ตี๋หล่อมีเสน่ห์
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ก็แค่คนๆหนึ่งที่ชอบดูหนัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้อัพเดตข้อมูลอะไรเพิ่มแล้วนะครับ


Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
2 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ตี๋หล่อมีเสน่ห์'s blog to your web]
Links
 

 
ประสบการณ์ดีๆกับภาพยนตร์ทั้ง 30 เรื่องในเทศกาลหนัง World Film Festival 2006 (ตอนที่ 1)

เกริ่นนำกันหน่อยตอนที่ 1

เกี่ยวกับเทศกาลหนังครั้งนี้

เทศกาลหนัง World Film Festival 2006 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 แล้วครับ โดยเริ่มกันตั้งแต่วันพุธที่ 11 จนถึงวันจันทร์ 23 ตุลาคม 2549 และมีภาพยนตร์เข้าร่วมฉายจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งหนังยาว หนังสารคดี และหนังสั้น (แต่รู้สึกจะเป็นหนังจากทางเอเชียและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีหนังจากทางอเมริกาใต้หรือแอฟริกามากนัก) ภาพยนตร์ที่ได้รับเกียรติเข้าฉายเพื่อใช้เปิดเทศกาลครั้งนี้ได้แก่ หนังจากประเทศจีนเรื่อง The Banquet นำแสดงโดยจางซิยี่และเดเนียล วู (ซึ่งจะมีฉายในเทศกาลครั้ง 4 สำหรับบุคคลทั่วไปในช่วงเทศกาลอีก 2 รอบหลังจากนั้น รวมทั้งจะเข้าฉายที่โรงหนังทั่วไปรอบปรกติในอนาคตด้วยครับ) ส่วนภาพยนตร์ที่ได้รับเกียรติเข้าฉายเพื่อปิดเทศกาลครั้งนี้ก็คือ หนังสงครามขาวดำยุคแรกๆจากประเทศรัสเซีย Броненосец Потёмкин หรือ Bronenosets Potyomkin (และอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกัน Battleship Potemkin) เมื่อปี 2468 เทศกาลครั้งนี้ยังนำหนังของผู้กำกับชื่อดังสองท่าน(ซึ่งนักดูหนังต้องรู้จักแน่นอน) ก็คือ Krzysztof Kieslowski และ Bernardo Bertolucci มาร่วมรำลึกถึงผลงานในอดีตกันด้วย

ส่วนราคาตั๋วภาพยนตร์ในเทศกาลนี้ คือ 100 บาทต่อเรื่องเหมือนเดิม (แต่ถ้ามีบัตรนักศึกษา ก็สามารถลดราคาลงไปได้อีกครึ่งนึง เหลือเพียง 50 บาทก็ต่อเรื่องเท่านั้น) หนังดีฉายในโรงแถมราคาเป็นกันเอง หาที่ไหนไม่มีอีกแล้ว อ้อ...และสำหรับใครที่สนใจหนังสือเทศกาลหนัง World Film Festival ครั้งที่ 4 นี้ ทางเจ้าหน้าที่ก็มีหนังสือของเทศกาลหนัง(ที่รวบรวมรายละเอียดหนังทั้งหมด)วางจัดจำหน่ายเหมือนปีที่ผ่านๆมาด้วยนะครับในราคาเล่มละ 50 บาท

ความรู้สึกผมเมื่อเปรียบเทียบกับเทศกาลหนัง World Film Festival ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4

โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าพูดรวมๆ ผมยังประทับใจกับหนังที่เข้าฉายในเทศกาลหนัง World Film Festival ปีก่อน (ครั้งที่ 3) มากกว่าอยู่หน่อย โดยเฉพาะเรื่อง Uzak ปี 2545 จากตุรกี Obchod na korze ปี 2508 จากเช็คโกสโลวาเกีย (เรื่องนี้คว้าออสการ์ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย) และสุดท้าย Le Grand voyage ปี 2548 จากโมร็อคโค ตอนที่ผมเดินออกมาจากโรงหนังของ 3 เรื่องนี้ สมองแทบจะให้คะแนนกันไม่ถูกเลยครับ ติดตาติดใจมาจนถึงทุกวันนี้จริงๆ อีกอย่างก็คือ หนังในเทศกาลครั้งก่อนมีความประทับใจเกิดขึ้นหนึ่งอีกอย่าง นั่นก็คือ เรื่อง Voyna i mir (หรือชื่อภาษาอังกฤษ War and Peace ในปี 2511) เพราะแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวและฉายรอบเดียวในเทศกาลครั้งก่อน...ก็สุดอึ้งและสุดเมื่อยกันไปเลย เมื่อผมต้องนั่งอยู่ในโรงหนังเรื่องนี้เรื่องเดียวตั้งแต่บ่ายหนึ่งโมงยันสามทุ่มตรง (ย้ำ เรื่องเดียวเท่านั้นเพราะหนังยาวมาก Titanic สองเรื่องรวมกัน ยังมิอาจต้านทานได้) แต่หนังมีพักเป็นระยะๆด้วยนะครับ พูดถึงคนดูในโรง ไม่ต้องห่วงเลยครับ เต็มโรงและแถมต้องเพิ่มเก้าอี้เสริมอีกด้วย หนังรัสเซียเรื่องนี้คว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 1968 และถือว่า เป็นหนังลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศรัสเซียอีกด้วย ทุกอย่างเลยเป็นเหตุและผลที่ทำให้ผมต้องดูให้ได้ และหนังก็ไม่ทำให้ผมผิดหวังอะไร พอหนังฉายจบ ได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวกันทีเดียว ยังไงก็ตาม ในปีนี้ Battleship Potemkin ก็ได้ความรู้สึกประทับใจคล้ายๆกันกับ War and Peace เหมือนกันครับ เพียงแต่ต่างกันเรื่องระยะเวลาที่ฉายและความอลังการงานสร้าง

หนังหรือสารคดีบางเรื่องที่อยากดู แต่พลาดไป และปัญหาเล็กๆน้อยๆ

หนังที่พลาดเรื่องแรกก็คือ สารคดีคอนเสิรต์ Glastonbury ที่ตัวผมได้เตรียมตัวไว้กับหนังเรื่องนี้แล้ว (เห็นมีคนมาบอกว่า ดีกัน) แต่เกิดเหตุไม่คาดคิด (ซี่งหนังเทศกาลมักจะเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปรกติแล้ว) ที่พลาดไปก็เพราะ วันที่ 12 ตุลาคมนั้น หนังที่ผมตั้งใจจะดูก่อน คือเรื่อง Mein name ist Eugene โดนเลื่อนออกไป ทางเจ้าหน้าที่เทศกาลให้เหตุผลว่า หนังเด็กเรื่องนี้ ฟิลม์เพิ่งมาถึงสนามบินและอยู่ในช่วงการตรวจสอบที่กรมศุล ทางเจ้าหน้าที่เลยนำสารคดีเรื่อง Grizzly Man มาฉายแทนไปก่อน (ซึ่งหนังสารคดีเรื่องนี้ ผมยังไม่คิดอยากดูในเทศกาลเพราะกำลังจะเข้าฉายในเครือเอเพ็กซ์ในอนาคตอันใกล้) ผมเลยต้องดูสารคดีเรื่องหมีนี้แทนไป และทำให้รายชื่อหนังบางเรื่องที่อยากจะดู...ต้องถูกสลับสับเปลี่ยนกันไปเล็กน้อย เลยทำให้ผมพลาด Glastonbury ไปอย่างน่าเสียดาย และยังมีหนังสารคดีอีก 2 เรื่องที่คิดอยากดูเช่นกันแต่ก็พลาดไปเพราะตารางเวลาที่ฉายไปชนกับช่วงเวลาทำงานของบริษัทผม สองเรื่องนั้นก็คือ Taking Back the Waves และ The Man Thing

ส่วนปัญหาเล็กๆน้อยๆอีกอย่างนึงก็คือ หนังเรื่อง Battleship Potemkin ที่ทีแรกบอกว่า จะมีดนตรีประกอบของ Pet Shop Boys ซึ่งทำขึ้นเพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะเข้ามาเสริมด้วย แต่ปรากฏ ไปๆมาๆ ทางทีมงานเทศกาลไม่สามารถนำดนตรีมาเปิดได้เนื่องจากเกิดความผิดพลาดเรื่องการส่งฟิลม์ต้นฉบับจากเมืองนอกมาเปิดฉาย ชุดที่ต้องการจริงๆ...จะมีบรรยายภาษาอังกฤษเป็นตัวอักษรแทน...คนดูสามารถอ่านตาม (พร้อมเปิดดนตรีร่วมกันได้โดยไม่มีการทับเสียงพากย์ภาษาอังกฤษ) แต่ชุดที่ได้มานี้ มีเสียงบรรยายภาษาอังกฤษปนอยู่ การเปิดดนตรีประกอบจะทำให้ดูหนังไม่รู้เรื่องเลย ทางทีมงานจึงต้องเลือกให้คนดูส่วนใหญ่เข้าใจในตัวหนังเสียก่อน ก็เลยเลือกไม่เปิดดนตรีแทรกเข้ามาเพราะจะมีประกอบอยู่ตลอดเรื่อง แต่ตรงนี้ผมเข้าใจครับ...ไม่ว่ากัน ดูหนังเข้าใจ...ผมก็รู้สึกพอใจแล้วครับ

