เชื่อใน "โชคชะตา" เดินตามทางที่อยากไป

<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 สิงหาคม 2553
 

การวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ

การวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) จะวิเคราะห์จากงบการเงินของธุรกิจที่ผ่านมา และในปัจจุบันเป็นสำคัญ เพื่อจะนำมากำหนดตัวแปรต่าง ๆ อาทิ กำไรและเงินปันผลในอนาคต ราคาของหลักทรัพย์ในอนาคต เป็นต้น ซึ่งประเด็นหลักของการวิเคราะห์ ได้แก่ การวิเคราะห์งบการเงิน การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน และการประเมินราคาหลักทรัพย์ การวิเคราะห์โดยใช้งบการเงินของบริษัท จะยังประโยชน์แก่ผู้ใช้ ก็ต่อเมื่อผู้วิเคราะห์ได้เข้าใจถึงลักษณะโครงสร้าง และข้อจำกัดในการใช้งบการเงินนั้น ๆ นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรสามารถตีความผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณด้วย การวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ จึงเป็นเครื่องชี้ว่าอนาคตของธุรกิจนั้น ควรเป็นไปในลักษณะใด โดยผู้วิเคราะห์นำเอาข้อมูลต่าง ๆ ในงบการเงิน มาคำนวณหาสัดส่วน และอัตราส่วนเปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงเวลา และเปรียบเทียบกับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วตีความเพื่อหาคำตอบต่าง ๆ ที่ต้องการ อาทิ สาเหตุที่ธุรกิจต้องใช้เงินทุนเพิ่ม แหล่งที่มาของเงินทุนเป็นอย่างไร แหล่งใช้ไปของเงินทุนเป็นไปในทางใดบ้าง ความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น

การวิเคราะห์งบการเงิน

งบการเงิน (Financial Statement) หมายถึง รายงานทางบัญชีที่จัดทำขึ้นเมื่อครบรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงฐานะ และผลการดำเนินงานของบริษัทในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา

1.งบดุล (Balance Sheet)

คือ งบที่แสดงฐานะการเงินของบริษัท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ
ส่วนแรก คือส่วนของสินทรัพย์ จะรายงานเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพยากรของบริษัทว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
(เช่น เงินสด ลูกหนี้ สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ อาคาร ที่ดิน เป็นต้น) และรายการเหล่านั้นมีมูลค่าเท่าไร
ส่วนที่สอง คือส่วนของหนี้สิน และส่วนของเจ้าของ จะรายงานเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนว่าเงินที่นำมาลงทุนในทรัพยากรของบริษัทนั้นมาจากแหล่งใด เช่น ถ้ามาจากการกู้ยืมจะรายงานในส่วนของหนี้สิน แต่ถ้ามาจากเงินส่วนตัวหรือการขายหุ้นสามัญจะรายงานในส่วนของเจ้าของ

2. งบกำไรขาดทุน (Income Statement)

เป็นงบการเงินที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ โดยแสดงรายการหลักๆ อันเกี่ยวข้องกับผลประกอบการของบริษัท ได้แก่ ยอดขาย ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่าย และกำไร เป็นต้น

3. งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow)

เป็นงบการเงินที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเงินสดรับ และกระแสเงินสดจ่ายของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยแสดงเป็นแหล่งที่มา และแหล่งใช้ไปของเงินสด แบ่งตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน และกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงินทุน ซึ่งผลรวมของกระแสเงินสดทั้งสามกิจกรรมจะเท่ากับจำนวนเงินสดของกิจการที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงในแต่ละปี

4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน

เป็นรายงานที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับข้อมูลที่ไม่ได้รวมไว้ในงบการเงินทั้งสามประเภทข้างต้น ตัวอย่างข้อมูลที่แสดงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ได้แก่ นโยบายบัญชีที่บริษัทเลือกใช้ วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา วิธีการบันทึกบัญชีต้นทุนขาย เป็นต้น

