่จะเป็นงิ้วท้องถิ่น งิ้วระดับประเทศ เช่น งิ้วปักกิ่ง, 
งิ้วเส้าซิง, งิ้วเหอหนัน และ "งิ้วกวางตุ้ง" 
โดยงิ้วปักกิ่งเป็นงิ้วที่มีชื่อเสียงมากที่สุด 
โดยปัจจุบันถือเป็นตัวแทนงิ้วประจำชาติจีน

.
ในบรรดางิ้วจีนกว่า 300 ประเภท "งิ้วคุนฉวี่" (昆曲) 
"งิ้วกวางตุ้ง" (粤剧/粵劇) และ "งื้วปักกิ่ง" (京剧/京劇) 
(ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/งิ้ว)
.
งิ้วแบ่งออกเป็นงิ้วบุ๋น และงิ้วบู๊
โดยงิ้วบู๊คืองิ้วที่ว่าด้วยการสงคราม และแสดงกริยาสู้รบ
การตีลังกา การต่อสู้ งิ้วที่ชื่อเสียงคือ "งิ้วกวางตุ้ง"
.
เมื่อนำมาผนวกกับประวัติของเฉินหลง 
มวยงิ้วจึงน่าหมายถึงทักษาะพื้นฐานของผู้ฝึกงิ้ว
ได้แก่ การกระโดด การตีลังกา การม้วนตัว
การรุกรับด้วยอาวุธ ทักษาะอาวุธกับมือเปล่า
ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะประกอบการแสดง
คล้ายๆ กับการแสดงโขน
.
มวยงิ้วอีกความหมายหนึ่งเป็นการกล่าวสรุปความ
โดยมวยไทยอันเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย
สาย "พระยาพิชัย" หรือ "พระยาพิชัยดาบหัก"
.
ตามที่ได้ศึกษา "งานวิจัย" เกี่ยวกับมวยไทย
จำนวนกว่า ๖ เล่ม และงานวิจัยเกี่ยวกับ
"มวยไทยสายพระยาพิชัยดาบหัก" จำนวน 3 เล่ม
พบว่า ไม่มีการกล่าวอ้างถึง "มวยงิ้ว" แต่อย่างอย่างใด
.
แต่ในประวัติของพระยาพิชัย (จ้อย หรือทองดี)
มีการกล่าวในทำนองเดียวกันว่า "...พอดีกับมีการแสดงงิ้ว 
จึงอยู่ดูอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน นายทองดี ฟันขาว 
สนใจงิ้วแสดง ท่าทางหกคะเมน จึงจดจำไปฝึกหัด
จนจดจำท่างิ้วได้ทั้งหมดสามารถกระโดดข้ามศีรษะคนยืน
ได้อย่างสบาย" และในงานวิจัยอีกเล่มหนึ่ง กล่าวว่า
"เด็กชายจ้อยได้ไปขอเรียนการตีลังกาจากคณะงิ้ว
 คณะงิ้วเห็นว่า เด็กชายจ้อยมีพรสรรค์จึงได้สอน
การตีลังกาเป็นเวลา ๗ วัน ..."
.
จากประวัติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นการเข้ามาของชาวจีน
ตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งปรากฏหลักฐานการแสดงงิ้ว
ตามเอกสารเก่าที่สุดที่มีการพูดถึงการแสดงงิ้ว 
คือ "จดหมายเหตุลาลูแบร์" ซึ่งเป็นราชทูต
จากราชสำนักฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรี
กับ "สมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ. 2230" และมีบันทึก
อีกช่วงหนึ่งเมื่อครั้งสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
กรุงธนบุรี ครั้งมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตล่องน้ำมายังพระนคร 
นอกจากขบวนแห่จะมี โขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์แล้ว 
ยังมี "คณะงิ้วอีก 2 ลำเรือ" แสดงล่องลงมาด้วยกันอีกด้วย
.
ปํญหาคือ คณะงิ้วอีกสองลำเรือนี่คืองิ้วของชาวจีนจากเมืองไหน
.
ขอย้อนไปถึงประวัติพระยาพิชัย (จ้อย หรือทองดี)
.
"พระยาพิชัยดาบหัก" เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา 
อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 
ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครู
วัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลังจ้อย
ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดี  
มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ
.
ต่อมาเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 
ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก 
ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์
มีบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงพิชัยอาสา" เมื่อรับราชการ
มีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น 
เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช 
และพระยาพิชัยตามลำดับ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ
ครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศ
เสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ ตามลำดับ
.
"สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" เกิดในรัชสมัย
ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 
(พระราชสมภพ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 หรือ
17 เมษายน พ.ศ. 2277 สวรรคต 6 เมษายน พ.ศ. 2325)
มีชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้
(นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไหฮอง หรือ ไหยฮอง 
เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว) 
มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
(ที่มา : นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2550). การเมืองไทย
สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. มติชน. ไม่ทราบหน้า) เป็นผู้อพยพมาจาก
เมืองเฉิงไห่ ซัวเถาครั้นเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 
ได้มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน เกิดแต่ นาง นกเอี้ยง 
ซึ่งเป็นชาวไทย ซึ่งต่อมาได้รับเฉลิมพระนามเป็นกรมพระเทพามาตย์ 
สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นน่าจะเกิดในแถบ
ภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้
ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง
(สมเด็จพระจักรพรรดิเฉียนหลง (จักรพรรดิชิงเกาจง) 
(Qiánlóng เฉียนหลง) จักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ชิง 
ประสูติเมื่อ ปี พ.ศ. 2254 กรพรรดิเฉียนหลงขึ้นครองราชย์
ในปี พ.ศ. 2278 สวรรคต พ.ศ. 2342 )
กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า 
"บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก 
[ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] 
ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ 
ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว 
ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ..." 
(ที่มา : ประยุทธ์ สิทธิพันธ์, มหาราชและพระราชกรณียกิจ
สมเด็จพระภัทรมหาราช (กรุงเทพฯ : เทพพิทักษ์การพิมพ์, 2520) 
หน้า 223)
.
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าต้นกำเนิดของพระเจ้าตากจะมีบิดาเป็น
"ชาวกวางตุ้ง" หรือ "ชาวแต้จิ๋ว" ก็ตาม ทั้งสองเชื้อชาติ
เป็น "ชาวจีนใต้"
.
ชาวไทยเชื้อสายจีนใต้ คือ ชาวจีนที่เกิดในประเทศไทย
และเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล 
คนไทยเชื้อสายจีน มีประมาณ 9.4 ล้านคนในประเทศไทย 
หรือ 14% ของประชากรทั้งประเทศ และยังมีอีกจำนวนมาก
ไม่สามารถนับได้ เพราะที่กลมกลืนกับคนไทยไปแล้ว
โดยการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ
.
ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนมากบรรพบุรษจะมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว 
ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ชาวจีนกลุ่มนี้
มักพูดภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือภาษาจีนกวางตุ้งเป็นหลัก 
ซึ่งเป็นภาษากลุ่มหมินหนาน 
รองลงมาคือมาจาก จีนแคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ
.
ชาวจีนที่เข้ามาในเมืองไทยเมื่อครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 
ระหว่างปี พ.ศ. 2310 - พ.ศ. 2312 จักรวรรดิจีน ซี่งในที่นี้
(หมายถึงรัชสมัย "เฉียนหลงฮ่องเต้" )
เหตุเพราะได้ถูกรุกรานโดยพม่าที่กำลังขยายแสนยานุภาพ 
จักรพรรดิจีนในสมัยนั้นได้ส่งกองกำลังไปปราบปรามพม่า
ถึง 4 ครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่ฝ่ายจีนก็ได้เบนความสนใจมาที่
กองทัพพม่าในอาณาจักรอยุธยา ซึ่งกำลังถูกพม่ายึดครอง 
ขุนพลไทยนาม "สิน" ซึ่งมีบิดาเป็นคนจีน และมารดานาม 
นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวสยาม ได้ใช้สถานการณ์ที่ได้เปรียบนี้
ทำให้สามารถกอบกู้เอกราชให้สยามได้สำเร็จ 
ขุนพลท่านนั้นต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น 
"สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี" แห่งกรุงธนบุรี 
หรือที่ชาวจีนขนามนามว่า แต้อ๊วง 
ด้วยความที่ว่าบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นคนจีน
.
ในรชัยสมัยของพระเจ้าเฉียนหลงมีการปราบปราม
กบถที่มณฑลจีนตอนใต้ ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง
และฟูเจี้ยน ก่อให้เกิดเหตุการณ์เผา “วัดเส้าหลินใต้”
และก่อให้เกิดการก่อตั้งพรรคฟ้าดิน หรือเทียนตี้ฮุยสืบมา
.
