สุภารัตถะ บล็อก
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
8 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

คิดเป็น.. ดับได้..


เหรียญมีสองด้าน อาวุธก็มีทั้งประโยชน์และโทษขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ความคิดก็เช่นกัน คิดไม่เป็นก็ฟุ้งซ่านเป็นบ้าเอาได้ง่ายๆ คิดเป็นก็มีปัญญาแตกฉานในเรื่องความเข้าใจเหตุและผล เห็นความเป็นไปของที่มาและผลลัพท์

การคิดจึงมีสองอย่าง คือคิดปรุงแต่งและการคิดพิจารณา เปรียบเป็นด้านร้ายและด้านดีในการนำมาใช้ (การคิดเป็นที่มีปัญญาต่างจากการคิดฉลาดที่มีตัวตนและผลประโยชน์)

ความคิดซึ่งเปรียบดังม่านมายาบางๆ ที่สะกัดกั้นเราจากความเป็นจริงเบื้องหน้า แม้ความเป็นจริง (สุญตา) จะเข้าถึงได้โดยกระบวนการความคิดดับลง แต่ไม่ใช่เราไปยุติควบคุมมันง่ายๆ และการรู้คิดนั่นเองที่เป็นอีกวิธีที่จะดับความเร่าร้อนของการคิดปรุงแต่งได้ คงคล้ายเกลือจิ้มเกลือ เมื่อเข้าใจธรรมชาติของมันจึงทิ้งเกลือที่เค็มเห็นๆ อยู่ได้ไม่ยาก

มนุษย์เรานั้น มีกายกับจิต หรือที่เรียกรูปขันธ์ 1 (กาย) และสังขารขันธ์ 4 (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) การเข้าสู่สภาวะความเป็นจริงโดยทำลายปราการของภาพมายาซึ่งเป็นไปเพราะกิเลสตัณหา-อุปาทาน ซึ่งล้วนแต่เกิดเพราะผ่านกระบวนการทำงานของ ความรู้สึก-ความจำ-ความคิด-ความรู้ ปรุงให้เป็นไปก่อนแสดงผลสั่งงานออกมาทางกายกระทำนั้น ก็ทำได้โดยอาศัยขันธ์ห้าที่มีอยู่คือร่างกายกับจิตเท่านั้น

จะเห็นได้ว่าการหยุดฟุ้งซ่านไปตามการแส่หากิเลส-ตัณหา-อุปาทานที่เกิดจาก โลภ โกรธ หลง โดยการเจริญสมาธิ-ภาวนา หรือที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการเข้าไปเห็นความเป็นจริงตามจริง จะด้วยอานาปานสติก็ดี สติปัฎฐานสี่ก็ดี ก็ล้วนใช้ฐานจากกายและจิต คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งสิ้น ในหมวดจิตและธรรมนั้น ก็ใช้ฐานจิตคือจิตซึ่งเต็มไปด้วยความคิดนั่นเอง

ที่น่าสังเกตก็คือ การตีความสติปัฎฐานสี่ในหมวดของกายคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กับเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดนัก เพราะการกระทำจากกายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวจากกายบ้าง ลมหายใจบ้าง หรือเวทนาที่เกิดขึ้นจากกาย เช่น ปวดหนัก ปวดเบา หรือ เมื่อย คัน ปวด เจ็บ ซึ่งทำงานร่วมกับเวทนาทางจิต ไม่ยากเกินความเข้าใจ

แต่สำหรับ ในหมวดของจิตคือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตีความในสองฐานนี้ ทำเอาพวกอีลูกช่างคิดเป็นงงไปตามๆ กัน เพราะถูกกำหนดจากสถานปฏิบัติบางสำนักให้อย่าคิด อย่าตรึก อย่านึก ฯลฯ นี่เป็นการตีความแคบไปหรือเปล่า ด้วยรวบรัดเอาบทสุดท้ายของการเข้าสู่ปรมัถต์มาใช้ คือสอนให้อย่าไปนึกไปคิดมันเสียเลย ทั้งที่การคิดพิจารณาเป็นตัวเกาะตามจริตของนักคิด และสำคัญมากจนขนาดแยกมาเป็นฐานของจิตและธรรม

