อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
สนธิลิ้ม เปิดใจไทยโพสต์ "ทุกฝ่ายกลัวเรา"(๑)

ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’: “ทุกฝ่ายกลัวเรา”

เผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยโพสต์แทบลอยด์, 11 ต.ค. 2552

"ทุกฝ่ายกลัวเราหมด... ถ้ามองให้ลึกเลย พวกเรานี่คือจุดเปลี่ยนของสังคมไทยนะ เพราะพวกเราคือพลังศีลธรรมที่จะโค่นล้มปรับเปลี่ยนรากเหง้าเดิมๆ ที่ผูกขาดอำนาจมา ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะเข้ามาแล้วบอก เฮ้ย! จากนี้ไปขอให้มีความสมดุลในสังคมได้ไหม ตรงนี้กระเทือนหมดทุกคนเลย กระเทือนธุรกิจใหญ่ๆ กระเทือนกลุ่มอำมาตยาธิปไตยบางกลุ่ม กระเทือนข้าราชการเก่าบางกลุ่ม กระเทือนนักการเมืองชั่วๆ บางกลุ่ม กระเทือนทหารชั่วๆ บางกลุ่ม นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมโดนยิงไงล่ะ"

"คำว่าอำนาจนอกระบบคุณหมายถึงสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า ถ้าคุณหมายถึงสถาบันกษัตริย์ผมปฏิเสธ-ไม่ใช่ เพราะวันนี้ผมสู้มาคือสู้เพื่อให้เมืองไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนกษัตริย์จะเป็นพระองค์ใดผมยินดี ตราบเท่าที่องค์นั้นมีทศพิธราชธรรม เน้นตรงนี้นะ ตราบเท่าที่องค์นั้นมีทศพิธราชธรรม ผมยังเห็นว่าเมืองไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์"


ครั้งแรก! ที่ไทยโพสต์แทบลอยด์สนทนากับสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อเขาเปลี่ยนจากสื่อมวลชนและแกนนำพันธมิตรฯมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่

ถัดจากเรายังมีอีกค่ายมารอสัมภาษณ์ "ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบเปิดตัวแต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือกแล้ว"

แน่นอนทุกคนเคยฟังสนธิบนเวที สนธิใน ASTV แต่ครั้งนี้ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง เขาเป็นฝ่ายถูกสื่อมวลชนถาม

000
สถานการณ์เปลี่ยน

พอเป็นหัวหน้าพรรค นักการเมืองก็ออกมา...(ยังพูดไม่จบ)
"กระแนะกระแหน ผมไม่รู้สึกอะไร เพราะพวกที่ออกมากระแนะกระแหนกำลังหวาดกลัวสถานภาพตัวเอง เพราะพวกนี้สร้างฐานการเมืองบนพื้นฐานที่ผิด คือพรรคการเมืองในอดีตเกิดจากนายทุนทั้งนั้น คนไม่กี่คนเองเงินมาลงกันและกำหนดว่าคนโน้นจะเอา ส.ส.จากที่ไหนมาบ้าง คนนั้นซื้อมาได้เท่าไหร่ คนนี้ซื้อมาได้เท่าไหร่ พอมาเจอการเมืองที่มวลชนเขาให้เกิด พวกนี้ก็มีความรู้สึกว่าเฮ้ยมันไม่ใช่แล้ว พวกนี้เกิดความกลัว ก็พยายามจะพูดตลอดเวลาว่าเมื่อเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วก็อย่าไปประท้วงบนถนนต้องมาสู้ในสภา เป็นวิวาทะเดิม"

"คือพวกนี้ไม่เข้าใจอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว ว่าจริงๆ แล้ว มีแต่พรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองใหม่เท่านั้นเอง พรรคเพื่อไทยเขาจ้างมวลชนเข้ามา พรรคการเมืองใหม่มีมวลชนหนุนให้เกิด เพื่อไทยนี่เกิดจากนายทุนก่อน และตอน
หลังนายทุนก็เอาเงินไปจ้างมวลชนเพื่อเอามวลชนมาสนับสนุน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายๆ คนก็ขึ้นเวทีเสื้อแดง ส่วนพรรคการเมืองใหม่เกิดจากมวลชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ และเมื่อสู้ถึงจุดจุดหนึ่งเขารู้สึกว่าต้องมีเครื่องมือของเขาเข้าไปเป็นตัวแทน เพราะฉะนั้นในลักษณะหนึ่งเรากับพรรคเพื่อไทยมีความคล้ายคลึงกัน ส่วนที่มาของมวลชนจะไม่เหมือนกันเลย ที่เหลือตกขอบไปหมดแล้ว แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีมวลชน พรรคชาติไทยก็ไม่มี คนพวกนี้อย่างเช่นพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เวลาแกมาปั๊บแกก็ต้องถามตัวเองว่า ส.ส. เก่าๆ ของแกมีเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่งเวลาคุณทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทยใหม่ๆ ตั้งไปตั้งมามีความรู้สึกว่าเออถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ กว่าจะได้เป็นนายกฯนาน ความอดทนไม่มี เป็นนักธุรกิจลงทุนไปแล้วอยากได้เงินคืนทันที นั่นคือที่มาของคุณเสนาะ เทียนทอง พอคุณเสนาะมาเกิดอะไรขึ้น คุณเสนาะไม่ได้เอามวลชนมา คุณเสนาะเอา ส.ส.และหัวคะแนนมา ก็คือเอาเงินไปซื้อมา เอาสายพรรคความหวังใหม่มาบ้าง เอาสายโน้นสายนี้มาบ้าง การเลือกตั้งครั้งนี้เท่าไหร่ 30 ล้าน 25 ล้านเอาไป เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่คน พอมาเจอพรรคการเมืองที่มีมวลชนหนุนหลังเขาย่อมไม่พอใจ แต่ว่าผมไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น เพราะผมมองว่าส.ส.ในสภา รัฐสภาจะปฏิเสธการเมืองภาคประชาชนไม่ได้เด็ดขาด เพราะว่าเสียงยิ่งใหญ่ที่สุดมากกว่าส.ส.คือเสียงของมวลชน"

เขากระแนะกระแหนเพราะเคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง

"ธรรมดา การไม่รับตำแหน่งทางการเมืองมีหลายวิธี เอ้า ถามคุณว่าพระพุทธเจ้าเคยอดอาหารใช่ไหม ท่านก็บอกว่าท่านจะไม่รับประทานอาหารจนกระทั่งท่านบรรลุนิพพาน ทำไมท่านเปลี่ยนใจมารับประทานอาหารล่ะ คือผมคิดว่าอะไรก็ตามถ้าเราพูด คำพูดในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยนไป สมมติคุณบอกว่าคุณจะอหิงสาสันติ แล้วมาโจรมาปล้นบ้านคุณกำลังข่มขืนลูกเมียคุณ ถามว่าคุณจะอหิงสาสันติได้แค่ไหน มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้กังวลสักนิด ในที่สุดแล้วถึงจุดสุดท้ายจะพิสูจน์เองว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นอย่างไร ว่าผมยึดติดกับอำนาจหรือเปล่า"

