ตี๋หล่อมีเสน่ห์
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ก็แค่คนๆหนึ่งที่ชอบดูหนัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้อัพเดตข้อมูลอะไรเพิ่มแล้วนะครับ


Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
2 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ตี๋หล่อมีเสน่ห์'s blog to your web]
Links
 

 

ประสบการณ์ดีๆกับภาพยนตร์ทั้ง 30 เรื่องในเทศกาลหนัง World Film Festival 2006 (ตอนที่ 2)

เกริ่นนำกันหน่อยตอนที่ 2

ความรู้สึกในการชมภาพยนตร์ครั้งนี้

โดยรวมก็ถือว่า มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจกับเทศกาลครั้งนี้มากพอสมควร ถ้าไม่นับหนังจีนเรื่อง The Banquet ซึ่งมีคนตีตั๋วเข้าชมมากที่สุดในเทศกาลครั้งนี้และตัวผมก็ยังไม่ได้ดูเพราะคงจะรอดูตอนฉายจริง เรื่องที่มีคนดูเยอะมากๆอีกเช่นกันจนต้องเสริมเก้าอี้ นั่นก็คือ หนังจากอิสราเอล Close to Home และหนังที่มีคนดูน้อยที่สุดคือ น่าจะประมาณ 6 คนก็คือ หนังจากอินเดีย Herbert (ซึ่งผมคิดว่า ตัวหนังก็ดีในระดับนึงเลย) อ้อ...พูดถึงมารยาทในการชมภาพยนตร์ เท่าที่ผมเจอมา ส่วนมาก ถ้าเป็นหนังเทศกาล...ไม่ต้องห่วงอะไรเท่าไหร่ ทุกคนก็น่ารักดีในการชมภาพยนตร์ คือไม่ทำเสียงดังโวยวาย เตะเก้าอี้ด้านหลัง หรือคุยโทรศัพท์ (เหมือนเทศกาลหนังพม่าที่ผมเจอมาแบบครบสูตรเต็มสตีม) อ้อ...ยกเว้นอยู่ครั้งเดียวเกี่ยวกับเรื่องมารยาท ตอนที่ผมดูหนังเรื่อง The Last Emperor ที่เทศกาลครั้งนี้ได้นำหนังออสการ์เรื่องนี้กลับมาฉายใหม่อีกครั้งในเวอร์ชั่นผู้กำกับตัดต่อเอง ยาวพอสมควรครับ คือเกือบ 220 นาทีเห็นจะได้ (ซึ่งผมเคยดูมาแล้วครั้งนึงก็จริง สมัยที่ยังต้องพึ่งเงินพ่อแม่เข้าโรงหนังเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน แต่ด้วยความอยากดูอีกครั้ง ก็เลยดูอีกรอบ) ที่ผมจะเล่าก็คือ คนไทยที่ไม่มีมารยาทคนหนึ่งรับโทรศัพท์แล้วคุยเสียงดังอยู่ในโรง อีกอย่าง หนังเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นหนังเงียบเหมือนกัน เสียงเลยดังฟังชัดจนฝรั่งต้องทำเสียงไล่ ชู่ชู่ชู่ เขาถึงเดินออกไปคุยข้างนอก

แต่ที่ค่อนข้างผิดหวังก็คือ หนังที่ฉายด้วยระบบ Beta ผมว่า คุณภาพของภาพก็ยังโอเคอยู่ แต่เรื่องคุณภาพเสียง...ควรได้รับการปรับปรุงครับ (ถ้าจะนำมาฉายในโรงเพราะเสียงค่อนข้างเบา) อีกอย่างคือ ซับไทเทิ้ลที่เป็นสีเหลืองค่อนข้างจะกลืนไปกับบางฉากในหนัง มีหนังหลายเรื่องที่ฉายด้วยระบบ Beta นี้ แต่ที่รู้สึกชัดเจนว่า ไม่ค่อยดีที่สุด ก็คือ The Proposition

ผลรางวัลหลักๆจากหนังที่เข้าร่วมการประกวดในเทศกาล World Film Festival 2006 ครั้งที่ 4

มาเริ่มกันเลยนะครับ...

รางวัลขวัญใจผู้ชม (People's Choice Award) โดยนับจากจำนวนตั๋วหนังที่มีคนซื้อเข้าชมมากที่สุด ซึ่งได้แก่หนังจีนย้อนยุค The Banquet หนังของผู้กำกับ Feng Xiaogang จากประเทศจีน

รางวัลขวัญใจคณะกรรมการ (Jury's Prize) ได้แก่ 12:08 East of Bucharest หนังของผู้กำกับ Corneliu Porumboiu จากประเทศโรมาเนีย

บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Script) ได้แก่ Seeds of Doubt หนังของผู้กำกับ Samir Nasr จากประเทศเยอรมัน

กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (Best Art Direction) ได้แก่ Iklimler (หรือชื่ออังกฤษ Climates) หนังของผู้กำกับ Nuri Bilge Ceylan จากประเทศตุรกี

และรางวัลสุดท้ายในเทศกาลนี้ก็คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Feature) ได้แก่ Isabella หนังของผู้กำกับ Pang Ho-Cheung จากฮ่องกง

ความรู้สึกของผมกับผลรางวัล ยอมรับว่า พอใจในทุกๆรางวัลครับ (ยกเว้นหนังจีนเรื่อง The Banquet ที่ไม่ได้ดู) เริ่มกันด้วย 12:08 East of Bucharest หนังอะไรกันเนี่ย ฮาหน้าตาย พร้อมไอเดียหนังที่ใช้ได้เลยนะนั่น สมควรได้ไปแล้วครับ ส่วน Seeds of Doubt บทหนังโอเคนะและเล่าเรื่องได้น่าติดตามดี แต่เหมือนบทหนัง ผมจะคุ้นๆจากเรื่องอื่นๆอยู่เหมือนกัน สำหรับ Iklimler สมควรได้ไปแล้ว ไม่ต้องพูดอะไรมาก ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้มีตะโกนเบาๆในใจ (ยังไงหว่า) และสุดท้าย Isabella ผมชอบบรรยากาศและอารมณ์ของหนังเรื่องนี้นะ

พูดคุยหนังที่ได้ดูมา

ในเทศกาล World Film Festival 2006 ครั้งที่ 4 นี้ ผมได้ดูภาพยนตร์ 30 เรื่องครับ โดยตอนที่ 2 นี้ยังมีอีก 15 เรื่องที่ผมได้ดูมา งั้นเรามาดูกันเลยว่า ผมได้ดูเรื่องไหนมาบ้าง หมายเหตุ ข้อความที่ผมเขียนไม่ได้ตีความลึกซึ้งอะไรมากและมีการเปิดเผยเนื้อหาของหนังด้วยนะครับ...แต่ไม่ใช่จุดหักมุมแรงๆของหนัง (ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็พูดคุยกันได้นะครับ)

***ความหมายของคะแนน***
8.0/10 คะแนน - รู้สึกดีและประทับใจใน "หลายๆอย่าง" ของหนังเรื่องนั้น คุ้มค่าทั้งเงินและเวลา (ดีใจที่ได้ดู...ในความรู้สึกผมนะ) ถ้าคะแนนมากกกว่านั้น...ก็รู้สึกดีและประทับใจขึ้นไปอีก
7.0/10 คะแนน - ผมรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้
6.0/10 คะแนน - หนังมี "อะไรบางอย่าง" ที่ทำให้พอใจขึ้นมา ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็ชอบขึ้นไปอีก
5.0/10 คะแนน - รู้สึกเฉยๆนะ ก็โอเคอยู่บ้าง ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็รู้สึกดีขึ้นไป
4.0/10 คะแนน - หนังมี "อะไรบางอย่าง" ที่เริ่มรู้สึกเสียอรรถรสในการชมไป ถ้าคะแนนมากกว่านั้น...ก็รู้สึกเสียอรรถรสน้อยลงไป
3.0/10 คะแนน - ผมรู้สึกผิดหวังขึ้นมา
2.5/10 คะแนน - หนังมีอะไร "หลายอย่าง" ที่ควรปรับปรุง ทำให้รู้สึกผิดหวังมากขึ้น เริ่มไม่คุ้มค่าเงินและเวลา และถ้ายิ่งคะแนนต่ำลงไปมากเท่าไหร่...ก็ยิ่งรู้สึกว่า ผิดหวังมากขึ้นเท่านั้น