นอกจากงบการเงินทั้งสามงบ และหมายเหตุประกอบงบการเงินที่นักลงทุนควรศึกษาก่อนการลงทุนแล้ว “รายงานผู้สอบบัญชี” ยังเป็นข้อมูลสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ผู้อ่านงบเกิดความมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลตามมาตรการบัญชีที่รับรองทั่วไปดังนั้นก่อนที่นักลงทุนจะนำข้อมูลในงบการเงินไปใช้ในการตัดสินใจ นักลงทุนควรอ่านรายงานความเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตด้วย

รายงานผู้สอบบัญชี

“นักลงทุนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเห็นของผู้สอบบัญชีที่แสดงในรายงานผู้สอบบัญชี ว่าผู้สอบบัญชีให้ความเห็นเกี่ยวกับงบการเงินไว้อย่างไร” รายงานผู้สอบบัญชีมี 4 แบบ ได้แก่
แบบ “ไม่มีเงื่อนไข”

หมายความว่า ผู้สอบบัญชีไม่พบสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในการจัดทำรายงานงบการเงินโดยผู้บริหารของบริษัท

แบบ “ไม่แสดงความเห็น”

หมายความว่า ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ความเห็นต่อความถูกต้องตามที่ควรของงบการเงิน

แบบ “มีเงื่อนไข”

หมายความว่า ผู้สอบบัญชี พบว่ามีความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นหรือการกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สิน

แบบ “ไม่ถูกต้อง”

หมายความว่า ผู้สอบบัญชีไม่สามารถรับรองความถูกต้องของงบการเงินตามเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป
...............................................................

ที่มา //www.taladhoon.com/taladhoon/lib.shtml
ที่มา //www.tsi-thailand.org/
........................................................

การตรวจสอบ การสอบทาน เหมือนเป็นการให้ระดับความเชื่อมั่นในงบการเงินนั้น ๆ สรุปโดยรวม ๆ ดังนี้

1.การตรวจสอบ ให้ความเชื่อมั่นสูง แต่ไม่ถึงเป็นข้อยุติ และรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริหารให้การรับรองในรูปแบบที่เป็นการแสดงความเห็น

2.การสอบทาน ให้ความเชื่อมั่นอย่างพอประมาณ และรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริหารให้การรับรองในรูปแบบที่ไม่เป็นการแสดงความเห็น

3.การตรวจสอบตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน ไม่ให้ความเชื่อมั่น และรายงานข้อเท็จจริงที่พบการจากตรวจสอบ

4.การรวบรวมข้อมูล ไม่ให้ความเชื่อมั่น และรายงานโดยระบุถึงข้อมูลที่รวบรวม

อธิบายรายละเอียดดังนี้

1.การตรวจสอบบัญชี

ผู้สอบบัญชีจะให้ความเห็นต่องบการเงิน จากผลการตรวจสอบ ซึ่งการตรวจสอบนั้น เน้นรายการที่มีสาระสำคัญ และผู้สอบบัญชีสามารถแสดงความเห็นว่า งบการเงินนั้นได้จัดทำขึ้นในส่วนสาระสำคัญเป็นไปตามแม่บทการบัญชี ในการรายงานทางการเงินหรือไม่

การแสดงความเห็นนั้น ผู้สอบบัญชีควรได้มาซึ่งหลักฐานการสอบบัญชีที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้สามารถสรุปความเห็นของผู้สอบบัญชีได้อย่างสมเหตุสมผล

ที่กล่าวว่าการตรวจสอบให้ความเชื่อมั่นสูง แต่ไม่ถึงเป็นข้อยุติ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าหลักฐานการสอบบัญชีส่วนใหญ่ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาความเชื่อถือได้มากกว่าที่จะเป็นหลักฐานที่ให้ข้อสรุปได้ในตัวเอง

