space
space
space
 
มีนาคม 2559
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
space
space
1 มีนาคม 2559
space
space
space

เลือดเปื้อนปานามา (ตอนที่ 1)

อารัมภบท
ข้อมูลนี้เป็นการนำเอาเรื่องราวของความขัดเเย้งในการเมืองประเทศปานามาและสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอข้อมูลทางทหาร โดยมิได้มีเจตนาเพื่อการปลุกปั่นหรือยุยงให้เกิดความแตกแยกใดใด
สวัสดี มิตรสหายชาวพันทิปทุกๆท่าน วันนี้ข้าพเจ้ามีความรู้มาแบ่งปัน เป็นความรู้ที่ได้มาจากการค้นหาข้อมูลจากวิกิพีเดียและเว็บไซต์ต่างประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูล ณ ช่วงเวลาหนึ่ง อันเป็นชนวนเหตุนำไปสู่การโจมตีประเทศปานามาโดยกองทัพสหรัฐฯในช่วงปลายปี ค.ศ. 1989 ถึงต้นปี ค.ศ. 1990 อนึ่ง บทความต่อไปนี้ ข้าพเจ้าได้นำไปโพสต์ยังเพจ"เมื่อมอดไหม้ ไฟสงคราม"อยู่ก่อนหน้านี้ โดยหวังว่าข้อมูลดังต่อไปนี้ อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งแก่ท่านผู้สนใจใคร่ศึกษา หากแต่ข้อมูลและบทความนี้มีข้อผิดพลาดประการใดแล้วไซร้ ข้าพเจ้าจึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
https://www.facebook.com/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89-%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1-180066308851476/


มีคำกล่าวติดหูว่า "ถ้าคุณอยากรู้ว่าสงครามที่อิรักเกิดขึ้นด้วยเหตุใด ให้ย้อนกลับไปดูสงครามที่เกิดกับปานามา"
ปานามา ชื่อนี้คงคุ้นหูใครหลายๆคน หรืออาจฟังดูแปลกพิกลกันอยู่บ้าง ถ้าเปรียบไปแล้วประเทศปานามาคงเหมือนกับดินแดนแห่งสวรรค์บนพื้นโลก ที่ตั้งอยู่ใต้สุดของอเมริกากลางเชียวล่ะ เรามาทำความรู้จักกับประเทศนี้กันหน่อยดีกว่า
เมื่อกล่าวถึงปานามาในข้อมูลด้านนิรุกติศาสตร์ ได้มีการกล่าวอ้างในหลายทฤษฎีถึงความเป็นมาของชื่อประเทศนี้ โดยชนพื้นเมืองเรียกชื่อปานามาตามชื่อของพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอุดมสมบูรณ์ บ้างก็ว่า ปานามา คือชื่อของฝูงผีเสื้อในภาษาพื้นเมือง แต่ทฤษฎีการเรียกชื่อประเทศปานามา อันเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด โดยชาวประมงและชาวพื้นเมืองใกล้เคียงกล่าวว่า ปานามา คือชื่อเรียกของ"ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา" และด้วยความที่เป็นดินแดนซึ่งถูกขนาบข้างด้วยน้ำทะเลนี้แหละครับ จึงทำให้ดินแดนแห่งนี้ถูกค้นพบโดยนักเดินเรือจนได้ จะว่าไปแล้ว ช่วงยุคแห่งการบุกเบิกดินแดนต่างๆนั้น ก็สืบเนื่องมาจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจในสมัยนั้นแข่งขันกันล่าอาณานิคม และปัญหาการล่องเรือที่ต้องใช้ระยะทางอันแสนไกลนี่เองแหละ จึงทำให้กลุ่มนักเดินเรือต่างๆ ใช้โอกาสนี้ในการสำรวจพื้นที่ดินแดนเหล่านั้นไปด้วยเลย เนื่องจากปัญหาการถูกโจมตีโดยโจรสลัดอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงเรื่องระยะทางเดินเรือแทบจะอ้อมโลก จึงเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อราชสำนักสเปน ที่ต้องการแผ่ขยายอำนาจเข้าไปยังดินแดนของเปรูและหมู่เกาะอันไกลโพ้นต่างๆ ดังนั้น ในช่วงราวๆ ค.ศ. 1514 “เปดราเรียส ดาวิลล่า” (Pedrarias Dávila) บุรุษนักรบผู้ดูแลระบบอาณานิคมของสเปน จึงมีคำสั่งให้ทหารและนักเดินเรือทั้งหลายทำการสำรวจดินแดนในแถบอเมริกากลาง ค้นหาเส้นทางเดินเรือใหม่อันสามารถย่นระยะทางการล่องเรือ เพื่อใช้สำหรับการเตรียมเดินทัพไปทำสงครามกับเปรู
ลุ ถึงปี ค.ศ.1515 ช่วงเดือนพฤศจิกายน “กัปตันกูซแมน” (Antonio Tello de Guzmán) อีกหนึ่งคณะผู้สำรวจหาเส้นทางใหม่ ก็ล่องเรือมาถึงดินแดนแห่งหนึ่ง ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาใหญ่ ฝูงผีเสื้อหลากสี ผืนป่าใหญ่อันรกทึบ และที่สำคัญ "ยุง" นี่ชุมบรรลัยพะยะค่ะ

