your enjoyable TENTarized knowledge :)
เข้าไปถามคำถามในเฟซบุคที่จะสะดวกตอบกว่านะ ^^
<<
ตุลาคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
3 ตุลาคม 2552

เฉลย: การสังเคราะห์ด้วยแสง

เฉลยเรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง

ตอนที่ 1
1. ถูก อิเล็กตรอนจากน้ำที่แตกตัวด้วย photolysis ถ่ายทอดไปให้ระบบแสง II, ระบบแสง I, ไปรีดิวซ์ NADP+ ให้กลายเป็น NADPH (ทั้งหมดนี้เรียกการถ่ายทอดอิเล็กตรอนแบบไม่เป็นวัฏจักร) ก่อนที่ NADPH จะไปรีดิวซ์ PGA ให้กลายเป็น PGAL ใน Calvin cycle
2. ผิด ที่ถูกต้องเปลี่ยนคำว่าน้ำตาล เป็นกรดอินทรีย์ เพราะอะไรที่ลงท้ายด้วย –ate คือกรดอินทรีย์ (ลงท้ายด้วย –ic acid) ที่แตกตัวเป็นไอออน เช่น acetate คือไอออนของกรดน้ำส้ม acetic acid
3. ผิด chlorophyll มีทั้ง a b c d พบใน photoautotroph ชนิดต่างๆ แต่ไม่พบในแบคทีเรีย ที่ถูกคือ carotenoids ต่างหากพบในทุกชนิด
4. ผิด ผู้ผลิตอาจจะสังเคราะห์ด้วยแสงหรือสังเคราะห์ด้วยเคมี (อย่าง nitrifying bactetia) ก็ได้
5. ผิด Calvin cycle ไม่สร้าง ATP (phosphorylation) แต่ใช้ ATP นอกจากนี้ยังมีการรีดิวซ์ PGA (reduction), เติมหมู่คาร์บอกซีลให้ rubisco (carboxylation) รวมทั้ง regeneration ของ PGAL เป็น rubisco
6. ถูก phosphorylation เป็นปฏิกิริยาดูดพลังงาน 7.3 kcal/mol เพื่อสร้าง ATP ส่วน photosynthesis ดูดพลังงานในรูปแสงเพื่อรีดิวซ์ CO2 ให้ได้น้ำตาล
7. ถูก carotenoids เป็นรงควัตถุพิเศษที่นอกจะส่งผ่านพลังงานแสงไปกระตุ้น reaction center เหมือนรงควัตถุชนิดอื่นๆใน antenna แล้ว ยังช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดจากแสง (photo-oxidative stress) คือพวกอนุมูลอิสระต่างๆ
8. ผิด สิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้ (photoautotroph) อาจจะปล่อย O2 หรือกำมะถันให้กับสิ่งแวดล้อมก็ได้
9. ถูก phycobilin มี 2 ชนิดคือ phycocyanin พบใน cyanobacteria และ phycoerythrin พบใน red algae (ปล. cyano- แปลว่าสีเขียมแกมน้ำเงิน, erythro- แปลว่าสีแดง)
10. ผิด อะตอมของออกซิเจนในโมเลกุลของน้ำ จะแตกตัวโดย photolysis แล้วกลายเป็นโมเลกุลแก๊ส O2 ซึ่งไม่ได้เป็นสารอินทรีย์แต่อย่างใด
11. ถูก เพราะ ATP, NADPH เป็นสารที่ light reaction สร้างขึ้นมาป้อน Calvin cycle (ซึ่งสร้างน้ำตาลจาก CO2 ) ถ้าเกิดมี ATP, NADPH และ CO2 จึงเกิดน้ำตาลได้
12. ผิด พืช C3 อาจมี bundle-shaeth cell แต่ไม่ได้ขนาดใหญ่และไม่มี chloroplast
13. ผิด พืช C4 เป็นพืชไม่อิ่มแสงก็จริง (นั่นหมายความว่าเพิ่มความเข้มแสงอัตราการสังเคราะห์แสงก็จะเพิ่มขึ้นๆ) แต่ถ้าความเข้มแสงมากๆ ไม่ว่าจะเป็น C3 หรือ C4 ก็จะทำให้ใบไหม้จากอนุมูลอิสระ ลดอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสง
14. ถูก ถูกที่สุดโดยไม่ต้องอธิบายใดๆ
15. ผิด เกือบถูกแล้ว แต่ไม่ได้ตรึงจากบรรยากาศสองครั้ง ครั้งแรกตรึงจากอากาศ ครั้งที่สองตรึงจากกรดอินทรีย์ใน mesophyll ต่างหาก

ตอนที่ 2
1. B D C A
หน่วยของการสังเคราะห์ด้วยแสงบน thylakoid membrane เรียกว่า ระบบแสง (photosystem)
บน photosystem ประกอบด้วยกลุ่มของรงควัตถุ (antenna) ฝังอยู่บนโปรตีน
antenna ประกอบด้วยรงควัตถุมากมายที่ช่วยรับและส่งต่อพลังงานไปกระตุ้นโมเลกุลของ chlorophyll a พิเศษ 2 โมเลกุลที่เรียกว่า ศูนย์กลางปฏิกิริยา (reaction center)
2. B A C
ที่ไหนมีโปรตอนมาก ที่นั่นก็เป็นกรดมาก (pH น้อย)
การถ่ายทอดอิเล็กตรอนทำให้มีการปั๊มโปรตอนจาก stroma เข้าไปหา lumen ทำให้ปริมาณโปรตอนใน stroma ลดลงๆและใน lumen เพิ่มขึ้นๆเป็นกรดมากขึ้นๆ ส่วนใน cytosol ต้องอยู่ตรงกลางเพราะไม่ได้ทำอะไรกับโปรตอน
3. ดูในหนังสือเอาเองนะ
4. ไม่ต้องสนใจปฏิกิริยาที่ให้มา สนใจปฏิกิริยารวมของการสังเคราะห์ด้วยแสงคือ 6CO2 + 12H2O กลายเป็น C6H12O6 + 6O2 + 6H2O ดังนั้นในการสร้างน้ำตาล hexose เช่นกลูโคส 1 โมเลกุล จะปล่อยแก๊สออกซิเจนออกมา 6 โมเลกุล
5. A = granum, B = stroma lamella (A + B รวมเรียกว่า thylakoid membrane), C = stroma, D = cytosol
5.1 รงควัตถุสังเคราะห์ด้วยแสงพบที่ thylakoid membrane = A, B
5.2 ที่ที่ผลิต ATP ได้ = thylakoid membrane (A, B ผลิตแบบ photophosphorylation) และ D (ผลิตแบบ substrate-level phosphorylation จาก glycolysis ไง !!)
5.3 rubisco พบใน Calvin cycle เลยต้องอยู่ใน stroma = C
5.4 ribosome พบใน stroma (C) เป็นแบบ 70s และใน cytosol (D) เป็นแบบ 80s
6. จำไว้เสมอว่าถ้าได้ 1 PGAL (3C) จะต้องใช้ 9ATP และ 6NADPH หมุนวัฏจักรให้ครบรอบ
น้ำตาลทราย 1 โมเลกุลมีทั้งหมด 12 C จึงคูณ 4 เข้าไป คือใช้ 36ATP และ 24NADPH
7. จากข้อที่แล้ว พบว่าเราต้องใช้ 24 NADPH
1 NADPH สร้างจากปฏิกิริยาการรีดิวซ์ 1 NADP+ ด้วย 2 e- และรวมกับ 1 H+
ดังนั้น 24 NADPH ก็ต้องสร้างจาก 24 x 2 = 48 e-
8. ในแผนภาพเป็นการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช C4
x = mesophyll cell, y = bundle-sheath cell, A = CO2, B = PEP, C = OAA, D = CO2
8.2 เร่งปฏิกิริยา carboylation ของ PEP เรียกว่า PEP carboxylase