พูดคุยภาพยนตร์ที่ได้ดูมา

ในเทศกาล World Film Festival 2006 ครั้งที่ 4 นี้ ผมได้ดูภาพยนตร์ 30 เรื่องครับ โดยตอนที่ 1 นี้แบ่งออกเป็น 15 เรื่อง งั้นเรามาดูกันเลยว่า ผมได้ดูเรื่องไหนมาบ้าง หมายเหตุ ข้อความที่ผมเขียนไม่ได้ตีความลึกซึ้งอะไรมากและมีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังด้วยนะครับ...แต่ไม่ใช่จุดหักมุมแรงๆของหนัง (ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็พูดคุยกันได้นะครับ)

***ความหมายของคะแนน***
8.0/10 คะแนน - รู้สึกดีและประทับใจใน "หลายๆอย่าง" ของหนังเรื่องนั้น คุ้มค่าทั้งเงินและเวลา (ดีใจที่ได้ดู...ในความรู้สึกผมนะ) ถ้าคะแนนมากกกว่านั้น...ก็รู้สึกดีและประทับใจขึ้นไปอีก
7.0/10 คะแนน - หนังมี "อะไรบางอย่าง" ที่ทำให้ผมรู้สึกชอบขึ้นมา ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็ชอบขึ้นไปอีก
6.0/10 คะแนน - พอใจระดับนึงครับ ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็พอใจขึ้นไปอีก
5.0/10 คะแนน - รู้สึกเฉยๆ ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็รู้สึกดีขึ้นไปอีกหน่อย
4.0/10 คะแนน - หนังมี "อะไรบางอย่าง" ควรปรับปรุง ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็ปรับปรุงน้อยลงไปอีกหน่อย
3.5/10 คะแนน - หนังมีอะไร "หลายอย่าง" ที่ควรปรับปรุง และถ้ายิ่งคะแนนต่ำลงไปมากๆ...ก็ยิ่งรู้สึกว่า ควรปรับปรุงมากขึ้นไปอีก





Fate Come Noi (Just do it)

★★★★★★★★★★ 6.0/10

โดยรวมของหนังเรื่องนี้มีพล๊อตเรื่องที่สนุกระดับนึง...ประเภทเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายในวันนึงกับวัยรุ่นสองคน และผสมผสานความน่ารักอยู่ด้วย ผมรู้สึกถึงความน่ารักตรงนั้นได้อยู่ตลอด...ซึ่งทำได้ดี เช่น ตอนที่เปชิโนลักลอบเข้าไปในบ้านคนแปลกหน้าเพื่อขโมยเงินแต่เจอยายแก่คนหนึ่งที่หูตาฟ่าฟางและหลงเข้าใจผิดคิดว่า เป็นหลานชายแท้ๆที่หายไป จึงชวนพูดคุยแถมให้เงินด้วย แต่ก็แปลกอยู่หน่อยๆคือ เมื่อดูหนังเรื่องนี้จนจบ กลับมีความรู้สึกว่า ความน่ารักนั้น...มี แต่ความสนุกในความอยากติดตามดู...มันมีขึ้นๆลงๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้นน่าจะมาจากบท...ที่บางครั้งยังดูไม่ประติดประต่อในบางช่วง อย่างเช่น เรื่องราวของยายแก่ที่ปูเรื่องจนผมนึกว่า เธอจะมีบทบาทอยู่ตลอดเรื่อง แต่แล้วเธอก็หายไปเฉยๆ ส่วนมุกตลกในเรื่อง...ก็ยังไม่รู้สึกยิ้มหรือขำในแบบประทับใจ ดูไปเรื่อยๆมากกว่า เช่น เรื่องของเด็กหญิงลิเวียที่ท้าพนันกับแก๊งรีดไถด้วยการโยนโบวล์ หรือจะเป็นเรื่องเล่าจากนิทานก็ตาม...ที่กลายเป็นพรให้เธอชนะการแข่งโยนโบลว์ ทั้งหมดนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า หนังมีโครงเรื่องที่ดีเพียงแต่เดินเรื่องออกมาได้ยังไม่รื่นตลอด...ตามอารมณ์ความน่ารักที่เห็นได้ (ซึ่งเป็นข้อดีของหนังที่เห็นชัดที่สุด) สำหรับเด็กผู้หญิง ลิเวีย ถ้าเล่าเรื่องของตัวเธอได้สนุก...ก็จะดี ผมว่า เธอแสดงใช้ได้เหมือนกัน ส่วนนักแสดงคู่หูทั้งสอง โดยเฉพาะ Mauro Meconi ในเปชิโน...มีนาทีที่น่าจดจำในหนังได้เลย





Grizzly Man

★★★★★★★★★★ 8.0/10

ผมไม่รู้จัก ทีโมธี เทรดเวลล์ (Timothy Treadwell) มาก่อน...จวบจนที่ผมได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ สารคดีชิ้นนี้เริ่มต้นมาได้สนุกสนานดีครับกับการพูดจากึ่งอารมณ์ขันของชายที่รักหมีซึ่งพวกมันอาศัยอยู่แหลมอะลาสก้า แต่เมื่อมีตัวอักษรภาษาอังกฤษขึ้นมาว่า "เกิดปีไหนจนถึงปีไหน" มันอึ้งขึ้นมาเลย เหมือนกับว่า ผมมานั่งดูคนที่เสียชีวิตเล่าความประทับใจในชีวิตการทำงานของเขา ซึ่งทีโมธี เทรดเวลล์ก็สร้างผลงานของเขาให้คนดูได้เห็นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ ความอึ้งแบบสลดยังซ้ำต่อมาเมื่อเขาถูกสัมภาษณ์ผ่านรายการทีวี แล้วพิธีกรดันถามเขาไปว่า "ถ้าวันนึงคุณถูกหมีที่คุณรักขย้ำตายล่ะ" ภาพที่เราเห็นคือหน้าที่ถอดสีของทิโมธี แล้วก็แช่ภาพสีหน้า...ก่อนตัดภาพทิ้งไป มันได้อารมณ์จากสีหน้าเขาอย่างบอกไม่ถูก...กับคำพูดที่เหมือนเป็นลางสังหรณ์ อีกอย่างนึงที่เห็นก็คือ ทิโมธีรักพวกสัตว์ที่อยู่รอบกายเขามากๆ(นอกจากหมี ก็ยังมีสุนัขจิ้งจอก...ซึ่งน่ารัก)จนหลุดคำว่า "ตาย" ออกมาหลายสิบครั้งพร้อมรอยน้ำตาเนื่องจากความรักที่มีต่อพวกมัน ทุกครั้งที่เขาพูดเรื่องความตายออกมา...ทำให้ผมนึกถึง "จุดจบของความรักใครหรืออะไรสักอย่าง"(ที่ลอยไปลอยมาอยู่ในหนังตลอด) มีอยู่สองฉากในหนังที่กล้องจับภาพในลักษณะเหมือนหนัง The Blair Witch Project นั่นก็คือ ตอนที่สุนัขจิ้งจอกขโมยหมวกทีโมธีไปกับตอนที่ทีโมธีหลบเข้าไปอยู่เต้นท์เพราะฝนตกหนัก อ้อ...ฉากที่ทีโมธีจับภาพไปที่หมีสองตัวสู้กัน...ดูมีพลังการต่อสู้จริงๆ (แอบเห็นว่า หมีตัวนึงอุจจาระไหลออกมาระหว่างต่อสู้ด้วย) และหมีในสารคดีเรื่องนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงนะครับว่า ร่างกายน่ากลัวใหญ่โตขนาดไหนเพราะเพียงแค่มันยืนขึ้น...ก็หนาวแล้วกับฉากที่หมีสีน้ำตาลดำตัวหนึ่งยืนเอาลำตัวไปสีกับใบไม้ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง (หรือเหมือนจะหารวงผึ้ง อันนี้ไม่แน่ใจ)