(Pedrarias Dávila (Pedro Arias de Ávila)เขาเป็นหนึ่งในครอบครัวของชนชั้นสูงที่มีอิทธิพลมากที่สุดของสเปนในช่วงศตวรรษที่ 15)
.....ภายหลังจากการยืนอึ้งไปพักหนึ่ง กัปตันและทหารบางส่วนจึงได้จัดแจงขนสัมภาระลงเรือเล็ก และเตรียมเข้าสำรวจดินแดนอันน่าพิศวงแห่งนี้ เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพแล้ว ฝีพายทั้งหมดก็ค่อยๆล่องเรือหายเข้าไปในคลองเล็กๆที่ทอดตัวยาวเข้าไปในป่า สองฟากข้างยังถูกปกคลุมไปด้วยไอเย็นและสายหมอกหนาที่โรยตัวเรี่ยผิวน้ำ แนวป่าซึ่งรกทึบจนแสงจากดวงตะวันแทบจะทอดลงมาไม่ถึงพื้นดิน มันสร้างความวังเวงจิตให้แก่คณะผู้เดินทางอย่างยิ่ง ไม่นานนัก คณะสำรวจก็พบกับชาวพื้นเมืองซึ่งมีผิวสีดุจน้ำผึ้ง สวมผ้านุ่งแต่เพียงครึ่งท่อนล่าง และห้อยเครื่องประดับเงินร้อยด้วยด้ายหลากสี แลดูหน้าตาคมคายยืนอยู่ที่ริมน้ำ ในขณะที่เรือก็ค่อยๆล่องเข้าไปใกล้กลุ่มของชนพื้นเมือง ทั้งสองฝ่ายต่างสบตาประสานกันอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ในความคำนึงของชนทั้งสองกลุ่มคงภาวนาหวังว่า อีกฝ่ายมันคงกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารแทนเนื้อคนด้วยกันนะ หลังจากทั้งสองฝ่ายอึ้งกันไปพักหนึ่ง กัปตันกูซแมนผู้กล้าหาญจึงเสนอตัวอาสาฯ ขึ้นฝั่งไปคุยกับชนพื้นเมืองด้วยตัวของเค้าเอง โดยมีกลุ่มทหารเดินตามติดไปเป็นโขยง จากการสนทนากันคนละภาษาอยู่นานสองนาน ซึ่งแน่นอนว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง ด้วยความฉลาดของกัปตันจึงได้สั่งทหารให้จัดหาล่ามซึ่งเป็นชาวประมงใกล้เคียงมาแปลภาษาให้ จึงพอทราบความว่าดินแดนแห่งนี้ถูกเรียกว่า ปานามา.....

(รูปสาวน้อยจากเผ่าEmbera ผมไม่ได้ต้องการสื่อถึงความทะลึ่งหรืออนาจารนะครับ แค่อยากให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองดั้งเดิมเท่านั้นเอง)
.....ภายหลังจากการสนทนากันเป็นวรรคเป็นเวร ระหว่างกัปตันกูซแมน ล่ามชาวประมง และชนพื้นเมือง จึงพอทราบความว่าดินแดนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า"ปานามา" และกลุ่มของกัปตันกลับไม่ใช่กลุ่มแรกที่เดินทางมาสำรวจดินแดนแห่งนี้ แต่ก่อนหน้านั้นมันเคยถูกค้นพบโดยเจ้าชาย"เอนรีเก(Infante D. Henrique) ดยุกอินฟันเตแห่งราชวงศ์อาวิซจักรวรรดิ์โปรตุเกส ตั้งแต่ปี 1430 จากนั้นมาก็มักมีนักเดินเรือจากสัญชาติต่างๆ แวะเวียนเข้ามาตกปลา เหล่หญิงที่นี่อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงนักเดินเรือสำรวจผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ”คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” (Christopher Columbus) ก็แวะเวียนมาเหล่หญิงแถวๆปานามาด้วยเช่นกัน ภายหลังจากที่คณะสำรวจของกัปตันกูซแมนได้ใช้เวลาถึงสามสัปดาห์ ในการสำรวจภูมิทัศน์ในเบื้องต้นแล้ว เขาพบว่าที่นี่มีลักษณะเป็นคอคอด คั้นกลางระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลแคริบเบียน มันเป็นการค้นพบสิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง และในขณะที่กลุ่มของกัปตันกำลังเดินสำรวจพื้นที่ไปเรื่อยๆนั้น พวกเขาก็ต้องหยุดชะงักขบวนสำรวจลงอย่างกระทันหัน เมื่อพบเข้ากับแสงที่วับๆแวมๆ เล็ดลอดออกมาจากเรือนของชาวพื้นเมือง เอ๊ะ! มันคืออะไรฮื้อ.... ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทำให้กลุ่มนักสำรวจเดินเลียบเคียงเข้าไปดูใกล้ๆ มันคือสินแร่ทองคำ และทุกบ้านก็มีทองคำ กัปตันกูซแมนและทหารต่างสบตาส่งกระแสจิตเข้าหากันจนพอทราบความใน เมื่อเหลียวซ้ายแลขวาเห็นมีแต่เพียงคนป่าที่มีกำลังอ่อนด้อย นักเดินเรือในคราบโจรทั้งหลายก็เริ่มออกลายทันที ภายหลังจากภารกิจสำรวจผืนป่านั้นสำเร็จผลแล้ว หัวหน้าและลูกสมุนก็เดินทางออกมาจากปานามา พร้อมกับทองคำที่มีมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นเปโซ เมื่อกัปตันได้เดินทางกลับเข้ามายังแอนติกาแล้ว ก็ได้เข้ารายงานผลการสำรวจให้เปดราเรียสเจ้าคุมอาณานิคมทราบ ถึงการดำรงอยู่ซึ่งดินแดนคอคอดในปานามา แต่รายงานดังกล่าวของกัปตันกูซแมนเอง ต้องรอผลสำรวจเส้นทางคณะกัปตันของท่านอื่นๆ อีกหลายคนที่ได้ออกสำรวจเช่นกัน

