Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2551
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
6 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
ชลวาห์กาล ๑๙ (ธัญรัตน์)




หมู่บ้านที่ทั้งสองมาถึงเมื่อคืนนี้ บัดนี้แทบจะกลายเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว กระท่อมที่เรียกว่า

“บ้าน”

ในความหมายของชาวบ้าน ที่ถูกสร้างไว้แค่พอหลบแดดฝนนั้น ถูกน้ำซัดไปแทบจะหมดสิ้น ผู้คนในหมู่บ้าน ต่างพากันออกตามหาคนในครอบครัว ที่พลัดหลงกันเพราะหนีพายุเมื่อคืนนี้
วันวิวาห์เห็นแล้วก็แทบจะกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ได้ แต่ด้วยความที่เธอเป็นหมอ ที่มีจิตใจเข้มแข็ง และเผชิญกับความสูญเสียของญาติคนไข้มามากมาย จึงทำให้ควบคุมความรู้สึกตัวเองเอาไว้ได้ดีกว่าปกติ ทั้งสองเดินสำรวจความเสียหาย ของชาวบ้านโดยรอบ และสายตาทั้งสองคู่ก็เพ่งมองไปยังชายวัยกลางคน ที่เดินตรงดิ่งมาหาทั้งสองด้วยความรีบร้อน

“คุณหมอที่มารักษาคน เมื่อวานนี้ใช่ไหมครับ ผมจำได้ เพราะเมื่อวานก็พาลูกบ้านไปหาหมอเหมือนกัน” ชายแปลกหน้าถามด้วยความอยากรู้
“ค่ะ...ใช่ค่ะ มีอะไรคะลุง” เธอถามด้วยความสงสัย เพราะเห็นได้จากสีหน้าของเขา ที่บ่งบอกถึงความกังวลใจไม่น้อย
“โอย...ผมดีใจจริง ๆ เลยครับที่เป็นคุณหมอ ผมชื่อเสริมครับเป็นผู้ใหญ่บ้านที่หมู่บ้านนี้ ลูกบ้านผมบาดเจ็บกันเต็มไปหมดครับ ผมเอาเปลมายกไปไว้ที่ศาลาวัดบ้าง แล้วก็ที่บ้านผมบ้างครับ คุณหมอช่วยดูให้ด้วยครับ” เขาบอกด้วยความรีบร้อน

“เหรอคะ งั้นรอสักครู่นะคะ พอดีเครื่องมือและก็ยาของหมออยู่ที่รถที่จอดไว้ด้านโน้นค่ะ” เธอบอกและชี้ไปทางที่รถจอด
“รถคันที่ล่ามไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ๆ ใช่ไหมครับ” ผู้ใหญ่เสริมรีบถาม
“ใช่ครับ ข้าวของทั้งหมดอยู่ที่รถครับผู้ใหญ่” ชนะชลรีบบอก

“คุณนี่ฉลาดนะครับ ถ้าไม่ล่ามเอาไว้ ป่านนี้อาจจะโดนน้ำป่าซัดไปที่ไหน ๆ แล้วก็ได้ งั้นไปเลยครับ ผมจะไปช่วยขนของ สงสัยคุณหมอจะกลับเข้าไปในเมืองไม่ได้ง่าย ๆ แล้วหล่ะครับ เพราะสะพานขาดอยู่ ตอนนี้ลูกบ้านผม กำลังจะช่วยกันซ่อม และผมก็ให้คนที่มีม้า ขี่เข้าไปแจ้งข่าวและขอความช่วยเหลือจากทางการอยู่ครับ บ่าย ๆ คงจะกลับ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาจะได้มาช่วยเราเมื่อไหร่ เพราะคงจะมีหลาย ๆ หมู่บ้านที่เสียหาย และรอความช่วยเหลืออยู่เหมือนกัน” ผู้ใหญ่เสริมรีบสาธยาย ระหว่างที่ทั้งสามเดินตรงไปที่รถเขา เพื่อเก็บข้าวของที่ต้องใช้

“โห...เอาการเหมือนกันนะครับ” ผู้ใหญ่เสริมรีบร้องออกมา เมื่อทั้งสามเดินมาถึงรถ เพราะสภาพรถของชนะชลนั้น โดนกิ่งไม้ใหญ่หักลงมาทับส่วนหลังคา
“แล้วจะใช้ได้หรือเปล่าคะ” วันวิวาห์ถามด้วยความกังวน
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ขอไปสตาร์ทดูก่อน คุณถอยไปอยู่ตรงโน้นก่อนนะ” เขาบอกและชี้ให้เธอออกจากจากรถ เพราะต้องเอากิ่งไม้ใหญ่ออกจากรถก่อน
“ลุงครับรบกวนช่วยครับ” เขาขอความช่วยเหลือจากลุงเสริมที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว
“โชคดีนะครับที่เสียหายแค่นี้” เขาบอกอีกครั้งเมื่อขึ้นไปสตาร์ทรถหลังจากเอากิ่งไม้ออก แล้วก็พบว่ารถยังใช้ได้สบาย