Isbella

★★★★★★★★★★ 7.5/10

ผมเคยประทับใจกับผู้กำกับ Pang Ho-Cheung ในหนังเรื่อง Beyond our Ken มากกับอารมณ์หนังบนเกาะฮ่องกง เขาทำให้ผมเห็นถึง "การฉีกความจำเจของหนังฮ่องกงในแบบฉบับความรัก...ออกไปอย่างสิ้นเชิงและมีชั้นเชิงด้วย" มาในเรื่องนี้...ก็เป็นเนื้อหาในเกาะมาเก๊าก่อนวันที่โปรตุเกษจะคืนเกาะให้กับจีน (ดูท่าทางผู้กำกับจะถนัดเล่าเรื่องผ่าน"เกาะ"เก่งเหมือนกัน) หญิงคนหนึ่ง Yan ที่ Shing นายตำรวจซึ่งพัวพันกับการฉ่อโกงพามานอนด้วย(เหมือนกับหญิงทั่วๆไปที่ผ่านๆมา) แต่แล้ววันต่อมา Yan ก็บอกกับ Shing ว่า เธอเป็นลูกสาวเขา แล้วอย่างนี้ Shing จะจัดการยังไงกับเรื่องที่ Yan เล่า ผมชอบนางเอกในเรื่องนี้นะ Isabella leong ในบท Yan เห็นการแสดงของเธอแล้วรู้สึกเธอมีเสน่ห์เกินห้ามอยู่หน่อยๆ (แม้เธอจะอายุถึง 28 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังดูหน้าเด็กอยู่) ฉากที่เธอร้องเพลง...พร้อมเต้นแร้งเต้นกาตอนนั่งกินเบียร์กับ Shing ผมชอบจริงๆ แล้วก็ขำกับตอนที่ Yan แอบไปปิดแอร์ขณะที่ Shing กำลังมีอะไรกับสาวคนใหม่ที่เขาหิ้วมานอนในห้องด้วย ฉากที่ Shing และ Yan ปาขวดเบียร์ใส่เสาข้างถนนด้วยกันสองคน...ให้ความรู้สึกที่ผมเริ่มไม่แน่ใจเล็กๆแล้วว่า ตกลง Shing จะคิดยังไงกับ Yan และหนังก็ยังวนเวียนความคิดเช่นนั้นอยู่ในหัวผมจนจบเรื่องว่า ตกลงมันจะมีบทสรุปเช่นไร สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้จากผู้กำกับท่านนี้ก็คือ นักแสดงหญิงทุกคนที่เขาเลือกมาแสดงนำ Isabella leong (รวมทั้งนางเอกอีกสองคนใน Beyond our Ken) ต่างมีเสน่ห์ในความสวย ความน่ารัก และความเซ็กซี่ไปพร้อมๆกัน และยังเข้ากับอารมณ์หนังใน"ฉากบ้านเรือนแน่นๆติดกันเป็นพืดได้ดี" หนังหลายๆเรื่องที่ไม่มีบทสรุปแบบแน่ชัดกับการตัดสินใจระหว่างคนสองคน บางเรื่องก็ได้ดี บางเรื่องก็ทำไม่เตะตาบ้าง แต่เรื่องนี้มีอะไรที่ทำให้คนดูรู้สึกค้างคาอยู่ได้...ผมชอบอารมณ์แบบนี้นะ สุดท้ายครับ พระเอกของเรื่อง Chapman To ผู้กำกับก็ยังทำให้เขามีนาทีที่น่าจดจำได้





Ang Pagdadalaga ni Maximo Oliveros (The Blossoming of Maximo Oliveros)

★★★★★★★★★ 9.0/10

เรื่องราวของเด็กชายอายุ 12 ปีคนหนึ่งซึ่งเป็นกะเทย เขาอาศัยอยู่กับพ่อและพี่ชายสองคนในย่านสลัม พี่ทั้งสองเป็นนักเลง ในขณะที่พ่อก็เป็นโจรลักทรัพย์(มือถือ)ในละแวกแถวบ้าน วันหนึ่งเด็กชายวัย 12 ปีอย่างแม๊กซี่ (สดงโดย Nathan Lopez) เกิดไปตกหลุมรักกับตำรวจคนหนึ่ง (วิกเตอร์) ที่มีหน้าที่คอยปราบปรามอาชญกรรมย่านสลัมที่แม๊กซี่อาศัยอยู่เข้า จนถึงวันที่ตำรวจสาวเรื่องมาถึงครอบครัว Oliveros เพราะพี่ชายคนโตดันไปฆ่าชิงทรัพย์ชาวบ้าน ถึงคราวที่เด็กชายวัย 12 คนนี้ต้องเลือกทางเดินระหว่างความรักในวัยใสๆให้นายตำรวจซึ่งทำหน้าที่โดยสุจริตกับความรักที่มีต่อพี่ชายที่ถนอมแม๊กซี่ไม่ให้ใครมารังแก...รวมทั้งพ่อที่ดูแลเอาใจใส่แม๊กซี่อยู่ตลอดเวลา สุดท้ายแล้ว...หนังจะมีบทสรุปอย่างไร หนังเริ่มต้นมาได้ตลกก่อน...แล้วค่อยเลือกเล่าแบบเน้นอารมณ์ สำหรับความฮา...แค่ฉากเริ่มต้นกับท่าเดินของแม๊กซี่เดินก็ก๊ากแล้ว และยังจี้อย่างไม่ต้องบรรยายกับฉากที่เหล่าเด็กซึ่งเป็นกะเทยมาเล่นประกวดนางงามกัน Miss Wow "มิสว๊าว" โดยให้เพื่อนผู้หญิงแท้ๆมาเป็นพิธีกรให้ ฮากับชุดอลังการที่เหล่าเด็กๆหามาใส่ประกวดแข่งขันกันเอง (โดยเฉพาะแม๊กซี่ ผมนึกว่า รายการดาวล้านดวงช่วยหาชุดให้ซะอีก) ตอนที่พิธีกรสัมภาษณ์เด็กคนหนึ่งว่า ถ้าคุณได้สวมมงกุฏ คุณอยากทำอะไร กะเทยเด็กคนหนึ่งเลยบอกว่า "ขอคำถามนั้นใหม่อีกครั้งได้ไหม" เลียนแบบฉากประกวดได้จี้ดี

อ้อ มีฉากขำๆตอนที่แม๊กซี่เดินออกไปนอกบ้านกับพี่ชายสองคน แล้ว Bogs (พี่คนรอง) เดินโอบไหล่แม๊กซี่แบบนักเลงประมาณว่า "น้องกรูคือคนนี้...ใครจะทำไม" เห็นแล้วยิ้มๆได้เหมือนกัน หนังค่อนข้างใส่รายละเอียดของตัวแม๊กซี่ได้ดี จะสังเกตได้ว่า แม๊กซี่ชอบทำกับข้าว แม๊กซี่ชอบเย็บผ้า และแม๊กซี่ชอบถักเปียให้พี่ชายคนรอง เป็นต้น แต่ที่ชอบเกี่ยวกับนิสัยของแม๊กซี่ที่ทำได้ชัดเจนดี นั่นก็คือ เขาเป็นเด็กที่เชื่อฟังพ่อและพี่ชายอยู่มาก พอหนังเข้าสู่ช่วงหลัง ความอบอุ่นและเรื่องราวเกี่ยวกับอารมณ์ก็เริ่มเกิดขึ้น ตัวหนังไม่ได้รู้สึกว่า...จะเค้นอารมณ์กันมากเกินไป (มาแบบธรรมชาติและที่สำคัญ "ติดดิน") ฉากที่พี่ๆมาช่วยแม๊กซี่แต่งตัวตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนเป็นวันแรก...ดูอบอุ่นและน่าประทับใจ มันเป็นความรักความผูกพันธ์ในแบบนักเลงที่พี่ชายใจนักเลงสองคนเข้าใจตัวน้องสาว (ที่ใช้คำว่า น้องสาวเพราะเป็นครั้งแรกที่พี่ๆเรียกแม๊กซี่อย่างนั้น) แม้แต่ฉากตอนที่แม๊กซี่อกหักจากรักกับนายตำรวจ...ก็ยังได้กำลังใจจากพี่ชายคนรอง Bogs บนรถสองแถว รวมถึงฉากที่แม๊กซี่ร้องไห้อยู่ลำพังเพราะพี่สองคนกำลังจะออกไปล้างแค้นคนที่ฆ่าพ่อเขา แม๊กซี่คงกลัวการสูญเสียที่เพิ่มเข้ามาในชีวิตอีก (นับจากวิคเตอร์และพ่อ) ส่วนดนตรีประกอบในเรื่องด้วยเสียงดีดคล้ายกีต้าร์อะไรสักอย่าง...ผมไม่แน่ใจ แต่มันให้อารมณ์"ความติดดิน"กับวิถีชีวิตชาวบ้านในสลัมได้อย่างไม่ต้องอธิบายเลยจริงๆ และถ้าพูดถึงการเล่าเรื่อง "ความจริงใจใสซื่อบริสุทธิ์ในบรรยากาศชาวบ้าน" คือสิ่งที่หนังมีให้เห็นเกินพันเปอร์เซ็นต์...และผมชอบปัจจัยนี้พ่วงเข้าไปด้วย

