ประวัติการศึกษา-ทำงาน ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล เคยู รุ่น 29 (ตอนที่1)
ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา


1.ช่วงต้นของการเรียนรู้...ผมโชคดีที่มีโอกาสเรียนรู้การบริหารงานวิชาการตั้งแต่เป็นนิสิตบัณฑิต  ขณะเรียนปริญญาโทที่ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท วันหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาเรียกเข้าพบ ยื่นเอกสารให้ลงนาม  พร้อมกับบอกว่า  ท่านแต่งตั้งผมเป็นบัณฑิตผู้ช่วยวิจัย (graduate research assistant)  ได้รับเงินเดือนค่าจ้างจากรัฐผ่านทางมหาวิทยาลัย  เป็นความจำเป็นที่ผมต้องรู้จักกฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆของกติกาเบื้องต้นในการเป็นลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐ ผมถามว่าหลักๆ แล้วผมต้องทำอะไรบ้าง ได้รับคำตอบว่านอกจากต้องทำงานวิจัยวิทยานิพนธ์ให้มีคุณภาพดี ผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี ที่สำคัญอีกเรื่องคือ ต้องพร้อมทำงานช่วยเหลือ หรือปฏิบัติหน้าที่ดูแลช่วยบริหารห้อง ปฏิบัติการแทนที่ในเวลาท่านไม่อยู่ และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีประชาชน หรือเกษตรกร มีคำถามทางวิชาการ หรือขอรับบริการจากห้องปฏิบัติการของ อาจารย์ ผมต้องพร้อมตอบคำถามด้วยความกระตือรือร้น จริงใจ ด้วยภาษากิริยามารยาทที่สุภาพที่สุด


งานเลี้ยงแสดงความยินดีให้ดร.พงษ์เทพฯ (ผูกไทร์สีน้ำเงิน) ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตเก่าดีเด่นฯ


หลังจากจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท ผมได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์อาวุโสอีกสองท่าน ให้ข้ามไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ ที่นั่นเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท ผมได้รับการเรียนรู้ปรัชญาของมหาวิทยา
ลัยของรัฐที่มีหน้าที่ต้องให้บริการตอบสนองต่อผู้เสียภาษี  เพียงแต่ครอบคลุมภาระงานที่กว้างขึ้น  อาจารย์ที่ปรึกษาที่คอร์เนลล์ท่านรับผมในฐานะเป็นบัณฑิตผู้ช่วยวิจัย ช่วยงานวิจัยและดูแลห้องปฏิบัติการร่วมกับนิสิตบัณฑิตชาวอเมริกันอีกสามคน เลิกงานตอนเย็นท่านฝากฝังให้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ห้องสมุด Comstock ห้องสมุดทางกีฏวิทยาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดโอกาสให้ผมมีเวลาสัมผัส รู้จัก และอ่านหนังสือได้มาก ในช่วงฤดูร้อน ให้ทำงานเป็นพนักงานส่งเสริมเกษตรของรัฐนิวยอร์ค อาจารย์ท่านมีเมตตา ขยันสอน ขยันเล่าเรื่อง ไม่ว่าที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน วัฒนธรรมวิชาการ หรือด้านสังคม โดยเฉพาะกับผม ซึ่งดูเหมือนท่านมองว่ามีเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรมากกว่านิสิตอเมริกัน เพราะเป็นนิสิตต่างชาติ ถึงขนาดที่ว่าก่อนผมเรียนจบ ท่านให้เวลาของท่านกับผมตัวต่อตัว เป็นพิเศษสามสี่วัน  ซึ่งท่านไม่เคยทำกับศิษย์รุ่นก่อนๆ ท่านลงแรงขับรถพาผมไปดูงานและพบปะกับนักวิจัย ผู้บริหารของหน่วยงานสำคัญๆของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา USDA ท่านเห็นความจำเป็นสำหรับผมที่ต้องรู้จักคนในวงการ ก่อนกลับมาทำงานที่เมืองไทย ท่านสนับสนุนให้ผมได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์  เป็นหนึ่งในกลุ่มนิสิตประมาณยี่สิบคน  ร่วมคณะไปกับคณาจารย์เก่งๆหลากสาขา ศึกษาดูงานการพัฒนาการเกษตรที่เม็กซิโก  ก่อนจบปริญญาอาจารย์ที่ปรึกษากับคณาจารย์กรรมการบัณฑิต  เสนอชื่อผมให้เป็นสมาชิกเต็มขั้น (full member) ของสมาคมวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งทวีปอเมริกาเหนือ (Sigma Xi) สาขามหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสมาคมเกียรติยศแห่งนี้ เป็นการเลื่อนสถานภาพจากภาคีสมาชิก (associate member) ที่ผมได้รับแต่งตั้งก่อนเรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนสเตท อาจารย์ท่านย้ำกับผมบ่อยครั้งว่า “…การเป็นนักวิชาการเกษตรที่ดีนั้น นอกจากต้อง
ปฏิบัติตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ใฝ่รู้ ขยันตั้งคำถามและมุ่งหาคำตอบจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ แค่นั้นไม่พอ นักวิชาการเกษตรต้องมีจิตใจที่เมตตา เผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจต่อเกษตรกร และยิ่งในฐานะครูบาอาจารย์ ถ้ามีงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการ บริหาร ก็ต้องทำใจให้พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ ที่จะช่วยให้นิสิตและเพื่อนอาจารย์ ทำงานวิชาการของเขาได้รุดหน้าด้วยความสะดวก…” นั่นเป็นบทเรียนที่ดีที่สุดบทหนึ่ง ที่ผมได้รับจากครู





Create Date : 19 มกราคม 2557
Last Update : 19 มกราคม 2557 8:30:56 น.
Counter : 3201 Pageviews.

2 comments
  
ท่านเป็นคนที่เอาใจใส่ต่อบุคคลที่ท่านมองเห็นถึงความตั้งใจมากค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 19 มกราคม 2557 เวลา:9:52:26 น.
  
สมเป็นเสาหลักด้านการเกษตรของไทยคนหนึ่งทีเดียว ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง
โดย: สุนีย์ ธนานนท์ IP: 110.168.235.100 วันที่: 20 มกราคม 2557 เวลา:15:33:51 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

surya21
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 50 คน [?]



New Comments
มกราคม 2557

 
 
 
1
2
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
20
21
22
23
24
25
26
28
30
31
 
 
All Blog