แม้ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูดซักนิด แต่ข้าพเจ้าก็พร้อมจะแลกด้วยชีวิตเพื่อให้ท่านได้พูด-วอลแตร์
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2550
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
ปฏิวัติแมลงวันพันธุ์ดุ(ตอนที่2):เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน

ปฏิวัติแมลงวันพันธุ์ดุ(ตอนที่2):เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน

การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นนิรันดร์ สมดังที่อัสนี-วสันต์บอกไว้"เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน ช่างกระไร ใจหนอ..ใจคน"..แน่นอนว่าในแวดวงของนักข่าวก็หนีความจริงข้อนี้ไม่พ้นเช่นกัน

ผมจบการศึกษาในปีพ.ศ.2532 และคิดว่าต้องเข้าสู่แวดวงสื่อมวลชน เพราะมันสามารถจะชี้ทิศทางสังคมบ้านเมืองได้ ผมตัดสินใจเข้าทำงานกับองค์การพัฒนาเอกชน(NGO)แห่งหนึ่งที่มีบทบาทในการเผยแพร่รายงานข่าวจากพื้นที่ชนบทห่างไกล เพื่อนำความจริงจากชาวบ้านในชนบทอันกว้างใหญ่ แต่พื้นที่ข่าวสารไม่เคยจะรายงานเรื่องของพวกเขาบนหน้าหนังสือพิมพ์เลย


ผมตะรอนไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อรายงานข่าวความทุกข์ของชาวนาชาวไร่ โดยมีหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้เปิดพื้นที่ให้สัปดาห์ละหน ในวันพฤหัสบดี ยุคนั้นสยามรัฐยังมีอิทธิพลสูงมาก เพราะมีนักเขียนประจำชื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งคอลัมน์"ซอยสวนพลู"อันลือลั่น

เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพียงสัปดาห์ละหน ผมจึงส่งรายข่าวไปลงในหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งไปด้วย และได้รับค่าเรื่องชิ้นละ300บาทมั่ง500บาทมั่งพอได้เป็นค่ารถค่าเดินทางไปตลุยทำข่าวในชนบท

บ้านเมืองในยุคนั้นรัฐบาลเลเรือนของพลเอกชาติชาย เริ่มมีปัญหากับหนังสือพิมพ์หัวเขียว ก็เพราะสารวัตรเหลิมพาหน่วยฉก.บุกปิดสถานบันเทิงชื่อดังแห่งยุค ที่รู้ๆกันว่าค่ายหัวเขียวเป็นเจ้าของอยู่ ฐานที่ว่าหนังสือพิมพ์หัวเขียวเริ่มโจมตีรัฐบาลหนักข้อขึ้น

ค่ายหัวเขียวตอบโต้รัฐบาลด้วยการกล่าวหาว่ามีการคอร์รัปชั่นกันวินาศสันตะโร จนให้ฉายาว่า"บุฟเฟต์คาบิเนต" ลงท้ายด้วยการเรียกร้องให้ทหารทำการปฏิวัติ

พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำทหารยุคนั้นถูกหนังสือพิมพ์ยกยอว่ามีความล้ำเลิศปราดเปรื่อง หกล่าวตอบรับว่าหากมีจดหมายมาหาเขาซักล้านฉบับก็จะลงแรงปฏิวัติให้ แล้วหนังสือพิมพ์หัวเขียวก็เริ่มลงข่าวจดหมายที่อ้างว่าชาวบ้านอยากให้เกิดปฏิวัติ และนำไปสู่การปฏิวัติ23กุมภาพันธ์2534 ท่ามกลางความตื่นตะลึงของสังคมไทยที่ว่า ไม่น่าเชื่อที่การปฏิวัติรัฐประหารจะเกิดขึ้นในพ.ศ.นั้นได้ แต่หลายๆคนก็เงียบเฉย ด้วยข้ออ้างที่ว่า การรัฐประหารหนนั้นเป็น"ทางเลือกสุดท้าย"แล้วสำหรับการโค่นล้มรัฐบาลคอร์รัปชั่น หลายๆกระแสว่ามันเป็รนวิถีทางที่"จำเป็น"ซะด้วยซ้ำ