“ดีจังเลยค่ะ งั้นเรารีบไปดูชาวบ้านกันเถอะนะคะ” เธอรีบเดินเข้ามาหาเขาพร้อมทั้งสีหน้าที่บอกถึงความโล่งอกเป็นที่สุด
ไม่นานชนะชลก็นำรถเข้ามาจอดในบริเวณศาลาวัด ที่มีชาวบ้านล้มเจ็บ นอนเรียงรายอยู่ที่แคร่ และพื้นที่ถูกปูเอาไว้ด้วยเสื่อที่ทอใช้เองด้วยฝีมือของชาวบ้านนั่นเอง บ้างก็ถูกไม้เสียบขาคาเอาไว้ และร้องโอดครวญ เพราะความเจ็บปวด บ้างก็หัวร้างข้างแตก เด็ก ๆ ร้องไห้กระจองอแงเต็มไปหมด

“โชคดีจริง ๆ เลยค่ะ ที่เครื่องมือที่เราเอามาเมื่อวานนี้ อยู่ที่รถคุณเกือบทั้งหมดเลย ผู้ใหญ่คะ หมอรบกวนให้ชาวบ้านช่วยก่อไฟต้มน้ำร้อน ไว้ลวกเครื่องมือเพื่อฆ่าเชื้อด้วยนะคะ ถ้ายังพอมีชาวบ้านที่เป็นผู้หญิง หมอรบกวนขอให้มาช่วยงานสักสองสามคนค่ะ” วันวิวาห์สั่งการด้วยความรวดเร็ว
“ได้ครับหมอ งั้นผมฝากตรงนี้ไว้กับหมอนะครับ ส่วนผมจะไปดูเขาซ่อมสะพานก่อน ถ้าสะพานไม่เสร็จ เราก็จะได้รับความช่วยเหลือจากคนข้างนอกลำบาก แล้วหมู่บ้านที่อยู่ด้านในก็คงจะต้องรอนาน มีอะไรก็เรียกนังเมยกับนังเนียนนะครับหมอ” ผู้ใหญ่เสริมบอกและก็ชี้ไปทางหญิงสองคนที่นั่งอยู่ที่แคร่

“งั้นผมจะไปช่วยซ่อมสะพานด้วยนะครับผู้ใหญ่ จะได้เสร็จเร็ว ๆ” เขาบอกกับผู้ใหญ่
“ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะบางที รถของคุณก็อาจจะช่วยอะไรได้บ้าง งั้นตามผมมาเลยครับ” เขาบอก และเดินนำหน้าชนะชลไป
วันวิวาห์ลงมือตรวจคนไข้ ที่มีอาการหนักก่อน แล้วก็รีบให้การรักษาเท่าที่อุปกรณ์การแพทย์ ที่มีจะเอื้ออำนวยต่อเธอในเวลานี้

“เมยกับเนียนช่วยหาน้ำร้อน ให้ฉันจะได้ไหมจ๊ะ” เธอร้องขอคนที่ผู้ใหญ่แนะนำเอาไว้ให้
“ได้ค่ะหมอ แต่นานหน่อยนะคะ เพราะข้าวของเครื่องใช้ไม่ค่อยครบ” เนียนที่มีวัยวุฒิสูงกว่าเธอบอก พร้อมทั้งกุลีกุจอจัดหาตามที่เธอขอ
“นังเมยแกมาช่วยหมอที่นี่ ข้าจะไปหาน้ำร้อน” เนียนสั่งให้เมยที่อ่อนวัยกว่ามาช่วยเธอ


การรักษาเริ่มที่เด็กชายวัยสิบขวบกว่า ๆ ที่ดูจะมีอาการหนักพอดู เพราะถูกไม้หนักตกลงมาทับที่ลำตัว หลังจากที่เธอได้สอบถามอาการจากเด็ก และมารดาที่นั่งเฝ้าอาการลูกชายไว้ไม่ห่างตัว วันวิวาห์วินิจฉัยดูจากอาการภายนอก ก็ลงความเห็นว่าซี่โครงของเด็ก คงจะหักและก็คงจะหักไปหลายซี่ เป็นผลให้เด็กน้อยคนนี้ ไม่สามารถ เคลื่อนไหวตัวเองได้เลย
“หนู ๆ หายใจสะดวกมั้ย” เธอถามเด็กน้อย
“ไม่ครับ เหมือนจะหายใจไม่ออก” เด็กน้อยค่อย ๆ ตอบเธอ

“เหรอ แล้วเจ็บตรงไหนบ้าง” เธอถามขณะสำรวจดีแถว ๆ ซี่โครงของเด็ก
“เจ็บตรงนี้ครับ ตรงนี้ด้วย แล้วก็ตรงนี้ คุณหมอครับ ผมจะตายหรือเปล่าครับ” เด็กใช้มือชี้ไปทั่วตัว พร้อม ๆ กับถามคำถามที่วันวิวาห์ไม่อยากจะได้ยินเลย
“ไม่หรอกจ๊ะ หนูไม่เป็นอะไรมากนะ อยู่ใกล้ ๆ หมอแล้วไม่ต้องกลัว” เธอปลอบเด็กน้อยพร้อม ๆ กับยิ้มให้ด้วยความเอ็นดูในความรู้ความของเขา

