Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
23 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
สู่ฝันอันยิ่งใหญ่..จากบรอดเวย์ต้นฉบับ สะท้อนความจำเป็นของบทละครดีๆ ที่ขาดแคลนของมิวสิคัลแบบไทยๆ




ในที่สุดดวงชะตาก็ยังสมพงษ์กับ “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” Man of La Mancha บรอดเวย์มิวสิคัลภาคภาษาไทย

ถึงแม้ตำแหน่งที่นั่งจะระเห็ดไปอยู่ชั้นสอง แต่ก็มิได้ไกลเกินที่จะสัมผัสพลังของละครเพลงที่แปลงจากบทต้นฉบับจากละครบรอดเวย์ที่ได้รับรางวัลโทนี่มาถึง 5 รางวัล รวมทั้งรางวัลมิวสิคัลยอดเยี่ยมที่เล่นมาแล้วถึง 2329 รอบ

ไม่น่าเชื่อว่าบทละครดีๆ ..ถึงเวลาจะผ่านไป 40 กว่าปี ก็ยังสามารถยืนหยัดเล่นมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึง Theme ของเรื่องที่ทรงพลังและไม่เคยล้าสมัย เรื่องของอุดมคติและความใฝ่ฝันของมนุษย์ที่มีในทุกผู้ทุกนาม หากแต่ถูกสังคมโลกอันโหดร้ายครอบงำมันไว้จนแทบจะลืมเลือนไปว่าทุกคนยังมีความหวังในความดีและความถูกต้องอยู่

และก็เป็นข้อพิสูจน์อันดีว่า บทดั้งเดิมที่ดีมีคุณภาพ ต่อให้แปลงเป็นภาษาอะไร หากได้รับการนำเสนออย่างเข้าใจในแก่นของมัน ด้วยโปรดักชั่นที่ถึง ละครเพลงเรื่องนั้นๆ ย่อมมีชีวิตชีวาอยู่ได้อย่างไร้กาลเวลา

ต้องขอยกย่องให้กับ Dale Wasserman ที่ใช้เวลาพัฒนาเรื่องราวของอัศวินสติแตก ดอน กิโฮเต้ นับเป็นปีๆ กว่าจะก้าวมาถึงความสำเร็จของบรอดเวย์มิวสิคัล Man of La Mancha นี้ และได้สะท้อนสัจธรรมอย่างหนึ่งของการผลิตมิวสิคัลที่ดีว่า คุณภาพของบทละครนั้น.. สำคัญที่สุด

มิวสิคัลแบบไทยๆ เท่าที่เห็น มักจะเขียนบทจากนวนิยายแนวประโลมโลกย์ที่ขาดความลึกในด้านปรัชญาการใช้ชีวิตและขาดวิธีนำเสนอที่ประณีตแยบยล (ยังไม่รวมถึงคุณภาพโปรดักชั่นและผู้แสดงฯลฯ) ฉะนั้น คุณค่าของมันในแง่มุมของละครเพลงสไตล์บรอดเวย์ จึงไม่นับว่าถึงขั้น...สักครั้ง





สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ เวอร์ชั่น 2551 นี้ นับว่าเป็นบทพิสูจน์สำคัญว่า บทละคร การประพันธ์ดนตรี และรูปแบบการนำเสนอของบรอดเวย์ต้นแบบนั้น ยังคงความเป็นมืออาชีพที่เรายังตามอยู่ห่างๆ... ต้องขอชมว่าผู้กำกับและโปรดักชั่นดีไซน์ นำเสนอเวอร์ชั่นแบบไทยๆ ได้กลมกลืน กระชับชวนติดตาม และสื่อสารเนื้อหาที่ซับซ้อนได้ดีระดับหนึ่งทีเดียว

ไม่เคยชมเวอร์ชั่นออริจินัลที่บรอดเวย์ ก็เลยบอกไม่ได้ว่า สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ได้แปลงกายจากต้นฉบับไปกี่มากน้อย แต่โครงสร้างที่แน่นหนาของตัวละคร ทั้งเนื้อหา ทั้งเพลง และลีลาบนเวที ทำให้เห็นคุณค่าของมันชัดเจนเหนือละครที่ซีเนรีโอเคยทำๆ มา