(อินฟันเตเอนรีเกหรือเจ้าชายเฮนรี ผู้มีบทบาทสำคัญในจักรวรรดิโปรตุเกสยุคแรก โดยเฉพาะในการเดินทางทำสำรวจไปทั่วโลก)
ลุ ถึงปี ค.ศ. 1517 เปดราเรียสจึงได้ชักชวนนักสำรวจผู้มีนามว่า”เอสปิโนซา” (Gaspar de Espinosa)ให้ออกเดินทางไปยังปานามาด้วยกัน เมื่อกองกำลังทหารของเปดราเรียสเดินทางมาถึงปานามาแล้ว ก็เข้าล้อมจับตัวชาวพื้นเมืองจากเผ่าต่างๆกว่า 4,000 คนโดยบังคับแรงงานชาวพื้นเมืองให้ชักลากหินจากแม่น้ำ นำมาบดอัดผสมกับดินเหนียวสร้างเป็นเส้นทางตัดผ่านขึ้นไปยังภูเขา โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากทางการสเปน ซึ่งบัดนี้ทางการได้ส่งทหารและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมถึงแรงงานทาสนิโกรเข้ามายังปานามาเพิ่มเติม จนถึงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถนนพื้นเรียบที่ทอดตัวผ่านป่าเข้ามายังท่าเรือยุทธศาสตร์ รวมถึงงานผังเมืองต่างๆในปานามา ก็สำเร็จผล ถนนเส้นนี้มันถูกใช้งานนานกว่าสามศตวรรษ โดยมีชื่อเรียกว่า "El Camino Real" (The King's Highway) เป็นระยะทางยาวกว่า 50 ไมล์ โดยเชื่อมต่อกับถนนตัดเข้ายังเมืองปานามาและปอร์เตเบโล สำหรับแวะพักขนถ่ายสินค้า หรือ ยักย้ายสมบัติจากเปรู จากแปซิฟิกกับแอตแลนติกเพื่อส่งเข้าไปยังราชอาณาจักรสเปน ดังนั้น ปานามาในสมัยนั้นจึงเป็นดินแดนศูนย์กลางทางการค้าสำหรับอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 - 17 นี้ จึงเป็นดั่งยุคทอง และยุคแห่งการค้นพบ (Age of Discovery) ของอาณาจักรสเปน ระหว่างรัชสมัยที่ยาวนานของกษัตริย์สเปนแห่งราชวงศ์ฮับสบูร์ก ซึ่งได้ส่งทหารและพ่อค้าจำนวนมากเข้าไปในทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อยึดครองดินแดนและอาณานิคมมากมาย ทั้งอเมริกากลางและอเมริกาใต้

ลุ ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาณาจักรสเปนจึงค่อยๆเสื่อมอำนาจลง จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองการสังคมเริ่มระส่ำระส่าย เพราะการแย่งชิงราชสมบัติจากเชื้อพระวงศ์ต่างๆ และสงครามจากการรุกรานของฝรั่งเศส ดังนั้นในช่วง ค.ศ. 1808 - 1814 จึงถือเป็นการเปิดโอกาส ให้อาณานิคมในทวีปอเมริกาเริ่มปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากสเปน และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 สเปนก็ทยอยสูญเสียดินแดนในแถบทะเลแคริบเบียนและ เอเชียแปซิฟิกทั้งหมด..... ลมทะเลและสายหมอกบางๆ พัดหอบเอาละอองน้ำเย็นลอยย้อนเวลากลับมายังช่วง ปี ค.ศ. 1713 ภายหลังจากสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนได้ยุติลงแล้วนั้น ผลพวงของสงครามดังกล่าวเป็นที่มาของการแข็งเมือง อาณานิคมต่างๆเริ่มทำสงครามปลดปล่อยตนเองจากสเปน ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น กองเรือสมบัติของสเปนก็มักถูกโจรสลัดเข้าโจมตีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งราชสำนักสเปนเพ่งเล็งไปยังกลุ่มโจรสลัดสัญชาติอังกฤษ อีกทั้งเรือสินค้าและเรือรบแห่งราชนาวีอังกฤษมักลอยลำเข้ามาใกล้ในเขตน่านน้ำของสเปนมากขึ้นเรื่อยๆ และอังกฤษมีความพยายามเจรจาเพื่อขอใช้เส้นทางเดินเรือเล็ก ในการบรรทุกสินค้าผ่านคลองคอคอดเล็กๆในปานามา ซึ่งสเปนก็ยินยอมให้ใช้เส้นทางเดินเรือเล็กได้แต่เพียงบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งยังมีข้อบังคับกฎเกณฑ์หลายประการค้ำคออังกฤษไว้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุแห่งสงครามระหว่าง อังกฤษ-สเปน ในปี ค.ศ. 1585-1604 (Anglo-Spanish War) เมื่อกองเรือรบราชนาวีอังกฤษเคยเผากองเรืออาร์มาดาของสเปน วอดอยู่กลางช่องแคบมาแล้วในอดีต.....