ส่วนอีกฉากที่ทีโมธีจับภาพหมียักษ์ม้วนตัวดำน้ำตีลังกาไปมาเพื่อจับปลาใต้น้ำ...เป็นภาพที่หาดูยากเหมือนกัน (ไม่เคยเห็นหมีจับปลาท่านี้มาก่อนครับ) ช่วงระหว่างที่สารคดีตัดต่อให้เราชมอยู่นั้น...ดูทีโมธีเขามีความสุขกับการถ่ายทำสารคดีชิ้นนี้มาก เขาพูดด้วยความสุขตลอดเวลาแม้จะต้องเหนื่อยกับการแบกกล้องและเดินทางไปมาอยู่ตลอด หนังมีช่วงจุดสยองนิดๆเมื่อแพทย์ที่ชัณสูตรพลิกศพเล่าให้ฟังจากสภาพของศพทีโมธีและเอ็มมี่(แฟนทีโมธี)ที่มาในลักษณะเป็นชิ้นๆว่า เหตุการณ์มันน่าจะเป็นไปในลักษณะไหน โดยที่เอ็มมีน่าจะโดนจับกดศีรษะแหวกกะโหลกก่อน เมื่อทีโมธีเข้าไปช่วยเขาจึงโดนตะปบเข้าที่ต้นขาด้านหลังแล้วตัวก็ล้มลงไป (ทั้งนี้ ยังมีเทปบันทึกเสียงระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย แต่สารคดีชิ้นนี้ไม่ได้เปิดเสียงให้เราได้ยินกัน) นาทีที่ได้ความรู้สึกขึ้นถึงจุดสูงสุดก็มาถึงกับภาพในวีดีโอม้วนสุดท้ายที่ทีโมธีถ่ายตัวเองไว้...เขายังพูดไปพร้อมน้ำตาที่ไหลออกมาอยู่เช่นเคยในบางอารมณ์ และนั่นเป็นภาพสุดท้ายที่เราเห็นเขาตอนยังมีชีวิตอยู่...หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่ชอบในหนังเรื่องนี้อีกอย่างก็คือ ดนตรีประกอบครับ...นุ่มสบายดี ทีมงานที่ตัดต่อสารคดีชิ้นนี้ค่อนข้างสร้างงานชิ้นนี้ออกมาได้ประสิทธิภาพจากภาพในกล้องของทีโมธี รวมทั้งคนที่รู้จักเขาซึ่งมาร่วมพูดคุย คือ มันมีทั้งสุขและเศร้าไปพร้อมๆกัน...กับการเดินเรื่องที่ไม่เร่งรีบอะไร





Kochankowie z Marony (The Lovers of Marona)

★★★★★★★★★★ 8.0/10

มีความรู้สึกว่า หนังจากประเทศโปแลนด์เรื่องนี้มีอะไรบางอย่างที่เข้าใจสื่อออกมาได้แปลกตาและสร้างสรรค์ดี แบบคาดไม่ถึง มันคือ มุมมองความรักท่ามกลางบรรยากาศคนป่วย 3 รูปแบบ (ทางรัก ทางร่างกาย และทางอารมณ์) โอลา เธอป่วยทางรัก ยาเนค เขาป่วยทางกาย และอะเรค เขาป่วยทางอารมณ์ เรื่องราวความรักระหว่างครูสอนนักเรียน โอลา และยาเนค ชายหนุ่มที่เป็นวัณโรคอาการเริ่มเข้าขั้นระยะสุดท้าย ทั้งสองมีความรักให้แก่กัน แต่มันเป็นรักต้องห้ามในหมู่บ้านเล็กๆที่เงียบสงบกลางฤดูหนาวระหว่างคนทั้งสองเพราะผู้คนต่างก็กลัวเชื้อวัณโรค จวบจนวันหนึ่งที่เพื่อนของยาเนคเข้ามาในชีวิตของคนทั้งสอง ความสัมพันธ์ของคนทั้งสามเปลี่ยนไปทันที หนังเล่าเรื่องได้น่าติดตามดีครับ อีกอย่างที่ชอบก็คือ มุมกล้องของหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะช่วงที่ถ่ายภาพอยู่บนเรือหรือบนผิวน้ำ หนังใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้ดี มีอยู่ฉากนึงที่ผมว่า นางเอก Karolina Gruszka ในบทโอลแสดงได้ดี นั่นคือ ตอนที่เธอเอาผ้าเช็ดเท้าถูที่ฝ่าเท้าอะเรคแล้วทำท่าเป่าไปที่ฝ่าเท้าของเขา...เธอแสดงสีหน้าได้รัญจวนเกินห้ามใจจริงๆ

ส่วนพระเอกของเรื่องอย่าง Krzysztof Zawadzki ในบทยาเนคนั้น ผมว่า เขาดูเหมาะกับคนเป็นโรคมากๆด้วยใบหน้าตอบๆ ขาวซีด ตาเหมือนคนไม่สบาย หน้าตาของเขาเหมาะกับคนเป็นโรคพร้อมความซีดเผือก(แถมอาการเพี้ยนๆในที)ได้ดีเลย และที่สำคัญ ถ้าใครจ้างเขาแสดงเป็นท่านเค้าวท์แดร็คคิวล่าละก้อ...เขาเหมาะกับตำแหน่งนี้ไม่เป็นสองรองใครแน่ๆ ฉากหนึ่งในหนังที่สะกดผมได้เต็มที่เพราะมันเหมือนเหตุการณ์ของการตัดสินใจจากคนโรคจิต...เมื่อคนทั้งสามอยู่ในเรือ แล้วอะเร็คก็โยนใบพายออกไปด้วยความโมโหจากบทสนทนา ผมว่า ฉากนี้มันเป็น"รักสามเศร้าในแบบระทึกขวัญและไม่ปรกติดี"
(แอบนึกถึงอารมณ์หนัง Cape Fear ขึ้นมาเฉยเลย ทั้งที่ขนาดเรือก็ไม่ค่อยเหมือนกัน) บทสรุปที่อะเรคเลือกกลับมาหาโอลาอีกครั้งแต่เห็นภาพที่คนทั้งสองเอาใจใส่ดูแลกันจวบจนนาทีสุดท้าย แล้วพอภรรยาตัวจริงพร้อมลูกของยาเนคมาหายาเนค โอลาจึงตัดสินใจวิ่งออกนอกบ้านมาหาอะเร็ค ชอบสิ่งทีอะเร็คตัดสินใจลงไปกับตัวเธอดีครับ ทุกคนต่างก็พบกับบทเรียนในรักครั้งนี้...ซึ่งเป็นบทสรุปที่น่าสนใจ





Ola gia tipota (All for Nothing)

★★★★★★★★★★ 6.5/10

หนังเริ่มต้นมาได้แบบไม่มีจุดสะดุดใจผมเป็นพิเศษมากนักเมื่อชายคนหนึ่งในประเทศกรีซ นิโค ซึ่งมีหน้าที่เป็นคนส่งข้อมูลให้กองตำรวจ...เกี่ยวกับพวกที่ชอบก่อการจราจรในช่วงการจัดงานกีฬาโอลิมปิคกรุงเอเธนส์ที่กำลังงวดเข้ามาทุกที เขาได้แอบเข้าไปพัวพันกับคนกลุ่มดังกล่าวและดันตกหลุมรักกับหญิงคนหนึ่งในกลุ่มเข้า การลักลอบหาข้อมูลจึงเริ่มมีปัญหา (อีกทั้งสมาชิกในกลุ่มพวกต่อต้าน...ก็เริ่มผิดสังเกตในตัวนิโคด้วยเช่นกัน) การเดินเรื่องของหนังเรื่องนี้ทีแรกคล้ายกึ่งสารคดีด้วยซ้ำเพราะมีอารมณ์ที่เหมือนอยู่ทีเดียว...โดยเฉพาะฉากเหตุการณ์ประท้วงจริง แต่เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบ สิ่งที่ผมชอบก็คือ เสน่ห์การสร้างของหนังทุนต่ำเรื่องนี้ที่มีโครงเรื่องเหมือนหนังดังหลายๆเรื่อง...แต่สามารถทำให้ผมติดตามไปได้เรื่อยๆและเริ่มสนุกขึ้นในช่วงกลางเรื่องไปได้จนจบ ทั้งที่ตัวหนังไม่มีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนอะไร แต่อาศัยการเล่าเรื่องที่พอน่าสนใจ...ผมก็เลยรู้สึกสนุกไปกับมันจนจบ (โดยเฉพาะท้ายๆเรื่อง...ตั้งแต่ตอนที่นิโคต้องบอกชื่อกลุ่มให้สายตำรวจ เขาจึงเลือกมองไปที่ซองบุหรี่ นับจากฉากนี้เป็นต้นไป)





Photomateurs (Photograbber)