ในฐานกายกับเวทนา การไม่นึกไม่คิดโดยเอาจิตมาเกาะเสียกับการเคลื่อนไหวของการของลมก็ดี ของเวทนาก็ดี มันก็พอผ่อนปรนให้จิตมีที่เกาะอยู่ล่ะ เพราะหากความคิดปรุงขึ้นมาก็เรียกกลับมาอยู่กับการเคลื่อนไหวหรือลมหายใจหรือเวทนาเสีย

แล้วในฐานจิตกับธรรม ใช้อะไรล่ะเป็นตัวเกาะ?? บ่อยครั้งที่ถูกตีความจากหลายสำนักให้หยุดคิดแล้วกลับไปอยู่ที่กายกับเวทนา คือหยุดคิดแล้วกลับไปอยู่ที่การเคลื่อนไหวหรือกองลมเสีย มันอาจจะเหมาะกับจริตของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในฐานจิตกับธรรม ผู้เขียนคิดว่ามันน่าจะมีความหมายกว้างกว่านี้มากนัก จริตของผู้เขียนเองก็ชอบคิด บ่อยครั้งที่คิดงาน คิดอะไรเล่นๆ คิดถึงสิ่งที่สงสัย ทำให้รู้จักความคิด ธรรมชาติที่บังคับได้ยาก ปรวนแปรและล่อหลอก จนกว่าจะเกิดสมาธิระดับนึง เห็นความคิดที่ถูกดับความคิดที่ผิดลงไปเสมอ เราใช้ความคิดให้จิตเกาะได้หรือเปล่า?? เกาะที่จะไม่ฟุ้งซ่าน และสงบไปด้วยการพิจารณานั้นๆ ไม่ต่างจากการเกาะอาการการเคลื่อนไหวหรือเวทนา ซึ่งเหมาะกับจริตของคนอีกประเภทหนึ่ง

น่าคิด.. เราจะใช้การเฝ้ามองความคิดที่เกิดโดยไม่อาจบังคับหรือทุบหัวให้มันหยุด เป็นตัวยึดเกาะเหมือนการเคลื่อนไหวหรือลมหายใจได้หรือไม่?? น่าสนใจนะ ถ้าเราใช้ความคิดเป็น เรื่องแบบนี้ทำได้ไหม?? คือแทนที่จะยิ่งฟุ้งซ่านกลับปล่อยวางหลุดจากความฟุ้งซ่านได้ เพราะหากคิดเป็นเวลามันคิดได้แล้วมันไม่อยากฟุ้งอีก มันก็นิ่งสงบจนบังคับให้คิดอีกก็ไม่ได้..

ในบางขณะ.. หากเราไม่สามารถหยุดยั้งความคิดได้ ความคิดพิจารณาอาจเกิดขึ้นราวน้ำไหลเป็นเส้นสายไม่อาจหยุดยั้ง เกิดอาการเข้าใจคำตอบหรือสัจจะทั้งหลายแบบทะลุทะลวงขึ้นมาตามกำลังของสมาธิภาวนาแนบแน่น เราควรสั่งห้ามไม่ให้คิดหรือไม่?? ใครเคยนั่งสมาธิก็ดี นั่งทำงานทำการก็ดี แม้แต่การเรียนการศึกษาก็ดี อาจเกิดสภาวะเช่นนี้ขึ้นมา กำลังคิดอะไรเพลินๆ จู่ๆ ก็สัมผัสถึงสมาธิสติปัญญาแก่กล้า คิดแก้ปัญหา คิดนั่นคิดนี่ออกเป็นลำดับ โดยเฉพาะพวกช่างคิด ภาวะแบบนี้จะมีให้เห็นอยู่บ่อย

แต่อย่างว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่มากไปด้วยประโยชน์แต่ก็เป็นโทษร้ายแรง การคิดไม่เป็นจึงเป็นโทษร้ายแรง พวกคิดมาก ถ้ามันคิดออกไปตามทางที่ผิดแล้วทึกทักเองว่าถูก บางครั้งเป็นวิปัสสนูกิเลสไปอย่างน่าหวาดกลัว