(การประชุมระหว่างทูตอังกฤษและสเปนที่คฤหาสน์ซัมเมอร์เซ็ท)
.....ถึงแม้สงครามระหว่างอังกฤษและสเปน ได้ยุติลงไปแล้วตามสนธิสัญญาลอนดอน เมื่อสเปนตกลงที่จะยุติการแทรกแซงทางทหารในไอร์แลนด์ ในขณะที่อังกฤษเองก็จะยุติการแทรกแซงทางทหารในเนเธอร์แลนด์ของสเปน อีกทั้งอังกฤษเองจะยุติการใช้โจรสลัดปล้นเรือของสเปนในมหาสมุทรด้วย แต่ในห้วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้ กองเรือสเปนยังคงถูกโจรสลัดคอยดักปล้นอยู่เป็นเนืองๆ และทางอังกฤษก็อ้างว่า "โจรสลัดที่ปล้นเอ็งไม่ใช่สัญชาติอังกฤษนะ แต่เป็นโจรสลัดสัญชาติดัตซ์ ที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ของเอ็งต่างหาก" แต่ฝ่ายราชอาณาจักรสเปนยังคงปักใจเชื่อว่าอังกฤษแอบให้การสนับสนุนพวกดัตซ์ อีกทั้งอังกฤษเริ่มทำการแทรกแซงทางการค้าในปานามาแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ราชอาณาจักรสเปนต้องใช้วิธี ยืมมีดฆ่าคน.....

(ภาพวาดกองโจรอเมริกันดักซุ่มโจมตีกองทหารม้าอังกฤษ ในยุทการ Kings Mountain)
.....ข่าวคราวเรื่องการก่อกบฏในสิบสามอาณานิคมของอังกฤษเริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ไม่นานนักวันที่ราชอาณาจักรสเปนเฝ้ารอคอยก็ได้มาถึงสักที สงครามปฏิวัติอเมริกันได้ปะทุขึ้น ในปี 1775-1783 ด้วยปัจจัยข้อพิพาทในรัฐสภาเรื่องพระราชบัญญัติแสตมป์(เกี่ยวกับเรื่องภาษีอากร) ซึ่งชาวอเมริกันเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ทางรัฐสภาอังกฤษยืนยันสิทธิ์ของตน ในการเก็บภาษีดังกล่าวจากชนอเมริกันและชาวอาณานิคมอื่นๆ แต่คนอเมริกันก็อ้างสิทธิ์ของตนว่าเป็นชาวอังกฤษเหมือนกันนี่นา จะมาเก็บภาษีกับกรูทำไมล่ะฮื้อ! เมื่อคุยภาษาเดียวกันแล้วแต่ไม่รู้เรื่อง ชาวอเมริกันจึงได้แอบจัดตั้งสภาภาคพื้นทวีปและรัฐบาลเงาในแต่ละอาณานิคมขึ้น และคว่ำบาตรชาของอังกฤษ ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงส่งกองทัพเข้าควบคุม แต่ก็ถูกผลักดันโดยกบฏชาวอเมริกันและเกิดการสู้รบกันในยุทธการเลซิงตันและคอนคอร์ด ผลจากยุทธการดังกล่าวนั้นกองทัพอังกฤษถูกทำลายเกือบทั้งหมด รัฐบาลอังกฤษเองจึงมีความพยายามประนีประนอมเรื่องภาษีตามข้อพิพาท แต่สิบสามอาณานิคมได้ประกาศอิสรภาพและจัดตั้งประเทศขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 โดยใช้ชื่อประเทศของตนว่า "สหรัฐอเมริกา" ทั้งนี้ฝรั่งเศส สเปน สาธารณรัฐดัตซ์ ล้วนส่งทหาร เสบียง เครื่องกระสุนและอาวุธอย่างลับๆ ต่อมาทั้งสามประเทศนี้ก็ส่งทหารของตนเข้าผจญสงครามอย่างเปิดเผยในอีกสองปีถัดมา ซึ่งสร้างความเสียหายแก่อังกฤษอย่างหนักต่อมาในปี 1783 สนธิสัญญาปารีสจึงถูกร่างขึ้นเพื่อยุติสงครามดังกล่าว เป็นผลให้อังกฤษจำต้องยอมรับอธิปไตยของสหรัฐอเมริกาในที่สุด