“เดี๋ยวหมอจะฉีดยาชาให้หนูตรงนี้นะครับ แล้วหนูจะได้หายใจสะดวกขึ้น หนูไม่กลัวเข็มนะครับ” เธอบอกเด็กน้อย หลังจากที่ตรวจพบว่าซี่โครงที่หักนั้นไปทิ่มที่ปอด เป็นเหตุให้ปอดแตกทำให้เกิดลมรั่วมาจากถุงลม แล้วมาคั่งในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้เกิดแรงดันจนปอดไม่สามารถขยายตัวได้ เป็นผลให้หนูน้อยคนนี้รู้สึกแน่นอึดอัดหายใจลำบาก
“ไม่กลัวครับ ผมเป็นลูกผู้ชาย พ่อบอกว่าลูกผู้ชายต้องไม่กลัวอะไรครับ ใช่มั้ยครับแม่” เด็กน้อยบอกด้วยความอาจหาญ พร้อมหันไปหามารดาที่มือไม่ห่างกายลูกชายเลย

“ใช่ลูก” มารดาตอบด้วยความภาคภูมิใจในตัวลูกชาย
“ดีมาก งั้นหมอจะฉีดยานะ น้ำร้อนได้หรือยังคะ” เธอบอกเด็กน้อย และก็หันไปร้องถามเนียนที่นั่งอยู่หน้าเตา “ได้แล้วค่ะหมอ” เสียงร้องตอบกลับมาจากเนียน พร้อม ๆ กับยกหม้อที่น้ำเพิ่งจะผ่านการเดือดปุด ๆ มาให้เธอใกล้ ๆ
“ไม่เจ็บนะครับ แค่นิดเดียวเหมือนมดกัด” หญิงสาวต้องปลอบใจเด็กน้อย ที่จากตอนแรกบอกว่าไม่กลัว แต่แค่เห็นเธอยกเข็มฉีดยาขึ้นมาแค่นั้น เด็กน้อยก็หลับตาปี๋และบีบมือผู้เป็นแม่จนแน่น
“ครับ” เด็กน้อยรับคำแค่นั้น

“ดีมากเลย งั้นหนูหลับตาลงนะครับ แล้วก็หันหน้าไปทางนั้นจะได้หายใจสะดวกขึ้นด้วย เดี๋ยวหมอจะรักษาให้หนูแล้วนะ” เธอบอกเด็กน้อยอีกครั้ง ขณะที่เลือกเครื่องมือที่ต้องใช้บรรจุลงไปในชามเพื่อฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อน หลังจากที่ฉีดยาชาไปตรงสีข้างของเด็กน้อย
“คุณแม่ช่วยดูอย่าให้ลูกหันมาทางนี้นะคะ” เธอบอกมารดาของเด็ก เพราะกลัวว่าเด็กจะเกิดอาการกลัวเลือดขึ้นมาเวลาที่เห็นเธอรักษา
“ค่ะคุณหมอ...ลูกหันมาหาแม่นะ คุณหมอจะรักษาหนูแล้ว” ผู้เป็นแม่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“หนูชื่อเด็กชายอะไรครับ” เธอถามเด็กน้อยไปด้วยเพื่อให้เขารู้สึกผ่อนคลาย และเมื่อพบว่ายาชาออกฤทธิ์แล้ว เธอก็ใช้มีดกรีดหนังตรงสีข้างของเด็กในระดับช่องซี่โครงซ้ายอันที่ห้าเพราะพบว่ามีลมคั่งที่ข้างนี้
“ผมชื่อเด็กชายสุพรรณ ทรัพย์สมครับ” เด็กน้อยตอบอย่างเต็มยศ ทั้ง ๆ ที่ยังคงหลับตาปี๋อยู่

“เหรอ...แล้วเรียนอยู่ชั้นไหนครับ” เธอยังคงป้อนคำถาม ๆ เด็กน้อยอยู่อย่างนั้น ขณะที่เธอใช้คีมคีบเอาด้ามปากกาที่เธอได้เอาไส้ออกและนำไปลวกในชามน้ำร้อนขึ้นมา สักพักเธอก็ใช้ด้ามปากกทิ่มเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอด ตรงที่เธอใช้มีดกรีดเอาไว้ ทำให้ลมที่คั่งทะลักออกมาทำให้ปอดขยายได้ จะได้ช่วยให้เด็กน้อยคนนี้พ้นขีดอันตรายไปได้สักช่วงหนึ่ง
“อยู่ชั้นประถามปีที่ห้าครับ” “เหรอ...แล้วสอบได้ที่เท่าไหร่ครับ” ปากก็ถามเด็กไป มือก็รักษาไป

“เนียนขอถุงมือให้หมอหน่อย...แล้วแกะเอาหนังยางที่รัดของตรงนั้นมาด้วย” เธอบอกเนียนที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ เพื่อคอยช่วยเหลือ
“ผมสอบได้ที่หนึ่งของห้องครับ” เด็กน้อยอวดสรรพคุณด้วยความภูมิใจในตัวเอง จนลืมว่าหมอกำลังรักษาให้ตัวเองอยู่
“เหรอ...เก่งจังเลยนะ” เธอบอกขณะที่รับถุงมือยางมาจากเนียนแล้วก็นำไปสวมกับปลายปากกาและใช้นังยางรัดถุงมือกับปลายปากกาจนแน่น แล้วเธอก็ใช้กรรไกรตัดที่ปลายนิ้วของถุงมือเพื่อให้ลมจากในปอดระบายออกได้ และป้องกันไม่ให้ลมจากภายนอกจะเข้าไม่ได้เช่นกัน