การอพยพของชาวกบฏชาวเส้าหลินใต้ 
เป็นการอพยพลงมาในทางใต้ของจีน บ้างก็ปลอมตัวเป็นขอทาน
กุลี หรือ “คณะงิ้วเรือแดง” อาทิ เรื่องเล่าของ 
"ยิกกั่ม" แห่งเรือแดง ซึ่งเป็นผู้สืบทอดรุ่นที่สาม
ผู้เป็นต้นกำเนิดของ “ยิปกิ่นหวิงชุนแห่งประเทศมาเลเซีย”
.
สัญลักษณ์ร่วมกันของชาวกบฏเทียนตี้ฮุ่ย คือ “มีดผีเสื้อ”
และ “ดอกเหมย” การแสดงสัญลักษณ์แบบนี้
นอกเมืองจีน นั้นหมายถึงความเป็นพวกเดียวกัน
.
ชาวจีนที่อพยพเข้ามาโดยส่วนใหญ่เป็นชาวกวางตุ้ง
ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว หรือฟูเจี้ยน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกพรรคฟ้าดิน
อาศัยอยู่ เมื่อถูกทางการตามล่าจึงหนีการตามล่าจากทางการ
โดยการปลอมตัวเป็นคณะงิ้วเรือแดง 
เพราะเป็นการปิดบังอำพรางได้เป็นอย่างดี 
แต่ไม่ใช่ว่าจะปลอมตัวเป็นงิ้วได้ทุกคน
เพราะการแสดงงิ้วเองยังแบ่งออกเป็นชนชั้น เช่น หน้าดำ
หน้าแดง หน้าขาว หน้าลาย (ตรงนี้ไม่ขออธิบาย)
ซึ่งแสดงว่าเป็นชั้นปกครอง 
หรือแสดงว่ามีความสามารถแตกต่างกันไป
.
งิ้วตามที่ปรากฏในประวัติพระเจ้าตากที่แสดงการสมโภชมี 2 ลำเรือ
ซึ่งน่าจะเป็นชาวชาวกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว หรือฟูเจี้ยน  
ซึ่งน่าจะมีฝีมือในหมัดมวยตามประวัติข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว
และตามประวัติของพระยาพิชัย (จ้อย หรือทองดี) ที่กล่าวว่า
เรียนการตีลังกาของงิ้วคณะนี้อยู่ 7 วัน ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นว่า
ทำไมจึงสอนให้?
.
เพราะชาวจีนโดยเฉพาะที่มีวิชาประจำตระกูล หรือวิชาประจำตัว
จะมีลักษณะนิสัยร่วมกันอยู่ข้อหนึ่ง 
คือ “ไม่ได้ถ่ายทอดให้ใครได้โดยง่าย”
เพราะเป็นเรื่องของความลับ หรือการทำมาหากิน
จึงน่าเชื่อว่า หากพระยาพิชัยได้รับการถ่ายทอดมาจริง
น่าจะได้รับการถ่ายทอด “มวยจีนใต้” มามากกว่าการเล่นงิ้ว
เพราะอะไร?
.
เพราะเมื่อพิจารณาจากประวัติพระยาพิชัย การจรดมวย
ท่ามวย การเข้าทำ พบว่า “มีลักษณะแตกต่างจากมวยไทย
สายอื่น” ในสาระสำคัญ
.
จากการสัมภาษณ์ @อาจารย์ชีวิน แห่งไทฟูโด
ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการมวยจีนใต้การเกือบ 30 ปี
พบว่า ม้าหรือท่ายืนของมวยสายพระยาพิชัย
น่าจะเป็นม้า “แบ๊เฮียลี” หรือหม่าปู้ เป็นในลักษณะการยืนทแยง
อันเป็นยืนแบบทแยง หรือการยืนแปดเหลี่ยม หรือเรียกว่า
“ติ้งปู้ติ้ง หรือ “ปาปู้ปา” ซึ่งเป็นการยืนแบบเปิดก็ไม่เปิด
ปิดก็ไม่ปิด หรือเรียกได้ว่า “ล่อให้โจมตี” ประกอบกับลักษณะ
การเข้าทำในลักษณะของการฟังแรง รวบ แล้วตี
ซึ่งในมวยไทยสายอื่นนั้นอาจมี แต่ไม่ชัดเจนเท่ามวยสายนี้
.
ผู้เขียน กับอาจารย์ชีวิน จึงมีความเห็นร่วมกันว่า
ที่ว่าได้เรียนการตีลังกาจากคณะงิ้ว เพราะทักษะการตีลังกา
ของคณะงิ้วเป็นเรื่องของอาชีพ คนจีนจะไม่ถ่ายทอดให้คนนอก
ได้โดยง่าย เว้นเสียแต่ว่า “เป็นลูกศิษย์” 
.
