Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
24 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
มองอนาคตเขาพระวิหาร...ไทยต้องรู้ทัน-ไม่เสียค่าโง่

มรดกโลกที่กัมพูชาภูมิใจ แต่คนไทยเศร้าสลด
การที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน“ปราสาทพระวิหาร”เป็น มรดกโลก ในปี พ.ศ. 2551 นั้น คนไทยที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร คงสังเกตได้ถึงความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งแม้นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ บุคคลสำคัญในเรื่องนี้จะลาออกไป(แต่ไม่ยอมรับผิด)

ถึงกระนั้นเรื่องราวของเขาพระวิหารในบ้านเราก็ยังคงเป็นทอล์คออฟเดอะ ทาวน์ ที่หลายคนพยายามขุดคุ้ยค้นหาความจริง พยายามมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และพยายามมองไปข้างหน้าว่าเราจะทำการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร ?

เพราะเหตุการณ์นี้ไม่เพียงตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่เป็นมรดกโลก หากแต่พื้นที่รอบๆตัวปราสาทก็จะต้องถูกกันเป็นพื้นที่อนุรักษ์และเป็น เขตบริหารจัดการของมรดกโลกด้วย

เรื่องยุ่งๆมันก็อยู่ตรงนี้แหละ ใครหลายๆคนจึงพากันเป็นห่วงว่า พื้นที่ที่จะถูกนำไปเป็นเขตอนุรักษ์บริหารจัดการมรดกโลกจะกินพื้นที่เข้ามา ในเขตแดนไทยหรือไม่ ซึ่งแน่นอนเมื่อพินิจพิจารณาแล้วจะเลี่ยงอย่างไรพ้น ทั้งขอบเขตของCore Zone Buffer Zone และ Development Zone จะต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งตกอยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อน ที่ยังไม่มีการปักปันเขตเขตระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างไม่ต้องสงสัย และที่ไทยเป็นห่วงที่สุดก็คงจะเป็นกรณีของพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่หากไม่มีการประท้วงใดๆเลยท้ายที่สุดไทยอาจต้องเสียดินแดนส่วนนี้ให้ กัมพูชาไปในอนาคต
ยิ่งภายหลังทราบผลว่าได้เป็นมรดกโลก ทางองค์การยูเนสโกได้ตั้งคณะกรรมการ 7 ชาติ (ที่อาจจะมีไทยด้วย)ขึ้นมา ขึ้นมา โดยอ้างว่าเพื่อให้ช่วยทำหน้าที่คุ้มครอง และพัฒนาปราสาทพระวิหารไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน แต่ท่ามกลางตะกอนใจเรื่องเขาพระวิหารที่ถูกกวนขึ้นมา ทำให้งานนี้เราจะเชื่อได้มากน้อยแค่ไหนว่าเรื่องนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้อง หลังอันใด

อย่าเสียค่าโง่ครั้งที่ 3

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย กล่าวในการเสวนาความมั่นคง โดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย เรื่อง “เขาพระวิหาร : วิกฤตและโอกาส” ว่า การตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของ กัมพูชา เป็นการตัดสินที่ขัดต่อ 3 องค์ประกอบอุดมคติของมรดกโลก เป็นการตัดสินที่ไม่ชอบธรรม และไม่ได้เป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง แต่กลับทำให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางเศรษฐกิจ ซ่อนเร้นให้กลุ่มข้ามชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์

“ไทยจะต้องทันโลก ต้องไม่ตกหลุมพรางยอมเข้าไปบริหารจัดการร่วมกับอีก 6 ประเทศ เพราะจะทำให้เขาพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์”รศ.ศรี ศักรกล่าว

รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่า กัมพูชามีแผนแม่บทเรื่องปราสาทพระวิหาร คือ ขั้นแรกจะขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกก่อน จากนั้นจะให้ประเทศต่างๆ มาบริหารจัดการร่วมกัน หากเรายอมไปร่วมอีก เท่ากับเป็นการยกดินแดนในเขตไทย และดินแดนทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้มรดกโลกบริหารจัดการ และมรดกโลกก็จะยกพื้นที่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา หากเจตนารมณ์คือให้สองประเทศดูแล ต้องเริ่มตั้งแต่แรก แต่การตัดสินเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2551 ให้ปราสาทกับกัมพูชาก็ชัดเจนแล้ว

จากนี้จะมีคณะกรรมการร่วม7 ชาติมาบริหารปราสาทแห่งนี้
“นี่คืออำนาจอธิปไตยของบ้านเมือง ไม่เกี่ยวกับมรดกโลก ซึ่งเป็นเครื่องมือบางอย่างของพวกข้ามชาติ ที่ทำให้เราเกิดอาการคลั่งชาติทั้งไทยและกัมพูชา มรดกโลกคือต้นเหตุ เป็นความไม่ชอบธรรมที่เอาเฉพาะตัวปราสาท เป็นเกณฑ์ที่ไม่สมบูรณ์ และกำลังจะโยนเผือกร้อนให้ไทย หลอกลวงไทยเป็นครั้งที่สาม ดังนั้น ผู้แทนไทยอย่าทำความโง่ซ้ำสาม ผมใช้คำแรง ๆ อยากให้ทุกคนในชาติต้องเข้าใจและมีสติ” รศ.ศรีศักร กล่าว

จับให้ได้ไล่ให้ทัน

ดูเหมือนความคิดเห็นของรศ.ศรีศักร จะคล้ายคลึงกับความคิดเห็นของ เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ อดีตอนุกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเทพมนตรีถือเป็นนักวิชาการที่ออกโรงต้านในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก โดยเขาเล่าว่า ล่าสุดจากการติดตามเรื่องปราสาทพระวิหาร ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง เขาพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ทันทีที่ปราสาทพระวิหารได้รับอนุมัติให้เป็นมรดกโลก นักธุรกิจชาวจีน 1 ใน 7 ชาติที่เป็นคณะกรรมการ ได้ตกลงจะมาลงทุนทำพิพิธภัณฑ์กับนักธุรกิจชาวเขมรที่บริเวณปราสาทเขาพระ วิหาร ที่อะไรจะรวดเร็วปานนั้น...

“แผนของอิโคโมสปี ค.ศ.2010 จะเอาพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทไปเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกปราสาทพระวิหารซึ่ง อยู่ในการดูแลขององค์กรแห่งใหม่ที่มีชื่อย่อว่า ANPV (องค์กรใหม่ของเขมรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการดูแลปราสาทพระวิหารโดยเฉพาะ) ที่แยกตัวมาจากองค์กรอัปสรา(APSARA:องค์กรสำคัญในการอนุรักษ์นครวัด นครธม และโบราณสถานต่างๆในเมืองเสียมเรียบ(เสียมราฐ) รวมถึงหน่วยงานที่เก็บค่าเข้าชมโบราณสถานต่างๆในเมืองนี้ด้วย)”เทพมนตรี กล่าว

เทพมนตรีเชื่อว่าบางทีถ้าอาจารย์อดุล วิเชียรเจริญ ไม่ถูกปลดจากประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ปราสาทพระวิหารไม่มีทางได้เป็นมรดกโลก เพราะอาจารย์อดุลท่านรู้เล่ห์กลของต่างประเทศดี และที่เขาเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้ก็คือเรื่องการ 5 ชาติที่จะเข้ามาร่วมกับเรา เป็น 5 ชาติที่ให้การสนับสนุนกัมพูชาเป็นมรดกโลกทั้งสิ้น เมื่อมีปัญหาแบบนี้ไม่เกินปี 2010 ดินแดนที่เป็นส่วนของพื้นที่ทับซ้อนเราคงต้องยกพื้นที่ให้กับเขมร