ตอนที่ 3
1. ค.
chlorophyll และ carotenoids เป็นรงควัตถุสังเคราะห์ด้วยแสงหลักของพืช ดูดกลืนพลังงานแสงมากระตุ้น reaction center
แต่ anthocyanin เป็นรงควัตถุสีม่วง ดูดกลืนและสะท้อนพลังงานแสงออกมาสร้างสีสันให้ดอกไม้ใบหญ้า
2. ข.
แก๊สที่มีปริมาณมากแล้วลดประสิทธิภาพของ Calvin cycle ก็คือ O2 เพราะเอนไซม์ rubisco ใน Calvin cycle นั้นสามารถจับ O2 หรือ CO2 มาทำปฏิกิริยากับ RuBP ได้ ถ้า O2 มาก, อุณหภูมิสูง, ปากใบปิด, เกิด photorespiration ก็จะทำลดอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช C3
3. ก.
a) ถูก ATP สร้างจาก substrate-level phosphorylation และ oxidative phosphoralation ในการหายใจระดับเซลล์ และจาก photophosphorylation ในการสังเคราะห์ด้วยแสง
b) ถูก PGA พบใน glycolysis และใน Calvin cycle
c) ถูก PGAL พบใน glycolysis และเป็นผลิตภัณฑ์ของ Calvin cycle
d) ผิด NADPH เป็นตัวขนส่งอิเล็กตรอนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเท่านั้น
4. ข.
อิเล็กตรอนต้องถูกกระตุ้นก่อน (photo-oxidation: ศัพท์คำนี้พี่เจอครั้งแรกในข้อสอบเอนท์นี่แหละ -*-) แล้วทำให้ PSII ขาดอิเล็กตรอน จึงไปแย่งน้ำ เกิด photolysis และการถ่ายทอดอิเล็กตรอนทำให้เกิด photophosphorylation สร้าง ATP ในที่สุด
photorespiration ไม่เกี่ยว เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่พึงประสงค์
5. ง.
a), b) ถูก รงควัตถุรอบๆ antenna จะช่วยกันรับพลังงานแสงในช่วยคลื่นที่ตัวเองรับได้ถนัด (absorption spectrum) แล้วส่งพลังงานไปกระตุ้น reaction center ถ้าพลังงานนั้นมีค่าเทียบเท่าความยาวคลื่น 680 nm ก็เป็น PS II ถ้าเทียบเท่า 700 nm ก็เป็น PS I
c) ถูก นอกจากหน้าที่หลักเมื่อกี้แล้ว carotenoids ยังช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดจากแสง คืออนุมูลอิสระต่างๆด้วย
6. ค.
แสงอาทิตย์หรือแสงขาว เกิดจาก spectrum แสง 7 สี คือ ม่วงครามน้ำเงินเขียวเหลืองแสดแดง
รงควัตถุหลักของผู้ผลิตในโลกจะเป็น chlorophyll ซึ่งมีทั้ง a b c d แต่ทุกอย่างจะสะท้อนแสงสีเขียวออกมา (คือไม่ได้ใช้ประโยชน์) เข้าตาเรา และดูดกลืนแสงสีแดง และน้ำเงิน ไปใช้มากที่สุด ดังนั้นถ้ามีแต่แสงเขียว การสังเคราะห์ด้วยแสงก็จะลดลงเพราะเป็นช่วงที่ photoautotroph ต่างๆ (ซึ่งใช้ chlorophyll ดูดคลื่นแสง) สังเคราะห์ด้วยแสงได้ไม่ถนัด
a) ผิด การสังเคราะห์ด้วยแสงในช่วงคลื่นๆอื่นๆก็ยังมีอยู่แต่น้อย สังเกตได้จาก action spectrum
b) ผิด ผู้ผลิตยังสังเคราะห์ด้วยแสงได้อยู่แต่น้อย
c) ถูก เพราะผู้ผลิตสร้างอาหารได้น้อย อาหารที่ถ่ายทอดต่อไปยังผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหารก็ลดลง
d) ผิด ผู้บริโภคอันดับหนึ่งที่กินพืชก็ต้องได้รับอาหารลดลง มวลชีวภาพก็ต้องลดลง
7. ข.
ก. ผิด มีแค่ระบบ I อย่างเดียวก็สร้าง ATP ได้แล้ว จาก cyclic electron transfer
ข. ถูก การรีดิวซ์ NADP+ ให้ได้ NADPH ต้องใช้สองระบบทำงานแบบ non-cyclic electron transfer
ค. ผิด กระตุ้นระบบแสง I ก็เกี่ยวกับแสงมาทำให้ e- ของระบบแสง I เท่านั้นที่เด้งขึ้นมา
ง. ผิด มีแค่ระบบ I อย่างเดียวก็ปั๊มโปรตอนได้แล้ว จาก cyclic electron transfer
8. ง.
การทดลองของเองเกลมัน บอกว่าช่วงน้ำเงินและแดงนั้นสาหร่ายสีเขียว (spirogyra) สังเคราะห์ด้วยแสงได้มากที่สุด เพราะปล่อยออกซิเจนออกมามากที่สุด โดยสังเกตจาก aerobic bacteria ที่เข้ามาเกาะ
ก. ผิด สรุปง่ายเกินไป ถ้าจะสรุปแบบนี้ก็ไม่ควรแยกแสงและไม่ต้องมีแบคทีเรียก็ได้
ข. ผิด แบคทีเรียตอบสนองต่อปริมาณออกซิเจนต่างหาก
ค. ผิด การทดลองนี้ไม่ได้บอกถึง chlorophyll เลย เป็นความรู้ที่เราใส่เข้าไปเอง
ง. ถูกต้องที่สุด
9. ค.
แสงสีขาวจากไฟฉาย เมื่อผ่านสารละลาย chlorophyll จะทำให้แสงสีน้ำเงินและแดงถูกดูดออกมาไปใช้กระตุ้นระบบแสง แถบรุ้งที่เกิดขึ้นจึงไม่มีสีน้ำเงินและสีแดง
10. ง.
a) ถูก การถ่ายทอดอิเล็กตรอนใน prokaryote, chloroplast และ mitochondria เกิดขึ้นที่ mesosome ในการหายใจระดับเซลล์ของแบคทีเรีย, photosynthetic lamella ในการสังเคราะห์ด้วยแสงของแบคทีเรีย, thylakoid membrane ใน chloroplast และ innermembrane ใน mitochondria ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเยื่อภายในที่พับทบซ้อนเข้ามา
b), c) ถูก ทั้งสามมี DNA อย่างง่าย, RNA, 70s ribosome อยู่ภายใน
11. ก.
มีแสง แสดงว่าจะเกิด light reaction ได้ถ้ามีสารตั้งต้นคือ ADP + Pi และ NADP+ สร้าง ATP และ NADPH และจะเกิด O2 ด้วยจากการกระตุ้นระบบ II
แต่นี่มันไม่มี Pi (หมู่ฟอสเฟต) จึงเกิดเฉพาะ NADPH และ O2
12. ข.
ก. ผิด photolysis เกิดที่ระบบแสง II (P680)
ข. ถูก
ค. ผิด ทั้งแบบเป็นวัฏจักรและไม่เป็นวัฏจักรต่างก็เกิด photophosphorylation สร้าง ATP ได้
ง. ผิด ใช้ทั้งสองระบบต่างหาก
13. ก.
a) ถูก rubisco เป็นโปรตีนที่มีมากที่สุดในโลก (แต่ cellulose เป็นสารชีวโมเลกุลที่มากสุดในโลก)
b) ถูก สามารถเกิด carboxylation จับ CO2 หรือ oxygenation จับ O2 กับ RuBP ก็ได้ rubisco เลยมีชื่อเต็มๆว่า RuBP carboxylase oxygenase
c) ผิด กระบวนการ carboxylation ของ RuBP ให้เป็นกรด PGA ไม่ได้เป็นปฏิกิริยารีดอกซ์ แค่เติมหมู่ carboxyl (-COOH) ให้กับ RuBP เฉยๆ
14. ก.
สำคัญที่สุดในโลก การปั๊มโปรตอนเป็น active transport แต่การไหลกลับของโปรตอนเข้าสู่ matrix ในการหายใจระดับเซลล์ หรือการไหลกลับของโปรตอนเข้าสู่ stroma ของการสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นการแพร่ ซึ่งไม่ใช้พลังงาน (passive transport)
15. ค.
ดูจากตารางเปรียบเทียบในหนังสือ
ก. ผิด ทั้งสองสร้างน้ำตาลตอนกลางวัน เพียงแต่ CAM ตรึง CO2 ตอนกลางคืน
ข. ผิด เฉพาะพืช CAM เท่านั้นที่ปิดปากใบตอนกลางวัน ไม่งั้นน้ำในใบจะระเหยหมดเพราะอยู่ในที่ร้อนมาก
ค. ถูก ทั้งสองใช้ PEP carboxlase มาตรึง CO2 จากบรรยากาศให้ PEP
ง. ผิด ทั้งสองต้องใช้ Calvin cycle ในการตรึง CO2 ครั้งที่สอง
16. ง.
อันนี้ก็เป็นข้อสอบเอนท์ที่ต้องคิดนิดนึง
ก. ผิด เพราะจากกราฟจะเห็นว่า ณ จุด X พืชชนิดนี้ถึงจุดอิ่มแสง (light saturation point) แล้ว เพิ่มไปก็ไม่ช่วยอะไรแถมยังอาจทำให้ใบไหม้จากอนุมูลอิสระได้
ข. ผิด เพิ่มอุณหภูมิแล้วไง นี่เป็นพืช C3 เพราะเป็นข้าวเจ้า เมื่อดูจากเส้นกราฟ เพิ่มอุณหภูมิทุกอย่างก็ยิ่งแย่ เกิดการหายใจแสง ฯลฯ และกราฟนี้เกิดที่ 40 องศา ถ้าเพิ่มมากขึ้นอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงก็จะลดลงเพราะเอนไซม์ต่างๆถูก denature
ค. ผิด ถ้าอยากได้ ATP มากขึ้น การเพิ่ม O2 ซึ่งเป็นตัวรับอิเล็กตรอนตัวสุดท้ายก็ไม่เห็นจะเพิ่มอัตราการหายใจระดับเซลล์ตรงไหน และพี่ก็ไม่เห็นว่าการที่ได้ ATP มากๆจากการหายใจระดับเซลล์จะเพิ่มอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงได้ยังไง เพราะ ATP ใน chloroplast ต้องได้มาจาก thylakoid membrane สิ
ง. ถูก เหมือนจะเป็นไปไม่ได้แต่ในทางทฤษฎีคนออกข้อสอบต้องการยังงี้จริงๆ ถ้าเพิ่มปริมาณ chlorophyll แล้วจะทำให้ระบบแสงมากขึ้น ปริมาณ ATP และ NADPH จาก light reaction สร้างมากขึ้น วัตถุดิบสำหรับการสร้างน้ำตาลก็เพิ่มขึ้นด้วย
17. ก.
ก. ถูก ที่แกน x ด้านซ้ายของ 100 จะทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงสุทธิเป็นศูนย์ สร้างอาหารไม่ได้แต่จะใช้อาหารจากการหายใจระดับเซลล์ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้
ข. ผิด ไม่ตายแต่ก็ไม่โตมากกว่า
ค. ผิด ไม่ใช่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงค่าหนึ่งที่อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงจะคงที่
ง. ผิด อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงจะคงที่ แต่ถ้ามากกว่า 150 มากๆสุดท้ายก็ตายอยู่ดีเพราะใบจะไหม้ แสงทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาในใบจน carotenoids กำจัดทิ้งไม่ไหว
18. ก.
ถ้าโปรตอนไม่ออกจาก lumen กระบวนการถัดมาคือการสร้าง ATP ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปได้ (ค.) เมื่อไม่มี ATP จึงไม่เกิด Calvin cycle (ข.) ซึ่งประกอบด้วย carboxylation, reduction (ง. – reduction ของ PGA แต่เป็น oxidation ของ NADPH) และ regeneration
ส่วนกระบวนการก่อนหน้าการไหลของโปรตอนออกจาก lumen คือ การถ่ายทอดอิเล็กตรอน การกระตุ้นระบบแสง การปั๊มโปรตอน (ก.) ฯลฯ ยังเกิดขึ้นต่อไปได้
19. ข.
A = พืช C4 เพราะประสิทธิภาพในการสังเคราะห์ด้วยแสงคงที่แม้อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย บานไม่รู้โรย
B = พืช C3 เพราะประสิทธิภาพในการสังเคราะห์ด้วยแสงลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ บานชื่น ฯลฯ
ส่วนสับปะรด เป็นพืช CAM
20. ง.
ข้อนี่เป็นข้อสอบเอนท์ที่ค่อนข้างยากมาก ค่อยๆอ่านนะ
เมื่อพิจารณาดูแล้วเนี่ย A = พืช C4 และ B = พืช C3 ใช่มั้ยครับ
ถ้าสิ่งไหนเป็นปัจจัยจำกัดสำหรับสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆแล้ว จะเป็นปัจจัยที่สิ่งมีชีวิตนั้นๆ “ต้องการ” และปริมาณมากน้อย “มีผล”
ยกตัวอย่างเช่น น้ำจืดเป็นปัจจัยจำกัดของกิ้งก่าทะเลทราย แต่ไม่เป็นปัจจัยจำกัดของปลาน้ำจืด
กิ้งก่าทะเลทรายเลยปรับตัวทั้งสัณฐาน (มีเกล็ด) และสรีระ (เปลี่ยนแปลงโครงสร้างท่อหน่วยไต) เพื่อตอบสนองต่อการสูญเสียน้ำจืดที่เป็นปัจจัยจำกัด และปริมาณมากน้อยมีผลคือ ถ้าน้ำน้อยจังก็หิวน้ำจัง ถ้าน้ำมากจังก็สบายดีจัง ในขณะที่ปลาน้ำจืดมีน้ำอยู่เต็มไปหมด เรื่อยๆสบายๆ ปริมาณมากน้อยไม่มีผลเพราะมันมากกกกอยู่แล้ว
หรือไนโตรเจนเป็นธาตุที่เป็นปัจจัยจำกัดของพืชกินแมลง ในขณะที่สำหรับแหนแดงแล้วไนโตรเจนไม่เป็นปัจจัยจำกัด
พืชกินแมลงเลยปรับตัวทั้งสัณฐาน (มีมือดักจับ) และสรีระ (เปลี่ยนวิถี metabolism เพื่อย่อยแมลง) ตอบสนองแต่ไนโตรเจนที่เป็นปัจจัยจำกัด และปริมาณมากน้อยมีผลคือ ถ้าไนโตรเจนมากก็ อ้า..สบายดีจัง DNA ก็ดี โปรตีนก็ดี แต่ถ้ามีน้อยก็จะไม่ดีกับสุขภาพ ในขณะที่สำหรับแหนแดงแล้วมี anabaena ช่วยตรึงไนโตรเจน ปริมาณมากน้อยไม่มีผลเพราะยังไงๆก็มากกกกอยู่แล้ว