(จอร์จ วอชิงตัน และกลุ่มนายทหารยืนพิจารณาธงชาติ ที่จะถูกนำมาใช้เป็นสัญญลักษณ์แทนอิสรภาพของชาวสหรัฐฯ โดยมีรูปดาวประจำผืนธงทั้งหมด 13 ดวงมาจากรํฐอาณานิคมทั้งหมด 13 รัฐด้วยกัน
1.อาณานิคมนิวยอร์ก
2.อาณานิคมเพนซิลวาเนีย
3.อาณานิคมจอร์เจีย
4.อาณานิคมนิวเจอร์ซีย์
5.อาณานิคมนอร์ทแคโรไลนา
6.อาณานิคมเวอร์จิเนีย
7.อาณานิคมแมสซาชูเซตส์
8.อาณานิคมแมรีแลนด์
9.อาณานิคมเซาท์แคโรไลนา
10.อาณานิคมคอนเนกติคัต
11.อาณานิคมนิวแฮมป์เชียร์
12.อาณานิคมเดลาแวร์
13.อาณานิคมโรดไอส์แลนด์)
.....ผลจากสงครามประกาศอิสรภาพดังกล่าวนั้น เป็นเหตุให้กองเรือรบของอังกฤษนั้นอ่อนกำลังลง และฝ่ายสเปนยังสามารถรักษาเมืองท่าอาณานิคมสำคัญอย่างปานามา ให้รอดพ้นเงื้อมมืออังกฤษมาได้ แต่ก็หารู้ไม่ว่า อาณานิคมต่างๆเริ่มก่อปฏิกิริยาเตรียมพร้อมทำสงครามเพื่ออิสรภาพใหม่กันแล้ว ที่ปานามาเอง ชนพื้นเมืองได้ผนวกดินแดนตนเข้าไปรวมกับโคลัมเบีย เพื่อเตรียมประสานความร่วมมือในการทำสงครามปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าด้วย

