สงครามระหว่าง ชวาและกัมภูชา พ.ศ 1317 และ 1330
สมัยทองอันรุ่งเรืองของสหพันธรัฐศรีวิชัยที่แผ่ขยายอำนาจไปทั่วดินแดนหมู่เกาะทะเลใต้ เข้าควบคุมเส้นทางการค้านานาชาติหรือเส้นทางสายไหมทางทะเล สายการคมนาคมสำคัญเปรียบดังเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจการค้าของโลกยุคนั้นไว้ได้อย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับแผ่ขยายเครือข่ายสายใยเชื่อมโยงกับประเทศเมืองท่าเรือสำคัญในแถบประเทศอินเดีย เป็นต้นว่า อาณาจักรปัลลวะ,อาณาจักรปาณฑยะ,อาณาจักรสิงหล ชาติมหาอำนาจที่นับถือศาสนาพุทธ ทางทิศตะวันตกด้วยเหตุนี้ จักรวรรดิศรีวิชัยจึงได้ชื่อว่า ชาติมหาอำนาจการค้าทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีคู่แข่งใดเก่งกล้าท้าทายอำนาจทางนาวิกานุภาพกองทัพเรือศรีวิชัย นักเดินเรือชาวอาหรับชื่อ“อิบู ฮอร์ดาชบีห์” ได้เดินทางเข้ามาใน พ.ศ. 1392 ต่อมานักเดินเรือชาวอาหรับอีกผู้หนึ่งชื่อ“สุไลมาน” เดินเรือเข้ามาใน พ.ศ. 1394 เขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชาเขมรผู้โง่เขลาพระองค์หนึ่ง กล่าววาจาท้าทายดูหมิ่นพระราชอำนาจของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งซาบาก ในที่สุดพระราชาเขมรผู้โง่เขลาพระองค์นั้นประสบชะตากรรมอย่างไร เขาได้เขียนขึ้นคล้ายกับเรื่องราวในเทพนิยายอาหรับราตรี พอจะกล่าวสรุปได้ดังนี้

ในสมัยนั้นมีพระราชาเขมรพระองค์หนึ่ง เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานและหยิ่งยโส มักรับสั่งท่ามกลางที่ประชุมขุนนางอยู่เสมอว่า พระองค์ปรารถนาอยากทอดพระเนตรพระเศียรของมหาราชแห่งซาบาก วางอยู่ในถาดทองคำต่อหน้าพระพัตร์ แม้ว่าขุนนางเฒ่าผู้หนึ่งพยายามทูลห้ามปรามหลายครั้ง ทัดทานว่าไม่ควรตรัสดูหมิ่นกษัตริย์แห่งซาบากในสถานที่เปิดเผยเช่นนั้น เพราะหากความลับรั่วไหลออกไป จึงเกิดอันตรายต่อพระองค์ได้ แต่กษัตริย์ผู้โง่เขลาพระองค์นั้นก็มิได้สนพระทัยคำเตือนด้วยความหวังดี จนกระทั่งข่าวนั้นล่วงรู้ไปถึงพระกรรณของมหาราชแห่งซาบาก แม้ว่าพระองค์พิโรธยิ่งนัก แต่ก็พยายามเก็บงำความรู้สึกไว้อย่างมิดชิด รออยู่จนถึงเวลาอันควรแล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้จัดเตรียมขบวนเรือรบออกสู่น่านน้ำไปแล้ว พระองค์รับสั่งให้บ่ายโฉมหน้ารีบรุดไปยังเมืองหลวงของกัมพูชาทันที กองทัพเรือซาบากบุกเข้าไปตามลำแม่น้ำอย่างรวดเร็วยกพลขึ้นบกรายล้อมพระราชวังหลวงโดยที่กองทัพเขมรไม่ทันรู้ตัวหรือออกต่อต้าน จับกุมพระราชาเขมรพระองค์นั้นไว้ได้ ประชุมปรึกษาโทษได้ความจริงแล้ว มหาราชแห่งซาบากรับสั่งให้ตัดพระเศียรพระราชาเขมรใส่ถาดทองคำวางไว้เบื้องพระพักตร์ของพระองค์ แล้วเรียกประชุมเหล่าขุนนาง ให้คัดเลือกหาผู้ที่เหมาะสมขึ้นเป็นเจ้านายของตนใหม่ เสร็จสิ้นแล้วจึงยกกองทัพกลับไป โดยมิได้ทำอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนเขมรแม้แต่น้อย ทรงนำกลับไปเฉพาะพระเศียรของพระราชาเขมรเท่านั้นเมื่อถึงบ้านเมืองของพระองค์แล้ว รับสั่งให้นำพระเศียรนั้นไปชำระล้างจนสะอาด แช่น้ำยาบรรจุภาชนะ ส่งกลับไปให้แก่พระราชาเขมรองค์ใหม่สั่งสอนให้ถือเป็นบทเรียน อย่าได้ประพฤติเอาเยี่ยงอย่าง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อพระราชาเขมรตื่นพระบรรทมในตอนเช้า ย่อมผินพระพักตร์ไปทางนครซาบาก โค้งศีรษะจรดพื้น ถวายความเคารพต่อมหาราชแห่งซาบากเป็นประจำตลอดมา