ทั้งนี้เทพมนตรียังได้กล่าวต่อไปว่า เราต้องยอมรับว่าเรื่องของปราสาทพระวิหาร มีคนไทยบางกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการที่ยื่นขอเสนอแขวน กำลังดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ถึงยูเนสโกในนามรัฐสภาไทย แม้จะพยายามทำเต็มความสามารถแล้วก็ตาม แต่เทพมนตรีก็ยอมรับว่า เรื่องที่เขากำลังจะทำเป็นเรื่องยากเพราะนักการเมืองไทยไม่มีความรู้ด้าน ประวัติศาสตร์มากนักและนักการเมืองไม่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าผลประโยชน์ ของตัวเอง

ปราสาทพระวิหาร มรดกโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา
“ประเด็นที่จะทำให้มันสิ้นสภาพโดยปริยาย คือ คุณปองพลต้องลาออกจากการเป็นภาคีสมาชิก ซึ่งต้องมาขอเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา แล้วต้องมาบอกเหตุผลว่าที่ต้องลาออกเพื่อให้มติของคณะCommitteeของ 21 ประเทศสิ้นสภาพไปเพราะเราไม่ยอมรับมตินั้น”เทพมนตรีเอ่ยถึงทางแก้ไขที่ควรจะ เป็น แต่ทางแก้ไขนี้กลับถูกปิดประตู โดยคณะกรรมการมรดกโลกของไทยดันไปรับมติมาแล้ว

“เราต้องทำเต็มที่เพื่อประเทศเราแต่สองคนนั้นเขาไม่ได้ทำ (นพดล ปัทมะ และปองพล อดิเรกสาร) เขาเหมือนกับว่าทำไปอย่างนั้น สุดท้ายพอขณะกรรมการตัดสินเขาก็ยอมรับมติตัดสินทันที แล้วมาบอกคนไทยหน้าตาเฉยว่า ปีหน้าจะขอขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่อยู่ฝั่งไทยเป็นมรดกโลกบ้าง” เทพมนตรีกล่าว

ในฐานะนักวิชาการประวัติศาสตร์ เทพมนตรี ได้เล่าเรื่องราวการค้นพบปราสาทพระวิหารที่ควรจะเป็นของไทยด้วยความภาคภูมิ ใจว่า ปราสาทพระวิหารค้นพบครั้งแรกโดยเจ้าเมืองขุขันธ์ จากนั้นก็ได้มากราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่าได้เจอซากปราสาทบนยอดเขาแห่งหนึ่งบนพนมดงเร็ก ขอให้เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตร กรมหลวงฯก็เสด็จขึ้นไปแล้วได้ไปจารึกพระนามของท่านไว้

“ท่านอยู่ในเหตุการณ์ที่เราเสียดินแดนหลายครั้ง ฉะนั้นท่านจะรู้ว่าตรงไหนที่เราเรียกว่าเขตสันปันน้ำ ท่านจึงจารึกชื่อท่านไว้ที่ตรงเป้ยตาดี ระบุชื่อไว้ตรงพื้นที่ที่เป็นสันปันน้ำ”เทพมนตรีกล่าว

เมื่อเรื่องล่วงเลยเข้าสู่กระบวนการปี พ.ศ. 2505 ปรากฏว่ามติครม. 2505 กำหนดให้กั้นลวดหนามไว้ รูปเก่าๆเป็นหลักฐานมีจากหัวบันไดโล้นของนาคบาปวนลงมา 20 เมตร กั้นเป็นเขตว่าหลังจากประตูนี้เป็นของไทย ถึงมีคำเรียกติดปากว่าแม้เขมรจะได้เขาพระวิหารไป แต่ก็ต้องปีนขึ้นมาจากช่องบันไดหักอยู่ดี

“เมื่อกรรมการมรดกโลกมีมติพิจารณาให้ปราสาทพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลก ก็เท่ากับว่าบันไดทางขึ้นในฝั่งเราก็ต้องเสียไปด้วย สรุปได้เลยว่าบันไดก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก แต่คุณปองพลเขาเข้าใจหรือเปล่า อีกอย่างเราต้องถามหาจริยธรรมมาตรฐานของการเมืองไทยแล้วว่า นักการเมืองที่ต้องคดีบ้านเลขที่ 111 สมควรที่ต้องมารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการมรดกโลกมั้ย” เทพมนตรีกล่าวทิ้งท้าย