ปัญหาประการต่อมาคือว่า เหตุใดประวัติที่เกี่ยวกับการได้เรียน
มวยของพระยาพิชัยจึงแตกต่างกัน บ้างก็บอกว่า เด็กชายจ้อย
ได้ดูงิ้วถึงเจ็ดวัน และไปฝึกหัดเองจนตีลังกาข้ามหัวคนได้?
.
ตอบ ประวัติที่เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ซึ่งเป็นเรื่องเล่าในท้องถิ่นนั้นๆ เรื่องเล่าจึงเป็นเรื่องเล่า
แบบมุขปาฐะ คือเล่าต่อๆ กันมา ในช่วงแรกๆ 
ประวัติของพระยาพิชัยมีการฝึกการตีลังกา ถึง 7 วัน
ประวัติในภายหลัง ก็เล่าต่อมาว่า ไปดูงิ้ว 7 วัน
แล้วจึงไปฝึกมวยไทยต่อ
ประวัติหลังจากนั้น ช่วงที่เป็นการฝึกงิ้วกลับหายไป
จนเหลือแต่เรื่องเรียนมวยไทยอย่างเดียว
.
มันเกิดอะไรขึ้น?
.
นั้นเป็นเพราะประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนไป
เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกตัดทอนด้วยประวัติ “สร้างชาติ”
ยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการยกวีรบุรุษท้องถิ่น
อาทิ ชาวบ้านบาระจัน ย่าโม พันท้ายนรสิงห์ 
ให้เป็นวีรบุรุษของชาติ เพื่อให้ชาวบ้านมีความซาบซึ้ง
และร่วมกันต่อสู้แนวคิดของคอมมิวนิสต์ที่แพร่เข้ามา
และมีการสร้างบทละครสำหรับวีรบุรษเหล่านั้น
ดังจะเป็นได้จากบทละครเรื่อง พระยาพิชัย
ที่มีบทพูด เรื่องที่ทะเลาะกับคุณฉอด คุณเฉิด
ดังประวัติที่แพร่หลายดีอยู่แล้ว
.
กับทั้งในยุคนั้นจอมพล ป. มีนโยบายสร้างชาตินิยม
สิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ จะถูกตัดแปลงเป็นของไทย
เช่น เปลี่ยนบะหมี่เป็นก๊วยเตี๋ยว รวมไปถึงนโยบาย
จำกัดการเข้ามาของแรงงานจีน การปิดโรงเรียนจีน
รวมไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับคนจีน
เช่น ประวัติของพระยาพิชัยที่เกี่ยวข้องกับคณะงิ้วจีนด้วย
.
และการสืบประวัติโดยใช้การสัมภาษณ์ตามที่ปรากฏในงานวิจัย
ต่างๆ จะพบว่า ผู้เล่าที่ผู้สืบสายในมวยสายนี้ก็ตาม
แต่พบว่า กลับเล่าประวัติในเรื่องการเรียนกับงิ้วไม่ตรงกัน
บางท่านอธิบายแต่เพียงการเรียนมวยไทย
.
จะเห็นได้การตัดประวัติที่เกี่ยวข้องกับคนจีน
เพิ่มเริ่มต้นขึ้นในช่วงการก่อร่างสร้างลัทธิชาตินิยม
ของจอมพล ป. ประกอบการเล่าแบบมุขปาฐะ
ที่ตกหล่นไป จึงทำให้ประวัติบางส่วนขาดหายไป
.
สรุป มวยงิ้ว มีความหมายสองนัยยะ
นัยยะแรก หมายถึงมวยงิ้วในประวัติของแจ๊คกี้ ชาน
ที่นำมาเล่าต่อๆ กันมา และนำมาปะปนของประวัติ
ของพระยาพิชัยในชั้นหลัง ทำให้เกิดความสับสน
ดังที่ได้อธิบายเอาไว้ข้างต้น
.
นัยยะที่สอง คือมวยงิ้วของพวกงิ้วเรือแดง
ซึ่งเป็นกบฏพรรคฟ้าดินที่หนีการตามล่าของทางการ
ลงมายังภาคใต้ของจีน เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมถึงประเทศไทย



Create Date : 22 ตุลาคม 2558
Last Update : 22 ตุลาคม 2558 14:29:08 น. 0 comments
Counter : 5396 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 2731558
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 2731558's blog to your web]
space
space
space
space
space