“เอาหล่ะเสร็จแล้ว...เดี๋ยวคุณแม่ให้ลูกชายกินยาแก้ปวด กับยาแก้อักเสบก่อนนะคะ เดี๋ยวหมอจะไปดูคนอื่นก่อน” เธอบอกเมื่อจัดการกับแผลที่เธอกรีดเอาไว้จนเรียบร้อย
“ขอบพระคุณค่ะคุณหมอ” มารดาเด็กยกมือไหว้เธอด้วยความซาบซึ้ง
“ไม่เป็นไรค่ะ เอาไว้ให้สะพานซ่อมเสร็จแล้วหมอจะพาลูกชายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนะคะ ตอนนี้ก็ให้อยู่ใกล้ ๆ ลูกไปก่อน มีอะไรก็เรียกหมอได้” เธอรับไหว้แล้วก็ลุกไปดูคนไข้รายอื่นต่อไป เพราะยังมีอีกหลายคนที่เธอต้องรีบไปดู ซึ่งแต่ละคนนั้น ก็มีอาการหนักบ้าง เบาบ้าง ปะปนกันไป....

การรักษาของวันวิวาห์ มาชะงักอยู่กับชายวัยกลางคนที่ชื่อ “ก๋อย” ซึ่งเป็นชาวเขา เพราะถูกไม้เสียบที่ต้นขา และไม้ที่เสียบคาอยู่นั้น ไม่เอื้ออำนวยให้ดึงออกจากขานายก๋อยได้เลย เพราะเป็นไม้ที่มีแง่งทั้งส่วนที่โผล่เข้าไปในเนื้อ และส่วนที่โผล่พ้นต้นขาออกไปแล้ว กับยาชาที่มีเหลืออย่างจำกัดนั้น
วันวิวาห์ไม่มั่นใจ ว่าเขาจะทนเจ็บได้มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เธอก็ต้องรีบรักษาเขา เพราะดูจากสีหน้าแล้ว เขาคงจะเจ็บปวดจากบาดแผลมากทีเดียว แต่คงด้วยเพราะที่เขาเป็นคนป่าคนเขา ความอดทนอดกลั้นที่มีนั้นจึงมีมากกว่าคนเมืองนั่นเอง

“นายก๋อยจ๊ะ ฉันจะต้องเอาไม้ออกจากขาก่อน อาจจะเจ็บหน่อยนะ แต่นายก๋อยก็ต้องอดทนนะ ไม่อย่างนั้น แผลที่ขาจะอักเสบและติดเชื้อ อาจจะลุกลามถึงขั้นต้องตัดขา” เธอบอกกับนายก๋อย ก่อนจะลงมือฉีดยาชาให้เขา หลังจากได้ตรวจดูวิธีที่จะนำเอาไม้ที่เสียบอยู่ที่ขาของเขาออก
“ไม่เป็นไรครับหมอ แค่นี้ผมทนได้” เขาบอกกับเธอด้วยความอาจหาญ

ในที่สุดนายก๋อยและคนเจ็บคนอื่น ๆ ก็ได้รับการรักษาจนเรียบร้อยแล้ว และเวลาก็ปาเข้าบ่ายสองโมงกว่า ๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าผู้ใหญ่เสริม และชนะชลจะมาส่งข่าวเรื่องสะพานเลย ยังผลให้สีหน้าของวันวิวาห์ไม่ดีเอาเสียเลย เมื่อหันไปมองเด็กน้อยที่นอนซมอยู่ใกล้ ๆ แม่ เธอรู้แน่ชัดแล้วว่า เด็กคนนี้จะต้องได้รับการรักษาด่วน เพราะวิธีที่เธอรักษาให้ไว้แต่แรกนั้น เป็นวิธีรักษาที่ไม่ค่อยจะได้มาตรฐานนัก เนื่องด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่มีจำกัดนั่นเอง

“หมอคะ....ลูกฉันจะเป็นอะไรหรือเปล่า ทำไมมันไม่พูดเลยหล่ะ” มารดาเด็กร้องถามเธอ เมื่อเธอเดินไปหา เพื่อจะให้ยาแก้ปวดกับเด็กอีกครั้ง
“ไม่เป็นอะไรมากหรอก แต่เราต้องพาเขาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหนะ หมอไม่สามารถรักษาให้ที่นี่ได้ เพราะต้องเอ็กซเรย์ดูให้แน่ชัดว่าภายในได้รับบาดเจ็บตรงไหนบ้าง เราต้องรอให้สะพานซ่อมเสร็จก่อน” เธอบอกออกไปด้วยสีหน้าที่ราบเรียบ เพราะไม่อยากจะให้มารดาของเด็กต้องเป็นกังวล
“นั่นไงผู้ใหญ่กับนายผู้ชายมากันแล้ว สงสัยสะพานคงจะซ่อมเสร็จแล้วมั๊ง” เสียงเมยร้องบอก เมื่อเห็นทั้งสอง เดินแกมวิ่งเข้ามาที่ศาลา

