Group Blog
 
 
มิถุนายน 2552
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
12 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
ความสามารถในการตั้งคำถาม

คนส่วนใหญ่ให้ค่ากับความสามารถในการตอบคำถาม และวัดความสามารถกันด้วยคะแนนการตอบคำถาม ใครตอบคำถามได้มากกว่าถือว่าเก่งกว่า ดูเหมือนจะไม่มีรายการแข่งขัน ‘ตั้งคำถาม’ ขึ้นมาที่ไหน ทั้งที่จริงแล้ว ความสามารถในการตั้งคำถามนั่นแหละ เป็นเครื่องวัดความฉลาดได้ชัดเจนกว่าการตอบคำถาม

การจะเกิดคำถามขึ้นในหัวมนุษย์ได้นั้น อย่างน้อยต้องมีข้อสะกิดใจมากระทบให้สงสัยอยากรู้ อันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่วิธีตั้งประเด็น หรือวิธียิงคำถามเพื่อให้เกิดข้อสังเกตนั้น เป็นความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน

ถ้อยคำเกิดขึ้นทีหลังวิธีมอง เพียงบางคำที่เปลี่ยนไปในโจทย์อาจเปลี่ยนวิธีคิดคำตอบไปทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นในปลายศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อลูกแอปเปิ้ลตกใส่ศีรษะเซอร์ไอแซค นิวตัน แทนการตั้งคำถามอย่างคนทั่วไปว่า ‘ทำไมฉันถึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้?’ เขากลับมีคำถามในใจเยี่ยงนักวิทยาศาสตร์คือ ‘อะไรเป็นตัวการให้ลูกแอปเปิ้ลตกลงมา?’ ชั่วขณะแห่งคำถามนั้นเอง จูงให้เขาสำเหนียกรู้สึกถึงพลังดึงดูดของโลก และเกิดคำถามอันเป็นสาระกับวงการวิทยาศาสตร์ว่า ‘พลังนี้เป็นอันเดียวกันกับที่โลกดึงเอาดวงจันทร์ไว้ไม่ให้หนีไปไหนหรือไม่?’

ถัดจากนั้นเป็นเรื่องของการค้นหาความจริงที่สลับซับซ้อน รวมทั้งการใช้คณิตศาสตร์เข้ามาพิสูจน์ และปัจจุบันพวกเราก็รู้เรื่องแรงโน้มถ่วงระดับจักรวาลพิสดารไปกว่าสมัยนิวตันมาก แต่จุดตั้งต้นมาจาก ‘ความสามารถในการตั้งคำถามระดับจักรวาล’ ของนิวตันที่ใต้ต้นแอปเปิ้ลนั่นเอง

วิธีตั้งคำถามสะท้อนให้เห็นครอบคลุมทั้งวิธีคิด วิธีมอง และวิธีเห็นของแต่ละคน ใครมีสาระ ใครคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่ากัน คนที่ตั้งคำถามเก่งๆต้องมีความเป็นตัวของตัวเองสูง กับทั้งช่างสังเกตละเอียดลออ และจินตนาการก็ต้องเกินธรรมดาด้วย

คำถามทำให้คนอื่นเกิดข้อสังเกตตาม และข้อสังเกตก็จะกระตุ้นให้คนอื่นคิด เมื่อคิดแล้วก็ร่วมกันหาความรู้ใหม่ หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ กล่าวได้ว่าคำถามนั่นเองคือไอเดีย โดยเฉพาะถ้าคำถามนั้นกระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่

ไอเดียเป็นสมบัติส่วนตัวที่ช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งทราบว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่นได้แค่ไหน ไอเดียทำให้คนเราเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่นักประดิษฐ์เอก เสนาธิการทหารใหญ่ เศรษฐีอันดับหนึ่ง ไปจนถึงศาสดาอมตะ

นั่นแปลว่าถ้าฝึกตั้งโจทย์บ่อยๆ จนเกิดนิสัยช่างสังเกต ช่างเลือกข้อน่าสงสัย คุณอาจเป็นอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด

ถ้าคุณเรียนเลขชั้นประถม แล้วสงสัยว่าคนตั้งโจทย์เขาคิดได้อย่างไร นั่นเป็นตัวอย่างของเด็กที่จะโตขึ้นอย่างแตกต่าง เพราะความสงสัยนั้นเอง จะเป็นชนวนจุดความอยากเป็น ‘นักคิดเอง’ แทนการเป็นเพียง ‘ผู้คิดตาม’

หากปราศจากคำถามชนิดกระตุ้นให้เกิดข้อสังเกต คนเราก็จะอยู่ไปเรื่อยๆโดยไม่สังเกตอะไรเลย และสนใจแต่คำตอบแบบพื้นๆ เช่นต้องการทราบว่าเพื่อนไปไหนมา อากาศวันนี้จะร้อนหรือหนาว ชาวบ้านกำลังพูดเรื่องผัวเรื่องเมียคู่ไหน บันไดขึ้นเขามีกี่ขั้น แจกันเจียระไนบ้านคุณพี่ราคากี่แสน ฯลฯ

แต่พวกเราก็มีเหตุผลพอที่จะไม่ส่งเสริมให้เกิดการประกวดโจทย์ เพราะไม่รู้จะใช้อะไรเป็นเครื่องวัดความฉลาดในการถาม ถามแล้วตอบไม่ได้จึงถือว่าเก่ง? หรือถามแล้วได้ข้อคิดเพิ่มขึ้นจึงถือว่าเยี่ยม? หรือถามแล้วนำไปสู่แรงบันดาลใจให้เกิดการค้นคว้าวิจัยหาคำตอบในระดับโลกจึงถือว่าเลิศสุด?