แล้วการคิดเป็น เป็นอย่างไร?? การคิดเป็น..ก็คงหนีไม่พ้นไปจากการปล่อยวางเป็นหลัก เพราะการคิดเป็น.. คิดจนเห็นสัจธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไตรลักษณ์ เบญจขันธ์ ปฏิจจสมุปบาท ทุกข์ในอริยสัจจ์สี่ ฯลฯ ย่อมเกิดปัญญาที่จะทำให้หยุดความคิดชนิดปรุงแต่งให้หลงทุกข์ได้ เพราะเห็นแต่ความไร้สาระของการคิดอย่างมีตัวตนที่อัดเต็มไปด้วยกิเลสและหลงเชื่อว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มีอยู่ แต่ทว่าหากคิดแล้ว.. ไม่สามารถปล่อยวางความคิด กลับหลงคิดติดว่าตัวเองมีปัญญาแตกฉาน หรือยึดเชื่อสิ่งที่คิดได้ไว้แน่น ก็กลายเป็นปัญญาที่หลงไป ยังไม่เข้าใจธรรมชาติของความคิดจริงๆ แม้มันจะเป็นธรรมขั้นสูงก็เถอะ เข้าข่ายต้องเจอความร้ายแรงทางอัตตาความคิดไปอย่างชนิดช่วยได้ยาก

การตามดูความคิดกับการควบคุมให้หยุดความคิดนั้นต่างกันมาก ผู้รู้.. สอนให้เฝ้ามองความคิดไม่ใช่หยุดความคิด เพราะการหยุดความคิดทำไม่ได้ง่าย กลับรังแต่จะติดกับดักความคิดที่จะให้ยุติความคิดเป็นลูกโซ่ซ้อนคิดไปเสียอีก หรือบางคนก็ข่มไว้จนคิดว่าตัวเองสงบนิ่งได้ แต่กลับทึมทึบและไม่โล่งชัด

การมีสติตามดูความคิดเสมอ จะเข้าใจกระบวนการทำงานของความคิด เหมือนสายลับที่ติดตามโจร ในที่สุดก็รู้ว่าโจรจะทำอะไร เข้าใจว่าตัวเองยังชั่วร้ายหรือมีกิเลสชนิดไหนอยู่.. และนอกจากจะเห็นความคิดที่ไร้สาระจากการปรุงแต่งติดยึดตามจริต ยังเห็นสิ่งที่จำเป็นต้องคิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจและปล่อยวาง ซึ่งจะมาในรูปของความเข้าใจไม่ต้องคิดอีกเพราะได้รู้ได้ซึ้งไปแล้ว เป็นสติตัวรู้ที่โล่งแจ้งเท่าทันความคิดนึกอย่างยิ่ง มันต่างจากพวกไม่คิดที่ทึบทึมมาก

การยุติความคิดหรือควบคุมความคิดโดยไม่ผ่านความเข้าใจ นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงเรื่องขอบข่ายความคิด กระบวนการเกิดความคิด(ขันธ์ห้า) ยังสูญเสียความสามารถในการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่รับรู้ความคิดอย่างที่ควรเป็น

การเฝ้ามองความคิด เห็นกระบวนการคิด รู้จักคิด ย่อมทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติของความคิด เข้าถึงสัจธรรมด้วยการคิดเป็น แม้ในปรมัถต์จะไม่ใช้ความคิดแต่ในสมมุติทุกอย่างคือบัญญัติ การคิดเป็นย่อมทำลายการคิดไม่เป็นซึ่งไปสร้างกระแสกรรมใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เห็นความคิดที่ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ เปลี่ยนแปลง บังคับให้เป็นไปตามใจไม่ได้ เกิดขึ้น ดับลง ไม่มีอยู่

หากมีโยนิโสมนสิการเช่นนี้ จิตสงบรำงับลง มีภาวะการปล่อยวาง ความคิดย่อมระงับเองตามจิตที่มีกำลัง อาจดับลงทันใดเมื่อขาดกระบวนการของการปรุงสร้างฉับพลันเข้าสู่ภาวะนิพพานจริง หรืออย่างน้อยก็สงบปกติเข้าสู่ภาวะนิพพานชั่วคราว รักษาภาวะจิตปกติได้มากไม่วุ่นวายเป็นทุกข์หรือขาดสติจนคุ้มคลั่งเกินระงับ




 

Create Date : 08 ตุลาคม 2548
28 comments
Last Update : 8 ตุลาคม 2548 21:02:51 น.
Counter : 964 Pageviews.

 

เขียนเตือนตัวเองด้วย .. ช่วงนี้มีภาวะของความรุ่มร้อนกลุ้มรุม ต้องเดินคิดๆๆ (เดินจงกรม) คิดด้านดีๆ สติก็มาเยอะ.. คิดไม่ดี เด๋วเป็นบ้า..

 

โดย: suparatta 8 ตุลาคม 2548 9:23:45 น.  

 

สวัสดีค่ะคุณสุภาฯ

งานเขียนวันนี้ดีมากๆค่ะ

ต้องอ่านช้าๆและใช้สมาธิอย่างมากในการตีความ

อ่านจากที่เม้นท์ของคุณสุภาฯแล้ว

เข้าใจว่าทุกคนก็กำลังมีปัญหา

แต่ทว่าแตกต่างกันไปตามสภาพ

รักดีเอาใจช่วยให้ปัญหาต่างๆ

ลุล่วงไปได้ด้วยดีนะคะ

การเดินจงกรมดีมากๆค่ะ

สามีของรักดีเวลามีปัญหามากๆ

เค้าจะเดินไปเดินมาคิดงานต่างๆ

ไม่นานเค้าก็คิดอะไรได้มากมายเลยค่ะ

 

โดย: รักดี 8 ตุลาคม 2548 9:35:41 น.  

 

สามีรักดีก็ชอบเดินไปเดินมาเหรอ
การเดินช่วยเรื่องระบบการขับถ่ายด้วยนะ
รักดีชอบเดินไหม?? บางคนไม่ชอบนั่งสมาธิจะหลับ ก็ชอบเดิน...

 

โดย: suparatta 8 ตุลาคม 2548 9:58:00 น.  

 

ดีครับ......ผมจะเก้บไว้เตือนตัวเอง

 

โดย: ครีเอทีฟ หัวเห็ด 8 ตุลาคม 2548 9:59:02 น.  

 

มีประโยชน์ดีค่ะ

 

โดย: p_tham 8 ตุลาคม 2548 10:25:40 น.  

 

เข้าทักทายก่อนนะค่ะ
คืนนี้ว่างจะมาอ่าน

เมื่อวานวนเข้าไปอ่านอีกสองรอบ
พี่สุภา อุตสาห์อธิบายอีกทีจนเข้าใจ
ขอบคุณมากๆค่ะ

แต่พอจะเม้น ไฟดับไปนะค่ะ
เราก็เข้าไปอ่านอีก
เพราะต้องอ่านไป จดลงโน๊ตเพด ว่าเข้าใจยังไง
ไฟดับอีก ไม่ได้เซฟไว้หายหมด

และดับยาวเลย พอดีต้องไปวัดนะค่ะเมื่อคืน
งานนวราตรี เราไม่ได้ไป ทางวัดโทรมาตาม
เลยไปกันเมื่อคืนนะค่ะ
กลับมาเมื่อคืนก็เหนื่อยเลยเข้านอนเร็ว

เราอยากจะบอกว่าเข้ามาอ่านนะค่ะ
กลัวพี่สุภาว่าไม่มีคนอ่าน
ชอบอ่านช้าๆนะค่ะ อ่านหลายรอบ
กลัวเข้าใจไขว้เขวไปนะค่ะ



เราชอบนั่งสมาธิค่ะ แต่ก็พยายามเดินนั่งเท่ากัน

เวลาเดินสมาธิ เรื่องราวต่างๆจะไหลมาเหมือนสายน้ำเลยค่ะ ก็พยายามกำหนด

นานไปไม่มีเรื่องอะไรเข้ามาในหัว
จะมีแต่เรื่องประจำวันว่าไปทำไรมา คุยกะใคร

เวลานั่งสงบดีค่ะ ชอบ แต่นั่งไปๆ รู้สึกกลัวค่ะ เพราะบางทีมันวูบ
เกิดความกลัว อันนี้เป็นบ่อย
ดึกๆเลยไม่ค่อยกล้านั่งสมาธิ แก้ไม่หาย

ว่าจะถามพี่สุภา เรื่องนั่งสมาธิ ว่าถ้าเจอแบบนี้กำหนดยังไง

ไว้หลังไมค์ไปถามนะค่ะ

แต่วันนี้ไม่ว่าง คืนนี้อาจจะค่ะ

 

โดย: อยู่ไกลบ้าน 8 ตุลาคม 2548 10:36:47 น.  