"ผมอยากจะเรียนให้ทราบนิดหนึ่งว่า การทำพรรคการเมืองใหม่มันไม่ได้ต่างจากการที่เราเริ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเลยแม้แต่นิดเดียว ย้อนหลังไปดูปลายปี 2548 ผมออกมาโดดเดี่ยว สู้ แล้วประมาณต้นปี 2549 เรารวมตัวเป็นกลุ่มพันธมิตรปี 2549 สาหัสสากรรจ์ ต้นปี 2549 เรายังไม่มีมวลชน คนที่มามาด้วยความสงสัยอยากรู้อยากเห็น มีบางส่วนที่ไม่ชอบคุณทักษิณก็มาร่วมด้วย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปได้หล่อหลอมคนต่างๆ เหล่านี้ แม้กระทั่งวันที่ 19 ก.ย. จบลงไปแล้ว หลายคนก็คิดว่าพันธมิตรน่าจะสลายตัวได้แล้ว ทุกคนมองว่าอ่อนกำลังลงแล้ว นั่นคือการอ่านเกมที่ผิดพลาด แม้แต่คุณเฉลิมก็อ่านเกมผิดพลาด คุณเฉลิมให้สัมภาษณ์ตลอดเวลาว่าไม่มีแล้ว มีคนไม่กี่คน แต่พอเขาเริ่มคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญ มันเกิดพลังมวลชนมาจากไหนไม่รู้ 193 วันมันเป็นจุดหล่อหลอมที่ทำให้ทุกคนเริ่มเข้าใจแล้วว่าคำว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรที่เป็นรูปธรรม แต่มันเป็นจิตวิญญาณอยู่ในจิตใจ เหมือนความดีความชั่ว เหมือนกับศีลธรรม เหมือนเราเห็นว่าอย่าไปโขมยของนะเพราะมันผิด จิตเราบอกว่ามันผิด เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้การสร้างพันธมิตร 3 ปีแรกยากมาก แต่ว่าในที่สุดแล้วคุณก็เห็นว่า 4 ปีเต็มๆ เราสร้างจากฐานเรา จากฐานความอยากรู้อยากเห็นมาเป็นฐานของคนที่เห็นด้วย และก็เริ่มมีส่วนที่คนเห็นด้วยอย่างมากมาย มีบางส่วนที่เห็นด้วยที่นักการเมืองประมาท”

“พันธมิตรมีอยู่ 3 กลุ่มนะ กลุ่มแรกคือกลุ่มฮาร์ดคอร์ ไปไหนไปด้วย จะการชุมนุมที่ไหนเห็นหน้ากลุ่มนี้ก่อน กลุ่มคนพวกนี้มีประมาณไม่เกินหมื่น อีกกลุ่มคือประเภทที่เรียกว่าเมื่อมีวิกฤติก็เข้ามาร่วม พวกนี้จะโผล่มาจากไหนไม่รู้ มาจากใต้บ้างมาจากอีสานบ้าง มาจากจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ชลบุรีบ้าง ร่วมด้วยช่วยกัน กลุ่มพวกนี้ยังแฝงด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มซึ่งไม่ออกมาช่วยเต็มๆ แต่ช่วยอยู่ในพื้นที่ เช่น เต็มแล้วออกๆ เอ้าเฮียฮั้วจัดรถให้แล้ว 20 คัน พวกนี้จะอยู่ตามจังหวัดต่างๆ คนพวกนี้จะเป็นที่รู้กันว่าเป็นพวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสุดท้ายนี่น่ากลัวมากที่นักการเมืองและพลังของภาคการเมืองเก่าประมาทและไม่รู้ คือกลุ่มที่ผมเรียกว่ากลุ่มอีแอบ อีแอบคือเห็นด้วยกับพันธมิตร รักพันธมิตรแต่ไม่กล้าแสดงตัวเลยแม้แต่นิดเดียว แค่ใส่เสื้อเหลืองยังไม่กล้าใส่เลย คนพวกนี้เยอะมากมายมหาศาล ผมเจอคนพวกนี้มาก คนที่เดินเข้ามาแล้วจับมือผมและก็บอกว่าผมเป็นพวกคุณนะ แต่แสดงตัวไม่ได้ เพราะว่าหนึ่งบริษัทผม สองผมเป็นข้าราชการ สามผมเป็นครู ผมเป็นโน่นเป็นนี่ คนพวกนี้แสดงออกตอนไหน ตอนที่ไม่มีใครไปดูเขา ในคูหาการเลือกตั้ง นี่คือพลังเงียบที่แท้จริง พรรคการเมืองทั้งหลายไม่เคยคิดถึงปริมาณคนพวกนี้ เยอะแยะมหาศาล และคนพวกนี้จะเป็นฐานที่สำคัญ ฉะนั้นผมมามองว่าการสร้างพรรคการเมืองใหม่นั้นไม่ได้ต่างจากการเริ่มพันธมิตร ต่างกันตรงที่ว่าตอนนั้นเราเริ่มจากฐานศูนย์ วันนี้เราเริ่มจากฐานที่มีอยู่แล้ว ปัญหาใหญ่ที่สุดคือจะดำรงปกป้องต่อสู้และก็ยืนหยัดในอุดมการณ์ เสียสละ ซื่อสัตย์ กล้าหาญ ทำงานเป็น ได้ดีแค่ไหน ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย ถ้าผมพูดไปก็จะหาว่าผมคุยโวโอ้อวด สำหรับผมแล้วผมมั่นใจในตัวผม แต่ผมมีหน้าที่ที่จะสร้างบ้านเมืองให้แข็งแรง ให้คนในบ้านนี้มีอุดมการณ์เดียวกันหมด และก็จะต้องมีวินัย กติกาที่ชัดเจน พูดง่ายๆ ว่าจะต้องต่อสู้กับกิเลส จริงๆ แล้วพรรคการเมืองใหม่นั้นถ้าดูให้ดีๆ ก็คือพรรคธรรมาธิปไตยนั่นเอง เอาธรรมนำหน้า ใครผิดธรรมเราก็ต้องจัดการ ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมั่นใจว่าหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ต้องไม่ผิดธรรม"


ตอนแรกเหมือนยังไม่อยากจะรับ ทำไมเปลี่ยนใจ

"มันเป็นอย่างนี้ เมื่อชุมนุมเสร็จแล้วผมก็มีความรู้สึกว่าหายเหนื่อย และเตรียมรับคดีความต่างๆ เดินหน้าสู้ในทางปัญญา ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นอยู่เรื่องเดียวคือถ้าเราให้ปัญญากับมวลชน ให้ปัญญากับสังคมแล้วสังคมจะไปรอด ปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่าเกิดขึ้นจากสื่อมวลชน สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ คนพวกนี้แทนที่จะให้ปัญญาประชาชนกลับมอมเมาประชาชน มอมเมาไปในทางที่ผิด สองมอมเมาไปในข้อมูลที่ผิด ถ้าเราแก้ไขตรงนี้ได้มันก็จะไปได้ดี"

