สุภารัตถะ บล็อก
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
21 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

ท่านนาคารชุนะ


....ภายใต้กรอบของอภิธรรม ความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเพียงเกิดดับต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสาย เป็นคำสอนที่เกิดขึ้นเพื่ออธิบายกฎไตรลักษณ์ มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างเหตุผลที่ดีที่สุดในการอธิบายความมีอยู่แบบชั่วขณะจิต สำนักพุทธใหญ่ๆ ที่ได้รับการยอมรับมีคำอธิบายที่ต่างกันไปในเรื่องนี้ และนั่นนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมสงฆ์ก่อนหน้าที่ท่านนาคารชุนะจะถือกำเนิด

มาธยมิกะคือกลุ่มของชาวพุทธที่ยอมรับคำสอนว่าด้วยเรื่องของความว่าง ทางสายกลาง และการอิงอาศัยกันและกันในการมีอยู่ของสรรพสิ่ง โดยบุคคลที่วางรากฐานคำสอนคือนาคารชุนะ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง สำนักพุทธมหายานทุกแห่งทั้งที่อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และทิเบต ต่างได้รับอิทธิพลคำสอนของท่าน

สำนักพุทธในยุคหลังโดยมากจะพัฒนาหลักคำสอนเชิงปรัชญา โดยเชื่อมโยงกับหลักศูนยตา (สุญญตา) ของสำนักนี้ ท่านนาคารชุนนะจึงได้รับการยกย่องให้อยู่ในฐานเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง การศึกษาเรื่องของท่านจึงมีความสำคัญ หากต้องการรู้จักพุทธศาสนาให้กว้างกว่าที่คุ้นเคย

เหตุที่ดลใจให้ปฐมาจารย์ของสำนักคือท่านนาคารชุนะ เขียนงานอธิบายคำสอนว่าด้วยหลักการสายกลาง เพราะเกิดจากทั้งปัจจัยภายนอก อันได้แก่แนวคิดของฮินดูโบราณเช่นเรื่องสางขยะ เรื่อยไปถึงการอิทธิพลของพระสูตรชิ้นสำคัญ มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ที่ได้รับการอ้างว่าค้นพบโดยท่านนาคารชุนะ ไปถึงปัจจัยภายใน อันได้แก่ความขัดแย้งในการตีความหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่มีการให้ความสำคัญกับตัวพระพุทธเจ้าแทนที่พระธรรมและคำสั่งสอน ซึ่งเบี่ยงเบนออกจากพระพุทธประสงค์ เหล่านี้.. จึงนำให้ไปสู่การแสวงหาทางสายกลางในศาสนาพุทธ

น่าสังเกตว่าปัจจัยภายในคือแรงผลักดันแท้จริงที่มีผลทำให้เกิดสำนักมาธยมิกะ ปัจจัยภายนอกนั้นเป็นเพียงแรงเสริม มาธยมิกะหรือเรียกอีกอย่างว่า ศูนยตาวาท หมายถึงคำสอนที่ประกาศความว่างในสิ่งทั้งหลาย หรือแปลว่าผู้นับถือคำสอนเรื่องทางสายกลาง เนื้อหาคำสอนในเรื่องทางสายกลางจะเรียกว่า “มัธยมกะ” (ความเป็นมาของสำนักนี้สามารถสืบย้อนไปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (หลังพุทธปรินิพพานประมาณสองร้อยกว่าปี ซึ่งมีการสังคายนาพุทธศาสนาครั้งที่สาม))

นักปราชญ์หลายคนเชื่อว่ามัธยมกะ เกิดขึ้นจากการที่พยายามจะอธิบายท่าทีของพระพุทธองค์เมื่อไม่ทรงตอบคำถามบางอย่าง ซึ่งเรียกว่า"ปัญหาอัพยากฤติ" ทั้งนี้ไม่ใช่ทรงตอบไม่ได้ แต่เป็นเพราะไม่ว่าจะตอบอย่างไรก็คงไม่อาจพ้นไปจากการทำให้คนฟังเข้าใจผิด ยิ่งถ้าผู้ฟังยอมรับสมมติฐานบางอย่างล่วงหน้าอยู่ในใจแล้ว จะทำให้เข้าใจตำตอบไปตามจริตตน