 

K.อยู่ไกลบ้านกับK.รักดี ทำให้คิดถึงหลวงพ่อพุธขึ้นมา ท่านสอนให้คิดงานคิดการ พระอรหันตฺก็ต้องคิดว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะในโลกของบัญญัติ (สมมุติขึ้น) ต้องทำนั่นทำนี่ เพราะต้องกิน ต้องรู้จัก ต้องสังคมกะคนอื่น ยังอยู่ในโลกสมมุติ

...เวลานั่งสงบขึ้นมาแล้วเกิดความกลัว ให้กำหนดตัวความกลัว (เรียกว่าสู้เผชิญหน้า) ถ้ากลัวมากให้กำหนดอย่างอื่น (หลบ) ถ้ากลับไปย้อนดูบ้างกำหนดอย่างอื่นบ้างเรียกว่า ยังแอบกลับไปดู (ซุ่มดู) เอาไปใช้ตอนเวทนาแรงๆ ได้

ถ้ากลัวมากๆ ก็ลืมตานั่ง ดูตัวความกลัวให้เข้าใจ เพราะความกลัวผี น่ากลัวน้อยมากๆ เมื่อเปรียบกับโลกภายนอก ที่เต็มไปด้วยคนร้าย อุบัติเหตุ ฯลฯ ไม่รู้ว่าอยู่ไกลบ้านจะชอบแบบเผชิญหน้า หรือแบบหลบ
แต่แบบเผชิญหน้ามันเร็วดีนะ แต่ก่อนเคยกลัว กำหนดอศุภะไปเลย เพราะหลวงปู่ชาไปนั่งในป่าช้า เราสบายกว่าเยอะ ตอนนี้อยากเจอผีมั่กๆ

การที่จิตวูบลงไป เหมือนตกเหว หรือตกหลุม ไม่รู้อธิบายถูกหรือเปล่า เป็นช่วงที่จิตไม่ได้คิด ไม่มีที่ยึด จะตกภวังค์ ตอนนอนหลับจิตจะตกภวังค์ แต่ในภาวะตื่น ก็มีช่วงที่ตกได้ เมื่อเราไม่ได้คิดอะไร เป็นสมาธิระดับนึงแต่สติอ่อนลงไป..
หากจิตไม่ตกภวังค์ จะเข้าสู่สมาธิ
คนนั่งสมาธิแล้วสัปหงก แทนที่จะหลับกลับเข้าสู่สภาวะสมาธิสว่างไสว หลวงพ่อพุธเรียกว่า สมาธิแบบฟลุ๊ค ..

 

โดย: suparatta 8 ตุลาคม 2548 11:12:33 น.  

 

บางครั้งภาวะจิตก็ไม่ค่อยปกตินักค่ะ
ชอบคิดฟุ้งซ่านประจำ

....สมาธิก็ไม่ค่อยเกิดซะเหลือเกิน ต้องพยายามทำให้ให้ปลงๆๆๆ บ้างแล้วล่ะค่ะ

 

โดย: jan_tanoshii 8 ตุลาคม 2548 13:16:29 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อความดีดีนะคะ

 

โดย: Batgirl 2001 8 ตุลาคม 2548 13:44:21 น.  

 

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: rebel 8 ตุลาคม 2548 14:20:23 น.  

 

สาธุ อนุโมทนาค่ะ

..ในเมื่อเราทุกข์เพราะความคิด เพราะคิดจึงทุกข์ คิดปรุงแต่งเหตุแห่งความทุกข์ เราก็น่าจะคิดเพื่อลบล้างความทุกข์ได้เช่นเดียวกันค่ะ โดยรับข้อมูลที่สำคัญคือสัจจะเพื่ออบรมความคิด การประจักษ์ตามสัจจะคือปัญญา เมื่อจิตอยู่ในสภาวธรรมแห่งปัญญา ความคิดที่ไม่ประโยชน์ก็ย่อมน้อยลงและดับได้ตามปัญญาที่อบรม..