“คุณกินอะไรหรือยังบ่ายมากแล้วนะ” เขาถามเธอเป็นเรื่องแรก เมื่อมาถึงเพราะความเป็นห่วงเธอ และคาดเดาเอาได้ว่า สถานะการณ์แบบนี้ วันวิวาห์คงจะไม่ได้ใส่ใจกับตัวเองสักเท่าไหร่เลย
“หมอยังไม่ได้กินอะไรเลยนาย เพิ่งจะได้พักเมื่อสักครู่นี้เอง โน่นแหน่ะข้าวกับปลาแห้ง ที่ฉันหาไว้ให้ ยังอยู่ที่ถ้วยอยู่เลย” เนียนรีบบอกเขาแทนเธอ
“ไม่เป็นไรค่ะ ฉันยังไม่หิว....สะพานเสร็จหรือยังคะ ฉันต้องเอาเด็กคนนี้ไปที่โรงพยาบาลค่ะ” เธอบอกและถามเขา

“ยังไม่เสร็จดีเลย ทำอะไรได้ลำบากมาก เพราะน้ำไหลแรงมาก” เขาบอกเธอ
“แต่เด็กคนนี้จะต้องได้รับการรักษาด่วน มีทางอื่นที่พอจะไปได้ไหมคะผู้ใหญ่” เธอถาม
“ก็พอมีบ้างครับหมอ แต่เราก็ต้องอ้อมไปไกลโขเหมือนกัน อาจจะเสียเวลาหน่อย แล้วอีกอย่างผมก็ไม่รู้ว่าทางจะขาดเหมือนที่นี่หรือเปล่า ผมจะลองไปถามลูกบ้านคนอื่นดู ว่ามีใครได้ไปแถวนั้นบ้างหรือยังตั้งแต่เช้ามานี่” ผู้ใหญ่บอกแล้วก็รีบลุกและก็เดินออกจากศาลา ตรงไปหาลูกบ้านคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน


รถของชนะชลที่บรรทุกเอาเด็กน้อย พร้อมทั้งมารดาของเด็ก และวันวิวาห์ที่นั่งคู่มากับเขา ถูกจอดเอาไว้เมื่อมาถึงทางข้ามแม่น้ำ ที่เป็นช่องแคบ ๆ โดยมีรถของผู้ใหญ่อีกคันหนึ่ง ที่บรรทุกเอาชาวบ้านที่เป็นชาย วัยฉกรรจ์มาด้วยสี่คน เผื่อจะให้คอยช่วยอะไรบ้าง

ชนะชลลงมาสำรวจดูช่องแคบ ที่จะขับรถข้ามไปอีกฟากพร้อม ๆ กับผู้ใหญ่ โดยมีวันวิวาห์ลงจากรถมาด้วย “พอไหวไหมครับคุณชนะชล” ผู้ใหญ่ถามเขา พร้อมกับมีสีหน้าที่กังวลไม่แพ้กับเขา
“ผมไม่แน่ใจ ดูท่าน้ำคงจะเชี่ยวน่าดูเลยผู้ใหญ่” นั่นคือคำตอบที่ได้จากเขา และเขาก็เดินไปเปิดท้ายรถ แล้วก็หอบเอาลวดสลิงที่ใช้ล่ามรถเอาไว้เมื่อคืนออกมา และมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีก พร้อมกับเปิดไฟสปอร์ตไลท์ที่หน้ารถเพื่อส่องไปยังช่องแคบ ที่จะเอารถข้ามไป เพราะความมืดเริ่มเข้ามาปกคลุม

“ผมจะข้ามไปที่ฟากโน้นก่อน แล้วจะใช้ลอกยึดกับต้นไม้ต้นโน้น แล้วผมจะเอาลวดสลิงมาเกี่ยวกับหน้ารถผม และหน้ารถผู้ใหญ่ จะได้เอาไว้ดึงเผื่อว่ารถผมทานแรงน้ำไม่อยู่” เขาบอก
“ระวังตัวนะคะ” เธอบอกเขาด้วยความเป็นห่วง และเขาก็หันมายิ้มให้เธอ แล้วก็เดินลงไปในน้ำ โดยมีชาวบ้านไปด้วยสองคน เพื่อสำรวจทางที่จะให้รถผ่าน พร้อมกับคนทั้งสองก็ช่วยเขาหอบเอาข้าวของที่หนักเอาการอย่างขะมักเขม้น ไม่นานทั้งสามก็ข้ามไปถึงฟากด้วยความปลอดภัย ยังความโล่งใจให้กับวันวิวาห์ ที่ยืนมองเขาจากอีกฟาก

และแล้วการขับรถข้ามฟากก็ดำเนินไปอย่างทุลักทุเล โดยมีทุกคนที่อยู่ในที่นั้น ช่วยกันอย่างแข็งขัน จะมีก็แต่มารดาและเด็กเท่านั้น ที่ทุกคนเสี่ยงให้นั่งอยู่ในรถของชนะชล เพราะไม่อยากจะให้เด็กต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก ส่วนวันวิวาห์นั้น ลงเดินลุยน้ำและก็เกาะไปกับส่วนท้ายของรถพร้อม ๆ กับชาวบ้านชายอีกคน และก็มีชายอีกสองคน

