สื่อสารผ่านการร้องไห้ (Crying Language)






คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่อดจะตกอกตกใจไม่ได้เมื่อได้ยินเสียงลูกน้อยร้องไห้กระจองอแง โดยปกติแล้วสาเหตุที่ทำให้ทารกร้องไห้นั้นก็มีหลักๆ อยู่ 3 ประการ คือ ป่วย หิว และเปียกชื้น อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนรู้นั่นแหล่ะค่ะ แต่บางครั้งก็อาจจะอดสงสัยไม่ได้ว่า นอกเหนือจากเรื่องพื้นฐานเหล่านี้แล้ว จะเป็นไปได้ไหมนะที่ทารกจะส่งเสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องอย่างอื่นอีก แล้วร้องแบบใดที่จะเป็นอันตรายบ้าง


ลูกร้องไห้ เพราะอะไร การร้องไห้ของทารกนั้นเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายยังไม่เคยชินกับต่อสภาพแวดล้อมนอกครรภ์ เพราะโดยสภาพแวดล้อมในครรภ์นั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ อุณหภูมิคงที่ ขับถ่ายและได้รับอาหารเป็นเวลา เมื่อคลอดออกมา ทารกจึงแสดงอาการเพื่อเรียกร้องบางสิ่งบางอย่างซึ่งเป็นสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการกิน ขับถ่าย หรือเจ็บป่วย


Sign of Crying : A Perfect Sign ในทางวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษากันมานานแล้วและพบว่า เสียงร้องไห้ของทารก มีคุณลักษณะ 3 ประการ


1. เป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ ทารกแรกเกิดร้องไห้โดยอัตโนมัติจากปฏิกิริยาของร่างกายที่กระตุ้นให้เกิดการสูดอากาศเข้าปอดอย่างรวดเร็ว แล้วไล่อากาศออกผ่านทางเส้นเสียง และเมื่อเส้นเสียงถูกอากาศก็จะสั่นจนเกิดเสียงร้องที่เราเรียกว่า เสียงร้องไห้ นั่นเองค่ะ



เมื่อแรกเกิดเจ้าตัวเล็กจะไม่รับรู้หรอกค่ะว่า ถ้าหิวนมแล้วควรจะต้องทำอย่างไร การร้องไห้นั้นทำได้ง่ายและเป็นการสื่อสารที่ได้รับการตอบสนองเร็วที่สุด เมื่อผ่านไปสักพัก เจ้าตัวเล็กจะเกิดการเรียนรู้ที่จะใช้การร้องแบบต่างๆ แทนสิ่งที่ต้องการค่ะ


2. ความดังที่พอเหมาะ เสียงร้องไห้นั้นดังมากพอที่จะสร้างความสนใจให้กับคนรอบข้าง และพยายามหันมาหาหนทางให้ทารกหยุดร้องหรือตอบสนองต่อความต้องการของทารกได้


แต่คุณแม่เคยสงสัยมั๊ยคะว่า ทำไมเวลาลูกร้องเราถึงดูเป็นเดือดเป็นร้อนนัก แต่กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อหรือคุณพี่เลี้ยงอาจจะพากันหูทวนลม เรื่องนี้มีคำตอบค่ะ เพราะคนที่เป็นแม่นั้นจะถูกกำหนดทางชีวภาพให้ตอบสนองต่อเสียงของทารก เมื่อได้ยินเสียงลูกร้อง เลือดจะไหลเวียนไปที่หน้าอกมากขึ้น และมีความต้องการอยากที่จะ "อุ้มลูกและให้นม" ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ


การให้นมลูกนี้เองที่ทำให้ระดับโปรแล็คตินสูงขึ้น ส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งน้ำนม จะทำให้คนเป็นแม่รู้สึกผ่อนคลายและเป็นสุขใจ รู้สึกปลดปล่อยจากความเครียดที่เกิดจากเสียงร้องของเจ้าตัวเล็ก ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้คนเป็นแม่รู้สึกรักลูกของตัวเอง


3. เป็นเสียงร้องเฉพาะตัว นักวิจัยด้านเสียงกล่าวว่าสัญญาณจากทารกแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียงร้องไห้ของทารกคือภาษาของเขา และทารกแต่ละคนร้องไห้แตกต่างกันไป ซึ่งนักวิจัยด้านเสียงเรียกเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ว่า "ลายเสียงร้องไห้" ซึ่งจะแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของทารก อย่างไรก็ตาม ในความแตกต่างเหล่านี้ ทารกก็มีสิ่งที่เป็นสัญญาณสากลแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน


Crying Language สื่อสารผ่านการร้องไห้ การร้องไห้ของทารกนั้นไม่ใช่แค่เสียงเท่านั้น แต่มันคือสัญญาณที่ถูกออกแบบเพื่อสื่อถึงความต้องการที่จะอยู่รอด เพื่อต้องการการสนองตอบ การร้องไห้จึงเปรียบเสมือน "ภาษา" ที่ทารกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารกับพ่อแม่ ในระหว่างที่เขายังไม่สามารถใช้ภาษาเดียวกับพ่อแม่ได้ การไม่ตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ ก็เหมือนกับการไม่สนองตอบต่อการสื่อสารของลูก ในขณะเดียวกันความเชื่อเก่าๆ ที่ว่าการตอบสนองต่อลูกมากเกินไปจะเกิดความเคยชินและไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้นั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่


คุณแม่คนไหนที่ได้ดูรายการ The Oprah Winfrey Show เมื่อไม่นานมานี้ คงจะทราบว่าได้มีการค้นพบลักษณะเสียงที่บ่งบอกถึงการสื่อภาษาในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่ฮือฮากันพอสมควรในอเมริกา ค้นพบโดย เพรสซิลล่า ดันสแตน (Priscilla Dunstan) อดีตนักไวโอลินชาวออสเตรเลีย เธอเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษที่สามารถแยกแยะความละเอียดของเสียงได้ สมัยเป็นนักดนตรีเธอสามารถเล่นเพลงตามโน๊ตต่อโน๊ตได้ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อได้ยิน เมื่อเป็นคุณแม่ เพรสซิลล่าจึงใช้พรสวรรค์นี้ในการฟังเสียงจูลส์ลูกน้อยของเธอ และเธอก็ค้นพบว่าในเสียงร้องเล็กๆนี้ แฝงสัญญาณที่เจ้าตัวเล็กต้องการจะสื่อกับเธอ และไม่เฉพาะกับจูลส์เท่านั้น ภายหลังเธอได้ร่วมทำวิจัยและพบว่าทารกกว่า 1,000 รายนั้นต่างก็มีสัญญาณสื่อแฝงอยู่ในเสียงร้องไห้เหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นภาษาสากลในหมู่ทารกเลยก็ว่าได้


โดยสัญญาณเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงก่อนการร้องไห้ (Pre-cry) และออกมาเป็นคำๆ ซึ่งคุณแม่อาจจะต้องใช้ความพยายามสักนิดในการสังเกต เพราะเสียงนั้นอาจจะมีช่วงที่สั้นมาก หรืออาจจะฟังดูคล้ายๆกันไปหมด แต่เชื่อแน่ค่ะว่าเมื่อต้องเลี้ยงลูกและผูกพันกันตลอดเวลา การแยกเสียงเหล่านี้ไม่น่าจะยากเลยค่ะ


Meaningful Crying : เจ้าตัวเล็กร้องอย่างนี้ มีความหมายนะ

เนะ - Neh หนูหิวแล้ว

เมื่อลูกรู้สึกหิวลูกจะส่งเสียงร้อง แต่ก่อนที่จะร้องไห้โฮนั้น ลองฟังดีๆจะพบเสียง "เนะ" ออกมาก่อนเสมอค่ะ เพราะเสียงนี้สัมพันธ์กับความต้องการที่สื่อสารถึงความหิว โดยเสียง "เนะ" นี้จะเปล่งออกมาโดยการใช้โคนลิ้นแตะเพดานปาก และยังสัมพันธ์กับพัฒนาการการดูดกลืนอีกด้วย



อาว - Owh หนูง๊วงง่วง

ทารกจะใช้เสียง "อาว" เพื่อสื่อสารว่าหนูน่ะเหนื่อยและเพลียแล้วนะ หนูอยากนอนแล้วล่ะ นอกจากนี้เสียง "อาว" ยังสัมพันธ์กับการหาวอีกด้วย


เฮะ - Heh หนูไม่สบายตัวเลย

เสียง "เฮะ" นั้นสัมพันธ์กับความเครียด ความรู้สึกไม่สบายตัวในทารกค่ะ ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณแม่ได้ยินเสียงนี้ หมายความว่าเจ้าหนูต้องเตรียมเปลี่ยนผ้าอ้อมได้แล้วล่ะค่ะ เสียงนี้สัมพันธ์กับปฏิกิริยาทางผิวสัมผัสของทารกค่ะ ซึ่งจะไวมากกับอาการคัน รู้สึกชื้นแฉะ โดยเฉพาะที่ก้นน้อยๆค่ะ