ป่ามืดก็จริตช่างคิดค่ะ และโดยส่วนตัว สงบระงับด้วยความคิดค่ะ ..

รักษาสุขภาพนะคะ ..จะได้ทำธรรมทานโปรดสัตว์ไปนานๆค่ะ

 

โดย: ป่ามืด 8 ตุลาคม 2548 15:56:46 น.  

 

ไม่กล้ารับนะK.ป่ามืด
ก็ตัวเองยังทำอะไรกินเองไม่ค่อยได้..

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านทุกคนเรย..

คนที่ฟังธรรมแล้วบรรลุ ก็เป็นการเกาะความคิดนะ คือพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังจนจิตตื่นมีกำลังมากๆ พละห้าเสมอกัน สติเต็มรอบ ตัดตัวตนลงทันที เป็นจริตของพวกมีปัญญามาก ได้ฟังอะไรที่ถูก แล้วจิตจะตื่นมากๆ นิวรณ์ห้าขาด ขันธ์ดับ คนฟังธรรมบรรลุบางทีพระพุทธองค์พูดยังไม่ทันจบประโยคเลย อิจฉาง่ะ...

 

โดย: suparatta 8 ตุลาคม 2548 17:33:30 น.  

 

สวัสดีค่ะ คุณสุภาฯ

รักดีชอบเดินมากค่ะ

แต่เป็นการเดินดูโน่นดูนี่ไปเรื่อยในบริเวณบ้าน

ไม่ได้เดินจงกรมค่ะ

เมื่อก่อนเคยเดิน ช่วงหลังๆขี้เกียจ

บางวันเดินจนปวดเท้า พอตื่นเช้ามาก็หายดีค่ะ

เย็นแล้ว ทานอาหารเย็นให้อร่อยนะคะ

 

โดย: รักดี 8 ตุลาคม 2548 18:22:24 น.  

 

ช่วงสองสัปดาห์มานี้คิดมากจนต้องไปหาหมอ
ทั้งเรื่องสอบ เรื่องครอบครัว
แล้วตัวเราคุมสติไม่อยู่ด้วย เลยเตลิดไปไกล
ตอนนี้ต้องปรับทั้งร่างกายและจิตใจให้เข้าที่
ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ไม่งั้นเดี๋ยวพลาดอีก

รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

 

โดย: Mint@da{-"-} 8 ตุลาคม 2548 20:33:56 น.  

 

ปวดเท้าเหรอ กระดูกไม่ดีหรือเหล่า รักดีอาจต้องกินอาหารประเภทมีแคลเซี่ยม พวกงา กับมะเขือลูกเล้กๆ
บิวซัง อย่าคิดมากนะ ลองนั่งสมาธิอาจช่วยได้

 

โดย: suparatta 8 ตุลาคม 2548 21:07:09 น.  

 

เข้ามาอ่านเก็บความรู้ค่ะ

 

โดย: ladybear (ladybear ) 8 ตุลาคม 2548 21:27:07 น.  

 

แวะมาสวัสดีก่อนนอนค่า

 

โดย: Batgirl 2001 9 ตุลาคม 2548 0:14:33 น.  

 

ฮา ๆ ๆ ..นั่งนิ่งๆให้คารวะเสียดีๆนะคะ..

"คนที่ฟังธรรมแล้วบรรลุ ก็เป็นการเกาะความคิดนะ คือพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังจนจิตตื่นมีกำลังมากๆ พละห้าเสมอกัน สติเต็มรอบ ตัดตัวตนลงทันที เป็นจริตของพวกมีปัญญามาก ได้ฟังอะไรที่ถูก แล้วจิตจะตื่นมากๆ นิวรณ์ห้าขาด ขันธ์ดับ คนฟังธรรมบรรลุบางทีพระพุทธองค์พูดยังไม่ทันจบประโยคเลย "

อย่างกับผ่ามะพร้าวห้าวด้วยดาบเดียวเลยท่านจอมยุทธ..สาธุ ๆ ๆ.."จิตตื่น" หุหุ..ฮา ๆ ๆ..ได้ยินว่าเปรี้ยวแต่ไม่เคยลิ้มรสก็ยังเข้าใจไม่ตรงกันนะท่าน

ธรรมสวัสดี อนุโมทนาค่ะ รักษาสุขภาพเมตตาพี่น้องไปนานๆนะคะ

 

โดย: ป่ามืด 9 ตุลาคม 2548 2:08:29 น.  