★★★★★★★★★★ 7.0/10

สิ่งหนึ่งที่ชอบในหนังสั้นเรื่องนี้คือ ความเป็นตลกร้าย(ในด้านมืด)ที่ใส่เข้ามา...ซึ่งฝรั่งเศสมักจะทำเรื่องราวตลกร้าย(ในด้านมืด)ได้ดีอยู่ตลอดมาจากที่ผมสังเกต...นับตั้งแต่หนังของผู้กำกับคู่หู มาร์ค คาโรและฌอน ปิแอร์ เยอเน่ในเรื่อง Delicatessen เมื่อสิบกว่าปีก่อน...ซึ่งทำให้ผมเริ่มรู้สึก มันเป็นอารมณ์ร้ายที่เจาะลึกจิตใจมนุษย์ด้านมืดได้ดี เพียงแต่ในเรื่องนี้มันผสมความเหนือจริงเข้าไปอีกต่อ ถ้าวันนึงคุณเกิดมีกล้องที่สามารถถ่ายภาพมนุษย์ แล้วมนุษย์ที่โดนถ่ายก็ต้องเข้าไปอยู่ในภาพ(เหมือนโดนขัง)ทันทีในภาพใบนั้น ส่วนไหนที่ไม่โดนถ่าย...ก็จะโดนตัดอยู่นอกรูป เช่นเหลือแต่ขากับเอว (กลายเป็นคนครึ่งตัวอยู่นอกภาพ) ทุกภาพจะถูกพระเอกนำไปซ่อนเก็บไว้ยังแกลลอรี่ส่วนตัว...ซึ่งนั่นก็รวมถึงแฟนขี้บ่นคนแรกที่เป็นเหยื่อโดนถ่ายภาพอย่างไม่ตั้งใจ หลังจากนั้น...เขาจึงเริ่มจัดการถ่ายภาพ แต่แล้วเมื่อภาพทุกภาพเกิดต้องการจะล้างแค้นขึ้นมา ช่างภาพคนนั้นจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ (การเปิดตัวของหนังเรื่องสั้นเรื่องนี้มีอารมณ์ภาพสวยๆเหมือนตุ๊กตา คล้ายเรื่อง La Cité des enfants perdus หรือชื่ออังกฤษว่า The City of Lost Children เลย)





L’Accord (The Accord)

★★★★★★★★★★ 4.5/10

เป็นสารคดีที่ทีมงานติดตามเรื่องราวของคน 6 คน (โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม 3 คนแรกเป็นกลุ่มชาวปาเลสไตน์ และอีกสามคนหลังเป็นกลุ่มชาวอิสราเอล) สารคดีเรื่องนี้ทำให้เราเห็นมุมมองของแต่ละกลุ่มว่า สันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จะยุติลงได้มากน้อยเพียงใด...ถ้าทุกคนหันหน้าเข้าหากัน ผู้กำกับ นิโคลัส วาดิโมฟและบิเอทริส กูเอลพาเก็บรายละเอียดจากการกระทำของคนทั้งหกและผลกระทบที่แต่ละคนได้รับให้เราเห็นว่า ในการสร้างสันติภาพนั้น...ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ ข้อมูลของหนังเรื่องนี้มีมากทีเดียว แต่ทั้งหมดที่มานั้น...เกิดจากสถานการณ์"การพูดหรือบทสนทนาในสถานที่และในรถยนต์"เกือบทั้งเรื่อง...ซึ่งนั่นทำให้ข้อมูลที่คนดูได้รับนั้น...มันดูเยอะดี (แต่น่าจะมีช่วงพักเบรคกับภาพประกอบหรือสถานการณ์คำพูดด้วยให้มากกว่านี้หน่อย...ก็จะดี) ถ้ามีฉากของผลกระทบจากสงครามระหว่างสองฝ่ายให้เราได้เห็นมากกว่านี้...เหมือนกับฉากระเบิดหรือเศษซากปรักหักพังของตึกที่ถ่ายให้คนดูเห็นอยู่ครั้งสองครั้ง...ก็น่าจะเป็นภาพประกอบเนื้อหาได้แน่นมากขึ้นและดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป ผมชอบอยู่ฉากนึงครับที่หนึ่งในหกคน(ที่ทีมงานติดตามไป)...กำลังให้คำสัมภาษณ์อยู่ ขณะเดียวกัน ระเบิดแก๊ซน้ำตาก็ถูกเหวี่ยงข้ามกำแพงมาจากอีกด้านนึง ทุกคนต้องหนีกันพัลวันแทบหัวขวิด





El Diente de oro (Gold Tooth)

★★★★★★★★★★ 7.5/10

หนังสั้นจากประเทศเปรูเรื่องนี้คว้ารางวัล Jury Award จากเทศกาลหนังโลก Montreal World Film Festival 2005 ผมว่า มันมีมนต์เสน่ห์ในตัวหนังเองดีครับ แม้จะช่วงเวลาสั้นแค่สิบกว่านาทีและเป็นเรื่องราวที่เดาทางได้ไม่ยาก (แต่ก็ชวนพิศวงได้ด้วยการเล่าเรื่องแบบไม่มีคำพูดและบรรยากาศที่ถ่ายอยู่แต่ในห้องนอน...ซึ่งชวนลึกลับดี) ชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ในอพารท์เมนท์โทรมๆคนเดียว นอกห้องนั้นเป็นทางเดินเว้งว้างว่างเปล่าและมืดสลัว วันหนึ่งรองเท้าเขาหล่นจากหน้าต่างตึก สักพัก ก็มีรองเท้าคู่ใหม่มาที่หน้าห้องเขา ผ่านไปไม่นาน เขาลองนำอาหารเหลือๆไปวางไว้หน้าห้อง ปรากฏ อาหารชุดใหญ่น่ากินกลับปรากฏขึ้นมา เขาเลยลองหยิบรูปหญิงสวยคนนึงไปวางไว้ที่หน้าห้อง สักพัก ก็มีสาวงามคนหนึ่งปรากฏที่หน้าห้อง ทั้งสองเต้นรำและมีอะไรด้วยกันในคืนนั้น ชายคนนั้นดูมีความสุขมาก เช้าวันต่อมา เขาจึงเดินไปที่หน้ากระจกดึงฟันปลอมสีทองออกมา แต่ดึงไม่ออก เลยไปเอาคีมมาดึงให้ออก...จนเลือดไหลนองปาก เขารีบนำฟันทอง(ที่ไม่ใช่ทองจริง)ไปวางไว้หน้าห้อง

ก่อนวาง...ก็ทำการเช็ดพื้นหน้าห้องให้สะอาด แต่แล้วก็เปลี่ยนใจด้วยการเข็นหีบใหญ่มา...แล้วนำฟันทองเขาใส่ลงในหีบ แล้วปิดฝาลง (คนดูรู้ทันทีว่า เจตนาของเขาครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่าครั้งเดิมๆแค่ไหน) หลังจากนั้นก็ปิดฝาหีบ และปิดประตูห้องเฝ้ารอเสียงเรียกเคาะเหมือนทุกครั้ง...ก่อนที่จะมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น แต่คราวนี้ยังไม่ทันมีเสียงเปิด เขาใจร้อนกว่าทุกครั้ง จึงเดินไปเปิดประตูเองเพื่อดูว่า มีอะไรหรือเปล่า ปรากฏก็ยังไม่มีอะไรแปลกๆ เขาจึงปิดประตูไปนั่งรอ ปิดประตูได้ไม่นาน คราวนี้ก็มีเสียงเคาะตามหลังเขามาทันที เขารีบวิ่งไปเปิดประตูด้วยความดีใจ แล้วเปิดฝาหีบขึ้นมา ทันทีที่เขาเปิด เขาเห็นแสงทองประกายออกมาจากด้านในอย่างสว่างจ้า แล้วแสงนั้นก็ค่อยๆดับลง เขาหยิบฟันขึ้นมาดู ปรากฏ ฟันทองของเขากลายเป็นฟันเงิน และเขาต้องทนความเจ็บปวดจากฟันที่โดนกระชากและเลือดก็ยังไหลกบปากอยู่...พร้อมฟันที่ไม่สามารถยัดใส่กลับเข้าไปได้ คิดว่า คุณคงรู้นะครับว่า มีนิทานอีสปเรื่องตรงกับเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ได้ดี





El Khoubz El Hafi (For Bread Alone)