สำหรับนักแสดงในเรื่องนี้ทุกคน...ต่างมีนาทีที่น่าจดจำ (โดยเฉพาะ Nathan Lopez ในบทแม๊กซี่และ Ping Medina ในบทพี่ชายคนรอง Bogs) หนังเรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นอีกว่า หนังดีอยู่ที่ "บทและการเล่าเรื่อง" ไม่ใช่การลงทุนมากมายอะไรเพราะหนังเรื่องนี้ใช้เวลาการถ่ายทำทั้งสิ้นเพียงแต่ 13 วันด้วยเงินเพียง 1 หมื่นดอลล่าร์เท่านั้น (และถึงแม้หนังเรื่องนี้จะมีภาพไม่ค่อยสวยก็ตาม) แต่กลายเป็นหนังทุนต่ำมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งในปีนี้...ตรงนี้นับถือ สุดท้ายครับ ฉากจบที่แม๊กซี่เดินไปโรงเรียนในเช้าวันแรก แล้วผ่านมาเจอวิคเตอร์(นายตำรวจที่เด็กอย่างแม๊กซี่แอบรัก)กำลังยืนรออยู่ข้างทาง...แล้วแม๊กซี่ก็เลือกเมินเฉยแบบยิ้มๆ เป็นการจบที่น่ารักและรู้สึกดีๆนะ เหตุผลที่ผมชอบการกระทำของแม๊กซี่ก็เพราะ จะเห็นได้ว่า เด็กวัย 12 กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นนั้น อยู่ในช่วงที่เริ่มมีความคิดและการตัดสินใจเป็นของตนเอง อารมณ์ชั่ววูบ อยากทำอะไร...ก็ทำในวัยรุ่น (แฝงความเอาแต่ใจในช่วงวัยเด็กอยู่ด้วย) การที่เขาเมินเฉย...มันแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเด็กคนนึงในช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น Coming of Age จากสิ่งที่แม๊กซี่ได้เจอมา...แบบตรงๆดี)





Mein Name Ist Eugen (My Name is Eugen)

★★★★★★★★★★ 5.5/10

เรื่องราวของแก๊งเด็กกวนประสาทสี่คนที่ออกตามหาคนในตำนานของหมู่บ้าน Fritz Buhler จากลายแทงที่ค้นพบ รวมทั้งการที่เด็กทั้งสี่ก่อเรื่องก่อราวไว้เยอะและกลัวพ่อแม่จะทำโทษ จึงถือโอกาสหนีไปพร้อมๆกันเลย จริงๆมุกสนุกในหนังเรื่องนี้ผมก็รู้สึกเพลินๆตามได้เหมือนกันกับความยียวนกวนประสาทของเหล่าเด็ก เช่น ตอนที่ Wrigle โดนคลอบศีรษะจากเกราะเหล็กโบราณ ตอนที่เด็กทั้งสี่ห้อยโหนก่อนตกลงมาจากหลังคา หรือจะเป็นตอนที่เหล่าเด็กๆร้องเพลงอยู่บนรถไฟก็ตาม (ซึ่งฉากร้องเพลงนี้ แม้จะมาช่วงสั้นๆ แต่ผมรู้สึกชอบมากที่สุดในหนังแล้ว) สำหรับความสนุกในมุกตลกที่เกิดจากความผิดพลาดของเหล่าแก๊งค์เด็กที่ทำไว้ทั้งหมดนั้น ทำไมผมไม่รู้สึกฮาเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ คือดูไปเรื่อยๆกับความใสๆบริสุทธิ์มากกว่า แต่ข้อดีของหนังเรื่องนี้ที่ผมชอบมีอยู่อย่างนึงครับ นั่นคือ การเดินเรื่องไม่ยืดยาด ค่อนข้างฉับไวดี





Folgeschaden (Seeds of Doubt)

★★★★★★★★★★ 7.0/10

นี่คือหนังเยอรมันเรื่องเดียวล่ะมั๊งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมกำลังดูหนังฮอลีวูดอยู่ เพราะเรื่องราวมันมีส่วนผสมของ"ความสงสัย"ในวิธีเดินเรื่องแบบอเมริกันอยู่เยอะ เรื่องของชายชาวแอลจีเรีย Tarik นักวิจัยเชื้อโรค(รวมถึงเชื้ออีโบล่าจากแอฟริกา)ในศูนย์วิจัยที่เยอรมัน วันหนึ่ง เขาโดนข้อหาพัวพันกับการวางระเบิดในฝรั่งเศส ข้อมูลทุกอย่าง...ทำให้ภรรยาของเขา Maya พลอยประสาทเสียไปด้วย และเธอเริ่มสงสัยว่า สามีของเธอจะเป็นผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมาหรือเปล่า และทุกอย่างจะเป็นจริงตามหลักฐานหรือไม่ เช่น ทำไมวีซ่าเข้าอเมริกาไม่ผ่าน ตัวอย่างเชื้ออีโบล่าสองตัวหายไปไหน เพื่อนของ Tarik ชื่อ Reza ที่มาอาศัยอยู่ในบ้าน มีพฤติกรรมพิรุธ การที่ Tarik ถอนเงินในบัญชี Maya ออกไปหมด หรือจะเป็นภาพถ่ายที่ Tarik เคยร่วมอยู่ในงานแต่งงานของกลุ่มมุสลิมต้องสงสัยในอดีตก็ตาม ทุกอย่างที่หนังเดินเรื่องมา...ชวนให้ผมรู้สึกถึง มูลเหตุแห่งความสงสัยตามชื่อหนังได้ (เข้าใจหาชื่อดี Seeds of Doubt) แต่บทสรุปของหนังดูจะเรียบง่ายไปนิดนึง (ซึ่งก็เป็นเจตนาของผู้กำกับเองจริงๆที่ต้องการให้หนังมีบทสรุปแบบนั้น...ตามที่เขากล่าวไว้หลังหนังฉายจบ) แต่โดยส่วนตัวผม ถ้าหนังทิ้งปมอะไรบางอย่างให้คนดูได้คิดไม่ตกกับเหตุการณ์ในเรื่องว่า ตกลงมันเป็นจริงหรือไม่ หนังน่าจะได้อะไรที่มันคาใจและติดไม้ติดมืออยู่ในความคิดเราได้...เมื่อออกจากโรงหนังเพราะโครงเรื่องเล่นกับความสงสัยอยู่ตลอดเวลาแล้ว (อาจจะคงอารมณ์เรียบง่าย"ในความสงสัย"แบบที่ผู้กำกับต้องการก็ได้...ทิ้งท้ายเป็นปริศนาเพิ่มเติมขึ้นมา) อ้อ...พูดถึงช่วงสัมภาษณ์ Q&A ผู้กำกับ Samir Nasr เล่าว่า เขาใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในหนังอยู่ฉากนึง เนื่องจากผู้กำกับท่านนี้เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยในเยอรมัน แต่พูดเยอรมันได้คล่อง เขาเลยเลือกอะไรบางอย่างใส่เข้าไปเพื่อสร้างความคลุมเคลือให้กับหนัง ทันทีที่พูดจบ ประโยคที่เพื่อน Maya พูดกับ Tarik ในงานวันเกิดว่า "สำเนียงของคุณทำให้ฉันนึกว่า คุณเป็นคนฝรั่งเศสเสมอ" ลอยเข้าในหัวผมทันที





Corneliu Porumboiu (12:08 East of Bucharest)

★★★★★★★★★★ 7.5/10

ดูหนังเรื่องนี้แล้วงงมากเพราะทีแรกนึกว่า จะเป็นการโต้คารมปะทะวาจากันอย่างซีเรียสจริงจังกับประเด็นสงครามในโรมาเนียเพื่อขับไล่ประธานาธิบดีให้ออกนอกประเทศเมื่อปี พ.ศ.2532 โดยรายการทีวีช่องหนึ่งได้รำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วยการเชิญชายสองคนที่อยู่ในเหตุการณ์มาร่วมสนทนาถ่ายทอดสดครั้งนี้ แต่ทุกอย่างกลับพลิกผันเพราะ"ชาวบ้านที่โทรเข้ามาในรายการสด"จริงๆ หนังชวนให้หัวเราะได้หลายๆครั้งกับสิ่งที่ชาวบ้านโทรเข้ามาร่วมพูดคุยในรายการ เพราะแทนที่ชาวบ้านจะร่วมถกเถียงไปกับเรื่องราวในอดีต...กลับกลายเป็นต่อว่าและสงสัยพฤติกรรมของชายสองคนที่เข้ามาพูดคุย จนพิธีกรอดสงสัยตามไม่ได้ และการสนทนาก็เปลี่ยนประเด็นไปทันที (จนผมนึกว่า มันคือหนังตลกคาเฟ่เลยนะนั่น) อย่างเช่น "มีหญิงอยู่คนนึงโทรเข้ามาบอกว่า "เอ๊ะ เธออยู่ในเหตุการณ์วันจลาจลด้วยหรือ ฉันจำได้ว่า เธอเมาหัวราน้ำอยู่ในบาร์หนิ" เจ้าหน้าที่ดูแลตู้เอกสารอีกคนโทรเข้ามา "ผมอยู่แถวนั้นตลอด แต่ผมไม่เห็นเขาทั้งสองนะ แม้ผมจะไปธุระแป๊บนึง แต่ผมก็ส่งเอกสารทางเฮลิปคอปเตอร์นะ" (อันนี้คิดได้ยังไง By helicopter) รวมทั้งประเด็นที่ว่า ก่อนหรือหลังเวลาเที่ยง 12.08 ที่ชายทั้งสองอยู่ในเหตุการณ์จลาจล...ก็ยังพูดกันไม่เลิก หนังใช้สถานที่เดียวคือ ห้องส่ง แต่มีบทสนทนาที่คนดูพร้อมจะหัวเราะได้ตลอดเพราะมุกที่ไหลออกมาก็ได้ผลอย่างต่อเนื่องในอารมณ์หน้าตาย แถมยังมีการตัดเข้าโฆษณาเหมือนรายการจริงทุกอย่างด้วย ส่วนการแสดงสีหน้าของชายทั้งสาม(สองผู้รับเชิญและหนึ่งพิธีกร)ที่ดูจริงจังและขึงขังกันตลอด...เลยกลายเป็นตลกหน้าตายอย่างไม่ต้องพูดถึง สุดท้ายครับ นึกๆแล้วก็อยากให้นักแสดงตลกไทยที่คิดบทสนทนาเจ๋งๆ แล้วลองหาแนวทางใหม่ๆเหมือนหนังดูบ้างนะ นึกๆแล้วก็ยิ้มกับไอเดียน่ารักๆของผู้กำกับชาวโรมาเนีย Corneliu Porumboiu ที่ทั้งคิดบทและกำกับเองทุกอย่าง