 

สวัสดีวันอาทิตย์ค่ะคุณสุภาฯ

ขอให้มีความสุขมากๆทั้งครอบครัวนะคะ

 

โดย: รักดี 9 ตุลาคม 2548 8:56:27 น.  

 

สิ่งดีๆที่ต้องอ่านและฝึกปฏิบัติค่ะ

หลายๆครั้งที่คุมอารมณ์ไม่อยู่.... ต้องตั้งจิตให้สงบมากกว่าที่เป็นอยู่ค่ะ

ขอบคุณนะคะ

 

โดย: ป้าแจ๋วแหวว 10 ตุลาคม 2548 9:21:04 น.  

 

ขอบคุณพี่สุภาฯ มากๆ ครับ
ที่หยิบเอาเรื่องดีๆ มาให้อ่านกัน
:D

 

โดย: it ซียู 10 ตุลาคม 2548 13:26:34 น.  

 

แบมแวะมาเยี่ยมค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

อยากปฎิบัติบ้างจังเลยค่ะ

 

โดย: yadegari 10 ตุลาคม 2548 20:06:15 น.  

 

เฮ้อ..ความคิดผมซนเหมือนลิงครับ
ขอบคุณ สำหรับข้อความดีๆ ครับ

 

โดย: goken 11 ตุลาคม 2548 3:06:48 น.  

 

ขอบคุณค่ะ อ่านแล้วทำให้เข้าใจเรื่องสติปัฎฐาน 4 มากขึ้น ที่สำคัญ ทำให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างการหยุดคิด ซึ่งทำได้ยาก กับการตามดูความคิด..

จริง ๆ ถ้าเป็นไปได้ อยากขอให้พี่สุภาฯ เขียนเรื่องการฝึกสติปัฎฐาน 4 ตั้งแต่เริ่มต้นเลยค่ะ ตอนนี้หนูเพิ่งเริ่มต้น ยังทำอะไรได้ไม่ค่อยดีเลย ส่วนใหญ่ยังเป็นแค่เรื่องกำหนด กาย กับ เวทนา

วันนี้ขออนุโมทนา กับการให้ธรรมะเป็นทาน ของพี่สุภาฯ
ด้วยค่ะ

 

โดย: Hello_Hello 11 ตุลาคม 2548 9:23:07 น.  

 

สาธุค่ะ

จิตเห็นจิตเป็นมรรค

จะให้มีสติเห็นจิต เห็นธรรม ยากจังคะ

 

โดย: กิ่งไม้ไทย 12 ตุลาคม 2548 1:22:33 น.  

 

ถ้าอ่านบ่อยๆ คงจะค่อยๆ ซึมซาบเข้าตัวเองบ้างอ่ะค่ะ

 

โดย: jan_tanoshii 12 ตุลาคม 2548 12:57:31 น.  

 

แวะมาทักทายครับ

 

โดย: Bluejade 13 ตุลาคม 2548 6:23:51 น.  

 

นู๋ฮัลโหล เอาคร่าวๆ นะ

สติปัฎฐานสี่
คือการกำหนดจิตให้เกาะอยู่กับฐานทั้งสี่ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้มีที่จับ ไม่ซัดซ่ายไปกับความคิดฟุ้งซ่านปรุงแต่ง ซึ่งเกิดจากกิเลส โลภ โกรธ หลง

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้อาการของกายเป็นที่จับ จะด้วยลมก็ดี การเคลื่อนไหวก็ดี