★★★★★★★★★★ 7.5/10

เป็นหนังที่เล่าถึงความละอายและบาป (Shame and Sin) ผ่านชีวิตของเด็กบ้านยากจนคนหนึ่งที่ชื่อ โมฮาหมัด เรื่องราวชีวิตของเขาเริ่มเล่าตั้งแต่วัยเด็ก จวบจนเป็นวัยรุ่นและเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ตัวหนังเป็นการนำบทประพันธ์ที่โด่งดังของชาวอาหรับมาขึ้นจอ...ซึ่งก็ทำออกมาได้ดี ยอมรับว่า ภาพที่เห็นกับความยากจนของเด็กคนหนึ่งที่ต้องเผชิญอย่างที่หนังเล่า...ไม่น่าจะผิดเพี้ยนอะไรเลยกับการที่ต้องไปคุ้ยขยะที่ถังหน้าบ้านเศรษฐีฝรั่งเศส เจอไก่เป็นตัวๆ...ก็ดีใจนำกลับมาบ้านให้ที่บ้านปรุงกินเพราะความหิว...โดยหารู้ไม่ว่า มันเป็นโรคตาย แถมโดนแม่ดุด่าอีก หรือการที่โมฮาหมัดนำผักมาให้แม่ปรุงกิน...โดยเด็ดมาจากข้างหลุมศพที่มันโตขึ้นมาเองตามธรรมชาติ เขาโดนแม่ด่าอีกว่า มันบาป...และลูกอาจต้องได้รับบาปนั้น แต่ตัวเด็กน้อยในวัยเยาว์ยังไม่เข้าใจอะไรมากนัก แถมพ่อยังคอยด่าคอยตีเพราะอารมณ์ร้อนและขี้เมาติดการพนันอีก (คนที่เป็นพ่อในเรื่อง ผมไม่แน่ใจว่า เขาเป็นพ่อจริงๆหรือเป็นพ่อเลี้ยง) มีอยู่ฉากนึงที่ทำได้เห็นภาพมากเมื่อโมฮาหมัด(ตอนเป็นเด็ก)เห็นขวดนมของหญิงสาวคนหนึ่งที่ทำหล่นแตกบนพื้นสาธารณะ ด้วยความหิว เขาจึงวิ่งเข้าไปเลียน้ำนมที่หกเลอะบนทางเท้าข้างถนนที่สกปรก...แถมยังเจอเศษแก้วจากขวดนมบาดปากด้วย กินน้ำนมที่มีสีเลือดปนอยู่บนพื้นด้วยความหิว (โดยต้องทนความเจ็บปวดที่เลือดนั้นก็ไหลเจิ่งนองน้ำนมที่หกอยู่ด้วย แต่ความหิวมันมีมากกว่า)

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น...เขาก็ออกจากบ้านและยังต้องเผชิญกับการหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ช่วงนี้เอง ที่ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศของเด็กน้อยสื่อออกมาได้ดีและตลกด้วยครับเมื่อเขาไปเจาะรูที่ต้นไม้ใหญ่เป็นสองรู แล้วนำผลส้มสองลูกไปปักเสียบไว้ที่รูทั้งสองข้าง...เปรียบเสมือนหน้าอกสองข้าง หลังจากนั้น ก็นำมีดกรีดไปที่ลำต้นจนกลายเป็นรูปร่างของหญิงสาวคนหนึ่ง (ตามที่เขาได้แอบปีนกำแพงไปเห็นสาวคนหนึ่ง...แล้วจินตนาการลงไปที่ลำต้น) โมฮาหมัดดูดและเลียไปบนเปลือกส้มด้านนึง ส่วนส้มอีกด้าน...ก็มือไปคลึงเหมือนกำลังเล้าโลมหญิงสาวอยู่ พอเขาโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้อาศัยอยู่ในซ่องโสเภณีเพราะตอนนี้ตัวเขาลุ่มหลงอยู่ในกาม อยู่มาวันหนึ่งเขาก็โดนจับข้อหาเป็นผู้ก่อการประท้วงเรื่องอิสรภาพของประเทศโมร๊อคโค...ทั้งที่เขาไม่รู้เรื่องเลย และที่นี่เองที่ทำให้เขารู้จักการอ่านและเขียนตัวอักษรอาหรับจากกลุ่มผู้ต่อต้านคนหนึ่งที่สอนเขาในคุก และทำให้เขาเห็นโลกแห่งความบริสุทธิ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากสอนเด็กๆที่ไม่มีความรู้ได้อ่านออกเขียนได้เพื่อชดเชยความผิดพลั้งในอดีตของเขา ช่วงออกจากคุก เขายังลบมลทินจากตัวเขาเองในอดีตด้วยการขูดผิวหนังบริเวณนิ้วโป้ง...หลังจากมีการปั๊มรอยนิ้วมือในคุก ขูดจนเลือดออกเนื้อบริเวณนิ้วโป้งถลอกไปหมด แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้เป็นครูจริงๆ โมฮาหมัดในชีวิตจริงเสียชีวิตในปี 2003 จัดเป็นหนังที่นำเรื่องราวชีวิตจริงมาขึ้นจอได้น่าติดตามตลอดเรื่องตั้งแต่เด็กจนโต..โดยเฉพาะความเป็นอยู่แบบแร้นแค้น แต่ช่วงท้ายเรื่อง ผมยังรู้สึกว่า แรงจูงใจในการอยากเป็นอาจารย์สอนเด็กนั้น...ผู้กำกับ Rachid Benhadj ยังสร้างออกได้เห็นภาพแบบเบาไปนิดๆหน่อยๆอยู่





Paha maa (Frozen Land)

★★★★★★★★★★ 8.5/10

คำว่า Paha maa แปลว่า ดินแดนที่แย่ ตัวหนังเล่าเรื่องเชื่อมโยงจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งผ่านปัญหาที่ส่งต่อให้แก่กัน ยอมรับว่ามีหนังหลายเรื่อง (ที่ผ่านๆมา) ซึ่งมีการเชื่อมโยงของตัวละครหลายๆคน บ้างก็ออกมาได้ดีหรือบ้างก็ในแบบทั่วๆไป แต่หนังเรื่องนี้มาแนวแปลกมากครับเพราะเมื่อผมเดินออกมาจากโรงหนัง ในสมองมันดูโล่งๆเหงาๆห่อเหี่ยวใจยังไงไม่รู้...ผสมอารมณ์ความประทับใจ (เป็นความรู้สึกแบบฟินแลนด์กันจริงๆกับความเหงาและหนาวกันตลอดเรื่อง คล้ายอารมณ์ Lost in Translation ในบางขณะ แต่มันยังรู้สึกถึงโศกนาฏกรรมของตัวละครเพิ่มเข้ามาอีก) เรื่องราวของหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่ง นิโค ที่โดนพ่อไล่ออกจากบ้านเพราะตัวพ่อเองตกงาน...เลยพลานโมโหใส่ลูกชาย (นิโค) เหตุการณ์หลังจากนั้นคือนิโคไม่มีเงินและได้ไปอาศัยอยู่กับเพื่อนเขาอีกสองคนก็คือ โทมัสและอิเลนา (เพื่อนทั้งสองเป็นแฟนกัน...และมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเสมอภาคในสังคม นั่นคือ การวางแผนปล้นเงินเพื่อนำไปช่วยผู้ยากไร้) เมื่อนิโคมาเจอเพื่อนทั้งสองแล้ว ต่างก็ดื่มเหล้ามายากันอย่างเต็มที่จนกระทั่งนิโคปลอมแบ๊งค์ธนบัตรใบละ 500 ยูโรขึ้นมาใบนึงแล้วไปซื้อวิทยุเล็กๆที่ร้านจำนำของเก่า เหตุการณ์หลังจากแบ๊งค์ใบนี้...มันได้กลายเป็นลูกโซ่ให้กับอีกหลายชีวิตที่ล้มเป็นโดมิโนต่อๆกัน (Chain Reaction) แต่โดมิโนในที่นี้เป็นเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงให้กับทุกคน ความแค้น ความชิงชัง ความโกรธ ความปวดร้าว ความริษยา สะท้อนมุมมองในการดิ้นรนหาทางรอดในสังคมปัจจุบันของฟินแลนด์ (รวมทั้งบาปในใจของโทมัสอีกด้วย)