เอาล่ะพอจะเข้าใจคร่าวๆนะครับ
ทีนี้มาดูในโจทย์ เมื่อพิจารณาที่ความเข้มแสงน้อยกว่า 500
ความเข้มแสงเป็นปัจจัยจำกัดมั้ย?
เป็นครับ (ดูเฉพาะก่อน 500 นะ) เพราะทั้งพืช A และ B ต้องอาศัยแสงในการสังเคราะห์ด้วยแสง ไม่มีไม่ได้ และแสงมากแสงน้อยมีผลต่อการสังเคราะห์ด้วยแสง เมื่อดูจากเส้นกราฟเห็นไหมว่า ความเข้มแสงน้อยสังเคราะห์แสงได้น้อย แย่จัง ความเข้มแสงมากขึ้นสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น ดีจัง (พูดให้ยากขึ้นคือเส้นกราฟช่องน้อยกว่า 500 นี้เป็นฟังก์ชันเส้นตรง แสงน้อยสังเคราะห์แสงน้อย แสงมากสังเคราะห์แสงมาก มากน้อยมีผล..เราเลยสรุปว่าแสงเป็นปัจจัยจำกัด)
โอเคทีนี้เรามาดูความเข้มข้น CO2 บ้าง
A เป็นพืช C4 ความเข้มข้น CO2 ไม่มีผลนะครับ เพราะ Hatch-slack pathway ทำให้ความเข้มข้นของ CO2 ใน bundle-sheath มีค่าสูงเสมอ เปรียบเสมือนปลาที่อยู่ในน้ำจืด หรือแหนแดงเมื่อกี้แหละครับ มากน้อยไม่มีผลเพราะยังไงมันก็มากๆๆตลอด
ส่วน B เป็นพืช C3 ความเข้มข้น CO2 เป็นปัจจัยจำกัดครับ เพราะมันต้องเผชิญกับภาวะที่ CO2 มาก ซึ่งทำให้สังเคราะห์ด้วยแสงได้มาก และภาวะที่ CO2 น้อยทำให้สังเคราะห์แสงได้น้อย (อย่างเช่นเวลาอากาศร้อนขึ้นไงครับ CO2 ลดลง O2 ก็แย่ง rubisco จับ RuBP ทำให้อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง พืชก็รู้สักแย่จัง) นั่นคือมากน้อยมีผลนั่นเอง
21. ข.
พืช B เป็นพืช C3 ในที่แจ้งนะ เพราะว่าในชีวิตจริงๆต้องการความเข้มแสงมากกว่า ส่วน C เป็นพืช C3 ในที่ร่ม เพราะต้องการความเข้มแสงน้อยกว่าก็อยู่ได้แล้ว การเปรียบเทียบกันแล้วพืช B (ที่แจ้ง) จะต้องมีขนหรือ cuticle มากกว่า, มี chlorophyll น้อยกว่า, มีใบหนากว่า และชั้น palisade mesophyll หนากว่า เหมือนที่หนังสือบอกที่หน้า 75 แหละครับ
22. ก.
โครงสร้างนี้เป็นของ C3 ครับ เห็นไหมว่า mesophyll มี 2 ชั้น ชั้นบนเป็นแท่งๆ ชั้นล่างดูหลวมๆ
ผลิตภัณฑ์ตัวแรกของการสังเคราะห์ด้วยแสงคือ PGA ครับ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น PGAL
(ผลิตภัณฑ์ตัวแรก ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่หลุดออกมาจากวัฏจักรนะครับ เค้านับ PGA เป็นตัวแรก เลยเรียกว่าพืช C3 หรือถ้าเกิดได้ OAA เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรก เลยเรียกว่าพืช C4 ไงครับ)
23. ค.
ดูในหนังสือเอานะครับ ข้าวเหนียวเป็นพืช C3 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืชอะไร เส้นกราฟก็จะเป็น ค. สัมพันธ์กับอัตราการทำงานของเอนไซม์กับอุณหภูมิครับ (แต่ถ้าเป็นประสิทธิภาพการสังเคราะห์ด้วยแสงกับอุณหภูมิ พืช C3 จะได้เส้น ข. นะ ดูแกน Y ดีๆ)
การที่แกน Y เป็น อัตราการสังเคราะห์ด้วยแสง หรือ ประสิทธิภาพการสังเคราะห์ด้วยแสง มันต่างกันยังไงนั้น ..น้องๆก็จำๆไปเถอะครับ -*- พี่คลับคล้ายคลับคลาว่ามันเป็นค่า log ของกันหรืออะไรประมาณนี้อะ
24. ก.
ก. ผิด PEP carboxylase จำเพาะต่อ CO2 เท่านั้น ไม่จับ O2
ข. ถูก เพราะ Hatch-slack pathway จะส่ง CO2 มาป้อน bundle-shaeth cell ตลอด
ค. ถูก เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้แก๊สละลายได้ลดลง แต่ด้วยความสามารถในการละลายของ O2 ทำให้สัดส่วน O2 ในใบเพิ่มขึ้น สุดท้ายเลยไปแย่งจับกับ rubisco เกิด oxygenation และ photorespiration ในที่สุด
ง. ถูก พืช C4 ปรับตัวมาเพื่อทนต่ออากาศร้อน เมื่อร้อนก็หรี่ปากใบแต่ยังไง Hatch-slack pathway ก็ยังคงส่ง CO2 มาป้อน bundle-sheath cell อย่างสม่ำเสมอนะ
25. ค.
A = RuBP, B = ไม่ต้องสนหรอกชื่อมันนน่ะ, C = PGA, D = PGAL
เสถียรมากที่สุดก็ต้องเป็น D เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมา ไม่ต้องไปทำอะไรกับสารตัวกลางอื่นๆของวัฏจักรอีกแล้ว
เสถียรน้อยที่สุดก็ต้องเป็น B เพราะพอ RuBP + CO2 กลายเป็น B ปุ๊บก็แตกตัวเป็น C (PGA) ทันทีเลยโดยที่หนังสือเรียนยังไม่สนใจจะบอกชื่อมันให้น้องรู้จักเลย ไม่เสถียรจริงๆ