.....ลุ ถึงปี ค.ศ. 1808 ราชอาณาจักรสเปนอ่อนแอลงอย่างมาก และท้ายสุดจึงถูกครอบงำโดยบุรุษผู้หนึ่งซึ่งพลิกชะตาชีวิตตนจากกงสุลเป็นจักรพรรดิ บุรุษผู้นั้นคือนโปเลียน โบโนปาร์ต จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ในช่วงต้นปีคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เองที่ดินแดนอาณานิคมต่างๆของสเปนในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เริ่มปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ ดินแดนบางส่วนถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา หมู่เกาะแปซิฟิกบางส่วนก็ขายแบบเลหลังให้จักรวรรดิเยอรมันนีไป ภายหลังจากที่สเปนถูกครอบงำโดยฝรั่งเศสแล้ว ชนพื้นเมืองและทาสผิวดำจากแอฟริกาได้ร่วมมือกับ ”ฟรันซิสโก เด มิรันดา” (Francisco de Miranda) แยกปานามาเข้ารวมกับ เวเนซุเอล่า และเอกวาดอร์ ประกาศเอกราชต่อสเปนในปี ค.ศ. 1810 ถึงแม้มิรันดาผู้นำการปฏิวัติจะถูกจับตัวได้ ในปี ค.ศ. 1816 และเสียชีวิตยังคุกที่สเปนก็ตาม แต่อุดมการณ์ของเขาก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อปี ค.ศ. 1819 ได้มีการรวมจัดตั้งปานามาเวเนซุเอล่า และเอกวาดอร์ เป็นประเทศโคลัมเบีย ตามที่มิรันดาได้เคยกล่าวถึงว่าเป็นโลกใหม่ โดยโคลัมเบียนั้นมาจากชื่อของนักสำรวจ "คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส" และนับจากการปลดแอกจากสเปน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1821 ปานามาจึงรวมเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโคลัมเบียโดยสมบูรณ์เรื่อยมา
.....ลุ ถึงปี ค.ศ. 1878 ฝรั่งเศสถือเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดอีกชาติหนึ่ง ซึ่งเข้ามามีบทบาทในเขตอาณานิคมเก่าของสเปน โดยทางฝรั่งเศสเองยังเคยได้ส่งนักสำรวจดูพื้นที่ต่างๆ และมาสะดุดตาเข้ากับคลองคอคอดเล็กๆ ในรัฐปานามาของโคลัมเบีย ด้วยอำนาจทางทหารที่แข็งแกร่งกว่ามาก จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนัก ที่จะขอเจรจาเปิดสัมปทานต่างๆจากโคลัมเบีย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรหนุ่มลูกครึ่งอังกฤษฝรั่งเศส ชื่อ "ลูเซียส โบนาปาร์ต ไวส์" (Lucien Bonaparte-Wyse) และนายช่างใหญ่ "เฟอร์ดินาน เดอ เลสเซปส์(Ferdinand de Lesseps) ผู้ที่เคยฝากชื่อให้ระบือไกลถึงคลองสุเอซมาแล้ว ทั้งสองได้เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนก่อสร้างคลองตัดเข้าไปในรัฐปานามา ซึ่งแน่นอนครับ เงินสัมปทานก้อนโตแบบนี้ รัฐบาลโคลัมเบียรับไปเต็มๆแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่เจ้าของบ้านอย่างปานามาได้แต่มองตาปริบๆ มิหนำซ้ำยังถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานอย่างหนักอีกด้วย ภายหลังจากการสำรวจดินแดน และเหล่หญิงชาวปานามาในเบื้องต้นแล้ว นายช่างหนุ่มจึงเร่งระดมทุนจากเศรษฐีชาวยุโรป โดยเสนอโครงการคลองปานามาเพื่อย่นระยะทางเดินเรือ และก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ฝูงอีแร้งหัวล้านพุงโตจากยุโรปก็บินโฉบลงมายังปานามาทันที ไม่นานนักโครงการพันล้านก็ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1882 ทีมช่างวิศวกรและแรงงานได้เดินทางมาพร้อมกับเครื่องมือหนัก เมื่อมาถึงยังปานามาแล้ว ทุกคนก็ถึงขั้นกับตะลึงกับฝูงปลา และผีเสื้อหลากหลายสี สภาพความสมบูรณ์ทางทรัพยากร และแร่สินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งมันทำกำไรอย่างงามให้กับนักลงทุน และที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนอดทึ่งไม่ได้ก็คือ "ยุง"ซึ่งชุมบรรลัย! พะยะค่ะ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ฝูงยุงที่เหมือนจะอดอยากมาจากนรกก็แตกฮือตามห้อมล้อมไม่หยุดหย่อน เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศแบบป่าร้อนชื้น อีกทั้งสัตว์ป่าทั้งหลายก็อาจเป็นพาหะนำโรคได้ มันจึงเป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง รวมถึงอุปสรรคที่ใหญ่หลวงคือ ระดับน้ำในมหาสมุทรทั้งแอตแลนติกและแปซิฟิกดันสูง-ต่ำไม่เท่ากันอีก ไหนจะปัญหาระดับน้ำที่บนฝั่งภูเขาตามคลองคอคอดเล็กๆอีก วิธีการสร้างประตูเพื่อกั้นน้ำก็ดูเหมือนจะสิ้นเปลืองงบประมาณและดูยากเกินไป อีกวิธีการ คือ ต้องขุดภูเขาเปิดทางน้ำให้เท่ากัน ซึ่งก็เป็นไปได้ยาก เนื่องด้วยเครื่องจักรที่ยังล่าสมัย ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องการทุจริต และแรงงานเริ่มถอดใจ เพราะทยอยตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่ก็ก็จบชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุอันน่าสยดสยอง บ้างก็มีเสียงร่ำลือถึงความเฮี้ยนและแรงอาถรรพ์จากเจ้าที่ ต้องตั้งศาลแล้วนะ แต่ผู้ที่ตั้งศาลและสามารถมองเห็นสิ่งลี้ลับได้ แถมยังมีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์กว่าพวกเขา ได้รวมตัวกันอยู่อย่างเหนียวแน่นที่ประเทศ......? - -* เพียงที่เดียวนะ จะทำยังไงกันดีล่ะ ประเทศที่อุดมไปด้วยทวยเทพแบบนั้นชาวยุโรปเองก็ไม่รู้จัก.....

แต่…..เดียวก่อน ! สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากไข้มาลาเรีย ไข้เหลือง กาฬโรค และอีกมากมายที่คร่าชีวิตแรงงานพื้นเมืองชาวสเปน ชาวอินเดียน และชาวยุโรป ฯลฯ ไปร่วมสองหมื่นคน แพทย์ประจำศูนย์ก็เป็นเพียงหมอสามัญธรรมดา ไม่สามารถรวมร่างกับเทพเจ้าองค์ใดได้ เมื่อหาสาเหตุของการเกิดไข้ป่าทั้งหลายไม่พบ แพทย์วิทยาการในสมัยนั้นจึงสันนิษฐานเอามั่วๆว่าเป็นอาการผีปอบเข้า เมื่อหาวิธีป้องกันผีปอบไม่ได้ โครงการนี้ดำเนินอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ล้มพับไปในที่สุด 

 (ภาพนี้อธิบายการรวมร่างของยอดมนุษย์ที่อยู่ในประเทศ...? ซึ่งใช้ทฤษฎีฟิวส์ชั่นคล้ายๆกันนี้ เพื่อรวมร่างกับเหล่าเทพครับ สังเกตุดูว่าการรวมร่างทุกครั้งจะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เป็นผลให้สมองของผู้ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่เกิดอาการมึนงงและผลใกล้เคียงคือทำให้เงินในกระเป๋าหล่นหายไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งครับ)