พูดถึงเหตุการณ์ที่เป็นลูกโซ่ต่อๆกันไปนั้น...ผมดูไปเรื่อยๆอย่างไม่สามารถละสายตาได้ เป็นการพัวพันเรื่องราวได้แปลก...เมื่อเวลาผ่านไป แรกๆผมยังรู้สึกว่า หนังเหมือนจะปูเรื่องในเชิงไม่สมดุลย์กับตัวละครหรือเปล่า แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ...จึงเริ่มเข้าใจเนื้อหาและความประทับใจก็เข้ามาแทน หนังมีอยู่ฉากนึงที่ผมฮามาก นั่นคือ ตอนที่เซลแมนร่างอ้วนนั่งดื่มเบียร์ไป ดูวีดีโอโป๊ไป ขณะเดียวกันที่บนเตียงนอน...ไมค์กับโสเภณีกำลังร่วมรักกันอย่างรุนแรง เซลแมนร่างอ้วนหันหน้าไปทางทีวีที่ฉายหนังโป๊ทีนึง หันกลับมาที่เตียงดูของจริงทีนึง...แล้วแถมยังมีการเดินมาก้มดูบริเวณตรงนั้นของทั้งสองด้วยความสงสัยแบบเมาๆอีก...ตรงนี้ฮาจริงๆ และเป็นจุดเดียวในหนังที่มีความฮา นอกนั้น...คุณเตรียมพบกับโลกแห่งความเป็นจริงของประเทศฟินแลนด์ที่ถ่ายทอดออกมาในแง่ลบได้ดีเหลือหลาย ผู้กำกับ Aku Louhimies ยังเป็นคนเขียนบทอีกด้วยนะครับ...น่านับถือการผูกเรื่องราวออกมาในแบบเหงาๆเศร้าๆแต่ฝังใจคนดูได้ และหนังก็ทิ้งท้ายด้วยโศกนาฏกรรมที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...ดั่งที่นิโคได้พูดไว้ตอนต้นเรื่องที่หน้าหลุมฝังศพว่า "คนเราิเิกิดทำไม แต่ไม่ว่ายังไง ในท้ายที่สุดแล้ว ทุกอย่างก็ย่อมมีทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเราทุกคน" สุดท้ายครับ เป็นหนังที่เดินเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีความน่าเบื่อเลย เหมือนกราฟที่สูงขึ้นไปด้วยความมั่นคงเมื่อเดินออกมา...มันก็ค้างนิ่งสูงอยู่อย่างนั้น และถ้า Me and You and Everyone We Know จะเป็นแง่มุมที่สดใสในความรัก Paha maa ก็คือแง่มุมห่อเหี่ยวในความเป็นจริง





The Propostion

★★★★★★★★★★ 6.5/10

ช่วงการเดินเรื่องหนึ่งในสามของหนัง แม้จะเป็นการปูทางของเรื่อง แต่ผมยังรู้สึกว่า อารมณ์หนังดูจะเอื่อยๆไปหน่อยกับหนังแนวตามล่าล้างโคตรด้วยเนื้อหาที่มีตัวละครเพียงไม่กี่คนกับบรรยากาศเวิ้งว้างกลางทะเลทราย เรื่องราวของหมวดสแตนลีย์ที่ปล่อยตัวชาร์ลีไปเพื่อให้เขาไปฆ่าพี่ชายตัวเอง อาร์เธอร์ ให้ได้ภายใน 9 วันจากข้อหาฆ่าครอบครัวตระกูลฮ๊อปกิ้นส์อย่างโหดเหี้ยมทารุณ แต่เมื่อผ่านไปได้ 1 ใน 3 ของหนังแล้ว...ความน่าติดตามเกิดขึ้นได้เมื่อชาร์ลีไปพบพี่ชายเขากลางทะเลทราย ขณะเดียวกัน ตัวน้องชาย ไมค์ก็ถูกตำรวจจับไว้เป็นหลักประกันว่า ชาร์ลีจะฆ่าพี่ชายเขาได้สำเร็จ...แล้วค่อยมาเอาตัวไมค์คืน แต่แผนไม่เป็นไปดั่งที่คิดเมื่อเจ้าหน้าที่อีกคนที่มีอำนาจสูงกว่าแสตนลีย์จัดศาลเตี้ยเฆี่ยนไมค์จนปางตาย (ฉากนี้ เห็นคนฝรั่งที่นั่งข้างผมถึงกับร้องออกมาเพราะแส้ที่เฆี่ยนไปที่หลังชาร์ลีนั้น คนเฆี่ยนเอามือมารูดน้ำเลือดออกไปจากสายแส้ ปรากฏว่า ไหลออกมาเหมือนผ้าชุบน้ำแล้วโดนบิดแรงๆจนไหลออกเป็นทาง...และนั่นเป็นเพียงการเฆี่ยนครั้งที่ 30 กว่าจากโทษ 100 ครั้งเท่านั้น) การเล่าอารมณ์ช่วงหลังของหนังมีความน่าติดตามได้อย่างน่าสนใจและยึดความสนใจของคนดูได้ เมื่อชาร์ลีเจอพี่ชายเขาแล้วและคำมั่นสัญญาของหมวดไม่เป็นไปตามสัญญา...ชาร์ลีจะทำเช่นไร การตัดสินใจท้ายเรื่องของชาร์ลี...ถือว่า ไม่น่าจะเดายากอะไรเกินไป แต่ผู้กำกับ จอห์น ฮิลโคท สร้างบรรยากาศในหนังในแบบเรื่อยๆ(ซึ่งคล้ายอารมณ์ละครทางทีวีนิดๆในบางครั้ง)แต่รอวันเดือดปะทุได้ ตรงนี้...น่าจะทำให้ใครหลายคนชอบได้ไม่ยาก อ้อ...แม้จะเป็นหนังในถิ่นทุรกันดาลที่ออสเตรเลีย แต่มันก็ได้ความรู้สึกเหมือนหนังแนวคาวบอยในแบบย้อนยุคด้วย





More Than 1,000 Words

★★★★★★★★★★ 7.5/10

เป็นสารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพและการแบ่งแยกดินแดนของชาวปาเลสไตน์กับอิสราเอล(ซึ่งยืดเยื้อมานาน) การเดินเรื่องของสารคดีชิ้นนี้ฉับไวและเล่าเรื่องได้เท่ห์ ผมชอบการตัดต่อแบบ Snapshot คือเป็นภาพนิ่งก่อน (นับร้อยภาพ)...แล้วก็เปลี่ยนเป็นการเดินเรื่องพร้อมบทสนทนาที่เล่าควบคู่ตัดสลับกันไปมาอย่างกระฉับกระเฉง และความเร็วในการเล่าเรื่องที่ซีเรียส...ก็ทำให้สารคดีชิ้นนี้ดูน่าติดตามทันที ยอมรับว่า ภาพที่เอามาให้ดู...ก็น่าสนใจกับเหตุการณ์ระเบิดในสถานที่สาธารณะอย่างเช่น รถโดยสารหรือร้านกาแฟ โดยเฉพาะภาพศพชายคนนึงที่เอวหายไปเลย...เห็นแล้วพูดไม่ออก อีกฉากที่ไอเดียในการนำเสนอดีและเห็นผล ก็คือ "ภาพรองเท้าคู่นึงวางอยู่ที่พื้น" ซึ่งถูกนำมาขึ้นหน้าปกนิตยสารเพราะนั่นเป็นรองเท้าของชายที่ต้องเสียขาไปกับระเบิดวันที่ใส่รองเท้าคู่นี้...ภาพนี้สร้างความรู้สึกได้เลย ตัวหนังยังมีการเดินเรื่องที่แปลกอีกอย่างคือ การที่ช่างภาพชื่อดังชาวอิสราเอล Ziv Koren ได้นำภรรยาของเขา Galit ซึ่งเป็นนางแบบ...มาร่วมเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของสามีเธอ เรื่องครอบครัวและชีวิตการทำงานของเธอเอง แปลกนะครับที่ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาซึ่งเล่าไปพร้อมกับสารคดีเนื้อหาจริงจังชิ้นนี้...กลับทำออกมาได้ไม่รู้สึกขัดอะไร แม้แต่การพูดถึงตึกเวิรด์เทรดเซ็นเตอร์ซึ่งโดนกล่าวในช่วงนึง (จริงๆมันน่าจะเป็นความเบื่อได้บ้างแล้ว แต่ทีมงานรวมทั้งตัว Ziv Koren ก็ยังเล่าออกมาในช่วงสั้นๆแต่สนุกตามได้) ช่างภาพชื่อดังเจ้าของสารคดีชิ้นนี้ Ziv Koren ยังมีความกล้าและค่อนข้างใจถึงทีเดียวกับการเก็บภาพขณะซ้อมรบหรือช่วงที่มีเหตุการณ์จริง แม้ในเหตุการณ์จริง...ที่ไม่มีการระเบิดตูมตามให้น่ากลัวอะไรก็ตาม แต่ก็ได้ความระทึกไปกับภาพที่เขาเก็บมาให้เราดู รวมทั้ง...ยิ่งดูไป ผมรู้สึกเหมือนหนังสารคดีมีกลิ่นอายประมาณเดินแฟชั่นโชว์ตามไปด้วยเพราะการเล่าและตัดสลับเรื่องที่กระฉับกระเฉงอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นนั่นเอง (แฟนของ Ziv Koren มีส่วนกับความรู้สึกนี้ด้วย) สุดท้ายครับ Ziv Koren หน้าตาคล้ายซีนาดีน ซีดานมาก ส่วนภรรยาของเขาก็สวยและเซ็กซี่ดี