ด้านยงธนิศร์ พิมลเสถียร รองประธานอิโคโมสไทย องค์กรหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการพิจารณามรดกโลก กล่าวยอมรับว่า อิโคโมสในไทยแม้จะเป็นองค์อิสระ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เงาของบางสิ่ง ซึ่งหน้าที่ของอิโคโมส คือรับจ้างประเมินแหล่งโบราณสถานตามหลักวิชาการ

ส่วนประเด็นปราสาทพระวิหาร ทางอิโคโมสทราบเรื่องมาตลอด แต่ไม่มีอำนาจทำอะไร การวิเคราะห์ต่างๆอยู่ที่คณะกรรมการมรดกโลก อย่างไรก็ตามทางอิโคโมสไทย ได้ทำรายงานโต้แย้งไปทางยูเนสโกแล้ว

นอกจากนี้ยงธนิศร์ยังมองว่า เรื่องการเขตแดนล้ำเข้ามาในไทยที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังกังวลยังเป็นปัญหารอง จากปัญหาการวิเคราะห์เรื่องคุณค่ามรดกวัฒนธรรม

“การประชุมที่ไครส์เชิร์ทแทนที่จะบอกว่าพื้นที่ชายแดนมีปัญหา เราอาจขึ้นไปประท้วงว่ารายงานของอิโคโมสสากลขาดความสมบูรณ์ แต่เราไม่ได้ประท้วงว่าเขาทำผิด เราไม่ได้ประท้วงเรื่องการวิเคราะห์คุณค่า แต่เราไปประท้วงเรื่องเขตแดน เพราะฉะนั้นเขาเลยให้มาทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ไม่มีผลต่อเขตแดน การกำหนดพื้นที่มรดกโลกจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเส้นเขตแดนอะไรทั้งสิ้น เราไม่ได้ประท้วงเรื่องที่อิโคโมสสากลทำด้านวิชาการไม่สมบูรณ์ แต่เราไปประท้วงเรื่องเขตแดนการเสนอที่ไครส์เชิร์ทเราใช้ยุทธศาสตร์ผิดในการ ประท้วง”ยงธนิศร์กล่าววิเคราะห์

สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดในด้านใดก็ตาม สิ่งที่เราต้องมองไปข้างหน้าก็คือในเรื่องของพื้นที่ใกล้เคียงตัวปราสาทพระ วิหารในฝั่งไทยและพื้นที่ทับซ้อน ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ ซึ่งในฐานะคนไทยเราคงต้องเฝ้าติดตามข่าวสารในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมืองขายชาติที่เห็นผลประโยชน์ส่วน ตัวสำคัญกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ลวดลายแกะสลักที่หน้าบันแห่งหนึ่งของปราสาทพระวิหาร
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ กรณีข้อพิพาท “ปราสาทเขาพระวิหารไทย-กัมพูชา” โดยสังเขป

พ.ศ.2404 ฝรั่งเศสได้ไซ่ง่อนและเวียดนามใต้เป็นอาณานิคมและเริ่มมีความสนใจในลาวและกัมพูชา

พ.ศ.2410 สยามกับฝัร่งเศสมีการทำสนธิสัญญายอมรับกัมพูชาเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสยกเว้นเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ

พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสเข้ายึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมทั้งให้สยามทำสนธิสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส

พ.ศ.2447 สยามทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยกเมืองหลวงพระบางกับดินแดนทางใต้ภูเขาดงเร็กให้ ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบุรี (ที่ถูกฝรั่งเศสยึดไปก่อนหน้า)

พ.ศ.2450 สยามทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสยกดินแดนเสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย เมืองตราด และเกาะแก่งทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมลิงลงไปจนถึงเกาะกูดให้กับสยาม