ผมโกนหัวประท้วงเงียบๆคนเดียว ขณะที่มีข่าวต่อต้านจากนักศึกษารามคำแหงกลุ่มเล็กๆแล้วโดนกวาดจับไปขังคุก คนที่ไม่เห็นด้วยพากันส่งโทรสารต่อๆกันไปเพื่อคัดค้าน ซึ่งโทรสารนับเป็น"ของเล่นใหม่"เมื่อยุคปี2534ทีเดียว

หัวยังโล้นๆอยู่ผมได้รับการติดต่อจากบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับที่ผมส่งข่าวไปลงประจำว่ากำลังขาดนักข่าวอยู่ ให้มาคุยกันหน่อย ผมไปทันที แล้วก็ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนและค่าตอบแทนร่วมๆหมื่นจากการเป็นNGOเพื่อไปรับเงินเดือน2,700บาทกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น เพื่อจะได้ทำงานตามอุดมการณ์

หนังสือพิมพ์ค่ายที่ผมไปอยู่ด้วยนั้น สำหรับผมนับว่ามีเกียรติประวัติน่าเชิดชู ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ซึ่งยังทำงานเป็นคนหนังสือพิมพ์อยู่ด้วยนั้นเคยมีประวัติการต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างไม่ครั่นคร้าม รูปเลือดจากหัวแกไหลลงมาอาบใบหน้า เพราะโดนทหารตีหัวกบาล ฐานไปยุ่งกับผู้นำทหารคนหนึ่งในอดีตถูกแปะไว้ข้างฝาในห้องทำงาน

ส่วนบรรณาธิการ สมมุติชื่อว่าพี่สำเริงสำราญก็แล้วกัน เป็นลูกหม้อของหนังสือพิมพ์ค่ายนี้ เคยทำงานตั้งแต่ค่ายนี้ยังรุ่งโรจน์มีหนังสือพิมพ์รายวันคู่แข่งกับหนังสือพิมพ์คุณภาพของประเทศ(ต่อมาหมดทุนต้องปิดตัวลง) แต่ตอนนี้เหลือรายสัปดาห์ฉบับเล็กๆที่มียอดขายอยู่ซักราวหมื่นฉบับ

ที่ผมชอบใจเป็นที่สุดก็คือเจ้าของหนังสือพิมพ์ประกาศว่า ค่ายอื่นๆถึงจะหันไปเชลียร์พวกปฏิวัติรัฐประหารเสียหมด หรือไม่งั้นก็เฉยๆ แต่พวกเราแม้จะเป็นฉบับเล็กๆ ก็จะขอเป็น"พลังงานของเหตุและผล"ต่อต้านทัดทานเผด็จการอย่างถึงที่สุด

เราก็เลยได้เป็นหนังสือพิมพ์ต่อต้านรัฐประหารอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นขวัญใจของปัญญาชนยุคนั้นโดยปริยาย เจ้าของสินค้าต่างๆไม่กล้ามาลงโฆษณาอุดหนุนในหนังสือพิมพ์ของเรา เงินเดือนขนาดว่า2,700บาทก็เลยได้มั่งไม่ได้มั่ง

ดีที่ว่าพลเอกสุจินดาย่างสามขุมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปีถัดมา และกระแสต่อต้านเริ่มจุดติดเมื่อร.ต.ฉลาด วรฉัตรประกาศอดข้าวประท้วงโดยดีเดย์ในว้นที่6พฤษภาคม2535

"6พฤษภา-ขับไสเผด็จการ!"ผมนำเสนอต่อที่ประชุมกองบรรณาธิการว่าเราต้องพาดหัวชี้นำสังคมแบบนั้น ทุกคนเห็นด้วย และก็กลายเป็นฉบับที่ต้องพิมพ์ซ้ำ ยอดขายทะลักหลายหมื่นฉบับ ขณะที่หนังสือพิมพ์ค่ายบ้านพระอาทิตย์เริ่มหันมาจับกลุ่มเป้าหมายขนาดมหึมานี้ โดยการออกหนังสือพิมพ์แทปลอยด์เพื่อแจกในที่ชุมนุม