พร้อมกับในมือมีไม้ยาว ๆ คนละอัน และเดินสำรวจทางน้ำ นำหน้ารถของชนะชลไปไม่ห่างมาก ส่วนชายอีกคน ชนะชลให้มีหน้าที่ดูแลลวดสลิงที่คล้องไว้ที่ต้นไม้ใหญ่อีกฟาก เผื่อมีอะไรจะได้ช่วยได้ทัน ส่วนตัวผู้ใหญ่ก็ทำหน้าที่ขับรถตัวเองให้ถอยหลังห่างจากฝั่งอีกฟาก เพื่อขึงลวดสลิงให้ตึงไว้ จะได้ช่วยรั้งรถของชนะชลเวลาที่โดนน้ำซัด
ส่วนเจ้าของความคิดของการข้ามฟากก็ค่อย ๆ ขับเคลื่อนรถข้ามช่องแคบไปอย่างช้า ๆ ท่ามกลางสายน้ำที่ไหลอย่างแรง และในที่สุดรถของเขาก็ข้ามฟาก ไปได้ด้วยความปลอดภัย
“หมอขึ้นรถเถอะครับ กว่าจะไปถึงโรงพยาบาลคงจะดึก” ชาวบ้านชายหนึ่งในกลุ่มบอกเธอ เมื่อรถจอดอยู่อีกฟากหนึ่ง พร้อมกับชนะชล ที่รีบเปิดประตูรถลงมาหาเธอด้วยความเป็นห่วง

“คุณไปพักเถอะนะ เหนื่อยมามากแล้ว” เขาบอก แล้วเธอก็เดินไปอย่างว่าง่าย
“ผมจะให้ไอ้สองคนนี้ไปกับคุณชนะชลนะครับ จะได้บอกทางลัดออกไปได้ถูก แล้วก็จะได้ไปดูแม่ไอ้โต้งมันด้วย ถ้าสะพานซ่อมเสร็จแล้ว ผมกับผู้ใหญ่จะไปเยี่ยมอาการของมัน” ชาวบ้านคนเดิมบอก
“ได้ ขอบคุณมาก ๆ นะครับที่ช่วยเหลือ ผมฝากขอบคุณผู้ใหญ่ด้วย” เขาบอกชายคนนั้น
“ไม่ต้องขอบคุณหรอกครับ พวกเราต่างหากที่ต้องขอบคุณ คุณกับคุณหมอ ถ้าไม่ได้คุณสองคนช่วยไว้วันนี้ คนที่ผมรู้จักก็อาจจะจากไปต่อหน้าต่อตาก็ได้ ผมว่าคุณรีบไปเถอะครับ อีกหลายชั่วโมงกว่าจะถึง โชคดีนะครับ” เขาบอกและก็รีบเตือน ซึ่งชนะชลก็รีบทำตามที่เขาแนะนำ เพราะรู้ดีว่าหนทางที่จะไปนั้นจะขรุขระเพียงไหน เขาจึงรีบบึ่งรถออกไปจากที่นั่น โดยมีชาวบ้านอีกสองคนขึ้นรถไปกับเขาด้วย

เด็กน้อยที่ต้องการการรักษาโดยเร่งด่วน ถูกเข็นร่างเข้าสู่ขบวนการรักษา ทันทีที่มาถึงโรงพยาบาล เพราะวันวิวาห์ได้โทรมาที่โรงพยาบาลทันทีที่โทรศัพท์ของชนะชล สามารถใช้ติดต่อโลกภายนอกได้ ตั้งแต่หลุดออกมาจากเขตอับสัญญาณ เจ้าหน้าที่ได้เตรียมการทุกอย่างรอแล้ว และได้แจ้งหมอเวร ที่ทำหน้าที่เข้าเวรแทนเธอเอาไว้ให้แล้ว เพราะทางโรงพยาบาลคาดเดาเอาว่าเธอคงจะติดปัญหาการเดินทาง จากการเกิดพายุจึงมาเข้าเวรไม่ได้
วันวิวาห์รู้สึกโล่งใจอยู่ในที ที่รู้ว่าหมอเวรเป็นหมอปิยะ เพราะเขาเก่งและมีความเชี่ยวชาญ ตรงกับอาการของเด็กน้อย แต่กว่าจะมาถึงก็โรงพยาบาล ก็ปาเข้าไปเกือบเที่ยงคืน เพราะต้องเสียเวลาอ้อมกลับไปทางเดิมอีก หลังจากที่หมอสาวคล้อยหลังเข้าห้องผ่าตัด

ชนะชลรีบกลับไปที่พัก เพื่อจะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ เพราะรู้สึกอึดอัดมาทั้งวัน ด้วยความเหนื่อยอ่อน เขาก็เลยเผลองีบหลับไปเป็นชั่วโมง ตื่นมาอีกทีก็รีบกลับมาที่โรงพยาบาล แต่ก็พบว่าวันวิวาห์ยังไม่ได้ออกจากห้องผ่าตัดเลย
จนนาฬิกาบอกเป็นเวลาตีห้าแล้ว เขาจึงเห็นหน้าเธอเดินออกมาจากห้องผ่าตัด พร้อมกับหมอปิยะอีกคน สีหน้าของเธอบ่งบอกว่าอ่อนแรงเต็มที เพราะไม่ได้พักมาเกือบจะสองคืน
“เด็กปลอดภัยแล้วค่ะ”