อินเตอร์เน็ตทุกวันนี้เปิดโอกาสให้คุณเห็นคำถามได้วันละร้อยข้อ ผ่านกระทู้ตามเว็บบอร์ดทั้งหลาย ไม่มียุคไหนสมัยใดอีกแล้ว ที่คนเราสนุกกับการตั้งหน้าตั้งตาเข้าไปอ่านคำถามได้มากมายขนาดนี้
แต่ย้อนถามว่าคำถามเหล่านั้นกระตุ้นให้คิดไปในทางใด ชวนให้พายเรือในอ่างหรือเดินเรือไปถึงฝั่งอันควรเป็นที่หมาย? คุณรู้คำตอบดี ถ้าเป็นผู้หนึ่งที่คร่ำหวอดกับกระทู้มากพอ!

คำตอบที่ชาญฉลาดอาจไม่ได้ช่วยให้คำถามมีสาระประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม แต่คำถามฉลาดๆที่กระตุกความคิดได้นั้น แม้หาคำตอบดีๆไม่เจอ อย่างน้อยก็มีค่า มีสาระในตนเอง ในฐานะที่ทำให้คนฟังคำถามฉุกคิด และอาจก่อให้เกิดมุมมองชีวิตใหม่ๆ อย่างเช่น ‘จะฝืนทำชั่วอีกไหมถ้ารู้ว่าต้องร้องไห้ไม่ได้หยุด?’ หรือยิ่งกว่านั้นเช่น ‘ต้องทำดีสักแค่ไหนถึงจะไม่กลับมาร้องไห้อีก?’

ความสามารถในการตั้งโจทย์ให้ชีวิตนั้น นับเป็นเครื่องวัดที่แท้ ว่าใครใช้ชีวิตมาถึงสติปัญญาระดับใด บาปบุญคุณโทษอาจเป็นเรื่องตื้นเขินเหมือนรู้ๆกันอยู่ แต่ที่ใครสักคนอยากรู้คำตอบที่แท้ ว่าทำอะไรจะได้รับผลอย่างไร นับเป็นเรื่องเกินคนธรรมดา เพราะคนธรรมดาไม่ได้อยากรู้คำตอบกันเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนเราจะหญิงหรือชายก็ตาม ที่ได้ชื่อว่าสร้างเหตุแห่งการเป็นผู้มีปัญญามาก ก็เพราะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรที่ทำแล้วเป็นโทษ หรือเป็นไปเพื่อต้องทนทุกข์จนสิ้นกาลนาน อะไรที่ทำแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือเป็นไปเพื่อความสุขจนสิ้นกาลนาน

ถ้ามีกำลังใจขนาดถามประมาณนี้ได้ ก็ย่อมช่วยขจัด ‘ความเขลาระดับโลก’ ลงได้ประการหนึ่ง คือเลิกหลงเห็นไปว่ามนุษย์และสัตว์เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเกิดขึ้นตามอำเภอใจของเทวดาอินทร์พรหม เมื่อขจัดความเขลาก้อนใหญ่เสียได้ ก็ย่อมขจัดความเขลาก้อนย่อยอันดับถัดๆมาโดยไม่ยากนัก และการไม่มีความเขลาอันใดเป็นอุปสรรคขวางหน้า นั่นแหละเหตุแห่งการเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้ฉลาดจริง ตั้งโจทย์เมื่อใดก็นำไปสู่ประโยชน์เมื่อนั้น ไม่ใช่ตั้งโจทย์เพื่อนำไปสู่โทษเหมือนชาวโลกทั่วไป

ยิ่งสติปัญญามากขึ้นเท่าใด คนเราจะยิ่งใฝ่หาประโยชน์ขั้นสูงสุดมากขึ้นเท่านั้น เช่นเมื่อถามหาความสุขที่แท้จริง จะไม่ตั้งโจทย์เพื่อแสวงหาวัตถุมาเสพให้สำราญชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะตั้งคำถามเช่นทำอย่างไรความทุกข์ทางใจจึงไม่เกิดขึ้นอีก? จากนั้นจึงค่อยคลำทาง หรือถามเอาคำตอบจากผู้รู้ว่าทางอยู่ไหน จะไปอย่างไร หรือแม้เหมือนไม่มีผู้รู้มาให้คำตอบได้ ก็ย่อมมุมานะที่จะหาคำตอบเอาด้วยตัวเองอย่างกล้าหาญ

คนฉลาดส่วนใหญ่
สนใจแต่จะตอบ
ไม่สนใจที่จะถาม
จึงมักไม่เฉลียวรู้
ว่าที่แท้ชีวิตคือโจทย์ให้แก้
หาใช่คำตอบที่น่าอิ่มใจไม่

(//dungtrin.com/empty4/02.htm)


Create Date : 12 มิถุนายน 2552
Last Update : 12 มิถุนายน 2552 14:44:37 น. 0 comments
Counter : 204 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

แมมมอสมีกรรมแถมขาดำด้วย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แมมมอสมีกรรมแถมขาดำด้วย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.