และก็ไม่เคยชม สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ปี 2530 ก็เลยไม่เห็นข้อเปรียบเทียบ หากฟังจากเพื่อนฝูงที่เคยเป็นทีมงานในยุคนั้น ต่างบอกว่าจุดด้อยคือดนตรี ความไม่พร้อมของวงออเคสตร้าในช่วงนั้น แต่กับดนตรีในเวอร์ชั่นปัจจุบันนี้ ต้องขอชมว่าทำได้ดีทั้งการเรียบเรียง ทีมเวิร์คการบรรเลง และระบบมิกซ์เสียง ฟังได้รื่นหูทีเดียว ได้กลิ่นอายแบบสแปนิชพร้อมเสน่ห์ของเสียงกีต้าร์และเครื่องเป่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าเอาสกอร์ดนตรีต้นแบบมาจากบรอดเวย์หรือเปล่า...

ในส่วนของโปรดักชั่นทำได้โอฬารตระการตาทีเดียว ต้องชมงานโปรดักชั่นดีไซน์ที่ดัดแปลงได้ชาญฉลาดและดูมีรสนิยม ฉากคุกกับการจัดแสงที่ดี ทำให้ได้บรรยากาศอันน่าทึ่ง เทคนิคการเปลี่ยนฉากแต่ละครั้งก็ทำได้เนียนดูมีชั้นเชิง ถึงแม้จะมีบางฉากอย่างบริเวณลานโรงเตี๊ยมซึ่งเป็นฉากสำคัญที่เกิดเหตุการณ์มากหลาย กลับกลายเป็นฉากที่มีข้อด้อย ดูด้านๆ ไร้มิติอย่างที่ควรจะเป็น และเทคนิคการจัดแสงที่ต่างเวลาก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไร

อาจจะเพราะนั่งอยู่ชั้นบน เลยทำให้เห็นมุมมองของฉากในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ลงตัวอยู่ อย่างไรก็ตาม..การออกแบบฉากละครที่ดี ย่อมต้องเผื่อมุมมองในทุกมิติ ไม่ใช่นั่งชั้นบนแล้วเห็นตรงนั้นโหว่ตรงนี้เพี้ยน และที่เป็นปัญหายิ่งคือ การย้ายมาเล่นฉากมุมซ้ายขวาของเวทีอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นเนื้อที่แคบๆ และจำกัดมุมมองของคนดูชั้นบน เลยต้องมีอาการคอยืดคอยาวบังกันนัวเนีย ขณะที่เรื่องราวการแสดงล้วนเป็นบทสำคัญๆ ของเรื่อง ให้รู้สึกขัดใจมิใช่น้อย

พยายามจินตภาพตัวเองนั่งอยู่ตำแหน่งบัตรราคาแพง (โคตร) ด้านล่าง ก็คงต้องเตรียมเคาเตอร์เพนไว้แก้คอเคล็ดเช่นกัน เพราะแต่ละฉากต่างฉีกซ้ายขวากันสุดๆ แถมเล่าเรื่องกันเป็นเพลงยาวๆ ทั้งสิ้น สรุปว่า กรุณาใช้เนื้อที่ของเวทีใหญ่ให้คุ้มเถิด ขี้เกียจต้องไปใส่เฝือกคออะจ้ะ..





องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการออกแบบท่าเต้น ไม่แน่ใจว่านำต้นฉบับมาใช้มากน้อยเพียงใด แต่ทำในแนว Contemporary ได้เกร๋ทีเดียว เทียบกับละครมิวสิคัลไทยๆ ที่เคยชมกัน..ดูจะเหนือชั้นกว่าหลายขุม โดยเฉพาะฉากอัลดอนซ่าถูกข่มขืนนั้น ต้องอาศัยความสามารถของทั้งผู้ออกแบบท่าเต้นและนักแสดงอย่างสูง ก็ไม่แปลกใจอยู่หรอกที่ตัดสินใจเลือกเมย์มารับบทนี้ เพราะเจ้าหล่อนมีพื้นฐานในการเต้นสมกับบท