นั่นคือคำบอกเล่าคำแรกของเธอ ยังผลให้มารดาของเด็ก กับชาวบ้านสองคนที่นั่งรออยู่หน้าห้องผ่าตัดตั้งแต่มาถึง มีรอยยิ้มปรากฏให้เห็นบนใบหน้า แล้วทั้งสามคนก็ตามร่างของเด็กชาย ที่ถูกเข็นออกจากห้องผ่าตัด เพื่อตรงไปพักฟื้นไว้ที่ห้องพักคนไข้ชาย

“คุณดูเหนื่อยจังเลย กลับบ้านไปพักผ่อนเถอะนะ ผมเป็นห่วงคุณ” เขาบอกกับเธอ
“ไม่เป็นไรค่ะ ฉันยังไหว” เธอยังปากแข็งบอกเขาออกไป แต่ก็ยืนได้ไม่เท่าไหร่ เข่าก็อ่อนแรงแทบจะหกล้ม จนเขาต้องรีบเข้าไปพยุงเอาไว้ และพาไปนั่งที่เก้าอี้หน้าห้องผ่าตัดก่อน เขาล้วงเอาผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋ากางเกง ออกมาซับหน้าที่เต็มไปด้วยเหงื่อ ให้เธออย่างอ่อนโยน ทำให้เธอนั้นรู้สึกอบอุ่น กับความเอื้ออาทรของเขา อย่างบอกไม่ถูก

“คุณต้องกลับบ้านไปนอนเดี๋ยวนี้นะวา ถ้าคุณไม่ไปผมจะอุ้มคุณไปเอง” เขาบอกกับเธอในที่สุด จากคำพูดของเขานั้น ทำให้เธอขำจนยิ้มออกมา เพราะเธอไม่เคยได้ยินใคร ที่ใช้คำพูดและออกอาการที่ห่วงเธอแบบนี้มาก่อน นอกจากรวิทย์เท่านั้น

“วา ๆ วา....อยู่นี่เอง” ไม่ทันที่ชนะชลจะได้พูดอะไรออกมาอีก ทั้งสองคนก็ต้องหันไปหาเจ้าของเสียงที่เดินแกมวิ่ง พร้อมกับสะพายกระเป๋าใบเขื่องไว้ที่บ่า เดินตรงมาหาเธอ ด้วยสีหน้าที่มีความปีติยินดีเหลือเกินที่ได้เห็นเธอ
“วิทย์....มาได้ยังไงกัน ไม่เห็นโทรมาบอกก่อนเลย....เราจะได้ให้รถไปรับ” เธอถามเขา ทั้ง ๆ ที่ตัวยังนั่งที่เก้าอี้ ด้วยไม่มีแรงที่จะลุกขึ้นนั่นเอง
“หือ...โทรน้อยไปหล่ะสิแม่คุณ ไม่รู้ใช้โทรศัพท์รุ่นไหนกัน โทรจนมือจะหงิกก็ไม่ยอมติด สงสัยเราจะต้องซื้อเครื่องใหม่ ให้สักโหลหล่ะมั้ง ถึงจะติดต่อวาได้ ดีนะที่ ๆ นี่เป็นอำเภอเล็ก ๆ เลยมาโรงพยาบาลถูก....แต่กว่าจะมาได้ก็ทรหดน่าดูเลย....โอย...เหนื่อยจัง” รวิทย์บอกยืดยาว เมื่อเดินมาถึงเธอ พร้อมกับทรุดตัวลงนั่งข้าง ๆ เธอ

“สวัสดีครับคุณชนะชล ไม่ยักรู้ ว่าคุณชนะชลก็อยู่กับวาด้วย ไปยังไงมายังไงครับ ถึงได้มาอยู่ที่นี่” เขาทักทายผู้ที่เขาเพิ่งจะเห็นนั่งซับเหงื่อ ให้กับหญิงคนรักของเขา และเขาเองก็รู้สึกขัดเคืองอย่างบอกไม่ถูก แต่ก็ไม่ได้แสดงกิริยา ที่ไม่ดีออกมาให้เห็น

“ผมมาดูงานที่นี่ ก็เลยพบกับวันวิวาห์เข้าโดยบังเอิญครับ ผมว่าคุณมาเหนื่อย ๆ ไปหาที่พักก่อนดีกว่านะ วันวิวาห์จะได้พักด้วย ไม่ได้นอนมาเกือบจะสองวันแล้ว” เขาเลี่ยงที่จะไม่พูดความจริง เพราะไม่อยากให้ทุกคนไม่สบายใจ และเขาก็รีบออกความเห็นในที่สุด เพราะห่วงวันวิวาห์กว่าสิ่งอื่นใด
“เอ่อ...ดูสิลืมบอกไปเลย คุณป้าเอมอรก็มากับผมด้วยนะครับ คุณป้ากิติยา กับคุณแพรวแล้วก็เพื่อน ๆ ก็มาด้วย ตอนนี้อยู่ที่รีสอร์ทนอกเมืองครับ กว่าจะหาที่พักได้ก็แทบแย่เลย นี่ผมก็ยังไม่ได้เช็คอินเลยนะครับ ห่วงวาก็เลยขอมาดูก่อน” รวิทย์ที่เพิ่งจะนึกขี้นได้ ขณะที่ทั้งหมดเดินออกจากหน้าห้องฉุกเฉิน