Cease Fire (Atash Bas)

★★★★★★★★★★ 5.5/10

เนื้อหาของหนังอิหร่านเรื่องนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่มากมายครับกับชายหญิงสองคน ชาย Yousef และหญิง Sayeh ในสังคมคนมีตังส์ที่เพิ่งแต่งงานข้าวใหม่ปลามันและอาศัยอยู่ในบ้านหรูกลางกรุงเตหะราน แต่หลังแต่งงาน...ต่างฝ่ายต่างเริ่มไม่ยอมกัน มีทิฐิและต้องการเอาชนะอีกฝ่าย (ประมาณว่า "ขิงก็รา ข่าก็แรง") คนนึงปาแก้ว...อีกคนก็ปากลับ (แรกๆ ฉากนี้ก็ดูตลกดี แต่พอนานๆไป...เริ่มฝืดๆยังไงไม่รู้เพราะปากันไปปากันมากินเวลาเป็นนาทีๆเลย ส่วนฉากหั่นเตียงเป็นสองท่อน...ผมว่าฝืดนะนั่น) หรือจะเป็นคนนึงฉีกเสื้อของอีกฝ่าย...อีกคนก็เอาเสื้อของอีกคนไปแจกชาวบ้านซะเลย อีกคนทำได้...อีกฝ่ายก็ต้องทำได้เหมือนกัน เป็นอย่างนี้กันไปตลอด ตัวหนังสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในยุคปัจจุบันยิ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างก็มีฐานะ มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน...จึงคิดว่า ต่างก็มีหนทางเป็นของตนเอง ไม่ต้องง้อก็ได้วะ อารมณ์ขันในการเดินเรื่องก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นระยะ ผมชอบเรื่องราวจิตแพทย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับฉากที่ Yousef เปิดวีดีโอดู...แล้วรับรู้ถึงสมองซีกซ้ายคุมอารมณ์ขณะที่สมองซีกขวาที่คุมเหตุผล (อันนี้ใครที่เรียนมาคงพอจะจำกันได้) แต่พอ Yousef ร้องไห้ไม่หยุดออกมากับฉากที่เขาเปลี่ยนมาเขียนมือซ้าย ตามความรู้สึกผม ถ้าให้เขานิ่งอึ้งน้ำตาไหล...หนังน่าจะดูดีกว่านะ การร้องไห้แบบไม่หยุดของ Yousef มันดูเรียกอารมณ์มากไปหน่อยเพราะพฤติกรรมของเขาที่ผ่านมาดูจะขี้เล่นและไม่ยอมอยู่ท่าเดียว...ไม่น่าจะเปลี่ยนเร็วได้ขนาดนี้ (ในความคิดผมนะ) สำหรับฉากจบของหนังก็เลือกแบบตลกกึ่งประทับใจกับฉากพ่อแง่แม่งอนทะเลาะกันพอหอมปากหอมคอต่อหน้าจิตแพทย์ โดยรวม ถ้าใครชอบหนังในมุมมองปรับทัศนคติเข้าหากันในกรณีปัญหาชีวิตคู่และชอบดูการเดินเรื่องแบบสนุกๆ..เรื่องนี้ก็น่าเป็นตัวเลือกได้เหมือนกัน





Sketches of Frank Gehry

★★★★★★★★★★ 7.0/10

ผมไม่คิดว่าผู้กำกับ ซิดนีย์ พอลแล็ต (ผู้สร้างหนังออสการ์ Out of Africa และหนังกะเทย Toosie) จะสามารถเลือกประวัติใครคนหนึ่งมาทำเป็นสารคดีได้อย่างน่าติดตาม สารคดีเรื่องนี้เล่าชีวิตการทำงานและผลงานของชายคนหนึ่งที่ชื่อ Frank O. Gehry เขาเป็นนักออกแบบสถาปัตยกรรม"แบบพิลึก"มือหนึ่งของโลกในเวลานี้เลย สารคดีเรื่องนี้ยังสนุกต่อไปด้วยการนำผู้ร่วมงานของเขาแต่ละคนมาเล่าความประทับใจที่มีต่อตัวเขา (ใครที่อยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมก่อสร้างน่าจะรู้จักพวกเขาเป็นอย่างดี รวมทั้งดาราอย่าง เดนนิส ฮอปเปอร์ ที่เข้ามาร่วมสัมภาษณ์ด้วย) พูดถึงผลงานของเขาที่ผมเห็นในสารคดี ผทชอบก็คือ ตึก Guggenheim Museum ที่เมือง Bilbao เหล่าบรรดาโมเดลตัวอย่างงานต่างๆ และเหล่าปลา(เน้นที่เกล็ด)ซึ่ง Frank ทำมันเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะและดวงไฟติดผนัง...สวยงามดีครับ มีการตัดต่อของหนังอยู่ช่วงหนึ่งที่ Frank เข้าไปในลานน้ำแข็งฮ็อคกี้และลานสเก็ต เขาเข้าไปเชียร์เหล่านักกีฬาอยู่ ทีแรกผมเข้าใจว่า สารคดีกำลังจะพูดถึงความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับกีฬาฮ๊อคกี้ แต่พอกล้องถ่ายมานอกสถานที่ลานน้ำแข็งที่เขาเชียร์อยู่ด้านใน แล้วเริ่มพูดถึงตัวสิ่งก่อสร้าง...ผมรู้สึกประทับใจปนขนลุกนิดๆ (มันได้อารมณ์และเทคนิคการเล่าเรื่อง...โดยที่ไม่บอกคนดูก่อนดีครับ) สารคดีเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของเขาไปเรื่อยๆสบายๆไม่รีบร้อนอะไร แต่คนดูอาจหลงเพลิดเพลินไปกับสถานที่ต่างๆที่เขาเคยออกแบบอย่างประหลาดๆไปตั้งแต่ตอนไหนแล้วไม่รู้...ก็ได้ อ้อ เพื่อนร่วมงานของ Frank ที่เป็นชาวเอเชีย ไม่แน่ใจว่า เขาเป็นคนชาติไหน แต่หน้าตาตายๆปนฮาดี สุดท้ายครับ ถ้าคุณจะสร้างบ้านเป็นเรือนหอล่ะก้อ ควรหลีกเลี่ยงนักสถาปัตย์คนนี้เอาไว้เป็นดีเพราะบ้านของคุณอาจจะเป็นทรงเจ็ดเหลี่ยมหรือไม่ก็ทรงปลาดาวก็ได้





My Brother Nikhil

★★★★★★★★★★ 7.0/10

หนังเล่าเรื่องผ่านคำบอกเล่าของคนในครอบครัว(ซึ่งเป็นนักแสดงสมมุติ)ย้อนกลับไปในราวปี 2530-31 นักว่ายน้ำที่มีชื่อเสียงในเมือง Goa อย่าง Nikhil Kapoor ซึ่งมีพ่อและแม่คอยให้การสนับสนุน และพี่สาวที่เข้าใจเขาทุกอย่าง อย่างเดียวที่เขาไม่สามารถทำตามที่พ่อต้องการได้ก็คือ การแต่งงานกับหญิงที่ทางบ้านหมายปองและเขาก็รู้จักมานาน อยู่มาวันนึง Nikhil Kapoor ถูกพบว่า เลือดเขามีเชื้อเอชไอวี ทุกคนเริ่มรังเกียจและมองเขาเป็นเหมือนตัวเชื้อโรค เขาถูกกักตัวเหมือนนักโทษเนื่องจาก Nikhil เป็นคนแรกในเมืองนี้ที่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ และเรื่องก็แดงขึ้นมาอีกว่า เขาเป็นพวกรักร่วมเพศ ครอบครัวเขา(โดยเฉพาะพ่อ)จึงต้องหลบหนีหน้าผู้คนไปที่เมืองบอมเบย์ มีเพียงพี่สาวกับแฟนเขาที่เพิ่งแต่งงาน...รวมทั้งคนรักเพื่อนชายของ Nikhil (ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน แต่เพื่อนเขาไม่ได้รับเชื้อ)เท่านั้นที่อยู่คอยให้กำลังใจเคียงข้าง Nikhil Kapoor ในเวลาเจ็บไข้จวบจนวาระสุดท้าย สิ่งแรกที่ผมขอบอกก่อนเลยก็คือ ไม่คิดว่า หนังเรื่องนี้จะมาจากประเทศอินเดียเพราะอารมณ์หนังและการเล่าเรื่อง...มันดูดีเกินกว่าที่เคยเห็นในหนังอินเดียหลายๆเรื่อง (อีกอย่างนึงก็คือ ผู้กำกับ Onir ทำหนังเป็นครั้งแรก หลังจากมีการสัมภาษณ์หลังฉายหนังจบ)