Create Date : 03 ตุลาคม 2552
Last Update : 19 ตุลาคม 2552 20:12:42 น. 46 comments
Counter : 38409 Pageviews.  

 
การสังเคราะห์เเสงมีวิธ๊อย่างไรบ้าง


โดย: เเป้ง IP: 113.53.7.248 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:03:46 น.  

 
อยู่ในหนังสือหน้า 67 - 76 ครับ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา:19:35:46 น.  

 
พี่เต็นคะ
หนังสือเรื่องสังเคราะห์แสงหน้า 71 อะค่ะ
ไอ่ตรงที่ reduction ของ Calvin cycle
หนูงงตรงที่บอกว่า
"เอากรด PGA ที่ได้มารีดิวซ์ด้วย NADPH "
มันหมายความว่า NADPH มันจะจ่าย e (เปนตัวรีดิวซ์) ส่วน PGA มันจะรับ e (เปนตัวออกซิไดส์) รึเปล่าคะ ??

เพราะตอนอ่านว่าเอา PGA มารีดิวซ์ด้วย NADPH หนูงงว่า PGAมันน่าจะเป็นตัวออกซิไดส์คือรับ e แต่ทำไมเอามารีดิวซ์ ??

แหะๆ


โดย: ;) IP: 118.172.63.148 วันที่: 4 ธันวาคม 2552 เวลา:22:06:20 น.  

 
ข้อ1 ตอนที่1 ก็ผิดได้ถ้าเป็นแบบ cyclic
แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าเขาหมายถึงอันไหนง่ะ ?


โดย: J IP: 118.172.63.148 วันที่: 5 ธันวาคม 2552 เวลา:8:13:07 น.  

 
# น้อง ;)
มันเป็นเรื่องของ tense ครับ
คือน้องรู้แล้วใช่ปะว่ารีดิวซ์ = รับ e-
เอา A ไปรีดิวซ์ B (A reduces B) = A จ่าย e- ให้ B
เอา A ไปรีดิวซ์ ด้วย B (A is reduced by B) = A รับ e- จาก B
คือน้องต้องฝึกใช้คำว่า ออกซิไดส์ กับ รีดิวซ์ ให้เสมือนเป็น verb ทั่วๆไปในชีวิตประจำวันเลยอะ เหมือนกับ ให้ รับ ไรเงี้ย
ฝึกพูดกับเพื่อน "เอายางลบมารีดิวซ์ฉันหน่อย = ขอยางลบหน่อย"
หรือ "พรุ่งนี้วันเกิดเทอ ฉันจะรีดิวซ์อะไรเทอดี"
"อ๋อ ! ฉันอยากถูกรีดิวซ์(รับ)ด้วยชอกโกแล็ต เทอออกซิไดส์(จ่าย)ชอกโกแล็ตให้ฉันหน่อยนะ"
พอจะเข้าใจไหม

# J
เพราะโจทย์บอกว่า "สามารถเขียนได้เป็น" ไงครับ
สมมติว่า

1. นาย ก. กินข้าวได้สองชนิด คืออาหารญี่ปุ่น (กินด้วยตะเกียบ) และอาหารฝรั่ง (กินด้วยมีด)
- นาย ก. สามารถกินข้าวได้โดยใช้มีด