พ.ศ.2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนปราสาทเขาพระวิหารโดยมี เรสสิเดนต์ กำปงธม (ผู้ว่าราชการจังหวัดกำปงธม)ชาวฝรั่งเศสแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศพร้อมชักธง ชาติฝรั่งเศสมารอรับเสด็จ (ภายหลังกัมพูชาได้นำกลับไปเป็นข้ออ้างในศาลโลก)

พ.ศ.2483 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม พบว่าพรมแดนเขตนี้ใช้ลำห้วยเป็นเส้นเขตแดนแทนที่เป็นสันปันน้ำ จึงได้มีความพยายามขอแก้ไขการปักปันเขตแดนในส่วนนี้กับฝรั่งเศส

พ.ศ.2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่2 กองทัพญี่ปุ่นในฐานะของมหามิตร เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอินโดจีน กรณีรัฐบาลไทยโดยการนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กรีธาทัพเข้ายึดดินแดนที่เคยเสียไปสมัยรัชกาลที่5 กลับคืนมา ทำให้ไทยได้ดินแดนที่เคยเสียไป (รวมทั้งปราสาทเขาพระวิหาร)กลับคืนตามสนธิสัญญาโตกิโอ แต่ภายหลังจบสงครามโลกครั้งที่2รัฐบาลไทยเพื่อหลีกสถานะผู้แพ้สงครามจึงต้อง คืนดินแดนดังกล่าวกลับให้ฝรั่งเศส

พ.ศ.2492 กัมพูชากับฝรั่งเศสร่วมกันคัดค้านอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารของ ประเทศไทยนับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร

พ.ศ.2501 เริ่มมีความเคลื่อนไหวของกัมพูชาเกี่ยวกับปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ตลอดจนการโต้ตอบทางหนังสือพิมพ์ของไทยและกัมพูชา เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐบาลไทยประกาศสภาวะฉุกเฉินทางชายแดนไทยด้านกัมพูชารวม 6 จังหวัด คือ จันทบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จ.อุบลราชธานี ในปลายปีเดือนธันวาคม กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย

6 ต.ค. 2502 รัฐบาลกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลกให้วินิจฉัย กรณีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา

15 มิ.ย. 2505 ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา
พ.ศ.2513 - 2518 กัมพูชาภายใต้การนำของรัฐบาลลอนนอล ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยขึ้นใหม่และเปิดปราสาทเขาพระ วิหารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับบุคคลทั่วไป

พ.ศ.2518-2534 ภายหลังการล่มสลายของรัฐบาลลอนนอลและเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างเขมรฝ่าย ต่างๆทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นชมปราสวาทเขาพระวิหาร

พ.ศ.2535 กัมพูชาเปิดปราสาทเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังการยุติลงของสงครามกลางเมือง

พ.ศ.2550 กัมพูชายื่นเรื่องขอให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ในที่ประชุมองค์การยูเนสโก ณ เมืองไครส์เชิร์ท ประเทศนิวซีแลนด์ และไทยยื่นเรื่องคัดค้านโดยอ้างถึงเรื่องความเชื่อมโยงของปราสาทเขาพระวิหาร กับปราสาทหินอื่นๆที่ตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย ทำให้องค์การยูเนสโกจึงยุติเรื่องไว้ก่อนเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปใหม่ในเดือน มิถุนายน พ.ศ.2551

พ.ศ.2551 การประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก เดือนมิถุนายนพ.ศ.2551พิจารณาคำร้องปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา อีกครั้งหนึ่ง และล่าสุด 8 กรกฎาคม 2551 องค์การยูเนสโกมีมติอนุมัติให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา




Create Date : 24 กรกฎาคม 2551
Last Update : 24 กรกฎาคม 2551 12:11:48 น. 0 comments
Counter : 349 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

The Ocean & Hill
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add The Ocean & Hill's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.