Herbert

★★★★★★★★★★ 6.5/10

ผมพยายามจะเลี่ยงหนังอินเดียประเภทตามหาสัจธรรมหรือความฝันต่างๆเพราะหลายๆครั้งที่ผมดู...แล้วรู้สึกว่า หนังยังไม่สามารถทำให้คนดูคล้ายตามได้เท่าไหร่ อย่างเช่น Reaching Silence ที่ผมเคยดูเป็นต้น แต่นับจากนาทีที่หนังเปิดตัวฉากแรกขึ้นมา ผมก็ต้องสะดุดตาและความคิดก็เริ่มเปลี่ยนไปกับภาพชายวัยกลางคน Herbert ที่คลุ้มคลั่งราวกับคนบ้าเพราะทางการจะจับเขา...ด้วยข้อหาเปิดร้านต้มตุ๋นประชาชนด้วยความคิดอันพิลึกของเขา และมีชาวบ้านเข้ามาห้ามปรามไว้ แล้วผมก็ต้องประหลาดใจกับจินตนาการสุดเฮี้ยนเกินคาดอีกเมื่อมีวิญญาณพ่อและแม่ของ Herbert ที่เสียชีวิตตั้งแต่ Herbert ยังเด็ก...มายืนยิ้มและพูดคุยกันถึงตัว Herbert อยู่นอกหน้าต่างห้องนอนลูกชายในชุดเต็มยศแบบร่วมสมัย(แต่แฝงความสยองยังไงไม่รู้)...รวมทั้งยังคอยถ่ายฟิลม์หนังชีวิตของลูกชายตั้งแต่ในวัยเด็กไปด้วย...แค่ฉากแรกก็ได้ใจผมไปเลย

เรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่ชื่อ Herbert ซึ่งหนังเล่าชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กจวบจนเป็นผู้ใหญ่ เขาได้ผ่านเรื่องราวแปลกๆมากมายจากผู้คนที่อยู่รอบข้างเขา...จนมีผลกระทบกับความคิดของเขาในตอนโต ตัว Herbert มีบทหนังที่ทำให้ชายคนนี้มีความคิดแปลกแยกจากผู้คนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว...พอมาได้เจอเรื่องเล่า คัมภีร์ หรือตำนานอภินิหารอะไรเข้าหน่อย ก็เลยไปกันใหญ่ แม้แต่ตอน Herbert เข้าไปจีบผู้หญิงด้วยจดหมายรัก ผมว่า วิธีการให้จดหมาย...ก็ยังดูพิลึกๆเลย อย่างเดียวที่ผมรู้สึกว่า เขาดูจะเป็นปรกติที่สุดในช่วงวัยรุ่นก็คือ ตอนที่เขาขอดูส่วนต่างๆของผู้หญิงเพราะความอยากรู้อยากเห็น (แต่ออกแนวหนุ่มโรคจิตแทน...เหมือนวัยรุ่นชายทั่วไป) นอกนั้น ดูออกจะเพี้ยนๆอยู่ตลอดเวลา คงไม่ต้องพูดถึงท่าทางเดินในตอนเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนของเขานะครับที่เดินได้เหมือนนกกระจอกเทศมากๆ...จนคนในหมู่บ้านล้อเลียนเขาว่า Ostrich ผมว่า นักแสดง Subhasish Mukherjee ในบท Herbert ให้การแสดงความเพี้ยนด้วยท่าทาง หน้าตา และแววตาได้เต็มร้อย...ท่ามกลางอารมณ์ความตั้งใจและเจตนาที่บริสุทธิ์ ผมว่า หนังเรื่องนี้เป็นการเสียดสีสังคมปัจจุบันที่คนดีแต่มีวิธีการนำเสนอที่ไม่ถูกที่ถูกทาง บางครั้ง...ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเช่นกัน





Hei Yan Quan (I don't want to sleep alone)

★★★★★★★★★★ 8.0/10

ผู้กำกับ ไฉ่หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) มีข้อดีในการเดินเรื่องแบบแช่กล้องเพื่อจับภาพของเหตุการณ์ได้น่าติดตามดี โดยที่ในสถานการณ์นั้น คนดูอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในฉากแต่ละฉากเลยก็ได้...ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ใดๆตามหลังมา ตัวอย่างเช่น คนเดินมาซื้อกับข้าว หนังก็จะแช่กล้องไว้ให้เราดูตั้งแต่คนๆนั้นยังไม่เดินมาเลย เป็นต้น (ใน Wayward Cloud หนังของผู้กำกับท่านนี้ก่อนหน้านี้ เราก็เห็นเทคนิคนี้กันตั้งแต่ต้นเรื่องเลยกับฉากทางแยกในอพารท์เม้นท์) เรื่องของชายคนหนึ่งถูกทำร้าย Hsiao-kang เขาสลบที่ข้างถนน กลุ่มคนงานชาวบังคลาเทศมาเห็นเข้า หนึ่งในนั้น Rewang จึงช่วยเหลือเขาโดยพาเขามาพักรักษาตัวที่ห้องนอนเขา แต่ต่อมา Hsiao-kang ก็รู้จักกับบริกรสาว Chyi และเกิตกหลุมรัก ถ้าอย่างนี้แล้วความสัมพันธ์ของคนทั้งสาม...จะเป็นเช่นไร แม้เนื้อเรื่องจะไม่มีความหวือหวาหรือฉากแรงๆอะไรเลยก็ตาม...ตามสไตล์ผู้กำกับ คือเน้นความเรียบง่าย ไปเรื่อยๆมากกว่า แต่ก็ตอบโจทย์กับความเหงาท้ายเรื่องได้ดีและผมรู้สึกว่า มันดูใกล้เคียงกับชีวิตมนุษย์ปัจจุบันมากที่สุดแล้วกับความเหงาที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ...แม้แต่ในเมืองที่ผู้คนแออัดก็ตาม

อีกอย่างที่ผมรู้สึกได้ก็คือ หนังของไฉ่หมิงเลียงให้บรรยากาศคล้ายหนังเรทอาร์ที่เข้าฉายตามโรงหนังชั้นสองด้วยนะ แต่เขาทำให้มันดูโดดเด่นกับฉากอย่างว่ามากกว่า...ด้วยประเด็นหนังที่แปลกตาแต่น่าสนใจ
(อีกอย่างนึง เมื่อเทียบกับหนังเรื่อง Wayward Cloud ผมชอบหนังเรื่องนี้มากกว่านะ) พูดถึงฉากอย่างว่า ผมชอบฉากตอนที่ Hsiao-kang เข้าไปช่วยสำเร็จความใคร่ให้เจ้าของอพารท์เมนท์หญิงในซอยเปลี่ยว...แสดงได้อารมณ์เข้าถึงจุดสุดยอดกันได้อารมณ์เปลี่ยวดี (ฝ่ายผู้หญิง เธอยังสามารถประคองตัวไหวได้ เก่งครับ...ยอมรับ) แถมยังมีฉากตลกๆนิดหน่อยอีกสามฉากให้ผมเผลอยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง หนึ่งก็คือ ฉากที่ Rewang พยายามเอาน้ำแข็งไปวางบนหน้าผากของ Hsiao-kang สองก็คือ ฉากที่เจ้าของอพารท์เมนท์แอบตาม Hsiao-kang กับ Chyi มาที่ตึกร้างแล้วหล่นตูมลงไปในน้ำคลำ (ฮาดี) และสุดท้ายก็คือ ฉากที่ Hsiao-kang กับ Chyi ร่วมรักกันไปพร้อมกับสำลักควันไฟป่าที่ลอยคละคลุ้งไปทั่วเมือง...ในตึกร้างจนกระทั่งเซ็ง แล้วก็เลิกทำรักกันไปเลย (ประเด็นของควันไฟที่เข้ามามีบทบาทท้ายเรื่อง...ช่วยสร้างความโดดเดี่ยวขึ้นมาได้ดีเหมือนกัน คือ มันจางๆเหมือนมองไม่เห็นใคร) ส่วนฉากสุดท้ายที่เตียงค่อยๆลอยเข้ามาตามผิวน้ำ...พร้อมคนทั้งสามนอนอยู่บนเตียง ทำให้เรารู้ว่า คนทั้งสามไม่มีโอกาสเหงาอีกแล้วก็ได้เพราะไม่มีใครอยากนอนอยู่คนเดียวแน่นอน แม้รอบข้างเหมือนจะมีอยู่คนอยู่รอบกายมากมายก็ตาม...แต่มันก็คงเป็นเพียงสายน้ำที่นิ่ง ต่างคนต่างก็ไม่สนใจใคร