แล้วกระแสวงการสื่อมวลชนก็เปลี่ยนมาลุยกับรสช.แทบยกแผง เว้นแต่ดร.สมเกียรติแห่งวิทยุจส.100ที่บอกว่าจะต้องรายงานข่าวที่เป็นจริง ไม่ชี้ชักนำพาสังคมไปข้างใดทางหนึ่ง เลยโดนพรรคพวกในแวดวงหนังสือพิมพ์รุมประณามกันยกใหญ่

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ2535จบลงอย่างที่รู้ๆกัน แต่หนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยนำวาทะกรรม"จำลองพาคนไปตาย"ขยายสู่ปริมณฑลประเทศไทย และสร้างกระแส"พรรคเทพvsพรรคมาร"ขึ้นมา...ความโดดเด่นไปโฟกัสที่ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ขึ้นคัตเอาต์ทั่วเมืองว่า"ผมยึดมั่นในระบบรัฐสภา"(ซึ่งแปลว่าเขาไม่ยึดมั่นกับการนำพามวลชนไปต่อสู้บนถนนแล้วทำให้เกิดเหตุการณ์จำลองพาคนไปตาย...)

ผลการเลือกตั้งหลังยุคพฤษภาทมิฬทำให้ชวนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางความผิดหวังลึกๆของผมที่"แอบ"เชียร์มหาจำลองอยู่ ผมเห็นว่าคนที่นำพาการต่อสู้เพื่อล้มล้างเผด็จการไม่ควรได้รับผลตอบแทนด้วยความพ่ายแพ้เช่นนั้น

ผมผิดหวังในทางการเมืองก็ว่าได้ และคิดกลับไปอยู่กับNGOอีกหน อย่างน้อยก็เพื่อเอาเงินเดือนหมื่นของผมกลับมา(ซึ่งไม่น้อยเลยในพ.ศ.นั้น) แต่ค่าตอบแทนในวงการสื่อมวลชนมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เมื่อค่ายบ้านพระอาทิตย์ปฏิวัติวงการด้วยการให้นักข่าวมีเงินเดือนเป็นหมื่น หรือหลายหมื่น

เนื่องจากว่าหนังสือพิมพ์เริ่มเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น หนังสือพิมพ์ในยุคใหม่ไม่ได้เป็นอะไรที่"อุดมการณ์ไส้แห้ง"อย่างก่อนๆแล้ว มติชน ผู้จัดการ เนชั่น วัฏจักรเข้าตลาดหุ้น เจ้าของพากันร่ำรวย และก็ต้องปันแบ่งมูลค่าส่วนเกินนั้นมายังบรรดานักข่าวไส้แห้งให้มีน้ำหล่อเลี้ยง

ทั้งความผิดหวังกับการเมือง และผลตอบแทนที่ถ่างกว้างกับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ประกอบกับบก.ของผมคือพี่สำเริงสำราญก็โผบินไปอยู่ค่ายอื่นแล้ว ผมได้รับการเชิญชวนจาก"พี่ฝน" อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มี"อากู๋แกรมมี่"เป็นเพื่อซี้เก่าเปิดหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจขึ้นฉบับหนึ่งให้ชักชวนไปอยู่ด้วย ด้วยข้อเสนอเงินเดือนหลักหมื่น...กับกำลังมีอีกคนเข้ามาร่วมชีวิต ผมจึงไปอยู่กับพี่หยาดฝน หลังจากคิดอยู่นานร่วมเดือน

หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ไม่เร้าใจผมเอาซะเลย เพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่ชี้ทิศธงนำสังคม แต่เน้นการรายงานข่าวด้านเศรษฐกิจและการตลาดเป็นหลัก แต่ค่อยยังชั่วที่ผมได้รับมอบหมายให้คอยสรุปประเด็นข่าวการเมืองสำคัญๆป้อนให้กับอาจารย์เกษมสันต์ไปออกรายการทีวีภาคเช้าทางช่อง 11 ซึ่งน่าจะเป็นรายการทีวียุคบุกเบิกของประเทศไทยที่นำข่าวหนังสือพิมพ์ไปเล่าออกอากาศ(ก่อนจะมาเป็น"เรื่องเล่าเช้านี้"ที่ดังเป็นพลุในอีก10กว่าปีต่อมา)

ไม่นานนักพี่สำเริงสำราญที่ผมนับว่าเป็นเจ้านายเก่า ได้ย้ายจากค่ายเนชั่นมาร่วมงานกับพี่สุนนท์ทำหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการเงินและตลาดหุ้นฉบับแรกของเมืองไทย หลังจากพี่สุนนท์แยกวงออกจากนายใหญ่ค่ายบ้านพระอาทิตย์มาตั้งหนังสือพิมพ์ของตัวเอง โดยที่แอบหวังลึกๆกันว่า"เผื่อจะได้เข้าตลาดหุ้นแล้วรวยเหมือนคนอื่นเขามั่ง"...ผมจึงถูกขอตัวติดสอยห้อยตามมาอยู่กับพี่สำเริงสำราญด้วยความอบอุ่นใจ

พี่สำเริงสำราญเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีขนบธรรมเนียมเก่าว่า"ข่าวมันก็คือข่าว"ตัวข่าวนั่นแหละจะบอกให้ผู้อ่านรู้ว่าพวกเขาควรจะตัดสินใจไปทางไหน ขวาหรือซ้าย ก้าวหน้าหรือถอยหลัง คนหนังสือพิมพ์อย่า"เสือก"ไปชี้นำทำทางให้คนอ่าน...เพราะ"เราคือมืออาชีพข่าว"

ผมก็ต้องดัดแปลงปรับปรุงตัวเองให้เป็นคนข่าวมืออาชีพ และอาชีพของผมคือการทำข่าว ต้องเลิกคิด"เสือก"เรื่องต่างๆแทนชาวบ้าน ผมตั้งใจจะปักหลักเป็นคนข่าวอย่างเต็มตัวแล้ว และก็เผลอเป็นมายาวจนป่านนี้

ส่วนพี่สำเริงสำราญนายของผม กลายมาเป็นแกนนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ลอกลาย"นักข่าวอารมณ์เพลย์บอย"ทิ้งมาด"แทงกั๊ก ประเภทชอบจบข้อเขียนว่า...ก็ต้องติดตามกันต่อไป"มามีธงชัดเจนว่า"ท๊ากกกกกซิ๊นนนนนนน-ออกไป!"


โดยที่ผมเองก็ได้แต่ยืนงง พร้อมกับร้องเพลง"เวล๊าเปลี่ยน จ๊ายค๊นเปลี่ยน ช่างกระรายยย จายยยหนอ ใจโคนนนน"อยู่มุมหนึ่งของกรุงเทพฯ ขณะที่การขับไล่ทักษิณ ชินวัตรกำลังขึ้นสู่กระแสสูง....




Create Date : 06 พฤษภาคม 2550
Last Update : 6 พฤษภาคม 2550 11:00:00 น. 0 comments
Counter : 570 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ป๋าเจ้าเก่า
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เคยเป็นมาหลายอย่างทั้งนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักปฏิวัติ NGO พิธีกรโทรทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญบรรยายให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ

แต่อยากเป็นนักอ่านมากที่สุด อยากนอนลงเอกเขนกทำตัวขี้เกียจ ไม่ต้องทำงานการอะไร แล้วอ่านหนังสือวรรณกรรมที่ติดค้างตัวเองไว้นานหลายสิบปี จนตอนนี้แน่นตู้หลายตู้ ปลวกกินพังไปหลายเล่มแล้ว
Friends' blogs
[Add ป๋าเจ้าเก่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.