ความเห็นที่เป็นปัญหาอัพยากฤติ

ในทางเถรวาทมีอยู่ 10 ข้อ ได้แก่ 1.โลกเที่ยง 2.โลกไม่เที่ยง 3.โลกมีที่สุดหรือมีข้อจำกัด 4.โลกไม่มีที่สุดหรือไม่มีข้อจำกัด 5.ชีวะเหมือนกับสรีระ 6.ชีวะต่างกับสรีระ 7.ตถาคตตายแล้วเกิด 8.ตถาคตตายแล้วไม่เกิด 9. ตถาคตตายแล้วทั้งเกิดและไม่เกิด 10.ตถาคตตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ไม่เกิดก็ไม่ใช่

ในทางมหายานแบ่งออกเป็น 14 ข้อ จัดได้ 4 กลุ่ม
กลุ่มแรก 1.โลกเที่ยง 2.โลกไม่เที่ยง 3.โลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง 4.โลกไม่ใช่ทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง กลุ่มสอง 5.โลกมีที่สุด 6.โลกไม่มีที่สุด 7.โลกทั้งมีที่สุดและไม่มีที่สุด 8.โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่ กลุ่มสาม 9.วิญญาณเหมือนกับร่างกาย 10.วิญญาณต่างจากร่างกาย กลุ่มสี่ 11.ตถาคตมีอยู่หลังปรินิพพาน 12.ตถาคตไม่มีอยู่หลังปรินิพพาน 13.ตถาคตทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่ภายหลังปรินิพพาน 14.ตถาคตภายหลังปรินิพพานมีอยู่ก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่

อาการนิ่งของพระพุทธเจ้าก่อให้เกิดความเข้าใจผิดมากมายในสายตาคนนอก ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่รู้จริง หรือรู้แต่ไม่สามารถอธิบาย เหตุผลของการไม่ชี้แจงนี้เป็นเรื่องที่พุทธฝ่ายเดิมไม่สนใจ แต่สงฆ์บางกลุ่มเห็นว่าประเด็นนี้มองข้ามไม่ได้ เพราะเชื่อในความเป็นผู้รู้ทุกอย่างของพระพุทธองค์ กลุ่มเหล่านี้จึงเป็นพวกแรกที่ทำให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเหนือมนุษย์ธรรมดา ความสามารถของพระองค์ท่านเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่อาจหยั่งถึง นานวัน พวกเขาก็ยิ่งทำให้พระพุทธเจ้ากับพระธรรมคำสั่งสอนเป็นภาวะเหนือโลก แยกความจริงทางโลกทางธรรมออกจากกันเด็ดขาด

ประเด็นก็คือ หากโลกิยวิถีแยกขาดจากโลกุตรวิถี แล้วคนจะหลุดพ้นได้อย่างไร ท่านนาคารชุนะมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นผู้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของความเชื่อเช่นนี้

วิภาษวิธีของท่านคือตัวอย่างอันดีเยี่ยมที่ใช้ทำลายมิจฉาทิฐิในใจคน ในแง่หนึ่งช่วยอธิบายอาการนิ่งของพระพุทธองค์ โดยให้เห็นอาการนิ่งเชื่อมโยงกับคำสอนว่าด้วยเรื่องทางสายกลาง และเพราะเหตุนี้ทำให้บางท่านสรุปว่า นาคารชุนะเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติในระดับลึก (profound revolution) จากอาการนิ่งของพระพุทธองค์ ท่านสามารถอธิบายไปสู่การวิพากษ์ทัศนะทั้งหลายไปอย่างกว้างขวาง

พระนาคารชุนะ (นาคารชุน) เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงเรื่อยมาตั้งแต่อดีต ประวัติศาสตร์ของพุทธมหายาน มักปรากฏชื่อของท่านในฐานะครูผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเสมอ ท่านได้รับการยกย่องอย่างมาก แต่ในขณะที่ได้รับการสรรเสริญ ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยก็วิพากษ์ตัวท่านและงานของท่าน นับว่านาคารชุนะคือปราชญ์ชาวพุทธที่ได้รับความสนใจในระดับต้นๆ เสมอมา

เป็นเรื่องยากมากที่จะถ่ายทอดคำสอนของท่านนาคารชุนะ เหตุเพราะความคิดของท่านเป็นนามธรรมเข้าใจยาก ถ้าอธิบายไม่ดีคำสอนของท่านจะถูกโต้แย้งว่าเป็นทิฐิอันหนึ่งทันที