“อ้าว...เหรอครับ แล้วมาด้วยกันได้ยังไงครับ” ชนะชลถาม
“อ๋อ...พอดีผมโทรมาที่โรงพยาบาลเมื่อวานตอนเย็นครับ ติดต่อวาไม่ได้สักที ทางนี้ก็บอกว่าอาจจะติดอยู่ที่หมู่บ้านไหนสักแห่ง เพราะฝนตกหนัก อาจจะมีน้ำป่าเข้า ผมห่วงวาก็เลยจะมาดู บังเอิญคุณแพรวกับคุณป้าไปหาคุณชนะชลที่บ้านพอดี รู้เรื่องเข้าก็เลยพลอยห่วงวาไปด้วย เลยขอตามมา ถ้าดูว่าวาไม่เป็นอะไรแล้วคุณป้ากับคุณแพรวกะว่าจะกลับบ้านเลยครับ ผมก็ไม่รู้จะห้ามยังไงก็เลยต้องยอมให้มาด้วย” เขาบอก

“แล้ววิทย์ดูแลคุณป้าดีหรือเปล่า” วันวิวาห์อดห่วงไม่ได้
“โอย...ไม่ต้องห่วงหรอก เราดูแลแขกให้วาตั้งแต่คุณป้าไปบ้านแล้ว” เขาบอกและยิ้มด้วยความอารมณ์ดี
จนทั้งสามพากันเดินออกมาจนจะถึงหน้าโรงพยาบาลแล้ว แต่ก็ต้องชะงักกับความวุ่นวายด้านหน้า เพราะมีคนไข้ด่วนเข้ามา

“หมอวากลับบ้านแล้วเหรอ แย่หน่อยนะวันนี้ คนไข้เยอะมากเลย นี่ผมก็ต้องผ่าตัดไส้ติ่งให้คนไข้อีกรายแล้วหล่ะ” หมอปิยะทักทายเธอ
“ค่ะหมอปิยะ ไม่รู้หมอพี กับพวกที่ไปออกหน่วยติดต่อมาหรือยังคะ” เธอไม่วายที่จะถามถึงเพื่อน ที่บอกว่าจะไปเที่ยวน้ำตก เพราะกลัวว่าจะติดพายุเหมือนกับเธอ

“ติดต่อมาแล้วหล่ะ ทุกคนปลอดภัย และหมอพีก็จะมาช่วยผมในอีกสองชั่วโมงข้างหน้าครับ ผมว่าหมอวาไปพักผ่อนเถอะ เหนื่อยมามากแล้ว....” หมอปิยะไม่วายห่วงเพื่อนร่วมงาน แต่ตัวเองก็เหนื่อยไม่น้อย
“เคสนางดวงแข พร้อมจะผ่าแล้วค่ะหมอ” พยาบาลเดินเข้ามาแจ้งหมอปิยะอีกครั้ง แต่ก็ทำให้คนทั้งสามนั้นถึงกับชะงัก “ดวงแข...ดวงแข นามสกุลอะไรคะ แล้วอายุเท่าไหร่คะคุณพยาบาล”


ใบหน้าที่เรียบเฉย ยืนมองมารดาอยู่ข้าง ๆ เตียง โดยที่ดวงแขไม่สามารถรับรู้ได้ เพราะนอนสลบด้วยฤทธ์ยา เพื่อรอการผ่าตัดจากหมอปิยะ
“วา...ไม่เป็นไรนะ กลับไปพักก่อนเถอะ เหนื่อยมามากแล้ว ทางนี้เราจะรอดูให้ คุณชนะชลครับ ฝากเอาวาไปส่งที่บ้านด้วยก็แล้วกันนะครับ แล้วนี่ก็นามบัตรของรีสอร์ทที่คุณป้าเอมอรพักอยู่ครับ” รวิทย์บอกพร้อมทั้งยื่นนามบัตรที่ค้นในกระเป๋าส่งให้เขา

“เราเป็นห่วงแม่ เราขอรอดูอาการที่นี่นะวิทย์” เธอไม่ยอมที่จะไปไหน
“ผมว่าคุณควรจะเชื่อหมอรวิทย์นะ วันวิวาห์ เพราะกว่าป้าแขจะฟื้นมาพบคุณได้ ก็อีกหลายชั่วโมง ในระหว่างนี้คุณควรจะไปพักนะ เชื่อผมสิ หรือคุณจะให้แม่เห็นคุณในสภาพที่อิดโรยแบบนี้ ไปเถอะนะผมจะไปส่ง” เขาบอกและก็รั้งร่างของเธอ ให้ออกมาจากห้องผ่าตัด และเธอเองก็รู้ตัวดีว่าต้องพักสักที จึงออกมากับเขาโดยดี ทิ้งให้รวิทย์เข้าไปสังเกตการณ์ กับหมอปิยะ ที่เริ่มจะลงมือผ่าตัดดวงแขอย่างช่ำชอง







Create Date : 06 ตุลาคม 2551
Last Update : 9 ตุลาคม 2551 10:22:42 น. 0 comments
Counter : 467 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ธัญญะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




ขอสงวนสิทธิ์งานเขียนทุกชิ้นในบล็อคแห่งนี้ ตามพ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ 2537 ห้ามคัดลอก ดัดแปลง แก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืน จะดำเนินตามกฎหมายสูงสุด!!
Friends' blogs
[Add ธัญญะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.