การสอบบัญชีนั้น เป็นธรรมชาติที่ผู้สอบบัญชีจำเป็นต้องใช้ดุลยพินิจ และการใช้วิธีทดสอบ (Sample Test) และการสอบบัญชีนั้นโดยปกติจะพบข้อจำกัดอันเกิดขึ้นเนื่องจากระบบบัญชี และระบบควบคุมภายใน

2.การสอบทาน

ผู้สอบบัญชีจะสามารถระบุว่าได้พบสิ่งใดหรือไม่ที่เป็นเหตุให้ผู้สอบบัญชีเชื่อว่า งบการเงินไม่ได้จัดทำขึ้นตามแม่บทการบัญชีในการรายงานทางการเงินในส่วนที่มีสาระสำคัญ

วิธีการในการสอบทานนั้นจะแตกต่างจากการตรวจสอบ และที่สำคัญ การสอบทานไม่ทำให้ได้มาซึ่งหลักฐานทั้งหมดที่จำเป็นเช่นเดียวกับการตรวจสอบ

การสอบทานนั้นนำมาใช้เพื่อสอบทานความน่าเชื่อถือของสิ่งที่บุคคลที่รับผิดชอบให้การรับรองไว้ โดยมีบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการรับรองนั้น

การสอบทานประกอบด้วย วิธีการสอบถามและการวิเคราะห์เปรียบเทียบ การทดสอบบันทึกทางการบัญชีและข้อมูลที่ได้จากการสอบถาม โดยรวบรวมหลักฐานประกอบจากการใช้วิธีการตรวจสอบ การสังเกตการณ์ การขอคำยืนยัน และการคำนวณ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการปกติที่ใช้ในการสอบบัญชี

ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Listed Company) งบการเงินประจำปี จะต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี และงบการเงินสำหรับไตรมาส จะต้องผ่านการสอบทาน ดังนั้น งบการเงินรายไตรมาส จึงมีระดับความเชื่อมั่นที่น้อยกว่า งบการเงินประจำปี เนื่องจากใช้วิธีการสอบทาน โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ

3.การตรวจสอบตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน

ผู้สอบบัญชีจะใช้วิธีปฏิบัติงานที่มีลักษณะเดียวกับการสอบบัญชี ซึ่งผู้สอบบัญชี และกิจการ และบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้อง ได้ตกลงร่วมกัน และผู้สอบบัญชีจะรายงานข้อเท็จจริงที่พบจากการตรวจสอบ โดยผู้ใช้รายงานจะต้องสรุปผลด้วยตนเองจากรายงานของผู้สอบบัญชี รายงานที่ได้จากการตรวจสอบตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน จึงควรใช้เฉพาะฝ่ายต่างๆที่ได้ตกลงร่วมกันในการกำหนดวิธีการปฏิบัติงาน เพราะบุคคลอื่นอาจไม่ทราบเหตุผลของการใช้วิธีการปฏิบัติงานที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะซึ่งอาจทำให้การแปลความหมายผลการตรวจสอบไปในทางที่ไม่ถูกต้องได้

4.การรวบรวมข้อมูล

จะใช้ความชำนาญด้านการบัญชี (ซึ่งไม่ใช่ความชำนาญด้านการสอบบัญชี) ในการรวบรวม จัดประเภท และสรุปข้อมูลทางการเงิน แม้ว่าการรวบรวมข้อมูลนั้น ผู้นำข้อมูลไปใช้จะไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผลการรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ข้อมูลจะได้ประโยชน์จากการนำข้อมูลมาใช้เนื่องจากข้อมูลนั้นรวบรวมมาโดยใช้ทักษะ และความชำนาญ และความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

..........................................................

ที่มา //www.bkkonline.com/accounting/27june49.shtml



Create Date : 27 สิงหาคม 2553
Last Update : 27 สิงหาคม 2553 9:31:25 น. 0 comments
Counter : 5756 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Ooh 1234
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




Hello all of you.
Welcome to my blog....
[Add Ooh 1234's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com