เรื่องราวการทำสงครามระหว่างประเทศซาบากกับประเทศกัมพูชาที่เขียนขึ้นในลักษณะนิยายอิงประวัติศาสตร์ กล่าวอ้างถึงวีรกรรมของกษัตริย์ชวาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระเจ้านฤบดีศรีสญชัย” ผู้สถาปนาอาณาจักรมะตะรามขึ้นบนเกาะชวาเมื่อ พ.ศ. 1275 ปรากฏหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกพระเจ้าสญชัย พบที่ตำบลชังคัล บนภูเขากูวีร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบรมพุทโธ ในภาคกลางของเกาะชวา ยกย่องว่าพระองค์ทรงเป็นแม่ทัพเรือศรีวิชัย เคยรบพุ่งอย่างห้าวหาญ ได้รับชัยชนะกองทัพเขมรวีรกษัตริย์ชาวชวาพื้นเมืองพระองค์นี้ ตำนานพงศาวดารเก่าแก่ของประเทศอินโดนีเซีย ก็กล่าวยกย่องเกียรติประวัติอันห้าวหาญของพระองค์และยืนยันว่า“ระตู สญชัย” นับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ดังปรากฏหลักฐานการสร้างเทวาลัยชังคัลขึ้นประดิษฐานศิวลึงค์ ที่ตำบลชังคัล ทางภาคกลางของเกาะชวาเมื่อ พ.ศ. 1275 ตามข้อความในศิลาจารึกของพระองค์เป็นพยานแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการนับถือศาสนาภายในสหพันธรัฐศรีวิชัย แต่สามารถอยู่ร่วมภายในจักรวรรดิเดียวกันได้อย่างเป็นเอกภาพ


เรื่องราวในจดหมายเหตุนักเดินเรือชาวอาหรับ ส่อเค้าความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ชี้บอกให้ทราบถึงเหตุการณ์อันน่าสงสัยเกี่ยวกับการล่มสลายของอาณาจักรกัมพูชา บ้านเมืองแตกกระจายกลายเป็นแคว้นเจนละน้ำเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่12 โดยแท้ที่จริงแล้วเกิดมาจากการโจมตีของกองทัพศรีวิชัยในครั้งนั้น เจ้าชายชวาทรงพระนามว่า“พระเจ้านฤบดีศรีสญชัย” เสด็จนำกองทัพเรือเข้าร่วมรบพุ่งปราบปรามจนได้รับชัยชนะ พระองค์จึงมีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรชวาตะวันออก มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ตั้งอยู่เคียงคู่กับอาณาจักรศรีวิชัย ทางภาคตะวันตกของเกาะชวา นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานกันว่า ภายหลังจากอาณาจักรกัมพูชาแตกสลายไปแล้ว แว่นแคว้นต่างๆ ในอาณาจักรเจนละน้ำ ต่างตั้งตัวกันเป็นใหญ่ ต่อมาราชวงศ์ของพระเจ้านฤบดีทรวรมันแห่งแคว้นอนินทิตะปุระ ได้พยายามรวบรวมอาณาจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการอภิเษกสมรสระหว่างราชวงศ์ ดังปรากฏหลักฐานว่า“พระเจ้าสัมภูวรมัน” แห่งแคว้นอนินทิตะปุระทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งแคว้นวยาธปุระ เชื้อสายพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า“พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 1” เป็นที่ยอมรับของชาวเขมรพื้นเมือง อาณาจักรเจนละน้ำจึงเริ่มมีความมั่นคงสืบลงมาจนถึงรัชกาล“พระเจ้ามหิปติวรมัน” พระองค์อาจทรงพยายามดิ้นรนให้พ้นจากอำนาจครอบงำของจักรวรรดิศรีวิชัย หรือพระเจ้าทมหิปติวรมันอาจยกกองทัพไปโจมตีกรุงตามพรลิงค์ ตามที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนานของประเทศศรีลังกา จึงถูกกองทัพเรือศรีวิชัยและกองทัพเรือชวาบุกเข้าโจมตีจนยับเยิน กลายเป็นตำนานเล่าลืออยู่ในจดหมายเหตุของนักเดินเรือชาวอาหรับ เรื่องมหาราชแห่งซาบากตัดพระเศียรพระราชาเขมร