2. เด็กหญิง ข. ไปโรงเรียนได้สองทาง ถ้ารีบมากจะไป BTS ถ้าไม่รีบจะขึ้นเรือ
- เด็กหญิง ข. สามารถเดินทางโดย BTS ได้

3. ให้ a เป็นจำนวนเต็มที่ไม่ใช่ศูนย์
- a2 สามารถเป็นจำนวนเต็มคี่ได้

4. การถ่ายทอด e- ใน light reaction มี 2 แบบ คือ non-cyclic (ABCD) และ cyclic (MNOP)
- การถ่ายทอด e- ใน light reaction เราสามารถเขียนได้ว่า ABCD

ประโยคที่ยกมาทั้งสี่นี้ ถูกหมดเลยนะครับ
ถูกโดยไม่ต้องถามว่า เอ๊ะแล้วถ้านาย ก. กินอาหารญี่ปุ่นล่ะ ก็ใช้ตะเกียบไม่ใช่หรอ
เอ๊ะแล้วถ้าเด็กหญิง ข. ไม่รีบล่ะ ก็ขึ้นเรือไม่ใช่หรอ
เอ๊ะแล้วถ้า a เป็นจำนวนเต็มคู่ล่ะ ก็ได้เลขคู่ไม่ใช่หรอ
เอ๊ะแล้วถ้าหมายถึงการถ่ายทอดแบบ cyclic ล่ะ ก็ผิดไม่ใช่หรอ
ประโยคที่ให้มาแสดงว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่เฉพาะเจาะจงกับอะไรใดๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะทำอีกอย่างไม่ได้

พูดง่ายๆตามตรรกศาสตร์ ม.สี่
ประโยคที่ให้มา (คำว่าการถ่ายทอด e-)
เป็นไปได้สองอย่าง คือ cyclic หรือ non-cyclic
ถ้าหมายถึง cyclic ประโยคนี้ก็ถูก
และน้องบอกว่าประโยคนี้ผิด ถ้าเป็น non-cyclic
ดังนั้น ถูก หรือ ผิด ก็ได้ถูกอยู่ดีไงครับ
อีกอย่างในข้อสอบเอนท์ก็ใช้คำนี้เลยครับ โดยไม่บอกว่าเป็นการถ่ายทอดแบบไหน

แต่ถ้าเกิดโจทย์เป็น
การถ่ายทอด e- จะสรุปได้ว่า / สามารถสรุปได้ว่า / ต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ฯลฯ ที่แสดงความหมายเฉพาะเจาะจงลงไป พี่ก็ว่าผิดเหมือนกันนะ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 5 ธันวาคม 2552 เวลา:13:08:02 น.  

 
แหล่มเลยค่ะพี่เต็น ^^


โดย: ;) IP: 118.172.92.218 วันที่: 5 ธันวาคม 2552 เวลา:18:32:08 น.  

 
ข้อ 19 ทำไมตอบ ข. คะ เห็นบอกว่า B เป็นพืชC3 แต่ข. = สับปะรด เป็นพืช CAM ไม่ใช่หรอ


โดย: :) IP: 125.24.25.31 วันที่: 10 ธันวาคม 2552 เวลา:15:28:06 น.  

 
เพราะโจทย์ถามว่า "เป็นไปไม่ได้" ไงครับ
B ต้องเป็น C3 แต่สับปะรดเป็น CAM มันเลยผิดไง


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 10 ธันวาคม 2552 เวลา:16:41:14 น.  

 
พี่เต๊นคะ
หนูสงสัยโจทย์ข้อนึง

มันถามว่า

พลังงานที่ใช้ในการสร้าง ATP จาก ADP และ Pi
ในปฏิกิริยาที่ต้องใช้แสงคืออะไร ?
ก. กระบวนการฟอสโฟรีเรชัน
ข.ปฏิกิริยาออกซิเดชันของ NADPH
ค.พลังงานที่รงควัตถุดูดจับจากดสงอาทิตย์
ง.ความแตกต่างของความเข้มข้นของโปรตอนระหว่างภายนอกและภายในเมมเบรนของถุงไทลาคอยด์

จะตอบไหนดี
หนูงง ค. กับ ง. อะ
ไอ่เรื่องความแตกต่างของค.เข้มข้นโปรตอนเนี่ย จำได้ว่ามันอยู่ในการสังเคราะห์ ATP ของ e-tran ในการหายใจระดับเซลล์ ไม่รู้ว่าสำหรับ PS จะเหมือนกันเปล่า
หรือว่าจะเป็นข้อ ค. เพราะมันดูดพลังงานแสงมา ??

พี่เต๊นช่วยที
จะสอบแล๊นนนน

ขอบคุณค่ะ ^^


โดย: :) IP: 118.172.35.90 วันที่: 17 ธันวาคม 2552 เวลา:21:02:08 น.  

 
- ข้อ ค. พี่ว่ามันแปลกๆนะไม่รู้สิ
พลังงานที่รงควัตถุ absorb มาจากแสง
รงควัตถุตัวไหนอะ ? ถ้าเกิดเป็นตัวอื่นๆรอบๆ reaction center ก็จะค่อยๆส่งต่อพลังงานให้ตรงกลาง พลังงานมันก็หายไปบ้างอะไรบ้าง
ถ้าเป็น reaction center ของ P680 พลังงานก็จะเอามาสร้าง ATP ผ่านโปรตอน
ถ้าเป็น P700 ก็อาจจะเอาไปสร้าง ATP ผ่านโปรตอนหรือเอาไปเก็บไว้ใน NADPH ก็ได้
มันแอบไม่ตรงประเด็นนะ
- ข้อ ง. ที่น้องเข้าใจถูกแล้ว กระบวนการสร้าง ATP โดย chemiosmosis ในการสังเคราะห์ด้วยแสงจะคล้ายๆกับในการหายใจระดับเซลล์
สามารถใช้เนื้อหาหน้า 63 ประกอบได้เลย
ATP เกิดจากการเคลื่อนของโปรตอนผ่าน ATP synthase
โปรตอนที่ว่ามีความต่างศักย์ไฟฟ้าเคมี (chemiosmotic gradient) ซึ่งเป็นพลังงานรูปหนึ่ง
สามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานเคมีในพันธะของ ATP ได้ในที่สุดนะ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 18 ธันวาคม 2552 เวลา:22:10:00 น.  

 
ขอบคุณมากกกกพี่เต๊นนน

จะไปสอบวันนี้แล้วว
สู้ตาย !


โดย: :) IP: 118.172.39.19 วันที่: 19 ธันวาคม 2552 เวลา:6:20:09 น.  

 
พี่คะ ข้อ 11 t/f อ่ะค่ะพี่ เราต้องติ๊ต่างเองว่ามันมีแสงเสมอหรอคะ ทั้งๆที่โจทย์ไม่ได้บอกว่ามีแสเง(เพราะแสงช่วยกระตุ้น enzyme ไง)

ขอบคุณค่ะ ^^''


โดย: frozen IP: 172.16.3.160, 202.129.12.194 วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:14:36:20 น.  

 
ตอน2ข้อ1อ่ะค่ะพี่เต๊น reaction center คือ chlorophyl a p700 ไม่ใช่หรอคะ(หรือแพรวเข้าใจผิดอ่ะ - -') มันเป็น sub set ของ chlorophyl a ไม่ใช่หรอพี่? แพรวตอบว่า BDAC อ่ะพี่ ~~


โดย: frozen IP: 172.16.3.160, 202.129.12.194 วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:14:41:42 น.  

 
ข้อ8 อัตนัย C น่าจะเป็น malic acid ไม่ใช่หรอคะพี่เต๊น เพราะว่ามันมีลูกศรว่า CO2 หลุดเข้า Calvin ถ้าเป็น OAA มันยังไม่หลุดไม่ใช่หรอพี่เต๊น

ขอบคุณมากค่ะที่ช่วยตอบให้^^


โดย: frozen IP: 172.16.3.160, 202.129.12.194 วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:15:10:46 น.  