ตัวหนังไม่ได้เน้นไปที่ความรักของชายสองคนเลย แต่เน้นไปที่ผลกระทบที่มีต่อตัว Nikhil Kapoor ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมหรือครอบครัว กระแสต่อต้านและการโดนปฏิบัติยิ่งกว่าเชื้ออีโบล่า(ที่หายใจก็ติดอีกแล้ว) รวมทั้งความหวังและกำลังใจที่หนังมอบให้ บรรยากาศของหนังเดินเรื่องคล้ายกึ่งสารคดีนิดๆ ยอมรับว่า หนังมีฉาก"จงใจ"ฟูมฟายน้ำตาและเรียกอารมณ์อยู่หลายครั้งซึ่งเห็นได้ตลอดเรื่อง (ได้ยินเสียงฝรั่งร้องไห้กระซิกๆข้างผมด้วย) แม้หนังจะเล่าเรื่องในอารมณ์ค่อนข้างสวยงามไปนิดนึง แต่ก็เล่ารายละเอียดของชายคนนึงได้ค่อนข้างครบ แปลกนะครับที่เพลงของหนังเรื่องนี้เพราะก็จริง...ในครั้งแรก แต่เปิดบ่อยเหมือนกัน...จนบางครั้งผมรู้สึกว่า มันมากเกินไปหรือเปล่าที่จะต้องอธิบายความรักความผูกพันธ์ของคนในครอบครัวต่อคนที่ติดเชื้อเอชไอวีด้วยเพลงกันอยู่เป็นระยะๆ อารมณ์หนังในการเล่าเรื่องอาจไม่แปลกใหม่มากนักสำหรับผมจากหนังทั่วโลกที่เคยเห็น แต่อาจแปลกใหม่สำหรับวิธีการเล่าเพราะมันมาจากอินเดีย สุดท้ายครับ ขอชมซับไทเทิลของหนังเรื่องนี้ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เยี่ยมมาก เลือกคำมาใช้ได้หลากหลายและเข้ากับสถานการณ์จริง คือไม่ค่อยเห็นคำที่เป็นกลางๆในการตีึความมากนัก





Karov La Bayit (Close to Home)

★★★★★★★★★★ 8.0/10

หนังจากประเทศอิสราเอล เรื่องราวของผู้หญิงสองคนในฐานะตำรวจหญิงซึ่งโดนจับคู่ให้มาทำหน้าที่ตรวจหนังสือเดินทางเข้าออกกรุงเยรูซาเลมของผู้คนในอิสราเอล (โดยเฉพาะชาวอาหรับหรือปาเลสไตน์) หญิงทั้งสองก็คือ Smadar และ Mirit คนแรก Mirit จริงจังกับงานที่ได้มา ในขณะที่ Smadar ไม่สนใจในหน้าที่ รักสวยรักงามและชอบความสบาย ทุกอย่างของคนทั้งสองเริ่มเปลี่ยนเมื่อเกิดระเบิดขึ้นจริงในย่านที่เธอได้รับการดูแล และส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนทั้งสองทันที หนังเรื่องนี้ผมชอบในระดับ 7 แล้วนะแต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ รู้สึกว่า มันมีพัฒนาของตัวละครหญิงสองคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำได้ดี และไม่พรวดพราดแบบทะเลาะให้เกลียดกันไปเลย เหมือนน้ำค่อยๆซึมมากกว่า (ผมชอบเหตุการณ์และความเปลี่ยนไปของคนทั้งสองแบบทีละนิดละหน่อยมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มสลับเปลี่ยนนิสัยกันเองแบบช้าๆ นับถือผู้กำกับทั้งสอง Dalia Hager และ Vidi Bilu เลยกับอารมณ์หนังตรงนี้) และที่ตลกก็คือ เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเรื่องราวของผู้หญิงผู้หญิงจริงๆ(ที่เล็กๆน้อยๆแบบไม่จริงจัง แต่ก็ต่างจากความไม่สงบที่พวกเธอเผชิญอยู่จริงๆ)ที่เข้ามาสร้างรอยร้าวระหว่างคนทั้งสอง เช่น ร้านขายหมวก ร้านทำผม เรื่องชายคนที่มาช่วย Marit จนพวกเธอสะกดรอยตามเพราะความหลงรัก (พูดถึงเรื่องชายที่ Marit แอบตามไปจนเจอ ผมยิ้มๆตอนที่ Smadar ไปหาที่อพาร์ทเมนท์เขา แล้วพูดถึงเรื่องบุหรี่ Light) หรือจะเป็นเรื่องที่ Marit แอบไปเต้นรำกับชายคนหนึ่งก็ตาม

อีกฉากที่ชอบก็คือ ตอนที่ผู้คุมตาม Smadar ไปยังสถานที่จริงบนรถแล้วสอนให้เธอดูว่า คนอาหรับหน้าตาเป็นยังไง...รวมทั้งเหตุการณ์หลังจากผู้คุมลงรถไปแล้ว เมื่อชายวัยกลางคนคนหนึ่งทดสอบหญิงทั้งสองว่า ทำไมไม่มีใครสนใจกระเป๋าใบนี้เลย...ถ้าเป็นระเบิดจะว่ายังไง ยอมรับว่า ในรอบผม...มีคนดูภาพยนตร์เรื่องนี้เยอะมาก แบบเต็มโรงและต้องเสริมเก้าอี้กันทีเดียว และแม้เนื้อหาหนังจะไม่เข้มข้นหรือดูจริงจังเหมือนเรื่อง Paradise Now แต่ Close to Home ก็ทำให้ผมนึกถึงชายระเบิดพลีชีพได้ในอีกแง่มุมนึง สุดท้ายครับ ผมชอบฉากจบของหนังที่ Smadar และ Mirit ขี่มอร์เตอร์ไซต์ไปตามถนนเรื่อยๆ ใบหน้าของคนทั้งสองในเรื่องโคตรสวยเลย...แถมยังทำหน้านิ่งได้ดี (พร้อมแสงแดดที่ตกกระทบลงมาที่ใบหน้าสลับไปกับเงาในที่ร่ม...ขณะที่มอร์เตอร์ไซต์วิ่งไปเรื่อยๆ) หนังยังเลือกเอาเสียงของเหตุการณ์ท้ายเรื่องกับฉากตรวจหนังสือเดินทางของชายต้องสงสัยคนนึงแต่ไม่ทำให้คนดูเห็นภาพเหตุการณ์ นอกจากเสียงทะเลาะกันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (ยอมรับว่า นึกภาพตามเลยนะครับกับเสียงทะเลาะรุนแรงตรงนั้น)





Breakfast on Pluto

★★★★★★★★★★ 7.5/10

หนังเรื่องนี้ตลกแบบแปลกๆแต่เดินเรื่องได้ฮาและน่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะการแสดงของ Cillian Murphy ในบท Kitten สาวประเภทสองในเรื่องที่ทำหน้าทำตาได้อย่างกวนเท้าดีมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนดูสนุกไปกับการแสดงของเขาได้เต็มร้อย...เมื่อคนดูดูไปได้ระยะนึง เรื่องราวของหนังในช่วงยุค 60 และ 70 ซึ่ง Kitten ก็คือชายคนหนึ่งที่โดนแม่จริงๆทิ้งไปตั้งแต่ยังแบเบาะ แล้วมีคนมาทิ้งให้บาทหลวงที่หน้าโบสถ์ เขาก็เลยนำไปฝากให้หญิงในหมู่บ้านช่วยเลี้ยง Kitten โตขึ้นมาพร้อมความฉลาดเป็นกรด ความมั่นใจในตัวเองเต็มร้อย ในขณะเดียวกัน...ก็มองโลกในแง่(เหมือนจะ)ดีอีกด้วย แต่ความที่ Kitten หลงไหลไปกับการแต่งหน้าและแต่งกายแบบหญิง (รวมทั้งคำพูดคำจาแบบขวานผ่าซากและไม่ยอมใครอยู่ร่ำไป) เธอจึงถูกทางบ้านไล่ออกจากบ้าน Kitten จึงเริ่มเดินทางสู่ลอนดอนเพื่อตามหาแม่ที่แท้จริงตามที่เธอเคยได้ยินมา เหตุการณ์ต่างๆระหว่างทาง...จึงเกิดขึ้น พูดถึงฉากตลก ผมแอบยิ้มๆกับตอนที่ Cillian Murphy ทำเสียงเศร้าพร้อมเสียง"เหมียวเหมียว"เป็นแมวเรียกนักร้องนำในวงที่ตกหลุมรัก Kitten และยังฮาสุดๆกับตอนที่ Kitten หย่อนคำถามลงไปว่า "ที่ไหนในเมืองนี้...มีศัลยกรรมแปลงเพศดีที่สุด" เป็นต้น

เพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่องนี้หาได้เข้ากับอารมณ์และบรรยากาศหนังในแต่ละฉากได้ค่อนข้างลงตัวและสนุก อย่างเช่นเพลง Wig Wam Bam ตอนที่ Kitten เต้นอยู่ในบาร์ เพลงเก่าที่นำมาใส่ในหนังอย่าง Chirpy Chirpy Cheep Cheep หรือเพลง Feelings กับฉากที่ชายวัยกลางคนกำลังลูบไล้ไปที่ตัว Kitten ในรถ เหลือบไปเหลือบเจอชื่อผู้กำกับ Neil Jordan เข้า ก็รู้สึกยิ้มๆดีเหมือนกันนะครับเพราะตอนที่หนังเรื่อง The Crying Game ดังใหม่ๆเมื่อสิบสี่ปีก่อน ผลงานของเขาเตะตาผมทันที...แม้ช่วงหลังๆ หนังเขาจะไม่ค่อยโด่งดังเท่าไหร่ก็ตาม สิ่งนึงที่สังเกตได้จากหนังเรื่องนี้ก็คือ ตัวหนังจะไม่บอกว่า การเป็นกะเทยอย่างที่ Kitten เป็นอยู่นั้น...รวมทั้งการกระทำของเธอที่ดูเพี้ยนๆและแปลกๆไปพร้อมกัน...เป็นสิ่งถูกหรือผิด แต่หนังให้คนดูวัดความรู้สึกของ Kitten จากสิ่งที่เขาทำในหนังเอง อ้อ...การแต่งกายของเธอ...ทำให้ผมนึกถึงความรักสวยรักงามของ Patrick Swayze ใน To Wong Foo Thanks for Everything, Julie Newmar อีกด้วย และถ้าสังเกตให้ดี "ความเปลี่ยนแปลง"จะถูกเน้นย้ำในหนังเรื่องนี้สูงทีเดียวเพราะในช่วงยุค 60 และ 70 โลกมีการพัฒนาในหลายๆจุด ไม่ว่าจะเป็นภายใน...พฤติกรรมและความคิดของผู้คน รวมทั้งปัจจัยภายนอก...สังคมและความบันเทิง ทุกอย่างเห็นได้ในหนังเรื่องนี้เลย





Gonul Yarasi (Lovelorn)

★★★★★★★★★★ 7.5/10

ชายแก่คนนึง Nazim ที่มีอุดมการณ์ของตัวเองสูงมากและไม่ค่อยได้บอกเล่าอะไรเกี่ยวกับตัวเขาเท่าไหร่ (นอกจากการกระทำอย่างเดียว) เขาจากครอบครัวไปเป็นอาจารย์อยู่ในหมู่บ้านอันไกลโพ้นเป็นเวลานับสิบปี...จนกระทั่งเขาเกษียณ และกลับมายังบ้านเกิดใหม่อีกครั้งในเมืองหลวง และหาเงินด้วยการขับรถแท๊กซี่ Nazim เจอนักร้องสาวคนนึง Dünya เธอเป็นนักร้องอยู่ในบาร์แห่งหนึ่ง ชายแก่เลยรับอาสาเป็นคนรับคนส่งเธอ จนกระทั่งวันหนึ่งสามีอารมณ์ร้ายของเธอ Halil กลับมาและจะเอาตัวลูกสาวไป เธอไม่ยอม เรื่องราวหลากหลายหลังจากนั้น...จึงเกิดขึ้น พูดถึงหนังเรื่องนี้...มันมีจุดที่ผมไม่คาดคิดเกิดขึ้นตลอดเรื่องจริงๆ แรกๆมันเหมือนจะเป็นหนังชีวิตทั่วๆไปที่ขึ้นต้นมา...ซึ่งผมรู้สึกเฉยๆนะกับช่วงเริ่มต้น ผมนึกว่า จะเป็นเรื่องราวระหว่างครูและนักเรียนซะอีก(ประมาณ Dead Poets Society หรือ Mr.Holland Opus หรือเปล่า)เพราะฉากแรกเริ่มต้น...ก็มีอารมณ์แบบนั้นเต็มร้อยแล้ว แต่เอ๊ะ ดูไปดูมา...กลับไม่ใช่ พอตัว Nazim กลับมาเป็นคนขับรถในเมือง...แล้วเจอ Dünya ทีแรกผมก็นึกว่า หนังจะเล่าเกี่ยวกับความเหงาของชายสูงอายุปลดเกษียณกับหญิงสาวที่หาเช้ากินค่ำ (อย่าง เฉิ่ม หรือเปล่า หรือจะมาในอารมณ์เหงาๆแบบ Lost in Translation กันแน่) ยิ่งตอนที่ Dünya ต้องอยู่กับ Nazim และไปไหนมาไหนด้วยกัน...ผมนึกว่าจะกลายเป็นหนังความสัมพันธ์ต่างวัยขึ้นมาด้วยซ้ำ (คล้ายๆ As good as it gets) แต่พอสามีตัวจริง Halil มาแล้วอาละวาดในบาร์จน Dünya ได้รับบาดเจ็บ หลังจากนั้น ฉากที่ Halil ไปยืนอยู่กลางถนนเห็นลูกสาวของเขาท่ามกลางผู้คน ผมนึกว่าหนังจะพลิกจากอารมณ์ชีวิตไปเป็นหนังระทึกขวัญ (ประมาณ Sleeping with the enemy)

แต่ก็ไม่ใช่อีก ยิ่งพอดูไปเรื่อยๆ...มันก็ยิ่งรู้สึกว่า บทหนังพลิกไปพลิกมาอยู่ตลอด ดูไปดูมาหนังชีวิตเรื่องนี้เลยมี"ความหลากหลาย"ในตัวของมันเองจริงๆ...จนวินาทีสุดท้าย แม้แต่ฉากจบที่ร้านอาหาร...ผมยังไม่คิดว่า Halil จะตัดสินใจทำอย่างนั้นกับ Dünya มีอยู่ฉากนึงที่ผมชอบครับ นั่นคือ ตอนที่ชายคนหนึ่งมาขอ Piraye (ลูกสาวของ Nazim) แต่งงาน แล้วลูกชายคนโตของ Nazim (Memet) ต้องทะเลาะเสียงดังกับพ่อเขา...หลังจากชายที่มาสู่ขอกลับไปอย่างไม่สบอารมณ์แล้วเพราะพ่อไปพูดหักหน้าครอบครัวเกี่ยวกับอาชีพที่คนขับแท๊กซี่ที่เขาทำ พอถึงตอนที่ลูกสาว Piraye เข้ามาพูดต่อกับพ่อ...ที่ในอดีตไม่ได้พาเธอไปหาหมอ (ตอนที่เธอยังเป็นเด็ก) จนทำให้เธอไม่สามารถมีลูกได้ในตอนโตและเธอก็ไม่เข้าใจตัวพ่อเลยว่า ทำไมทุ่มเทและรักคนอื่นมากกว่าคนในครอบครัวถึงขนาดนี้ ผมชอบการแสดงและบทพูดของ Özgür Devin Cinar ในบท Piraye กับฉากนี้นะครับ มันเป็นบทพูดที่ดีมากและเธอก็แสดงได้ดี ส่วน Meltem Cumbul ในบท Dünya เธอเป็นตัวเอกของเรื่องและให้การแสดงที่เป็นธรรมชาติเช่นกัน หนังเลือกบทสรุปที่ดีนะครับในตอนสุดท้ายที่ Nazim นำลูกของ Dünya มาฝากให้ Piraye เลี้ยง...เสมือนเป็นการชดเชยทางอ้อมได้บ้างเล็กๆน้อยๆจากปมชีวิตในอดีตของ Piraye ที่หายไปจนถึงทุกวันนี้