"จู่ๆ สุริยะใสก็มาบอกว่า พี่ พรรคพวกอยากให้ตั้งพรรคการเมือง ผมก็ปฏิเสธ บอกไม่เอา แกจะตั้งก็ตั้ง เขาบอกไม่ได้พี่ ถ้ามีพรรคการเมืองพี่ต้องร่วมด้วย ถ้าพี่ไม่ร่วมไม่มีความหมาย บอกเฮ้ยพี่ก็ร่วม ASTV พี่ก็ช่วยอยู่แล้ว เขาบอกไม่ได้ตัวพี่ต้องลงมาด้วย ผมก็บอกเอาอย่างนี้ดีกว่าถ้าคิดจะตั้งพรรค ใสไปหาหัวหน้าพันธมิตรมาคนหนึ่ง ที่เมื่อเอ่ยชื่อมาภาพสะท้อนว่าเป็นคนกล้าหาญและมีความซื่อสัตย์ ผมก็บอกใสว่าพี่นึกถึงพล.ต.จำลอง ศรีเมือง พล.ต.จำลองท่านก็ปฏิเสธ ผมก็ไปคุยกับท่าน ผมคุยกับท่านจากการที่ท่านปฏิเสธกลายเป็นท่านกลางๆ ขอดูหน่อย พอมาคุยกันมาหมู่แกนนำทั้ง 5 คน พวกเรายกเว้นผม มีพี่พิภพ พี่สมศักดิ์ พี่ลอง และ อ.สมเกียรติ ก็บอกเฮ้ยเรื่องนี้เราตัดสินใจเองไม่ได้หรอก โยนให้ประชาชนตัดสินใจดีกว่าว่าจะตั้งหรือไม่ตั้ง"

"แต่ว่าก่อนที่จะมีตรงนี้มันมีคั่นกลาง คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกอยากตั้งพรรคการเมือง และแกก็ไม่อยากให้พวกเรา... เพราะแกพูดตลอดเวลาว่าพันธมิตรไม่ควรตั้งพรรคการเมือง ควรจะให้คนอื่นตั้งแล้วให้ใช้ฐานเสียงพันธมิตรสนับสนุน เราก็ไม่ได้คิดอะไรนะ เราก็เฉยๆ ต่อความคิดอันนี้ เพราะถ้าคุณไชยวัฒน์จะตั้งหรือใครจะตั้งก็ตาม ที่เป็นหน่วยแตกย่อยสาขาพันธมิตรก็ตั้งไปสิ แต่จะให้ทางผมไปผลักดัน ผมทำไม่ได้ เพราะหนึ่งผมไม่รู้ว่าวัตถุเจตนา และใครบ้างที่ไปตั้งพรรคอันนั้น แรกทีแกก็ไปเอาพรรคประชาภิวัตน์ของพล.ต.มนูญกฤต แล้วปรากฏว่าวันนี้เป็นอย่างไร พล.ต.มนูญกฤตกำลังจะไปพรรคเพื่อไทย"

"ก็คือต้องการมาใช้ฐานเสียงพันธมิตร ในที่ประชุมแกนนำก็บอกว่าไม่ได้หรอก ถ้าจะตั้งพรรคต้องให้ประชาชนตัดสิน เขาก็เลยมีการชุมนุมใหญ่ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกว่าจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรค ข้อผิดพลาดมีอยู่ว่า อ.ปานเทพดันไปทำแบบสอบถาม 50,000 ชุด มีหน้าหนึ่งถามว่าถ้าตั้งพรรคการเมืองใครควรจะเป็นหัวหน้าพรรค ก็มีทั้งชื่อผม ชื่อพี่ลอง พี่พิภพ ปรากฏเขาติ๊กชื่อผมมา 70% พอจะให้ผมปังแล้ว พันธมิตรระดับแกนนำทุกคนก็มาพูดกับผม ผมก็ยังอ้ำอึ้งบอกไม่ได้หรอก ยังไม่เอา ไม่แน่ใจ จนกระทั่งวินาทีสุดท้าย ก็มีเสียงเข้ามาแล้วก็บอกว่าถ้าผมไม่เข้าพรรคตั้งไม่ได้ และตั้งไม่ได้นี่ที่สำคัญคือประชาชนด่า ประชาชนเขาบอกก็ไหนคุณบอกจะทำตามประชาชนไง คือของเราไม่ได้เอาประชาชนมาอ้าง แต่ประชาชนจะยืนหยัดเอาเรา เพราะเรามีที่มาที่ไปของทุกอย่าง เราไม่ได้ซี้ซั้วทำ เหมือนเวลาเราจะเคลื่อนพลไปที่ไหนจะถามประชาชน เราจะสู้เรื่องนี้ เอาไม่เอา ถ้าไม่เอาก็บอกมา ถ้าเอาเราก็ไป จนในที่สุดแล้วผมมีความรู้สึกว่าผมปฏิเสธเขาไม่ได้"

"ที่ผมปฏิเสธไม่ได้ก็เพราะศรัทธาที่สร้างมามันไม่ได้สร้างกันง่ายๆ มันสร้างมาเพราะแกนนำพันธมิตรเป็นคนที่คำไหนคำนั้น พูดจริงทำจริง ถ้าไปบอกเขาว่าให้เลือกว่าจะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรค แล้วเขาบอกให้ตั้งพรรค เขาบอกว่าเขาจะเอาคนนี้ และเราบอกว่าผมไม่เอา ผมถอย ผมถอยนี่โอกาสที่ความรู้สึกของพันธมิตรที่เสียใจและสูญเสียศรัทธา ถึงแม้จะไม่ทั้งหมด เพียงแค่ส่วนเดียวหรือสองส่วนผมก็ถือว่าเยอะแล้ว อีกประการหนึ่งเราก็มองว่าวันข้างหน้าถ้ามีเรื่องมีราวแล้วเราต้องมานำเขา เขาจะฟังเราไหม ก็เลยจำเป็นต้องรับ ผมพูดตลอดเวลาว่าผมไม่อยากเป็นแต่ต้องเป็น นี่คือที่มาคำพูดผม ไม่อยากเป็นแต่ต้องเป็น แต่เมื่อมาคิดลึกๆ แล้ว เมื่อเราคิดว่าพรรคการเมืองคือเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มันก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังคุมการเมืองใหม่อยู่ ถ้าวันใดข้างหน้าพรรคการเมืองใหม่ จะเป็นที่หัวหน้าพรรคหรือจะเป็นที่ใครก็ตาม ทำแล้วมันทำให้พรรคการเมืองใหม่ไม่มีความหมาย ผมเชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยล้มพรรคการเมืองใหม่แน่ การล้มก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องสนับสนุนเลย จบ พรรคการเมืองใหม่ก็ไปไม่รอด"