 
ตอนที่3ข้อ1 ที่พี่บอกว่า " chlorophyll และ carotenoids เป็นรงควัตถุสังเคราะห์ด้วยแสงหลักของพืช ดูดกลืนพลังงานแสงมากระตุ้น reaction center
แต่ anthocyanin เป็นรงควัตถุสีม่วง ดูดกลืนและสะท้อนพลังงานแสงออกมาสร้างสีสันให้ดอกไม้ " แสดงว่ามีแค่คลอโรฟิลล์กับแคโรทีนอยด์เท่านั้นหรอพี่เต๊น ที่ดูดกลืนแสงแล้วส่งไปที่ reaction center ได้อ่ะ? รงควัตถุชนิดอื่นนี่ดูดกลืนแสงแล้วสะท้อนออกมาเป็นสีสันให้ดอกไม้หมดเลยป้ะ?


โดย: frozen IP: 172.16.3.160, 202.129.12.194 วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:15:14:16 น.  

 
# ตอบเฉพาะน้องแพรวนะ

- 11 t/f อือนั่นสินะ พี่นึกไม่ถึงเลย
พอโจทย์ไม่บอกอะไรมาพี่เลยโมเมไปเองว่าวางไว้ในห้องแล็บปกติ ไม่ได้เอาเข้ากล่องมืดไรเงี้ย -*-
(นั่นคือที่น้องแพรวติ๊ต่างมาอะถูกแล้ว)
- BDAC ที่น้องบอกว่า reaction center เป็น subset ของ chlorophyll a อะถูกแล้ว
แต่โจทย์อยากให้เรียงในแง่ของกายวิภาค ตำแหน่งจากใหญ่ๆไปจิ๋วๆอะ
photosystem มี antenna, antenna มี reaction center, reaction center มี chlorophyll a.. อันนี้ถูก
photosystem มี antenna, antenna มี chlorophyll a, chlorophyll a เป็นได้หลายๆอย่างโดยมี reaction center เป็น subset หนึ่งในนั้น.. อันนี้มันเชื่อมโยงแปลกๆนะว่าไหม?
- ช่าย อัตนัย 8C จะเป็น malic (ถ้ามองก่อนเข้า calvin) หรือเป็น OAA (ถ้ามองว่ามันพึ่งผ่านการเติม COOH มา) ก็ได้
พี่ต้องวาดรูปวงกลมสี่วงเพิ่มมาอีกหนึ่งอันอะ
- รงควัตถุที่ทำให้ดอกไม้มีสีๆส่วนใหญ่ไม่ช่วยสังเคราะห์ด้วยแสงอะ
รงควัตถุที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้คือไอ้ที่อยู่ในตารางหน้า 67 ครับ
ดอกไม้ = พืชดอก ดังนั้นใน antenna เลยมีแต่ chlorophyll a, chlorophyll b และ carotenoids ตามตารางนะ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:21:43:35 น.  

 
ขอบคุณมากเลยพี่เต๊น จะสอบแล้วยังมาตอบให้เร็วขนาดนี้ ^^''

ถ้าพี่ไม่ว่างจริงๆช้าหน่อยไม่เป็นไรค่ะพี่ แพรวจะพยายามหาคำตอบเองเท่าทีได้ก่อนค่ะ

จะสอบแล้ว โชค A นะพี่ :)


โดย: frozen IP: 172.16.3.49, 202.129.12.194 วันที่: 13 มกราคม 2553 เวลา:9:51:07 น.  

 
พี่คะ ข้อ 22 ตอน3 ถ้าเป็นพืช C4จะเป็นอย่างไรหรอคะ หนูดูไม่ค่อยเป็นอะคะ ขอบคุนคะ


โดย: ป้อน IP: 203.144.144.164 วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:13:30:33 น.  

 
ข้อ 22 ในรูปพยายามดูที่ไม่ใช่ตรงกลางใบนะน้อง
เห็นไหมว่าด้านขวาๆหรือซ้ายๆเนี่ยใบจะแบ่งออกเป็นสองชั้น
ชั้นบนเป็นแท่ง ชั้นล่างหลวมๆ เจอในข้อสอบตอบ C3 เลยนะครับ ^^"
ส่วนถ้าเป็น C4 จะเห็นเป็นชั้นเดียวแล้วมี bundlesheath เบ้อเริ่มนะ

แบบนี้ ใบข้าวโพด C4
//sols.unlv.edu/Schulte/Anatomy/Leaves/CornLeaf.jpg

แบบนี้ C3 ชัดเจนมาก
//sols.unlv.edu/Schulte/Anatomy/Leaves/PrivetLeaf.jpg

เข้าใจยังคร้าบ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:21:41:26 น.  

 
ขอบคุณนะคะพี่ เข้าใจและคะ^^ หนูนึกว่าพี่จะไม่ตอบแระ ดีใจจัง ขอให้สอบได้เต็มทุกวิชาเลยนะคะ


โดย: ป้อน* IP: 203.144.144.165 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:10:13:01 น.  

 
แล้วคำถามมันอยู่ตรงไหนอ่ะคร่ะ


โดย: กุ๊กกิ้ก IP: 203.144.144.164 วันที่: 18 มีนาคม 2553 เวลา:20:33:04 น.  

 
อยากถามพี่ว่าเมื่อเกิดการหายใจเเสงเเล้วสามารถสร้างน้ำตาลได้อีกไหมเเล้ว ถ้าได้จะใช้กี่ATP NADPH พร้อมทั้งเขียนสมการด้วย

ช่วยตอบทีครับคาใจมาก

ขอขอบคุณใว้ล่วงหน้าคร้าบ


โดย: คนรักสงบ IP: 110.49.205.82 วันที่: 30 เมษายน 2553 เวลา:22:25:42 น.  

 
อธิบายคำถามเก่าเพิ่ม(พอดีอ่านอีกรอบเเล้วตัวเองสื่อความหมายผิดมากๆๆ)
ผมพูดถึงPGAที่ได้จาก RuBP+O2 ----- PGA+ของเสีย2Cว่ามันจะไปเกิดCalvin cycleได้อีกป่าว ถ้าได้เเล้วใช้กี่ATP กี่NADPH พร้อมเขียนสมการด้วยคับ

ขอขอบคุณอีกรอบคับ


โดย: คนรักสงบ IP: 110.49.205.82 วันที่: 30 เมษายน 2553 เวลา:22:56:25 น.  

 
ในกระบวนการ photorespiration นั้น เมื่อ enzyme Rubisco รวมเอา O2 เข้ากับ RuBP แล้ว จะได้ผลิตภัณฑ์เป็น 1 โมเลกุลของ 3-PGA (เป็นสาร 3C) และ 1 โมเลกุลของ 2-Phosphoglycolate (สาร 2C) ซึ่ง PGA ก็จะเข้าสู่ Calvin Cycle ปกติ ส่วน Phosphoglycolate จะถูกลำเลียงไปที่ Peroxisome เพื่อไปเปลี่ยนเป็น Glyoxylate (สาร 2C) (ปฏิกิริยานี้ใช้ O2 ได้ by-product เป็น H2O2) ซึ่งสาร Glyoxylate นี้ สามารถถูกส่งไปรวมกับ Acetyl CoA (สาร 2C) ใน Mitochondria เพื่อเปลี่ยนไปเป็น Malate (สาร 4C) และ Oxaloacetate (สาร 4C) เพื่อเป็นสารตัวกลางไว้ใช้ใน Krebs cycle นอกจากนี้ Glyoxlate อาจถูกเติมหมู่อะมิโน โดยเอนไซม์ transaminase ได้เป็นกรดอะมิโน Glycine ใน Peroxisome เมื่อ glycine ถูกลำเลียงเข้าไปใน Mitochondria ก็อาจจะแตกตัวออกเป็น CO2 และ NH3 หรืออาจจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโน Serine แล้วนำกลับเข้ามาใน Peroxisome เพื่อเปลี่ยนเป็น Glycerate (สาร 3C) ซึ่งก็จะถูกเปลี่ยนเป็น 3-PGA คืนที่คลอโรพลาสต์ โดยใช้ ATP 1 โมเลกุลมาเติมหมู่ฟอสเฟตให้