สุดท้ายครับ มีอยู่ฉากนึง...ตอนที่ Dünya กำลังจะกลับไปอยู่กับสามีเก่าเธอ เธอถาม Nazim ว่า ไม่มีตัวเลือกที่สามให้กับเธอเลยหรือ (เหมือนเธอไม่อยากไป) ผมนั่งนิ่งภาวนาอย่าให้ Nazim พูดทางเลือกที่สามออกมาว่า "ให้อยู่กับเขา" อะไรประมาณนี้ เพราะถ้าพูดออกมา...ผมคงชอบหนังเรื่องนี้ลดลงไปทันที ซึ่งหนังก็เดินได้ถูกทางแล้วครับเพราะถ้า Nazim พูดออกมาจริงๆ ผมว่า หนังเรื่องนี้จะไม่ฉีกความจำเจออกไปจากหนังชีวิตที่ผ่านๆมาเลย และเมื่อผมดูจบ...หนังมีพล๊อตเรื่องเล็กๆน้อยๆ (ซัพพล็อต) อยู่มากมายให้น่าติดตาม และก็อยู่เหนือระดับหนังชีวิตทั่วๆไปของหนังชีวิตจากตุรกีเท่าที่ผมเคยดูด้วยครับ สำหรับช่วงสัมภาษณ์หลังหนังฉายจบ (Q&A) นางเอกของเรื่อง Meltem Cumbul มาร่วมในงานด้วยครับ ตัวจริงเธอสวยดีแถมยิ้มน่ารักด้วย ผมมีคำถามถามเธอไปคำถามนึงว่า ทำไม Nazim จึงใช้ชีวิตอย่างนั้น คือไม่ค่อยสนใจคนในครอบครัวเลย...นอกจากคนอื่นอย่างเดียว มันน่าจะควบคู่ไปทั้งสองอย่างมากกว่า คือพฤติกรรมในหนังไม่บ่งบอกอะไรชัดเจนถึงเหตุและผลที่ต้องทำอย่างนั้น...เลยทำให้ผมไม่ค่อยเข้าใจความคิดของชายคนนี้ เธอเลยตอบผมว่า "ผู้ชายตุรกีก็อย่างนี้แหละ อย่าเอาเหตุผลเลย" ผมงงทีแรก...แล้วก็ยิ้มแบบฮาๆในเวลาต่อมา





Oda do radosci (Ode to Joy)

★★★★★★★★★★ 8.0/10

โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างชอบอารมณ์ที่สอดคล้องกันของหนังจากโปแลนด์ทั้งสามเรื่องนี้โดยผูกเนื้อหาให้เป็นเรื่องเดียว (จากฝีมือของผู้กำกับสามคนในแต่ละตอน Anna Kazejak-Dawid Jan Komasa และ Maciej Migas) เรื่องแรก หญิงสาว Aga ที่ความฝันลงทุนเปิดร้านทำผมจากเงินที่เก็บหอมรอมริบมา...ต้องพังทะลายลงจากเหตุการณ์จลาจลปฏิวิติแรงงาน(ที่พ่อเธอมีส่วนร่วม)ในตอน Silesia สอง เด็กหนุ่มหัวใหม่ Pikaczu กับความคิดที่อิสระมากขึ้นกว่ายุคก่อน เขาต้องการสร้างฝันให้เป็นจริงด้วยการเป็นนักร้องเพลงฮิพฮ็อพมีชื่อ แต่โดนพ่อของแฟนสาวขัดขวางในตอน Warsaw และสุดท้าย หนุ่มชาวประมง Eryk ซึ่งผลกระทบของตัวพ่อเขาที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะเฝ้าหวลนึกถึงแต่เรื่องในอดีต...ส่งผลกับการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตของ Eryk ในตอนที่มีชื่อว่า The Sea โดยทั้งหมดมีประเด็นที่ว่า คนทั้งสามต้องการหลุดพ้นจากสังคม(ซึ่งมีระบบทุนนิยมเป็นฉากหลัง)ด้วยการออกนอกประเทศ หนังทำให้ตอนท้ายเรื่อง...คนทั้งสามได้กลับมาพบกันด้วยความบังเอิญอีกครั้งในรถคันหนึ่ง (นึกถึงละครเรื่อง หลายชีวิต เลยครับที่ตอนจบทุกคนก็ไปอยู่ที่เรือลำเดียวกัน เพียงแต่หนังจากโปแลนด์เรื่องนี้ ไม่มีใครตายนะ)

สิ่งหนึ่งที่หนังเลือกสื่อก็คือ เน้นไปที่ตัวผู้ใหญ่ที่ความคิดและการกระทำของพวกเขาส่งผลให้วัยรุ่นทั้งสาม...อยากจะหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงในโปแลนด์เพราะความคิดในอดีต(ผู้ใหญ่)กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน(วัยรุ่น)ผ่านสภาพสังคมที่เป็นอยู่...มันไปด้วยกันไม่ได้เลย โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบตอนที่สอง Warsaw มากที่สุด (ถ้าเปรียบเทียบทั้งสามตอน) หนังมีอารมณ์ค่อนข้างแรงดีไม่ว่า จะเป็นฉากในบ้านนางเอกที่ Pikaczu บุกเข้ามาหรือฉากสนามบินที่พ่อเขาโดนบังคับให้คลานลงจากรถไปที่ประตูก็ตาม บทสรุปตอนสุดท้ายในตอนที่สองที่ Pikaczu กลับมาส่งโดยไม่หันหลังกลับมาหานางเอก...ก็ชอบอีกเช่นกัน (เหมือนคนที่จำยอมต่อผลของสภาพสังคมดี...ทั้งที่ยังอยากฝีนอยู่) และในบรรดานักแสดงในเรื่อง Krzysztof Czeczot ในบทนักแสดงฮิพฮ๊อพจึงได้บทที่กระชากอารมณ์คนดูได้มากที่สุดแล้วล่ะครับ อ้อ...ลืมไป หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากประเทศโปแลนด์ไปครองด้วย อันนี้ไม่แปลกใจเลย





Il Ciaman (The Caiman)

★★★★★★★★★★ 4.5/10

ค่อนข้างตั้งความหวังกับหนังจากอิตาลีเรื่องนี้ไว้สูงเหมือนกัน แต่ตัวหนังก็ไม่เป็นไปดั่งที่คาดไว้เท่าไหร่ คงเป็นเพราะการเปรียบเทียบที่ยังไม่ลงตัวและโดดเด่นเพียงพอ หนังเล่นอยู่กับการเปรียบเทียบที่ยังไม่ได้ผลจังๆในใจผมมากนัก เรื่องราวเกี่ยวกับผู้กำกับคนหนึ่ง Bruno Bonomo ที่กำลังประสบปัญหาการสร้างหนังใหม่ที่เขาต้องการสร้าง แถมยังได้รับบทหนังอีกเรื่องที่มาเสนอเขาแทนเรื่องที่เขาต้องการจะสร้าง Bruno จึงไม่ค่อยสบอารมณ์เท่าไหร่ และตัวเขาก็ยังมีปัญหาครอบครัวเข้ามาเกี่ยวอีก รวมทั้งธนาคารก็ยังตามทวงหนี้อีก พูดถึงความรู้สึกของผมที่มีต่อตัวหนัง ผมไม่ค่อยสนุกไปกับประเด็นของหนังเท่าไหร่ แม้จะมีบรรยากาศสนุกๆท่ามกลางปัญหาที่ Bruno ต้องเจอ...ผมก็ดูไปเรื่อยๆแบบไม่จริงจังอะไร ฉากสุดท้ายที่ท่านนายกออกมาพูดเกี่ยวกับการเมือง...มาดแกใช้ได้เลย (นึกถึงใครดีไหมเอ่ย) อย่างนึงที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ก็คือ ความสัมพันธ์ของ Bruno เวลาอยู่กับลูกทั้งสองแล้วพูดคุยกัน...หนังมีอารมณ์อบอุ่นเล็กๆน้อยๆกับฉากเหล่านี้ได้เหมือนกัน เช่น ตอนกางเต้นท์ในห้องนอน





La Raison Du Plus Faible (The Right of the Weakest)