"เพราะฉะนั้นความคิดที่ว่าพรรคการเมืองใหม่คือส่วนหัวของพันธมิตรนั้นผิด พันธมิตรต่างหากที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองใหม่ เพราะเราต้องพึ่งพาพันธมิตร และอุดมการณ์เหมือนกัน อุดมการณ์พันธมิตรทุกคนที่มาร่วมชุมนุมกันไม่มีใครไม่เสียสละ คนใต้หลายคนปิดบ้านปิดช่อง น้ำท่วมก็ไม่กลับบ้าน ตกงานก็ไม่สนใจ เจ้าของร้านเสริมสวยที่ชุมพรปิดร้านเลยแล้วมาเป็นการ์ด หมอบางคนมาทำความสะอาดกวาดขยะ นี่คือการเสียสละ และพวกนี้ซื่อสัตย์ไหม ก่อนหน้าเขาจะมาเขาอาจจะเบี้ยวแชร์ เขาอาจจะโกงเงินคน แต่เมื่อเขามาร่วมหน้าเวทีและร่วมชูธง จิตใจเขาซื่อสัตย์แล้ว เขาซื่อสัตย์ต่อชาติบ้านเมือง และเขากล้าหาญไหมไม่ต้องถามเลย น้องโบว์กล้าหาญไหมที่ตายไป ทุกคนที่ตายไป

ขนาดวันที่ 7 ที่หอประชุมใหญ่ ถามว่าถ้าต้องออกมาชุมนุมคัดค้านแก้รัฐธรรมนูญเอาไม่เอา ทุกคนตะโกนลั่นว่าเอา ถามว่าทำงานเป็นไหม 193 วันที่ชุมนุมถ้าคุณทำงานไม่เป็นคุณเจ๊งไปแล้ว ไหนจะต้องบริหารความขัดแย้ง ไหนต้องบริหารเรื่องยุทธศาสตร์ บริหารกำลังทรัพย์ จิตวิญญาณตรงนี้มันถ่ายทอดมายังพรรคการเมืองใหม่หมดแล้ว พรรคการเมืองใหม่ก็ต้องเสียสละเหมือนกับพันธมิตรเสียสละเข้ามาชุมนุม"

"นักการเมืองที่เข้ามาร่วมพรรคการเมืองใหม่ต้องรู้ว่าการเมืองใหม่คือการเสียสละอย่างแท้จริง เสียสละตัวเองเข้ามา ไม่ใช่เข้ามาแล้วเพื่อกอบโกย อันนี้ชัดเจน สองต้องซื่อสัตย์ ซื่อสัตย์นี่สำคัญมากเพราะว่าชาติบ้านเมืองทุกวันนี้มันไปไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปัญหาการจาบจ้วงสถาบันเพียงอย่างเดียว เป็นปัญหาของความซื่อสัตย์ การคอรัปชั่นปีหนึ่งเป็นแสนๆ ล้าน โครงการแต่ละโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการ NGV โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการสนามบินใหม่ โครงการถนนปลอดฝุ่น นี่คือเงินภาษีประชาชนทั้งนั้น และมันผ่องไปเป็นภาระประชาชนทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น นักศึกษาประชาชนต้องใช้รถไฟฟ้าราคาแพง สนามบินต้องคิดค่าบริการแพงขึ้น ทุกอย่างต้องแพงขึ้นเหตุเพราะนักการเมืองเข้าไปกอบโกย และบางคนมาอ้างว่าจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วตั้งหน้าตั้งตากอบโกย เขาไปมองประเด็นว่าความผิดพลาดใหญ่ของคุณทักษิณก็คือไปจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณทักษิณไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นถ้าพรรคการเมืองพรรคใดก็ตามประกาศว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แตะต้องไม่ได้ จงรักภักดี ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ดังนั้นเขาก็ตั้งหน้าตั้งตาโกงได้ แต่เขาหารู้ไม่ว่าการโกงแบบนี้คือการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระยะยาว เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์จึงเป็นหัวใจที่สำคัญมาก"

"กล้าที่จะเปลี่ยน กล้าไหมล่ะที่จะออกกฎหมายในเรื่องของการค้าปลีกให้มันชัดเจนเลย กล้าไหมที่จะปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ปตท. เพื่อให้รัฐบาลในที่สุดแล้วเป็นเจ้าของ กล้าไหมที่จะไปบังคับให้อุตสาหกรรมพลังงานลดค่าการ
กลั่นให้น้อยลง กล้าไหมที่จะบอกว่าเราต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ไปปะทะกับปุ๋ยเคมีซึ่งนายทุนเป็นเจ้าของ กล้าไหมที่จะบอกว่าต่าบริการโทรคมนาคมต้องลง กล้าไหมที่จะต้องเพิ่มภาษีบันเทิง เพิ่มภาษีสินค้ามอมเมาประชาชน กล้าหรือเปล่าที่จะเพิ่มภาษีเหล้าขาวเพื่อให้คนกินเหล้าน้อยลง พวกนี้ต้องใช้ความกล้าหาญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าเราทำงานเป็น เราเสียสละ เราซื่อสัตย์ เรากล้าหาญ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เราคิดเองนะ แต่เป็นจิตวิญญาณที่เราต้องรับต่อเนื่องมา และเราต้องรับตรงนี้เอาไว้ นี่คืออุดมการณ์พรรค"

"หลายคนบอกว่าเฮ้ยพรรคคุณใช้นโยบายทฤษฎีใคร ไม่มีทฤษฎี เราไม่มีมาร์กซิสม์ เราไม่มีเหมาอิสม์ เราไม่มีซ้ายจัดเราไม่มีซ้ายอกหัก เรามีอยู่อย่างเดียว ส่วนรวมได้ ส่วนรวมได้จริงๆ ท่านจิรายุ อิศรากูร ณ อยุธยา ท่านพูดว่าพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้สร้างความสมดุล อันนี้เราเห็นด้วยและสิ่งที่เราพยายามจะทำคือสร้างความสมดุล เราเรียนรู้มากจากการต่อสู้ 193 วัน สิ่งที่เราเรียนรู้มากที่สุดคือการมีภราดรภาพ เมืองไทยไม่เคยมีภราดรภาพเลย จนกระทั่งมีการชุมนุม วงหนึ่งมีไฮโซ หม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ ถือตะกร้าปิกนิคมา เปิดออกมามีปลาแซลมอน มีเนยแข็งฝรั่ง มีไวน์ฝรั่งเศส ติดกันร่วมวงกันเลยพี่น้องจากอีสานนั่งกินแจ่วกินปลาร้า กินส้มตำ และ 2 ฝ่ายนั่งคุยกัน คนอีสานคนอุดรนอนที่เดียวกับคนใต้ ยะลา ปัตตานี และรักกัน ผมไม่เห็นความขัดแย้ง ก็เลยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการฆ่ากันที่ภาคใต้ ภราดรภาพมันเกิดขึ้นแล้ว แสดงว่าเมืองไทยจริงๆ แล้วสร้างภราดรภาพได้ ดังนั้นใครล่ะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดภราดรภาพตรงนี้ นี่คือสันติสุขสันติภาพที่แท้จริงที่เกิดขึ้น เหมือนกับเราบอกว่าสิทธิเท่าเทียมกัน รัฐบาลทุกรัฐบาลพูดแต่ปาก แต่รัฐบาลให้สิทธิคนมีเงินมากกว่าสิทธินายทุนเล็ก ถ้าผมพูด ถ้าพรรคการเมืองใหม่จะบอกเลยว่าสิทธิการทำมาหากินต้องเท่ากัน ทุนใหญ่กับทุนเล็กรังแกกันไม่ได้ เหมือนกับสิทธิของการทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องเท่ากัน ไม่ใช่ไทยรัฐมีสิทธิมากกว่าไทยโพสต์หรือมากกว่าผู้จัดการ หนังสือพิมพ์เล็กหนังสือพิมพ์ใหญ่มีภราดรภาพเท่าเทียมกันหมด ตรงนี้มีความหมายลึกซึ้ง ถ้าเราเชื่อตรงนี้เราต้อง make sure ว่าทุนใหญ่ไม่รังแกทุนเล็ก ยกตัวอย่างง่ายๆ เทสโกโลตัสต้องไม่รังแกโชห่วย เราก็ค่อยไปหาวิธีการไม่ให้เขารังแกกัน แต่ว่าเขาอยู่ได้ด้วยกันทั้งคู่ โชห่วยก็เจริญเติบ
โตต่อไปได้ ทุนใหญ่ก็อยู่ได้ เทสโกโลตัสอาจจะไม่อยู่ในเมืองอาจจะต้องมาอยู่นอกเมือง เทสโกโลตัสไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับให้เจ้าของที่เขาทำสินค้าเขาขายดี ส่งเข้าไปขายในเทสโก จนวันหนึ่งเทสโกบอกว่าต่อไปคุณส่งมาขายได้แต่ต้องใช้ยี่ห้อเทสโกโลตัส อย่างนี้เป็นการรังแกทุนเล็ก คนที่ทำสินค้าเล็กๆ ก็จะเป็นทาสเทสโกไปตลอดชีวิต ซึ่งตรงนี้พรรคการเมืองใหม่ไม่ยอม หรืออีกนัยหนึ่งเรากำลังจะบอกทุนต่างๆ ที่เคยชินกับการกดขี่ขูดรีดเอากำไรจากผู้ที่ส่งของซัพพลายเออร์ว่า ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องกำไรน้อยลงมานะ คืนกำไรให้ประชาชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นนี่คือหลักการของพรรคการเมืองใหม่"


สู้สองแนวทาง

พันธมิตรยังอยู่ แล้วจะแยกกับพรรคการเมืองใหม่อย่างไร สมมติจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ พันธมิตรจะออกมาเดินขบวนหรือว่าพรรคการเมืองใหม่ออกมาคัดค้าน
"เราต้องเข้าไปร่วมด้วย เราก็จะเข้าคัดต้านในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง เรากับพันธมิตรนี่เนื้อเดียวกันนะ ยืนยันเลยไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะเราเกิดจากเขา เมื่อเราเกิดจากเขาแล้วฉันทามติเขาเป็นอย่างไรเราเล่นด้วย เราจะไม่มีการทำอะไรก็ตามที่ไปขัดแย้งต่อปรัชญาและวิธีการแนวความคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะว่าเราเชื่อมั่นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเขาเป็นพลังแห่งศีลธรรม พันธมิตรจะไม่มีวันที่เคลื่อนไหวและแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้ผมไม่ติดคุก ถ้าวันหนึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่าผมติดคุก พันธมิตรจะไม่มีวันเคลื่อนไหวแก้กฎหมายนี้ นี่ยกตัวอย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พันธมิตรทำเป็นสิ่งซึ่งพลังศีลธรรมต้องทำ ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง เมื่อยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องอย่าว่าแต่พันธมิตรเลย ถ้ากลุ่มเสื้อแดงยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้องในศีลธรรมพรรคการเมืองใหม่ก็ร่วมด้วย"


จะไม่มีแยกแยะระหว่างความเป็นพันธมิตรกับความเป็นพรรคการเมืองหรือ

"มันแยกไม่ได้ จะแยกได้อย่างไร สมมติว่าเรามี ส.ส.เข้าไปในสภา เราก็ทำหน้าที่ของ ส.ส. สมมติเราเสียงน้อยกว่าแต่เราเห็นว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลหรือคนที่มีเสียงมากกว่ากำลังทำผิด พันธมิตรเขาสามารถที่จะตัดสินได้ ถ้าเขาตัดสินปังเขาเห็นว่าประเด็นอันนี้ไม่ใช่ เราสามารถเข้าร่วมได้ เราร่วมทั้งสภาและนอกสภา"

"ถ้าคุณอยู่ในวงการเมืองมานานพอสมควรจะจำได้ว่าคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ โพกหัวและพาชาวใต้มาเย้วๆ อยู่หน้าทำเนียบ มี-เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นถามว่าทำไมวันนั้นคุณสุเทพไม่ไปสู้ในสภา ทำไมเอาประชาชนชาวสุราษฎร์มา หรือใครก็ตามในพรรคเพื่อไทยขึ้นไปบนเวทีเสื้อแดง ผมเห็นมีตลอดเลย ไม่ว่าจะเป็นคุณยิ่งลักษณ์ เจ๊แดง ไม่ว่าใครก็ตาม ทำไมคุณทำล่ะ แต่คุณบรรหารไม่เคยทำเพราะคุณบรรหารไม่เคยมีมวลชน คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไม่เคยทำเพราะคุณสุวัจน์ไม่มีมวลชน มีแต่หัวคะแนน"