จะเห็นว่ากว่าที่สาร 2-Phosphoglycolate จะเปลี่ยนกลับมาคืนเป็น 3-PGA นั้น Pathway ซับซ้อน ต้องผ่าน pathway ของการสร้างกรดอะมิโนต่างๆ และยังต้องเติม ATP อีกทั้งยังต้องลำเลียงผ่านไปผ่านมาระหว่าง 3 ออร์แกเนลล์ ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว ยากมากที่พืชจะนำ 2-Phosphoglycolate กลับมาใช้เป็น 3-PGA ใหม่ ดังนั้นในการเกิด Photorespiration เราจะไม่คิดถึง 2-Phosphoglycolate จะคิดว่าถือว่าเสียไปละกัน



จะสรุปสมการให้ดังนี้นะคะ

ปกติถ้า CO2 + RuBP สมการคือ

ุ6 CO2 + 6 RuBP ----- 12 PGA ----- 12 PGAL
แค่ 2 PGAL เท่านั้นจะนำไปสร้าง 1 โมเลกุลของกลูโคส อีก 5 ต้อง Return กลับคืนใน Calvin Cycle

แต่ภาวะ Photorespiration

ุ6 O2 + 6 RuBP ----- 6 PGA + 6 P-glycolate ----- 6PGAL

จะเห็นว่าต้องมี 5 PGAL ต้อง Return กลับคืน เพราะฉะนั้นมีแค่ 1 PGAL เท่านั้นที่ถูกนำไปสร้างน้ำตาล ซึ่งจะเห็นว่า ยังได้เป็นน้ำตาล C3 อยู่เลย ต้องเกิดสมการนี้ซ้ำอีกรอบหนึ่ง จึงจะได้น้ำตาลกลูโคส


หวังว่าความรู้อันน้อยนิดของพี่จะทำให้น้องเข้าใจมากขึ้นนะคะ

รอพี่เต๊นมา confirm อีกทีนะคะ

จาก แฟน(คลับ) เต๊นค่ะ


โดย: ตอบแทนค่ะ IP: 58.10.102.86 วันที่: 9 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:19:26 น.  

 
# น้องคนรักสงบ
product ของการหายใจแสง ได้ PGA กับสาร C2 ที่เรียกว่า phosphoglycolate
หากจะไม่ต้องคิดมาก ก็ไม่ต้องสนใจ C2 ที่เกิดขึ้น
พี่ก็จะตอบว่า PGA ที่ได้ มันก็คือ PGA ปกติเหมือนกับที่เข้า Calvin cycle นั่นแหละ
นั่นคือต้องไปรวมกับเพื่อน PGA อีก 5 ตัว
ใช้ 6 NADPH และ 3 ATP ได้ออกมาเป็น 1 PGAL ตามวัฏจักรปกติ
แต่ถ้าถามว่าถ้าคิดหักลบกับ ATP และ NADPH ที่ใช้ในการหายใจแสงเพื่อกำจัด C2 ตัวนั้นด้วยล่ะ?
พี่ว่ามันไม่มีสมการสุทธิให้น้องเห็นแน่ๆเพราะการหายใจแสงมันค่อนข้างซับซ้อนเอามากๆ
//upload.wikimedia.org/wikipedia/en/2/2c/Photorespiration_eng.png
มีหลายขั้น แถมถ้าเกิดได้สมการสุทธิออกมาแล้วก็ไม่รู้จะไปหักลบกับใน Calvin cycle อีท่าไหนอีก เพราะตัว calvin เองมันก็ใช่ว่าจะมีสมการสุทธินะครับ มันเป็นวัฏจักรอะ
สรุปก็คือว่า PGA ที่เกิดขึ้นจาก oxygenation ของ RuBP นั้น สามารถเข้า Calvin cycle ได้เฉกเช่น PGA ตั่วอื่นๆละกันนะ


โดย: เต๊น (ตัวตุ่นตามัว ) วันที่: 17 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:20:38 น.  

 
เยอะมากมาย

ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับคำตอบของทั้ง 2 คนครับ


โดย: คนรักสงบ IP: 110.49.205.72 วันที่: 27 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:42:09 น.  

 
พี่เต๊นคะ
ตอนนี้หนูสับสนกับชีวิตมากเรื่อง light compensation point ของพืช C3 C4 อะค่ะ
บางตำราก็บอก C4 ต่ำกว่า
หนูก็เลยไม่แน่ใจว่าข้อสอบเอ็นท์จะอ้างอิงจากข้อมูลไหน T^T


โดย: ปัน IP: 113.53.3.197 วันที่: 19 ตุลาคม 2553 เวลา:23:37:10 น.  

 
คำถามที่1ครับเเสงในปฎิกริยาเเสงมีหน้าที่อะไรครับ1กระตุ้นให้น้ำเเตกตัวเเล้วไปทำให้คลอโรฟิลทำงานหรือเเสงกระตุ้นให้คลอโรฟิลทำงานเลยเเล้วคลอโรฟิลขาดeเเล้วค่อยไปเเย่งจากน้ำมาครับ
คำถามที่2 เฉลยเอนบางเล่มอะครับ เขาบอกว่าปฏิกริยาตรึงco2 เกิดที่เซลล์คุมด้วยอะครับ มันเป็นข้อสอบเอนข้อหนึ่งอะครับ เเต่ผมว่าตรึงco2มันน่าจะเกิดที่ มีโซฟิล กับ บันเดิลชีทอย่างเดียวนิครับ เเต่เขาบอกว่าเซลล์คุมต้องการพลังงานเยอะจึงมีการสร้างน้ำตาลc3ขึ้นในเซลล์


โดย: พี่ครับตอบด่วนงงมาก IP: 58.9.87.142 วันที่: 23 ตุลาคม 2553 เวลา:10:31:26 น.  

 
คือมันเป็นข้อสอบเอนข้อหนึ่งอะครับ2เล่มเฉลยไม่ตรงกัน
ปัจจัยในข้อใดมีผลทำให้ข้าวเเละข้าวฟ่างมีผลผลิตจากการสังเคราะห์ด้วยเเสงไม่เท่ากันอะครับ
1.ปริมาณคลอโรฟิลล์2กลไกลการตรึงco2 3.ความเเห้งเเล้งของบรรยากาศ บางเล่มก็เฉลย23 บางเล่มก็เฉลย2 อะครับตกลงตอบไรครับ


โดย: ลืมอีกคำถามครับ IP: 58.9.87.142 วันที่: 23 ตุลาคม 2553 เวลา:10:39:07 น.  

 
ขอบคุณไว้ก่อนเผื่อพี่มาตอบ-*-


โดย: ขอบคุณครับ IP: 58.9.83.198 วันที่: 28 ตุลาคม 2553 เวลา:14:31:13 น.  

 
คำถามที่1

เเสงมีหน้าที่ตามที่น้องว่าไว้ในอันหลังค่ะ คือแสงจะประพฤติตัวเป็นอนุภาค เรียกว่า โฟตอน วิ่งไปชนโมเลกุลของพวก Carotenoids หรือ Chlorophyll ทำให้ในที่สุด Chrolophyll a ชนิดพิเศษ อิเล็กตรอนหลุดออกไป เมื่อ Chlorophyll นี้เสียอิเล็กตรอนไป จึงมีความต้องการอิเล็กตรอนอย่างมา (strong oxidant) ทำให้ไปแย่งอิเล็กตรอนมาจากน้ำ ผ่านการช่วยของ Oxygen-involving complex (มี Mn, Cl เป็น Cofactor) ที่อยู่ที่ PSII ซึ่งเรียกว่า ปฏิกิริยา Photolysis

คำถามที่2

ถ้าเป็นในพืช C3 การสังเคราะห์แสง (รวมถึงการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์) โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่ Mesophyll ค่ะ เพราะเป็นเซลล์ที่มีความหนาแน่นของ Chloroplast มากที่สุด แต่ถ้าโจทย์มันไม่อนุโลมอะไรเลย ก็ต้องรวม เซลล์คุม ด้วยค่ะ เพราะเซลล์คุมเป็นเซลล์ในชั้น epidermis ชนิดเดียวที่มี Chloroplast