เมื่อเอ่ยถึงเมย์ ภัทรวรินทร์ น่าเสียดายว่าพลังการร้องของเธอดูอ่อนด้อยกว่าเพื่อนในบรรดากลุ่มนักแสดงตัวเอกด้วยกัน แถมบทอัลดอนซ่ายังต้องร้อง (และเต้น)กันให้กระหน่ำอยู่หลายเพลง มิวสิคัลนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยกับคุณภาพการร้องที่ต้องได้มาตรฐาน สังเกตได้ว่าเพลงที่เธอร้องจบแต่ละครั้ง โอกาสที่คนดูจะปรบมือชื่นชมอย่างอื้ออึงนั้นมีน้อยกว่าสองหนุ่ม เจมส์ และเบน อยู่หลายขุม เลยทำให้ความจับใจในลีลาการแสดงของเธอต้องพลอยลดถอยลงไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งมีเพลงยาวๆ ต้องลากดอน กีโฮเต้วิ่งไปวิ่งมา (ราวกับหนังอินเดีย) รอบลานโรงเตี๊ยมแบบโล่งๆ ยิ่งทำให้สมาธิคนดูเริ่มแกว่งไปมา เริ่มเอาไม่อยู่ว่างั้น...

พูดถึงการแสดงก็เลยต้องขอวกมาที่ตัวเอก ดอน กีโฮเต้ ซึ่งสวมบทโดยพ่อเจมส์ ข้าวมันไก่ ที่ใครๆ พากันปลื้มสุดริดสุดเดช แต่อาจเพราะฟังเสียงชมมามากไปนิด ข้าพเจ้าก็เลยรู้สึกปลื้มแค่พอท้วมๆ พลังการร้องของเขาถือว่าโอเคเลยทีเดียว ฟังกระหึ่มได้ระดับหนึ่ง หากแต่อาจต้องโทษคำร้องไทยๆ ที่ออกสำเนียงมิวสิคัลค่อนข้างยากอยู่ โดยเฉพาะเพลงเอก (The Impossible Dream) ภาคภาษาไทยนั้นถึงจะเล่นคำดูสละสลวย หากแต่ร้อยเรียงอารมณ์ได้ไม่เท่าต้นฉบับ แถมคำร้องมันไม่ไหลลื่นพาไปสู่พีคได้อย่างภาษาปะกิต ฟังแล้วตะหงิดๆ อยู่พิลึก

นอกจากนั้นยังมีสรรพนามอีกเยอะแยะมากมายในบท ทั้งข้า และท่าน.. ผมและคุณ ฉันและเธอ...ครับ..ค่ะ โฮ้ย ทำเป็นหนังทีวีพีเรียดเกาหลีไปด้ายย...ที่ชอบพูดคะๆ ครับๆ ไปกับคำว่าข้า..เจ้า... เลยรู้สึกประดักประเดิดอยู่ แต่เอาเถอะ การแสดงหมู่มวลที่หอบหิ้วไปกันได้ดีพอควร ก็นำพาให้ดูอย่างเพลิดเพลินพอลืมจุดเล็กจุดน้อยนี้ไปได้

และที่เห็นชัดอยู่ประเด็นหนึ่งคือ นักแสดงไทยมิได้ถูกฝึกฝนให้มาเล่นละครแนวพีเรียดแบบฝาหรั่งเขา การใช้โทนน้ำเสียงให้ฟังได้อารมณ์กับไดอะล็อกภาษาโบราณยากๆ เลยกลายเป็นปัญหาสามัญที่แก้ไม่ตก (ใครได้ชมภาพยนตร์ที่เจเรมี ไอออนส์เล่น จะเห็นได้ชัดว่านักแสดงที่ถูกฝึกมาด้านนี้ ทำได้น่าทึ่งเพียงใด) ทำให้อารมณ์ในบทพุ่งไม่ได้ไปถึงเป้า เจมส์ ในบทหนุ่ม กับบทแก่ ฟังดูไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไร แถมเทคนิคในการคอนโทรลน้ำเสียงยังไม่ถึงขั้น ก็เลยทำให้การตีความของบทดูธรรมดาไปในบางช่วง แต่โดยองค์รวมก็ถือว่าเขาสอบผ่านได้ดีทีเดียว