ศิลาจารึกของพระเจ้าสัตยวรมันแห่งอาณาจักรจามปา สลักข้อความเล่าถึงการรุกรานของกองทัพเรือชวา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1317 ไว้ว่า

“คนพวกนี้ข้ามทะเลมาจากที่อื่น กินของโสมมยิ่งกว่าซากศพ หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ผิวดำเป็นมัน ผอมโซ มีสันดานเป็นพาลและหยาบช้า ทารุณโหดร้ายยิ่งกว่ามัจจุราช พวกมันได้บุกเข้าโจมตี ปล้นสดมภ์และจุดไฟเผาผลาญเทวสถานของพระผู้เป็นเจ้า”

ต่อมาในรัชกาล “พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ” เมื่อ พ.ศ. 1330 ศิลาจารึกของพระองค์บอกว่า กองทัพเรือของพวกชวาได้บุกเข้ามาโจมตีเมืองหลวงของพระองค์อีก พวกมันฆ่าฟัน ปล้นสะดม วางเพลิงเผาผลาญวิหารภัทรปติศวร รื้อทำลายและขนเอาศิวลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าลงเรือกลับไปด้วย พระองค์ต้องสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรใหม่เฉลิมนามว่า“อินทรภัทเรศวร”

กองทัพเรือศรีวิชัยทำสงครามกับอาณาจักรจามปาในสมัยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าอาณาจักรจามปาผนวกเข้ารวมอยู่ในจักรวรรดิอันไพศาลด้วยหรือไม่ แต่หลักฐานในด้านโบราณคดี ปรากฏว่าเจดีย์วัดดงเดืองในประเทศเวียดนามสร้างขึ้นตามแบบลักษณะสถาปัตยกรรมศรีวิชัย อันเป็นสถูปทางพุทธศาสนานิกายมหายาน ประดับตกแต่งศิลปะลวดลายรูปประติมากรรมแบบนูนต่ำ และโบราณวัตถุจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลไปจากศิลปะศรีวิชัยสมัยนั้น ศาสตราจารย์ควอริตช์ เวลส์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งได้ศึกษาตรวจสอบเปรียบเทียบกับเจดีย์ศรีวิชัย ที่อำเภอไชยาแล้วสรุปความเห็นไว้ว่า

“ศิลปสถาปัตยกรรมเจดีย์วัดแก้วที่ไชยา เหมือนกับเจดีย์ในประเทศจามปา”


ขอขอบคุณ //blog.eduzones.com/tambralinga/5512





Create Date : 16 เมษายน 2556
Last Update : 16 เมษายน 2556 22:53:27 น.
Counter : 4002 Pageviews.

1 comments
  
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 19 เมษายน 2556 เวลา:16:24:15 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

surya21
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 50 คน [?]



New Comments
เมษายน 2556

 
1
2
3
5
6
7
8
10
12
13
14
15
19
20
21
22
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog