อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
8 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
ที่มาของ..ความระแวง

Thursday, 18 June 2009 17:48

มิอาจมองข้ามข้อสงสัยและข้อท้วงติงต่างๆ กับ การผ่าน พ.ร.ก.และพ.ร.บ.กู้เงินแปดแสนล้านบาท ตามยุทธศาสตร์ไทยเข้มแข็ง ของสภาผู้แทนราษฎร...เฉพาะยิ่งข้อท้วงติงใน "ผลประโยชน์แฝง" ทางการเมืองที่มิอาจปฏิเสธเช่นกันว่าสำหรับ "การเมืองไทย" แต่ไหนแต่ไร กับเรื่องเงินๆทองๆ นั้น ไว้ใจได้ซะทีไหน..

มิอาจมองข้ามความหวาดระแวง ว่า..."ผลประโยชน์แฝง" ที่เป็นเม็ดเงินภาษีอากรของประชาชนเหล่านี้จะมีการนำไปใช้เพื่อ "การเมือง" หรือเพื่อความหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโดยแท้จริง...

ยิ่งการเมืองในยุคที่มีความผันผวน และเพิ่งอยู่ในระยะ "พลิกกลับสลับขั้ว" จากการเมืองภายใต้บังเหียนกุมสภาพของ "กลุ่มทุนใหม่" เป็นขุมข่ายของ "กลุ่มทุนเก่า"...ที่ก็มิอาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า มีการพบร่องรอยของความพยายาม ฉุดรั้งกลับสำหรับกระบวนการบางอย่าง เพื่อประคองรักษาไว้ซึ่ง "อำนาจการเมือง" ที่ได้มาของ "ฝ่ายอำนาจรัฐ" ที่ปัจจุบันมี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำ ภายใต้การชูบทบาทของ "นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"โดยมี "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง...คอยประกบ และประสานประโยชน์กับ "ขั้วอำนาจ" ต่างๆ ที่มารวมกันและปฏิบัติการ "พลิกขั้วเปลี่ยนข้าง"

อันมิอาจปฏิเสธได้ว่า...บริบทแห่งการได้มาซึ่ง "อำนาจรัฐ" ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่สำคัญนอกจาก "เอกลักษณ์" แห่งพรรคประชาธิปัตย์เองแล้ว นั้นมี "ขาหยั่ง" หรือ"ปีกสองข้าง" ที่ทรงพลังจาก "ขั้วอำนาจการเมือง" ในกองทัพ ภายใต้การนำของกลุ่มนายทหารเสือราชินีอย่าง "พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ" รมว.กลาโหม และ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" ผบ.ทบ. และ พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ "เนวิน ชิดชอบ" ที่มีถุงเงินอย่าง "ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" ร่วมด้วยขุมข่ายคอนเนคชั่นทางการเมืองระดับ "เขี้ยวลากดิน" มากมาย...

ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่าง "อำนาจ" ที่เป็นตัวก่อรูปรัฐบาลปัจจุบันดังกล่าว และร่องรอยแห่ง "ความเกรงอกเกรงใจ" จนนำปัจจัยทางการเมืองเข้าไปเป็นเงื่อนไของค์ประกอบในการพิจารณาจัดการกับเรื่องราวของ งบประมาณ หรือการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ของรัฐบาล มิอาจปฏิเสธได้ว่า ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจ และเริ่มรู้สึก "ไม่ไว้ใจ"...ซึ่งหากความรู้สึกเหล่านี้ก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับ "ปรากฎการณ์ในชีวิตจริง" จากร่องรอยความเดือดร้อนของประชาชนจากพิษภัยเศรษฐกิจที่ก่อตัวมาตั้งแต่ปีกลาย กับสภาวะที่รัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้า (เป็นที่มาของการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อนำเงินมาปิดหีบงบประมาณ) อีกทั้งการขาดรายได้จากภาคการส่งออก และ ภาคบริการ (การท่องเที่ยว) ที่เป็น "รายได้หลัก" ของรัฐบาลไทยมาแต่ไหนแต่ไร...

เพราะที่มาแห่งแหล่งรายได้ดังกล่าว นอกจากจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่รุนแรงขยายวงในห้วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมา ไหนจะมาเจอ "หวัด ๒๐๐๙" ซ้ำเข้าอีก ที่ทำเอาผู้ประกอบการหลายรายถึงกับทรุด เพราะหวังว่าการมีรัฐบาลใหม่(เมื่อ ๖ เดือนที่แล้ว) จะทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติหรือดีขึ้น

สิ่งที่ปรากฎติดตามมาจากภาวะแห่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า (ด้านปากท้อง) จาก "ชีวิตจริงตรงหน้า" ดังกล่าว ถือเป็น "เชื้อไฟ" ที่ฝ่ายตรงข้ามอำนาจรัฐ(ฝ่ายเสื้อแดง-ทักษิณ-ฝ่ายค้าน) สามารถ "จุดชนวน" เป็นผลกระทบทางการเมืองได้ไม่ยากนัก...

ยิ่งเมื่อมาปรากฎร่องรอยแห่ง "การต่อรอง"ในผลประโยชน์-อำนาจ ทางการเมือง ของรัฐบาล...รวมไปถึงร่องรอยแห่งการ "วางแผน" ในระยะยาวทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมือง ไม่ว่าจะจาก "ภายใน" หรือ "ภายนอก" ของรัฐบาล ต่อหมากก้าวต่อไป ดังปรากฎ การเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของพรรคการเมืองตัวเลือกใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น พรรคการเมืองใหม่ ของพันธมิตร พรรคมาตุภูมิ ที่มีภาพของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผนวกกับซ้อนทับอยู่ ผนวกกับ "มั่น พัธโนทัย" ที่ฉีกมาจากเพื่อแผ่นดิน และเหล่าส.ส.มุสลิม ๓ จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่นับรวมพรรคการเมืองของ"ขั้วอำนาจที่สาม" ที่มี "ขุมข่าย" อำนาจการเมืองกว้างขวาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ รัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นได้ โดยกลุ่มนี้ ภายใต้การนำของ"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" และ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" ที่มี "กลุ่มทุน" หนุนหลังแน่นปึ๊กพร้อมคอนเนคชั่นมากมาย เช่นกัน

ร่องรอยแห่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้(ในท่วงทำนอง "ต่อรอง" เกทับบลั๊ฟแหลก ทำลายความเชื่อถือ สกัดดาวรุ่งฯลฯ)...เมื่อนำมา "เทียบเคียง" กับภาวะของประเทศชาติ ที่อยู่ในระหว่างมรสุมทางเศรษฐกิจ ปัญหาความมั่นคง ๓ จังหวัดชายแดนใต้ และปัญหาโรคระบาด ทำให้อดไม่ได้เช่นกันที่หลายฝ่ายจะรู้สึกไม่ดีกับ "นักการเมือง" ที่จะยังไงก็หลุดไปพ้นไปจากวงจรการแสวงหา "อำนาจ" และการหาวิธีการ "รักษาอำนาจ"

ยิ่งมาเทียบเคียงกับเรื่องสำคัญ อย่างการพิจารณางบประมาณรายจ่าย ๒๕๕๓ ภายใต้ข่าวหนาหูกับ "ข้อเท็จจริง" การจัดสรรงบประมาณ ที่ยังมองไม่เห็น"โอกาส"ของการฟื้นตัวจากมาตรการ"กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น" (การจ้างแรงงาน) จากการกู้ภายในประเทศและลงทุนกับเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐในการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยให้น้ำหนักเรื่องการ "หารายได้" จากกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ น้อยกว่าการไปอุดหนุนกลุ่มทุนเอกชนที่มีความสัมพันธ์กับคนในรัฐบาลผ่านพรรคร่วมรัฐบาล (ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่ลงไปสู่บริษัทรับเหมาระดับชาติชื่อคุ้นๆ ไม่ว่าจะป็น ชิโนไทย คอมลิงค์ ช.การช่าง ฯลฯและระดับท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีชื่อเครือญาตินักการเมืองรัฐบาลเป็นเจ้าของ )

แล้วยังมุ่งขยายโอกาสในการเติบโตของ "ฝ่ายการเมือง" กันเอง ด้วยการ "เอาใจรากหญ้า" ประชานิยมปูฐานรองรับการเลือกตั้งในอนาคต และเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลที่เอ๊าะแอ๊ะโวยวายต่อรอง...เพื่อประคับประคองสถียรภาพรัฐบาลจนกว่าจะผ่านกระบวนการงบประมาณ นี้ไปก่อน

ปรากฎการณ์แบบนี้ ทำให้หลายคนนึกไปถึง "สมการการเมือง" และวิธีการทางการเมือง ในยุค "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ใช้ "ทุน" เป็นตัว "บังคับทิศทางการเมือง" ผ่านการบริหารจัดการ "นักการเมือง" ในสังกัดหลายร้อยคน โดยไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเอง...จะต่างกันก็แค่ในยุคนี้ "นักการเมือง" ไม่ได้มีการรวมศูนย์อยู่ที่ "ทักษิณ" แต่กระจายไปตามกลุ่มขั้วการเมืองต่างๆ ภายใต้องค์ประกอบที่แตกต่างกัน...

ไม่ควรลืมว่า บทเรียนจากยุคการเมืองที่ผ่านมา ที่ต่างฝ่ายต่าง ยอมรับความจริงกันแล้ว ว่า รายจ่ายทางการเมือง เฉพาะในส่วน ส.ส. นั้นยิ่งเป็นพรรคใหญ่ ก็ยิ่งต้องมีกระสุนดินดำจำนวนมาก ประมาณ ว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ จะต้องมี เงินเดือนซองที่ 2 เป็น เงินสด "เงินนอกระบบ" หมายถึง ไม่ผ่านการคำนวณภาษี จากต้นสังกัดที่เป็นพรรคหรือไม่ก็มุ้ง อยู่แล้วเป็น "รายได้ประจำ" ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่ได้กันเป็นปกติกลายเป็น ประเพณีเฉลี่ยสักเดือนละ 50,000 – 100,000 บาท หรือ 200,000 บาท

ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้รู้กันดีว่า มาจาก "เงินนอกระบบ" ที่จะไม่สามารถ สืบสาวหาที่มา ในระยะแรกมักจะตกเป็นภาระของ นักธุรกิจที่ประสงค์มีตำแหน่งทางการเมือง ที่เดี๋ยวนี้เข้ามาเป็น นักการเมือง เสียเอง และ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ก็เกิดมาจากจุดนี้โดยเริ่มต้นที่พรรคกิจสังคม ยุค "มนตรี พงษ์พานิช" "สมศักดิ์ เทพสุทิน" ขณะที่ พรรคชาติพัฒนา ยุคเดียวกัน (สมัยน้าชาติ) ก็จะพบ ชวรัตน์ ชาญวีรกุล ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ

ไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่อุดมไปด้วยนักธุรกิจ เพียงแต่มีดีทางสังคมเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นที่มาของปัญหา "การคอร์รัปชั่น" เพราะเป็นธรรมดาที่ไม่มีใครควักเงินจากกระเป๋าส่วนตัว แต่จะแสวงหาจาก ส่วนเกินในโครงการต่างๆ ภาครัฐ และก็กลายเป็นที่ยอมรับถือเป็นปกติเป็นประเพณี

ขณะเดียวกัน "ผลประโยชน์" เหล่านี้ ก็ไม่เพียงแต่เป็น "ค่าใช้จ่ายทางการเมือง" แต่ยังกลายเป็น "ผลประโยชน์ส่วนเกิน" ที่เข้ากระเป๋าส่วนตัว และกลายเป็นกำไร กลายเป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมือง เริ่มต้นจาก "นักธุรกิจ" ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการเมืองเหล่านี้ได้ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน เป็น รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย เขาก็จะใช้ตำแหน่งนั้น หาเงินคืน เพื่อทดแทนส่วนที่จ่ายไป โดยการจะหาเงินได้ก็ต้องพึ่ง ข้าราชการประจำ ที่จะจัดการ ตั้งแท่น ชงเรื่องนำเสนอที่สุดใน (ดังปรากฎการณ์ รถเมล์ยูโรทู กรณี "ปิยะพันธ์ จัมปาสุด"ฯลฯ) ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง-ราชการประจำ ของบางยุคล้วน มีราคา และกลายเป็น ประเพณี

และสิ่งเหล่านี้ ก็เคยเป็น "จุดอ่อนสำคัญ" ของ "รัฐบาลทักษิณ" เพราะเมื่อมี ส.ส. ถึงระดับ 300 คนขึ้นไป นั่นหมายถึงเฉพาะ เงินเดือนซองที่ 2 ของส.ส.ของพรรคเบาะๆ ก็ เดือนละ 30 ล้านบาท หรือ ปีละ 360 ล้านบาท ที่เมื่อบวกค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมกันเป็น ค่าใช้จ่ายทางการเมือง ก็จะตกเฉลี่ยอย่างต่ำ เดือนละ 50 ล้านบาท หรือ ปีละ 600 ล้านบาท ซึ่งหากจะผ่องถ่ายให้เป็นภาระของแต่ละ กลุ่ม มุ้ง ก็จะขาดลักษณะ รวมศูนย์ ขาดเอกภาพ แต่หากจะรับมาที่ หัวหน้าพรรค

คำถามที่เคยถามกันตอนนั้นก็คือจะไปเอาเงินนอกระบบปีละ 500–600 ล้านบาท มาจากที่ไหน ถ้าหากไม่ "บริหารจัดการ" กับ "หน้าตัก" แบบ เงินต่อเงิน จากสารพัดโครงการที่ลงทุนจากรัฐบาลผ่านไปยังเอกชนและหมุนเป็นวงจรสร้างเป็นมูลค่าในตลาดการลงทุนฯลฯ

ภาพที่เกิดขึ้นที่ถูกเทียบเคียงซ้อนกับประสบการณ์ในอดีตนี่เองที่เป็น "เงื่อนไข" ของการ "กระเพื่อมไหว" ของพรรคตัวเลือกใหม่ๆ ปัจจุบันในระยะนี้ (กรณีการออกมาของ "พล.อ.ปฐมพงษ์ เกสรสุข" ที่ถล่ม "ขั้วอำนาจใหม่" ของ"พล.อ.ประวิตร และกรณี "พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช" ที่ออกมาแถลงข่าวถูกปล้นเก้าอี้ ผบ.ตร.อย่างมีนัยยะการเมือง) โดยเฉพาะ "พรรคการเมืองใหม่" ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย..ที่ธีมชัดเจนคือไม่เอา "ขั้วทักษิณ" และต้องการการเมืองใหม่ ที่ไม่มี "การต่อรองผลประโยชน์" และ พันธมิตรเองก็เคยเป็น"ตัวช่วย" ให้กับรัฐบาลประชาธิปัตย์หลายครั้งในการโต้คลื่นกระแส "ความชอบธรรมทางการเมือง" ที่พยายาม "แยก" พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง "ภูมิใจไทย" ที่มีเงาร่างของ "เนวิน ชิดชอบ" ออกจาก "พระเอกอภิสิทธิ์"

แต่ถึงกระนั้นหลายครั้ง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ก็ต้องออกมาเป็นผู้ "เก็บงาน" เคลียร์ในหลายๆยกกับรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล

ภาพของ "ผลประโยชน์" และกลเกมการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของแต่ละปีกที่ปัจจุบันอยู่ใน "ฝ่ายเดียวกัน" คืออยู่ฝ่ายอำนาจรัฐ รวมไปถึงการย้อนกลับรำลึกถึง "บทเรียน" ในอดีตที่สะท้อนภาพ "ปัจจุบัน" (ที่สำคัญตัวละครหลายตัว "นายทุน" "นักการเมือง" คนเดิมๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญในรัฐบาล) อาจทำให้ "ประชาชน" ต้องคิดมากขึ้นกับการตัดสินใจเลือกใครมาเป็น "ผู้แทนราษฎร" ในวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง...

โดยเฉพาะใกล้ๆ ไม่กี่วันนี้สำหรับการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สกลนคร และศรีสะเกษ เพียงแค่เลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการยึกยักกัน เราก็ได้เห็นร่องรอย "ความไม่น่าไว้วางใจ" ของนักการเมืองบ้างแล้ว...

โดย..อาทิตย์




Create Date : 08 ตุลาคม 2552
Last Update : 8 ตุลาคม 2552 22:16:28 น. 0 comments
Counter : 508 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.