Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
23 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

12 เดือนในญี่ปุ่น - เดือนมีนาคม

เดือนมีนาคม - ซัง กัตทสึ ( San Gattsu - 3月)

การเรียกชื่อเดือนนั้น....เขียนกำกับไว้ทั้งแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนี้ และแบบสมัยก่อนด้วย

สมัยก่อนเรียกว่า “ ยะโยะอิ ” ( Yayoi - 弥生 ) ซึ่งมีความหมายว่า..."โตวันโตคืน" ที่มาก็คือ...ในราววันที่ 6 ของเดือนนี้ แมลงและสัตว์ต่าง ๆ ที่จำศีลกันอยู่ในรู จะพากันออกจากรูที่อาศัยอยู่ , ต้นไม้ ดอกไม้ ก็จะเริ่มผลิ ดอกออกใบใหม่กัน นกก็จะเริ่มส่งเสียงร้อง

*ตัวหนังสือสีแดง... เป็นวันหยุดราชการ
*ตัวหนังสือสีน้ำเงิน...เป็นวันเทศกาลแต่โบราณ

วันที่ 3 มีนาคม.....วันเทศกาลตุ๊กตา - ฮินามัตทสึริ ( Hinamatsuri - ひなまつり )
วันที่ 12 มีนาคม.....วันเทศกาลฉลองน้ำและไฟ - โอะมิซึ โทริ (Omizu tori - お水取り )

ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ....วันแบ่งฤดูใบไม้ผลิ - ชุมบุนโนะฮิ ( Shunbun no hi - 春分の日 )

วันที่ 3 มีนาคม.....วันเทศกาลตุ๊กตา - ฮินามัตทสึริ ( Hinamatsuri - ひなまつり )....เป็นวันที่ บ้านที่มีเด็กผู้หญิงจะนำชุดตุ๊กตาประจำเทศกาลออกมาประดับบ้าน ตุ๊กตาที่ว่านี้ คือ ฮินานิงเงียว (Hina ningyou - ひな人形) ซึ่งมีมาตั้งแต่ราวกลางสมัยเอโดะ (Edo - 江戸 ค.ศ.1603 - 1867)ผู้คนนิยมทำตุ๊กตาอย่างประณีตแล้วนำมาประดับตกแต่งไว้ในบ้าน บนหิ้งจะปูด้วยพรมสีแดง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ตุ๊กตาหนึ่งชุดจะประกอบด้วย ตุ๊กตาที่แต่งกายในแบบราชสำนักโบราณ จำนวนทั้งสิ้น 15 ตัว ซึ่งเป็นชุดใหญ่ ได้แก่ (ดูรูปประกอบ)

ชั้นที่ 1 ...... ตุ๊กตาจักรพรรดิ และ จักรพรรดินี วางอยู่บนหิ้งชั้นบนสุด ซึ่งด้านหลังเป็นฉากสีทอง มีโคมไฟ 2 ดวงอยู่ด้านข้าง ระหว่างกลางของตุ๊กตาจะเป็นขวดเหล้าขาว

ชั้นที่ 2...... ตุ๊กตานางสนองพระโอษฐ์ 3 ตัว

ชั้นที่ 3 ..... ตุ๊กตานักดนตรี 5 ตัว



ชั้นที่ 4 ..... ตุ๊กตาคนรับใช้ 2 ตัว (ตั้งอยู่ด้านข้าง 2 ด้าน) , ฮิชิโมจิ (แป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม) , ขนมอาระเระ (แป้งข้าวเหนียวนำไปทอดจนกรอบ)

ชั้นที่ 5 ...... ด้านซ้าย เป็นต้นส้ม 1 ต้น , ด้านขวา เป็นต้นซากุระ 1 ต้น , ตรงกลางเป็นตุ๊กตาทหารรักษาพระองค์ 3 ตัว

ชั้นที่ 6 และ 7..... เป็นพวกเครื่องเรือน , ภาชนะประเภทเครื่องเขิน และพาหนะต่าง ๆ วางอยู่บนหิ้งชั้นล่างสุด ซึ่งเป็นสัญญาลักษณ์ของการออกเรือน

รูปนี้.....เป็นแบบย่อส่วนลงมาหน่อย มีแค่ 3 ชั้น



หรือแบบนี้....เหลือแค่ตุ๊กตาคู่จักรพรรดิ และ จักรพรรดินี เท่านั้น



**เนื่องจากในปัจจุบันนี้...บ้านที่พักอาศัยส่วนใหญ่มีเนื้อที่จำกัด จึงนิยมประดับตุ๊กตาดังกล่าวในกล่องกระจก หรือมีเพียงแค่ภาพวาดตุ๊กตาดังกล่าวเท่านั้น