ปรัชญาปารมิตา เป็นคัมภีร์เก่าแก่ของชาวพุทธที่ไม่ปรากฏผู้แต่ง ตำนานฝ่ายมหายานเชื่อว่า นาคารชุนะได้รับพระสูตรนี้มาจากดินแดนของนาค เป็นบทรวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนลึกซึ้งที่จะได้รับการค้นพบโดยบุคคลที่มีปัญญาเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร พระสูตรความยาวหนึ่งแสนโศลกนี้ก็ได้เชื่อว่าเป็นสื่อแห่งปัญญาของชาวพุทธโดยแท้ เนื่องจากพระสูตรเผยให้เห็นความไร้แก่นสารของสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรที่ใครจะยึดถือได้ จึงเข้ากับกฎไตรลักษณ์

ปรัชญาปารมิตาจึงชื่อว่าเป็นคำสอนที่ประกาศความว่างในธรรม (ธรรมศูนยตา) ลึกซึ้งกว่าคำสอนพุทธทั่วไป ที่ประกาศความว่างในบุคคลเท่านั้น (ปุคคลศูนยตา)

ส่วนของปรัชญาปารมิตาสูตรที่ชาวพุทธนิยมอ่านและได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วหลายสำนวนคือ วัชรเฉทิก (วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร) กับ ปรัชญาปารมิตาหฤทัย

เนื้อหาสำคัญคือ ผู้ฝึกฝนเป็นโพธิสัตว์ จะต้องหมั่นพิจารณาความจริงที่ว่า แม้ว่าโลกนี้จะมีสัตว์อุบัติขึ้นมากมาย มีทั้งที่ประกอบด้วยสัญญาหรือไม่ก็ตาม มีการรับรู้หรือไม่มี กำเนิดแบบไหนก็ตาม หน้าที่ของโพธิสัตว์คือช่วยสัตว์เหล่านั้นให้หลุดพ้นโดยไม่ละเว้นใคร และแม้จะช่วยสัตว์ให้หลุดพ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริง หาได้มีสัตว์ใดที่โพธิสัตว์ช่วยให้หลุดพ้น ไม่มีผู้ช่วยให้หลุดพ้น ไม่มีกระทั่งการหลุดพ้น โพธิสัตว์จะต้องมองทุกอย่างโดยว่างไปหมด ไม่เช่นนั้นแล้วจะเท่ากับกำลังสร้างทวิภาวะระหว่างตนกับผู้อื่น หรือจิตกับธรรม

ง่ายๆ คือ หากมีความคิดปรุงแต่งตัวเรา-เขาอยู่ในการฝึกฝน อาทิ มีตัวเราคอยช่วย มีผู้อื่นถูกช่วย การคิดแบบนี้ถือว่าเป็นการแบ่งแยกในระดับละเอียด แม้ไม่เกี่ยวกับเรื่องดีชั่ว แต่ทวิภาวะก็เกิดขึ้นจากการหล่อเลี้ยงอัตตา ตัวตน บุคคล สิ่งของ


...........
จากส่วนหนึ่งในหนังสือ พระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง เขียนโดย คุณสุมาลี มหณรงค์ชัย เรียบเรียงเพื่อเผยแพร่ทางเน็ตโดย สุภารัตถะ
อ่านเพิ่มเติมจากหนังสือพระนาคารชุนะกับคำสอนว่าด้วยทางสายกลาง เขียนโดย คุณสุมาลี มหณรงค์ชัย





 

Create Date : 21 มีนาคม 2549
13 comments
Last Update : 20 กรกฎาคม 2551 13:17:07 น.
Counter : 3149 Pageviews.

 

ได้ความรู้เพิ่มเติมอีกแล้ว ขอบคุณคะ

 

โดย: กิ่งไม้ไทย 21 มีนาคม 2549 6:57:15 น.  

 

เพิ่งนึกได้ว่า ท่านนัชฮันท์เอง พยายามจะเขียนพุทธประวัติ ให้พระพุทธเจ้าเป็นเพียงคนธรรมดาอยู่ หยิบๆ จะซื้อหลายที พอไปอีกทีหาไม่เจอ.. ต้องไปหาใหม่ให้เจอ..

 

โดย: สุภาฯ IP: 210.246.70.42 21 มีนาคม 2549 16:22:31 น.  

 

ยอมรับตามตรงว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจค่ะ แหะๆ
จะลองค่อยๆอ่าน ทำความเข้าใจช้าๆนะคะ

จริงๆแล้วเคยอ่านงานประเภทนี้มาเหมือนกันนะคะ แต่นานมาแล้ว พักหลังไม่ค่อยได้จับมาอ่านอีก เลยต่อไม่ค่อยติด
แย่จังเนอะ

 

โดย: เสือจ้ะ 22 มีนาคม 2549 20:01:58 น.  