ถ้าเป็นพืช C4 จะตอบว่า การสังเคราะห์แสงส่วนใหญ่ (รวมถึงการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์) จะเิกิดที่ bundle sheath ค่ะ เพราะมักจะมีขนาดใหญ่ และมี chloroplast หนาแน่น


ข้อสุดท้าย

คำถามน้องคือ ปัจจัยในข้อใดมีผลทำให้ข้าวเเละข้าวฟ่างมีผลผลิตจากการสังเคราะห์ด้วยเเสงไม่เท่ากัน

ข้าว คือ C3 เอนไซม์ที่ใช้ตรึง CO2 มีประสิทธิภาพต่ำ ชื่อ Rubisco และพืช C3 มักเจริญเติบโตได้ดีในที่มีความชื้นและแสงแดดรำไร

ข้าวฟ่าง คือ C4 เอนไซม์ที่ใช้ตรึง CO2 คือ PEP carboxylase ซึ่งมีประสิทธิภาพในการตรึง CO2 ได้มากกว่า พืช C4 มักชอบเจริญในที่มีแสงแดดจ้า และความชื้นต่ำกว่าพืช C3

ดังนั้นหากวัดที่ productivity หรือผลผลิตจากการสังเคราะห์แสงของพืช C3 และ C4 ปัจจัยที่ทำให้ค่า productivity ต่างกันที่สุดคือเรื่องของ กลไกการตรึง CO2 ค่ะ เพราะการที่พืชชอบเจริญในที่ความชื้นมากน้อยมันเป็น nature ของมันค่ะ ไม่เกี่ยวข้องกับ productivity โดยตรง


โดย: ตอบแทนค่ะ IP: 58.10.85.15 วันที่: 10 ธันวาคม 2553 เวลา:0:23:55 น.  

 
มีประโยชน์มากครับ


โดย: Gus IP: 127.0.0.1, 113.53.95.4 วันที่: 15 สิงหาคม 2554 เวลา:22:03:49 น.  

 
ข้อ20
ทำไมความเข้มข้นชองco2จึงไม่มีผลต่าพืชc4 ก็ในหน้า74ที่บอกว่าปริมาณco2ก็มีผลต่อพืชc4เหมือนกันโดย c4จะมีจุดทั้งสองนี้ต่ำกว่าพืชc3


โดย: ตอบด่วน IP: 125.27.123.136 วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:15:55:04 น.  

 
พี่คะ ไม่เข้าใจอ่ะค่ะ
ทำไมอากาศร้อนแก๊สถึงละลายได้น้อยอ่า ?? (น.71 ย่อหน้าสุดท้าย)


โดย: กัน IP: 49.228.142.131, 141.0.9.119 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2554 เวลา:11:35:52 น.  

 
พี่คะข้อ 18 ตอน3อ่ะคะ คือถ้ามันปั๊มโปรตอนเข้าlumen เรื่อยๆแต่ไม่ไห้โปรตอนออก แล้วมันจะไม่อิ่มตัวเหรอคะ แล้วมันจะเข้าได้เรื่อยๆเลยเหรอคะ


โดย: หนูเอง IP: 101.109.122.57 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2554 เวลา:3:33:45 น.  

 
พี่คะ ข้อที่ให้เรียง ph อ่ะพี่ เราจะรุ้ได้ไงว่าโปรตอนมันอยุ่ตรงไหน
สมมุดว่า มันไม่มีแสงแล้วยังไม่ได้photosynthesis อิเล็กตรอนมันก้ยังไม่ได้เด้งขึ้นจาก PS ไช่ไหมพี่ แล้วมันก็ยังค้างใน stroma แบบนี้ stroma ก้ต่ำกว่าในlumen รึป่าวคะ


โดย: หนูเอง IP: 101.109.122.57 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2554 เวลา:3:38:18 น.  

 
11. ถูก เพราะ ATP, NADPH เป็นสารที่ light reaction สร้างขึ้นมาป้อน Calvin cycle (ซึ่งสร้างน้ำตาลจาก CO2 ) ถ้าเกิดมี ATP, NADPH และ CO2 จึงเกิดน้ำตาลได้


________________________________
ไม่ต้องถูกกระตุ้นด้วยแสง เพราะไม่ได้ใช้เอนไซม์ป่ะค่ะ ?


โดย: tufrio IP: 223.205.99.236 วันที่: 6 เมษายน 2555 เวลา:11:14:07 น.  

 
สงสัยมากค่ะ
ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง การถ่ายทอดอิเล็กตรอนเกิดที่เยื่อไทลาคอยด์และเยื่อคลอโรพลาสต์
ถูกหรือผิดคะ แต่ที่หนูคิดคือไทลาคอยด์ก็เป็นส่วนหนึ่งของเยื่อคลอโรพลาสต์ชั้นใน ที่พับซ้อนเข้ามาใช่ไหมคะ? แต่ทำไมหนังสือเล่มนึงบอกว่าผิดคะ


โดย: C IP: 180.180.144.194 วันที่: 19 เมษายน 2555 เวลา:10:22:47 น.  

 
งงตอนที่ 2 ข้อ 5.2 การสังเราะห์แสงมี glycalysis ด้วยหรอคะ


โดย: mew IP: 1.4.173.209 วันที่: 24 กรกฎาคม 2555 เวลา:16:28:33 น.  

 
พี่คับผมสงสัยอ่ะคับ
เฉลยตอน1ข้อ 6 กับ ตอน3 ข้อ3 มันขัดแย้งกันอ่ะคับ
ไหนบอกว่า ATP ไม่ได้สร้างในการสังเคราะห์แสงไง งงงงอ่ะ


โดย: kukkai IP: 223.204.30.7 วันที่: 2 พฤษภาคม 2556 เวลา:21:13:31 น.  

 
อยากถามว่าโจทย์มันอยู่ไหนค่ะ ตอนที่ 3 ค่ะ


โดย: จารุวรรณ เกตุบางจาก IP: 118.174.90.88 วันที่: 18 สิงหาคม 2556 เวลา:17:29:10 น.  

 
สงสารค่ะ ว่าทำไมในพืชเขตร้อนจึงมีการตรึงคาร์บอนไดออกไซค์ 2 ครั้ง
กราบบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ


โดย: Peachtwill IP: 27.55.140.213 วันที่: 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา:20:06:22 น.  

 
เฉลยตอนที่1 ข้อ5 Calvin cycle ไม่สร้าง ATP (phosphorylation) แต่ใช้ ATP นอกจากนี้ยังมีการรีดิวซ์ PGA (reduction), เติมหมู่คาร์บอกซีลให้ rubisco (carboxylation) รวมทั้ง regeneration ของ PGAL เป็น rubisco
PGAL regenerate เป็น RuBPไม่ใช่เหรอคะ


โดย: แมว IP: 114.109.54.168 วันที่: 13 กรกฎาคม 2557 เวลา:2:47:10 น.  

 
งงมาก


โดย: 55555 IP: 1.46.99.58 วันที่: 8 ธันวาคม 2558 เวลา:22:08:12 น.  

 
ตอนที่ 3 ข้อ 23 คับ แกนตั้งเป็นเรทสังเคราะห์แสง แกนนอนเป็นอุณหภูมิ ทำไมไม่ตอบข้อ ข.คับ


โดย: แม่ชี IP: 202.28.35.153 วันที่: 8 ตุลาคม 2560 เวลา:22:03:51 น.  

 
ตอนที่ 1 ข้อ 11 คับ
โจทย์ไม่ได้กำหนดแสงมาให้แล้วปฏิกิริยาเกิดได้ไงคับ
การเกิด Calvin cycle ต้องใช้แสงด้วยใช่มั้ยคับ


โดย: แม่พระ IP: 202.28.35.153 วันที่: 8 ตุลาคม 2560 เวลา:22:08:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

มิสเตอร์คัสตาร์ด
Location :
Igloo house Antarctica

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 240 คน [?]




เมลล์มาคุยกันได้นะครับ
tentaroro@yahoo.com :)

[Add มิสเตอร์คัสตาร์ด's blog to your web]