ถึงแม้ว่า....ตุ๊กตาประดับเทศกาลจะถูกย่อ หรือดัดแปลงไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม....รูปแบบของตุ๊กตาประดับเทศกาลก็ยังคงเป็นรูปแบบแต่ดั้งเดิม คือ เป็นตุ๊กตากระดาษที่ทำด้วยมือ ที่ได้รับความนิยมกันมากในปัจจุบันนี้คือ.... ทำเป็นตุ๊กตาคู่ ชายหญิง อยู่ในท่ายืน ที่เรียกว่า "ทาจิบินะ (Tachibina)"



ตามประเพณีดั้งเดิมของเทศกาลฮินามัตทสึริ....ที่เขียนปรากฏอยู่ในหนังสือ " เกนจิโมโนงาตาริ (Genji Monogatari)" ซึ่งเขียนขึ้นในตอนต้นของศตวรรษที่ 11 ..... เป็นการปกป้องผู้คนจากสิ่งชั่วร้าย แต่ละคนจะทำรูปปั้น หรือตุ๊กตาแทนตัวเอง เขียนชื่อกำกับไว้ แล้วนำไปลอยน้ำ เพื่อให้สิ่งชั่วร้ายลอยตามน้ำไปกับรูปปั้น หรือตุ๊กตานั้น

ในปัจจุบันนี้...ประเพณีเก่าแก่ที่เริ่มมีมาตั้งแต่พันปีก่อน (นางะชิบินะ - Nagashi bina - 流しびな)หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในญี่ปุ่น โดยจะนำตุ๊กตากระดาษ 2 ตัว วางลงในเรือเล็ก ๆ ที่ทำด้วยฟางข้าว พร้อมด้วยดอกท้อ และ โอโมจิ แล้วนำไปลอยในแม่น้ำ




ภายในบ้านจะมีการประดับประดาด้วยดอกไม้จำพวก ดอกท้อ (โมโมะ - Momo - もも)



และ ดอกนะโนะฮานะ (Ha no hana - なの花)



มีการเชิญญาติและเพื่อน ๆ มาร่วมเลี้ยงฉลอง โดยเจ้าบ้านจะจัดเตรียมอาหารต่าง ๆ ของเทศกาลเอาไว้รับรองแขก ซึ่งได้แก่ ข้าวเปรี้ยว ยำทรงเครื่อง - ชิราชิซูชิ (Chirashizushi - ちらし寿司) คือ...ข้าวที่ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู ออกรสเปรี้ยว-หวานนิดหน่อย แล้วใส่เครื่องต่าง ๆ ตามชอบ โรยหน้าด้วยไข่เจียวที่ทอดเป็นแผ่นบาง ๆ หั่นฝอย , สาหร่าย ฯลฯ



ซุปใสหอยฮามางูริ ( ฮามางูริ โนะ ซุยโมโนะ - Hamaguri no Suimono - はまぐりの吸い物 )



ขนมอาระเระ (Hina arare - ひなあられ) 



และ เหล้าหวานสีขาว (ชิโระสาเก - Shiro sake - 白酒 )



นอกจากนี้...ในวันที่ 3 มีนาคม ยังถือเป็น " วันรักษาสุขภาพหู " อีกด้วย เนื่องจากตัวเลข 3 มีรูปร่างคล้ายหูของคน ประกอบกับตัวเลข 3 นั้น สามารถอ่านออกเสียงว่า " มิ " ได้อีกด้วย ดังนั้น วันที่ 3 ของเดือน 3 จึงอ่านออกเสียงได้เป็น " มิมิ - Mimi " (ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า " มิมิ - Mimi - 耳" นั้นแปลว่า....หู ) ดังนั้นในวันนี้...จึงถือว่าเป็นวันที่เตือนให้ผู้คนระวังรักษาสุขภาพของหู ด้วยอีก

**การใช้ตัวเลขเล่นคำ (โงะโระ อะวาเซะ - Goro awase - ごろ合わせ)....เนื่องจากตัวเลขในภาษาญี่ปุ่นนั้น มีวิธีการอ่านออกเสียงได้หลายแบบ จึงทำให้คนญี่ปุ่นสามารถจดจำตัวเลขจำนวนหลาย ๆ หลักได้ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือปีที่สำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้...คนญี่ปุ่นยังนำเอาตัวเลขต่าง ๆ มาเล่นคำ โดยการกำหนดความหมายให้แก่วันต่าง ๆ ได้ด้วยเช่น