"ฉะนั้นผมมองว่าการเมืองภาคประชาชนใหญ่กว่าการเมืองในสภา เพราะสภาไม่เคยมองเห็นประชาชนอยู่ในสายตามานานแล้ว เหตุผลก็เพราะสภามองเห็นประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย 4 วินาทีเท่านั้น เขาซื้อ
เสียงมา 500 บาท เอาให้หัวคะแนนพากลุ่มมา 100 คน 500 บาทและบอกล่วงหน้าให้กาเบอร์ 4 ประชาชนสูญเสียสิทธิตั้งแต่ยอมรับเงิน 500 บาทแล้ว ถึงแม้ไม่รับ 500บาท ประชาชนไปลงคะแนนเสียงด้วยความซื่อใสบริสุทธิ์ พอลงเบอร์ 4 ปั๊บคุณนับหนึ่งถึงสี่ 4 วินาที สิทธิคุณหมดแล้ว เพราะ ส.ส.เอาสิทธิตรงนี้เข้าไปและบอกว่าผมมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกผมเข้ามาเพราะฉะนั้นผมทำอะไรก็ได้ นั่นคือวิวาทะทะเลาะกันมาตลอดว่าคุณมาจากการเลือกตั้งจริงแต่ว่ามติของประชาชน สิ่งที่คุณทำให้ประชาชนเดือดร้อนคุณไม่เคยสนใจ เหมือนอย่างมาบตาพุด ทุกคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลโวยวาย การลงทุนเสียหาย คิดถึงทุนแต่ไม่ได้คิดถึงประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ได้นึกถึงสิ่งแวดล้อมที่จะอยู่กับมาบตาพุดไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ถามว่าระหว่างทุนกับประชาชนคุณจะเลือกตรงไหน นี่คือข้อท้าทาย ฉะนั้นผมคิดว่าการเมืองใหม่มีข้อดีอย่าง มันจะเริ่มทำให้กระบวนทัศน์ของนักการเมืองเก่าบางคนเริ่มเปลี่ยนไปบ้าง ถ้ามองในแง่ดีนะ หรือไม่ ถ้ามองในแง่ร้ายคือพวกนี้จะตกขอบไปเลย และพวกนี้จะกลายเป็นขยะทางประวัติศาสตร์ ที่จะไม่มีใครพูดถึงอีกต่อไป"


นักรัฐศาสตร์มองว่าการเคลื่อนไหวไล่ระบอบทักษิณของพันธมิตร เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ extreme พอมาเป็นพรรคการเมืองต้องปรับตัว จะต้องปรับตัวไหม

"ผมอยากให้นักรัฐศาสตร์ทบทวนตัวเองสักนิด เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคการเมืองใหม่ทำให้นักรัฐศาสตร์ต้องศึกษาใหม่แล้วนะ อย่าไปใช้ทฤษฎีเก่า เพราะมันไม่มีในทฤษฎี เด็กที่เรียนรัฐศาสตร์ทุกคน
ไม่เคยเจออันนี้ เมื่อไม่เคยเจออันนี้อาจารย์รัฐศาสตร์ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ แต่มานั่งวิเคราะห์วิจารณ์จากภูมิปัญญาตัวเอง จากการอ่านหนังสือ ถ้าเรามองย้อนหลังดีๆ เรามองกันอย่างเป็นธรรม ประเด็นไหนบ้างที่พันธมิตรสู้แล้วเป็นประเด็นที่ผิด เราไล่ระบอบทักษิณเพราะอะไร เพราะระบอบทักษิณทำอะไรไว้บ้าง และทำไมเราไม่ไปไล่ทางสภา เพราะระบอบทักษิณใช้เงินปูทางสร้างเผด็จการในสภา แก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ ล่าสุดที่พิสูจน์ชัดของระบอบทักษิณคืออะไรคือการแก้กฎหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เพราะฉะนั้นสิ่งที่พันธมิตรสู้ไม่ใช่จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาสู้ ทำไมเราต้องลุกขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 ก็เพราะว่ารัฐบาลชุดคุณสมชายคุณสมัครต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่ออะไร เพียงเพื่อให้คุณทักษิณพ้นผิด ถ้านักรัฐศาสตร์เข้าใจตรงนี้ว่านี่คือการเมืองภาคประชาชน เพราะรัฐสภาเขาไม่สามารถพึ่งได้ เพราะรัฐสภาถูกผูกขาดด้วยเงิน ภาคประชาชนมีอยู่ทางเดียวก็คือต้องประท้วงตามสิทธิที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ สิทธิที่ตัวเองมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ มันดู extreme ตรงไหน มันดู extreme ตรงที่เมื่อชุมนุมแล้วชี้แจงแล้วประท้วงแล้วรัฐสภาก็ยังไม่ฟัง เมื่อรัฐสภาไม่ฟังเราก็บุกเข้าไปที่ทำเนียบ เข้าไปประท้วงให้เห็น เพราะสิ่งที่เราต้องการอยู่อย่างเดียวคือไม่ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ เพียงแค่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ประกาศออกมาว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญจนกว่ามีมติทั่วประเทศไทยยอมให้แก้ เราไม่มีความชอบธรรมจะอยู่แล้ว เราจะถอยทันที แต่กลับไปใช้วิชามารกลับไปใช้ความเจ้าเล่ห์แสนกล พยายามสอดแทรกมาตลอดเวลา ใช้เวลาจังหวะเผลอเข้าไป และถามหน่อยว่าการที่เราไปบุกล้อมรัฐสภา เราไปด้วยอาวุธหรือเปล่า เราไม่มีอาวุธ การป้องกันสามารถจะป้องกันได้ ปิดสภา ในที่สุดก็ไม่ต้องประชุมสภาเสีย หรือเลื่อนไปประชุมที่อื่น ไปประชุมเชียงใหม่พันธมิตรก็ไม่มีปัญญาไปเชียงใหม่หรอก แต่ไม่ทำ ต้องการหาเหตุปราบปราม เพราะฉะนั้นวันที่ 7 ต.ค.ถามว่าใครเริ่ม เราไม่ได้เริ่มเลย การไปสนามบินเพราะอะไร

เพราะคุณสมชายไปประชุมครม.ที่ดอนเมือง เราก็ไปล้อมดอนเมืองเพื่อให้รู้ว่าเราไม่เห็นด้วย คุณสมชายก็หนีจากดอนเมืองไป และทำไมเราไปสุวรรณภูมิเพราะคุณสมชายกำลังจะบินกลับมาจากเปรู มันมีเหตุมีผลของมันทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เราไป"