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้อาการของกายเป็นที่จับ จะด้วยเวทนาจากร่างกายที่บังคับไม่ได้ เช่น ปวดหนัก ปวดเบา บาดเจ็บ ปวด เมื่อย คัน ฯลฯ โดยให้จิตไปเกาะกับอาการนั้น หรือแม้แต่เวทนาที่เกิดจากจิตเองไม่เกี่ยวกับกาย เช่น โกรธ เศร้า ปวดร้าว ก็กำหนดดูเวทนานั้น อย่าปรุงแต่งต่อ มีสติรู้ตัวก็ดูความคิดนั้น

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้ฐานจิตให้เห็นความคิด ถ้ากำหนดเป็นจะเห็นคิด ความคิดจะหยุดก็กลับไปเกาะที่ฐานกายต่อ แต่บ่อยครั้ง ที่เป็นความคิดที่ไม่ได้เกิดจากกิเลส โลภ โกรธ หลง อย่างเดียว จะมีตัวปัญญา หรือตัวรู้เข้ามาพิจารณาถึงสิ่งที่รู้สึกนึกคิดอยู่ หากเป็นการพิจารณาที่ถูกทาง ความเข้าใจจะแตกเป็นเปราะเข้าถึงความเข้าใจที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นอกจากคิดงานคิดการ การครุ่นคำนึงถึงสัจจะต่างๆ ก็จะทำให้แตกฉานขึ้น ฐานธรรมนี่คล้ายฐานจิต เพียงแต่เป็นความคิดที่คิดเรื่องสัจจะทั้งทางโลกและธรรม บางคนคิดจนลืมตัวลืมตนไป ปัญญานำสู่สภาวะพละห้าแก่กล้า จนดับด้วยคิดของตัวเองก็มี หรือความคิดที่ฟังของคนอื่นอยู่ก็มี คล้ายๆ ฐานจิตนะ แต่ลึกซึ้งในเรื่องความเข้าใจความจริง


การตีความสติปัฎฐานสี่
ในหมวดของกายคือฐาน กายกับเวทนา ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดนัก เพราะการกระทำจากกายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวจากกายบ้าง ลมหายใจบ้าง หรือเวทนาที่เกิดขึ้นจากกาย เช่น ปวดหนัก ปวดเบา หรือ เมื่อย คัน ปวด เจ็บ ซึ่งทำงานร่วมกับเวทนาทางจิต ไม่ยากเกินความเข้าใจ
แต่ในหมวดจิตคือฐาน จิตกับธรรม ใช้อะไรล่ะเป็นตัวเกาะ?? บ่อยครั้งที่ถูกตีความจากหลายสำนักให้หยุดคิดแล้วกลับไปอยู่ที่กายกับเวทนา แต่ผู้เขียนคิดว่ามันน่าจะมีความหมายกว้างกว่านั้น คนชอบคิด บ่อยครั้งที่คิดงาน คิดอะไรเล่นๆ คิดถึงสิ่งที่สงสัย ทำให้รู้จักความคิด เห็นธรรมชาติที่บังคับได้ยาก ปรวนแปรและล่อหลอก จนกว่าจะเกิดสมาธิระดับนึง จะเห็นความคิดหนึ่งถูกดับลงไปเพราะอีกความคิดหนึ่ง หรือไม่..มันก็ดับของมันเอง เราใช้ความคิดให้จิตเกาะได้หรือเปล่า?? เกาะที่จะไม่ฟุ้งซ่าน และสงบไปด้วยการพิจารณานั้นๆ ไม่ต่างจากการเกาะอาการการเคลื่อนไหวหรือเวทนา และเวลามันไม่อยากคิดขึ้นมา จิตก็กับไปอยู่กับกายและลมหายใจเอง ไม่ต้องบังคับอะไรทั้งนั้น ซึ่งเหมาะกับจริตของคนอีกประเภทหนึ่ง

 

โดย: suparatta 14 ตุลาคม 2548 12:51:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


suparatta
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




..วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร..
..ท่านนาคารชุนะ..
วิภาษวิธี..เกริ่นนำ..ตอนจบ..

๐ สมุดเยี่ยมและบ่นได้..
**ทางลัด**
๐ สารบัญทักทาย(ทั้งหมด)
๐ ชวนคุย&ฟังเพลงปี48(ทั้งหมด)
๐ นอนดูจันทร์..(ส่วนตัว)

**log in หน่อยน่า..



Google.co.th
Friends' blogs
[Add suparatta's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.