(ภาพนี้อธิบายการรวมร่างระหว่างมนุษย์และเทพเจ้ามังกรครับ สังเกตุผู้คนโดยรอบเริ่มมีอาการมึนงงปวดบริเวณส่วนหน้าของกระโหลก จึงเริ่มเอามือทั้งสองข้างขึ้นมาปิดจมูกของตนไว้แล้วครับ)
.....ฝูงเศรษฐีอีแร้งทั้งหลายก็บินหนีกลับไปยังฝรั่งเศส ทั้งขาดเงินทุนย่อยยับกับโครงการเพ้อฝัน วิธีการเดียวที่จะสร้างแหล่งเงินทุนกลับคืนมาได้อย่างเดิม คือ บุกเอเชียกันเถอะเรา ในขณะที่ฝรั่งเศสส่งกองเรือออกล่าอาณานิคมในเขตเอเชีย ทางด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเอกเทศแล้ว ภายหลังจากผ่านสงครามกลางเมืองมาไม่นาน (American Civil War, ค.ศ. 1861-1865) ก็ห่ามป่วงสามารถก่อสงครามกับเม็กซิโก รวมถึงความพยายามฆ่าล้างชนอเมริกันดั้งเดิมอย่างเผ่าอินเดียนแดงแทบเหี้ยนแผ่นดิน จากนั้นจึงยึดเอารัฐต่างๆใกล้เคียงมาไว้เป็นของตนได้ และจากการค้นพบแหล่งทองคำและแร่สินทรัพย์ต่างๆ ของแต่ละรัฐเพื่อนำไปขายได้นั้น จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางเรือ ซึ่งต้องใช้ระยะเดินทางไกลและมีความอันตรายอย่างมาก จำต้องขนส่งผ่านมายังฝั่งปานามาและส่งสินค้าผ่านมาทางบก ถึงแม้จะมีเส้นทางรถไฟทะลุผ่านปานามาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังสร้างความลำบากล่าช้าให้แก่สหรัฐอเมริกาทุกครั้งไปเช่นกัน