"ที่ผมเสียใจวันนี้คือนักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาปัญหาอย่างถ่องแท้ เอาทฤษฎีที่ตัวเองเรียนมาและเอาทฤษฎีของรัฐสภาต้องเป็นอย่างนี้นะ ส.ส.ต้องเป็นอย่างนี้ การประท้วงถ้า extreme ไม่ถูกต้อง เขาไม่เคยพิจารณาว่าเรา extreme ตรงไหน ถ้าเขามองว่าการที่เราไปบุกดอนเมือง extreme ก็ต้องมองว่าชาวนาเคยมาล้อมไหม แต่บังเอิญชาวนานั้นไม่มีพลังทางปัญญามากเท่ากับพันธมิตร พันธมิตรแต่ละคนคุณอย่าไปประมาทเขา พูดถึงการศึกษาแล้วหลายๆ คนสูงกว่าพวกเราเยอะ มีทั้งอดีตอธิบดี มีทั้งนายพลมา คนอย่าง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ เป็นคนที่หลอกมาได้ง่ายๆ หรือ คนอย่างพล.อ.ปานเทพ อดีตแม่ทัพภาค 4 หลอกเขามาได้หรือ ไม่มีทาง แต่คนพวกนี้หลอมใจเดียวกันมาเห็นว่าปัญหาของชาติปัญหาตรงนี้ ขออย่างเดียวรัฐบาลฟัง ถ้ารัฐบาลฟังแล้วหาทางออกที่มีเหตุผล เหมือนอย่างการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำไมต้องผ่านวาระ 1 แล้วค่อยทำประชามติ ทำไมไม่ทำประชามติก่อน ทั่วประเทศ ถ้าประชามติออกมาอย่างไรพันธมิตรพร้อมที่จะรับประชามติ แต่ว่าทำไมฝ่ายพรรคเพื่อไทยถึงเปลี่ยนใจยอมแก้ตอนนี้ เพราะว่าคุณทักษิณเป็นคนสั่ง คุณทักษิณขี้เกียจรอ แล้วจะไม่ให้เราสู้ได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ชาติบ้านเมืองเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะผมทะเลาะกับทักษิณ คุณทักษิณกลับมาเป็นมนุษย์ที่มีศีลมีธรรม มีหิริโอตตัปปะ เพียงหยุด คุณทักษิณหยุดคนเดียวทุกอย่างหยุดหมด เพราะถ้าคุณทักษิณหยุดคุณเฉลิมก็หยุด บิ๊กจิ๋วก็หยุด พรรคเพื่อไทยก็หยุด เพราะฉะนั้นถ้าคุณทักษิณ
ไม่หยุดไม่รู้จะทำอย่างไร"


ประเด็นคือจากการเป็นขบวนการเคลื่อนไหวมาเป็นพรรคการเมือง ต้องปรับตัวไหม

"ผมคิดว่าพันธมิตรวันนี้การเคลื่อนไหวของเขา เขาไม่ได้ซี้ซั้วเคลื่อนไหว แม้กระทั่งในการเดินทางไปเขาพระวิหารของคุณวีระ สมความคิด แกนนำพันธมิตรเขาก็ยังมีท่าทีที่นิ่งเฉย เพราะเขามีความรู้สึกว่ามันข้ามขั้นตอนไปนิดหนึ่ง ขั้นตอนที่ถูกต้องแกนนำพันธมิตรเขามีความรู้สึกว่าควรที่จะไปเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยก่อน ว่าปัญหาเขาพระวิหารขอให้แก้ภายใน 7 วัน 14 วัน แต่คุณวีระก็มีจุดยืนของเขา ฉะนั้นคุณจะเห็นได้ว่าพันธมิตรในบางครั้ง คุณวีระเขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นพันธมิตร เขาคิดว่าเขาเป็นเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นเราถือว่าเราเป็นเครือข่ายเดียวกันเราก็ให้การสนับสนุน"

"จะเห็นว่าพันธมิตรไม่ได้ทำอะไรเลย ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล เสื้อแดงออกมาประท้วงมาไล่ประชาธิปัตย์ที่พัทยา พันธมิตรไม่ได้ออกนะ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เราไม่ออกเพราะเราถือว่าเป็นปัญหาระหว่างเสื้อแดงกับรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้ไขไม่ใช่หน้าที่เรา แต่ถ้าอะไรเป็นเรื่องส่วนรวม อะไรเป็นเรื่องหลักการแล้วพันธมิตรจะต้องมีมติ ตรงนี้ต่างหากที่ผมคิดว่าพันธมิตรทำไปตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาว่า extreme หรือไม่ extreme และไม่ได้มีปัญหาว่าเมื่อมีพรรคการเมืองใหม่แล้วพันธมิตรต้องลดบทบาท พันธมิตรเขาพร้อมจะทำทุกเมื่อที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นและคิดว่ามันกระทบกระเทือนเรื่องใหญ่ ขณะเดียวกันพรรคการเมืองใหม่ก็มีหน้าที่ที่จะสร้างปัญญาให้คนเห็นว่าพรรคการเมืองใหม่คือทางออก ทางเลือกที่พรรคการเมืองเก่าไม่สามารถจะให้กับประชาชนได้ ส่วนจะได้เลือกเข้ามามากน้อยแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่งเราไม่สนใจ เราสนใจอย่างเดียวว่า ดอกบัวมันเกิดจากโคลนตมฉันใด พรรคการเมืองใหม่ต้องพยายามทำตัวให้เป็นดอกบัว ให้คนเห็นว่าท่ามกลางน้ำเน่าทั้งหลายนี้มันยังมีน้ำดี มันยังเป็นความหวังของสังคมไทย มันยังเป็นความหวังของคนที่มีอุดมการณ์"


ขบวนการเคลื่อนไหวทุกขบวนการ ไม่ว่าในประวัติศาสตร์หรือในต่างประเทศ ต้องมีกลุ่มประชาชนที่มีศรัทธาแรงกล้า แต่พอกลายเป็นพรรคการเมืองก็ต้องไปหาเสียงกับชาวบ้าน จำเป็นไหมที่ต้องลดระดับความเข้มข้นลง แม้ไม่ถึงขนาดเดินไหว้ชาวบ้าน แต่เข้าหาคนที่เป็นกลางๆ ได้มากขึ้น

"ผมคิดว่าประชาชนที่เป็นกลางคือปัญหาใหญ่ของเรา เราไม่เคยคิดว่าชาติไทยควรจะเป็นชาติที่เป็นกลาง เพราะเรายืนยันตลอดเวลาจนกระทั่งวันนี้และจนกระทั่งผมตาย ว่ากลางไม่มี มีแต่ถูกกับผิด ดีกับชั่ว การแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้พ้นผิดนี่ผมคิดว่าอันนี้ผิด ถ้าผิดแล้วเราจะมากลางระหว่างถูกผิดไม่ได้ ผมยกตัวอย่างนี้มานานแล้ว ข้าวกับขี้ เราเลือกกินข้าวเพราะเราไม่กินขี้ ถ้าคนเป็นกลางก็เอาข้าวผสมขี้สิ แล้วกิน มันไม่มี จะอยู่ถูกๆ ผิดๆ ไม่ได้ จะอยู่ชั่วกับดีร่วมกันไม่ได้ นี่คือปัญหาใหญ่คือปัญญาของสังคมไทย เพราะฉะนั้นประชาชนที่คิดว่าตัวเองเป็นกลางตัวเองกำลังทำผิดอย่างมหันต์ เพราะว่าตัวเองไม่รู้จักว่าถูกคืออะไรผิดคืออะไร ชั่วคืออะไรดีคืออะไร และประชาชนจะรู้ได้อย่างไร ประชาชนต้องมีความรู้ ความรู้นั้นหนึ่งมาจากสื่อ เมื่อสื่อไม่พร้อมจะให้พันธมิตรก็พร้อมจะให้ และจุดยืนพันธมิตรตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันนี้เราไม่เคยเปลี่ยน เราโดนยิงตายไป 10 ศพ พิการไป 10 กว่าคน บาดเจ็บเป็นร้อยๆ คน เราก็ไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนเราเลยแม้แต่นิดเดียว และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราแยกออกจากกันไม่ได้เพราะเราเป็นเครื่องมือเขา และคนที่จะตรวจสอบพรรคการเมืองใหม่คือพันธมิตรนั่นเอง พรรคการเมืองใหม่จะถูกตรวจสอบจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนอย่างเข้มข้นมากกว่าทุกพรรค เพราะเราเป็นลูกของเขา เราเป็นสาขาหนึ่งของเขา เราไม่ได้เป็นเจ้าของเขา อันนี้ต้องเคลียร์กันให้ชัดเจน"