★★★★★★★★★★ 7.5/10

เป็นหนังปล้นที่นิ่งและค่อนข้างธรรมดา ไม่หวือหวาอะไรและเดินเรื่องไม่มีอะไรมากมาย แต่กลับมีเสน่ห์ของมันเองได้ (ประมาณว่า ช้าแต่ชัวร์) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนตกงานทั้งสามคนที่ฆ่าเวลาด้วยการพูดคุยและนั่งเล่นไพ่ในบาร์ จนกระทั่งชายที่เพิ่งพ้นโทษจากคุกเข้ามาอยู่ในกลุ่มด้วย ทั้งหมดจึงมีหนทางใหม่ให้กับชีวิตของตนเองด้วยการปล้นเจ้าของโรงงาน สิ่งหนึ่งที่ผมชอบก็คือ หนังไม่ได้ให้คนทั้งสี่วางแผนเก่งกาจซับซ้อนอะไร คือก็เป็นไปตามแผนการปล้นธรรมดาครั้งหนึ่งก็เท่านั้น อีกทั้งหนังยังพูดถึง"ความไม่เก่งและอ่อนไหว"ในตัวสมาชิกของกลุ่มได้ดีและไม่เน้นสร้างอารมณ์บีบคั้นกันเกินเหตุ (แฝงอารมณ์สิ้นหวังเข้ามาเล็กๆด้วย) และยังทิ้งอุปสรรคที่เป็นธรรมชาติในตัวสมาชิกอีก เช่น คนพิการที่อยู่บนรถเข็น...สมาชิกคนนี้ยังต้องออกไปเจราจาหาอาวุธเองอีก หรืออีกคนเรียนสูงแต่ตกงาน เป็นต้น การเล่าเรื่องทำให้ผมรู้สึกว่า พวกเขาปล้นเพื่ออยากได้เงินก็จริง แต่บางอารมณ์ก็ทำให้ผมคิดว่า ความจริงจังที่อยากได้เงินในแผนครั้งนี้ดูไม่แรงพอเลย...แม้จะมีการวางแผนอย่างดีแล้วก็ตาม แต่นั่นเป็นอารมณ์ขัดแย้งในความคิดผมที่แปลกๆแต่กลับชอบ พูดถึงเหตุการณ์ท้ายเรื่องบนอพาร์ทเมนท์ที่คนทั้งสี่กลับมาเจอกันในแบบหมดหนทาง ผมชอบนะ ชีวิตบางที...มันก็ไม่ใช่ว่า จะประสบความสำเร็จไปซะทุกอย่าง คนสุดท้ายที่เหลืออยู่บนตึกเลือกโปรยเงินออกมา เหตุการณ์หลังจากนั้นที่เขาไม่ยอมจำนน...ทำให้เขาต้องหนีขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า ทีแรกผมคิดว่า เขาจะกระโดดตึก...แต่ก็ไม่ และเขาก็เลือกตัดสินใจใจแบบพื้นฐานของหนังทั่วๆไปที่คนดูน่าจะคุ้นเคยอยู่บ้าง หนังแช่ภาพสุดท้ายด้วยเฮลิปคอปเตอร์ซึ่งถ่ายจากมุมสูงไว้นานทีเดียว แต่ทำได้สวยงามดี สุดท้ายครับ และทั้งหมดทำให้ผมคิดว่า "สิ่งที่สังคมมอบให้กับคนที่ขาดที่พึ่ง เมื่อมันไม่เห็นอะไรออกมาเป็นรูปธรรมกันเลย ปฏิกริยาธรรมดาๆบางอย่างที่เกิดขึ้น...ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนธรรมดาๆได้เช่นกัน"





Battleship Potemkin

★★★★★★★★★★ 7.5/10

รู้สึกดีใจที่ได้ดูหนังขาวดำเรื่องนี้นะครับ และคิดว่า ถ้าเราอยู่ในช่วงสงครามรัสเซียยุคนั้นที่หนังกำลังสร้างและได้ออกฉาย รวมทั้งเห็นวิธีการนำเสนอของหนังเรื่องนี้ ผมคงจะบรรเจิดในใจมากๆด้วยวิธีการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรของหนังเงียบเรื่องนี้ มีคนเคยเล่าให้ผมฟังว่า หนังเรื่องนี้เหมาะกับนักเรียนที่ศึกษาด้านกำกับภาพยนตร์มาก แต่ผมไม่รู้ว่า มันเหมาะสมยังไง จนได้มาดูหนังเรื่องนี้ ในทางกลับกัน ถ้าผมในฐานะคนดูอยู่ในยุคปัจจุบัน แล้วมองย้อนกลับไปในอดีต ผมกลับทึ่งเป็นสองต่อเข้าไปอีก เพราะผมสามารถดูหนังเรื่องนี้ได้เข้าใจโดยที่ไม่ได้ยินตัวละครในเรื่องพูดเลยซักคำ มันเป็นเทคนิคที่เกินบรรยายนะ ไม่ว่า คนดูจะอยู่ในยุคนี้หรือยุคก่อน เนื้อหาเกี่ยวกับลูกเรือบนเรือรบรัสเซียเมื่อปี พ.ศ.2448 ซึ่งไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่ดีจากผู้คุมบนเรือ โดยให้แต่อาหารบูด เช่น เนื้อที่เสียแล้ว ตรงนี้เอง...เป็นมูลเหตุให้เกิดการต่อต้านและปฏิวัติขึ้นของเหล่าลูกเรือด้วยการไปซื้ออาหารที่โรงอาหาร เหตุการณ์หลังจากนั้นจึงเป็นที่มาของสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อเหล่าลูกเรือโดนยิงเสียชีวิตบนเรือจากผู้มีอำนาจ ผมในฐานะคนดูในยุคสมัยปัจจุบัน ดูหนังเรื่องนี้...บางครั้งก็รู้สึกตลกๆกับการเล่าเรื่อง (โดยเฉพาะภาพที่เคลื่อนไหวอยู่บนฟิลม์) และบทหนังที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรแปลกตามากนัก (เมื่อเทียบกับเนื้อหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนหรือเทคนิคการเล่าแปลกตาที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน) ขนาดผมรู้สึกอย่างนั้นอยู่ในหลายๆครั้ง ความอัศจรรย์ใจยังเกิดขึ้นเลยครับกับผลงานของผู้กำกับที่ชื่อ Sergei M. Eisenstein




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2549
7 comments
Last Update : 3 ธันวาคม 2551 14:18:23 น.
Counter : 1707 Pageviews.

 

เห็นตั๋วหนังแล้ว..




คอยดูหน้ะ เดี๋ยวได้แวะ กทม จะดูให้สะใจไปเลย..



 

โดย: zaesun 2 พฤศจิกายน 2549 14:35:26 น.  

 

หาใครไปดูด้วยดี

 

โดย: tanoy~ตะนอย 2 พฤศจิกายน 2549 14:38:04 น.  

 

Battleship Potemkin เด่นเรื่องการตัดต่อครับ

ผมจำศัพท์เทคนิคไม่ได้ หนังเรื่องนี้มีการเล่าเรื่องที่ใช้เทคนิคการตัดต่อภาพสั้น ๆ มาร้อยเรียงสลับเหตุการณ์กันเป็ฯเรื่อง

เช่น มีฉากคลาสสิคที่ชื่อว่าบันไดโอเดสซ่า ที่ทหารไล่ฆ่าประชาชน ผู้คนหนีกันโกลาหล คุณแม่กับเด็กน้อยในรถเข็นก็หนีทว่าพลาด รถเข็นกลิ้งตกบันได

ตรงนี้ก็มีการตัดสลับภาพสั้น ๆ ของทหารเดินลงมาจากบนบันได กับภาพแม่ ภาพรถเข็นกลิ้งลงไปข้างล่าง รูปคนวิ่งหนี แล้วมาร้อยเรียงกันเป็นรูป

อีกฉากที่คลาสสิคมากคือการตัดสลับภาพสิงโตกับเรื่องรบโปจอมกิน โดยสิงโตจะค่อย ๆ ตื่น ภาพจะตัดสลับกับเรื่องรบที่ค่อย ๆ เข้ามาใกล้ฝั่งเพื่อจัดการกับทหารพระเจ้าซาร์ สิงโตจะเริ่มจากหลับ แล้วค่อย ๆ ตื่นขึ้นทีละน้อยพร้อมกับค่อยผงาดในที่สุด เมื่อกองทัพเรือเข้าช่วยประชาชนไว้ได้

ก็เป็นดังนี้ละครับ

 

โดย: I will see U in the next life. 2 พฤศจิกายน 2549 16:18:27 น.  

 

คือ..พูดเรื่องหนังแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่าเด๊ยวนี้..ยังมีการจัดงานดูหนังมาราธอนอยู่เหรอป่าวอ่ะค่ะ...

 

โดย: - - (คนส่วนน้อย ) 2 พฤศจิกายน 2549 19:29:13 น.  

 

ตอบคุณ zaesun ดูให้สะใจกันไปเลยยย

ตอบคุณ tanoy~ตะนอย แฟนก่อนครับ ถ้าไม่มีก็ค่อยเป็นกิ๊ก ถ้าไม่มีกิ๊ก ก็ดูแบบเหงาๆแต่ไม่รำคาญ นั่นก็คือ คนเดียว

ตอบคุณ I will see U in the next life. อ้อ...ฉากที่ว่าเหล่านั้น นึกภาพตาม มันก็คลาสสิคจริงๆนะ ยิ่งเรื่องการตัดต่อ...ไม่ต้องพูดถึงเลย แหวกแนวมากๆ แถมเป็นยุคสมัยก่อนอีกด้วย...มันยิ่งเข้าไปใหญ่

ตอบคุณ คนส่วนน้อย คิดว่า ไม่มีแล้วนะครับเพราะเดี๋ยวนี้ผมไม่เห็นมีการจัดแข่งขันแบบนั้นอีกเลย

 

โดย: เจ้าของบล๊อคมาตอบเอง (ตี๋หล่อมีเสน่ห์ ) 3 พฤศจิกายน 2549 11:11:31 น.  

 

สนุกมากเลย

 

โดย: ฟฟ IP: 58.8.11.112 4 มกราคม 2550 11:04:27 น.  

 

วิิธีที่ว่านั้นคือ Russian Montage ครับ

 

โดย: littlegodfather IP: 125.24.62.225 7 มกราคม 2550 19:56:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.