เดือน 3 วันที่ 3 .... 3*3 อ่านว่า... มิ*มิ (mi * mi)......วันรักษาสุขภาพหู
เดือน 6 วันที่ 4 .... 6*4 อ่านว่า... มุ*ชิ (mi * mi)......วันป้องกันฟันผุ
เดือน 8 วันที่ 7 .... 8*7 อ่านว่า... ฮา*นะ (mi * mi)......วันรักษาสุขภาพจมูก
วันที่ 23 .... 2*3 อ่านว่า... ฟุ*มิ (mi * mi)......วันเขียนจดหมาย


ตามห้องพักในโรงพยาบาล หรือ โรงแรม จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ตัวเลข 4 หรือ 42 เนื่องจาก....สามารถออกเสียงไปพ้องกับคำว่า "ชิ - Shi" หรือ " ชินิ - Shini " ซึ่งมีความหมายว่า "ตาย"

ระบบการศึกษาของญี่ปุ่น....จะแบ่งเป็น 2 เทอม ดังนั้น....โรงเรียนและสถานศึกษาส่วนใหญ่ จะเปิดภาคการศึกษาใหม่ประมาณไม่เกินวันที่ 10 ของเดือนเมษายน แล้วไปสิ้นสุดปีของการศึกษา ประมาณวันที่ 20 เศษ ๆ ของเดือนมีนาคม เดือนนี้...จึงเป็นเดือนแห่งพิธีรับปริญญา , ประกาศนียบัตร ฯลฯ ซึ่งนักเรียน นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับขั้น (ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย) จะได้รับประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตร ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีการจัดพิธี มอบประกาศนียบัตร ในหอประชุมใหญ่ของสถาบัน สำหรับระดับประถม และมัธยมศึกษาตอนต้น ครูประจำชั้นจะประกาศชื่อของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาทีละคน ให้ออกมารับประกาศนียบัตรบนเวที จากครูใหญ่พร้อมกับรับโอวาท

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ บางแห่ง จะเช่าหอประชุมภายนอกสถาบันในกรณีที่เป็นพิธีใหญ่ และมีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก จะให้ตัวแทนเป็นผู้รับมอบแทนเพื่อนร่วมชั้น ((การสวมเสื้อครุย หรือหมวก จะไม่ค่อยมีให้เห็นในญี่ปุ่น)) ระดับวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ผู้สำเร็จการศึกษาจะใส่สูท อย่างไรก็ตาม พวกผู้หญิงส่วนมากก็ยังคงสวมชุดกิโมโน และฮากามะ はかまสีเข้ม ซึ่งทำให้ดูเป็นพิธีการยิ่งขึ้น 卒 業 式 ・ 入 学 式


หลังจากเสร็จพิธีแล้วจะมีงานเลี้ยงขอบคุณครูบาอาจารย์ ซึ่งเรียกว่า ชาองไค เป็นการแสดงความขอบคุณที่ได้กรุณาให้ความรุ้และอบรมสั่งสอนมา ในงานนี้ผู้ปกครองสามารถเข้าร่วมด้วยได้ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเหล่านี้ ก็จะเข้าสู่ช่วงปิดภาคฤดูใบไม้ผล

สำหรับบริษัทห้างร้านตลอดจนธนาคารส่วนใหญ่ เดือนมีนาคมจะเป็นช่วงของการปิดงบประมาณ และยังเป็นช่วงของการยื่นแบบเสียภาษีด้วย เดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งการสิ้นปีงบประมาณดังกล่าง จึงเป็นฤดูแห่งการโยกย้าย ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายที่ทำงาน ย้ายโรงเรียน หรือย้ายบ้าน

วันที่ 12 มีนาคม.....วันเทศกาลฉลองน้ำและไฟ - โอะมิซึ โทริ (Omizu tori - お水取り ) เทศกาลนี้...เริ่มมีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 8 ช่วงที่สำคัญที่สุดของงาน คือตอนกลางดึก ที่ระเบียงโบสถ์จะมีพระสงฆ์ที่มีอาวุโสน้อยออกมาโบกไฟให้เกิดเป็นประกายลูกไฟลอยไปยังผู้มีจิตศรัทธาที่มาร่วมงานที่อยู่ด้านล่าง พอถึงเวลาตี 2 พระสงฆ์ที่ถือไฟรูปหนึ่งก็จะมุ่งหน้าไปยังบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ บ่อวากาไซ ((ว่ากันว่าเป็นน้ำบาดาลขุดขึ้นมาจากเมืองวากาซะในจังหวัด ฟุกุอิ บ่อน้ำดังกล่าวจึงมีชื่อเรียกว่า "วากาไซ" ))