 

ขอบคุณที่เอามาฝากกันจ้ะ

 

โดย: zaesun 23 มีนาคม 2549 2:01:14 น.  

 

เข้ามาอ่านหลายครั้งแล้วอะครับ แต่ไม่มีให้ลงคอมเม้นท์


แต่มาครั้งนี้ก็จะไม่รู้จะคอมเม้นท์อะไรจริงๆอะครับ แหะๆ





 

โดย: พ่อน้องโจ 24 มีนาคม 2549 22:48:56 น.  

 

สาธุ ขออนุโมทนาท่านพี่สุภาฯ โดยส่วนตัวชอบมหายานค่ะ มีหนังสือมหายานอยู่เล่มหนึ่งอ่านไม่จบสักทีเพื่อนยืมไปยังไม่คืนเลยนานแล้วได้ข่าวว่าจะยึดก็ว่าจะไปหาซื้อใหม่ค่ะ ที่ชอบมหายานก็เพราะว่า การสงบได้ในทุกสภาวะคือความสงบอย่างแท้จริง การไม่หวั่นไหวไปกับผัสสะ โดยดำรงอยู่จริงกับผัสสะ ย่อมมั่นคง การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การหนีทุกข์ แต่เป็นการรู้ชัดถึงทุกข์ และที่เหมือนกันคือการหลุดพ้นคือจิตหลุดพ้น

ไม่ได้มาเยี่ยมท่านพี่นานเหมือนกัน สบายดีนะคะ ช่วงหลังๆนี่มาดูบล๊อคได้วันละนิดหน่อยค่ะ

 

โดย: ป่ามืด 26 มีนาคม 2549 3:26:54 น.  

 

ขอบคุณที่แวะมาอ่านกันจ๊ะ

.....
มหาปรัชญาปารมิตาหนึ่งแสนโศลก ในส่วนวัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร 600 ผูก หรือวัชรปรัชญาปารมิตา นับเป็นหัวใจของมหายานและเกี่ยวเนื่องกับโพธิสัตว์ด้วย .. สำคัญมากๆ ..

 

โดย: suparatta 26 มีนาคม 2549 16:54:08 น.  

 

เป็นเรื่องที่ดีจริงๆ

 

โดย: wbj 30 มีนาคม 2549 20:36:16 น.  

 

ไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องของมหายานเลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมาเผื่อแผ่นะคะ

 

โดย: ปาลินารี IP: 58.11.110.109 1 เมษายน 2549 8:21:14 น.  

 

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดี ๆ ครับ

คิดถึงครับ

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 7 เมษายน 2549 12:32:44 น.  

 

ยอดเยี่ยมมากครับ หาอ่านประวัติและบทความที่เกี่ยวข้องกับท่าน คุรุ นาคารชุน มา นานแล้ว

ขอบคุณครับ สำหรับ บทความดีๆ

 

โดย: พฤติภาพแห่งจิต 4 มกราคม 2550 17:25:05 น.  

 

เว็บเรา //www.mmk.bloggang.com ช่วยติชมกันทีนะคัฟ เกี่ยวกับคำสอนท่านนาคราชุนและมีพระไตรปิฏกจีนแปลไทย อาทิเช่น มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ครับ

 

โดย: bank IP: 202.91.19.192 30 เมษายน 2550 15:02:15 น.  

 

ไปเยี่ยมชม เว็บน้องแบงค์
หรือ //www.mmk.bloggang.com
หรือได้ที่ เว็บ ธรรมธาตุ จากลิงค์ขวามือนะจ๊ะ ตรง Friends' blogs
มีเรื่องมหายาน ให้ศึกษามาก

 

โดย: ดีจ้า.. IP: 203.155.234.170 22 พฤศจิกายน 2550 2:20:25 น.  


suparatta
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




..วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร..
..ท่านนาคารชุนะ..
วิภาษวิธี..เกริ่นนำ..ตอนจบ..

๐ สมุดเยี่ยมและบ่นได้..
**ทางลัด**
๐ สารบัญทักทาย(ทั้งหมด)
๐ ชวนคุย&ฟังเพลงปี48(ทั้งหมด)
๐ นอนดูจันทร์..(ส่วนตัว)

**log in หน่อยน่า..



Google.co.th
Friends' blogs
[Add suparatta's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.