สมมติในอำเภอหนึ่งมีพันธมิตรสักพันคน ก็ยังมีประชาชนทั่วไปอีกเป็นหมื่นคน พรรคการเมืองใหม่จะเอาชนะใจประชาชนทั่วๆไปอย่างไร

"เราไม่ได้หวังว่าเราจะต้องมีกี่เสียง ผมตอบตัวเองตลอดเวลาว่าการเข้ามาสู่การเมืองใหม่นั้นอุปมาอุปไมยเหมือนการเริ่มพันธมิตร ให้เขาเห็นด้วยอุดมการณ์เรา แต่วันนี้อย่างน้อยในหมื่นคนที่ในอำเภอนั้นยังมีพันคนที่เป็นพันธมิตร เราเพียงแต่หวังว่าพันคนนี้จะเป็นหัวคะแนนเราที่จะออกไปขายความคิด ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ใช่ว่าตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้ว เลือกตั้งแล้วจะเป็นรัฐบาลทันที ไม่ใช่ ใช้เวลา อดทน ขอให้พรรคการเมืองใหม่นั้นเป็นทางออกทางการเมืองที่ใสสะอาดแล้วค่อยๆ เจริญเติบโตไปด้วยคุณธรรมศีลธรรม ผมก็พอใจแล้ว ผมเพื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะพอใจด้วย"

พูดได้ไหมว่าไม่คิดจะเป็นนายกฯ ด้วยการได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่ง แต่ต้องการสร้างพรรคการเมืองเพื่อเป็นฐาน

"ถ้าเราได้มากกว่าครึ่งเราต้องเป็นสิ เพราะเราเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาประเทศ แต่เรากำลังพูดว่าเราไม่ได้เข้าไปแล้วหวังที่จะเป็นเลย เรารู้ว่ากระบวนการสำคัญที่สุด คนที่อ้างตัวว่าเป็นกลางคือคนที่เราต้องให้การศึกษา สมมติว่าครั้งนี้เขาเลือกเราเข้ามา ในอำเภอนี้หมื่นคน เราหาได้อีกพันคน เรามี 2,000 คน ฝ่ายตรงกันข้ามซื้อเสียงมา 8,000 คน เขาได้ไปเราไม่ว่า แต่เราทำตัวเราให้เป็นบัวเหนือโคลนเหนือตม อยู่ในสภา ส.ส.ในสภา ตัวแทน 8,000 คนมันไปทำความชั่วทำเลว อีก 8,000 คนจะเริ่มหันมามองเราแล้ว งวดต่อไปเราอาจจะได้เพิ่มอีกพันสองพัน มันใช้เวลา การให้ปัญญาคนต้องใช้ความอดทน และการให้ปัญญาคนเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วมีสิทธิเลือก 2 ทางเดิน ทางเดินหนึ่งคือเป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า เหมือนพระพุทธเจ้า 28 องค์ ที่นิพพานไปแล้วและเก็บนิพพานอยู่กับตัวเอง แต่พระพุทธเจ้าตัดสินใจว่าเมื่อตรัสรู้แล้วจำเป็นต้องเดินทางเผยแพร่ธรรม จะต้องเผชิญกับมาร ต้องอดทนทุกอย่าง หน้าที่ของพรรคการเมืองซึ่งสืบทอดเจตนารมณ์จากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต้องการที่จะเริ่มให้ปัญญาทางการเมืองกับประชาชน ต้องให้ด้วยความอดทน ต้องอดทนต่อการเสียดสี ทนต่อการให้ร้ายป้ายสี ในประวัติศาสตร์โลกไม่เคยมีอธรรมที่ชนะธรรมได้ แต่ว่าธรรมกว่าจะชนะได้ต้องผ่านการเคี่ยวกรำผ่านการทดสอบ"

ปัญหาของพันธมิตรคือการไม่ยอมรับคนที่มีความเห็นต่าง โจมตีคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับการเป็นพรรคการเมือง

"ถ้าอย่างนั้นผมยกตัวอย่างให้แล้วกัน ความเห็นต่างของคุณคือกลุ่มสีขาว กลุ่มสีขาวเป็นกลุ่มที่-โทษนะ-หน้าไหว้หลังหลอก เพราะว่ากลุ่มสีขาวมาโจมตีพันธมิตร แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุการณ์ที่เข้าข่ายเขาโจมตีพันธมิตร กลุ่มสีขาวไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านเลยแม้แต่นิดเดียว กลุ่มสีขาวไม่เคยออกมาแสดงความเห็นใจประชาชนที่ถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม กลุ่มสีขาวไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนกรณีที่เสื้อแดงมาเผาบ้านเผาเมือง นิ่งเงียบเฉย แต่กลุ่มสีขาวจะยื่นเข้ามาในจังหวะเวลาที่จะบอกว่าเฮ้ยต้องเป็นกลางนะ เรารักสันติ กลุ่มสีขาวไม่เคยถามตัวเอง ย้อนกลับไปคำถามเก่าว่าอะไรบ้างที่พันธมิตรสู้มาแล้วมันไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หามาสักข้อหนึ่ง ถ้ากลุ่มสีขาวเห็นว่าสิ่งที่พันธมิตรทำอยู่มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่ไม่เห็นด้วยวิธีการ ก็มาพูดกันว่าไม่เห็นด้วยเรื่องอะไร แต่ไม่ใช่บอกว่าพันธมิตรไม่ฟังความคิดเห็น พันธมิตรฟังตลอดเวลา มีอยู่เยอะ มีอยู่หลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของพันธมิตร ผมเชื่อว่าถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว กลุ่มสีขาวหลังจากเห็นตัวอย่างมาเรื่อยๆ พวกที่เป็นกลางเริ่มมาเข้าข้างเรามากขึ้นๆ เรื่อยๆ แต่ว่าเราต้องอดทน กว่าที่เขาจะเข้าใจเราบางส่วน เราเสียเลือดเสียเนื้อไปมากมาย"






Create Date : 12 ตุลาคม 2552
Last Update : 12 ตุลาคม 2552 18:08:45 น. 0 comments
Counter : 479 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.