น้องเบน ชลาทิศ ในบทของซานโช คนรับใช้อัศวินกลับทำได้ดีเกินคาด ถึงแม้จะดูลุกลนเกินเหตุไปบ้าง แต่สีสันคำพูดของเขาทำให้ตัวละครดูกระตื้อรือล้นมีชีวิตชีวา และอาศัยพื้นฐานการร้องที่หายห่วง ทำให้ลีลาการแสดงดูไหลลื่นช่วยสนับสนุนบทเจ้านาย ดอน กีโฮเต้ได้เข้าท่าทีเดียว จะดูพิกลอยู่บ้างก็คงจะเป็นชุดที่ดูคล้ายคุณป้าๆ โดยเฉพาะเสื้อลายดอก..เหอๆๆ เอาเถอะ สำหรับหน้าใหม่บนเวทีมิวสิคัล ก็ถือว่าทำได้ดีทีเดียว เพียงแต่หมั่นฝึกฝนจังหวะจะโคนอีกสักหน่อย






ปรากฎว่านักแสดงที่ทำหน้าที่ได้โดดเด่นกลับเป็นบทรองๆ อย่างเช่น บาทหลวง (ศรันย์ ทองปาน) แม่บ้าน (นภาดา สุขกฤต) อันโตเนีย (รพีพร ประทุมอานนท์) กัลบก (สุเมธ องอาจ) และเจ้าของโรงเตี๊ยม (บุญพงศ์ พานิช)..ซึ่งร้องกันได้ไพเราะมหัศจรรย์ พอมาเข้าขากันแล้วสามารถตรึงคนดูให้อยู่หมัด เรียกเสียงปรบมือได้เกรียวกราว

ส่วนโอ อนุชิตในบทคุณหมอ (และอื่นๆ) ก็ทำหน้าที่ได้น่าชมเชย (ยกเว้นเรื่องร้อง..แหะๆ) กัลบกสุเมธก็น่าเสียดายที่มีโอกาสออกมาแดนซ์พร้อมควงมีดโกนได้แว็บๆ เพราะเขามีศักยภาพที่จะเล่นอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะ (เท่าที่ฟังสัมภาษณ์ จริงๆ แล้วเขามาออดิชั่นบทนำ)

จังหวะการแสดงที่ดูกระชับเกินเหตุ บางครั้งก็เลยทำให้อารมณ์นักแสดงที่รับส่งมันดูห้วนๆ ไปอยู่ไม่น้อย การเน้นจังหวะที่ Hit อารมณ์คนดูให้ได้เสียงฮือฮามันเลยข้ามๆ ไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะช่วงการแสดงหมู่ที่ต้องมีการรับส่งจากนักแสดงหลายคนพร้อมๆ กัน

แล้วก็อดวกมาที่นักแสดงคอรัสทั้งหลายที่ทั้งร้องทั้งเต้นกันอย่างเหน็ดเหนื่อย โดยรวมทุกๆ ฉากต่างทำได้ตื่นตากว่ามิวสิคัลไทยๆ ที่เห็นมา ทำให้เห็นศักยภาพของนักเต้นของไทยว่าพัฒนาได้เข้าขั้น ถ้าได้ผู้ออกแบบและฝึกสอนที่มีความสามารถ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องร้องแล้ว ก็ต้องกุมขมับอยู่น้อยๆ...ยังต้องผลิตคนที่มีคุณภาพระดับคอรัสอีกมากหลาย

รอบสุดท้ายที่ไปชมนี้ คนดูพร้อมใจกันไปดูชนิดว่าเต็มโรงเกินความคาดหมาย และทุกคนดูตั้งอกตั้งใจดูกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้หอบลูกจูงหลานเข้าไปวิ่งเล่นเหมือนมิวสิคัลไท้ไทยทั้งหลายแหล่ ท้ายสุดหลังจาก finale ผู้กำกับก็ขึ้นมาพูดขอบคุณด้วยความตื้นตันจนพูดไม่ออกไปอยู่ช่วงหนึ่ง คนดูก็ปรบมือกันกระหน่ำแสดงความชื่นชมอย่างไม่ต้องกั๊กๆ ไว้เหมือนดูละครเพลงเรื่องอื่น สะท้อนความประทับใจของคุณภาพมิวสิคัลที่นับว่ามีองค์ประกอบสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง

อ่านในสูจิบัตรเห็นบทนำของคุณบอยพูดถึง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่นี้ ชอบตรงที่เขาพูดอยู่ช่วงหนึ่งว่า ถ้าให้เขาทำเอง เขาคงทำได้ไม่ถึง ก็ต้องให้คนที่มีศักยภาพกว่ามาทำ ก็ต้องขอบคุณที่อุตส่าห์เห็นความสำคัญของละครแนวนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นอะไรที่ตลาดและดูง่ายนัก และเปิดโอกาสให้ผู้กำกับที่ถนัดแนวนี้มาสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้ได้ดูกัน

หวังว่าคงจะได้มีบรอดเวย์มิวสิคัลภาคภาษาไทยแบบนี้มาให้ตื่นตาตื่นใจกันอีกในอนาคตอันใกล้...







Man of La Mancha

1966 Tony Award nominations
• Tony Award for Best Musical - Written by Dale Wasserman; Music by Mitch Leigh; Lyrics by Joe Darion; Produced by Albert W. Selden, Hal James (WINNER)
• Tony Award for Best Composer and Lyricist - Music by Mitch Leigh; Lyrics by Joe Darion (WINNER)
• Tony Award for Best Actor in a Musical - Richard Kiley (WINNER)
• Tony Award for Best Scenic Design - Howard Bay (WINNER)
• Tony Award for Best Costume Design - Howard Bay, Patton Campbell
• Tony Award for Best Choreography - Jack Cole
• Tony Award for Best Direction of a Musical - Albert Marre (WINNER)

2003 Tony Award nominations
• Tony Award for Best Revival of a Musical - Produced by David Stone, Jon B. Platt, Susan Quint Gallin, Sandy Gallin, Seth M. Siegel, USA OSTAR Theatricals; Produced in association with Mary Lu Roffe
• Tony Award for Best Actor in a Musical - Brian Stokes Mitchell
• Tony Award for Best Actress in a Musical - Mary Elizabeth Mastrantonio




Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 มิถุนายน 2551 23:24:39 น. 6 comments
Counter : 995 Pageviews.

 
ไปดูมาแว้วก็รุสึกชอบนะคะ ด้วยอะไรหลายๆอย่าง

รอเรื่องต่อไปว่าจะทำเรื่องไหนอีก

โฮ่ๆๆๆๆๆ


โดย: แจ่มจันทร์ IP: 58.9.67.64 วันที่: 24 มิถุนายน 2551 เวลา:23:26:35 น.  

 
ผมเคยอ่านแต่เวอร์ชั่นนิยาย


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 25 มิถุนายน 2551 เวลา:10:25:11 น.  

 
โอ Man of La Mancha นี่เองคือสู้ฝันอันยิ่งใหญ่ .. อยากไปดูมั่งจังค่ะ อยากรู้เป็นยังงัย

.. แวะมาตอบพี่หมีว่า แอมมาเรียนโทค่ะ อยู่ลอนดอนตรงย่านที่มีโรงละครเยอะแยะพอดี เลยกะว่าจะแวบไปดูกะเค้ามั่งค่ะ แหะๆ ^^



โดย: สัมปันนี วันที่: 30 มิถุนายน 2551 เวลา:5:50:00 น.  

 
ไอดูมา แถวบนสุด ได้แต่ดื่มด่ำดนตรี เสียงร้อง และฉาก แสงสี
แต่มาเห็นหน้านักแสดงชัดๆที่นี่แหละ
เห็นด้วยกะ จขบ เรื่องนักแสดงทั้งหมดเลย
ยังไม่สุดยอด แต่โดยรวม ก็นับว่าโอเค ดีเกินคาด
เนื้อหาแบบนี้ช่างเหมาะกับสังคมไม่ว่าสมัยใด
เสียดายที่ไม่ค่อยจะฮือฮา

ปล. ไม่ได้สูจิบัตร เขาต้องซื้อรึ ทำไมเราไม่ได้ แค่เข้าช้าอ่ะ


โดย: ทำไมต้องล็อกอิน วันที่: 30 มิถุนายน 2551 เวลา:16:42:15 น.  