อาย - Eairh หนูมีแก๊สในท้อง

เมื่อไหร่ที่เจ้าตัวเล็กเกิดมีแก๊สในกระเพาะ หรือมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ รับรองว่าคุณแม่จะต้องได้ยินเสียง "อาย" ออกมาก่อนที่ลูกจะร้องแน่นอนค่ะ เสียงนี้จะสัมพันธ์กับอาการดังกล่าว รวมไปถึงอาการไม่สบายท้อง เป็นผลมาจากการมีลมในท้องมาก และการบีบตัวของลำไส้อีกด้วย


เอะ - Eh หนูอยากเรอ...เอิ๊ก

เจ้าตัวเล็กมักจะส่งเสียง "เอะ" เมื่อต้องการจะเรอค่ะ เสียงนี้สัมพันธ์กันกับลมในท้องป่องๆของเจ้าตัวเล็ก เพราะลมก้อนนี้อยู่ในช่องท้องที่พยายามจะขับตัวเองออกมาทางปาก ได้ยินเสียงนี้เมื่อไหร่ เตรียมอุ้มเจ้าตัวเล็กพาดบ่าได้เลยค่ะ


อย่างที่บอกว่าแรกๆ อาจจะฟังยากสักหน่อย เพรสซิลล่าได้ให้คำแนะนำไว้ด้วยว่าเสียงเหล่านี้อาจจะฝึกยากสักนิดที่จะได้ยินและแยกแยะได้ในช่วงแรกๆ หากว่ายังไม่แน่ใจลองเปลี่ยนตำแหน่งของลูกมาที่ตัก อุ้มพาดไหล่ หรือพาดบ่าดู อาจจะทำให้ได้ยินชัดขึ้น และในการร้องของเจ้าตัวเล็กนั้นคำบางคำก็อาจจะไม่ออกมาบ่อยนักในขณะที่บางคำก็จะบ่อยจนจำได้ทันที


Research of Crying งานวิจัยเกี่ยวกับการร้องไห้

เรื่องร้องไห้ของเจ้าตัวเล็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กๆนะคะ มีงานวิจัยหลายชิ้นเลยที่เกี่ยวกับเรื่องโยเยแบบนี้ ชิ้นที่ดูจะฮือฮาก็เห็นจะเป็นงานวิจัยในช่วงปี 1970ของสองนักวิจัย ซิลเวีย เบลล์ และ แมรี่ เอนส์เวิร์ธ ทำการศึกษาวิจัยเชิงทดลองเกี่ยวกับการตอบสนองต่อการร้องไห้ลูกของคุณแม่ ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคุณแม่ 26 คู่ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เมื่อลูกร้องไห้แม่จะตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน กลุ่มที่ 2 แม่จะหักห้ามใจในการตอบสนองมากกว่า พวกเขาพบว่าเด็กในกลุ่มที่ 1 ซึ่งแม่ตอบสนองอย่างอ่อนโยนและรวดเร็วกว่า จะไม่ค่อยใช้การร้องไห้เป็นวิธีสื่อสาร เมื่อเขาอายุ 1 ขวบ เด็กเหล่านี้รู้สึกผูกพันกับแม่ของพวกเขาค่อนข้างมากและมีพัฒนาการของของทักษะการสื่อสารที่ดีกว่า เป็นเด็กที่ไม่ค่อยโยเยและไม่เอาแต่ใจตัวเอง


ผลการวิจัยนี้ทำลายความเชื่อเรื่องเก่าๆ ที่ว่าเด็กถูกตามใจมากจะเหลิงและเสียเด็ก พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า ถ้ารีบอุ้มลูกทุกครั้งที่ลูกร้อง ลูกจะไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวและเฝ้ารอ อีกทั้งจะยิ่งเรียกร้องมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้แสดงผลในทางกลับกัน ทารกที่มีความรู้สึกปลอดภัยและได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน จะติดพ่อแม่น้อยลง และเรียกร้องน้อยลง และจากนั้นก็มีการทำงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ให้ผลคล้ายกันว่า ทารกที่ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วจะร้องไห้มากขึ้นนานขึ้น และด้วยวิธีการที่น่ารำคาญมากขึ้น


ตรงกับทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอิริกสัน (Erickson's Psychosocial Stage of Development) ซึ่งกล่าวว่าพัฒนาการช่วง 0-1 ปีนั้นเป็นพัฒนาการทางด้านการรับรู้ความเชื่อใจ/ไม่เชื่อใจ (Trust VS. Mistrust) ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ว่าเมื่อทารกร้องเพื่อต้องการสิ่งต่างๆ และหากได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที ทารกจะเกิดความเชื่อใจในพ่อแม่ และพัฒนาอวัยวะต่างๆ ไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน หากทารกไม่ได้รับการตอบสนอง หรือได้รับการตอบสนองที่ช้า ทารกจะเกิดความคลางแคลงใจ ซึ่งพัฒนาการในช่วงนี้ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างลักษณะนิสัยเพื่อก้าวสู่ช่วงวัยอื่นๆต่อไป


ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไรกับการร้องไห้ของลูกดี ไม่ว่าจะเป็นการละเลยหรือตอบสนอง หากมากเกินไปก็จะส่งผลเสียทั้ง 2 ฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วิธีการตอบสนองที่ดีที่สุดก็คือ ตอบสนองอย่างรวดเร็วและทะนุถนอม ลูกน้อยและคุณแม่สามารถสื่อสารถึงกันได้ทั้งสองฝ่าย คุณแม่ที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วและอ่อนโยน จะทำให้ทารกรู้สึกกังวลน้อยลงเวลาที่เขาต้องการอะไรในคราวต่อไป ทารกจะเรียนรู้ที่จะ "ร้องไห้เท่าที่จำเป็น" ร้องไห้น่ารำคาญน้อยลง เพราะเขารู้แล้วว่าแม่จะต้องมาหาแน่ๆ แม่จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมของทารกเพื่อเขาจะไม่จำเป็นต้องร้องไห้บ่อยๆ เช่น แม่จะให้ลูกอยู่ใกล้ๆตัว ถ้ารู้ว่าเขากำลังง่วงและใกล้หลับ แม่จะเพิ่มความละเอียดอ่อนต่อเสียงร้องเพื่อที่จะสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง เช่น การตอบสนองอย่างรวดเร็วตอนทารกยังเล็ก และต้องการการดูแลใกล้ชิด หรือเมื่อเสียงร้องแสดงว่าสถานการณ์กำลังอันตรายจริงๆ แต่การตอบสนองจะช้าลงเมื่อทารกโตขึ้น และเริ่มจะเรียนรู้ที่จะจัดการต่อสิ่งรบกวนได้ด้วยตัวเอง


แล้วถ้าเจ้าตัวเล็กร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุล่ะ เชื่อแน่ค่ะว่าต้องมีบ้างที่คุณแม่หาสาเหตุของการร้องของลูกไม่ได้ บางครั้งคุณอาจจะสงสัยด้วยซ้ำไปว่าลูกร้องไห้เพราะไม่รู้ตัวหรือเปล่า ดูผ้าอ้อมก็แล้ว นมก็เพิ่งให้ รอบๆตัวก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาจจะมีบางเวลาที่ทารกแค่ต้องการจะร้องไห้ หากคุณได้ทดลองทำทุกวิถีทางเพื่อให้เจ้าตัวเล็กหยุดร้องไห้แล้ว แต่ยังไงลูกไม่หยุดร้องไห้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกหมดหวังที่จะทำให้เขาหยุดร้องไห้


ที่สำคัญที่สุดคือต้องใจเย็นค่ะ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ บางคนคิดว่าลูกแกล้งก็มี ตี 3 แล้วจะร้องเอาอะไรอีก แหม...เจ้าตัวเล็กคิดไม่ได้ถึงขนาดนั้นหรอกค่ะ ลูกเพียงอยากจะบอกว่า "หนูหิวนม ช่วยมาดูหนูหน่อย" ที่สำคัญคืออย่าเอาการร้องไห้ของเจ้าตัวเล็กมาเป็นอารมณ์ เพราะหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อทำให้ลูกร้องไห้น้อยลง ให้ความห่วงใยและอ้อมแขนอันอบอุ่น เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องร้องไห้อยู่คนเดียว และถ้ายังไม่เหนื่อยก็ลองหาสาเหตุอีกรอบ เชื่อแน่ค่ะว่า ไม่มีอะไรเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่แน่นอน








Create Date : 16 มีนาคม 2551
Last Update : 19 ธันวาคม 2551 22:25:03 น. 0 comments
Counter : 1418 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

แม่น้องแปงแปง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]






แป๊ว แม่น้องแปงแปง






Photo Flipbook Slideshow Maker


Photo Flipbook Slideshow Maker


Photo Flipbook Slideshow Maker





Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
16 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่น้องแปงแปง's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.