.....ปานามาในปี ค.ศ.1885 ชาวปานามาเริ่มมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิ์อันชอบธรรมต่อดินแดนของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นเป็นเพราะข่าวลือเกี่ยวกับข้อตกลงเริ่มสัมปทานการขุดคลองระหว่างสหรัฐฯ และรัฐบาลโคลัมเบีย สร้างความวิตกกังวลถึงสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ในอนาคตของชาวปานามา จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวและขัดแย้งกันในรัฐสภาโคลัมเบีย โดยนักการเมืองปานามาฝ่ายเสรีนิยมเริ่มการประท้วงที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สหรัฐฯเองยังคงดูท่าทีของชาวปานามา เมื่อเห็นว่าปานามาต้องการแยกดินแดนของตนกลับคืนมา สหรัฐฯจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะสำหรับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่อชาวปานามา จึงหันมาให้การสนับสนุนปานามาอย่างลับๆทันที ทั้งนี้ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น สหรัฐฯยังได้นำเรือลาดตระเวน Esmeralda มาทอดสมออยู่ใกล้ปานามา เพื่อคอยส่งอาวุธและแอบให้ความช่วยเหลือคุ้มครองปานามาอยู่อย่างใกล้ชิด.....
ลุ ถึงปี ค.ศ. 1898 สหรัฐอเมริกา มีความพยายามแทรกแซงคิวบาอาณานิคมสเปน โดยใช้กิจการทางทหารในคิวบาเพื่อก่อกวนดินแดนของสเปนในแถบแปซิฟิก และการแทรกแซงกิจการทางทหารในหมู่เกาะต่างๆ ของฟิลิปปินส์ เพื่อสนับสนุนให้อาณานิคมในหมู่เกาะต่างๆ ได้ปลดปล่อยตนเองจากสเปน และสหรัฐฯเองก็คงจะหวังผลครอบครองเขตน่านน้ำในแคริบเบียนและแปซิฟิกไว้ทั้งหมด จนเกิดเป็นชนวนสงครามระหว่างสหรัฐและสเปน (Spanish-American War) สงครามครั้งนี้ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมๆ กับความพ่ายแพ้และการเสื่อมสลายของจักรวรรดิสเปน รวมทั้งผลของสนธิสัญญาปารีสในปี ค.ศ. 1898 สหรัฐฯได้รับอนุญาตให้เข้าควบคุมคิวบา มีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของเปอร์โตริโก และเกาะกวมฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ รวมถึงหมู่เกาะเล็กๆของสเปนอีกหลายพันเกาะ จากสงครามดังกล่าวสหรัฐฯมองว่า คลองคอคอดในปานามาไม่ได้เป็นเพียงช่องแคบสำหรับขนถ่ายสินค้ธรรมดาๆอีกต่อไป แต่มันมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง หากสหรัฐฯมีคลองที่สามารถย่นระยะทางในการเดินทางของเรือรบ หรือ ขนส่งยุทธสัมภาระและปัจจัยได้รวดเร็วขึ้น นั้นก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในการป้องกันประเทศตน รัฐบาลสหรัฐฯจึงหันควับไปเพ่งกระแสจิตต่อโคลัมเบียทันที
.....โคลัมเบียในห้วงปี ค.ศ. 1899 ไม่ต่างอะไรไปจากโคที่กำลังเพลียหนัก ด้วยปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งชนพื้นเมืองเดิม และกลุ่มอดีตทาสผิวดำจากแอฟริกา ซึ่งแออัดไปด้วยชุมชนของคนยากไร้ อีกทั้งปัญหาเรื่องกลุ่มกบฏชาวปานามาที่พยายามสร้างความยุ่งยากวุ่นวาย จนรัฐบาลโคลัมเบียต้องส่งกองทัพเข้ามาดูแลพื้นที่บริเวณที่เคยเป็นสัมปทานเก่าของฝรั่งเศส สหรัฐฯจึงเห็นเป็นโอกาสอันดี เพราะรัฐบาลโคกำลังเพลียก็ไม่ค่อยมีเสถียรภาพสักเท่าไรนัก จึงตะล่อมคุยเรื่องสัญญาขอเช่าสัมปทานเพื่อการขุดคลองปานามาต่อจากฝรั่งเศส เพราะสนธิสัญญาระหว่างโคลัมเบียกับสหรัฐฯ ที่เคยร่วมทำไว้ในปี 1846 ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐฯเท่าใดนัก แต่โคลัมเบียเกิดเล่นตัวขึ้นมาดื้อๆ ไม่ยอมโอนสัมปทานให้ง่ายๆ เพราะเห็นว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศเกิดใหม่แต่ดันมีเงินที่ได้จากค่าปฏิกรรมสงครามจากสเปนหลายล้าน อีกทั้งยังได้เกาะที่มีทรัพยากรไว้ในมือจำนวนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลโคลัมเบียจึงถือโอกาสขูดรีดเอาจากสหรัฐฯเสียเลย เมื่อการณ์ไม่เป็นอย่างที่สหรัฐฯคาดไว้ จึงหันไปสนับสนุนกบฏปานามาอย่างเต็มที่ จนในที่สุดสงครามประกาศอิสรภาพปานามาต่อโคลัมเบียจึงปะทุขึ้นในปี 1899-1902 (Thousand Days' War) ในระหว่างนั้นที่สหรัฐฯ เองก็พยายามเปิดเจรจาขอทำสัมปทานจากโคลัมเบียต่อ แต่ฝ่ายรัฐบาลโคลัมเบียก็อิดออดเรื่อยมา การณ์นี้จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับปานามาที่พยายามแยกตัวเป็นอิสรภาพ และต้องการความคุ้มครอง จึงเสนอแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯด้วยตัวเองทันที ต่อมาในวันที่ 13 เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1903 รัฐบาลสหรัฐฯ นำโดย ปธน. ธีโอดอร์ รูสเวลต์ จึงรับรองความเป็นประเทศ และเอกราชให้แก่ปานามา ทั้งนี้รัฐบาลฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ ก็ได้รับรองเอกราชปานามาด้วยเช่นกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้ประกาศคุ้มครองให้ปานามาอยู่ในความดูแลภายใต้ธงรบสหรัฐฯ นั้นหมายความว่า ปานามาได้ตกเป็นรัฐในอารักขาของสหรัฐฯ แล้ว รัฐบาลโคลัมเบียซึ่งกำลังเพลียหนักต่อการสูญเสียดินแดนปานามา และแค้นใจอย่างมาก โคลัมเบียจึงมีความพยายามยื่นข้อเสนอ ให้จัดตั้งปานามาเป็นดั่งเมืองหลวงเสียเลย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้น รัฐบาลโคลัมเบียจึงได้พยายามขยายข่าวการรุกพื้นที่ทางภาคเหนือปานามา โดยกำลังทหารจากนิการากัว ทางด้านรัฐบาลปานามาจึงส่งกองพัน Tiradores นำโดยนายพล ฮวนโตวา และ ราม่อน อมาญ่า ลงไปสกัดกั้น แต่นั้นกลับเป็นแผนลวงของโคลัมเบีย เพื่อล้อมจับนายพลทั้งสองและเจ้าหน้าที่อื่นๆของปานามา ในขณะที่กองทัพโคลัมเบียเองก็เตรียมยกพลขึ้นบกยังฝั่งปานามา เพื่อยึดคลองปานามากลับคืนมายังโคลัมเบีย แต่แผนการยกพลขึ้นบกนั้นกลับไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะถูกกองเรือปืนสหรัฐฯ USS Nashville ล่องปิดทะเลไว้ เพื่อสกัดกองทัพโคลัมเบียไม่ให้ขึ้นบก ด้วยกองทัพเรือสหรัฐฯซึ่งแข็งแกร่งกว่ามาก กองทัพโคลัมเบียจึงต้องยอมจำนนแต่โดยดี และยังต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามต่อสหรัฐฯ กรณีแทรกแซงปานามาโดยกำลังทหาร เป็นเงินจำนวน 25ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อมาในวันที่ 20 เดือนกุมพาพันธ์ ปี ค.ศ. 1904 ปานามาได้มีการประชุมแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้เลือกนาย มานูเอล อเมดอร์ เกร์เรโร เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศปานามา.....




 

Create Date : 01 มีนาคม 2559
0 comments
Last Update : 1 มีนาคม 2559 20:05:22 น.
Counter : 3199 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

space

พระอังคารทรงกระบือ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add พระอังคารทรงกระบือ's blog to your web]
space
space
space
space
space