 
ครั้งแรกที่เ็ห็นเจมส์ เรืองศักดิ์ออกมาร้องเพลงสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ โปรโมทละครเวที
คำถามแรก คือ ใครน่ะ
พอรู้ว่าเป็นเจมส์ เฮ้ยย เลือกมาได้ไงฟะ

แต่พอเห็นเบื้องหลังการซ้อม การวางบท โอ้ แม่เจ้า นายแน่มาก
แน่ขนาดว่าได้รับบทที่ิยิ่งใหญ่ที่ผ่านสายตาคนทั้งโลกมาแล้ว กว่า 40 ปี

ไม่ไ้ด้ไปดูหรอกค่ะ ติดภาระผูกพันหลายๆอย่าง แต่ก็แอบๆคลิ๊กไปดูที่นั่งว่างๆบนจอ Thai Ticket Major อยู่เป็นระยะ อยากจองแต่ไม่กล้า เพราะภาระผูกพันนี่แหล่ะ

เคยเห็นสูจิบัตรตอนที่ละครสองแปดทำไว้ครั้งที่แล้ว ฉบัับโรงละครแห่งชาติ
รายชื่อนักแสดงครั้งนั้น แม้แต่นักแสดงเล็กๆ หลายๆคนก็ได้กลายเป็นคนโด่งคนดัง ในวงการสื่อ วงการโทรทัศน์ และ ภาพยนตร์กันไปหมดแล้ว
ขอบคุณสำหรับการทำบทวิจารณ์มาให้ได้อ่านกันค่ะ ชอบจริงๆ


โดย: Shallow Grave วันที่: 5 กันยายน 2551 เวลา:10:54:01 น.  

 
แอบมาบอกพี่หมีว่า ไปดูมาเหมือนกันครับเรื่องนี้

ทั้งเวอร์ชั่น 2530 กับ 2551

เวอร์ชั่นแรกนู้น ผมยังเป็นละอ่อนอยู่เลย

ตอนนู้น จำได้ว่า ฉากคุกอลังการมาก คุณนรินทรร้องและเล่นดีมากถึงมากที่สุด คุณศรัณยูเล่นดีทีเดียว คุณจรัลร้องดีทีเดียว (เสียดายว่า ถ้ารวมร้องและเล่นดีได้ในคนเดียว จะสมบูรณ์ที่สุด)

ตัดฉับมา 2551

ฉากคุกยังอลังการเหมือนเดิม แต่ความตื่นตามันหายไปแล้ว เพราะเคยเห็นมาแล้วเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และเคยเห็นที่มันอลังการกว่านี้มาแล้ว

สิ่งที่เหนือความคาดหมาย คือ เจมส์ครับ เพราะตลอดมาภาพที่มีอยู่ในหัวคือ เจมส์ข้าวมันไก่ แต่จากเรื่องนี้ ต้องหันมามองเจมส์ใหม่ ด้วยสายตาชื่นชมครับ

ส่วนเบน ผมว่า ทำได้ดีพอสมควร แต่เหมือนขาดเสน่ห์อะไรบางอย่าง ที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าเค้ารักและเทิดทูนนายจริงๆ

บทดัลซีเนีย ของเมย์ ชื่นชมความตั้งใจครับ ผมว่า ยังกร้านไม่พอ แล้วพอมาเจอฉากถูกข่มขืน ต้นทุนพื้นฐานการร้องที่มีอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่สามารถตรึงคนดูได้ (เฮ่อ อดเปรียบเทียบกับ คุณนรินทรไม่ได้อยู่ดี ที่จนถึงทุกวันนี้ ผมยังจำฉากนี้ฝีมือคุณนรินทรได้ติดตา)

นอกนั้นก็ ภาคดนตรีที่สมบูรณ์แบบ โปรดักชั่นที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตัวละครอื่นๆที่ขาดๆเกินๆนิดหน่อย แต่ชอบบาทหลวง คู่หมั้น นางกำนัล และโดยเฉพาะ ม้าสองตัวนั่นด้วยครับ

สรุปว่า ดูแล้วสบายใจครับ


โดย: Fight_on วันที่: 27 ตุลาคม 2551 เวลา:13:14:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Bkkbear
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




งานเขียนบทความ บทหนัง เรื่องสั้น และนวนิยายในบล็อกนี้สงวนลิขสิทธิ์โดย Bkkbear (หมีบางกอก) ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Friends' blogs
[Add Bkkbear's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.