Chicha Tu Madre

★★★★★★★★★★ 5.5/10

เรื่องราวของชายคนนึง Julio Cesar ที่ใช้ชีวิตในเมืองลิบู ประเทศเปรูด้วยการเป็นคนขับรถแท๊กซี่ และยังใช้เวลาว่างด้วยการดูไพ่ทารอตอีก วันหนึ่งเขาพบว่า ลูกสาวกำลังตั้งท้อง เขาจะกลายเป็นปู่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาพอใจเท่าไหร่ เรื่องราวหลังจากนั้น...เขาจึงปล่อยให้ไพ่ทารอตเป็นตัวกำหนดการดำเนินชีวิตใหม่...อันเนื่องมาจากความเศร้าของลูกสาว พูดถึงภาพรวมของหนังก็เป็นหนังที่ดูได้เรื่อยๆและสร้างออกมาได้ดูติดดินแบบชาวบ้านดี รวมทั้งบรรยากาศที่ดูสมจริง แต่สถานที่ที่ใช้ถ่ายทำในหนังเรื่องนี้...มันดูคล้ายๆประเทศอินเดียทางตอนใต้(เชไน...ที่ผมเคยไปดูงาน)อยู่เหมือนกัน (ถ้าไม่ติดที่ว่า ผมได้ยินภาษาสเปนล่ะก้อ...อาจเข้าใจผิดเลยนะนั่น) เห็นหนังในเรื่องนี้แล้ว ผมขอพูดถึงฉากสถานแหล่งบริการทางเพศหน่อยแล้วกันนะครับ บรรยากาศดูคลาสสิคในแบบลูกทุ่งดี (ประเภทห้องแถวสร้างด้วยไม้ แล้วซอยเป็นห้องเล็กๆ มีหญิงสาวมายืนเรียกแขกอยู่แต่ละห้อง แขกที่มา...ชอบใครคนไหน ก็พูดคุยเรื่องราคาแล้วก็เข้าได้เลย คล้ายเมืองไทยเหมือนกันนะ) ยังมีฉากฮาๆในอาโกโก้เมื่อหญิงคนหนึ่งกระโดดโลดเต้นเปลื้องผ้าอยู่บนเวที ช็อตเด็ดก็อยู่ตอนที่เธอเอาสายไฟเสียบเข้าไปที่อวัยวะเพศกันเลย พูดถึงจุดที่หนังน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นั่นก็คือ เหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับไพ่ทารอตนั้น...ผู้กำกับ Gianfranco Quattrini น่าจะหาเรื่องราวที่เป็นตลกร้ายอะไรก็ได้ใส่เข้าไปให้หนังดูน่าติดตามได้มากกว่านี้เพราะเรื่องที่นำเสนอโดยรวม...ยังดูไม่เตะตาอะไรเป็นพิเศษ





Iklimler (Climates)

★★★★★★★★★★ 8.5/10

ถ้าพูดถึงหนังรักของคนสองคนที่เล่าเรื่องในแบบนิ่งๆ Iklimler อาจเป็นหนังที่ผมชอบมากที่สุดประจำปีนี้แล้วก็ได้มั๊ง แต่ก่อนอื่น ผมอดเปรียบเทียบผลงานก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ Nuri Bilge Ceylan ท่านนี้ไม่ได้ ถ้าให้พูดกันจริงๆ โดยส่วนตัว ผมยังชอบ Uzak มากกว่าอยู่ เหตุผลอย่างแรกเลยก็คือ ด้วยเนื้อเรื่องของคนชายสองคนที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันและต้องมาอยู่ด้วยกัน แต่หนังสร้างอารมณ์ออกมาให้ดู"ห่างเหิน"(ตามชื่อหนังเป๊ะๆ)ผ่านการเล่าเรื่องกับสถานที่ในเมือง ตรงนั้นกำกับออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจจริงกับการขัดแย้งทางอารมณ์ จุดนี้ผมว่า ทำได้ยากมากนะกับคนสองคนที่ต้องอยู่ที่เดียวกันในฐานะญาติ...ด้วยอารมณ์ห่างเหิน (ผมว่า เรื่องราวญาติเป็นความแปลกใหม่มากกว่า และทำได้ยากกว่าหนังรัก...ถ้าจะให้คนดูพูดถึงในแง่ดีๆ) อย่างที่สองของหนังเรื่องนั้นก็คือ ความเป็นไปของตัวละครชายสองคน...ที่ไม่ต้องมีคำพูดอะไรมากมาย แต่ใช้เหตุการณ์รอบข้าง สีหน้า และการกระทำของตัวละครเป็นตัวเล่าเรื่อง ตรงนี้ก็คือมนต์เสน่ห์อย่างต่อมา และข้อสุดท้ายก็คือ วิวคนที่ตัดกับท้องฟ้า

ส่วนเรื่องนี้ ผู้กำกับคนนี้ยังคงแนวทางหนังของตัวเองได้ดีอยู่ต่อไป...ไม่ว่า เนื้อหาหนังจะเป็นเช่นไร และเขาก็มีข้อสองและข้อสามที่ผมเพิ่งพูดไปอยู่ได้ครบ แต่ข้อหนึ่งนั้น เปลี่ยนจากความเหินห่างของคนสองคนเป็นความรักของชายหญิงคู่หนึ่งแทน โดยส่วนตัวแล้ว เนื้อหาความรักระหองระแหงระหว่างคนสองคนนั้น...การจะเล่าเรื่องในเทคนิคเหงาๆไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก และถ้าทำไม่ได้ละก้อ...มีสิทธิ์ทำให้เกิดอาการหาวได้ด้วย แต่เรื่องนี้สอบผ่านได้ฉลุย และคงไม่ต้องพูดถึงความสวยงามของวิวธรรมชาติกับฉากที่พระเอก Isa ยืนอยู่ที่สะพานพร้อมก้อนเมฆทะมึนตั้งเค้าฝนในฤดูหนาวและหิมะโปรยปรายได้นะครับ อ้อ ฉากที่มีเพศสัมพันธ์กันรุนแรงทั้งบนโซฟาและพื้นไม้แข็งๆระหว่าง Isa และ Serap กำกับออกมาได้ดี เกือบลืมไป ที่ชอบอีกอย่างในหนัง ก็คือ ฉากเดินกล้องเข้าไปใกล้ๆตัวละคร...แต่เห็นไม่เต็ม อย่างเช่น ฉากที่ Bahar กลับมาหา Isa ใหม่อีกครั้ง เมื่อทั้งสองอยู่บนเตียง กล้องก็ซูมไปที่บุหรี่บ้าง ใบหน้าแบบครึ่งท่อน(ที่เห็นดวงตาข้างนึง)บ้าง หรือเส้นผม(แบบเห็นหน้าผาก)บ้าง อีกอย่าง...ภรรยาของผู้กำกับท่านนี้ Ebru Ceylan ในบท Bahar เป็นคนร้องไห้ได้ดูสวย...ผมชอบ สุดท้ายครับ เสน่ห์เรื่องนี้อยู่ที่การเล่าเรื่อง อารมณ์หนัง และวิวจริงๆ และ Nuri Bilge Ceylan ก็น่าจะเป็นคนเดียวในช่วงหลายๆปีมั๊งที่ทำหนังติดๆกันสองเรื่องแล้วได้คะแนนในระดับ 8.5 ของผมขึ้นไปทั้งสองเรื่อง


Create Date : 02 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 3 ธันวาคม 2551 14:17:49 น. 3 comments
Counter : 810 Pageviews.

 
ผมคงไม่ถูกโรคกับหนังเอื่อยๆอย่าง Climates ล่ะมังครับ
ทำให้ตอนกลางเรื่องผมหลับไปเลย ให้ตายเถอะ 5555+

แต่เท่าที่ดูและจับใจความได้นี่ผมก็ชอบในแนวคิดของหนังเรื่องนี้นะครับ รวมไปถึงเนื้อเรื่องหลังจากที่ทั้งคู่ได้ห่างกัน


โดย: nanoguy (nanoguy ) วันที่: 2 พฤศจิกายน 2549 เวลา:18:07:34 น.  

 
ตอบคุณ nanoguy ถ้าใครจะหลับในเรื่องนี้ พี่ก็ไม่แปลกใจนะเพราะตัวหนังมันให้อารมณ์แบบนั้นอยู่แล้ว แต่พี่ชอบหนังเรื่องนี้จริงๆ อารมณ์และบรรยากาศของหนังมันได้ใจพี่ไปเลย สงสัยน้องตี้ คงไม่ชอบหนังก่อนหน้านี้ของผู้กำกับท่านนี้อีกเรื่องแน่นอน นั่นคือ Uzak พี่ล่ะชอบมากๆ


โดย: เจ้าของบล๊อคมาตอบเอง (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) วันที่: 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา:11:16:06 น.  

 
เรื่องที่พี่ว่ามาผมไม่ได้ดูล่ะครับ
เพราะกับเทศกาล World Film นี่ผมเพิ่งได้มาดูเป็นครั้งแรกซะด้วยสิ..


โดย: nanoguy (nanoguy ) วันที่: 3 พฤศจิกายน 2549 เวลา:20:46:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.