ภายในโบสถ์นิงัตทสึโด จะมีพิธีวิทดน้ำจากบ่อ ซึ่งผู้ประกอบพิธีจะเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว น้ำศักดิ์สิทธิ์ในถึงจะถูกนำกลับไปยังโบสถ์ใหญ่เพื่อถวาวยพระพุทธรูปองค์พระประธาน เชื่อกันว่าผู้ที่มีจิตศรัทธาที่สามารถจับลูกไฟได้ในพิธี จะพ้นจากสิ่งชั่วร้าย และโรคภัยไข้เจ็บตลอดปี

งาน โอมิซึโทริ ที่วัด โทไดจิ ในจังหวัดนารา ถือเป็นงานประเพณีที่สำคัญงานหนึ่งของแถบคันไซ ที่บ่งบอกถึงฤดูใบไม้ผลิ

ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ....วันแบ่งฤดูใบไม้ผลิ - ชุมบุนโนะฮิ ( Shunbun no hi - 春分の日 ) เป็นวันซึ่งกลางวันกับกลางคืนจะมีความยาวเท่ากัน ช่วงก่อนหรือหลังจากนี้ราว 1 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่สมาชิกในครอบครัวไปกราบไหว้สุสานของบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า โอฮิงัน

ความเชื่อแบบพื้นบ้านของญีปุ่นแต่ดั้งเดิมในเรื่องการเคารพวิญญาณของบรรพบุรุษ ได้ผสมผสานกับความเชื่อของศาสนาพุทธที่ว่าสวรรค์อยู่ตรงทิศตะวันตกพอดี ผู้คนจะเริ่มพากันไปเยื่ยนเยียนสุสานของบรรพบุรุษในวันซึ่งกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ว่ากันว่า วันนี้พระอาทิตย์จะตกตรงทิศตะวันตกพอดี ประเพณีนี้ไม่ปรากฏทั้งในประเทศจีน และ อินเดีย

ที่สุสาน ผู้คนจะกวาดล้างทำความสะอาดรอบ ๆ สุสานบรรพบุรุษของตนหลังจากที่ได้ทำความสะอาดแล้ว ก็จะกราบไหว้ด้วยดอกไม้ ธูป พร้อมด้วยอาหารและเครื่องดื่มที่บรรพบุรุษของตนเคยชื่นชอบ แต่ละคนจะรดน้ำลงบนแท่งหินเหนือสุสาน และสวดมนต์ ว่ากันว่า...ผู้ที่ตายไปแล้วมักจะกระหายน้ำอยู่เสมอ จึงต้องรดน้ำให้ เพื่อช่วยคลายความกระหายน้ำ


เมื่อโอฮิงัน ของฤดูใบไม้ผลิมาถึง ความหนาวเย็นก็จะสิ้นสุดลง เปลี่ยนเป็นฤดูใบไม้ผลิ เมื่อโอฮิงันของฤดูใบไม้ร่วงมาถึง ความร้อนอบอ้าวก็จะหมดไปเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง สมกับที่มีคำกล่าวมาแต่โบราณว่า "จะร้อนจะหนาวก็ถึงแค่ โอฮิงัน"




 

Create Date : 23 ตุลาคม 2551
0 comments
Last Update : 5 มกราคม 2552 6:47:31 น.
Counter : 12273 Pageviews.


Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนะคะ จุดประสงค์หลักก็คือ... อยากเก็บประสพการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตในต่างแดน (ญี่ปุ่น) ซึ่งได้อยู่มาเข้ารอบปีที่ 15 แล้ว เพื่อบันทึกความทรงจำ กันลืม เพราะแกร่แย้วววว ^o^ มีหลายเรื่องที่อยากเขียน....จนตัดใจเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกเรื่องไหนเป็นหลัก......"รักพี่เสียดายน้อง" ไหน ๆ ก็ตัดใจเลือกไม่ได้ ก็เขียนมันเสียทุกเรื่องจะดีกว่าเนอะ.... บล๊อคนี้...ก็เลยกลายเป็น " บล๊อคจับฉ่าย " อย่างที่เพื่อน ๆ เห็นละนี้แระคร้า
Friends' blogs
[Add 's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.